ความรู้มีกี่ประเภท ?: คำถามสำคัญของนักออกแบบการสอน


ความรู้มีกี่ประเภท ?: คำถามสำคัญของนักออกแบบการสอน



เฉลิมลาภ ทองอาจ

โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายมัธยม

คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


          ความแตกต่างระหว่าง “ความรู้” และ “ข้อมูล” นั้น เป็นสิ่งที่หลายคนมักจะไม่ให้ความสำคัญ นักการศึกษาเห็นคุณค่าของข้อมูลในฐานะแหล่งที่จะนำไปสู่ความรู้ นั่นก็หมายความว่า การให้แต่เพียงข้อมูล หรือการให้นักเรียนหาข้อมูล ยังไม่ใช่การให้ความรู้  กล่าวโดยสรุป ความรู้ คือ ข้อมูลที่ผ่านการประมวลผล หรือจัดกระทำบางอย่างโดยตัวของผู้เรียนเอง เพื่อให้ข้อมูลนั้นมีความหมายสำหรับพวกเขา และฝังแน่นติดตรึงอยู่ในความทรงจำ  การให้ผู้เรียนอ่านออกเสียงวรรณคดี มิใช่การให้ความรู้ แต่เป็นการให้ข้อมูลสำหรับนำมาสร้างความรู้  การให้ผู้เรียนจำตัวอักษร หมวดหมู่พยัญชนะ สระต่าง ๆ ก็เป็นเพียงการให้ข้อมูล แต่เมื่อใดที่ผู้เรียนเริ่มจัดจำแนกเป็น บอกได้ว่า หมวดหมู่พยัญชนะกลุ่มนี้ ที่เรียกว่าเสียงก้อง ต่างจากเสียงไม่ก้องอย่างไร หรือพยัญชนะกลุ่มนี้เป็นพยัญชนะระเบิดมีลม และต่างจากไม่มีลมอย่างไร ถ้าเปรียบเทียบได้ จำแนกได้เช่นนี้  ก็เรียกว่าเกิดเป็นความรู้ขึ้นมา เมื่อเป็นความรู้แล้วจะค่อนข้างจำได้คงทนมากกว่าข้อมูล  จะเรียกมาใช้ด้วยการตอบคำถามหรือให้ทำกิจกรรมใดก็จะง่ายไปเสียหมด การจัดการเรียนการสอน จึงเน้นให้ผู้เรียนดำเนินการบางอย่างกับข้อมูล เพื่อให้ข้อมูลนั้นมีความหมาย เชื่อมโยงกับชีวิตของผู้เรียนได้


       

           ฝากต่างประเทศ ดูเหมือนจะไม่ได้เพียงพอแต่การให้ความหมายของความรู้ แต่ได้แบ่งความรู้ออกเป็นหลายประเภทด้วยกัน อย่างน้อยที่สุด ความรู้ก็แบ่งได้เป็น 3 ประเภท คือ ความรู้เชิงข้อเท็จจริง ความรู้เชิงกระบวนการ และความรู้เชิงเงื่อนไข ความรู้ทั้งสามประเภทจะสัมพันธ์กับการสอนภาษาไทยอย่างไร ขอให้ท่านสมาชิกทุกท่านพิจารณาต่อไปดังนี้


       

          ความรู้ประเภทแรก คือ ความรู้เชิงข้อเท็จจริง (content knowledge)  การตอบคำถามจำพวกว่า อักษรกลางมีอะไรบ้าง คำเป็นคืออะไร โคลงสี่สุภาพมีสัมผัสบังคับจำนวนเท่าไหร่ ภาพพจน์คืออะไร เหล่านี้ ล้วนแต่ต้องใช้ความรู้เชิงข้อเท็จจริงเท่านั้น ซึ่งหากจะเรียกให้ง่ายเข้า ความรู้เชิงข้อเท็จจริงก็คือการรู้ว่า “อะไรเป็นอะไร” (know what)  คือ การรู้เกี่ยวกับนิยาม ความหมาย ลักษณะ องค์ประกอบของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เป็นความรู้ในเชิงเนื้อหา หรือเป็นข้อมูลที่ผู้เรียนจดจำได้เป็นเบื้องต้น  ความรู้พวกนี้ ถ้ามีมาก ก็แสดงว่าเป็นผู้ที่จดจำได้ดี หมั่นเล่าท่องโดยไม่ละเลี่ยง ครูภาษาไทยเกี่ยวข้องกับการให้ผู้เรียนสร้างความรู้ประเภทนี้เป็นส่วนมาก และที่จริงวิธีการสร้างก็ไม่ยากมาก แค่นำข้อมูลมาจัดการให้เป็นระบบ ร้อยเรียงไว้เป็นรหัสหรือหมวดหมู่บางอย่างที่ง่ายแก่การท่องจำ เช่น อักษรกลาง จำว่า “ไก่จิกเด็กตายเฎ็กฏายบนปากโอ่ง” เป็นต้น


       

       การรู้แต่เฉพาะว่าสิ่งนั้นคืออะไร มีลักษณะและองค์ประกอบอย่างไรนั้น ยังไม่เพียงพอ ผู้เรียนยังจะต้องทราบเพิ่มเติมว่า สิ่งนั้นใช้อย่างไร หรือทำอย่างไรด้วย ความรู้ประเภทที่สองจึงเกิดขึ้น เรียกว่า ความรู้เชิงกระบวนการ (process knowledge) หรือรู้ว่าจะทำอย่างไร  (know how) ตัวอย่างเช่น ถ้าเราถามนักเรียนว่า การเขียนเรียงความควรทำอย่างไรตามลำดับ หรือถามว่า ถ้าจะต้องจดบันทึกสรุปวรรณคดีที่อ่านสักเรื่อง นักเรียนจะมีวิธีการสรุปอย่างไร  ตัวอย่างที่ยกมานี้ ผู้เรียนจะตอบได้ก็ต่อเมื่อมีความรู้เชิงกระบวนการ อันเป็นความรู้ในเชิงวิธีปฏิบัติ ซึ่งสัมพันธ์กับความรู้เชิงข้อเท็จจริง ๆ หลาย ๆ เรื่องมาใช้ร่วมกัน ดังตัวอย่างเรื่องการเขียนเรียงความนั้น ผู้เรียนจะต้องมีความรู้เชิงข้อเท็จจริงว่า เรียงความคืออะไร มีองค์ประกอบอะไรบ้าง ประโยคใจความสำคัญ และประโยคสนับสนุนคืออะไร  โครงเรื่องคืออะไร วรรณศิลป์คืออะไร เพื่อใช้เป็นเบื้องต้นก่อนที่จะตอบในเชิงของกระบวนการเขียนได้   เป็นต้น หรืออีกตัวอย่างหนึ่ง เช่น ในการอ่านวรรณคดีสักเรื่องหนึ่ง นักเรียนก็จะต้องรู้วิธีการอ่าน ว่าจะเริ่มอ่านอย่างไร จะแปลความ ตีความประเด็นที่อ่านอย่างไรด้วยวิธีใด จะบันทึกสรุปอย่างไร เป็นต้น  ความรู้เชิงประการเหล่านี้ ผู้สอนจะให้ผู้เรียนสร้างขึ้นจากการให้ความรู้เชิงข้อเท็จจริงควบคู่ไปกับการให้ผู้เรียนลงมือปฏิบัติจริง คล้ายกับการฝึกหัดขับรถ ที่ผู้สอนสามารถให้ความรู้ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติไปพร้อม ๆ กันนั่นเอง เรื่องการให้ความรู้เชิงกระบวนการเป็นสิ่งที่สำคัญมาก หลายครั้ง ที่ครูภาษาไทยอาจจะละเลย ไม่ให้ความสำคัญกับความรู้ประเภทนี้ หลายครั้งผู้เรียนจึงยังไม่สามารถปฏิบัติได้ ตัวอย่างเช่น ครูสอนแต่ความรู้เชิงข้อเท็จจริงว่า การฟังอย่างมีวิจารณญาณคืออะไร มีวิธีการอย่างไร แต่ไม่เคยให้ผู้เรียนได้ฝึกฟังจริง ๆ จากสื่อต่าง ๆ และฝึกคิดวิเคราะห์ แยกแยะข้อมูลที่ฟัง เป็นต้น 


         ความรู้ประเภทที่สาม คือ ความรู้เชิงเงื่อนไข (conditional knowledge) ความรู้ประเภทนี้อาจเรียกว่า ความรู้ว่าเมื่อไหร่ควรทำและเมื่อไหร่ไม่ควรทำ (know when) ซึ่งเกิดขึ้นเพื่อเติมเต็มความรู้ประเภทที่สอง กล่าวคือ  แม้ผู้เรียนจะทราบและปฏิบัติได้ว่า ปัญหาหรืองานต่าง ๆ ที่ตนเองกำลังประสบอยู่นั้น ควรลงมือดำเนินการตามขั้นตอนอย่างไร แต่หากไม่ทราบสภาพการณ์หรือเงื่อนไขบางอย่าง ก็อาจจะส่งผลให้เกิดผลที่ผิดพลาดไปได้ ซึ่งย่อมก่อให้เกิดปัญหา และในบางกรณีก็อาจจะก่อให้เกิดอันตรายแก่ตนเองได้ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด เช่น  แม้ผู้เรียนจะทราบว่า สำนวนบางสำนวนมีความหมายว่าอย่างไร (ความรู้เชิงข้อเท็จจริง) ใช้ในการพูดหรือเขียนอย่างไร (ความรู้เชิงกระบวนการ) แต่หากนำไปใช้ในบริบทสถานที่ไม่ถูกต้อง หรือใช้เพื่อประชดประชัน  หรือเพื่อสื่อนัยอย่างอื่น เช่นนี้ก็อาจทำให้เกิดปัญหาได้ นี่คือตัวอย่างของความรู้ประเภทที่สามที่เรียกว่า ความรู้เชิงเงื่อนไข


        การจัดการเรียนการสอนภาษาไทย เกี่ยวข้องกับการให้ความรู้ทั้งสามประเภท ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด เช่น สอนว่าคำบุพบทคือะไร แต่ผู้เรียนใช้ไม่เป็น ก็แสดงว่า ให้แต่ความรู้เชิงเนื้อหา แต่ไม่ให้ความรู้เชิงกระบวนการ ดังนั้น ครูผู้สอนจำเป็นจะต้องพิจารณาถึงธรรมชาติของสิ่งที่สอนและความครอบคลุมด้วย เพื่อให้ผู้เรียนสามารถที่จะรับและใช้ความรู้ในบริบทต่าง ๆ ได้อย่างถูกต้อง ทั้งยังจะต้องย้ำเตือนตนเองอยู่เสมอว่า การให้ความรู้หรือการให้ผู้เรียนสร้างความรู้ใด ๆ เพียงประเภทเดียว อาจจะยังไม่เพียงพอสำหรับการดำเนินชีวิตหรือการที่จะเรียกตนเองว่าเป็น “ผู้รู้”


__________________________________


หมายเลขบันทึก: 530995เขียนเมื่อ 22 มีนาคม 2013 19:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มีนาคม 2013 19:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบคุณมากเลยนะครับ

ผมเป็นครูมานานมาก (๓๒ ปี)

ยังไม่ทราบตรงนี้เลยครับ

เพราะมัวแต่เน้นสร้างองค์ความรู้ น่ะครับ

เป็นกำลังใจในการเขียนอีกนะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท