การบริโภคลดเค็ม


                                                               การบริโภคลดเค็ม

                                              นายอานนท์ ภาคมาลี (หมอแดง)

กินเค็มมีปัญหา โรคไต ชี้สาเหตุหลักเกิดจาก กินเค็ม ขณะนี้โรคไตกำลังเป็นปัญหาใหญ่ทั่วโลก ในรอบ 10 ปีมานี้คนไทยมีแนวโน้มป่วยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สาเหตุใหญ่ที่สุดร้อยละ 60 เกิดจากเบาหวานและความดันโลหิตสูง 2 โรคนี้มีคนป่วยรวมเกือบ 15 ล้านคน ทำให้ไตเสื่อมตามมาภายหลังหากไม่ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ ส่วนที่เหลือเกิดจากโรคนิ่วในไต ติดเชื้อที่ไต และเกิดจากการกินยาแก้ปวดติดต่อกันนานๆ และพบในผู้ป่วยโรคเอสแอลอี  จากข้อมูลล่าสุดพบคนไทยป่วยเป็นโรคไตร้อยละ 17.5 ของประชากร หรือประมาณ 8 ล้านคน ป่วยเพิ่มปีละกว่า 7,800 ราย หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง จะเกิดโรคแทรกซ้อนถึงเสียชีวิต หรือต้องฟอกไตยืดชีวิต รอการเปลี่ยนไตใหม่ โดยมีผู้ป่วยที่ไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย สูญเสียหน้าที่ถาวรประมาณ 40,000 ราย ต้องผ่าตัดเปลี่ยนไตใหม่หรือที่วงการแพทย์เรียกว่าปลูกถ่ายไต ซึ่งมีขั้นตอนในการรักษายุ่งยากและค่าใช้จ่ายสูงปีละประมาณ 2 แสนบาทต่อคน และยังมีข้อจำกัดหลักคือขาดแคลนผู้บริจาคไต จึงต้องรักษาเพื่อยืดอายุโดยวิธีฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม หรือล้างของเสียออกทางหน้าท้อง ในปี 2555 มีผู้ป่วยได้รับการผ่าตัดปลูกถ่ายไตเพียง 400 รายเท่านั้น

หน้าที่สำคัญของไตคือการควบคุมระดับของโซเดียมในร่างกาย โซเดียมจะช่วยรักษาสมดุลของเหลวในร่างกาย ทำให้การทำงานของเส้นประสาทและกล้ามเนื้อเป็นปกติ โดยโซเดียมที่ร่างกายได้รับร้อยละ 90-95 มาจากอาหารที่บริโภค ทั้งพืชและเนื้อสัตว์ รวมทั้งเครื่องปรุงรสเค็ม และอาหารที่มีส่วนประกอบของโซเดียม เช่น ผงชูรส ผงปรุงรส ผงฟู โดยค่ามาตรฐานใน 1 วันร่างกายต้องการไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อวันหรือเท่ากับเกลือ 1 ช้อนชา แต่จากการสำรวจครั้งล่าสุดในปี 2550 พบว่าคนไทยบริโภคเกลือหรือโซเดียมเกินกว่ามาตรฐานที่กำหนดถึง 2 เท่า การกินเค็มจัดเช่นนี้ จะทำให้ไตทำงานหนักในการขับโซเดียมส่วนเกินออกทางปัสสาวะ เพื่อรักษาสมดุลของร่างกาย หากขับออกได้ไม่หมดโซเดียมก็จะคั่งและเป็นตัวดึงน้ำไว้ในร่างกาย ทำให้มีปริมาณของเหลวไหลเวียนในร่างกายมากผิดปกติ เพิ่มแรงดันในหลอดเลือดให้สูงขึ้น ส่งผลให้หัวใจทำงานหนักขึ้น เกิดปัญหาหลอดเลือดทั้งขนาดใหญ่และเล็กที่ไปเลี้ยงทั่วร่างกายปรับตัวหนาและแข็งตามมา โดยเฉพาะที่ไตจะมีผลกระทบมาก เนื่องจากมีเส้นเลือดฝอยเล็กๆ จำนวนมากทำหน้าที่กรองของเสียออกจากเลือด ไม่สามารถขับของเสียออกได้หมด เกิดการอักเสบของเส้นเลือด เร่งให้เกิดการเสื่อมสภาพเร็วขึ้นกว่าปกติ เป็นเพชฌฆาตเงียบที่คร่าชีวิตคนกินเค็ม เพราะหากยังกินเค็มต่อเนื่อง ภายใน 5 - 10 ปีหลอดเลือดในไตจะเสื่อมสภาพอย่างถาวรทำให้เป็นไตวายเรื้อรัง รักษาให้กลับมาเหมือนเดิมไม่ได้ ต้องเปลี่ยนไตใหม่ จึงต้องเร่งรณรงค์ให้ประชาชนลดการกินเค็มลงกว่าเดิมครึ่งหนึ่ง เพื่อให้ไม่เกินเกณฑ์มาตรฐาน เป็นการถนอมไต ป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับไตในระยะยาว

ผสมอยู่ทั้งสิ้น และผลิตภัณฑ์ชูรสได้ปรับจากรูปแบบเดิมที่เป็นเกล็ด ใส ที่เรียกว่าผงชูรส มาเป็นผงแป้งปรุงรสหรือซุปก้อน ทำให้ประชาชนเข้าใจผิดว่าไม่ใช่ผงชูรส แต่ทำจากเนื้อสัตว์ ช่วยให้อาหารรสชาติกลมกล่อม อร่อยขึ้น จึงใส่ในปริมาณมากกว่าการใช้ผงชูรส ทั้งที่ปริมาณโซเดียมในผงปรุงรสเหล่านี้สูงกว่าผงชูรสถึง 2-3 เท่าตัว เมื่อเทียบในปริมาณ 1 ช้อนชา ผงชูรสมีโซเดียม 492 มิลลิกรัม ผงแป้งปรุงรสมี 815 มิลลิกรัม และซุปก้อนขนาด 10 กรัมมีโซเดียม 1,760 มิลลิกรัม ส่วนน้ำปลามี 400-500 มิลลิกรัม และเกลือมีมากที่สุดคือ 2,000 มิลลิกรัม

ปัจจุบัน พบว่าคนไทยป่วยเป็นโรคไตวาย และไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายซึ่งต้องรักษาด้วยการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมและผ่าตัดปลูกถ่ายไตเพิ่มขึ้น ซึ่งต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงมาก ดังนั้นการรณรงค์ลดผู้ป่วยรายใหม่จึงมีความสำคัญอย่างมาก โดยสาเหตุที่สำคัญคือการมีพฤติกรรมบริโภคเกลือ อาหารรสเค็ม และอาหารสำเร็จรูปที่ใส่สารปรุงรส ซึ่งนอกจากเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคไตแล้วยังเป็นสาเหตุของโรคเรื้อรังอื่น เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคอัมพฤกษ์ อัมพาต ข้อมูลของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขพบว่าคนไทยกินเกลือเฉลี่ย 12 กรัมต่อวัน ซึ่งที่ถูกต้องตามหลักโภชนาการคือ ไม่เกิน 6 กรัมต่อวันหรือไม่เกิน 1 ช้อนชาต่อวัน

ดังนั้น จึงแนะนำให้ประชาชนทั่วไปและผู้ที่มีโอกาสเสี่ยงในการเกิดโรคไตได้แก่ ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน ผู้ที่ใช้ยาแก้ปวดกระดูกเป็นเวลานาน ผู้ป่วยโรคเกาต์ โรคหัวใจ ผู้สูงอายุ ปฏิบัติตัวดังนี้คือ ลดการกินอาหารรสเค็ม โดยบริโภคเกลือไม่เกิน 1 ช้อนชาต่อวัน และอาหารประเภทโปรตีน หลีกเลี่ยงการใช้ยา แก้ปวดข้อ ปวดกระดูก ยาปฏิชีวนะติดต่อกันเป็นเวลานาน หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ เข้ารับการตรวจสุขภาพเป็นประจำอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อป้องกันไม่ให้เป็นโรคไต  ใครที่กินอาหารรสชาติเค็มจัด อาจเสี่ยงเป็น โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคไต และอัมพฤกษ์ อัมพาต
หน้าที่สำคัญของไต คือ ควบคุมระดับโซเดียมในร่างกาย โซเดียมจะช่วยรักษาสมดุลของเหลวในร่างกาย ทำให้การทำงานของเส้นประสาทและกล้ามเนื้อเป็นปกติ โซเดียมที่ร่างกายได้รับส่วนใหญ่มาจากอาหารที่บริโภค เช่น น้ำปลา ซอสปรุงรส ผงชูรส ผงปรุงรส  ใน  1 วัน ร่างกายต้องการไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัม หรือเท่ากับเกลือ 1 ช้อนชา แต่จากข้อมูลพบว่า คนไทยบริโภคเกลือหรือโซเดียมเกินกว่ามาตรฐานที่กำหนดถึง2เท่า  การกินอาหารเค็มเป็นครั้งคราวคงไม่เป็นอะไร แต่การกินอาหารเค็มจัด ทำให้เกิดการคั่งของน้ำและเกลือ ส่งผลให้ไตทำงานหนักขึ้น เพื่อกรองเกลือและน้ำส่วนเกิน ผลที่ตามมาคือ ทำให้เป็นโรคไตวายเรื้อรัง การกินอาหารเค็มจัดทำให้ความดันโลหิตสูงมีโอกาสเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด หากไม่ได้รับการรักษาอาจนำไปสู่ภาวะหัวใจขาดเลือดหัวใจวายเสียชีวิตเป็นอัมพฤกษ์อัมพาต
หลายคนติดรสชาติเค็ม และไม่รู้ว่าตัวเองกินเค็ม ดังนั้นควรลดเค็มลงครึ่งหนึ่ง เคยปรุงรสอาหารด้วยน้ำปลา 2 ช้อน ก็ลดลงเหลือ 1 ช้อน ใน 1 วันไม่ควรกินน้ำปลาเกิน 3 ช้อนชา หรือมื้อละ 1 ช้อนชา  กินเหลือไม่เกินวันละ 5 กรัม ควรเปลี่ยนนิสัยในการกินด้วยการชิมก่อนปรุง ไม่ใช่ว่าปรุงก่อนชิม หลีกเลี่ยงอาหารรสชาติเค็มจัด เช่น อาหารหมักดอง อาหารที่ใช้เกลือในการถนอมอาหาร เช่น ปลาเค็ม ปลาร้า  กะปิ
 แนะนำวิธีป้องกันโรคไต คือ

1. ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูงควรไปพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอ

2. พยายามควบคุมเบาหวานและความดันให้ดี

3. หลีกเลี่ยงการกินอาหารรสชาติเค็มจัด โดยลดเค็มลงครึ่งหนึ่ง

 4. หลีกเลี่ยงการกินยาแก้ปวดโดยไม่จำเป็น ไม่ควรซื้อยากินเอง ไม่ว่ายาชุด ยาหม้อ การกินยาติดต่อกันเป็นเวลานานมีผลต่อไตโดยตรง และ

5.คนที่เป็นโรคอ้วนมีโอกาสเป็นโรคไตมากขึ้นดังนั้นควรควบคุมน้ำหนักให้เหมาะสม     


หมายเลขบันทึก: 530589เขียนเมื่อ 18 มีนาคม 2013 19:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มีนาคม 2013 19:59 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท