องค์กรนิสิต กับภารกิจการสอนงาน และสานต่อองค์กร


กระบวนการสอนงาน เพื่อสร้างทีมใหม่ขององค์กรนิสิต เพื่อสานต่อภารกิจขององค์กร มีรูปแบบและวิถีทาง ที่แตกต่างกันออกไปตามวัฒนธรรมขององค์กรนั้น ๆ แต่ด้วยสภาวการณ์ในปัจจุบัน ทั้งเทคโนโลยีที่รุมเร้า และเรื่องเรียนที่ไม่มีวันว่างให้หายใจ จึงทำให้ “การสอนงาน เพื่อสานต่อองค์กร” มีรูปแบบที่แตกต่างออกไปบ้าง

องค์กรนิสิต ภายในมหาวิทยาลัยมหาสารคาม  ถือเป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนกิจกรรมของสถาบัน  ไม่ว่าจะเป็น  สภานิสิต  องค์การนิสิต  สโมสรนิสิต  กลุ่มนิสิต  และชมรม  ทั้งสังกัดองค์การนิสิตและสโมสรนิสิต

  ในแต่ละปี  องค์กรต่าง ๆ เหล่านี้ จะก่อตั้ง  จัดตั้ง  และถ่ายทอดวิทยายุทธให้กับรุ่นน้อง ๆ ต่อไปเพื่อใช้รักษา และสืบทอดสำนัก (ชมรม) ต่อไปครับ

  เมื่อครั้งที่ผมดำรงตำแหน่ง “ประธาน” ชมรมนาฏศิลป์และดนตรีพื้นเมือง (วงแคน) ผมก็มีโอกาสได้รับการอบรม  “เขียนโครงการ” “เคลียร์โครงการ”  แบบปฏิบัติการ ครับ  พี่ ๆ ก็จะช่วยดูรายละเอียดและให้คำแนะนำ  ซึ่งทำให้มีพื้นฐานพอสมควรในการทำงานและเมื่อมาเจอสถานการณ์จริงก็ทำให้ทำงานได้ง่ายขึ้นซึ่งทุกวันนี้  เราก็อบรมกันครับแต่เป็นแบบ  วิชาการ  คือนั่งฟัง ๆ ๆ ๆ ๆ ๆ  แล้วก็จด ๆ ๆ ๆ ๆ หรือไม่ก็  ตามเอกสารที่แนบมา 


         พอผมจบการศึกษ ก็ได้มีโอกาสได้ผันตัวเอง  จาก นักกิจกรรม  มาเป็น  นักกิจการ  ครับ  และและได้มีโอกาสร่วมจัดโครงการในเชิง อบรมเชิงปฏิบัติการฯ  แล้วเราก็เปลี่ยนรูปแบบการอบรมครับ เป็นแบบ บรรยาย  มูลเหตุที่เราปรับเปลี่ยนก็ด้วยมุ่งหวังว่า  ผู้นำ  ที่เข้ารับการอบรมได้ฝึกทักษะในการฟัง  แล้วทำความเข้าใจ  และเรียนรู้กระบวนการ  พร้อมหวังว่า  รุ่นพี่  จะถ่ายทอดวิทยายุทธ  และความรู้ที่มี  ให้กับ  รุ่นน้อง  ต่อไป...แต่....กลับตรงกันข้าม  ครับ  คือ  นั่งหลับ  พี่ไม่ถ่ายทอด  ไม่สอน (ที่เป็นรูปธรรม)  หรือสอนก็น้อย  สาเหตุนี้เองจึงทำให้ ผู้นำองค์กรนิสิต  ที่เกิดขึ้นใหม่ในแต่ละปี ต้องใช้เวลาเกินกว่า 1 ภาคเรียน  เพื่อเรียนรู้เรื่องราว และกระบวนการในการทำงานที่เกี่ยวข้องกับระบบเอกสาร  แทนที่จะใช้เวลาในส่วนนี้ไปใช้ในการคิดและพัฒนาองค์กรตนเอง


เมื่อครั้งที่ผมเป็นประธานฯ  ช่วงประมาณปี 2543 ครับ  การจราจรและเทคโนโลยีต่าง ๆ ยังมีไม่มากนัก  เช่น  รถจักรยานยนต์  มียังไม่มาก  BB  ยังไม่มี  IPhone  ยังไม่มา  จะประชุมนัดหมายหรือจะทำอะไร  ต้องนัดหมายล่วงหน้า  และ  จดบันทึกไว้  ดังนั้น  ผู้นำนิสิตจะมีสมุดบันทึกส่วนตัวเป็นส่วนใหญ่ครับ

  ถึงแม้ว่าตำแหน่งงานจะเป็นชื่อไป  ไม่ว่าจะเป็น นักกิจการนักศึกษา  พนักงานการศึกษา  หรือ นักวิชาการศึกษา แต่งานของผม พี่ ๆ น้อง ๆ ในกลุ่มงานกิจกรรมนิสิต  มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ก็ยังเหมือนเดิมครับ  คือ  ให้คำแนะนำ  กลั่นกรองและตรวจทานโครงการขององค์กรนิสิต  เป็นที่ปรึกษาองค์กรนิสิตบ้างในบางครั้ง  ร่วมประชุมหารือกับองค์กรนิสิตก็มีบ้าง ฯลฯ  จากงานที่เราทำเป็นประจำทำให้พบเจอวัฒนธรรม รูปแบบที่เปลี่ยนไปในการทำงานขององค์กรนิสิต ครับ  อาทิเช่น

1.  การบันทึกข้อมูลแบบ “จำ” แต่ “ไม่จด”  :  ในเวลาประชุม พบปะพูดคุย เข้าขอคำปรึกษา ผู้นำนิสิตส่วนใหญ่ใช้วิธีการ  “จำ”  แต่ไม่  “จด”ซึ่งต่างจากเราในครั้งก่อน ๆ ครับ  ที่ต้อง  “จด” และ “จำ” อย่างชมรมที่ผมเคยเป็นสมาชิก (ชมรมนาฏศิลป์และดนตรีพื้นเมือง (วงแคน)) ในอดีตนั้น สมาชิกทุกคนโดยเฉพาะ “ฝ่ายนาฏศิลป์” ต้องมี  “สมุดบันทึก”  ทุกคนครับ  เพราะต้องจดบันทึกท่ารำ  และวิธีการรำ  ในแบบที่ตนเองเข้าใจ เพื่อจะได้สอนน้องรุ่นต่อ ๆ ไป รวมถึงทบทวนในกรณีที่หลงลืม แต่ปัจจุบันก็ได้นำเอาวิธีการแบบ “จำ” แต่ “ไม่จด”  มาใช้

2.  เรายังขาดผู้นำแบบ “ด่าอย่างจริงจัง แต่ไม่โกรธอย่างจริงจัง และขอโทษอย่างจริงใจ”ผู้นำนิสิตฯ ที่เราพบส่วนใหญ่ในปัจจุบัน มักไม่ใช่แบบ “ด่าอย่างจริงจัง แต่ไม่โกรธอย่างจริงจัง” คือ  การด่าแบบมีเหตุมีผล  ด่าในเรื่องที่สมควรด่า  ว่าในเรื่องที่สมควรว่า  ไม่ใช่ด่าเพียงเพราะอารมณ์โกรธ ครับ  แต่  เรามักไม่ค่อยพบผู้นำที่ด่าเท่าใดนัก  เพราะกลัวเพื่อนโกรธ  กลัวไม่มีคนช่วยทำงาน  ฯลฯ การ“ขอโทษอย่างจริงใจ” เรายังพบได้แต่ในผู้นำนิสิตจำนวนน้อยครับ  ส่วนมากจะไม่กล้าขอโทษ เมื่อเวลาเราทำผิด  หรือเวลาผิดพลาด  อาจเพราะ เขินอาย  กลัวเสียหน้า  กลัวเสียฟอร์ม  หรือเพราะเหตุผลอื่นใดก็แล้วแต่  ซึ่งมันทำให้ สายสัมพันธ์ภายในองค์กรเริ่มห่างเหินขึ้นและริเริ่มความร้าวฉานในองค์กร ครับ

3.  เรามีผู้นำแบบนักปฏิบัติ  แต่ขาดผู้นำแบบนักการฑูต  ผู้นำนิสิตในมหาวิทยาลัยมหาสารคาม  ส่วนใหญ่เป็นนักปฏิบัติ  มากกว่านักการฑูตคือ  ชอบทำมากกว่าชอบพูด ครับ  ซึ่งผมก็ไม่แน่ใจว่าที่ผู้นำนิสิตส่วนใหญ่ไม่ชอบพูด(เจรจา สนทนา)  เป็นเพราะเหตุผลใดกันแน่  ในวงสนทนาทั้งในวงที่เป็นวิชาการ  หรือวงประชุมทั่วไปในระดับองค์กร กับพบว่า  ผู้นำนิสิตที่เป็นผู้นำการประชุม ขาด ศิลปะ ในการนำสนทนา  เสวนา  พูดคุย ไม่รู้ว่าควรจะเริ่มการประชุมอย่างไรดี เหมือนดูหนังไม่มีตัวอย่างครับ  บางครั้งขาดการ พูดโน้มน้าว  และสร้างแรงบันดาลใจ ให้กับคนในองค์กร 

4.  การถ่ายทอดความรู้ และทำงานแบบ Ctrl+C  และ  Ctrl+V  ท่านอาจารย์มงคล คาร์น อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ฯ ขณะที่ท่านดำรงตำแหน่งผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายพัฒนานิสิต  ท่านเคยบรรยายให้ผู้นำนิสิตฟัง และพูดเรื่องการทำงานแบบ Ctrl+C  และ  Ctrl+V  คือ การก๊อปปี้ (Ctrl+C) และวาง (Ctrl+V) คือการ ท่องจำและจดจำ  กิจกรรมและรูปแบบในปีที่ผ่าน ๆ มาแล้วมาทำใหม่ในปีถัดไป ผมและพี่ ๆ น้อง ๆ ได้เฝ้าสังเกตการทำงานขององค์กรนิสิต  ก็เห็นว่าเป็นจริงอย่างที่อาจารย์ท่านว่า  และมีหนักกว่านั้นอีกครับ  เมื่อก่อนคอมพิวเตอร์ ยังไม่มากเท่าใดนัก งานส่วนใหญ่จึงถูกจัดเก็บในรูปเอกสาร  เมื่อมีการมอบงาน จึงมีการมอบเอกสารด้วย และรุ่นต่อมาก็จะศึกษาข้อมูลตามเอกสาร  หากจะลอกโครงการก็ต้องนั่งพิมพ์ใหม่  แต่ปัจจุบัน  เทคโนโลยีสะดวกขึ้น คอมพิวเตอร์เริ่มแพร่หลาย  การมอบงาน จึงเป็นแบบเอกสาร+ไฟล์งาน  เวลาจะทำโครงการ  องค์กรนิสิตต่าง ๆ จึงใช้วิธีการ  แก้ไฟล์โครงการเดิม ครับ  และสิ่งที่ทำให้เรารู้คือ  บางองค์กรแก้โครงการเก่าไม่หมด  เช่น  เนื้อหาหลักการและเหตุผล  กับกิจกรรม และวัตถุประสงค์ไม่ไปด้วยกัน  บางโครงการ อำเภอหนึ่ง  ไปโผล่อีกจังหวัดหนึ่ง ครับ

5.  ผมพูดคุณฟัง  คุณทำผมดู  แล้วหาคนมาอยู่เป็นเพื่อน(เอง)  ในช่วงเวลาหนึ่งที่เราทำงานกันหัวหน้ากลุ่มงาน พี่พนัส  ปรีวาสนา  ได้คิดสโลแกนของกลุ่มงานกิจกรรมไว้ว่า  พูดให้ฟัง ทำให้ดู อยู่เป็นเพื่อน  ซึ่งเราก็นั่งตรึกตรองกันแล้วว่า จริง  เพราะเราไม่ได้แค่พูด ให้คำแนะนำเท่านั้นแต่เรายังร่วมคิด  และร่วมทำไปกับนิสิตด้วย  อีกทั้งเมื่อนิสิตทำกิจกรรมเราก็อยู่กับเขาจนดึกดื่น และนำเรื่องราว พร้อมกระบวนการเหล่านี้ได้บอกเล่า ถ่ายทอดให้กับองค์กรนิสิตต่าง ๆ เพื่อนำไปใช้กับองค์กรของตน  และองค์กรต่าง ๆ ก็นำไปขยายผลต่อ อยู่ระยะหนึ่ง และเมื่อกิจกรรมนิสิตเริ่มซบเซา  การทำกิจกรรมก็กลับเป็น  ผมพูดคุณฟัง เพราะระดมความคิดแล้วไม่ค่อยได้ข้อสรุป  คุณทำผมดู  งานของคุณ  ๆ ก็ทำไป ไม่ใช่งานของผม  ไม่ใช่หน้าที่ของผม  หาคนมาอยู่เป็นเพื่อน(เอง)  คนทำงานก็อ้างว้างในงานที่ตนเองทำ 

6.  วัฒนธรรมที่ดีขององค์กรในอดีต  อาจไม่ใช่วัฒนธรรมที่ดีในปัจจุบัน  ปัญหาเก่า แต่เวลาเปลี่ยน วิธีแก้ก็ควรจะเปลี่ยน  ผมเชื่อย่างนั้นครับ  ผมมีโอกาสได้ไปเยี่ยมค่ายช่วงปลายฝนต้นหนาว  ขององค์กรที่มีสโลแกนว่า  “รักเพื่อน คิดถึงพี่ เป็นห่วงน้อง”  ซึ่งในอดีตผมก็เคยเป็นสมาชิกชมรมนี้เหมือนกัน  ได้พบกับ  “รุ่นน้อง” ที่เคยทำกิจกรรมร่วมกันมาสมัยเรียน และเป็น “รุ่นพี่” ในชมรมนั้น  มาร่วมออกค่ายกับน้อง ๆ  ซึ่งก็เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี และทุกค่าย  ผมเองก็ได้พูดคุยตามประสาคนรู้จักกัน  และเขาก็เล่าให้ฟังว่า  น้อง ๆ เขาเปลี่ยนไปเยอะนะครับ  เคยประชุมเสร็จดึก ๆ แต่ค่ายนี้เสร็จก่อน 3 ทุ่มอีก  ผมก็แซวเล่น ๆ ไปว่า  เขาคงไม่มีอะไรจะคุยมั๊ง  คงเหนื่อยจากการทำงาน จึงอยากรีบนอน  แล้วเขาก็เล่าต่อไปอีกว่า  ดูน้องเขาเหมือนเกร็ง ๆ เวลาทำงาน  ทำกิจกรรม  ทั้ง ๆ ที่พวกผมก็ทำตัวเป็นกันเอง  หยอกล้อเล่นหัวตามปกติ  ผมก็พูดเล่น ๆ ไปว่า  ช่องว่างระหว่างวัยมั๊ง  การที่มีผู้หลักผู้ใหญ่อยู่ในค่าย ถึงแม้จะสนิทเพียงไรก็ตาม ผู้ใหญ่ก็ยังเป็นผู้ใหญ่ ซึ่งเขาเป็นผู้น้อย...


หมายเลขบันทึก: 516566เขียนเมื่อ 17 มกราคม 2013 11:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มกราคม 2013 05:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ผมขอชื่นชมในความกล้าหาญของพี่ชาย(เพื่อนร่วมงานหรือครอบครัวคนทำกิจกรรม) ที่บอกเล่าเรื่องราวในวันวานผ่านเวทีกิจกรรมนิสิตแบบนี้ ซึ่งผมกำลังรวมรวมความกล้าที่จะถ่ายทอดเรื่องราวบางช่วงในชีวิตการทำกิจรรมนิสิตมหาวิทยาลัยในลักษณะนี้เช่นกันครับ...

ขอชมว่ายอดเยี่ยมมากๆ รออ่านการเขียนเพิ่มขึ้น

ไม่เสียหลายที่รอและกระตุ้นให้เกิดงานชิ้นนี้
เยี่มครับ นี่คือการ "สังเคราะห์"  ที่มีพลัง  เป็นรูปธรรม  

เดี๋ยวมาแลกเปลี่ยนใหม่ ...
ตอนนี้มีภารกิจด่วน...

ขอบคุณครับ

ขอบคุณอาจารย์ขจิต มากครับที่แวะเข้ามาเยี่ยมเยียน  ผมจะพยายามนะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท