ผมถามตัวเองและถูกคนถามหลายครั้งว่า จะรู้ได้อย่างไรว่า Palliative Care ที่ทำมันดี
ผมตอบตัวเองว่า “มันรู้แก่ใจคนทำ คนที่ลงมือทำจะรู้เองว่า มันดีหรือไม่ดี” จะเอาไม้บรรทัดมาวัด เอาตัวเลขมาประเมินของพวกนี้ ดูจะลดทอนคุณค่างานของเราไปหรือเปล่า
ถ้าเราตอบตัวเอง คนไข้และคนอื่นได้ว่า ปัญหาแต่ละด้านดีขึ้น คงเดิม หรือแย่ลงอย่างไร ก็น่าจะเพียงพอแล้ว
ปัญหาคือ หลายครั้ง เรากลับตอบไม่ได้ ไม่รู้ด้วยซ้ำว่า ที่ลงมือทำไป มันดีอย่างไร ดีตรงไหน สักแต่ว่าทำ
ปีก่อน ผมได้รู้จักแบบประเมินชุดหนึ่งของ King’s College ที่อังกฤษ ชื่อ
Palliative Care Outcome Scale หรือ POS
แต่ความที่มีคนแสลงใจกับคำว่า Palliative Care เขาก็เลยเรียกชื่อเล่นว่า Patient Outcome Scale
ผมชอบแบบประเมินชุดนี้ทันทีที่หัดใช้ เพราะ
- มีแค่ ๑๐ ข้อ ครอบคลุมทั้งด้านร่างกาย จิตใจ สังคม และการบริการ พูดง่าย ๆ คือ ก็เป็นแบบประเมินคุณภาพชีวิตดีๆ นี่เอง
เดิมผมใช้แบบประเมินคุณภาพชีวิตคนไข้ของผมเอง เป็น EQ-5D ฉบับภาษาไทย ที่เลือกใช้ชุดนี้ด้วยเหตุผลเดียวครับ มันสั้นที่สุด คือ มีแค่ ๕ ข้อ ไม่กินแรงผม ไม่รบกวนคนไข้กลุ่มนี้จนเกินไปในการดูแลคนไข้ประจำวัน แต่ปัญหาคือ มันสั้น และต้องให้ผู้ป่วยตอบเอง
พอมาเจอแบบประเมิน ๑๐ ข้อ มีรายละเอียดมากขึ้น ผมก็เลยเปลี่ยนมาใช้ POS ตั้งแต่ปีที่แล้ว โดยแปลเองอย่างไม่เป็นทางการ
- แบบประเมินสามารถให้ผู้ป่วยทำเอง ผู้ป่วยทำโดยมีคนช่วย หรือให้ญาติผู้ป่วยทำ หรือสุดท้ายให้บุคลากรที่ดูแลทำก็ได้ โดยใช้แนวคำถามเดียวกัน แต่แยกถามชัดเจน ข้อนี้คือจุดเด่นของแบบประเมินนี้ เนื่องจากเป็นที่รู้กันว่า ผู้ป่วยของเราส่วนใหญ๋ไม่อยู่ในสภาพที่จะทำแบบสอบถาม แม้แต่ไม่ยาวนักแบบนี้ได้ หลายครั้งแบบสอบถามไปสร้างความทุกข์ให้กับเขาด้วยซ้ำ
- ผมใช้ POS ฉบับแปลเองอยู่พักใหญ่ โดยให้ผู้ป่วยหรือญาติทำระหว่างรอพบผม สิ่งที่ช่วยผมแน่ ๆ คือ ผมรู้ปัญหาและความรุนแรงในมุมมองของเขามากขึ้น โดยเฉพาะประเด็นด้านจิตใจ และสังคม
คนไทยบางคนถ้าไม่ถามไล่ข้อแบบนี้ ก็จะบอกเหมาว่า "ไม่มีปัญหา" ซึ่งถ้าเราไม่ไวพอ เราจะผ่านเลยไป
ผมทราบว่า ฝ่ายการพยาบาล คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มือแปลแบบสอบถามของบ้านเรา
ที่เคยแปล Palliative Performance Scale PPS เป็นไทยที่ใช้ชื่อว่า PPS ฉบับสวนดอก กำลังทำวิจัยและแปล
POS เป็นภาษาไทยด้วยวิธีมาตรฐานอยู่
ผมก็รอ คอยถามมาตลอด
ข่าวดี คือ ปัจจุบันเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็ใช้ชื่อว่า POS ฉบับสวนดอก ครับ
ผมได้ขออนุญาตจากทางสวนดอก เอามาใช้กับคนไข้ของผมแล้ว
หากใครต้องการทราบรายละเอียด หรือจะขออนุญาตนำมาใช้
กรุณาติดต่อที่ คุณปนัดดา สุวรรณ หอผู้ป่วยอายุรกรรมชาย ๑ โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ครับ
และถ้าสนใจรายละเอียด ต้นฉบับของอังกฤษ ก็ที่เว็บนี้ http://pos-pal.org
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย เต็มศักดิ์ พึ่งรัศมี ใน เพื่อน PAL
ขอบคุณอาจารย์ที่มอบบันทึกมีคุณค่าแก่ palliative care อีกครั้ง ขออนุญาตไปแชร์ใน. fB suandok palliative care นะคะ;)