"ไซนั่ง" กับดักมรณะในทะเลสาบสงขลา


กับดักมรณะในทะเลสาบสงขลา
"ไซนั่ง" กับดักมรณะในทะเลสาบสงขลา

 

     ในอดีตทะเลสาบสงขลาเคยได้ชื่อว่า เป็นทะเลสาบที่มีความอุดมสมบูรณ์ไปด้วยสัตว์น้ำนานาชนิดบนเนื้อที่ผิวน้ำประมาณ 1,046 ตร.กม. มีสัตว์น้ำมากถึง 700 ชนิด แต่น่าเสียดายคำว่าอุดมสมบูรณ์มันเป็นเพียงแค่อดีตที่ไม่มีวัน จะกลับมาเหมือนเดิมอีกแล้ว เพียงแต่จะทำอย่างไร ที่จะไม่ให้ทะเลสาบสงขลามีสภาพเลวร้ายไปมากกว่านี้ หรือไม่ก็ให้ทะเลสาบสงขลาพัฒนาให้ดีขึ้นมาในระดับหนึ่งเท่านั้นเอง
     แต่ในปัจจุบันนี้ทะเลสาบสงขลาเริ่มมีความหวังขึ้นมาบ้างโดยเฉพาะนโยบายของรัฐบาลที่มองเห็นถึงความสำคัญในการแก้ไขและฟื้นฟูทะเลสาบสงขลาอย่างจริงจังในหลาย ๆ ด้าน แต่ที่รู้สึกประทับใจและอยากเห็นมานานก็เห็นจะเป็นการแก้ไขปัญหาในเรื่อง การจัดโซนของเครื่องมือประมงเสียใหม่ โดยเฉพาะไซนั่ง ถ้าเรานั่งรถผ่านสะพานติณสูลานนท์จะเห็นได้ว่าจำนวนไซนั่งที่ตั้งเรียงรายอยู่นั้น มันเป็นเสมือนกับดักมรณะที่สัตว์น้ำต้องผวาจริง ๆ เป็นอีกหนึ่งสาเหตุสำคัญที่ทำให้ปริมาณสัตว์น้ำลดลง เพราะสัตว์น้ำไม่สามารถผ่านกับดักเหล่านี้ขึ้นไปวางไข่และเจริญเติบโตได้ในพื้นที่ต่าง ๆ ของทะเลสาบสงขลา แต่ถ้าหากว่ามีการจัดโซนเครื่องมือประมงเสียใหม่ โดยเฉพาะไซนั่ง โดยเว้นช่องทางให้สัตว์น้ำสามารถขึ้นไปวางไข่ตามบริเวณต่าง ๆ ได้ ระบบนิเวศน์ของสัตว์น้ำจะมีความสมดุลย์ และการแพร่กระจายของพันธุ์สัตว์น้ำทั่วทะเลสาบสงขลา จะมีมากยิ่งขึ้น ชาวบ้านที่ประกอบอาชีพการประมงก็จะสามารถจับสัตว์น้ำได้มากทำให้มีรายได้และมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น แต่จากการที่ได้สอบถามข้อมูลจากชาวประมงที่ประกอบอาชีพประมงโดยใช้เครื่องมือประเภทไซนั่ง พบว่าชาวประมงยังประสบปัญหาในเรื่องของต้นทุนการผลิตไม่สมดุลย์กับปริมาณสัตว์น้ำที่จับได้ นายรุ่น จุลนวล ชาวประมง ม.1 ต.คูเต่า อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ได้บอกว่าใช้เครื่องมือประมงประเภทไซนั่งทั้งหมด 18 ลูก สูง 2.5 ม. กว้าง 50 ซ.ม. ตาอวน 1.5 ซ.ม. โครงสร้างของไซใช้งานได้ 2 ปี เนื้ออวนใช้ 1 ปี เปลี่ยน 1 ครั้ง ภายใน 1 ปีจับสัตว์น้ำได้ 10 เดือน สัตว์น้ำที่จับได้กุ้งหัวแข็งเล็กได้วันละ 5-6 ก.ก. กุ้งแข็งใหญ่ 1-2 ก.ก. กุ้งหางแดง 0.5 ก.ก.ปลาได้ปลาตัวเล็ก เช่น ปลาแป้นเล็ก ปลาท่องเที่ยว ปลาขี้จีน ปลาบู่ ปลาตะกลับ ปูดำ ปูม้า บ้างเล็กน้อย ปริมาณสัตว์น้ำที่จับได้บางครั้งจะขึ้นอยู่กับฤดูกาล สำหรับราคาของสัตว์น้ำที่จับได้ กุ้งหัวแข็งเล็ก 40-50 บาท/กก. กุ้งหัวแข็งใหญ่ 100 บาท/กก. กุ้งหางแดง 170-200 บาท/กก. กุ้งหัวมันเล็ก 20 บาท/กก. ปูม้า 20 บาท/กก. ปลาท่องเที่ยว 10 บาท/กก. คิดเฉลี่ยแล้วรายได้ที่จับสัตว์น้ำจากไซนั่งวันละ 300-500 บาท ต้นทุนการผลิตไซนั่ง 1 ลูก เป็นเงิน 2,500 บาท เรือ 1 ลำ 27,000 บาท เครื่องเรือ 24,000 บาท ใช้น้ำมัน 3 ลิตร/1วัน
     จากต้นทุกนการผลิตที่สูง ปริมาณสัตว์น้ำที่จับได้ลดลงอย่างเห็นได้ชัดเจนเมื่อเทียบกับอดีต ที่ผ่านมาซึ่งเป็นปัญหาที่ชาวประมงต้องเจออย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้แม้แต่คุณลุงรุ่น จุลนวล ก็ต้องเจอปัญหานี้เช่นกัน
     ธรรมชาติหรือฟ้าลิขิตให้ทะเลสาบสงขลาเป็นเช่นนี้ ซึ่งหาคำตอบได้ไม่ยาก ขอตอบว่าไม่ใช่ เพราะสิ่งที่ใช่แน่ ๆ มนุษย์นี่แหละครับที่เป็นต้นเหตุสำคัญทำให้ทะเลสาบสงขลาต้องต่างจากอดีตอย่างสิ้นเชิงอยากจะขอให้มนุษย์โดยเฉพาะชาวประมงใช้จิตสำนึกผนึกกับคุณธรรมร่วมกันแก้ปัญหาทะเลสาบสงขลา ถึงแม้ว่าไม่สามารถแก้ไขให้เป็นเหมือนในอดีตได้ก็ขอให้ทะเลสาบสงขลาดีขึ้นมาบ้างไม่ต้องคอยรัฐบาลไม่ต้องคอยอนาคตหรอกครับ เราต้องแก้ไขปัญหาด้วยตัวของเราก่อน ปัญหาเรื่องเครื่องมือประมงนี่แหละครับ ผมมองว่าแก้ไขได้ไม่ยากและอาจจะง่ายที่สุดเสียด้วยซ้ำ อย่าให้เครื่องมือประมงที่ผิดกฎหมาย อย่าวางเครื่องมือประมงกีดขวางทางเดินของสัตว์น้ำ โดยเฉพาะไซนั่ง ที่กล่าวมาแล้วข้างต้น หรืออาจจะเป็นเครื่องมือชนิดอื่น เช่น โพงพาง เหล่านี้เป็นต้น เปิดโอกาสให้สัตว์น้ำได้ใช้วงจรชีวิตในทะเลสาบสงขลาให้สมบูรณ์ตามขั้นตอนของธรรมชาติ แล้วธรรมชาติจะกลับคืนสิ่งที่ดี ๆ ให้กับเรา ถึงแม้ว่าจะได้ไม่เท่ากับสิ่งที่สูญเสียไปก็ตาม

                                                                                                                                         ที่มา : www.nicaonline.com

 

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 15119เขียนเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2006 00:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 พฤษภาคม 2012 05:01 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท