ปถวีธาตุ 20 ประการ


ปถวีธาตุ 20 ประการ คืออะไร

ทำไมต้องเรียนรู้ด้วย

สองคำถามนี้จุดประกายความคิดให้สืบค้นเพื่อแก้ความสงสัยจากการอ่านหนังสือแพทย์โบราณของบรรพบุรุษ ที่ไม่มีแม้แต่หน้าปก ครั้นจะไปทำหน้าปกขึ้นมาใหม่ก็ยังหาข้อสรุปไม่ได้ว่าจะลงรูปหน้าปกอย่างไร ด้วยเป็นการรวบรวมตำราแพทย์โบราณไว้จากหลายสำนัก สิ่งที่ทำได้คือจับไปถ่ายเอกสารเพื่อป้องกันการชำรุดมากไปกว่าวันที่พบเจอ แม้ว่าจะเย็บเล่มทำใหม่ก็ยังคงว่างเปล่าข้อความใดๆไว้ที่หน้าปก รอให้อ่านจบ และทำความเข้าใจกับเนื้อหาในเล่มก่อน แล้วค่อยๆหาชื่อปกหนังสือ 

ในตำราแพทย์แผนไทย ประเภท เวชกรรมไทย รวมเล่ม 1 -2 -3 

กองการประกอบโรคศิลปะ กระทรวงสาธารณสุข ได้ให้รายละเอียดขยายความสงสัยไว้ใน

วิชาเวชศึกษาได้กล่าวถึงความรู้เบื้องต้นของแพทย์แผนโบราณ(กิจของหมอ 4 ประการ)ดังนี้

1.รู้จักที่ตั้งแรกเกิดของโรค ซึ่งได้แก่ สมุฎฐาน (ที่ตั้งแรกเกิดของโรคภัยไข้เจ็บ จะบังเกิดขึ้นเพราะสมุฎฐานเป็นที่ตั้ง ซึ่งจำแนกเป็น 4 ประการคือ

1.1 ธาตุสมุฎฐาน

1.2 อุตุสมุฎฐาน

1.3 อายุสมุฎฐาน

1.4 กาลสมุฏฐาน

ในธาตุสมุฎฐานซึ่งหมายถึงที่ตั้งของธาตุ ยังจัดแบ่งธาตุออกเป็น 4 กองคือ

1.1.1 ปถวีสมุฎฐาน  คือธาตุดินเป็นที่ตั้ง จำแนกเป็น 20 อย่าง

1.1.2 อาโปสมุฎฐาน คือธาตุน้ำเป็นที่ตั้ง จำแนกเป็น 12 อย่าง

1.1.3 วาโยสมุฎบาน คือธาตุน้ำเป็นที่ตั้ง จำแนกเป็น 6 อย่าง

1.1.4 เตโชสมุฎฐาน  คือธาตุไฟเป็นที่ตั้ง จำแนกเป็น 4 อย่าง

(ดิน น้ำ ลม ไฟ  20 12 6 4) รวมเป็นธาตุสมุฎฐาน 42 อย่าง 

ซึ่งยังได้จำแนกรายละเอียดไว้เป็น

ปถวีธาตุ 20 อย่าง  

อาโปธาตุ 12 อย่าง  

วาโยธาตุ 6 อย่าง  

เตโชธาตุ 4

ก็ต้องมาเรียนรู้ให้เข้าใจพื้นฐานของธาตุทั้ง 42 อย่างก่อน แล้วจึงไปเรียนรู้กิจของหมอที่เหลือคือ

2.รู้จักชื่อของโรค

3.รู้จักยารักษาโรค

4.รู้จักว่ายาอย่างใดรักษาโรคใด

เมื่ออาจารย์ท่านให้เริ่มเรียนรู้ธาตุทั้ง 42 อย่าง เราก็เริ่มมองเห็นประโยชน์ของบทสวดมนต์ที่เคยสวดก็รู้สึกยินดีที่ปัญญาพอจะเปิดรับได้ ทำให้ได้ทบทวนการพิจารณาทางธรรมไปด้วย

ปถวีธาตุ 20 อย่าง หรือ 20 ประการนั้น ท่านกล่าวถึงสิ่งต่อไปนี้

1. เกศา คือผม ผมที่งอกอยู่ยนศีรษะของเราเอง ถ้ามันพิการ จะมีอาการเจ็บตามหนังหัว ผมร่วงผิดปกติ คือมากกว่า100-150เส้น คันศีรษะ และมักเป็นรังแค สาเหตุเกิดจากการบริโภคอาหาร หรือยาที่ไม่ควรแก่ธาตุ หรือเป็นโรค หรือไม่ดูแลรักษาเส้นผม 

2.โลมา คือขน เช่นขยคิ้ว หนวดเครา  ถ้ามันพิการ ก็จะรู็สึกเจ็บตามผิวหนัง และขนร่วง มักมีสาเหตุมาจาก การบริโภคอาหาร หรือยาไม่ควรแก่ธาตุ หรือเป็นโรค หรือไม่ดูแลรักษาเส้นขน
3.นขา คือเล็บ ที่งอกตามนิ้วมือ นิ้วเท้า ถ้ามันพิการ ก็จะปวดบริเวณโคนเล็บ บางทีให้เล็บถอด บางทีเป็นเม็ด เป็นหนองขึ้นที่โคนเล็บ (และที่เป็นคล้ายขึ้นราสีเขียวก็เคยเห็น เล็บนี้เขียวอื๋อเลยก็เคยเห็นมา อันนี้นอกตำราว่าไว้) สาเหตุเกิดจากการบริโภคอาหาร หรือยาไม่ควรแก่ธาตุ หรือเป็นโรค หรือไม่ดูแลรักษาเล็บ
4.ทันตา คือฟัน อย่างหนึ่ง เขี้ยวอย่างหนึ่ง กรามอย่างหนึ่ง รวมเรียกว่าฟัน เป็นฟันน้ำนม  20 ซี่ พอหมดฟันน้ำนมก็เป็นฟัันแท้ 32 ซี่  หากมันพิการเป็นรำมะนาด ฝีรำมะนาด ฝีกราม ให้ปวดตามรากฟัน แมงกินฟัน สาเหตุเพราะบริโภคอาหาร หรือยาไม่ควรแก่ธาตุ หรือเป็นโรค หรือไม่ดูแลรักษาฟัน
5. ตะโจ คือหนังที่ห่อหุ้มร่างกาย มี 3 ชั้นคือหนังหนา หนังชั้นกลาง และหนังกำพร้า แต่ที่จริงมีหนังในปากเป็นหนังเปียกอีกชนิดหนึ่ง ควรนับด้วย หากพิการ จะทำให้คันตามผิวหนัง ให้รู้สึกกายสากตามผิวหนัง แสบร้อนตามผิวหนัง สาเหตุบริโภคอาหาร หรือยาไม่ควรแก่ธาตุ หรือเป็นโรค หรือไม่ดูแลรักษาผิวหนัง
6.มังสัง คือเนื้อที่เป็นกล้ามและเป็นแผ่นในกาย หาสกพิการ จะเป็นผื่นแดงช้ำ แสบร้อน เป็นแฝดเป็นไฝ เป็นหูดเป็นพรายย้ำ สาเหตุเพราะ บริโภคอาหาร หรือยาที่ไม่ควรแก่ธาตุ หรือเป็นโรค หรือเป็นไข้ต้องพิฆาต
7.นหารู เส้นและเอ็นในกาย หากพิการ จะรู็สึกตึงรัดผูกดวงใจ ให้สวิง สวาย และอ่อนหิว มีสาเหตุมาจากการบริโภคอาหารหรือยาไม่ควรแก่ธาตุ หรือเป็นโรค หรือเป็นไข้ต้องพิฆาต หรือทำงานเกินกำลัง

8. อัฏฐิ คือกระดูก กระดูกอ่อนหนึ่ง กระดูกแก่หนึ่ง การพิการ ให้เจ็บปวดในแห่งกระดูก สาเหตุมาจาก บริโภคอาหาร หรือยาไม่ควรแก่ธาตุ หรือเป็นโรค หรือเป็นไข้ต้องพิฆาต

9.อัฏฐิมิญ์ชัง คือเยื่อในกระดูก แต่ที่จริงควรเรียกว่าไข เพราะเป็นน้ำมันส่วนเยื่อนั้นมีหุ้มอยู่นอกกระดูก เมื่อพิการจะเป็นข้น เป็นไข และมีอาการเหน็บชา สาเหตุเพราะ บริโภคอาหาร หรือยาที่ไม่ควรแก่ธาตุ หรือเป็นโรค

10 วักกัง คือม้าม อยู่ข้างกระเพาะอาหาร เวลาพิการจะสะท้อนร้อนสะท้านหนาว และเป็นโรคกะษัยลม (ทำให้ท้องอืดเฟ้อ) สาเหตุเพราะ บริโภคอาหาร หรือยาที่ไม่ควรแก่ธาตุ หรือเป็นโรค

บันทึกมาถึงตรงนี้ได้ครึ่งหนึ่ง 

สรุปสาเหตุมาจากการรับประทานอาหารไม่ควรกับธาตุ  

และยังมีสาเหตุจากการเป็นโรคและการดูแลสุขภาพร่ากายไม่ดีพอ 

ยังเหลือปถวีธาตุ อีก 10 อย่างที่ไม่ได้นำมาบันทึก

ขอไปต่อในบันทึกหน้า ขออขอบคุณความรู้จากอ.สุรศักดิ์ สนเปี่ยม บ.ว บ.ภ  พท.ผ

และตำราแพทย์แผนไทย ประเภทเวชกรรมไทย กองการประกอบโรคศิลปะ กระทรววงสาธารณสุข

ขอบคุณทุกท่านที่อ่านและแลกเปลี่ยนความรู้ 

ขอให้ทุกท่านมีสุขภาพแข็งแรง เบิกบานทุกลมหายใจ

ขอบคุณค่ะ

หมายเลขบันทึก: 517830เขียนเมื่อ 29 มกราคม 2013 23:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 มกราคม 2013 23:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท