KM (แนวปฏิบัติ) วันละคำ : 167. การตรวจสอบความถูกต้องของความรู้


         เจ้าหน้าที่ สสส. เขียนไว้ในรายงานความก้าวหน้าของโครงการ เสริมสร้างการเรียนรู้เพื่อสร้างสรรค์ชุมชน (เพื่อชุมชนเป็นสุข)    ดังนี้ "..... สามารถผลิตนักจัดการความรู้ท้องถิ่น  ชุดความรู้  หรือเอกสาร  และสื่อต่างๆ ได้เป็นจำนวนมาก    และพัฒนาเครือข่ายการเรียนรู้แนวราบ    อย่างไรก็ดี    นักจัดการความรู้ท้องถิ่นยังมีจุดอ่อนด้านการสังเคราะห์เชิงเอกสาร    สำหรับชุดความรู้ภายในท้องถิ่นนั้น  ยังไม่ได้ถูกตรวจสอบจากภายนอกว่าถูกต้อง    และไม่ถูกใช้ประโยชน์เท่าที่ควร ...."

         ข้อสังเกตดังกล่าวสะกิดใจผม    ทำให้ผมเขียนบันทึกนี้    ข้อความในสัญญประกาศ (เครื่องหมายคำพูด) นั้น    บอกว่าคนทั่วไปเข้าใจว่าผลลัพธ์สุดท้ายของ KM คือเอกสารชุดความรู้ ที่มีการตรวจสอบความถูกต้อง     แนวคิดนี้มีทั้งส่วนที่ถูกต้อง และส่วนที่ผิด     แต่ในทางปฏิบัติ หรือส่วนคุณประโยชน์ ผมว่าผิดมากกว่าถูก

        แนวคิดแบบนี้ผมเรียกว่าเป็นแนวคิดที่ยก "ความรู้แจ้งชัด" เป็นใหญ่     และเป็นแนวคิดแบบ supply-push KM     คือถือเอานักวิชาการเป็นตัวตั้ง  ไม่ใช้ตัวผู้ปฏิบัติเป็นตัวตั้ง     ซึ่งก็ไม่ได้ผิดไปเสียทั้งหมด     แต่ไม่ใช่แนวทางที่ สคส. ยึดถือ

        กลับมาที่การตรวจสอบความถูกต้องของความรู้     ผมมองว่ามีวิธีตรวจสอบ ๒ แนว
         (๑) ตรวจสอบแนววิชาการ     ก็ทำตามแบบที่นักวิชาการคุ้นเคย     คือทำงานวิจัยซ้อนลงไป  เพื่อหาคำตอบว่า ความรู้นั้นเป็นจริงแน่แท้ในสถานการณ์ใด     ผมเรียกว่าเป็นการตรวจสอบแบบทำให้ความรู้นั้นแคบลงจนมีความชัดเจน  มีสิ่งที่ทางวิชาการเรียกว่า reproducibility    คือถ้าไปลองทำซ้ำตามความรู้นั้นไม่ว่าทำที่ไหน เมื่อไร จะได้ผลตามที่รายงานไว้     จะเห็นว่า คำว่า "ความรู้" ในที่นี้ เป็นความรู้แจ้งชัด (Explicit Knowledge)
         (๒) ตรวจสอบแนว KM    คือดูที่ผลลัพธ์    ถ้าวิธีการหรือความรู้นั้นใช้ได้ผลในบริบทใดบริบทหนึ่ง ก็ถือว่าเป็นความรู้ที่ผ่านการพิสูจน์ความถูกต้อง (ที่จริงน่าจะใช้คำว่า "ใช้งานได้" มากกว่า) ในบริบทนั้น     เป็นที่รู้กันว่า "ความรู้เพื่อการใช้งาน" นั้น    ผู้ใช้ต้องเอาไปปรับให้เข้ากับบริบทของตนเอง     อย่าใช้แบบคัดลอกตรงตัวหรือตายตัว     ต้องเอาไปพลิกแพลงใช้    จะเห็นว่าในแนวนี้ คำว่า "ความรู้" หมายถึง ความรู้ฝังลึก (Tacit Knowledge)

       ที่ผมอึดอัดขัดข้องมากที่สุดคือคำว่า "ตรวจสอบจากภายนอก"    เพราะนี่คือกระบวนทัศน์วิจัย     ในกระบวนทัศน์วิจัยเรามีกลไกตรวจสอบความถูกต้องของผลงานโดยใช้ peer review    และ peer ที่ดีที่สุดคือคนนอกหน่วยงาน    เราจึงติดวัฒนธรรมเคร่งครัดความถูกต้องในระดับที่ต้องมีการประเมินโดย external peer review     ซึ่งนี่คือกลไกที่มีคุณค่าที่สุดสำหรับวงการวิจัยที่เน้นคุณภาพจริงๆ   

       แต่สำหรับชาวบ้าน  เราเอาวัฒนธรรมวิจัยแบบนี้เข้าไป     ก็จะกลายเป็นการครอบงำชาวบ้าน     ทำให้ชาวบ้านซึ่งต่อหน้าพวกนักวิชาการเขาไม่มั่นใจตัวเองอยู่แล้ว     ก็จะยิ่ง "หัวหด  สมองหด" หนักเข้าไปอีก

       ผมมองว่า ในระดับชาวบ้าน ต้องเอา "การพัฒนา" นำ  เอาการวิจัยตาม     พิสูจน์ความถูกต้องของความรู้ในเบื้องต้นจากหลักฐานที่ การ "ใช้งานได้" เกิดผลสำเร็จดีกว่าวิธีการเดิมๆ     โดยต้องเข้าใจว่า "ความรู้" ในวัฒนธรรมของชาวบ้านนั้น เป็น complex knowledge หรือ tacit knowledge    ถ้านักวิชาการจะต้องการทำให้เป็น explicit knowledge ก็ได้     แต่อย่าให้กระบวนการนั้นเข้าไปทำลายความรู้สึกมั่นใจตัวเองของชาวบ้าน

วิจารณ์ พานิช
๙ กย. ๔๙

คำสำคัญ (Tags): #เครื่องมือkm
หมายเลขบันทึก: 51689เขียนเมื่อ 25 กันยายน 2006 09:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:58 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เรื่องคนนอก Peer review หรือ ตรวจสอบ  เป็นเรื่องที่ ต้อง พิจารณาอย่าง ละเอียดอ่อน

คนนอกอาจจะ

  • ไม่รู้จริง
  • ไม่เคยผ่านกระบวนการเรียนรู้เชิงประจักษ์   เป็นแค่ ปริยัติ  วิตก วิจารณ์  ไปตาม กะลาใบเดิมที่ครอบอยู่
  • ไม่ได้ฝึกสติ  ทำให้ คิดขณะจิตเกิดอาการ   จึงมีทั้ง วิตก วิจารณ์  นิวรณ์ห้า  มามกาย
  • ระแวงกันเอง
  • พก อคติต่อ คน  แต่ ดัน พาลไปลงกับงาน
  • ให้แง่คิด อีกมุมหนึ่ง  จุดประกาย ที่น่าสนใจ  ก็ได้นะ
  • พาไปที่ ชายขอบ  ไปดูนอกขอบ   ยุให้ออกจากขอบ
  • รู้จริง  แต่ เราคิดว่าเขาไม่รู้จริง เพราะ ในใจเรามีแต่ อคติ  ระแวง  เห็นคนอื่นโง่กว่า  หลงทาง ฯลฯ
  •  ฯลฯ

กระบวนการ review อาจจะไม่ เหมาะสม  เช่น

  • เวลาจำกัด
  • ถูกกดดัน จาก ประธาน ฯ จากกลุ่ม
  • เลือกคนมา review ที่  ไม่เข้าใจ เนื้องาน  ไม่เข้าถึงแก่นของงาน
  • เลือกคนมาสัมภาษณ์  ไม่เหมาะสม
  • Input เป็นแบบ explicit  มากไป
  • ใช้ Panel review อาจจะทำให้  ผู้ถูกถาม  ประหม่า  เวลาจำกัด  โดนรุมถามมากไป  คำถามแตกประเด็น ฯลฯ

ข้อแนะนำ

  • การนำเสนอความรู้  ควรบอก ผู้อ่านให้ใช้วิจารณญานด้วย  ว่า  นี่เป็น  การค้นพบแบบธรรมชาติ   แบบบังเอิญ  แบบคนๆหนึ่งทดลองแล้วพบว่าดี  แบบขั้นต้น  แบบนำร่อง  ฯลฯ  มาในอารมณ์  ----> "โปรดอ่านคำเตือนก่อนใช้งาน"
  • พึงระลึกว่า ความรู้ต่างๆ  เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป   จึงถูกต้อง ณ ช่วงเวลาหนึ่ง   ในบริบทหนึ่งๆ
  • นักวิจัย  ควรตามไปเข้าใจ  ไปหาทฤษฎี ทำซ้ำ  ต่อยอด ให้กำลังใจ  ให้แหล่งความรู้  แบ่งปันภาคี  ฯลฯ  ไม่ใช่  ตามไป ข่ม ดุ  ด่า   เพราะ จะทำ ทำลาย แรงบันดาลใจ  แรงใฝ่รู้  ทำลายความสามัคคี  ฯลฯ
  • Review ด้วยคนมากๆ  หลายๆรอบ  แบบ World cafe  คนเป็นร้อยๆ คน  หลายๆครั้ง  ต่อเนื่องได้ยิ่งดี 

 

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท