เล่าเรื่องถ่ายภาพ


ความตั้งใจในเรื่องการถ่ายภาพของผม มิได้มีจุดประสงค์หรือความมุ่งหมายอะไรมากไปกว่า “ถ่ายเอาเพลิน” ถ่ายเสร็จแล้ว ก็มานั่งชม บางภาพนำมาแต่งแต้มตามจินตนาการ ว่าขาดอะไร ควรเติมอะไร แค่นั้น

พี่ : วันที่ 22-23 ก.พ.56 อ.ธนิตย์ว่างไหม จะรบกวนให้เป็นวิทยากร อบรมเทคนิคการถ่ายภาพให้ครูและนักเรียนจ่านกร้อง ประมาณ 20 คน ร่วมกับวิทยากรท่านอื่นๆอีก 2-3 คนค่ะ

ผม : ว่างและยินดีมากๆครับพี่ แต่ไม่แน่ใจเลย ว่าจะมีความรู้พอแนะนำคนอื่นเรื่องถ่ายภาพมั้ย ทฤษฏี หลักการ หนังสืออะไรก็อ่านน้อย ได้แค่ชอบ แล้วก็ถ่ายไปเรื่อยๆ เท่านั้นเองน่ะครับ

พี่ : ประสบการณ์ คือสิ่งที่ซื้อหากันไม่ได้ วิทยากรแต่ละท่านที่เชิญมาย่อมมีองค์ความรู้เป็นของตัวเอง ถ้าได้เพื่อนร่วมอาชีพ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ดูจะเป็นกันเองกว่า จะส่งหนังสือเชิญไปที่โรงเรียน ขอบคุณล่วงหน้าค่ะ

ผม : ครับ

.......................................

ผมได้รับการติดต่อจากพี่ที่เคารพคนหนึ่งในg2kนี้เอง พี่กิติยา เตชะวรรณวุฒิ จากโรงเรียนจ่านกร้องครับ ให้ไปแลกเปลี่ยนประสบการณ์การถ่ายภาพ แรกเลยดูจากผู้เข้ารับการอบรม ซึ่งประกอบไปด้วยนักเรียนและคุณครูไม่กี่คน จึงไม่รู้สึกอะไร แต่ติดในใจ เราจะรู้พอถ่ายทอดให้คนอื่นได้เชียวหรือ? แต่พอฟังพี่เขาคิด และกำลังใจที่ได้รับ ทำให้มั่นใจขึ้น

ครั้งหนึ่งนานมาแล้ว เคยไปสอนลูกศิษย์พี่ครูคิมถ่ายภาพที่โรงเรียนวิทยสัมพันธ์ ด้วยการชักชวนของหนานเกียรติผู้ล่วงลับ นั่นเป็นครั้งแรก ครั้งนี้จะเป็นครั้งที่สองในชีวิต ครั้งแรกที่โรงเรียนพี่ครูคิมนั้น ไม่กังวลอะไร เพราะเด็กๆที่เราจะให้ความรู้ยังเล็ก เป็นนักเรียนระดับชั้นประถมเอง หลักการทฤษฏีอะไรต่างๆ ซึ่งเราไม่ค่อยรู้อยู่แล้ว คงไม่จำเป็นนักแต่ครั้งนี้เป็นนักเรียนชั้นมัธยม เท่าลูกศิษย์ที่โรงเรียนเลย

พอใกล้วันเข้า จากการที่ได้เตรียมตัวเอง ทำให้พบว่าการใช้กล้องของเราที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นกด เปิด ปิด ตั้ง เซตค่า ปุ่มต่างๆที่ใช้ควบคุม เราทำไปจะว่าอัตโนมัติก็ได้ ถ่ายอย่างนี้ ควรเปิดรูรับแสง ควรใช้ชัตเตอร์สปีด หรือมีเทคนิคเล็กๆน้อยๆอะไรบ้างที่ควรทำ เรารู้เท่าที่เราใช้ จึงจะคุยเฉพาะที่เรารู้ ตั้งใจไว้อย่างนั้น

ที่เริ่มกังวล พอลองนึกคำ ประโยค หรือข้อความ ที่จะอธิบายตามที่เราเคยทำ เคยใช้ หรือตามที่เราคิด โอ! เป็นครูมากกว่า 20 ปี แต่หลายอย่างเลย สำหรับกล้องและการถ่ายภาพ ไม่รู้จะเล่าอย่างไร ติดมากๆคือชื่อเรียก สอนชีววิทยาในห้องเรียน หรือคุยเรื่องงานประกันคุณภาพที่คุ้นเคย ไม่ได้ยากอย่างนี้นี่นา(ฮา) งั้นก็เรียกตามที่ตัวเองเคยเรียกนี่แหละ ผิดบ้างถูกบ้างคงไม่เป็นไร ก็เราแค่เป็นครูที่ชอบถ่ายภาพ ไม่ใช่ตากล้องมืออาชีพสักหน่อย สรุปแล้วมีทางออกหรือข้อแก้ตัวให้กับตัวเองเสมอครับ(ฮา)

ยิ่งใกล้วันยิ่งกังวล พี่กิติยาโทรศัพท์บอก นักเรียนและคุณครูผู้เข้ารับการอบรมไม่ใช่แค่ 20 แล้ว แต่อาจจะเป็น 50-60 นี่ประการหนึ่ง อีกประการหนึ่ง วิทยากรให้ความรู้ยังมีอีกหลายท่าน ซึ่งล้วนเป็นมืออาชีพ ไม่ว่าจะจากร้านรับถ่ายภาพงานแต่ง หรือจากบริษัทแคนนอนโดยตรง เอาล่ะสิ! ก็ว่าพอทำใจได้ระดับหนึ่งแล้วนะ(ฮา)

สิ่งที่ผมเตรียม คือประเด็นและลำดับในการนำเสนอ ที่วางแผนไว้ และทำจริงๆก็อย่างนี้ครับ

หนึ่งเลยกันเหนียว(ฮา) เล่าความเป็นมาเป็นไปในเรื่องถ่ายภาพของเราก่อน อย่างน้อยให้เด็กๆและคุณครูไม่คิดหวังอะไรจากเรามากเกินไป ที่สำคัญอยากเน้นด้วยว่า ผมกับคุณที่มาที่ไปในเรื่องถ่ายภาพไม่ต่างกันเลย เรามาจากความไม่รู้ เรามาจากความชอบ แถมย้ำผมรู้เฉพาะที่ติดขัดหรืออยากรู้ เพื่อแก้ปัญหาการถ่ายภาพให้กับตัวเอง หลายเรื่องผมไม่รู้ และก็ไม่ได้อยากรู้ด้วย เอาแค่นี้พอ ความตั้งใจในเรื่องการถ่ายภาพของผม มิได้มีจุดประสงค์หรือความมุ่งหมายอะไรมากไปกว่า “ถ่ายเอาเพลิน” ถ่ายเสร็จแล้ว ก็มานั่งชม บางภาพนำมาแต่งแต้มตามจินตนาการ ว่าขาดอะไร ควรเติมอะไร แค่นั้น

สองคือสาระเนื้อหาตามประสบการณ์ที่เรามี ที่นึกได้ จำเป็น และน่าจะเล่า ได้แก่ ตำแหน่งโฟกัส ภาพชัดลึกชัดตื้น การถ่ายภาพดวงอาทิตย์ การถ่ายภาพท้องฟ้า การถ่ายภาพกลางคืน และถ่ายภาพการเรียนรู้ของนักเรียน

วันจริงช่วงเช้า ผมนั่งฟังน้องวิทยากรมืออาชีพจากบริษัทแคนนอนบรรยาย สุดยอดครับ ครบถ้วน บางประเด็นที่เคยไม่เข้าใจ เบลอๆ หรือไม่รู้เหตุผล ชัดเจนขึ้นมาก คำอธิบายต่างๆกระจ่าง เครื่องไม้เครื่องมือ สื่อที่พร้อม ทำให้ผู้ฟังไม่ต้องนึกมาก ว่าอะไรเป็นอะไร กล้องทำงาน กลไกต่างๆ ทีมงานเขาเปิดและขยายภาพให้เห็นทางโปรเจ็คเตอร์ จังหวะการเปิดปิดหน้ากล้องหรือเสียงลั่นชัตเตอร์ สปีดช้า สปีดเร็ว ผู้ฟังคุ้มค่ามากครับ ผมเองก็รู้สึกอย่างนั้น แต่อีกใจที่เริ่มร้อนรุ่มขึ้นมาอีกแล้ว แล้วจะเหลืออะไรให้เราเล่าบ้างเนี่ย(ฮา)

ช่วงสุดท้าย เวลาของผมจึงได้ฤกษ์ ถ้าถามความตื่นเต้น บอกได้เลยว่าน้อยมาก แต่ถ้าเรื่องความกังวล ซึ่งมีก่อนหน้ามากมายแล้ว ผมว่าผมตัดได้ตั้งแต่ก้าวขึ้นเวที(ฮา) เริ่มด้วยการทักทาย พูดคุย ตามประเด็นที่ได้จัดเตรียมไว้

ตำแหน่งภาพที่โฟกัสต้องชัดเจน ว่าเราจะถ่ายหรือนำเสนออะไร เสียงติ๊ดๆ เครื่องหมายในกล้อง หรือจุดโฟกัสต้องชี้หรือวางตรงวัตถุที่เราต้องการถ่ายจริงๆ ไม่อย่างนั้นความคมชัดของภาพจะไปปรากฏที่อื่น ต้องการเสนอเรื่องหนึ่ง แต่ภาพโชว์อีกเรื่องหนึ่ง อย่างนี้น่าจะเป็นข้อด้อย

เปิดรูรับแสง(aperture)แคบหรือตัวเลขมากๆจะให้ภาพชัดลึก ตรงข้ามถ้าต้องการภาพชัดตื้นต้องเปิดรูรับแสงให้กว้างหรือตัวเลขน้อยๆ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับผู้ถ่าย ว่าต้องการภาพลักษณะใด หรือต้องการนำเสนออะไร แต่โดยทั่วไปแล้ว ภาพชัดลึกหรือชัดเจนตลอดทั้งภาพ มักจะใช้ในการถ่ายภาพทิวทัศน์(landscape) ส่วนภาพชัดตื้น ชัดเฉพาะด้านหน้าหรือเฉพาะส่วน มักจะใช้ในการถ่ายคน สัตว์ สิ่งของ(portrait) เป็นต้น

ผมชอบถ่ายภาพทั้งพระอาทิตย์ขึ้นและตก ครั้งแรกที่ซื้อกล้องSLRมา ก็หวังจะถ่ายภาพพวกนี้ แต่เอาเข้าจริง ครั้งแรกที่ถ่ายสีสันแสงเงาไม่ได้อย่างที่หวังไว้เลย ปัญหาสำคัญของคนถ่ายภาพน่าจะเป็นเรื่องนี้ ถ่ายอย่างไรให้เหมือนจริง หรือเหมือนกับตาเราเห็นนั่นเป็นการควบคุมการทำงานของกล้องให้ได้ดังใจ ซึ่งเราต้องศึกษาใช่มั้ยครับ

ถ่ายภาพดวงอาทิตย์ ใช้การวัดแสงบริเวณพื้นที่ข้างดวงอาทิตย์ ด้วยการเซตกล้องให้วัดค่าแสงแบบจุด โหมดใช้ถ่ายเลือกเป็น A , AV , S หรือ TV ไม่อย่างนั้นอีกอย่างที่ทำได้ก็คือ มองในกล้องสังเกตสเกลบอกค่าแสง แล้วปรับสเกลให้มืดกว่าปกติ หรือถ่ายให้แสงไม่พอเข้าไว้

สำหรับถ่ายฟ้าให้เป็นสีฟ้านั้น ตัวเองเรียนรู้และเลือกทำอยู่ 3 แบบ แบบหนึ่งใช้ฟิลเตอร์CPL ก็แค่ไปหาซื้อจากร้านขายกล้องมาครับ(ฮา) วิธีถ่ายต้องหมุนฟิลเตอร์เลือกหาพื้นที่มืด จะให้ฟ้าสีเข้มเท่าใด ก็ปรับให้กล้องเห็นมืดขึ้นเท่านั้น แบบสองเลือกถ่ายมุมpolarized หรือมุมที่มีแสงสะท้อนน้อย โดยการหันไหล่ข้างใดข้างหนึ่งของเราเข้าหาดวงอาทิตย์ ตรงหน้าหรือตรงหลังของเราจะได้มุมpolarized แบบสุดท้ายคือแต่งเอาจากโปรแกรมคอมพิวเตอร์ต่างๆเลยครับ(ฮา) แต่มีเงื่อนไข ภาพที่ถ่ายมานั้น คุณภาพต้องดีพอสมควร ประสบการณ์ที่ตัวเองมี แสงในภาพต้องพอ ถ่ายมาให้แสงมากเกินยังดีกว่าแสงขาด หากจะนำมาปรับแต่งเพิ่มเติม


การถ่ายภาพกลางคืน เนื่องจากเวลากลางคืนแสงน้อย สปีดกล้องจะช้าลงโดยธรรมชาติ ความช้าจะทำให้เราไม่สามารถใช้มือถือกล้องถ่ายตามปกติได้ เพราะภาพจะสั่น เบลอ ไม่คมชัด กรณีนี้ขาตั้งกล้องจำเป็นต้องนำมาใช้แล้ว ถ้าแสงพอมีบ้าง สปีดอาจไม่ต้องช้ามากก็ได้ ทฤษฎีบอกโดยทั่วไปหรืออย่างเราๆ หากสปีดกล้องช้ากว่า 1/30 วินาที โอกาสไม่ชัดก็เริ่มแล้วสปีดที่ตัวเองใช้ถ่ายกลางคืนบ่อยๆ สัก 1-3 วินาที ก็น่าจะเพียงพอ ยกเว้นบริเวณนั้นมืดมาก แต่ทั้งนี้ก็แล้วแต่เราเลือกใช้รูรับแสงกว้างหรือแคบด้วย ถ้าเลือกใช้แคบๆ เพื่อความชัดลึกของภาพ สปีดกล้องยิ่งต้องช้าลง

เรื่องสุดท้าย การถ่ายภาพเพื่อจัดทำสื่อการเรียนรู้ จริงๆแล้วผู้จัดการอบรมตั้งใจมอบหมายให้ผม ซึ่งเป็นครูนำเสนอโดยเฉพาะเลย แต่เนื่องจากเคยถ่ายภาพทำสื่อตัวเองจริงๆจังๆมาครั้งเดียวเอง และนานมาแล้วด้วย แต่สิ่งที่ทำมาตลอด สม่ำเสมอ ซึ่งอยากจะเล่ากว่าคือ การถ่ายภาพกิจกรรมการเรียนรู้ของนักเรียนในห้องเรียน ดังนั้น จึงขอแลกเปลี่ยนประสบการณ์นี้แทน

การถ่ายกิจกรรมการเรียนรู้ เช่นกันกับการถ่ายภาพอื่นๆ ควรมีในใจก่อน ว่าเรากำลังจะถ่ายหรือบอกเล่าอะไร ในภาพที่ได้ควรเห็นแล้วรู้ทันที ว่าใคร ทำอะไร ที่ไหน อย่างไร เป็นต้น บางคนเรียกลักษณะนี้ว่า “ถ่ายให้มีเรื่องราว”

และแล้วการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของผมวันนั้น ก็สิ้นสุดที่ประเด็นสุดท้ายนี้ โดยใช้เวลาทั้งหมดร่วมชั่วโมงเต็ม

ขอบคุณพี่กิติยาและโรงเรียนจ่านกร้องครับ ที่ให้โอกาสรวบรวม เรียบเรียงความคิด ประสบการณ์ ในเรื่องการถ่ายภาพของตัวเองที่ผ่านมา



ความเห็น (13)

     ..... ภาพถ่าย .... สื่อให้เห็น .... วัฒนธรรม....ความเชื่อ....ค่านิยม...ความชอบ...นะคะ ...... ที่สำคัญอยู่ที่ ..... "ความสามารถของผู้ถ่าย คือ ท่านอาจารย์ ธนิตย์" ..... 


ติดตามภาพงามๆของน้องครูอยู่เสมอค่ะ...ดีใจแทนผู้เข้าอบรมด้วยค่ะ

  • ชอบคำอธิบายนี้จังครับ ภาพถ่ายสื่อให้เห็นวัฒนธรรม ความเชื่อ ค่านิยม ความชอบ..
  • ขอบคุณDr.Pleครับ
  • ขอบคุณครับ ได้รับเกียรติอย่างสูงเลย มิบังอาจครับ..(ฮา)
  • ขอบคุณอีกครั้งครับคุณแสงแห่งความดี
  • เด็กๆผู้เข้ารับการอบรม เป็นกำลังใจให้ครูได้มากเลยครับ
  • ขอบคุณพี่ใหญ่ นงนาทครับ

ชอบสิ่งที่ถ่ายทอดในภาพถ่ายคะ เพราะข้อมูลที่ปรากฎ  'เป็นอย่างที่มันเป็น'
แต่ละคนที่เห็นมีสิทธิตีความได้หลากหลาย
อย่างที่ ข้อมูลที่อยู่ใน 'ความเห็น' ให้ไม่ได้นะคะ

  • รู้สึกเช่นกัน แต่ออกความเห็นอย่างไรก็คงไม่ดีครับ
  • ขอบคุณอ.หมอป.ครับ

*** แชร์ข้อมูลนี้ให้วิทยากรทุกท่านแล้วนะคะ และจะมอบเป็นภาระงานให้นักเรียนนำเรื่องเล่านี้ นำไปสู่แรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์

*** ผลงานที่เผยแพร่ทำให้ผู้อื่นเห็นแล้วมีความสุข...เป็นอานิสงส์จากการแบ่งปันของคนหลังเลนส์และอาจสืบเนื่องเป็นมรดกของสังคมโลก ในยุคสื่อสารไร้พรมแดน

*** ขอบคุณ อ.ธนิตย์ที่ช่วยเติมเต็ม...โดยเฉพาะน้ำใจและความตั้งใจอันประเมินค่าไม่ได้

พี่ครูธนิตย์ ฝีมือระดับเซียนมากๆๆ ทึ่งในความสามารถครับ

  • วันนั้นก็หวังว่าความรู้จะเป็นประโยชน์กับนักเรียนบ้างแล้ว และถ้าบันทึกนี้จะเป็นประโยชน์กับนักเรียนอีก..ดีใจมากๆเลยครับพี่กิติยา
  • ขอบคุณพี่กิติยาครับ

สวัสดีค่ะ

แวะมาชมบันทึกนี้ค่ะ

เป็นบันทึกที่สวยงามค่ะ

ขอบคุณสำหรับบันทึกนี้นะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท