สถานการณ์ใต้ ตอนที่ 5: ความสัมพันธ์ระหว่างสยามกับปัตตานี : ยุคกษัตริย์สตรีแห่งปัตตานี: ราชินีบีรู


          ราชินีบีรู  พ.ศ. 2127-2159 ทรงเป็นพระขนิษฐาของราชินีฮิเยา ในสมัยพระนางยังคงต้องเผชิญกับการคุกคามจากสยาม เห็นได้จากความพยายามในการสร้างปืนใหญ่3กระบอก ได้แก่ เสรี ปัตตานีหรือ พญาตานี ศรีนคราหรือเสรีนคร และมหาเลลา ทั้ง 3 กระบอกได้ติดตั้งไว้บนรถลากและ ได้ใช้เป็นอาวุธป้องกันเมืองปัตตานีหลายครั้งในเวลาต่อมา นโยบายด้านต่างประเทศ ตลอดกว่า 3 ทศวรรษ ที่ปฏิบัติภารกิจในฐานะเจ้าหญิงรัชทายาทเคียงข้างพระพี่นางฮีเจา ราชีนีบีรูทรงตระหนักได้ว่า ความรุ่งโรจน์ของนครปัตตานีในฐานะเป็นเมืองท่าสำคัญของการค้าบนคาบสมุทรมลายูนั้น ได้ทำให้นครปัตตานีกลายเป็นเป้าหมายของของกรุงศรีอยุธยา ที่ทรงอิทธิพลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ณ เวลานั้น

        ประสบการณ์การเมืองและการทูตที่เรียนรู้สั่งสมครั้งเป็นเจ้าหญิงรัชทายาท ทำให้ราตูบีรูทรงเลือกที่จะรักษาความสัมพันธ์กับสยามไว้อย่างชาญฉลาด ในขณะที่ยังคงสืบต่อพระราชวิเทโศบาย สมัยพระพี่นาง ด้วยการส่งบุหงามาศมาสานไมตรีกับเจ้าแผ่นดินกรุงศรีอยุธยา. อีกด้านหนึ่งราตูบีรูทรงส่งคณะทูตไปเข้าเฝ้าสุลต่านเมืองกลันตัน เพื่อหารือเกี่ยวกับการรวมตัวกันเป็นสหพันธรัฐปัตตานี เพื่อต่อต้านอิทธิพลของกรุงศรีอยุธยา

        เมื่อผลการเจรจาผ่านคณะทูตไม่เป็นที่พอพระทัย ราชีนีบีรูได้เสด็จด้วยพระองค์เองไปเยือนกลันตัน ในครั้งนี้สุลต่านกลันตันทรงมีความเห็นคล้อยตามข้อเสนอของราตูบีรู ในการรวมตัวเข้าเป็นสหพันธรัฐปัตตานี แต่มีเงื่อนไขว่า กลันตันต้องคงอำนาจปกครองเหนือดินแดนตนเอง และจะไม่ส่งเครื่องราชบรรณาการหรือภาษีจากกลันตันให้กับนครปัตตานี การรวมเป็นหนึ่งเดียวในนามสหพันธรัฐปัตตานี เพื่อสร้างกองทัพที่เข้มแข็งใน การเผชิญหน้าทำสงครามกับสยาม การรวมดินแดนระหว่างปัตตานีกับกลันตันใช้เวลา ถึง 131 ปี

         เพื่อรักษาอธิปไตยเหนือแผ่นดินปัตตานี ราชีนีบีรูยังได้สร้างกำแพงเมืองแข็งแกร่งที่ชาวเมืองเรียกขานกันว่า "กำแพงบีรู" ทั้งยังมีบัญชาให้หล่อปืนใหญ่ไว้ใช้ในการปกป้องนครยามเกิดศึกสงคราม ในการหล่อปืนใหญ่นั้น พระองค์มีพระบรมราชโองการให้รวบรวมทองเหลืองทั้งหมดที่มีในพระนคร เพื่อใช้ในการหล่อปืน ทรงสั่งห้ามพสกนิกรขายทองเหลืองที่มีอยู่ในครอบครองให้กับชาวต่างชาติเป็น ระยะเวลา 3 ปี แต่ให้นำมาขายกับพระองค์ หากผู้ใดฝ่าฝืนผู้นั้นต้องรับโทษประหารชีวิต นอกจากพระราชกุศโลบายเพื่อปกป้องรักษาเอกราชของสหพันธรัฐปัตตานีแล้ว ราชีนีบีรูยังมีสายพระเนตรกว้างไกลในการดำเนินพระราชวิเทโศบาย เพื่อเชื่อมสัมพันธ์กับกษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยาด้วยการส่งดอกไม้เงิน ดอกไม้ทองไปให้สยาม ขณะที่เหล่าเสนาบดียังคงโรมรันพันตูอยู่กับการเมืองในราชสำนัก ราชีนีบีรูทรงดำเนินพระราชวิเทโศบายตามรอยยุคลบาทของพระพี่นางผู้ล่วงลับ พระองค์ทรงส่งเสนาบดีไปเชิญพระน้องนางอูงู มเหสีม่ายของเจ้านครปะหัง และเจ้าหญิงกูนิง พระราชธิดากลับมาประทับที่นครปัตตานี

       หลังจากนั้น พระองค์ทรงพระราชทาน "เจ้าหญิงกูนิง" พระนัดดาวัย ๑๒ ปี ที่ร่ำลือกันนักว่าทรงพระสิริโฉมงดงามและมีพระฉวีสีเหลืองนวลลออตา ให้เสกสมรสกับออกญาเดโช บุตรชายของเจ้าเมืองลิกอร์ที่อยู่ภายใต้การปกครองของกรุงศรีอยุธยา เป็นพระราชกุศโลบายเพื่อสานสัมพันธ์แนบแน่นกับสยามที่ทรงอิทธิพลในขณะนั้น

         นิรมิตแห่งพระนาม "บีรู" สีฟ้าสวยใสของสายรุ้งนั้น เป็นที่ประจักษ์แจ้งในตำนานนครรัฐปัตตานี ถึงความเป็นกษัตริยานักการทูตที่อ่อนนอกแข็งใน พระจริยวัตรอ่อนหวานขององค์ราชีนีบีรูนั้น ซ่อนไว้ด้วยเล่ห์กลทางการเมืองที่ทั้งขุนนาง ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดิน และผู้รุกรานมิอาจหยั่งถึง ด้วยพระปรีชาสามารถ พระราชกุศโลบายแห่งรักเพื่อแผ่นดินที่ราชินีบีรูดำเนินสืบต่อมาจากพระพี่นางฮิเจา อาณาจักรโบราณนามปัตตานี จึงยังคงรุ่งโรจน์เรืองรองภายใต้รัชสมัยของพระองค์ พสกนิกรยังคงดำเนินชีวิตรื่นรมย์สืบเนื่อง มิได้มีศึกสงครามมากล้ำกรายให้ชีวิตที่สงบสุขในนครปัตตานีต้องเปลี่ยนแปรไป

หนังสืออ้างอิง

กฤตยา อาชวนิจกุล, กุลภา วจนสาระ,และหทัยรัตน์ เสียงดัง. ความรุนแรงและความตายภายใต้นโยบายรัฐ : กรณีสามจังหวัดชายแดนภาคใต้. http://www.ipsr.mahidol.ac.th/IPSR/AnnualConference/ConferenceII/Article/Article12.htm เข้าถึงเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2556

วศินสุข. ข้องใจในประวัติศาสตร์ปัตตานี.

http://topicstock.pantip.com/library/topicstock/2006/12/K4950974/K4950974.html เข้าถึงเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2556.

รัตติยา สาและ .(2544). การปฏิสัมพันธ์ระหว่างศาสนิกที่ปรากฏในจังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส. กรุงเทพฯ: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย.

สุภัตรา ภูมิประภาส. : สี่กษัตริยาปตานี : บัลลังก์เลือด และตำนานรักเพื่อแผ่นดิน. http://www.oknation.net/blog/print.php?id=209991 เข้าถึงเมื่อ 5 มีนาคม 2556

อ. อับดุชชะกูร์ บินชาฟิอีย์(อับดุลสุโก ดินอะ). ยุทธศาสตร์การเข้าใจ เข้าถึงและพัฒนาชุมชน

มุสลิมจังชายแดนภาคใต้. http://www.oknation.net/blog/print.php?id=84138 เข้าถึงเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2556.

.ไม่มีชื่อผู้แต่ง. บทความประวัติเมืองปัตตานี. http://atcloud.com/stories/23146. เข้าถึงเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2556.


       

หมายเลขบันทึก: 522466เขียนเมื่อ 15 มีนาคม 2013 15:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มีนาคม 2013 15:20 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท