เธอฆ่าสามี:Battered Woman Syndrome กับความรับผิดอาญาตามกฎหมายไทย


ความสำคัญของปัญหา

จากพฤติการณ์ที่เป็นข่าวและได้รับความสนใจจากประชาชนหลายๆคดีที่ผ่านมาในช่วงไม่กี่ปีมานี้
เป็นกรณีผู้หญิงกระทำความผิดทางอาญาที่รุนแรง ถึงขั้นเจตนาฆ่าบุคคลในครอบครัว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสามีหรือคนรักของตนเอง โดยมีพฤติการณ์แห่งคดีที่โหดร้าย รุนแรง เช่น คดีที่ น.ส.พรสุรีย์ ดีแผ้ว ก่อเหตุฆ่าหั่นศพสามี โดยใช้ไขควงแทงแล้วใช้มีดหั่นศพแยกเป็นชิ้นๆ แล้วแยกชิ้นส่วนไปทิ้งยังที่ต่างๆเมื่อประมาณเดือนตุลาคม 2555(news.voicetv.co.th) โดยอ้างมูลเหตุแห่งการกระทำว่า ถูกสามีทำร้ายทุบตีมาตลอด จึงเกิดความแค้นสะสม จนก่อเหตุฆ่าสามีของตน ในกรณีที่หญิงก่อเหตุฆ่าสามีนี้ สุเพ็ญศรี พึ่งโคกสูง หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิสตรี มูลนิธิเพื่อนหญิง ได้กล่าวถึงสถิติหญิงฆ่าสามีช่วง 4-5 ปีก่อน ประมาณ 2 คน แต่ปัจจุบันเพิ่มขึ้นปีละ 2-3 คน(มูลนิธิเพื่อนหญิง) เช่น ในคดีหนึ่ง หญิงที่ประสบปัญหาความรุนแรงในครอบครัว อายุ 22 ปี มีบุตรสาวอายุ 7 ขวบ เธอเล่าว่า แต่งงานตั้งแต่อายุ 14 ที่ผ่านมา 6 ปี ถูกสามีทำร้ายทุบตีมาตลอด เคยถูกเตะที่ใบหน้าจนเขียวและฟันหัก วันเกิดเหตุสามีเมากลับมาเธอจึงบ่น สามีไม่พอใจจึงทำร้ายทุบตี ขณะนั้นเห็นมีดอยู่ใกล้มือจึงคว้ามาแทงสามีจนเสียชีวิต หรืออีกคดีหนึ่ง หญิงเป็นแม่ของลูก 4 คน สามีดื่มเหล้าและเมากลับมา เธอและลูกมักจะถูกทุบตีทำร้ายจนต้องหลบไปพักบ้านญาติ วันเกิดเหตุสามีจะออกไปดื่มเหล้า เธอกลัวว่าถ้าสามีเมากลับมาจะถูกทำร้ายทุบตีอีกเธอเห็นสามีหลับอยู่ จึงใช้สันพร้าฟาดต้นคอ โดยตั้งใจเพียงให้สลบ แต่สามีกลับเสียชีวิต (www.thaipostnewspapers.com, 2552)ฃ

 

เมื่อพิจารณาถึงองค์ประกอบความผิดในส่วนผู้กระทำซึ่งเป็นหญิงแล้ว ความเป็นหญิงจะมีบุคลิกภาพและการแสดงออกที่อ่อนโยน ชัดเจน มีความสามารถในการปรับตัว และมีวิธีการแก้ปัญหาและความเครียดได้ดี (สำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว, 2552) แต่กลับปรากฏการกระทำผิดที่รุนแรงโดยใช้อาวุธหรือเครื่องมือ ด้วยวิธีการต่างๆ ความสัมพันธ์ระหว่างผู้กระทำและผู้ถูกกระทำซึ่งเป็นสามี โดยมีเหตุจูงใจมาจากพฤติกรรมของสามีที่ด่าทอ ใช้คำหยาบคาย ทุบตี ถูกข่มขู่คุกคาม ทำร้ายร่างกายและจิตใจมาเป็นเวลานาน (บุลสถาพร, 2542) การตอบโต้ที่กระทำต่อสามีนั้น เพียงเพื่อต้องการหาหนทางยุติปัญหา ไม่ให้ถูกทำร้ายได้อีก แต่ผลร้ายแรงถึงขั้นสามีเสียชีวิต ทำให้เธอต้องถูกดำเนินคดีอาญาด้วยข้อหาความผิดเกี่ยวกับชีวิตและร่างกาย อันเป็นข้อหาร้ายแรง แต่หากจะมองในมุมกลับ ผู้หญิงซึ่งเป็นผู้กระทำนี้ก็เคยเป็นเหยื่อของความรุนแรงมาก่อน แต่กระบวนการยุติธรรมทางอาญาของไทย ยังไม่มีกลไกในการคุ้มครองเหยื่อประเภทนี้ และไม่มีช่องทางการนำประเด็นเหล่านี้มาพิจารณาประกอบในการกำหนดโทษแก่ผู้หญิงเหล่านี้เลย

พฤติการณ์หญิงก่อเหตุฆ่าสามีไม่ได้เกิดขึ้นในประเทศไทยเท่านั้น ในต่างประเทศก็มีเหตุการณ์ผู้หญิงฆ่าสามีด้วยวิธีการต่างๆด้วยเช่นกัน ดังที่เกิดในอเมริกา ได้มีการตระหนักว่าเหตุการณ์หญิงฆ่าสามี เพราะมีแรงจูงใจจากการถูกทำร้าย ทุบตี หรือกระทำรุนแรงในครอบครัว (Domestic Violence) เป็นอาการที่แสดงออกถึงสัญญาณความผิดปกติทางจิตจากการถูกกระทำรุนแรงเป็นเวลานานสะสม เรียกว่าอาการ Battered Woman Syndrome ตาม DSM-IV-TR เป็นอาการเจ็บป่วยทางจิตใจที่มีผลต่ออารมณ์ (Walker, 2009) จึงมีพัฒนาการในการพิจารณาคดีประเภทนี้มาตั้งแต่ช่วงปลายปี ค.ศ.1970 เรื่อยมา การพิจารณาพฤติการณ์ข้อเท็จจริงแห่งคดีโดยลูกขุน เพื่อตัดสินว่า จำเลยซึ่งฆ่าสามีของตนนั้นมีความผิดหรือไม่ (guilty or not guilty) โดยอาศัยคำให้การของพยานผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาประกอบ ในการโน้มน้าวให้ลูกขุนเห็นว่า การกระทำความผิดนั้น เกิดจากสาเหตุความผิดปกติทางจิต ที่ถูกกระทำรุนแรงจากสามีกดดันสะสมเป็นเวลานาน หรือกระทำไปโดยเป็นการป้องกันตัวเอง (Cohen)

ดังนี้ ในส่วนประเด็นที่จะทำการศึกษา จึงเป็นเรื่องของสาเหตุแห่งการกระทำ หรือมูลเหตุจูงใจในการที่หญิงฆ่าสามี ในกรณีเทียบเคียงกับอาการ BWS ที่ได้มีการศึกษากันมาในต่างประเทศ รวมทั้งเหตุแห่งปัจจัยทางจิตวิเคราะห์และทฤษฎีทางอาชญาวิทยาที่เกี่ยวข้อง และแง่มุมของกฎหมายของไทยที่เทียบเคียงได้ เพื่อศึกษาแนวทางความเหมาะสม ในการใช้องค์ประกอบในส่วนตัวผู้กระทำความผิด มาพิจารณาพฤติการณ์การกระทำความผิดของหญิงที่กระทำต่อสามี เพื่อเป็นเหตุยกเว้นความผิด เหตุยกเว้นโทษ หรือเหตุลดโทษ อันเป็นการนำพยานหลักฐานทางจิตวิทยาเกี่ยวกับตัวผู้กระทำผิดมาประกอบการกำหนดบทลงโทษแก่หญิงนั้น เพื่อไม่เป็นการเพิกเฉยต่อสิทธิในชีวิตและร่างกายของหญิง ต้องกระทำตอบโต้การกระทำอันเป็นการคุกคามชีวิตและร่างกายจากสามีของตนเอง

1. แนวคิดและทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง

1.1 ทฤษฎีอาชญาวิทยา

(1) ทฤษฎีพันธะทางสังคม ของทราวิช เฮอร์ชิ (Hirchi’s Social BondingTheory) เฮอร์ชิได้นำเสนอทฤษฎีควบคุม
โดยมีเนื้อหาสำคัญ เกี่ยวข้องกับ บุคคลที่มีความผูกพันกั บองค์กร หรือ กลุ่มคนในสังคม ซึ่งได้แก่ ครอบครัว โรงเรียน และเพื่อนฝูง มักจะมีแนวโน้มที่ไม่ประกอบอาชญากรรม หลักการสำคัญ คือ พันธะทางสังคมหรือความผูกพันทางสังคม ที่เฮอร์ชิได้อธิบายไว้ มี 4 ประเภท คือ 

-ความผูกพัน (Attachment) หมายถึง การที่บุคคลมีความผูกพันหรือความรักใคร่กับบุคลอื่นหรือมีความสนใจ ความรู้สึกนึกคิดกับบุคคลอื่น ซึ่งความผูกพันนี้เป็นองค์ประกอบพื้นฐานที่สำคัญที่จะทำให้บุคคลมีการพัฒนาการยอมรับค่านิยมและบรรทัดฐานของสังคม ส่งผลทำให้บุคคลสร้างความรู้สึกหรือสามัญสำนึกที่จะควบคุมตนเองให้เป็นบุคคลที่ดีในสังคม ดังนั้นความผูกพันจึงเป็นองค์ประกอบด้านอารมณ์หรือด้านความรักของพันธะหรือสัญญาผูกมัดที่บุคคลมีต่อสังคม

-ข้อผูกมัด (Commitment) หมายถึง การที่บุคคลถูกผูกมัดกับการดำเนินชีวิตตามทำนองคลองทำของสังคม
กล่าวคือได้ศึกษาเล่าเรียนเพื่อที่จะประกอบอาชีพโดยสุจริต และเพื่อที่จะได้ประสบความสำเร็จในชีวิต ซึ่งจะส่งผลให้บุคคลไม่อยากกระทำผิดกฎหมาย เพราะจะเป็นการเสี่ยงต่อความสูญเสียความสำเร็จในชีวิต ดังนั้น ข้อผูกมัดจึงเป็นองค์ประกอบด้านความมีเหตุมีผลของพันธะที่บุคคลมีต่อสังคม

-การเข้าร่วม (Involvement) หมายถึง การที่บุคคลเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆของสังคม เป็นการจำกัดเวลา ที่จะไปกระทำความผิด เนื่องจากเวลาถูกใช้ไปในการทำกิจกรรมต่างๆ

-ความเชื่อ (Belief) คือระดับความเชื่อถือที่บุคคลมีต่อค่านิยมและบรรทัดฐานของสังคม ถ้ามีความเชื่อสูงก็มีแนวโน้มที่จะไม่กระทำผิดต่อกฎระเบียบ (มณีปกรณ์, 2555)

  (2) ทฤษฎีกลไกแห่งการควบคุม(Containment Theory)  ทฤษฎีนี้ตั้งขึ้นโดย เรคเลส (Reckless) นักอาชญาวิทยาชาวอเมริกัน อธิบายพฤติกรรมที่ถูกต้องตามกฎหมาย และพฤติกรรมเบี่ยงเบน กลไกในการควบคุมมีอยู่ 2 ลักษณะ คือ ระบบการควบคุมภายใน และระบบการควบคุมภายนอก โดยมีสมมติฐานว่า กลไกภายในที่เข้มแข็งและกลไกภายนอกที่มีพลังสูงจะเป็นสิ่งขวางกั้นพฤติกรรมอันเบี่ยงเบน (ชูบำรุง, 2527)

ระบบการควบคุมภายในประกอบด้วย องค์ประกอบที่เรียกว่าความเป็นตัวตน (Self Components) เช่น การควบคุมตนเอง การมีความคิดที่ดี การมีจิตสำนึก สติสัมปชัญญะ ความอดทน ความรับผิดชอบ การมีจุดมุ่งหมาย การหาสิ่งทดแทน เพื่อให้เกิดความพอใจ หรือความสามารถหาเหตุผลเพื่อลดความตึงเครียด

ระบบการควบคุมภายนอก เป็นปัจจัยทางสังคมที่ทำให้คนประพฤติอยู่ในขอบเขต ได้แก่ ศีลธรรม ความเข้มแข็งของสถาบันที่ดูแลส่งเสริมแนวทางความประพฤติ เป้าหมาย สภาพสังคมที่มีระเบียบวินัย มีกิจกรรมที่มีเหตุมีผล

ดังนั้น ทฤษฎีการควบคุมที่ประกอบไปด้วยการควบคุมทั้งภายในและภายนอก จึงเริ่มจากการควบคุมภายในโดยจิตใจที่เข้มแข็ง และการควบคุมภายนอก โดยสังคมที่มีระเบียบวินัยและกฎเกณฑ์ที่เหมาะสม ย่อมควบคุมพฤติกรรมของบุคคลไม่ให้กระทำความผิด

1.2 ทฤษฎีทางจิตวิทยา

ทฤษฎีจิตวิเคราะห์ ซิกมันด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud, 1856-1939) จิตแพทย์และศาสตราจารย์ชาวออสเตรียเชื้อสายยิว กับลูกศิษย์คนสำคัญของฟรอยด์อีกหลายคน คือ อัลเฟลด แอดเลอร์ (Alfred Adler, 1870-1937) คอร์ล จุง (Carl Jung, 1875-1961) และ วิลเฮลม สตีลเกอร์ (Wihelm Stekel, 1868-1940) ได้ร่วมกันพัฒนาทฤษฎีแนวจิตวิเคราะห์ (Phychoanalysis Theory)โดยมีซิกมันด์ ฟรอยด์ เป็นผู้ริเริ่มศึกษาและสร้างหลักการพื้นฐานของทฤษฎี
โดยมีจุดประสงค์เพื่ออธิบายพฤติกรรมทั่วไปของมนุษย์ ไม่ได้เพื่อเจาะจงเฉพาะที่พฤติกรรมอาชญากรรมโดยตรง ทฤษฎีนี้มีสมมติฐานว่า พฤติกรรมของบุคคลส่วนมากเกิดจากพลังทางจิตภาคและชีวภาค (จิตใต้สำนึกและสัญชาตญาณ) (มณีปกรณ์, 2555) จิตประกอบด้วย 2 ส่วน คือ จิตสำนึก (Conscious) จิตใต้/ไร้สำนึก (Unconscious) ซึ่งเป็นความรู้สึก ความคิดต่างๆที่เก็บกดอยู่ภายในจิตที่บุคคลไม่รู้ตัว หรือรู้ตัวแต่พยายามจะลืม (ภวกานันท์, 2554)
ซึ่งบุคคลเองก็อาจไม่รู้หรือไม่เข้าใจในปรากฏการณ์ดังกล่าว ดังนั้น ในการปรับปรุงพฤติกรรมที่ไม่ต้องการหรือไม่พึงประสงค์ จำเป็นต้องเจาะลึกลงไปสู่ภายในจิตใจของมนุษย์จนถึงจิตใต้สำนึกของการตอบสนอง เพื่อหาทางแก้ไข ทำให้บุคคลสามารถพัฒนาความสามารถในการควบคุมต่อแรงผลักดันหรือแรงกระตุ้น 

โครงสร้างบุคลิกภาพที่อยู่ภายใต้จิตสำนึกของคนมี 3 ส่วน คือ Id Ego และ Superego ฟรอยด์ ได้ให้ความหมายของ Id คือพลังสัญญาณทางชีวภาคที่กระตุ้นหรือผลักดันให้บุคคลมีพฤติกรรม ที่มีลักษณะเป็นการตอบสนองความต้องการ ความสุข ความเพลิดเพลิน และ Superego หมายถึงส่วนของบุคลิกภาพที่มีหน้าที่ควบคุมพฤติกรรมและลงโทษบุคคลซึ่งจะเกิดจากประสบการณ์ที่ได้รับความรักความอบอุ่นจากบิดามารดาในวัยเด็ก Ego หมายถึง ส่วนที่ตระหนักถึงความเป็นจริงที่บุคคลอาศัยอยู่ และคอยประสานความต้องการของ Id กับ ข้อห้ามต่างๆของ Superego
โดยทั่วไป เด็กจะมีพัฒนาการการทำงานของ Id Ego Superego ตั้งแต่วัยเด็กเป็นขั้นตอน สิ่งที่คอยทำหน้าที่ควบคุมพฤติกรรมของบุคคลคือความรู้สึกผิด บุคคลที่ถูกกระตุ้นจากความต้องการความสุขของ Id แต่ความรู้สึกผิดนั้นจะห้ามพฤติกรรมดังกล่าวโดย Superego ซึ่งบุคคลมีวิธีการในการตอบสนองต่อแรงกระตุ้นเหล่านี้หลายวิธี เช่น
การระงับแรงกระตุ้น (Sublimation) ซึ่งขบวนการนี้ ร่างกายจะเปลี่ยนแรงกระตุ้นของ Id เป็นพฤติกรรมที่ได้รับการยอมรับจาก Superego

หลักการสำคัญจากทฤษฎีจิตวิเคราะห์คือ พฤติกรรมเบี่ยงเบน หรือพฤติกรรมอาชญากรรมต่างๆนั้น เป็นสัญญาณของความขัดแย้งระหว่าง Id Ego และ Superego ซึ่งแสดงออกให้เห็นถึงความผิดปกติหรือการป่วยทางจิตใจ (mental illnesses) ความบกพร่องทางอารมณ์ ( Emotional Disorder) หรือถูกรบกวนทางจิตใจ (Psychic Disturbances) และทฤษฎีแนวนี้อธิบายสาเหตุของความผิดปกติทางด้านจิตใจว่า มาจากสาเหตุ 2 ประการ คือ หนึ่ง เกิดจากการที่บุคคลไม่เจริญเติบโตตามธรรมชาติ หรือการขาดการควบคุมสัญชาตญาณของมนุษย์ การขาดความรักความเอ็นดูจากบิดามารดา การขาดพัฒนาการทางด้านอารมณ์ และการถูกกดดันความรู้สึกทางเพศหรือความผิดชอบชั่วดี ประการที่สอง เกิดจากการไม่พัฒนา Superego หรือการพัฒนา Superego ถูกรบกวน เนื่องจากบิดามารดามีนิสัยดุร้าย ไม่รักบุตร ซึ่งฟรอยด์เน้นว่า พฤติกรรมอาชญากรรมจะเกิดขึ้นหากมีปัญหาด้านพัฒนาการด้านจิตใจในวัยเด็ก

3.3 ทฤษฎีสตรีนิยม

สตรีนิยมสายเสรีนิยม สตรีนิยมสายเสรีนิยม ถือว่าเป็นสำนักคิดแรกและถูกมองว่าเป็นแนวคิดกระแสหลักของสตรีนิยม เพราะคนส่วนใหญ่จะคุ้นเคยกับแนวคิดนี้ สตรีนิยมสายเสรีนิยมได้รับอิทธิพลอย่างสูงจากแนวคิดเสรีนิยมที่ให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมกันของมนุษย์โดยเฉพาะในทางกฎหมาย ให้ความสำคัญต่อปัจเจกนิยมที่มีเหตุผล ทำให้นักสตรีนิยมในแนวนี้มักเรียกร้องให้ผู้หญิงเปลี่ยนแปลงตนเองให้เป็นคนมีเหตุผล ปรับปรุงตัวเองให้เหมือนกับผู้ชาย เช่นต้องไม่ใช้อารมณ์ ไม่แสดงความอ่อนแอ และเชื่อว่าผู้หญิงและผู้ชายไม่มีความแตกต่างกัน
เป็นมนุษย์เหมือนกัน ดังนั้นผู้หญิงควรมีโอกาสที่จะทำทุกอย่างให้ได้เหมือนผู้ชาย เรียกร้องให้ผู้หญิงมีโอกาสที่เท่าเทียมในการแข่งขันภายในระบบสังคมที่เป็นอยู่โดยเฉพาะในปริมณฑลสาธารณะ ให้ความสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงทางกฎหมาย ทางการเมือง เพื่อสิทธิของปัจเจกบุคคลในการแข่งขันในตลาดสาธารณะ เพราะเชื่อว่าถ้าผู้หญิงมีโอกาสที่เท่าเทียมแล้ว ผู้หญิงจะเป็นเหมือนผู้ชายได้ทุกอย่าง การต่อสู้หลักของสตรีนิยมสายนี้คือ การต่อสู้ผ่านทางการแก้ไขกฎหมาย หรือการแก้ไขในแนวสังคมสงเคราะห์ ไม่ให้ความสำคัญกับการแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงที่โครงสร้างสังคม นักสตรีนิยมสายเสรีนิยมถูกวิจารณ์ค่อนข้างมากโดยเฉพาะการให้ความสำคัญเฉพาะประเด็นของกฎหมาย เพราะความด้อยโอกาสของผู้หญิงหลายประการไม่สามารถแก้ไขผ่านทางการแก้ไขกฎหมาย เช่น ไม่มีกฎหมายใดระบุว่าผู้หญิงต้องเป็นหลักในการดูแลลูก แต่ผู้หญิงก็ต้องทำแม้ว่าอาจจะไม่ต้องการทำ (Eisenstein 1981) นอกจากนี้การเรียกร้องให้ผู้หญิงต้องปรับตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการแต่งกายหรือแสดงท่าทางตลอดจนการคิด อารมณ์ให้เหมือนผู้ชาย ก็ถูกวิจารณ์เช่นกันว่าเป็นการแสดงถึงการยอมรับให้ "ความเป็นผู้ชาย" เป็นตัวแบบของมนุษย์ที่พึงประสงค์ ซึ่งไม่น่าถูกต้อง เพราะคุณลักษณะหลาย ๆ ประการของผู้ชาย เช่น การชอบแข่งขัน ไม่มีความเอื้ออาทรต่อผู้อื่น ไม่มีความอ่อนโยน ความก้าวร้าว การเก็บกดทางอารมณ์ ล้วนไม่ใช่คุณลักษณะที่พึงประสงค์ของมนุษย์อีกต่อไป(ภูริสินสิทธิ์, 2553)

2. ความรับผิดทางอาญาตามกฎหมายไทย

ตามประมวลกฎหมายอาญาของไทย กรณีการกระทำความผิดที่เกี่ยวข้องกับกรณีศึกษาในเรื่องนี้ มี 2 ประเด็นได้แก่ เรื่องความรับผิดทางอาญา คือความผิดต่อชีวิตและร่างกาย และเรื่องเหตุยกเว้นความรับผิด เหตุยกเว้นโทษ และเหตุลดโทษ

2.1  ความผิดต่อชีวิตและร่างกาย

ตามหลักความรับผิดทางอาญา ต้องดูที่เจตนา เจตนานั้นเป็นสิ่งที่อยู่ภายในจิตใจ ในการพิจารณาจึงต้องอาศัยพฤติการณ์ต่างๆที่ผู้กระทำแสดงออกมาภายนอกเป็นหลักในการวินิจฉัยสภาพจิตใจของผู้กระทำในขณะกระทำ
(วัจนะสวัสดิ์, 2551) ดังนั้น หลักของกฎหมายอาญาจึงใช้กรรม หรือการกระทำเป็นเครื่องชี้เจตนา โดยประมวลกฎหมายอาญามีบทบัญญัติไว้ในมาตรา 59 ว่า “การกระทำโดยเจตนา ได้แก่ การกระทำโดยรู้สำนึกในการกระทำและขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผล หรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น”

ความผิดฐานฆ่าผู้อื่น ตามมาตรา 288 “ผู้ใดฆ่าผู้อื่น ต้องระวางโทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่สิบห้าปีถึงยี่สิบปี”

จะต้องมีผลของการกระทำ คือความตาย เกิดขึ้นจึงเป็นความผิดสำเร็จ ดังนั้น ต้องมีความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำกับผล ถ้าผลของความตายไม่ได้เกิดจากการกระทำ ผู้กระทำย่อมรับผิดเฉพาะแต่ผลเท่าที่ตนได้กระทำไปเท่านั้น (เกษมสันต์, 2550) โดยผู้กระทำต้องมีเจตนาฆ่า ได้แก่ เจตนาประสงค์ต่อผล บางครั้งก็เรียกว่าเจตนาธรรมดา โดยพิจารณาข้อเท็จจริงประกอบ ซึ่งตามแนวคำพิพากษาฎีกา สามารถสรุปได้ว่า ข้อเท็จจริงที่จะต้องนำมาประกอบการพิจารณาว่า ผู้กระทำมีเจตนาฆ่าหรือไม่ ได้แก่ อาวุธ อวัยวะที่ถูกกระทำ ลักษณะของบาดแผล และพฤติการณ์อื่นๆ กล่าวคือ ถ้าเป็นการกระทำโดยอาวุธปืน มักจะวินิจฉัยว่ามีเจตนาฆ่า แต่หากมีพฤติการณ์ประกอบว่าการเลือกยิงอวัยวะที่สำคัญหรือไม่ เพราะแม้เป็นอาวุธปืน การยิงในระยะประชิด และไม่เลือกยิงอวัยวะที่สำคัญ ก็ต้องถือว่าไม่มีเจตนาฆ่า มีเพียงเจตนาทำร้ายเท่านั้น  ถ้าเป็นอาวุธมีด ขวาน หลาว ใช้เกณฑ์การพิจารณาเช่นเดียวกัน

เจตนาอีกอย่างหนึ่งตามมาตรา 59 คือเจตนาเล็งเห็นผล หมายความว่า เล็งเห็นได้ว่าผลนั้นจะเกิดได้อย่างแน่นอน
เท่าที่จิตใจของบุคคลในฐานะเช่นนั้นจะเล็งเห็นได้ ต้องดูจากความรู้สึกนึกคิดของผู้กระทำเป็นสำคัญ(เกษมสันต์, 2550)

ความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยมีเหตุฉกรรจ์ ตามมาตรา 289 ผู้ใด
...(4) ฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน...ต้องระวางโทษประหารชีวิต”

เป็นบทบัญญัติในเหตุฉกรรจ์ของความผิดฐานฆ่าผู้อื่น หมายถึง เหตุที่ทำให้ผู้กระทำต้องรับโทษหนักขึ้น จากความผิดฐานฆ่าผู้อื่นตามมาตรา 288 เนื่องจากในการกระทำนั้น มีการวางแผน คิดไตร่ตรองล่วงหน้า อันส่อแสดงถึงความชั่วร้ายในจิตใจของผู้กระทำ จึงต้องรับโทษหนักขึ้น

ความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไม่เจตนา ตามมาตรา 290 “ผู้ใดมิได้มีเจตนาฆ่า แต่ทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ผู้นั้นถึงแก่ความตาย ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปี ถึงสิบห้าปี”

การทำร้ายนี้ ไม่จำเป็นต้องเป็นการใช้กำลังทำร้าย เช่นทำให้ตกใจจนสลบ ก็เป็นการทำร้าย หรือการใช้กำลังทำร้าย เช่น ข่วนหน้า ก็เป็นการใช้กำลังทำร้าย หากการรักษาบาดแผลไม่ดี ติดเชื้อ ถึงแก่ความตายในเวลาต่อมา ผู้กระทำก็มีความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไม่เจตนาตามมาตรา 290 ได้ (เกษมสันต์, 2550)

2.2 เหตุยกเว้นความรับผิด เหตุยกเว้นโทษ และเหตุลดโทษ

เหตุยกเว้นความผิด หมายถึง เหตุอันใดที่ทำให้ผู้กระทำต้องกระทำต่อผู้อื่น แล้วทำให้การกระทำนั้นไม่เป็นความผิด หรือไม่มีความผิด ได้แก่ การกระทำที่เป็นการป้องกันพอสมควรแก่เหตุ ตามมาตรา 68

“ผู้ใดจำต้องกระทำการใดเพื่อป้องกันสิทธิของตน หรือของบุคคลอื่น ให้พ้นภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย และเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง ถ้าได้กระทำพอสมควรแก่เหตุ การกระทำนั้นเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย ผู้นั้นไม่มีความผิด”

ดังนี้ การกระทำที่จะเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย จึงต้องมีภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้าย ต่อผู้กระทำ  อันได้แก่ภัยที่เป็นความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียง ทรัพย์สิน ซึ่งเป็นสิทธิของบุคคล โดยที่ผู้กระทำนั้นไม่ได้เป็นผู้ก่อเหตุ หรือก่อภัยขึ้นก่อน  ทั้งภยันตรายที่ว่านี้ ต้องใกล้จะถึง เพราะหากภยันตรายยังอยู่ห่างไกล ผู้รับภัยย่อมมีหนทางที่จะขจัดปัดเป่าภยันตราย ทั้งนี้ก็ต้องดูที่ข้อเท็จจริงตามพฤติการณ์เป็นเรื่องๆ

ช่วงระยะเวลาในการใช้สิทธิป้องกัน เริ่มตั้งแต่เมื่อภยันตรายนั้นใกล้จะถึง รวมตลอดถึงระยะเวลาที่ภยันตรายนั้นได้มาถึงตัวผู้รับภัยแล้ว ก่อนที่ภยันตรายนั้นจะสิ้นสุดลง และการกระทำอันเป็นการป้องกัน ต้องกระทำต่อตัวผู้ก่อภัย และเป็นการกระทำพอสมควรแก่เหตุ กล่าวคือใช้วิถีทางน้อยที่สุดเท่าที่จำต้องกระทำ และการกระทำต้องได้สัดส่วนกับภยันตราย

เมื่อพิจารณาองค์ประกอบของการกระทำที่เป็นการป้องกัน ตามมาตรา 68 แล้ว ในกรณีศึกษาเรื่องนี้ ที่หญิงฆ่าสามี เพราะเหตุถูกกระทำรุนแรงต่างๆ ทั้งทางร่างกาย อารมณ์ จิตใจ ทางเพศ หรือถูกคุกคามด้วยวิธีอื่นใดก็ตาม หากจะอ้างว่า การที่ตนกระทำต่อสามีนั้นเป็นการกระทำโดยป้องกันตนเอง จึงต้องเป็นการกระทำต่อสามีในขณะที่สามีของตนกำลังก่อเหตุก่อภัย หรือกำลังทำร้ายทุบตีตนเองอยู่ จึงกระทำไปโดยเป็นการป้องกัน แต่หากช่วงเวลาที่ถูกสามีทำร้ายได้ผ่านพ้นไปแล้ว ก็ถือว่าภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายนั้นได้ผ่านพ้นไปแล้ว ไม่มีเหตุที่จะป้องกันอีกต่อไป การกระทำโดยฆ่าหรือทำร้ายสามีหลังจากเหตุนั้นได้ผ่านพ้นไป จึงเป็นความผิด ไม่อาจมีเหตุยกเว้นความรับผิดตามกฎหมายอาญาได้แต่อย่างใด

เหตุยกเว้นโทษ หมายถึง เหตุอันใดที่ทำให้ผู้กระทำต้องกระทำต่อผู้อื่น แล้วทำให้การกระทำนั้นเป็นความผิด
แต่กฎหมายยกเว้นโทษให้ หรือไม่ต้องรับโทษ ที่เกี่ยวข้องกับกรณีศึกษาในเรื่องนี้ได้แก่

การกระทำโดยจำเป็น ตามมาตรา 67 “ผู้ใดกระทำความผิดด้วยความจำเป็น

(1)  เพราะอยู่ในที่บังคับ หรือภายใต้อำนาจซึ่งไม่สามารถหลีกเลี่ยงหรือขัดขืนได้ หรือ

(2) เพราะเพื่อให้ตนเอง หรือผู้อื่นพ้นจากภยันตรายที่ใกล้จะถึงและไม่สามารถหลีกเลี่ยงให้พ้นโดยวิธีอื่นใดได้
เมื่อภยันตรายนั้น ตนมิได้ก่อให้เกิดขึ้นเพราะความผิดของตน

ถ้าการกระทำนั้นไม่เป็นการเกินสมควรแก่เหตุแล้ว ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ”

  การกระทำความผิดที่จะอ้างเหตุยกเว้นโทษเพราะกระทำไปด้วยความจำเป็นได้นั้น ต้องมีการบังคับให้ผู้กระทำต้องกระทำ หรือไม่กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดจากภายนอก ซึ่งการกระทำหรือไม่กระทำนั้นเป็นความผิด โดยผู้กระทำไม่มีทางเลือกอย่างอื่น นอกจากกระทำความผิดตามที่ถูกบังคับนั้น เพราะหากสามารถหลีกเลี่ยงหรือขัดขืนได้ แต่ไม่หลีกเลี่ยงหรือขัดขืน กลับเลือกที่จะกระทำต่อบุคคลอื่น เช่นนี้จะอ้างว่ากระไปด้วยความจำเป็นไม่ได้

  การกระทำความผิดด้วยความจำเป็นอีกกรณีหนึ่งคือ กรณีมีภยันตรายที่เกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย แต่ผู้กระทำไม่กระทำต่อตัวผู้ก่อภัย แต่กระทำต่อบุคคลอื่นซึ่งมิใช่ผู้ก่อภัยที่ละเมิดต่อกฎหมาย เช่นนี้
ถือว่าเป็นการกระทำด้วยความจำเป็น ถือว่ามีความผิด แต่ไม่ต้องรับโทษ

  เหตุลดโทษ หรือเหตุบรรเทาโทษ หมายถึง ผู้กระทำความผิด แต่มีเหตุตามกฎหมายที่ศาลจะลดโทษให้ หรือมีเหตุบรรเทาโทษที่ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดที่ได้กระทำลงนั้น

  เหตุลดโทษเพราะบันดาลโทสะ มาตรา 72

  “ผู้ใดบันดาลโทสะโดยถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม จึงกระทำความผิดต่อผู้ข่มเหงในขณะนั้น ศาลจะลงโทษผู้นั้นน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้เพียงใดก็ได้”

  หลักเกณฑ์ในเรื่องบันดาลโทสะ คือต้องมีผู้มาข่มเหงอย่างร้ายแรง ด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม โดยมิใช่การสมัครใจเข้าวิวาทกัน การข่มเหงนั้นต้องร้ายแรง ความร้ายแรงโดยเปรียบเทียบกับความรู้สึกของคนธรรมดาทั่วไปซึ่งสมมติขึ้นในฐานะอย่างเดียวกับผู้กระทำความผิด การสมมติบุคคลธรรมดาขึ้นเปรียบเทียบนี้ ต้องมีลักษณะบางอย่างเหมือนผู้กระทำ เช่น สภาพทางร่างกายหรือจิตใจ ภาวะแห่งการดำรงชีพ การศึกษาอบรม อุปนิสัย และพฤติการณ์พิเศษขณะนั้น (วัจนะสวัสดิ์, 2551) ผู้กระทำได้กระทำความผิดต่อผู้ข่มเหงในขณะบันดาลโทสะ หมายความว่า ในขณะที่โทสะยังบันดาลอยู่นั่นเอง

  เหตุบรรเทาโทษ ตามมาตรา 78   “เมื่อปรากฏว่ามีเหตุบรรเทาโทษ ไม่ว่าจะได้มีการเพิ่มหรือการลดโทษตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ หรือกฎหมายอื่นแล้วหรือไม่ ถ้าศาลเห็นสมควร จะลดโทษไม่เกินกึ่งหนึ่งของโทษที่จะลงแก่ผู้กระทำความผิดนั้นก็ได้

  เหตุบรรเทาโทษนั้น ได้แก่ ผู้กระทำความผิดเป็นผู้โฉดเขลาเบาปัญญา ตกอยู่ในความทุกข์อย่างสาหัส มีคุณความดีมาก่อน รู้สึกความผิดและพยายามบรรเทาผลร้ายแห่งความผิดนั้น ลุแก่โทษต่อเจ้าพนักงาน หรือให้ความรู้แก่ศาลอันเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา หรือเหตุอื่นที่ศาลเห็นว่ามีลักษณะทำนองเดียวกัน”

3. การพิจารณาคดีความผิดกรณี BWS ในต่างประเทศ

อาการ Battered Woman Syndromes เป็นอาการที่สืบเนื่องมาจากเหตุการณ์ความรุนแรงในครอบครัว ( Domestic Violence) ซึ่งหมายถึง ความรุนแรงต่อร่างกาย ทางเพศ และการทำร้ายจิตใจจากบุคคลหนึ่ง ต่อบุคคลหนึ่ง ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ถูกกระทำเป็นหญิงที่มีความใกล้ชิดกับผู้กระทำ โดยปราศจากการเคารพในสิทธิของเธอ(Walker, 2009) เมื่อผู้หญิงถูกกระทำจึงเกิดอาการ Battered Woman Syndrome หรือ BWS เป็นอาการความบอบช้ำทางกายอย่างรุนแรง และความบอบช้ำทางจิตใจ ที่มีผลต่อบุคลิกภาพอย่างต่อเนื่องและรุนแรง เมื่อผู้หญิงถูกทำร้ายทางร่างกาย จิตใจ และอารมณ์ (www.peaceandhealing.com/psychology/battered-woman-syndrome) การถูกทำร้ายจากคนใกล้ชิดในครอบครัว คือสามีหรือคนรัก จะมีอาการทางกายที่แสดงออกมาในลักษณะซึมเศร้า เริ่มจากก้าวเดินช้า สิ้นหวัง รู้สึกผิดเอง ไม่มีทางออก เริ่มแยกตัวจากเพื่อนและครอบครัว  อยู่ในภาวะ Learned Helplessness หรือ อาการสิ้นหวังจากการเรียนรู้ คือเป็นโรคซึมเศร้าและโรคทางจิตประสาทที่เกี่ยวข้อง เป็นผลมาจากการไม่มีความสามารถควบคุมผลลัพธ์ของสถานการณ์ ความสิ้นหวังอันเกิดจากการเรียนรู้ทำให้สิ่งมีชีวิตที่ไม่แยแสและไม่อาจกำหนดผลแห่งพฤติกรรมของตนให้เป็นไปอย่างที่ควรเป็นได้ คนที่มองโลกในแง่ร้ายมักจะเห็นเหตุการณ์ที่ไม่พึงประสงค์ว่าเป็นสิ่งถาวร ไม่มีการเปลี่ยนแปลง เป็นเรื่องส่วนตน เป็นความผิดของตนเอง
และไม่มีทางเยียวยาแก้ไข คนเหล่านี้ย่อมตกอยู่ในภาวะสิ้นหวังอันเกิดจากการเรียนรู้และภาวะซึมเศร้าได้ง่าย
ผู้หญิงที่มีอาการ BWS จะโต้ตอบการกระทำของสามีด้วยความรุนแรง ซึ่งอาจไม่ใช่ ณ ขณะเวลาที่กำลังถูกกระทำรุนแรงจากสามี แต่เป็นช่วงเวลาหลังจากเหตุการณ์ถูกทำร้ายผ่านไปแล้ว และไม่หนีจากสถานการณ์หรือสถานที่นั้น
ไม่เรียกร้องความช่วยเหลือจากผู้อื่นเพื่อให้พ้นจากการถูกทำร้าย แต่กลับเป็นการกระทำโต้ตอบอย่างรุนแรงต่อสามี(Cohen)

ในประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อประมาณสามสิบปีก่อน การทำร้ายร่างกายกันในครอบครัว ไม่ถือว่าเป็นความรุนแรงในครอบครัว เมื่อเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงมากขึ้น จึงกลายเป็นสิ่งท้าทายกระบวนการยุติธรรมในการทำงานเพื่อปกป้องคุ้มครองเหยื่อ แต่ความยากลำบากในทางปฏิบัติคือ ผู้หญิงในครอบครัวที่ตกเป็นเหยื่อมักจะปกปิดเรื่องที่ถูกทำร้าย เพื่อปกป้องตนเองและสามี ด้วยเกรงว่าจะเป็นการลดคุณค่าของตนเอง จึงปกปิดบาดแผลที่ถูกทำร้ายทั้งทางร่างกายและจิตใจ แต่เมื่อต่อมาผู้หญิงเหล่านี้ได้รับความมั่นใจว่า จะได้รับความคุ้มครองช่วยเหลือจากกฎหมาย
จึงเริ่มสามารถอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นในครอบครัว และการถูกทำร้าย แต่การจะสอบถามเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงนั้น
ต้องเป็นการทำโดยผ่าน intervention programs ที่ศาลจัดให้

Walker(1979) การทำร้ายกันไม่ได้เกิดขึ้นตลอดเวลา แต่ก็ไม่สามารถบอกได้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ ผู้หญิงสามารถอธิบายวงจรความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับพวกเธอได้ว่า จะเกิดขึ้นหลังจากช่วงเริ่มคบหาหรือกำลังจีบกัน หลังจากกลายเป็นพฤติกรรมของคู่รักแล้ว วงจรจะมี 3 ระยะ คือ ระยะแรกเกิดความตึงเครียด ระยะที่สอง เกิดความรุนแรง การทำร้ายกันขึ้น และระยะที่สามคือช่วงเวลาที่ผู้ชายสำนึกผิดหรือเสียใจในการกระทำ ในแต่ละครั้งของการทำร้ายตามวงจร จะเป็นการทำร้ายกันในรูปแบบใหม่ สิ่งที่เกิดขึ้นก่อนหน้าจะทำให้ผู้หญิงกลัวมากขึ้น คำแนะนำที่ดีที่สุดคือ
ให้ผู้หญิงตอบโต้ หรือมิฉะนั้นต้องพยายามยุติการทำร้าย เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีก แต่กลับกัน เมื่อผู้หญิงเริ่มรับรู้สัญญาณของความรุนแรงที่จะเกิดขึ้น เธอพยายามปกป้องตนเอง และไม่ว่าจะโดยเจตนาหรือไม่ก็ตาม เธอก็ได้ฆ่าสามีผู้ทำร้ายเธอ
ผู้หญิงที่ฆ่าสามีเพราะอาการ BWS ทำให้มีข้อสังเกตที่จะต้องทำความเข้าใจว่าเหตุใดผู้หญิงจึงใช้ปืนยิง หรือใช้มีด ในการฆ่าสามี ในขณะที่สามีกำลังนอนหลับ หรือขณะเกิดมีสัญญานของความรุนแรง เธอก็ลงมือฆ่าสามีก่อนแทนที่จะหนีไปจากสถานการณ์นั้น ซึ่งก็สามารถทำได้ จากสถิติ ผู้หญิงจะก่อเหตุรุนแรง หรือฆ่าสามีเมื่อมีการแยกทางกัน และถูกสามีข่มขู่คุกคาม ว่าจะตามระรานเธอไปทุกที่ เปรียบเสมือนผู้ชายมีอำนาจและสามารถควบคุมเธอได้ จึงเกิดความฝังใจและจะเพิ่มความรู้สึกให้การกระทำรุนแรงมากขึ้น

การดำเนินคดีผู้หญิงที่กระทำผิดอาญาต่อสามีดังกล่าว ซึ่งเป็นอาการ BWS นั้น เป็นความสัมพันธ์ระหว่างกฎหมายกับการวินิจฉัยทางการแพทย์ และเริ่มมีการศึกษาในเรื่องนี้กันอย่างกว้างขวางในหลายประเทศ โดยต้องมีการให้ความหมายของการกระทำรุนแรงต่อผู้หญิง ซึ่งก็ได้หมายรวมถึงการคุกคามทางเพศ การข่มขืน การกระทำรุนแรงในครอบครัว และการแสวงหาประโยชน์ทางเพศและรุกราน (Walker, 2009) จากการที่ในอดีตที่ผ่านมา เมื่อมีเหตุการณ์ทำร้ายร่างกายกันอันเป็นความรุนแรงในครอบครัวนั้น เจ้าหน้าที่มักจะไม่รับแจ้งความดำเนินคดี และไม่เข้าเยียวยาช่วยเหลือเหยื่อ เนื่องจากเห็นว่าเป็นเรื่องส่วนตัว โดยมองไม่เห็นความรุนแรงของการทำร้ายที่เกิดขึ้น แต่จากรายง

หมายเลขบันทึก: 521950เขียนเมื่อ 10 มีนาคม 2013 17:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 มีนาคม 2013 17:13 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขอบคุณนะคะ...ได้รับความรู้เพิ่มเติมมากมาย..เก็บเกี่ยวความรู้ไว้เผื่อเด็กๆการสอนกฎหมายสำหรับเด็กๆ มีตัวอย่างมากๆเด็กเขาตั้งใจฟังดีมากค่ะ.

กำลังปรับปรุงค่ะ ขออภัยที่ยังไม่สมบูรณ์ เพราะในการวิเคราะห์ส่วนท้ายยังไม่ได้ลงค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท