ยุคแห่งจักวรรดิตะวันออก


พีร์ พงศ์พิพัฒนพันธุ์  

  เมื่อสัปดาห์กว่าๆที่ผ่านมา เพื่อนอเมริกันจากวอชิงตัน ดี.ซี.ส่งอีเมลรายละเอียดของเนื้อหาในหนังสือออกใหม่ ของนักเขียนอเมริกัน  Michael Schuman ชื่อ Asia's economic 'miracle' and U.S. หรือ ความอัศจรรย์ด้านเศรษฐกิจ ของเอเชียและ(ความสัมพันธ์ต่อ)อเมริกา ในบริบทของเนื้อหาจำนวน 422 หน้า

  คนแนะนำหนังสือนาม Doug Bandow เขียนไว้ในหนังสือพิมพ์วอชิงตันไทมส์โดย Bandow เคยทำงาน เป็นที่ปรึกษาในคณะที่ปรึกษาพิเศษสมัยประธานาธิบดีโรนัลด์ รีแกนและทำงานอยู่ใน “Cato” ซึ่งเป็นสถาบัน ที่ทำหน้าที่วิจัยด้านนโยบายสาธารณะของรัฐบาล และหน่วยงานอเมริกันที่เกี่ยวเนื่องกับประชาคมโลก

  เนื้อหาของหนังสือ บ่งถึงความเป็นมา ความเป็นไปและทิศทางของเศรษฐกิจของเอเชีย ที่เกี่ยวข้องอย่าง แยกไม่ออกจากเศรษฐกิจของอเมริกา เหมือนดังที่ผมเคยกล่าวไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า “เพราะมีอเมริกาจึงมีจีน เพราะมีจีนจึงมีอเมริกา” หมายถึงการช่วยหลือเกื้อกูลกัน ทางด้านเศรษฐกิจ ของทั้งสองประเทศ มหาอำนาจ คือจีนและอเมริกา ชนิดทิ้งกันไม่ลง

  ตัวผู้เขียนคือ Schuman ยอมรับว่า จีนกับอินเดีย เป็นประเทศมหาอำนาจ (Super power) ใหม่ เต็มตัวแล้ว ด้วยขนาดประชากรและเศรษฐกิจรวมแล้วใหญ่ที่สุดในโลก

  เป็นถึงขนาดที่เขากล้าเปรียบเทียบว่า เหมือนกับย้อนยุคไปในคริสตศตวรรษที่ 14 เมื่อหลายร้อยปีมาแล้ว สมัยที่เจงกิสข่านแห่งอาณาจักรมองโกล นำทัพบุกตีไปถึงมอสโคว แบกแดด ตลอดถึงเมืองกวางโจว ทางด้านใต้
แหละนี่ยังเป็นแค่เพียงการเริ่มต้นบุกโจมตี(ด้านเศรษฐกิจ) เท่านั้น !

  การพัฒนาหรือความก้าวหน้าของระบบเศรษฐกิจแบบใหม่ ที่เขาใช้คำว่า “Asian Model” นั้น ไม่รู้ว่าจะไปสิ้นสุดอย่างไร เมื่อใด แต่มันเหมือนกับยุคใหม่ทางด้านเศรษฐกิจของโลกได้เริ่มขึ้นแล้ว  และมีหลายประเทศในโลกได้พากันเดินตาม Asian Model นี้

  เรื่อง นี้ทำให้ผมนึกถึง การพัฒนาหลักสูตรการสอนทำธุรกิจในอเมริกา โดยบรรจุหลักปรัชญาการทำธุรกิจ ตามแบบตะวันออก ไม่ว่าจะเป็นจากญี่ปุ่น หรือจีนลงไปด้วย โดยเฉพาะในประเด็นการตลาด ที่มีการฝึกอบรม สัมนากันอยู่เสมอ ตามสถานที่ต่างๆ ในเมืองสำคัญๆทางธุรกิจของอเมริกา

  ขณะผมอยู่ที่เวียดนาม ซึ่งเป็นประเทศที่ถูกอ้างถึงในหนังสือของ Schuman ด้วยว่า เป็นหนึ่งในเสือตัวใหม่ ที่น่าจับตามองของเอเชีย Schuman อ้างถึงบุคคลสำคัญที่ทำหน้าที่ส่งต่อผ่านยุคต่อยุค เพื่อก้าวผ่านไปสู่ยุคใหม่(แน่นอน ใช้ปรัชาญาการทำงานแบบใหม่ด้วย)อย่างเช่น ผู้บริหารใหญ่สุดของกลุ่มโซนี่ อากิโอะ โมริตะ  และโดยเฉพาะนักการเมือง ที่รู้จักกันดีของค่ายบูรพาอย่าง อดีตประธานาธิบดี ปัก จุงฮี ของเกาหลีใต้ อดีตนายกรัฐมนตรี ลี กวน ยู ของสิงคโปร์ อดีตประธานาธิบดี เติ้ง เสี่ยว ผิงของจีน และอดีตประธานาธิบดี ซูฮาร์โต ของอินโดนีเซีย

  ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ได้ข้อสรุปอย่างหนึ่งว่า การเติบโตของเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับปัจจัยทางการเมือง มากมายเท่าใดนัก เสมือนทางเดินหรือความเป็นไปทางการเมือง แยกออกจากความเป็นไปทางด้านเศรษฐกิจ ทั้งที่เมื่อสืบสาวไปถึงที่มาของผู้นำแต่ละท่านของเอเชียที่กล่าวถึงแล้ว การได้มาและรักษาไว้ซึ่งอำนาจ(ตำแหน่งผู้นำ) ต้องผ่านการต่อสู้ในแต่ละประเทศนั้นๆถึงขั้นนองเลือดมาแล้วทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นการปฏิวัติ หรือการปราบปรามประชาชน ที่ความคิดฝ่ายตรงกันข้ามกับรัฐบาล

  ข้อ นี้สะท้อนถึงนัยยะสำคัญบางอย่างที่เกิดขึ้นกับประเทศในเอเชียเหล่านี้ ที่ความเปลี่ยนแปลง เติบโตทางด้าน เศรษฐกิจ เป็นคนละเรื่องกับกระบวนการทางการเมือง ทั้งที่ก่อนหน้านี้อเมริกาเอง พยายามเผยแผ่ ลัทธิประชาธิปไตย ทุนนิยมออกไปยัง ประเทศ ที่ได้ชื่อว่า “เผด็จการ”และ “คอมมิวนิสต์”

  โดยที่ในช่วงหลังเองนักลงทุนอเมริกันเองเริ่มเข้าใจสภาพความเป็นไปทางการเมือง ของบรรดาประเทศเอเชีย มากขึ้น แบบแผนที่ใช้ในการพิจารณาการลงทุนต่อประเทศในเอเชียจึงเปลี่ยนแปลงไปด้วย

  นี้ย่อมหมายถึแม้กระทั่งเงินสนับสนุนช่วยเหลือจากภาครัฐเองก็ด้วยเช่นกัน

  เมื่อผมคุยกับนักลงทุนอเมริกันจำนวนหนึ่ง พวกเขาบอกว่า เข้าใจถึงสภาพของวัฒนธรรมของเอเชียมากขึ้น ถึงกระทั่งที่บางคนบอกว่า “ผู้นำเป็นเผด็จการ” กลับไม่ใช่เรื่องเสียหาย หรือน่าตกใจ และอาจไม่จำเป็นต้องใช้เป็น ข้อพิจารณาสำหรับการลงทุนในประเทศใดๆก็ตาม ที่มีสภาพทางการเมืองต่างจาก “มาตรฐานประชาธิปไตย” ของประเทศตะวันตก

  แต่สำหรับ Schuman เขามองเห็นข้อดีของการเปลี่ยนแปลงหรือเติบโตของเศรษฐกิจของประเทศเอเชีย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ของจีนใน แง่ที่ว่า การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ ทำให้การเมืองของจีน หรือของประเทศเอเชียอื่นๆ ที่มีลักษณะเผด็จการ ปรับเปลี่ยนไปสู่กระบวนการฝ่ายประชาธิปไตยมากขึ้น โดยเฉพาะประเทศที่ใช้ระบบการปกครอง แบบคอมมิวนิสต์อย่างจีน

  ผู้ เขียนคนเดียวกันบอกว่า กฎของการตลาดหรือความต้องการของผู้บริโภคและผู้ขาย ทำให้ชาวจีน ได้รับอิสรภาพ ในการใช้ชีวิตประจำวันมากขึ้น ซึ่งนับว่าต่างจากสมัยประธาน เหมา เจ๋อ ตุง อย่างแทบสิ้นเชิง ขณะที่สภาพเศรษฐกิจ ในปัจจุบัน ความเป็นไปของความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจระหว่างจีนกับอเมริกา ก็เป็นไปในลักษณะเกื้อกูลกัน บริษัทของจีนชื่อ Haier ที่ผลิตสินค้าพวกเครื่องใช้ต่างๆ ได้เข้าไปลงทุนเปิดโรงงานที่เคอร์ชอว์ เค้าน์ตี้ รัฐเซ้าท์ แคโรไลน่า นับเป็นเรื่องกลับตาลปัตร  ในเมื่อหลายปีที่ผ่านมาตลอดถึงตอนนี้สินค้าอุปโภค บริโภคส่วนใหญ่ในอเมริกานำเข้าจากจีน

  นอก เหนือจากในภาคธุรกิจอื่น อย่างเช่น ธุรกิจด้านเทคโนโลยีและข้อมูล(ไอที) บริษัทของจีน หรือแม้กระทั่งบริษัท จากอินเดียได้เข้ามาซื้อกิจการโดยการซื้อหุ้น หรือลงทุนใหม่จำนวนมาก เพราะขณะนี้เป็นช่วงที่สินค้า (เพื่อการลงทุน) ของอเมริกันหลายอย่างมีราคาถูก คู่ไปกับค่าเงินดอลลาร์ที่อ่อนตัวลงมาก เมื่อเทียบกับช่วงก่อนเศรษฐกิจมีปัญหา

  อย่างไรก็ตาม Schuman บอกว่า ไม่ว่าตะวันออกจะร่ำรวย มั่งคั่งมากไปกว่าเดิมเพียงใดก็ตาม แต่ก็จำเป็นต้องพึ่ง อเมริกาอย่างขาดเสียไม่ได้ สถานการณ์และระบบเศรษฐกิจของโลกไปไกลเกินยับยั้งได้แล้ว อเมริกายังจะเป็นประเทศ ผู้บริโภครายสำคัญของโลก

  ก่อน หน้านี้ ทุนอเมริกันเข้าไปลงทุนในจีน เวลานี้ทุนจีนกลับมาลงทุนในอเมริกาบ้าง ซึ่งหากไม่ทำเช่นนี้ จีนเองก็จะไม่มีที่ระบายสินค้าเหมือนที่เคยเป็น นี่คือลักษณะการปรับตัวเพื่อให้เกิดความสมดุลของกระแสทุนที่มีฐานเดียวกัน ทั่วโลก

  สิ่งที่ผมขอแทรกไว้ด้วยก็คือ ด้วย เหตุผลข้อนี้เอง ทำให้ทางการจีน โดยผ่านธนาคารชาติจีน ต้องรีบให้ความ ช่วยเหลือด้วยเงินกู้ยืมเงินจำนวนหนึ่งกับธนาคารกลาง ของอเมริกัน เมื่อประมาณช่วงต้นปี2552 ซึ่งหากไม่ทำเช่นนี้ จีนเองก็จะเป็นฝ่ายได้รับผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจอย่างเลี่ยงไม่ได้ แต่ กระนั้น สิ่งที่เห็นอย่างชัดเจนในวันนี้ ก็คือ จีนกลายเป็นประเทศที่มั่งคั่งไปแล้ว อย่างค่อนข้างสมบูรณ์ เพียงแค่ข้ามช่วงประวัติศาตร์ไปไม่กี่ปีหลังจากการเสียชีวิต ของประธานเหมา

  จีน ในฐานะตัวแทนของตะวันออก กลาย เป็นประเทศผู้กำหนดชะตากรรมของโลก ร่วมกับญี่ปุ่นและอินเดีย โดยที่ประเทศหลังสุดนี้ดีดตัวออกมาอย่างแรงเช่นกัน โลกในศตวรรษที่ 20 เป็นของอเมริกา Schuman จึงฟันธงไปเลยว่า โลกในศตวรรษที่ 21เป็นของตะวันออก!

  ผมพยายามคลิกไปคลิกมาหน้าโน้นหน้านี้ แต่ก็ไม่เห็นมีชื่อประทศไทยถูกยกขึ้นอ้างพาดพิง ตามการทำนายวิเคราะห์ ของ Michael Schuman แต่อย่างใด 

หมายเลขบันทึก: 522010เขียนเมื่อ 11 มีนาคม 2013 11:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มีนาคม 2013 11:00 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท