คำถามถึงว่าที่นายกเทศมนตรีเมืองชุมพร (1)


“การเลือกตั้งนายกเทศมนตรีเมืองชุมพรครั้งนี้ เราต้องการพญาอินทรีที่บินสูง มองไกล มีวิสัยทัศน์ มาพัฒนาบ้านเมือง เราไม่ต้องการอีแร้งที่บินต่ำ ย่ำรอยคอยกินแต่ซากกากเดน”

ผมเขียนต้นฉบับนี้เพื่อลงหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นในจังหวัดชุมพร “ไทยนิวส์” ก่อนวันที่จะมีการรับสมัครนายกเทศมนตรีเมืองชุมพร คือระหว่างวันที่ 4 – 8 กุมภาพันธ์ 2556 และกำหนดให้มีการเลือกตั้งในวันอาทิตย์ที่ 17 มีนาคม 2556 จึงยังไม่ทราบว่าจะมีใครบ้างเข้ามาเสนอตัวเป็นตัวเลือกในการเลือกตั้งครั้งนี้ เรื่องที่จะถามจะฝากให้ขบคิดพิจารณาจึงเป็นเรื่องกว้างๆ ใครจะเอาไปคิดไปตอบก็แล้วแต่ท่านจะให้ความสำคัญ

คำถามที่ 1 ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เทศบาลเมืองชุมพรจะมุ่งเน้นไปที่ภารกิจการสร้างเยาวชนคนรุ่นใหม่ใส่ใจการเรียนรู้ “ทักษะชีวิต” ให้กับเด็กและเยาวชน ?

ทุกวันนี้กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่พุ่งเข้ามาจับจ่ายใช้สอยในเมืองชุมพรที่มากที่สุด ไม่ใช่มาจากนักท่องเที่ยวที่มีอยู่น้อยนิด ไม่ใช่ทั้งการเข้ามาซื้อสินค้าของคนชนบทเหมือนในอดีตซึ่งวันนี้เปลี่ยนไปเดินเข้าห้างค้าปลีกยักษ์ใหญ่กันเกือบหมด แต่มาจากเด็กๆ ที่แห่กันเข้ามาเรียนหนังสือในตัวเมือง มีข้อมูลเชิงประจักษ์มากมายชี้ชัดในเรื่องนี้ เฉพาะโรงเรียนศรียาภัยจำนวนนักเรียนสามพันกว่าคนบวกกับโรงเรียนสอาดฯ อีกสองพันกว่าคนก็ปาเข้าไปหกพันคนแล้ว เมื่อรวมกับโรงเรียนในเขตเมืองอีกหลายแห่งจำนวนนักเรียนก็พุ่งขึ้นไปสูงกว่าหนึ่งหมื่นคนต่อวันแน่นอน ดังนั้น ปริมาณรถโดยสารรับส่งนักเรียนกว่า 500 คัน บวกกับรถยนต์ของผู้ปกครองที่ขับเข้าเมืองมาส่งด้วยตัวเอง และรถมอเตอร์ไซค์ที่นักเรียนขับมาเองจึงสร้างความแออัดคับคั่งในช่วงเช้า รถที่นำส่งคนป่วยมาโรงพยาบาลชุมพรเฉพาะคนไข้นอกกว่า 1,500 คนต่อวัน ยังไม่นับรวมญาติๆ ที่มาเฝ้าดูแลผู้ป่วยใน จึงประสบปัญหาการจราจรติดขัดในชั่วโมงเร่งด่วน จะบอกว่าเทศบาลเมืองชุมพรไม่รู้ไม่เห็นก็เกินไป แต่ท่านทำอะไรบ้าง ?

เด็กๆ ที่วิ่งเข้ามาเรียนหนังสือในตัวเมืองโดยเฉพาะที่อาศัยอยู่ในหอพักรูปแบบต่างๆ เมื่อว่างเว้นจากการไปโรงเรียน ไปกวดวิชา ก็ต้องหากิจกรรมสนุกๆ รวมกลุ่มกันทำตามประสาเด็ก ไปร้านเกมส์ออนไลน์ ไปเดินห้าง ไปทำงานกลุ่มที่บ้านเพื่อน ฯลฯ กิจกรรมเหล่านี้มองดูแล้วก็น่าเป็นห่วงว่าจะเกิดการชักนำไปสู่การมั่วสุมในทางเสื่อม ท่านผู้บริหารเมืองชุมพรมองเห็นแล้วท่านคิดอย่างไร อย่าพูดเหมือนกับที่เคยอ้างกันบ่อยๆ ว่า เด็กในวัยเรียนเป็นหน้าที่ของผู้ปกครองและโรงเรียนที่ต้องดูแล เด็กติดเกมส์ก็เป็นหน้าที่ของกระทรวงวัฒนธรรมและตำรวจเพราะเขามีอำนาจตรวจจับร้านเกมส์ แล้วเทศบาลฯ ทำอะไรในฐานะที่เป็นเจ้าของพื้นที่อาสาตัวเข้ามาบำบัดทุกข์ บำรุงสุขให้กับพี่น้องประชาชน

ถ้าจะยกการจัดงานอีเว้นท์ต่าง ๆ for show มั่วนิ่ม กินฟรี มาตอบคำถามเหล่านี้ ก็จะขอร้องต่อไปว่า เลิกพิธีการเชยๆ จุดพลุเสียงดังขึ้นฟ้าเสียทีได้ไหมไม่เห็นจะเป็นประโยชน์อะไร คนอยู่ใกล้ในพิธีแหงนหน้าดูพลุเพียง 2-3 นาทีก็หายตื่นเต้น เดินหลบกลิ่นควันพลุกันอุตลุด ชาวบ้านที่อยู่ไกลออกไปมีปฏิกิริยาที่เห็นกันชัดๆ คือออกมาไล่หมา ไล่แมวที่เห่าหอนครวญครางเพราะตกใจกับเสียงดัง เอาเงินพันเงินหมื่นที่ซื้อพลุดอกไม้ไฟมาจุดไปจ้างเด็กนักเรียนมาเล่นดนตรีแตรวงยังจะเป็นการส่งเสริมกิจกรรมของเด็กๆ เสียยังดีกว่า หรือท่านมีวัตถุประสงค์อื่นแอบแฝงก็ว่ามา

เด็กเหล่านี้ขาดการเรียนรู้ ทักษะชีวิต ซึ่งหาแทบไม่ได้เลยในโรงเรียน เขาไม่รู้จักการทำนา ไม่รู้จักปลูกต้นไม้ ไม่ได้รับการปลูกฝังให้พึ่งตนเองในการทำอยู่ทำกิน คำว่า “อยากกินเห็ดเข้าป่า อยากกินปลาลงหนอง” ห่างไกลเกินไปในชีวิตเขา สำหรับเขาแล้วทำเป็นก็แต่เพียง “หิวเมื่อไหร่ก็แวะมา...” ใช้เงินเป็นปัจจัยหลักเพื่อตอบสนองความต้องการ ถูกปลูกฝังให้เติบโตขึ้นมาเพื่อมุ่งหน้าหาเงิน ชีวิตเหมือนถูกส่งขึ้นสู่สายพานการผลิตตั้งแต่ยังเด็ก รู้ตัวอีกทีก็ถูกอุ้มไปปล่อยให้กลายเป็น “สุนัขหลงอยู่บนทางด่วน” แล้วจะให้เขาเดินไปทางไหน

เรื่องพวกนี้ท่านอาจจะยังคิดไม่ออก แต่มีเทศบาลบางแห่งเขาคิดได้ ทำเป็น เห็นผล ไปดูงานกับเด็กๆ ให้ตาสว่างกลับมาแล้วเปิดใจกว้างรับฟังสิ่งที่เขาพูด เชื่อเถอะว่าแนวทางดีๆ จะค่อยๆ แหลมออกมาให้เราได้คิด ได้ทำต่อยอดขยายผลกันต่อไป

ขอปิดท้ายบทความนี้จากคำพูดของประชาชนท่านหนึ่งในเขตเทศบาลเมืองชุมพรว่า การเลือกตั้งนายกเทศมนตรีเมืองชุมพรครั้งนี้ เราต้องการพญาอินทรีที่บินสูง มองไกล มีวิสัยทัศน์ มาพัฒนาบ้านเมือง เราไม่ต้องการอีแร้งที่บินต่ำ ย่ำรอยคอยกินแต่ซากกากเดน”

หมายเลขบันทึก: 517857เขียนเมื่อ 30 มกราคม 2013 09:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 มกราคม 2013 09:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

มุ่งเน้นไปที่ภารกิจ .... การสร้างเยาวชนคนรุ่นใหม่ใส่ใจการเรียนรู้ .... “ทักษะชีวิต” ให้กับเด็กและเยาวชน..... ..... ทำได้...เป็นรูปธรรม ===> เยี่ยมมากค่ะ  ...


 ขอบคุณ บทความดีดีนี้ค่ะ 

เห็นด้วยอย่างยิ่งครับ ผมไม่ได้กลับบ้านบ่อยนักแต่ก็อยากเห็นชุมพรเป็นเมืองที่น่าอยู่ครับ

พูดถึงเรื่องการเกษตร ที่จริงแล้วชุมพรมีโอกาสมหาศาลจากภูมิประเทศที่เรียกได้ว่าสมบูรณ์ที่สุดในโลก (ปกติ tropical rain forests ใน Southeast Asia ก็เป็น tropical rain forests ที่สมบูรณ์ที่สุดในโลกอยู่แล้ว แต่ภูมิประเทศของชุมพร/ระนองก็ยิ่งทำให้สมบูรณ์มากขึ้นอีก) แต่ถ้าเยาวชนในพื้นที่นี้รู้จักแค่ "หิวเมื่อไหร่ก็แวะมา" นี่จะน่าเสียดายมากทีเดียวครับ

ถูกต้องครับ 

สวัสดีครับ  กระผมในนามที่ปรึกษาสภาเด็กและเยาวชน เทศบาลเมืองชุมพร ขอเรียนให้ทุกท่านทราบว่า เทศบาลเมืองชุมพรให้ความสำคัญกิจกรรมของเด็กและเยาวชนมาตลอด อาทิเช่น การกีฬา วัฒนธรรม สังคม ภาวะผู้นำ กิจกรรมมีทุกปี  และที่น่าชื่นชมมากที่สุดคือกิจกรรมทำความดีถวายพ่อ หารายได้ช่วยเหลือเด็กด้อยโอกาส บนลานคนเดิน เทศบาลเมืองชุมพร ทุกวันศุกร์และเสาร์  เวลา๑๗.๐๐ น.เป็นต้นไป ซึ่งเป็นความคิดของน้อง ๆ ภายใต้การนำของน้องคิช ชั้น ม.๖/๗ ร.ร.สอาดเผดิมวิทยา (ประธานสภาเด็ก เทศบาลเมืองชุมพร )กิจกรรมดังกล่าว เป็นกิจกรรมที่เด็ก ๆลงทุนนำสินค้าจากศูนย์OTOPและสินค้าทางการเกษตรจากบ้าน มาขาย ซึ่งได้ความเมตตาจากผู้ใหญใจดี(คุณยุพิน ประธานOTOP เทศบาลเมือง และประธานกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ให้ทุนสนับสนุน กำไรส่วนหนึ่งเด็ก ๆนำไปเปิดบัญชีกองทุนช่วยเหลือเด็กด้อยโอกาส ส่วนเงินที่ได้จากการบริจาคจะเข้าบัญชีทั้งหมดโดยไม่แบ่งเป็นค่าอาหารของเด็ก ๆ ที่ทำกิจกรรม ซึ่งมีหัวหน้าอนุวัฒน์ (คุณเล็ก)เจ้าของร้านกาแฟRelax เป็นผู้ดูแลเด็ก ๆอย่างดี  โอกาสนี้ขอขอบคุณพี่น้องชาวชุมพรทุกท่านที่สนับสนุนกิจกรรมของลูกหลานชุมพร และขอความอนุเคราะห์สื่อมวลชนทุกแขนง ประชาสัมพันธ์โครงการให้สภาเด็กด้วยครับ

  • ขอบคุณมากครับที่เข้ามาชี้แจง แสดงความคิดเห็น
  • ทำกิจกรรมดี ๆ มากมายขนาดนี้แล้ว ถ้าได้ AAR (After Action Review) : ทบทวนหลังเสร็จสิ้นปฎิบัติการ โดยผู้เข้าร่วมทั้งเด็กและผู้ใหญ่กันบ่อย ๆ จะทำให้ประสบการณ์ที่ทุกฝ่ายได้รับกลายเป็น สินทรัพย์ความรู้ ที่มีคุณค่า นำไปต่อยอดขยายผลได้อีกมากมายหลายเรื่อง
  • ไม่อยากให้เป็นเพียง events for show เท่านั้นครับ

ผมอยู่ในเขตเทศบาลเมืองชุมพรมา 22 ปี  ผมได้เห็นความเปลี่ยนแปลงมาเยอะ ทั้งด้านดี และด้านไม่ดี ส่วนมากความเปลี่ยนแปลงของเทศบาลเมืองชุมพร จะเป็นการเจริญทางด้านวัตถุ แต่เป็นการเจริญที่ไม่ค่อยบรรลุวัตถุประสงค์ซักเท่าไหร่ ผมได้เห็นการขุดท่อ ขุดถนน ที่ไม่รู้จักจบสิ้น ขุดทั้งปีทั้งชาติ  ปัญหาน้ำประปาที่ไหลเบามากตลอดเกือบ20 ปี  ปัญหาไม่มีที่จอดรถ  รถติด และปัญหาที่ผมไม่ชอบที่สุดคือ การตัดต้นไม้ใหญ่ในเมืองออก เพื่อปรับปรุงภูมิทัศน์  แล้วเอาต้นไม้อื่นมาปลูกแทน   ผมเรียนโรงเรียนอนุบาลชุมพร ผมกลับบ้านผมยังจำได้ดีว่า ตั้งแต่หัวมุมถนนสหกรณ์ ผ่านศาลหลักเมือง ถึง สหกรณ์ออมทรัพย์ครูหลังเก่า มีต้นไม้ใหญ่หลายต้นมาก หน้าศาลหลักเมืองมีต้นหูกวางร่มมากๆ  แต่ดูทุกวันนี้สิครับ ร้อนขนาดไหน อ๋อ เกือบลืมไป ยังเหลือต้นนึง ต้นอินทนินต้นสุดท้ายที่รอดพ้นคมเลื่อยของเทศบาลในยุคนั้น ตรงหน้าบ้านพักราชการ ติดกับรั้วโรงเรียนอนุบาลชุมพร  ผมว่าชุมพร พื้นที่ปลูกต้นไม้เยอะนะ แต่ไม่เข้าใจทำไมจึงไม่มีต้นไม้ใหญ่หลงเหลือในเมืองบ้าง มลพิษจากรถยนต์ ก็เยอะขึ้นทุกวัน แล้วรั้วที่ทำกันขโมยตรงศาลหลักเมือง ผมว่าเปลี่ยนเถอะครับ ไม่ได้ช่วยกันขโมยแถมยังดูรกตาด้วยครับอีกอย่างนึงตรงแยกหอนาฬิกา ผมว่าเป็นจุดเด่นเป็นทางเข้าเมืองนะครับ ผมย้ายมาอยู่ชุมชนหอนาฬิกา 15 ปี เมื่อก่อนเกาะกลางมีต้นเฟื่องฟ้าเป็นพุ่มๆดอกดก สลับกับพลับพลึงสีเหลือสวยมากๆ ตอนนี้เหลือเดฟื่องผ้าร้อดอยู่ต้นเดียว มีต้นลำใยขึ้นอยู่ต้นนึง ในหน้าร้อนบ้านผมต้องแบกน้ำจากบ้านไปรดน้ำ เพราะกลัวว่าต้นไม้จะตาย จะรอรถจากเทศบาลก้คงไม่ไหว ทางเข้าเมืองมีแต่ต้นไม้เหี่ยวๆ ผมว่ามันก็เหมือนฮวงจุ้ยไม่ดีตั้งแต่ทางเข้าเมืองแล้วครับ

ขอบคุณดีเจโน๊ตมากๆ ครับ
ผมจะหาทางนำความเห็นนี้ส่งถึงผู้บริหารชุดใหม่ให้ได้รับทราบครับ

ขอบคุณมากครับ ตอนนี้หอนาฬิกาทาสีใหม่สวยเลย  ตอนนี้มีปัญหาคือรถขยะไปเก็บขยะถนนกรมหลวงในเวลา 19.00 - 20.00 ซึ่งเป็นเวลาที่คนกำลังพลุกพล่าน น้ำขยะหกเต็มถนนเหม็นมากๆครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท