วัฒนธรรมกระแสสลับ


ทางม้าลาย มีไว้ให้คนเดินข้าม

สิ่งที่แปลกมากก็พบเห็นได้ตอนคนเดินข้ามนี่แหละ

คนที่เดินข้าม มักจะแกว่งไกวไปมาระหว่าง 2 ขั้วอารมณ์

ถ้ารถไม่มีท่าทีจะเอื้อเฟื้อ คนข้ามอาจหยุดรอ (ยอมถูกละเมิดสิทธิ) หรืออาจวิ่งข้าม (ขอรักษาสิทธิ แต่ไม่สนใจชีวิต)

ที่แปลกคือ เวลารถมีท่าทีเอื้อเฟื้อนี่แหละ

คุณท่านเล่นเดินนวยนาด เนิบนาบ เนิบนาบ ราวร่างกายไร้กระดูก 

นี่ก็แกว่งไปอีกขั้ว คือใช้สิทธิ แต่ไม่สนใจว่าตัวเองละเมิดกฎพื้นฐานของการใช้ถนนร่วมกันอย่างพอเหมาะพอควร

ปรากฎการณ์นี้ไม่ได้เกิดแต่เฉพาะเวลาใช้รถใช้ถนน

ผมไปออกชุมชน ฟังป้าคนหนึ่งเล่าชีวิตรันทดให้ฟังสารพัด รวมถึงเรื่องตนเองมีโรครุมเร้า แต่ไม่ไปหาหมอ

เอ๊ะ มาแปลก

ลองถาม คำตอบทำให้อึ้ง

"กลัวหมอดุเอา...ว่าทำไมมาช้า ทำไมไม่รีบมาให้เร็วกว่านี้"

(ช้าที่ว่านี่หมายถึงช้าไปหลายปีครับ)

ก็เลยต้องอธิบายถึงสิทธิขั้นพื้นฐานของการมีชีวิตอยู่กันพักใหญ่ ว่าไปโรงพยาบาลเถอะ หมอจะว่ายังไงก็ช่างหมอ ชีวิตเราควรเก็บตกไว้ก่อน

คุยต่อถึงรู้ว่า โรคเล็ก ๆ น้อย ๆ น่ะ ยอมไปหาหมอเป็นปรกติ แต่โรคเรื้อรังที่ว่า ไม่เคยยอมบอกหมอ ไม่ได้เขิน แต่กลัวหมอด่าเอา

ผมฟังแล้วสะทกสะท้อนใจ คุณป้าคนนี้จินตนาการไปเองหรือเปล่า ? หรือกำลังสะท้อนสิ่งที่เคยเจอ ?

ถ้าเป็นอย่างแรก สังคมก็น่าห่วง

แต่ถ้าเป็นอย่างที่สอง สังคมก็น่าห่วงอยู่ดี

แต่เชื่อหรือไม่ ...ว่าคนที่กลัวหมอจนหงอแบบนี้นี่แหละ วันไหนมีปัญหาเรื่องสุขภาพถึงขั้นร้ายแรง จะไม่ลังเลใจที่จะฟ้องหมออย่างหนักหน่วงจนคนดูต้องเบือนหน้าหนี

คนที่เคยถูกกดขี่เท่านั้นแหละ ที่ชอบกดขี่คนอื่น

ขึ้นต้นเรื่องกับลงท้ายเรื่อง ยังเป็นเรื่องเดียวกันครับ เมื่อมองในเรื่องการสลับขั้วแบบสุดโต่งของพฤติกรรมคน

 

หมายเลขบันทึก: 51789เขียนเมื่อ 25 กันยายน 2006 17:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:58 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

     ผมมองเห็นเป็นประเด็นต่าง ๆ ที่ทำให้ทำให้คนเรายังไม่เข้าถึงบริการ (Accesibility) นะครับ เช่นยังกลัวหมอ ยังไม่กล้า ยังไม่สนใจสุขภาพตนเอง ประมาณนั้น และเมื่อเทียบเคียงตามที่ยกตัวอย่าง คือคนไม่กล้าข้ามทางม้าลาย เพราะกลัวรถไม่จอด จะต่างอะไรกันครับ กับที่คนไม่กล้าไปหาหมอ เพราะไม่เชื่อใจพอ โดยสรุปในประเด็นนี้ก็คือ ยังไม่สามรถเข้าถึงบริการได้ เพราะยังไม่ไว้ใจกัน แต่ก็เป็นเพียงบางเรื่องเท่านั้นนะครับในการพูดถึง Accesibility แท้จริงแล้ว ยังมีอีกหลายเรื่องแน่ ๆ 
     บันทึกนี้ทำให้ผมหวนนึกถึงเรื่องนี้ราวว่า...มูลเหตุ/ปัจจัย/เงื่อนไขของการเข้าถึงบริการได้ดีทีเดียวครับ และพบว่าที่ยังไม่ทราบก็น่าจะมีอีกหลายเรื่องทีเดียวในประเด็นที่
     ขอบพระคุณครับ

เล่าเรื่องจริงให้อาจารย์ฟังสักเรื่องค่ะ

ณ โรงพยาบาลระดับใหญ่สุดแห่งหนึ่ง ผู้หญิงสองคนจากแม่สะเรียง ที่ออกเดินทางจากบ้านตั้งแต่เย็นเพื่อมาเข้าแถวรอคิวตรวจให้ทันตีห้า นั่งรอไม่กล้าลุกไปไหนอยู่หน้าห้องตรวจจนเกือบเที่ยง

ในห้องตรวจ ที่มีหมอ คนไข้ และคนมาส่งที่ทำให้ที่ล่ามด้วย

"เป็นไรมา"

"ปวดท้อง"

"แค่นี้ก็มาด้วย ทำไมไม่ตรวจที่แม่สะเรียง"

"หมอที่นั่นบอกว่าเป็นก้อนที่ท้องต้องผ่าตัด เลยอยากมาตรวจที่นี่"

"เป็นก้อนมานานเท่าไหร่แล้ว"

"ห้าปี"

"ห้าปีแล้วทำไมทนได้"

"ก็ไม่มีเงินไม่รู้ใช้เงินมากไหม"

"ตอนนี้มีเงินแล้วงั้นซิ"

"ก็ไม่มีแต่ปวด ขอหมอผ่าเลยได้ไหม เพราะเดินทางไปมายาก ต้องเดินขึ้นดอยต่อไปอีกวันเต็มๆกว่าจะถึงบ้าน" 

"รอมาได้ตั้งห้าปี หมอก็จะรักษาช้าๆสักห้าปีก็แล้วกัน กลับบ้านไปก่อน อะไรมาถึงจะตัดคิวคนอื่นได้อย่างไง"

..

..

ฟังแล้วกลืนน้ำลายสักเอื้อกนะคะ

ฟังแล้วกลืนน้ำตาเลยครับ

ท่าน มสช เคยเขียนไว้ใน blog เรื่อง ความเชื่อถือในวิชาชีพแพทย์ ถ้าได้มาฟังคุณ จันทรรัตน์ แล้วก็คงกลืนน้ำตาเหมือนกัน

แต่ผมคิดในแง่ดีนะ ว่าหมอแซวคนไข้

แต่มุขแซวมุขนี้โหดแฮะ ผมว่าคนไข้ไม่รับมุขแน่เลย

 

เห็นด้วยว่า มุขนี้โหดสุดๆ ครับ โหดเกินกว่าจะรับได้ ว่านี่เป็นหมอ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท