ใกล้ปิดเทอม


การวัดประเมินผลแบบตกแล้วแก้ได้ แถมครูอยากจะแก้ให้ เพราะส่งผลถึงครูและโรงเรียน ทำให้นักเรียนขาดความรับผิดชอบต่อการเรียนมากขึ้นเรื่อยๆ เรียนไปอย่างนั้นๆ ความทุ่มเท มุ่งมั่น ความขยันหมั่นเพียร ใฝ่หาความรู้ เทียบกับนักเรียนเมื่อสิบยี่สิบปีที่แล้ว คนละเรื่องเลย ประกอบกับสื่อเทคโนโลยีที่ล่อตาล่อใจ เร้าความรู้สึกกว่า กระตุ้นการเปลี่ยนแปลงนี้ให้เกิดเร็วยิ่งขึ้น

การเรียนการสอนภาคเรียนนี้ สิ้นสุดลงแล้วตั้งแต่สัปดาห์ก่อน ช่วงนี้เด็กๆบางส่วนยังมา เพื่อติดตามแก้“0” ในรายวิชาที่ตัวเองสอบไม่ผ่าน สิ้นปีการศึกษาทุกปี นักเรียน ม.3 และ ม.6 จบหลักสูตรเกือบจะครบทุกคน มีบ้างที่อาจจบหลังเพื่อน ส่วนใหญ่เพราะยังค้าง“0” ในบางรายวิชาที่แก้แล้วไม่ผ่าน หรือไม่ได้แก้

“ไม่ได้แก้” ฟังไม่ผิดดอก นักเรียนแต่ละรุ่นจะมีประเภทนี้อยู่พอสมควร ที่ครูต้องเทียวไล้เทียวขื่อ อาจถึงต้องวิงวอนกัน เพื่ออนาคตเธอเอง อีกไม่นานจะจบแล้ว เอาให้จบหลักสูตรเถอะ ก่อนจะไปมีครอบครัวหรือทำงาน สมัยนี้สมัครงานต้องมีวุฒิการศึกษา ออกไปตอนนี้จะทำอะไรกิน

การวัดประเมินผลเป็นปัญหาอย่างหนึ่ง ที่ทำให้การศึกษาของเด็กๆขาดความจริงจัง หรือเอาใจใส่ เพราะแกรู้ อย่างไรครูก็ให้ผ่าน ติด“0”ประเดี๋ยวก็แก้ได้ การเรียนในชั้นเรียนจึงไม่จำเป็นนักในสายตาแก ทำไมครูหรือโรงเรียนไม่เข้มงวด หรือประเมินผลอย่างแข็งขัน เพื่อคุณภาพของนักเรียน คำถามซ้ำเดิมที่ได้ยินอยู่เนืองๆ เจ็บแปลบในใจครูเหมือนกัน


 

ครูผู้สอนตกอยู่ในสภาพกลืนไม่เข้าคายไม่ออกมาโดยตลอด หากจะเข้มข้นกับผลการเรียน ไม่ถึงเกณฑ์ก็ตก ซ่อมไม่ดีจริงก็ผ่านไปไม่ได้ ถ้าอย่างนี้อาจถูกเพ่งเล็งหรือถูกตำหนิจากผู้บริหารทันที สอนอย่างไรเด็กจึงตก ซ่อมอย่างไรจึงไม่ผ่าน

ประการต่อมา เป็นเรื่องของโรงเรียนจะมีผลด้วย กรณีที่เด็กสอบไม่ผ่านมากๆ เพราะการติดตามประเมินของหน่วยงานระดับสูงขึ้นไป หรือสังคมเองก็จะมองเช่นกัน ว่าโรงเรียนจัดการเรียนการสอนอย่างไร เรื่องผลการเรียน(GPAX) ซึ่งนำไปใช้สมัครเข้ามหาวิทยาลัยอีก ที่ทำให้ครูรู้สึกว่า อย่างไรเสียก็ต้องช่วยลูกศิษย์ให้คะแนนดีไว้ก่อน เพื่อให้สู้เขาได้ สู้โรงเรียนอื่นได้ ซึ่งน่าจะเป็นที่มาของคำวิพากษ์ว่าเกรดเฟ้อ

การวัดประเมินผลแบบตกแล้วแก้ได้ แถมครูอยากจะแก้ให้ เพราะส่งผลถึงครูและโรงเรียน ทำให้นักเรียนขาดความรับผิดชอบต่อการเรียนมากขึ้นเรื่อยๆ เรียนไปอย่างนั้นๆ ความทุ่มเท มุ่งมั่น ความขยันหมั่นเพียร ใฝ่หาความรู้ เทียบกับนักเรียนเมื่อสิบยี่สิบปีที่แล้ว คนละเรื่องเลย ประกอบกับสื่อเทคโนโลยีที่ล่อตาล่อใจ เร้าความรู้สึกกว่า กระตุ้นการเปลี่ยนแปลงนี้ให้เกิดเร็วยิ่งขึ้น

แน่นอนว่า คงมิใช่แค่เรื่องวัดผลประเมินผลหรือสื่อ แต่อีกหลายเรื่องหลายปัจจัย ที่ทำให้เด็กๆทุกวันนี้จริงจังต่อการเรียนน้อยกว่าแต่ก่อน งานในโรงเรียนที่รุงรังเกิน จนละเลยการจัดการเรียนการสอนก็มีส่วน

ใกล้ปิดเทอม หวนพิจารณาเรื่องราวต่างๆที่ผ่านมาด้วยใจห่อเหี่ยว ท่ามกลางลูกศิษย์หลายคนที่สาละวนอยู่กับการสอบแก้ “0” 

หมายเลขบันทึก: 522016เขียนเมื่อ 11 มีนาคม 2013 11:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 กันยายน 2013 15:22 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

....เมื่อวานวันที่ 10 มีค. 56  ช่วงบ่าย13.00 -15.00 น. .... ไปฟังบรรยายธรรม   "พระอาจารย์ พระไพศาล วิสาโล " .... ที่ร้าน บ้านขนมนันทวัน  เพชรบุรี.... พระอาจรย์  สอนเรื่อง  "การปล่อยวาง .... ไม่คิดถึงอดีตที่ผ่านไปแล้ว (แก้ไขไม่ได้)และ ไม่คิดถึงอนาคต ... สิ่งที่ยังมาไม่ถึง ... ให้ใจอยู่กับปัจจุบัน ..... จะส่งผลต่อ เราจะ  "จิตใจสงบ"  นะคะ

                    "


มาให้กำลังใจเด็กๆและคุณครูค่ะ....

  • ฟุ้งซ่านบ่อยเลยครับ โดยเฉพาะเรื่องโรงเรียน เรื่องสอนหนังสือ(ฮา) ขอบคุณข้อคิดดีๆครับ
  • ขอบคุณDr.Pleครับ

อ่านแล้ว เข้าใจความรู้สึกของ "คุณครูธนิตย์" เป็นอย่างยิ่งเลยค่ะ เพราะหัวอกเดียวกัน หัวอกคนที่ (เคยเป็น) ครู ที่ต้องการให้ลูกศิษย์สำเร็จการศึกษา และอย่างมีคุณภาพด้วย

แต่เรื่องของการวัด/ประเมินผลการเรียน ครูระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานมีปัจจัยที่เป็นแรงกดดันมากกว่าครูระดับอุดมศึกษา เพราะคะแนน GPAX ของนักเรียนม.ปลายส่งผลต่อโอกาสในการศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาด้วย

เรื่องความรับผิดชอบ แก้ "0" ของนักเรียน ก็เป็นเรื่องที่ได้ยินน้องชายบ่นให้ฟังบ่อยๆ ค่ะ ว่า บางคนครูแทบจะต้องเขียนคำร้องให้ การแก้ "I" ของนักศึกษาระดับอุดมศึกษาก็ไม่ต่างกันหรอกค่ะ 

ก็ขอเป็นกำลังใจให้คุณครูนะคะ "ครุ หรือ ครู" แปลว่า "หนัก" ครูเลยต้องทั้งหนักกาย หนักใจ และจะต้องหนักแน่นเพื่อให้รับแรงเสียดทานจากฝ่ายต่างๆ ให้ได้  

  • เด็กๆส่วนใหญ่ที่ตัวเองมีประสบการณ์ มีลักษณะอย่างนี้มากขึ้นครับ "แทบจะต้องเขียนคำร้องแก"0"ให้" คิดดูแล้ว น่าเป็นห่วงอนาคตชาติบ้านเมืองเรามากเลยนะครับ แค่วันนี้วัดประเมินนร.ครั้งใด เราก็ตามหลังเขาอยู่เรื่อยอยู่แล้ว
  • ได้ความเข้าอกเข้าใจจากรุ่นพี่ ซึ่งเป็นเพื่อนร่วมอาชีพด้วย มีกำลังใจขึ้นเยอะเลยครับ ขอบคุณท่านอาจารย์ไอดิน-กลิ่นไม้ครับ

ในฐานะที่เคยเป็นครูมัธยมฯมาก่อนที่จะมาเป็น ศึกษานิเทศก์ อ่านแล้วเห็นภาพชัดเจนครับ ขอเป็นกำลังใจให้ครูที่เป็นครูจริงๆครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท