ความเชื่อถือในวิชาชีพแพทย์


คิดถึงตอนนี้ที่แพทย์ดูจะตกเป็นจำเลยของสังคม

professor david mechanic เป็นชาวอเมริกันคนหนึ่งที่ศึกษาเกี่ยวกับแง่มุมทางสังคมวิทยาของการแพทย์ และการสาธารณสุขในประเทศเขา

เมื่อเดือนที่แล้ว เขาแวะมาประเทศไทย อจ ประเวศเลยชวนให้มาคุยกับพวกเรา มีเรื่องดีๆมากมาย แต่เรื่องนึงที่ดูจะสะกิดใจพวกเราหลายคน และถูกเอาไปพูดต่อกันแยะคือการศึกษาว่าด้วยมุมมองของประชาชนต่อผู้นำในอาชีพต่างๆ 3 กลุ่มในอเมริกา ได้แก่ กล่มแพทย์ รัฐบาล และกลุ่มอื่นๆ (ที่เข้าใจว่าเอามารวมกันเพราะคะแนนใกล้กัน) โดยเป็นข้อมูลที่แสดงแนวโน้มตั้งแต่ช่วง ปี 1966-1995 

ท่น่าสนใจคือ ตอนปี 1966 เปอร์เซ็นต์คนที่เห็นว่าผู้นำกลุ่มแพทย์ ดีมากนั้นมีถึง73% สูงกว่ากลุ่มอีก 2 กลุ่มที่ได้คะแนเพียง 20-40%

แต่หลังจากนั้นคะแนนของกลุ่มแพทย์ก็ตกลงตลอด ในขณะที่อีก2 กลุ่มค่อนข้างคงที่อยู่ที่ราว 20-30%

และเมื่อถึงปี 1966 ปรากฏว่า คะแนนของกลุ่มแพทย์กับกลุ่มอื่นๆก็ลดลงมาอยู่ใกล้กันหมดที่ราว 25%

ก็ไม่รู้ว่าคนอเมริกันไว้ใจคนที่มีอำนาจในสังคมน้อยลงไปมากจนไม่รู้ว่าจะไว้ใจใครได้อีก หรือว่าในสายตาคนอเมริกันแล้วกลุ่มแพทย์แย่ลงไปเรื่อยๆ จริงๆ และน่าจะแย่ลงไปอีกในอนาคต 

คิดถึงเมืองไทยตอนนี้ที่แพทย์ดูจะตกเป็นจำเลยของสังคม ทั้งที่ตัวหมอเองโดยเฉพาะใน รพ รัฐ และใน ตจว นั้นงานหนักมากเพราะระบบบริการแบบใหม่ที่เกิดจากการประกันสุขภาพ

ก็เลยชักเป็นห่วงว่าแล้วความเชื่อถือในวิชาชีพจะเป็นไง

โดยเฉพาะเมื่อเหล่าผู้นำที่อยู่ในองค์กรตัวแทนแพทย์ก็ออกมาแสดงท่าทีที่ขัดกับความรู้สึกชาวบ้านอยู่บ่อยๆ เวลาพูดว่าแพทย์ทำงานหนักเลยไม่ค่อยมีคนอยากฟังทั้งที่มันเป็นเรื่องจริง

ใครมีอะไรจะแนะนำบ้างไหมครับให้ แพทย์ที่ทำงานดีๆเขายังคงมีกำลังใจที่จะทำงานต่อไปได้นานๆ

 

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 15120เขียนเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2006 00:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 พฤษภาคม 2012 11:54 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ในฐานะคนนอก ผมมองว่าเรื่องต่าง ๆ มันมีที่มาของมัน เมื่อเงื่อนไขครบ ก็แสดงว่าสุกงอมได้ที่

ผมไม่ออกความเห็นว่าจะแก้อย่างไร แต่จะขอเล่าตัวอย่างที่ผมเชื่อว่าเป็นต้นตอที่มาที่ประมวลจากการพูดคุยกับชาวบ้านและบุคลากรในวิชาชีพอื่น ซึ่งก็คงเป็นเพียงตัวอย่างเสี้ยวกระจิดริดของปัญหา

1. มีโรงพยาบาลที่ได้ HA แต่ละวันกำหนดรับผู้ป่วยไม่เกินระดับหนึ่ง ผู้ป่วยจะเข้ามาต้องจองคิว คนมาไกลที่เขาเชื่อว่าเขาอาการหนัก มาถึงต้องกลับไปโดยไม่ได้รับการดูแล บางคนตำหนิพยาบาลว่าทำไมใจดำ (ผมได้ยินกับหู) พยาบาลคงเจอแบบนี้บ่อย ก็พยายามชี้แจง แต่ดูหน้าญาติคนไข้ ผมรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับภาพพจน์ของโรงพยาบาลทั้งระบบ

2. เมื่อมีเรื่องมีราว องค์กรวิชาชีพมีท่าทีปกป้องแพทย์อย่างเหนียวแน่นแทบทุกครั้งตั้งแต่ก่อนการสอบสวนยุติ จนคนทั่วไปแยกไม่ออกว่าองค์กรวิชาชีพมีไว้เพื่อพิทักษ์แพทย์หรือพิทักษ์มาตรฐานวิชาชีพ(แทนประชาชน) ตรงนี้ไม่ต้องบอกก็พอจะนึกออกว่าประชาชนจะรู้สึกอย่างไรต่อองค์กรวิชาชีพ ต่อให้แพทย์เป็นฝ่ายถูกในท้ายสุดก็ตาม

3. คนในสังคมเองก็มองว่าถ้าฉันไม่ผิดแล้วเสียหาย ต้องเรียกร้องการทดแทน โดยไม่ได้เอื้อเฟื้อที่จะแยกแยะว่าแล้วคู่กรณีผิดจริงหรือเป็นเรื่องเหตุเหลือวิสัย ดูข่าวแล้วขอพิพากษาเอามันส์ ปัจจุบันนี้คนในสังคมถ้ากินยาแล้วแพ้(ครั้งแรก) ก็เกิดเรื่องได้แล้ว แต่กินอาหารทะเลแล้วแพ้ เขาไม่โทษแม่ค้า ซึ่งเรื่องทำนองนี้เป็นข่าว ไปสมทบกับตัวอย่างที่สอง ก็เหมือนสาดน้ำมันเข้ากองไฟ อะไรจะเหลือครับ ?

4. ท่าทีของแพทย์เองในการทำงานร่วมกับฝ่ายอื่น บางคนก็"ไม่เห็นคนอื่นอยู่ในสายตา" ดังนั้น เวลาเกิดปัญหา แม้บางครั้งเรื่องที่น่าจะจบลงตัวแบบสวย ๆ ได้เพราะมีฝ่ายอื่นช่วยออกหน้าไกล่เกลี่ยให้ ก็จะไม่เกิดตรงนั้น คนที่มนุษยสัมพันธ์ไม่ดี จะไม่รู้หรอกครับว่ากันชนแบบนั้น คุณภาพสุดยอดขนาดไหน

5. โรงพยาบาลหลายแห่ง ไม่ใส่ใจที่จะให้ข้อมูลกับผู้ป่วยให้มากพอ สิทธิผู้ป่วยเป็นเพียงกระดาษเปื้อนหมึก เมื่อเกิดเรื่อง ยิ่งปิดข้อมูล ก็จะยิ่งเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดความหวาดระแวง 

6. สื่อมวลชนเองก็มีความรู้น้อย จริง ๆ ก็ไม่ใช่เรื่องแปลก แต่ที่น่ากลัวคือสื่อมวลชนที่ไม่ทำการบ้าน เรื่องเล็กกลายเป็นเรื่องใหญ่ได้

คุณวิบุล พูดเหมือนที่คุยกันเมื่อวันก่อน แต่มีตัวอย่างชัดเจนกว่า  มีคนเสนอว่าต้องแก้ทั้งสามฝ่าย  คือฝ่ายผู้ให้บริการ (โรงพยาบาล หมอ พยาบาล และแพทยสภา) ฝ่ายประชาชน (ให้มีความเข้าใจมากขึ้นในข้อจำกัดเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล) และฝ่ายสื่อ (ให้เป็นสื่อที่รู้จักเจาะหารายละเอียด ไม่รีบร้อนลงข่าวแบบพิพากษาเสร็จสรรพ)

ความจริงมีกลุ่มที่สี่ คือนักการเมือง ที่คอยแต่จ้องหาเสียงจากเหตุการณ์ความขัดแย้ง แทนที่จะเป็นตัวกลางสร้างความเข้าใจเป็นอย่างนี้มาตั้งแต่เริ่มนโยบายใหม่มา 4-5 ปีนี้

ดูแล้วฝ่ายผู้ให้บริการมีเรื่องให้ทำมากสุดเลยนะครับ ไม่รู้คนอื่นว่าไง 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท