กระบวนการสร้างครูที่เพลินกับการพัฒนา (๑๑๕) : ฝึกใจให้เป็นกวี


เช้าวันนี้นักเรียนชั้น ๓  ออกเดินทางไปสัมผัสชีวิตจิตใจของกวีพื้นบ้าน  อ.ศิวกานท์  ปทุมสูติ  หรือ ครูกานท์ ที่ทุ่งสักอาศรม ต.จรเข้สามพัน  อ.อู่ทอง  จ. สุพรรณบุรี เป็นเวลา ๒ วัน ๑ คืน  และในช่วงบ่ายของวันเดียวกัน  คุณครูตั๊ก – รัตดารา   มกรมณี  ก็พิมพ์ต้นฉบับมาลงจดหมายข่าวทันทีด้วยความประทับใจในบรรยากาศการเรียนรู้ด้วยกระบวนการซึมซับจากความงามของคำ  การไปภาคสนามครั้งนี้จึงเป็นการเดินทางไปฝึกตนของทั้งครูและเด็ก

 


                                                 :::เพลงอาศรมร่มรัก:::

                                                                                คำร้อง-ทำนอง  : ศิวกานท์  ปทุมสูติ

                                                                                เรียบเรียงเสียงประสาน-ขับร้อง  : ศักดิ์สิริ  มีสมสืบ


       

               ใบสักกวักมือเรียกฉันและเธอเข้ามา       มาสู่ชายคาอาศรมร่มเงามิ่งไม้

     ดั่งนกน้อยน้อยบินคล้อยมาตามฝันใฝ่             ดวงใจงดงามนำฝ่าฟัน

     ประดู่สะเดาแดดลมและทิวทุ่งทอง                  โอบกอดตระกองประคองฟักฟูมอุ้มฝัน

     ปลุกรักให้รู้ดูแลรักข้ามคืนวัน                           ผูกพันฉันเธอเป็นหนึ่งเดียว

     เมฆขาว...ดาวใส...อยู่ในท้องฟ้า                     ดวงชีวาของเราไม่เปล่าเปลี่ยว

     ใบไผ่...สายธาร...ทอรักและถักเกลียว             รุ้งเรียวอรุณทิวาจะมาเยือน

     ใบสักเริงรำระบำฤดูแผ่นดิน                            คืนถิ่นไร่นาศรัทธานี้ใครจะเหมือน

     สู้ฝนสู้ฟ้าน้ำตามาตกเตือน                              ปีเดือนของเรายังก้าวเดิน


                                                   ......................................

.

เสียงเพลงจากครูกานท์  และครูก้อย ดังกังวาน เป็นการกล่าวต้อนรับและทักทายเด็กๆ ทันทีที่เด็กๆ  เพลินพัฒนาก้าวสู่บริเวณทุ่งสักอาศรม 

 

ครูกานท์แนะนำวิถีปฏิบัติของที่นี่ต่อสมาชิกใหม่ทุกคนว่า  เราต้อง ถือศีล ๓ ข้อ คือ ซื่อสัตย์  เราจะต้องซื่อสัตย์ต่อตัวเอง และต่อสถานที่ ต่อทุกสิ่งและต่อโลก  สงบ  เราจะนิ่ง  สงบ อยู่กับเรา อยู่กับเพื่อน  อยู่กับพื้นที่ ปิดเครื่องมือสื่อสาร  และ งอกงาม  คือ มีจิตใจงอกงาม  รู้สึกดี ทำสิ่งที่ดีต่อชีวิต

 

จากนั้นครูกานท์จึงพาเด็ก ๆ เข้าสู่กิจกรรมแรก :  ชวนคิด โดยการตอบคำถามง่าย ๆ เกี่ยวกับ “ใบไม้แห้ง ๑ใบ”  คำตอบของหลายคนตอบออกมาชวนให้ชื่นใจนักว่าพวกเขาช่างคิด และคิดลึกซึ้งเป็น


“ก่อนจะมาเป็นใบไม้แห้ง เคยเป็นอะไรมาก่อน”   “ถ้าไม่มีคนปลูก  ไม่มีการดูแล เอาใจใส่  ต้นไม้ก็ไม่เติบโต  ไม่มีใบไม้ที่เหี่ยวแห้งตกลงมาจากกิ่ง แล้วก็ถูกลมพัดปลิวลงสู่พื้นดินให้ครูกานท์เดินไปหยิบมา”  ...ลึกซึ้งทีเดียวเชียว


ก่อนพักทานของว่าง ได้ยินเสียงเด็กๆ เปรยออกมาเบาๆ ด้วยรอยยิ้มว่า “ครูกานท์ สนุกจัง”  จากที่ครูตั๊กแอบกังวลลึกๆ ว่าการออกภาคสนามเชิงวิชาการ กับการอ่าน คิด เขียน เรียนรู้เชิงสร้างสรรค์ เป็นครั้งแรก เด็กๆ จะชอบหรือไม่ จะเบื่อหรือเปล่า  ได้ยินแบบนี้ครูตั๊กเองก็คลายความกังวลไปมากทีเดียว


ระหว่ารอของว่าง โอวัลตินร้อนๆหอมกรุ่น และตะโก้เผือกชิ้นโต (โตมาก) ครูกานท์ เล่านิทานเรื่อง “เม็ดฝนของเด็กชายปลายดินสอ”  ภาพผู้ชายแก่ ๆ ไว้หนวด ดูแล้วน่าเกรงขาม กลับกลายเป็นคุณลุงแก่ ๆ ใจดี ยิ้มแย้ม ส่งเสียงเล็กเสียงน้อยอย่างมีจังหวะจะโคน เล่านิทานให้เด็กๆ ฟัง  เด็กๆ ก็นั่งฟังกันตาแป๋ว สะกดให้เด็กๆ อยู่กับคนเล่า  จดจ่อไปกับเนื้อเรื่อง มากกว่าภาพวาดในหนังสือนิทานซะอีก...อารมณ์ ความรู้สึกครูตั๊กตอนนี้ คือ  ยิ้มๆ ...สงบ...สุขใจจัง


หลังกลับจากรับประทานอาหารว่างมื้ออร่อย  ครูกานท์พาเด็ก ๆ เขียนบันทึกความรู้  ด้วยคำถามง่ายๆ  “ไหนลองเขียนซิว่าตั้งแต่ก้าวเข้ามาในทุ่งสักอาศรม พวกเราได้เรียนรู้อะไรบ้าง”  ...เพียงเท่านี้ เด็กๆ ก็ก้มหน้าก้มตาเขียนกันใหญ่...เอ...ทำไมตอนครูตั๊กให้เขียนบันทึก..ไม่เห็นภาพนี้เลยน้าาาา....เห็นทีต้องปรับกระบวนท่าการสอนของตัวเองขนานใหญ่แล้ว


จากนั้นครูกานท์ก็ให้แต่ละกลุ่มแลกเปลี่ยนกันอ่าน แล้วเลือกผลงานของเพื่อนๆ ให้ครูประจำกลุ่มออกมาอ่านให้ทุกๆ คนได้ฟัง เพื่อเป็นตัวอย่างการอ่านที่ถูกวิธี....ซึ่งเด็กๆ ของเราเขียนออกมาได้น่ารักมากๆ  แถมครูกานท์ยังอ่านบันทึกที่ครูกานท์เขียนถึงพวกเราด้วย...เล่นเอาคุณครูทุกคนยิ้มแก้มปริเลย...

 

กิจกรรมต่อไป ครูกานท์เริ่มชวนเด็กคิดอย่างลึกซึ้งมากขึ้น โดยการปล่อยก้อนหินหนึ่งก้อนจากมือด้านบน ลงสู่มือที่รองรับอยู่ด้านล่าง  พร้อมถามว่า “เธอเห็นอะไรในสิ่งที่ไม่เห็น”  คราวนี้จากห้องเรียนภาษาไทยกลายมาเป็นห้องเรียนวิทยาศาสตร์ไปทันที  “เห็นพลังงานศักย์แปรเปลี่ยนเป็นพลังงานกล จลน์ครับ”   “เห็นแรงโน้มถ่วงของโลก”   “เห็นเชื้อโรค”  “เห็นซากพืชซากสัตว์ แร่งธาตุในดินที่ทับถมมาเป็นก้อนหิน”  ฯลฯ


แล้วก็ได้เวลารับประทานอาหารกลางวัน  ด้วยเมนู ข้าวสวย  ต้มข่าซี่โครงหมู  ไข่ต้ม  ไข่เจียว  น้ำพริกอ่อง และผลไม้คือมะม่วงสุกหวานเจี๊ยบ....เด็กๆ ทานกันอิ่มแปร้


ก่อนเริ่มกิจกรรมในภาคบ่าย  ครูกานท์ให้เด็กๆ ผ่อนพักตระหนักรู้ โดยการร้องเพลงกล่อมเด็กเพลงเจ้าขุนทอง พร้อมบอกที่มาของบทเพลงนี้ด้วย...ครูตั๊กเองก็เพิ่งทราบวันนี้เองว่าเจ้าขุนทองที่ว่าไม่ใช่นกแต่เป็นบุคคลคนหนึ่งในหมู่บ้านบางระจันนั่นเอง....


กิจกรรมภาคบ่าย  ครูก้อยลูกสาวของครูกานท์ เป็นผู้ดำเนินกิจกรรม  เด็กๆ เริ่มเข้าสู่ประสบการณ์ของการ “กินครู”  กันแล้ว...ช่วงนี้ครูก้อยนำบทประพันธ์บางบทจากหนังสือ  “ไม้ตะปูและหัวใจ” ของครูกานท์  บางบทบางตอนมาให้เด็กๆ ตีความ  เด็กๆ ของเราส่วนใหญ่ตีความตรงๆ จากบทประพันธ์ที่อ่าน  มากกว่ามองเห็นความลึกซึ้งที่ซ่อนอยู่  ซึ่งครูก้อยเองก็พยามยามอธิบายและชวนเด็กๆ มองให้ลึกซึ้งขึ้น  บทหลังๆ เด็กๆ เริ่มเห็นความลึกซึ้งได้มากขึ้นตามลำดับ....จบช่วงกิจกรรมภาคบ่าย...ครูตั๊กว่าเด็กๆ ของเรา...งอกงาม...มากขึ้นค่ะ


ต่อจากนั้นจะเป็นอย่างไรติดตามต่อนะคะ....เดี๋ยวจะส่งตามมาเป็นระยะ....ขอปล่อยให้เด็กๆ พักผ่อนสักครู่


หมายเลขบันทึก: 519478เขียนเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2013 17:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2013 19:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท