ชีวิตที่พอเพียง : 124. วิธีจัดการความคาดหวัง


        ผมระลึกชาติเรื่องนี้ในที่ประชุมคณะกรรมการบริหารแผนคณะที่ ๓ ของ สสส. เมื่อวันที่ ๗ กย. ๔๙     ผมได้ชี้ให้เห็นว่าหน่วยงานที่ทำงานให้ทุนสนับสนุนจะพบภาวะวิกฤต      ที่ความคาดหวังของ "ลูกค้า" หรือ "ภาคี" กับของหน่วยงานไม่ตรงกัน      จึงต้องมียุทธวิธีในการจัดการความคาดหวัง

        ผมเล่าให้ที่ประชุมฟังว่า     ตอนที่ผมทำหน้าที่ ผอ. สกว. วาระที่ ๒     ผมสังเกตเห็นว่ามีปัญหาความคาดหวังของนักวิจัย ไม่ตรงกันกับนโยบายที่ผู้บริหาร สกว. ได้รับมาจากคณะกรรมการกองทุนสนับสนุนการวิจัย     ซึ่งถ้าสภาพเช่นนั้นดำรงอยู่นาน  ความสัมพันธ์ระหว่างกันก็จะไม่ดี      ผมได้ดำเนินการแก้ปัญหา     หรือเราใช้คำใหม่ว่าดำเนินการสร้างความสัมพันธ์กับนักวิจัย หรือภาคี    โดยเราจัดการประชุมปรึกษาหารือกับนักวิจัยเป็นกลุ่มๆ ปีละ ๑ - ๒ ครั้ง      โดยบอกวัตถุประสงค์ของการประชุมว่า สกว. ต้องการคำแนะนำยุทธศาสตร์ในการทำงาน     โดยที่เราได้รับข้อกำหนดทิศทาง (direction) และผลลัพธ์ที่ต้องการจากคณะกรรมการนโยบายฯ ไว้แล้ว

        ผมได้ส่งเอกสารเกี่ยวกับข้อกำหนดทิศทาง (direction) และผลลัพธ์ที่ต้องการ    ที่กำหนดโดยคณะกรรมการนโยบายฯ      ไปให้ภาคีที่เราเชิญเข้าร่วมประชุมอ่านล่วงหน้า     เพื่อให้เขารู้ว่า สกว. ก็ไม่ได้ทำงานตามอำเภอใจ    มีคณะกรรมการนโยบายคอยกำหนดทิศทาง และลำดับความสำคัญ รวมทั้งคอยติดตามตรวจสอบการดำเนินการและผลงานด้วย      

         ตอนประชุม    ผมจะใช้เวลาประมาณ ๓๐ - ๔๕ นาทีนำเสนอสภาพปัจจุบัน (ในขณะนั้น)  ว่าที่ผ่านมามีผลงานด้านนั้นๆ อย่างไรบ้าง     ขณะนี้คณะกรรมการนโยบายฯ กำหนดทิศทาง และลำดับความสำคัญ อย่างไรบ้าง     และแจ้งต่อที่ประชุมว่า การประชุมนั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อขอคำแนะนำว่าจะสนับสนุนการวิจัยให้บรรลุทิศทาง เป้าหมาย ตามที่คณะกรรมการนโยบายฯ กำหนด ได้อย่างไร

        ผมได้ชี้ให้ที่ประชุมเห็นว่า     วิธีการของผมได้ผลสองต่อ    คือได้ผลด้านการจัดการความคาดหวังของภาคี     และได้ใช้สติปัญญาของภาคีในการวางยุทธศาสตร์การทำงานด้วย

         หมออำพล จินดาวัฒนะ ผู้เป็นกรรมการและร่วมประชุมอยู่ด้วย     ชมว่า "ลีลาเหลือร้าย"     จึงเกิด "พลังบ้ายอ" นำมาโม้ต่อ

วิจารณ์ พานิช
๗ กย. ๔๙    

หมายเลขบันทึก: 53058เขียนเมื่อ 3 ตุลาคม 2006 08:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:02 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท