ทักษะของครูในศตวรรษที่ 21


หลังจากเพิ่งเรียนจบปริญญาเอกที่อเมริกา และได้มีโอกาสฝึกงานกับบริษัทใหญ่ของอเมริกาทุกซัมเมอร์ 3 ซัมเมอร์ช่วงที่เรียนปริญญาเอก อาจารย์ที่ปรึกษาถามว่า เธอสนใจทำงานบริษัทใหญ่นั้นไหมหลังจากจบแล้ว  ผู้ดูแลการฝึกงานก็อยากให้ทำงานที่นั้น แต่ก็ตอบไปว่า ติดทุนและจะกลับมาเป็นครูที่เมืองไทย  บางคนอาจจะเลือกทางเดินอื่น คือคิดหาเงินใช้ทุนและทำงานที่นั้น แต่เราอยากจะทำให้ชีวิตของเราทำให้ชีวิตของคนอื่นดีขึ้น  (make a difference in someone's life)  

เมื่อกลับมาเป็นครู  พบว่าการเป็นครูที่ดีไม่ใช่เรื่องง่าย ไม่ใช่เพียงแค่มีความรู้ ก็เป็นครูที่ดีได้  แต่ต้องรู้จักวิธีถ่ายทอด ไม่พูดเร็วเกินไป  พยายามเข้าใจนักศึกษาที่เราสอนว่าเค้ามีความรู้และทักษะพื้นฐานอย่างไร  ควรจะสอนอย่างไร เค้าจึงจะเข้าใจ  พยายามอดทนกับการตรวจงาน ตรวจข้อสอบ และให้คำแนะนำกับนักศึกษานับร้อยคน  พยายามเข้าใจและให้อภัยนักศึกษาเมื่อเค้าอาจจะไม่ตั้งใจเรียนหรือบ่นว่างานเยอะ  พยายามอธิบายให้นักศึกษาเข้าใจว่าการให้นักศึกษาทำแล็ปและทำโปรเจกต์จะช่วยพัฒนาทักษะในการเรียนรู้ด้วยตนเองและการแก้ปัญหาด้วยตนเองของนักศึกษา พยายามตอบคำถามทุกคำถามที่เขาสงสัยหรือไม่เข้าใจ นอกจากจะใช้สไลด์ แบบฝึกหัด โจทย์ และข้อสอบเป็นภาษาอังกฤษแล้ว  พยายามพูดภาษาอังกฤษและถามเป็นภาษาอังกฤษในห้องเรียนเพื่อช่วยฝึกนักศึกษาในการพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษ


ในการเป็นครูไอที ก็พยายามขยันอัปเดตกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา แบบฝึกหัดแล็ปหรือโจทย์ที่เคยให้นักศึกษาปีที่แล้ว อาจจะใช้ไม่ได้แล้วหรือไม่เหมาะสมแล้วกับปีนี้  ก่อนที่จะให้นักศึกษาทำอะไร ครูก็ต้องทำให้ดูเป็นตัวอย่างก่อน และแนะนำวิธีการทำ แต่ไม่ต้องบอกหมด เพื่อให้นักศึกษาฝึกคิดและฝึกแก้ปัญหาเองด้วย  พยายามเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่โดยใช้เวลาน้อยที่สุดเพราะมีงานอย่างอื่นเยอะมากโดยเฉพาะเมื่อเป็นทั้งผู้บริหารและผู้จัดการดูแลการพัฒนาซอฟต์แวร์หลายตัวที่มีการประชุมทุกวันและเป็นแม่ที่ลูกให้อ่านหนังสือให้ฟังทุกวัน  

ในศตวรรษที่ 21 ที่มีการแข่งขันเชิงความรู้และความคิดกันสูง  การเป็นครูที่ดีในศตวรรษที่ 21 น่าจะยากไม่แพ้อาชีพใดๆ  เพราะจะต้องตอบโจทย์ว่าจะทำอย่างไรให้นักศึกษามีทักษะการคิดอย่างสร้างสรรค์ ทักษะการสื่อสาร และทักษะการทำงานร่วมกับผู้อื่น  ในขณะที่นักศึกษาอ่านน้อยลง คิดน้อยลง ทำอะไรเองน้อยลง  เพราะมีอุปกรณ์โมบายที่เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตที่ทำให้นักศึกษาเพลินเพลิดกับเพลง วิดีโอ หรือโซเชียลมีเดีย  การสอนในห้องจึงปรับเปลี่ยนในลักษณะเป็นการสอนไป ถามไป เพื่อให้นักศึกษาฝึกคิด  การสื่อสารก็จึงใช้เฟซบุ๊กที่นักศึกษาจำนวนมากชอบใช้เพื่อเล่นเกม  แต่เราก็อยากให้นักศึกษาใช้เฟซบุ๊กเพื่อการเรียนรู้ด้วย  ทุกวิชาที่สอนจะมีกลุ่มเฟซบุ๊กเพื่อใช้ในการสื่อสารกับนักศึกษา อยากจะฝึกให้นักศึกษาทำงานร่วมกับผู้อื่น จึงให้โปรเจกต์ที่จะต้องทำเป็นกลุ่ม  ซึ่งต้องมีการแบ่งงานกันและการสื่อสารกัน  นอกจากนี้ส่งเสริมให้นักศึกษาช่วยเหลือกันในการเรียนรู้ร่วมกัน มีการให้นักศึกษาโหวต student of the month เพื่อยกย่อง ชมเชย และขอบคุณ นักศึกษาที่เก่งและช่วยเหลือตอบคำถามเพื่อนในการทำแล็ป


รู้สึกภูมิใจเสมอเมื่อลูกศิษย์บอกว่า เค้าได้ความรู้และทำอะไรเป็นหลังจากเค้าเรียนวิชากับเรา  รู้สึกดีใจเสมอเมื่อลูกศิษย์บอกว่า เค้าจะนำความรู้เพื่อทำประโยชน์ให้กับผู้อื่นและประเทศชาติ  หรือเค้าอยากจะทำให้เราภูมิใจในตัวเค้า   นับตั้งแต่วันที่บอกอาจารย์ที่ปรึกษาไปว่าติดทุนและจะกลับมาเป็นครูจนถึงวันนี้ ไม่เคยคิดเสียใจที่พูดเช่นนั้น และรู้สึกภูมิใจและดีใจที่ได้เป็นครู มีความสุขที่ได้เป็นครู 



หมายเลขบันทึก: 517836เขียนเมื่อ 30 มกราคม 2013 05:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 มกราคม 2013 06:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

อ่านแล้วมีความสุขค่ะอาจารย์ และดีใจที่ อ. กลับมาช่วยพัฒนาประเทศชาติต่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท