การเรียนรู้เกิดขึ้นอย่างไร : ๗. ยุทธศาสตร์สร้างแรงจูงใจ



          บันทึก ๑๖ ตอนนี้ มาจากการตีความหนังสือ How Learning Works : Seven Research-Based Principles for Smart Teachingซึ่งผมเชื่อว่า ครู/อาจารย์ จะได้ประโยชน์มาก หากเข้าใจหลักการตามที่เสนอในหนังสือเล่มนี้  ตัวผมเองยังสนใจเพื่อเอามาใช้ปรับปรุงการเรียนรู้ของตนเองด้วย 

          ตอนที่ ๗ นี้ มาจากบทที่ 3  What Factors Motivate Students to Learn? 

          บันทึกตอนที่ ๖อธิบายหลักการเรื่องทฤษฎีว่าด้วยแรงจูงใจในการเรียน และยุทธศาสตร์ในการกำหนดคุณค่า และตอนที่๗ว่าด้วยเรื่องยุทธศาสตร์ทำให้ นศ. มีความมั่นใจว่าจะเรียนได้สำเร็จและยุทธศาสตร์ในการจัดการปฏิสัมพันธ์ระหว่างคุณค่าและความมั่นใจ

          ในบันทึกตอนที่ ๖ ได้กล่าวถึงยุทธศาสตร์สร้างแรงจูงใจในการเรียนยุทธศาสตร์แรกไปแล้ว  คือเรื่องการจัดการคุณค่า (Values)  ในตอนที่ ๗ จะกล่าวถึงยุทธศาสตร์ที่ ๒  การจัดการความมั่นใจว่าจะเรียนได้สำเร็จ  และยุทธศาสตร์ที่ ๓  การจัดการปฏิสัมพันธ์ระหว่างคุณค่าและความมั่นใจ


ยุทธศาสตร์ที่ช่วยให้ นศ. มีความมั่นใจว่าจะเรียนได้สำเร็จ


          ทำให้วัตถุประสงค์ การประเมิน และกระบวนการเรียนรู้สอดคล้องไปในทางเดียวกัน

          เมื่อ นศ. เข้าใจวัตถุประสงค์ของการเรียน และเกณฑ์ในการประเมิน อย่างถ่องแท้  และในการเรียน นศ. ก็ได้ทำแบบฝึกหัดและการป้อนกลับ (feedback) อย่างสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการเรียน และเกณฑ์การประเมิน  นศ. ก็จะเกิดความมั่นใจในการเรียน  และเกิดแรงจูงใจต่อการเรียน


          มอบหมายงานที่มีระดับความท้าทายเหมาะสม

          งานที่มีระดับความท้าทายเหมาะสมไม่เหมือนกัน สำหรับ นศ. ต่างคน  ขึ้นกับพื้นความรู้เดิม และขึ้นกับเป้าหมายที่ นศ. แต่ละคนตั้งไว้  ครูต้องหาทางทำความรู้จักพื้นความรู้ และเป้าหมาย ของ นศ. ทั้งชั้น และของ นศ. เป็นรายคน  สำหรับนำมาใช้ในการมอบหมายงาน ให้ได้ระดับที่เหมาะสม

การทำความรู้จักพื้นความรู้และเป้าหมายของ นศ. ทำได้ด้วยกิจกรรมต่อไปนี้  (๑) การทดสอบและกรอกแบบสอบถามตอนต้นเทอม  (๒)​ ตรวจสอบ course syllabus ของวิชาและผลการเรียน ที่เรียนในเทอมก่อน  (๓) อาจขอแผนการสอนของอาจารย์ที่สอนในเทอมก่อนมาดู  (๔) คุยกับอาจารย์ที่สอนในเทอมก่อน สอบถามเป้าหมาย ความคาดหวัง และผลการเรียนของ นศ.  (๕) อาจขอไปนั่งสังเกตการณ์ในห้องเรียนของ นศ. ที่ในเทอมหน้าจะมาเรียนกับตน 


          จัดให้มีความสำเร็จในเบื้องต้น

          ยุทธศาสตร์ “จัดให้มีความสำเร็จในเบื้องต้น”  สำคัญมากสำหรับวิชาที่ นศ. เล่าลือกันว่าเรียนยาก  และเป็นวิชาบังคับที่ต้องเรียนให้ผ่าน  การมอบหมายงานที่ค่อนข้างง่ายในเบื้องต้นเพื่อเรียกกำลังใจของ นศ.  และเพื่อเป็นเครื่องซักซ้อมวิธีเรียน  มีความสำคัญอย่างยิ่ง 

          ตัวอย่างเช่น เริ่มต้นโดยมอบโครงงานเล็กๆ ที่ใช้เวลาสั้นๆ ทำ ก่อน โดยแบ่งคะแนนมาให้ไม่มากนัก  เมื่อ นศ. ได้เกรดดี และเกิดความมั่นใจในการเรียน จึงมอบโครงงานขนาดใหญ่ตามปกติ 


          ระบุความคาดหมายของครูอย่างชัดเจน

          ครูพึงบอก นศ. อย่างชัดเจน ว่าการเรียนวิชานั้นให้ผ่าน นศ. ต้องทำอะไรได้บ้าง  ขั้นตอนการเรียนรู้เป็นอย่างไรบ้าง  ปัญหาหรืออุปสรรคที่ นศ.​อาจเผชิญคืออะไรบ้าง  โดยครูพร้อมเสมอที่จะช่วยเหลือให้ นศ. ฟันฝ่าอุปสรรคไปสู่ความสำเร็จให้ได้  บอกวิธีติดต่อขอความช่วยเหลือ   โดยเป้าหมายคือ ช่วยให้ นศ. มี positive outcome expectancy  คือเชื่อมั่นว่าตนสู้ได้ บรรลุผลสำเร็จในการเรียนวิชานี้ได้ 


          แจ้ง rubrics การประเมิน

          นี่คือหลัก “ข้อสอบไม่เป็นความลับ” สำหรับการเรียนรู้ในศตวรรษที่ ๒๑  เมื่อ นศ. ได้รับรู้ว่าแนวทางสอบจะเป็นอย่างไร  นศ. ก็ชัดเจนว่าตนต้องเรียนให้รู้อะไร ทำอะไรได้  ในระดับความซับซ้อนแค่ไหน  ความเชื่อมั่นว่าตนจะเรียนได้สำเร็จก็จะเกิดตามมา


          ให้การป้อนกลับอย่างมีเป้าหมาย

          การป้อนกลับ (feedback) เป็นการให้ข้อมูลเกี่ยวกับความก้าวหน้าสู่เป้าหมาย  และจะมีผลต่อแรงจูงใจในการเรียนได้เป็นอย่างดี   การป้อนกลับที่สร้างสรรค์ ช่วยบอกจุดแข็ง จุดอ่อน และแนะวิธีเพิ่มจุดแข็งในอนาคต  จะมีรายละเอียดในหนังสือบทที่ ๕


          ยุติธรรม

          ครูต้องแสดงความยุติธรรมต่อ นศ. อย่างเท่าเทียมกัน  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อการให้คะแนนทำโดยคนหลายคน  หาก นศ. รู้สึกว่าเกณฑ์ในการให้คะแนนแก่ตนแตกต่างจากเกณฑ์ที่ใช้กับคนอื่น  นศ. อาจถอดใจ


          ช่วยให้ นศ. เข้าใจถูกต้องเกี่ยวกับความสำเร็จและความล้มเหลว

          ความเข้าใจผิด ของ นศ. เกี่ยวกับปัจจัยที่นำไปสู่ความสำเร็จและความล้มเหลวในการเรียน มีส่วนลดทอนความเชื่อมั่นในตนเองด้านการเรียน  ครูพึงช่วยแก้ความเข้าใจผิดนั้น  เช่น เข้าใจว่าตนจะเรียนผ่านวิชานั้นได้ยาก เพราะตนไม่เก่งเรื่องตัวเลข  ไม่เก่งด้านรายละเอียด  หรือหัวไม่ดี เป็นต้น

          ครูพึงช่วยให้ นศ. เข้าใจถูกต้อง ว่า ปัจจัยของความสำเร็จ ขึ้นกับการมีวิธีเรียนที่ถูกต้อง  ความขยันและรู้จักจัดการเวลา 


          ระบุยุทธศาสตร์การเรียนที่ได้ผล

          ในกรณีของ นศ. ที่ผลการเรียนล้มเหลว  ครูต้องพูดคุยเรื่องวิธีเรียน หรือพฤติกรรมการเรียน  เพื่อชี้ให้เห็นว่าวิธีเรียนที่ตรงกันข้ามกับวิธีเรียนที่ไม่ดี ที่ทำให้การเรียนล้มเหลว เป็นอย่างไร  เพื่อชี้ให้เห็น และมั่นใจ ว่า นศ. สามารถบรรลุผลสำเร็จในการเรียนวิชานั้นได้ หากเปลี่ยนวิธีเรียน

 


ยุทธศาสตร์การจัดการคุณค่าและความมั่นใจ


          ให้ความยืดหยุ่นและการควบคุม

          การเปิดโอกาสหรือความยืดหยุ่น ให้ นศ. มีโอกาสเลือกกิจกรรม เลือกเรียนบางส่วนของเนื้อหาในรายวิชา  เลือกเรื่องสำหรับทำโครงงาน ฯลฯ  ผ่านการหารือกับครู  จะช่วยเพิ่มความเข้าใจคุณค่าของแต่ละขั้นตอนการเรียน  และเพิ่มความมั่นใจว่าจะเรียนได้สำเร็จ  ความยืดหยุ่นอย่างถูกต้อง จึงเป็นการควบคุมตัวพฤติกรรมการเรียน  และส่งผลต่อความสำเร็จในการเรียนในที่สุด


          ให้โอกาส นศ. สะท้อนความคิด

          การสะท้อนความคิด (reflection) ช่วยให้เกิดการเรียนรู้อย่างมีความหมาย  โดยครูช่วยตั้งคำถาม “นศ. ได้เรียนรู้อะไรบ้าง จากการทำงานชิ้นนี้”  จะทำให้ นศ. มองเห็นคุณค่าของบทเรียน

          คำถามอื่นๆ ที่ช่วย นศ. ได้แก่ “ส่วนที่คุณค่าที่สุดของโครงงานนี้คืออะไร”  “นศ. เตรียมตัวอย่างไรบ้าง เพื่อการทำโครงงานนี้/การสอบ”  “นศ. คิดว่าตนต้องการเรียนรู้ทักษะอะไรเพิ่มเติม เพื่อให้การเรียนก้าวหน้าไปด้วยดี”  “ในโอกาสข้างหน้า นศ. จะเปลี่ยนแปลงิธีทำงานที่ได้รับมอบหมายอย่างไรบ้าง”

          จะเห็นว่า หน้าที่สำคัญของครูในกรณีนี้คือ ทำหน้าที่ตั้งคำถามแบบ Appreciative Inquiry  เพื่อกระตุ้นให้ นศ. เห็นคุณค่าของวิชาที่เรียน และมั่นใจว่าหากใช้ความพยายาม จะเรียนผ่านได้


สรุป

          ในบันทึกตอนที่ ๖ และ ๗ ได้กล่าวถึงความสำคัญของแรงจูงใจ (motivation) ต่อการเรียนรู้  และได้นำเสนอวิธีมองแรงจูงใจ ผ่านแว่นหลักการเป้าหมาย (goals) จุดสำคัญที่สุดคือ นศ. มีเป้าหมายในขณะนั้นไม่ตรงกับของครู 

          การให้คุณค่าต่อเป้าหมาย และความเชื่อมั่นว่าจะเรียนได้สำเร็จ มีผลต่อแรงจูงใจในการเรียน

          การให้คุณค่าต่อเป้าหมาย  ความเชื่อมั่นว่าจะเรียนได้สำเร็จ  และความเชื่อมั่นต่อระบบช่วยเหลือของสถาบัน  มีปฏิสัมพันธ์กัน และส่งผลต่อพฤติกรรมการเรียนของ นศ. 

          ความเข้าใจชุดนี้ของครู  จะช่วยให้ครูจัดรูปแบบการเรียนรู้ที่ตนจัดให้แก่ นศ. ได้ดีขึ้น


วิจารณ์ พานิช

๒๙  ธ.ค. ๕๕



หมายเลขบันทึก: 518930เขียนเมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2013 10:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 พฤษภาคม 2013 17:51 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

.... ทั้งเรื่อง ...  แรงจูงใจในการเรียน และ เรื่อง ยุทธศาสตร์ในการกำหนดคุณค่า .... มีความสำคัญมากๆๆนะคะ  .... ขอบพระคุณ บทความคุณภาพ  ของทานอาจารย์หมอมากค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท