ประกาย~natachoei ที่~natadee
นาง ประกาย ประกาย~natachoei ที่~natadee พิทักษ์

การเขียนรายงานสอบสวนโรคให้มีคุณภาพและทรงคุณค่าอย่างไร


           จากบันทึกครั้งหนึ่งชีวิต ทางสำนักระบาดเชิญให้เป็นวิทยากรเล่าเรื่องราวประสบการณ์การเขียนรายงานสอบสวนโรคให้มีคุณภาพและทรงคุณค่า ร่วมกับวิทยากรอีก 2ท่านที่ได้รับรางวัลเช่นกัน โดยมีคุณหมอพจมาน     เป็นผู้ดำเนินการอภิปราย  เล่าเรื่องราวได้อย่างสนุกสนาน ไม่เบื่อ พร้อมกับนำเสนอวิธีการ ยกตัวอย่างจากประสบการณ์จริงไปด้วย และนำเสนอต่อยอดให้ รองผอ. รศ.พญ.เนสินี ไชยเอีย  หัวหน้าทีมได้อภิปรายเพิ่มเติม  เป็นการชูประเด็น ยกย่อง ให้เกียรติผู้บังคับบัญชาด้วยที่ให้การสนับสนุน ให้ทำงานด้านนี้และส่งเสริมให้เข้าอบรมในหลักสูตร FEMT ร่วมกับท่าน จนได้มีผลงานเชิงประจักษ์ ได้รับรางวัลการเขียนรายงานสอบสวนโรคที่ทรงคุณค่า ในระดับประเทศของเครือข่ายระบาดวิทยาและ SRR  ประจำปี 2555 

            เรื่องราวที่เล่าได้เตรียมเนื้อหาไว้ ตามที่ประเด็นของผู้จัดงานอยากให้แบ่งปันประสบการณ์  ส่วนรายละเอียดเพิ่มเติมของผลงาน จะนำมาเล่าต่อในตอนที่ 2 คะ

เล่าเรื่องการพัฒนาประสบการณ์การเขียนรายงานสอบสวนโรคที่มีคุณภาพ/ทรงคุณค่า

            ประวัติของวิทยากร   ผู้ดำเนินการอภิปรายบอกว่า ให้วิทยากรแนะนำ เ่ล่าเองว่า เส้นทางชีวิต มาทำงานด้านระบาดวิทยาได้อย่างไร

            ก่อนอื่นขอเล่าเรื่องราวที่นำเข้ามาสู่เส้นทางของการทำงานด้านการทำงานเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคติดต่อเป็นเครือข่าย SRRT ในฐานะและตัวแทนของCUP โรงพยาบาลศรีนครินทร์กว่าจะได้มีโอกาสมาแบ่งปันประสบการณ์การพัฒนาการเขียนรายงานสอบสวนโรค  คือเมื่อปี 2551 มีโอกาสเข้าร่วมประชุมเชิงเครือข่ายระบาดวิทยาที่จังหวัดอุดรธานี  และปีต่อมาเข้าร่วมประชุมที่เชียงใหม่  มีแรงบันดาลใจมีความฝันอยากจะได้มีโอกาสเดินขึ้นเวทีเพื่อรับรางวัลที่มีเกียรติและภาคภูมิใจสักครั้งหนึ่งในชีวิต

             เส้นทางชีวิตเริ่มจากการทำงานเป็นผู้ช่วยพยาบาลในปี 2522  ที่หอผู้ป่วยอายุรกรรม 2 ปีหลังจากนั้นมาเป็นครูผู้ช่วยสอนนักเรียนผู้ช่วยพยาบาลของโรงเรียนผู้ช่วยพยาบาลโรงพยาบาลศรีนครินทร์ 4 ปี  และสอบเรียนต่อเป็นพยาบาล  ปี พ.ศ.2528  กว่าจะเรียนจบก็ใช้เวลา 4 ปี  4 summer และอีก 2 เดือนเมื่อเรียนจบได้กลับมารับราชการเป็นพยาบาลประจำการหอผู้ป่วยหลังคลอดและทารกแรกเกิดอยู่ 15 ปี    อายุเริ่มมากแล้วมีครอบครัวที่จะต้องดูแลไม่อยากขึ้นเวรบ่ายดึกแล้วจึงได้ขอเปลี่ยนเส้นทางชีวิตมาเป็นพยาบาลควบคุมการติดเชื้อ (ICN)  ที่หน่วยควบคุม      โรคติดเชื้อ  งานเวชกรรมสังคม   ในปี 2547 รับผิดชอบงานด้านการเฝ้าระวังป้องกันควบคุมการติดเชื้อในหอผู้ป่วยและในปี 2549 ได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบงานทางด้านระบาดวิทยาโรคติดต่อเพิ่มเติม   โดยงานเดิมที่รับผิดชอบอยู่ไม่ได้ลดลงกลับเพิ่มมากขึ้นเพราะ  ขอรับผิดชอบหอผู้ป่วยอายุรกรรมศัลยกรรม  กุมารเวชกรรมสูติ –นรีเวช  ENT ทั้งหมดในโรงพยาบาลเพื่อที่จะได้ฝึกประสบการณ์การทำงานให้เก่งและมีความชำนาญมากขึ้นการเป็น ICN เป็นงานที่ท้าทายอย่างมากเพราะว่า 

             1)ไม่เคยผ่านการอบรมด้านนี้มาโดยเฉพาะ 

             2) พื้นฐานการทำงานไม่ได้มีประสบการณ์ในการดูแลและให้การพยาบาลผู้ป่วยระยะวิกฤติผู้ป่วยทางด้านอายุรศาสตร์หรือศัลยศาสตร์มาก่อน 

             3) พื้นฐานทางด้านการใช้สถิติการวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆยังอ่อนมากๆ 

                  

การพัฒนาตนเองทำอย่างไรบ้าง  มีมูลเหตุแรงจูงใจอย่างไร

             จากแรงบันดาลใจที่ถูกกดดันหลายครั้งว่าจะไม่สามารถทำงานนี้ได้ดี  ผลประเมินการทำงานไม่น่าจะผ่าน การเขียนหนังสือ  การสรุปรายงานต่างๆทำได้ไม่ดี  ถูกแก้แล้วแก้อีกจึงได้ตั้งเป้าหมายและตั้งใจที่จะพัฒนาตนเองให้เป็นที่ยอมรับจากผู้ร่วมงานจากผู้บังคับบัญชาและจากเจ้าหน้าที่ในหอผู้ป่วยพร้อมๆ กับการเตรียมตัวที่จะเขียนผลงานวิชาการเพื่อเข้าสู่ตำแหน่งพยาบาลชำนาญการพิเศษ   โดยเริ่มต้นจาก

             1) จากการเรียนรู้ด้วยตนเอง  อ่านอ่าน หนังสือที่เกี่ยวข้องดาวน์โหลดข้อมูลแนวทางการปฏิบัติจากเว็ปไซด์ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเช่นของCDC  และ WHO 

            2) จากการสอนงานระบบเทรนนิ่ง  ของหัวหน้าหน่วยควบคุมการติดเชื้อ  จากน้องพยาบาล ICN  ที่ทำงาน   มาก่อน  การสอนงานจากหัวหน้างานเวชกรรมสังคม  ที่ท่านจะให้คำแนะนำว่าจะต้องอ่านและศึกษาเรียนรู้เพิ่มเติมอ่านหนังสือให้มาก  ลงมือทำให้เห็นและเมื่อมีปัญหาไม่เข้าใจทำไม่ได้ให้ถามผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญ  ในข้อนี้เป็นความโชคดีที่มีอาจารย์แพทย์สาขา  โรคติดเชื้อประธานคณะกรรมการอำนวยการป้องกันควบคุมการติดเชื้อในโรงพยาบาลรองศาสตราจารย์บุญส่ง  พัจจนสุนทร  ให้คำแนะนำ

             3)  ลงมือปฏิบัติจริง  จับคู่ทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจะทำให้งานที่เราทำได้รับคำแนะนำตรวจสอบแก้ไขและเป็นที่ยอมรับในเชิงนโยบาย  งานเชิงพัฒนาที่ได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบงานด้านการป้องกันควบคุมการแพร่เชื้อวัณโรคในโรงพยาบาลพัฒนาระบบการดูแลผู้ป่วยวัณโรค  ทำเป็นคู่มือและแนวทางปฏิบัติ  ผลงานวิชาการเป็นผลงานรางวัลแรกที่ได้รับจากการนำเสนอผลงานวิชาการของสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่6 ขอนแก่น

             4) จากการเข้ารับการอบรมพัฒนาบุคลากรของหน่วยงานของกระทรวงสาธารณสุข  ด้านการเฝ้าระวังป้องกันควบคุมการติดเชื้อในโรงพยาบาล  ระบาดวิทยาขั้นพื้นฐานโรคติดต่อโรคอุบัติใหม่/อุบัติซ้ำ  เข้าร่วมประชุมวิชาการที่เกี่ยวข้อง  อย่าปฏิเสธการเสนอชื่อให้ไปอบรมจากหน่วยงาน

             5) จากการศึกษาดูงานจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ศูนย์ระบาดอำเภอเมืองโรงพยาบาลขอนแก่นและทีมระบาดวิทยาของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดขอนแก่น 

เมื่อมาทำงานระบาดวิทยารู้สึกอย่างไรกับการเขียนรายงานสอบสวนโรค   

               จากที่ทำงานเป็นพยาบาลควบคุมการติดเชื้อในโรงพยาบาลและได้รับมอบหมายให้ทำงานด้านการเฝ้าระวังโรคติดต่อ    เป็น SRRT ในระดับจังหวัดและโรงพยาบาลทำให้การทำงานงานด้านนี้ไปได้ดีและเข้าใจง่ายพร้อมกับการลงมือปฏิบัติควบคุมโรคไปพร้อมกัน

                 รายงานสอบสวนโรคที่ได้เขียนฉบับแรกในปี 2548 คือรายงานสอบสวนผู้ป่วยสงสัยไข้หวัดนกเฉพาะราย  ที่มีแบบฟอร์มให้กรอกข้อมูลทำไม่ยากแต่เมื่อนำมาเขียนเป็นความเรียงเชิงพรรณนารายงานฉบับสมบูรณ์  ก็จะมีรูปแบบที่เป็นมาตรฐาน  ความรู้สึกที่เกิดขึ้นยากไหมจะทำได้ไหมความรู้ที่มีอยู่เพียงพอหรือไม่  

                 การเขียนรายงานสอบสวนโรคเหมือนกับการทำ case conference ของพยาบาลแต่มีรูปแบบเฉพาะตามที่กำหนด  และดูตัวอย่างจากการเขียนรายงานของคนอื่นๆ  รายงานฉบับนี้เป็นฉบับฝึกเขียน  และได้นำไปปรึกษากับอาจารย์เมื่อได้เข้าอบรม  การพัฒนาบุคลากรฝึกเขียนและคิดว่าถ้าได้รับการอบรมมีผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบให้ก็จะทำให้รายงานสอบสวนโรคน่าอ่านและสมบรูณ์ทางด้านวิชาการอาจารย์เกรียงศักดิ์  เวทีพุฒทราจารย์  บอกว่าคุณประกายลองเขียนมาดูก่อนแล้วอาจารย์จะอ่านและให้คำแนะนำแก้ไขให้  พร้อมกับส่งเข้าประกวด โดยมีผู้ร่วมทีมเป็นผู้นำเสนอ เพราะว่าเวลาทีี่นำเสนอ 2 เรื่องตรงกัน 

                เมื่อเข้ารับการอบรมระบาดวิทยาขั้นพื้นฐาน   อบรมระบาดวิทยาประยุกต์และโรคติดต่อ 2 สัปดาห์ที่            คณะสาธารณสุขศาสตร์  ได้ฝึกการเขียนรายงานสอบสวนโรคฝึกการทำงานร่วมกับทีมครั้งแรกที่เข้าอบรมจะทำงานเป็นกลุ่มร่วมกับนักวิชาการสาธารณสุขจากจังหวัดต่างๆที่มาอบรมด้วยกันมีแต่คนเก่งๆความรู้สึกที่ฝึกเขียนทำไมยากจังไม่เข้าใจการใช้สถิติการศึกษาระบาดวิทยาเชิงวิเคราะห์  แล้วเราจะทำได้ไหม  ใครจะช่วยมีคำถามเกิดขึ้นในใจตลอด  เมื่อมีการระบาดของโรคติดต่อเกิดขึ้นในพื้นที่จะทำอย่างไรจะออกแบบการเก็บข้อมูลอย่างไรจึงจะได้ข้อมูลครบถ้วนตามแนวทางการเขียนรายงานสอบสวนโรค คำถามในใจ ต้องมีคำตอบเสมอ 

                สมัครเข้ารับการอบรมหลักสูตรฟื้นฟูระบาดวิทยา และระบาดวิทยาประยุกต์  หลักสูตรการเขียนรายงานสอบสวนโรค  ซึ่งจัดโดยสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 6  จังหวัดขอนแก่น ในปี 2553  โดยที่จะต้องมีรายงานสอบสวนโรคฉบับสมบูรณ์เป็นของตัวเองให้อาจารย์ได้อ่านและช่วยให้คำแนะนำ แก้ไขเพิ่มเติม  ฝึกการนำเสนอรายงานสอบสวนโรคอย่างถูกต้อง ให้อาจารย์ ผู้เชี่ยวชาญ ได้วิจารณ์ และให้เพื่อนที่เรียนด้วยกันศึกษาฝึกการวิเคราะห์ ควรเพิ่มเติมส่วนไหน  ควรลดส่วนไหน  ในเนื้อหารายงาน เพื่อ และนำไปเป็นตัวอย่าง เรียนรู้ แก้ไขให้ถูกต้องตามหลักการเขียนรายงานสอบสวนโรค  ทำได้ไม่ดี มีจุดอ่อนเรื่องการออกแบบการเก็บข้อมูล ได้ไม่ครบถ้วน 

                ในปี 2554 ได้สมัครเข้ารับการอบรมหลักสูตรการบริหารจัดการทีมสอบสวนเคลื่อนที่เร็วภาคสนามSRRT ซึงจัดโดยสำนักระบาดวิทยาเป็นหลักสูตรที่ต้องการอบรมมากที่สุดได้เข้าเรียนในช่วงปลายเดือนธันวาคม 2554    เพื่อที่จะได้เรียนรู้ให้ได้มากที่สุดมีการฝึกปฏิบัติจริงเขียนรายงานสอบสวนโรคนำเสนอรายงานและมีการวิพากษ์จากอาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิ  ผู้เชี่ยวชาญ  แก้ไขและส่งผลงาน  หลักสูตรนี้ดีมาก ๆ เรียนครั้งละ  5 วัน แล้วให้การบ้านกลับไปทำงานและทำการบ้านไปพร้อมกัน โดยมีพี่เลี้ยง ช่วยในการให้คำแนะนำ การสอบสวนโรค การเขียนรายงาน

                  ความลับสุดยอดที่ไม่ได้เปิดเผย    ครั้งแรกที่เขียนรายงานสอบสวนโรคเมื่อนำเสนอหรือวิพากษ์จะไม่เหมือนกัน  อาจารย์แต่ละท่านก็จะให้คำแนะนำที่ไม่เหมือนกัน  เกิดการสับสน  แล้วการเขียนรายงานที่ถูกต้องเป็นอย่างไร จนได้มาเรียน หลักสูตรการเขียนรายงานสอบสวนโรคและหลักสูตร FEMT  จึงเข้าใจ รายงานสอบสวนโรคที่เขียนขึ้นจะต้องมีคำตอบให้ครบถ้วนตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งขึ้น

                  ความลับอีกเรื่องคือ เมื่อรับงานระบาดวิทยาโรคติดต่อ ใหม่ๆจำได้ว่ามีนักวิชาการสาธารณสุข  ของสสจ.ขอนแก่นคนหนึ่งที่เสียงดังที่จะคอยตามรายงานการสอบสวนโรคแต่ละครั้งก็จะได้รับโทรศัพท์พี่ประกายสอบสวนโรคหรือยังพี่ประกายตามผู้ป่วยได้ยัง  พี่ประกายไปตามดูผู้ป่วยเดี่ยวนี้ โดยเฉพาะผู้ป่วย AFP  อีก 5 นาทีจะโทรมาขอข้อมูลเพิ่มเติมแล้วพี่ประกายอย่าลืม  เขียนรายงานสอบสวนโรคส่งให้ด้วย เกิดความรู้สึกไม่พอใจ  มีแต่สั่งไม่ลงมาช่วยแต่พอ  สักพักก็ได้รับตัวอย่างการเขียนรายงานสอบสวนที่เคยมีคนเขียนไว้มาให้ดูถ้าไม่มีเธอก็คงจะไม่ได้ฝึกเขียนรายงานสอบสวนโรคอยากจะขอบคุณมากๆที่ช่วยกระตุ้นให้การทำงานเก่งขึ้นให้ต่อสู้และฝึกเขียนรายงานสอบสวนโรคจากตัวอย่างของสำนักระบาดวิทยาที่ส่งให้ดู

จะเขียนรายงานให้ได้คุณภาพควรจะเริ่มต้นอย่างไร 

           การเริ่มต้นที่จะเขียนรายงานสอบสวนโรคที่มีคุณภาพและทรงคุณค่าสิ่งที่สำคัญคือ   

          1) มีใจอยากจะเขียนอยากจะทำ  รักที่จะทำงานด้านนี้  ตั้งใจที่จะเขียนรายงานสอบสวนโรคให้ได้

          2) มีเป้าหมายที่ชัดเจนจะต้องตั้งเป้าว่าในการทำงานภายใน 11 ปีจะเขียนรายงานฉบับสมบูรณ์  เข้าร่วมนำเสนอผลงานวิชาการ  อย่างน้อยปีละ 2  เรื่องซึ่งเป็น KPI ของการทำงานค่าตอบแทนประจำปีและ  เพื่อนำมาใช้ในการขอตำแหน่งทางวิชาการหรือรักษาสถานภาพตำแหน่งทางวิชาการไว้ มีอยู่ประโยคหนึ่งที่ยังจำไว้เสมอ  คือคำว่า      “โรงพยาบาลเราสังกัดมหาวิทยาลัย “ จะต้องทำผลงานวิชาการสำหรับการเข้าสู่ตำแหน่งที่สูงขึ้นสั่งสมประสบการณ์และต้องมีการนำเสนอผลงานในเวทีต่างๆด้วยจึงจะสามารถส่งผลงานขอตำแหน่งเป็นพยาบาลระดับ8  หรือพยาบาลชำนาญการพิเศษ

         3) ลงมือทำโดยการฝึกเขียนรายงานสอบสวนโรคเฉพาะรายในผู้ป่วยที่มารับการรักษาก่อนเช่นโรคไข้เลือดออก  โรคมาลาเรีย  โรคอหิวาตกโรค  ผู้ป่วยที่มีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงเฉียบพลัน AFP

        4) อ่านศึกษาเรื่องโรคการรักษาการแปรผลทางห้องปฏิบัติการของโรคที่เราสอบสวนให้เข้าใจและนำมาเขียนรายงาน  แล้วอย่าลืม การใส่ค่า  หน่วย  ให้ถูกต้อง  ถ้าไม่แน่ใจ ให้ถามแพทย์เจ้าของไข้ ผู้รู้  เรื่องนี้หน้าแตกกลางเวทีการประกวดรายงานสอบสวนโรค เวที สคร 6.  มาแล้ว ในปี 2554  เขียนรายงานคำศัพท์ต่าง ๆ สำคัญมาก ๆ    เขียนให้ถูกต้อง ตรวจสอบรายงานให้ครบถ้วน อย่าให้มีคำผิด  อัตราต่างๆ ที่จะนำเสนอ ให้ใส่หน่วยให้ครบและภาษาที่ใช้ให้เหมือนกัน  ตลอดทั้งฉบับ

       5)  อ่านรายงานสอบสวนโรคที่เป็นตัวอย่างที่มีคนเขียนมาก่อนโดยค้นหาจากวารสารทางการแพทย์จาก weekly report จากเว๊ปไซด์ของสำนักระบาด  จากเว๊ปไซด์ของสำนักงานป้องกันควบคุมโรคต่างๆ  หรือค้นจากอาจารย์กูเกิลใส่คำค้นหาที่ต้องการ  แล้วนำมาใช้เป็นตัวอย่างเปรียบเทียบเหตุการณ์อภิปรายผลรายงานสอบสวนโรคของเราที่เขียนว่ามีข้อแตกต่างกันอย่างไรสิ่งที่เหมือนกันอย่างไรเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสัมพันธ์หรือเชื่อมโยงกันอย่างไรและที่สำคัญอย่าลืมค้นหาและอ่านจาก CDC  WHO หรือเอกสารวิชาการที่ใช้อ้างอิงว่ามีคำแนะนำในการปฏิบัติอย่างไร

      6) ศึกษาประวัติการการเจ็บป่วยการรักษาผู้ป่วยประวัติการตรวจทางห้องปฏิบัติการ  ตัวอย่างที่ส่งตรวจในรายที่ เราสอบสวนโรค  หรือในการสอบสวนการระบาดจะต้องศึกษาและเก็บตัวอย่างในการตรวจทางห้องปฏิบัติให้ได้ถูกต้องมากที่สุด  เก็บจากอะไรตำแหน่งที่เก็บ  จะเก็บใส่ภาชนะอะไรอาหารเลี้ยงเชื้อชนิดใดอุณหภูมิ  เพราะว่าจะได้ช่วยยืนยันการวินิจฉัยยืนยันการระบาด

      7)  การสอบสวนโรค การสัมภาษณ์ผู้ป่วยการศึกษาสิ่งแวดล้อมมีความสำคัญที่จะทำให้ได้ข้อมูลมาสำหรับการเขียนรายงานมากที่สุดสิ่งที่จะทำให้เราตั้งสมมติฐานการเกิดโรคได้สาเหตุปัจจัยเสียงซึ่งจะต้องมีเทคนิคในการสัมภาษณ์ผู้ป่วยที่ง่ายๆคือสร้างความคุ้นเคยและให้ผู้ป่วยไว้วางใจพูดคุยกับผู้ป่วยในประเด็นที่สำคัญๆที่ต้องการพร้อมกับการให้โอกาสผู้ป่วยที่จะเล่าประวัติการเจ็บป่วยประวัติการรับประทานอาหารไม่ชี้ประเด็นนำ  ห้ามดุด่าหรือข่มขู่ผู้ป่วย  รักษาความลับของผู้ป่วยเมื่อสัมภาษณ์แล้วนำข้อมูลมาบันทึกและวิเคราะห์  ลงมือเขียน  ส่วนข้อมูลการศึกษาสิ่งแวดล้อมต่างๆให้ขอให้ถ่ายภาพเก็บไว้ให้ได้มากที่สุดพร้อมทั้งภาพการดำเนินงานควบคุมโรคกิจกรรมที่เกี่ยวข้องเพราะว่าถ้าไม่ถ่ายภาพเก็บไว้เมื่อย้อนกลับไปใหม่จะไม่เหมือนเดิม

      8)  การเขียนเอกสารอ้างอิงสำคัญที่สุด  เขียนอย่างไรให้ถูกต้องใช้ระบบการเขียนแบบไหนให้เขียนเหมือนกัน  ก็ต้องศึกษารูปแบบวิธีการเขียน  เอกสารหนังสือที่ใช้อ่านประกอบยกตัวอย่างนำมาใช้จะต้องนำมาอ้างอิงให้ถูกต้อง  อย่าละเมิดลิขสิทธ์ผู้เขียนรายงานผลงานวิชาการจะต้องมีความซื่อสัตย์ต่อการนำรายงานและเสนอผลงาน  ประสบการณ์ในการเขียนเอกสารอ้างอิงเป็นสิ่งที่เขียนยากมากๆ  จะต้องเปิดดูทุกครั้งที่เขียนรายงานสอบสวนโรค  วิธีที่จะลดขั้นตอนในการเขียนเอกสารอ้างอิงการนำมาใช้การเรียงหมายเลขจะมีโปรแกรมช่วยในการค้นหาบันทึกข้อมูลเอกสารอ้างอิงที่เรานำมาใช้เรียกว่าโปรแกรม ............เคยไปรับการฝึกอบรมเหมือนกันแต่ทำยังไม่เป็นเทคนิคที่ใช้อยู่ในปัจจุบันคือเปิดดูวิธีการเขียนทุกครั้งและมีผู้เชี่ยวชาญช่วยตรวจสอบโชคดีที่เรามีบรรณารักษ์ของห้องสมุดคณะแพทยศาสตร์จะช่วยในการตรวจสอบการเขียนเอกสารอ้างอิงและการค้นหาเอกสาร

       9)  สร้างเครือข่าย  สร้างพันธมิตรในการทำงานร่วมกันเป็นทีม  การทำงานด้านการเฝ้าระวังจะทำคนเดียวไม่ได้ต้องมีเครือข่ายช่วยเหลือในการทำงาน  ได้แก่อสม. เจ้าหน้าที่ในพื้นที่  เจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการเจ้าหน้าที่ในหอผู้ป่วยห้องตรวจต่างๆหรือหน่วยงานที่สนับสนุนภารกิจด้านการเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรค  ยกตัวอย่าง  เช่นในต้นปีช่วงเดือนกุมภาพันธ์ – มีนาคมปี 2551 เกิดการระบาดของโรคหัดในนักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็นครั้งแรกที่ได้แสดงบทบาทหน้าที่ในการทำงานของทีมSRRTเต็มรูปแบบและเขียนรายงานสอบสวนโรคฉบับสมบูรณ์ที่ทำงานร่วมกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและทำงานวิจัยร่วมกันกับแพทย์และเจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการควบคู่ไปกับการเขียนรายงานสอบสวนโรคที่มีทีมช่วยกันเขียนรายงานและทำงานร่วมกันเป็นทีม SRRT

มีคนช่วยและให้ข้อคิดเห็นบ้างหรือไม่

                 มีคนช่วยให้ข้อคิดเห็นในการทำงานช่วยให้ข้อคิดเห็นในการรายงานสอบสวนโรคสอบสวนการระบาดได้แก่  แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาโรคติดเชื้อโรคระบบทางเดินหายใจ  หัวหน้าทีม SRRT ที่เป็นผู้บริหารของโรงพยาบาลที่จะดูแลรับผิดชอบงานเฝ้าระวังป้องกันควบคุมการติดเชื้อ  โรคติดต่อในโรงพยาบาลและในชุมชนและการสร้างเสริมสุขภาพ  ซึ่งแต่เดิมงานระบาดวิทยาโรคติดต่อจะดำเนินงานและขึ้นอยู่กับหน่วยควบคุมการติดเชื้อ             รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลฝ่ายสร้างเสริมสุขภาพรศ.เนสินีไชยเอีย  ได้เล็งเห็นความสำคัญของการดำเนินงานเฝ้าระวังควบคุมโรคติดต่อ   ความสำคัญของ SRRT ทีม  ปัญหาการเกิดโรคในพื้นที่ที่มีความสำคัญเพราะเราเป็น             โรงพยาบาลที่สังกัดมหาวิทยาลัย  จะต้องเป็นตัวอย่างการดำเนินงานแก่นักศึกษาที่ฝึกงานและสนับสนุนทางด้านวิชาการจึงได้ให้โอกาสและให้จัดตั้งหน่วยระบาดวิทยาโรคติดต่อ  แยกออกมาจากหน่วยควบคุมการติดเชื้อและ    มอบนโยบายการทำงานทำงานในฐานะหัวหน้าทีมสอบสวนเคลื่อนที่เร็ว สั่งการเน้นในเรื่องการสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรค  และเมื่อเกิดการระบาดให้สามารถควบคุมได้โดยเร็ว  ลงพื้นที่สอบสวนหาสาเหตุและรายงานให้ทันเวลาตามข้อกำหนดและมาตรฐาน 

                   ที่สำคัญที่สุด ในการเขียนรายงานสอบสวนโรค ครั้งนี้ได้การเขียนรายงานสอบสวนโรคได้ดีขึ้นและเขียนได้ครบทั้งระบาดวิทยาเชิงพรรณาและเชิงวิเคราะห์  เป็นแบบอย่างได้จากการเข้ารับการอบรม FEMT  มีอาจารย์ที่เป็นพี่เลี้ยง  อาจารย์เฉวตสรร  นามวาส  ผู้อำนวยการสำนักวัณโรค  เพื่อนร่วมทีมที่เข้าอบรมด้วยกันให้กำลังใจ  ช่วยกันหาข้อมูล  สสจ. ขอนแก่นช่วยหาข้อมูลทำกราฟหาค่าสถิติช่วย  และที่สำคัญที่สุดคือหัวหน้าทีมรศ. เนสินีไชยเอีย    ที่คำนวนค่าสถิติ  แก้ไขบทสรุปอภิปรายผลแล้วนำเสนอให้อาจารย์ที่สอนและทบทวนการเขียนรายงานสอบสวนโรคจากสำนักระบาดวิทยาคุณหมอดารินทร์  คุณหมอพจมานอาจารย์เฉวตสรรที่สอนในเรื่องของการทำกราฟการใช้ข้อมูล  อาจารย์คุณหมอสุจิตรา  ที่ช่วยในการอ่านวิจารณ์ให้ข้อเสนอแนะแก้ไข

ขอยกตัวอย่างรายงานสอบสวนโรคที่เด่นและเป็นตัวอย่างและนำไปสู่นโยบายการปฏิบัติได้แก่

              1) รายงานสอบสวนการระบาดของโรคหัดในนักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่นรายงานฉบับนี้จะทำด้วยกันเป็นทีมทั้งทีมแพทย์พยาบาลห้องปฏิบัติการสสจ.ขอนแก่น  และนำไปสู่นโยบายการให้วัคซีน MMR แก่นักศึกษาทุกชั้นปีที่ยังไม่ได้รับวัคซีน MMR กระตุ้นในปีพ.ศ.2552 และ 2553  โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยขอนแก่นและเป็นตัวอย่างการดำเนินงานป้องกันควบคุมโรคหัดของมหาวิทยาลัย   

             2) การระบาดของไข้หวัดใหญ่ 2009 H1N1 ในปี 2552  ซึ่งเกิดการระบาดทั่วประเทศจะดำเนินการสอบสวนร่วมกับทีมจังหวัดและในพื้นที่เป็นเครือข่าย 

            3) การระบาดของโรคอหิวาตกโรคในจังหวัดขอแก่นจะดำเนินการสอบสวนร่วมกับสำนักระบาดวิทยาสสจ.ขอนแก่น  สคร.6 และมีทีมนักศึกษาแพทย์  และนำไปสู่นโยบายการดำเนินงานเฝ้าระวังควบคุมสุขาภิบาลอาหารในโรงอาหารของมหาวิทยาลัยและโรงอาหารของโรงพยาบาล

           4) รายงานสอบสวนการระบาดของโรคไข้เลือดออกในนักศึกษา

          5) การสอบสวนการระบาดของโรคสุกใสในโรงพยาบาลศรีนครินทร์ที่ได้รับรางวัลทรงคุณค่าในครั้งนี้  จากการศึกษาและอภิปรายผลการศึกษานำไปสู่นโยบายการดำเนินงานเฝ้าระวังคัดกรองผู้ป่วยและญาติที่มารับการรักษาในโรงพยาบาลศรีนครินทร์และการคัดกรองบุคลากรการตรวจหาภูมิคุ้มกันของโรคสุกใสและดำเนินการให้วัคซีนป้องกันโรคสุกใสแก่บุคลากรกลุ่มเสี่ยง

                                


ความสำเร็จครั้งนี้คิดจะขยายผลต่อไปยังทีมเครือข่ายในจังหวัดหรือไม่อย่างไร

                     ความสำเร็จในครั้งนี้จะต้องขยายผลต่อไปยังทีมเครือข่ายในจังหวัดและเครือข่ายของอำเภอเมืองในการช่วยเหลือเป็นแหล่งข้อมูลทางวิชาการสนับสนุนให้คำแนะนำฝึกการเขียนรายงานสอยสวนโรคและเป็นวิทยากรร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนำเสนอประสบการณ์การสอบสวนโรคการดำเนินงานควบคุมโรคระบาดที่เกิดขึ้นเพราะว่าส่วนใหญ่แล้วจะเกิดขึ้นที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์ก่อนพื้นที่อื่นทุกครั้งอาจจะเกิดจากการตรวจจับเฝ้าระวังทีมีเครือข่ายที่เข้มแข็ง

สิ่งที่ต้องการพัฒนาตนเองด้านการเขียนรายงานสอบสวน  ได้แก่

1)  ด้านการใช้ข้อมูลที่มีอยู่รวบรวมเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่องจะนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในทางวิชาการ

2)  ระบบการจัดเก็บรวมรวมข้อมูลที่จำเป็นต้องใช้ให้เป็นระบบสารสนเทศนำ IT เข้ามาใช้และพัฒนาให้เกิดประโยชน์เข้ารับการอบรมการใช้สถิติเชิงวิเคราะห์

3)  พัฒนาการเขียนรายงานสอบสวนโรคต่อไปไม่ควรที่จะหยุดเขียนและเป็นพี่เลี้ยงให้กับทีมพัฒนาเครือข่ายให้เข้มแข็งและมีผลงานวิชาการนำเสนอต่อไป

สิ่งที่ต้องการการสนับสนุนจากส่วนกลาง

  1) เรื่องของการอบรมวิชาการการสัมมนาต่างๆหรือนโยบายที่ทางโรงพยาบาลจำเป็นต้องปฏิบัติเพราะว่าโรงพยาบาลศรีนครินทร์เป็นโรงพยาบาลตติยภูมิที่รับรักษาผู้ป่วยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือทั้งหมดโรงพยาบาลมักจะถูกลืมไม่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมจากหน่วยงานที่จัดซึ่งบางครั้งเมื่อสอบถามจะได้รับคำตอบว่าจังหวัดจะเป็นผู้ถ่ายทอดต่อซึ่งบางครั้งถ้าได้มารับการอบรมชี้แจงด้วยตนเองจะทำให้เข้าใจและรับทราบนโยบายและนำไปปฏิบัติได้โดยเร็ว

  2) อยากให้จัดหลักสูตรอบรมFEMT ให้กับทุกทีมในภูมิภาค

  3) การสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินงานป้องกันควบคุมโรคอยากให้ใช้วัคซีนป้องกันโรคสุกใส  เข้าในระบบ EPI มากที่สุด


มีภาพบรรยากาศการเล่าเรื่องราว  จะนำมาลงทีหลังนะคะ ดึกมากแล้ว ขอเขียนรายงานสอบสวนโรคที่จะเสนอ รอง ผอ.ก่อนนะคะ

หมายเลขบันทึก: 517835เขียนเมื่อ 30 มกราคม 2013 00:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 กุมภาพันธ์ 2013 16:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

การนำเอาข้อมูลแปลงสู่การเขียน
เป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ ..

ชื่นชมครับพี่ -

ขอบคุณคะ   ตอนนี้ก็งานเข้า สอบสวนโรคในศูนย์ฝึกอบรมตำรวจ  งานช้าง 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท