Praepattra
ผู้ช่วยศาตราจารย์ Praepattra Kiaochaoum

พัฒนาการของการประชุมสุดยอดอาเซียน



การประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 1  จัดขึ้นระหว่างวันที่ 23-24 กุมภาพันธ์ 2519 ที่เกาะบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย
โดยผู้นำอาเซียนได้ประกาศเจตนารมณ์ที่จะส่งเสริมสันติภาพและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
และได้แสดงเจตนารมณ์ในการที่จะพัฒนาความสัมพันธ์และความร่วมมือกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค ทั้งนี้ ในระหว่างการประชุมผู้นำอาเซียนได้ลงนามใน ปฏิญญาสมานฉันท์อาเซียน” (Declaration of ASEAN Concord) มีวัตถุประสงค์ในการที่จะเสริมสร้างพลานุภาพแห่งชาติอย่างเร่งด่วนด้วยการเพิ่มพูนความร่วมมือทางการเมืองเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม เอกสารฉบับที่สองที่มีการลงนามกันคือ สนธิสัญญาไมตรีและความร่วมมือในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”(Treaty of Amity and Cooperation in Southeast Asia: TAC) มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมสันติภาพมิตรภาพ และความรวมมืออย่างถาวรระหว่างประชาชนในประเทศสมาชิก เอกสารฉบับที่สาม คือความตกลงว่าด้วยการจัดตั้งสำนักเลขาธิการอาเซียน”เพื่อเป็นองค์กรกลางรับผิดชอบและประสานภารกิจต่างๆของอาเซียน เพื่อปรับปรุงการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น


การประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 2  จัดขึ้นระหว่างวันที่ 4-5 สิงหาคม 2520 ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย

โดยการประชุมนี้เป็นการประชุมเนื่องในโอกาสก่อตั้งอาเซียนครบรอบ 10 ปี ซึ่งผู้นำอาเซียนได้ยืนยันให้ใช้ปฏิญญากรุงเทพฯ (ปฏิญญาอาเซียน)” ซึ่งได้ประกาศไว้ตอนก่อตั้งอาเซียนและ “ปฏิญญาสมานฉันท์อาเซียน” เป็นแนวทางในการส่งเสริมความสัมพันธ์และความร่วมมือของอาเซียนให้มีความเข้มแข็งและใกล้ชิดยิ่งขึ้น

 

การประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 3  จัดขึ้นระหว่างวันที่ 14-15 ธันวาคม 2530 ณ กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์

มีความมุ่งหวังที่จะให้จัดตั้งเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์แห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Southeast  Asia Nuclear-Weapon-Free-Zone-SEANWFZ) และเขตสันติภาพ เสรีภาพและความเป็นกลาง (ZOPFAN – Zone of Peace, Freedom and Neutrality) ที่ประชุมได้ออก ปฏิญญามะนิลาปี 2530” (Manila Declaration 1987) เพื่อยืนยันถึงความสำคัญของการรวมตัวของอาเซียนทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมรวมทั้งให้ส่งเสริมการตระหนักรับรู้เกี่ยวกับอาเซียนในหมู่ประชาชนอาเซียนและส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวระหว่างปรเทศสมาชิกอาเซียนโดยประกาศให้ปี 2535 ซึ่งเป็นปีครบรอบการก่อตั้งอาเซียน 25
ปี เป็นปีการท่องเที่ยวอาเซียน
(Visit ASEAN Year)


การประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 4  จัดขึ้นระหว่างวันที่ 27-29 มกราคม 2535 ที่ประเทศสิงคโปร์

ในการประชุมครั้งนี้ได้ออกปฏิญญาสิงคโปร์” (Singapore Declaration)โดยสาระระบุถึงการที่อาเซียนจะให้ความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับสหประชาชาติและองค์การระหว่างประเทศในการปฏิบัติตามความตกลงเพื่อสันติภาพ และให้ใช้เวทีการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา (ASEAN Post Ministerial Conferences-PMC) ในการส่งเสริมความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงกับประเทศนอกอาเซียน นายอานันท์ ปันยารชุน นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น เป็นผู้เสนอให้อาเซียนพิจารณาเรื่องการจัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียน (ASEAN Free Trade Area: AFTA) อย่างจริงจัง เพื่อใช้เป็นแนวทางหลักในการเสริมสร้างความร่วมมือด้านการค้า และแปรสภาพให้อาเซียนเป็นแหล่งดึงดูดการลงทุนจากภายนอก พร้อมกับการเป็นตลาดร่วมในระดับหนึ่งที่กว้างขวางกว่าเดิม  ทั้งนี้มีการจัดทำกรอบความตกลงว่าด้วยการส่งเสริมความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจของอาเซียน
(Framework Agreement on Enhancing ASEAN Economic Cooperation)


การประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 5  จัดขึ้นระหว่างวันที่ 14-15 ธันวาคม 2538 ณ กรุงเทพฯ

ที่ประชุมได้ออกแถลงการณ์ ปฏิญญาสุดยอดกรุงเทพ” (Bangkok Summit Declaration) เพื่อแสดงเจตนารมณ์ที่จะให้อาเซียนเสริมสร้างความแข็งแรงในเรื่องอัตลักษณ์และความรู้สึกของความเป็นชุมชนอาเซียนร่วมกันและได้มีการลงนาม สนธิสัญญาเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์แห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Treatyon the Southeast  Asia Nuclear-Weapon-Free-Zone)  รวมทั้งที่ประชุมได้มีการลงนามในกรอบความตกลงอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านทรัพย์สินทางปัญญา (ASEAN Framework Agreement on  Intellectual Property Cooperation) เพื่อเป็นกรอบในการส่งเสริมความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจและสนับสนุนการจัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียน  ความริเริ่มที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ ที่ประชุมเห็นพ้องให้มีการประชุมสุดยอดเป็นประจำทุก 3 ปี และให้มีการประชุมระดับผู้นำอย่างไม่เป็นทางการ (Informal Summit) เป็นประจำทุกเดือนธันวาคมของทุกปี (ยกเว้นในปีที่มีการประชุมสุดยอดอยู่แล้ว)

 

การประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 6  จัดขึ้นระหว่างวันที่ 15-16 ธันวาคม 2541 ณ กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม 

ที่ประชุมได้ ปฏิญญาฮานอย” (Ha Noi Declaration) เพื่อประกาศเรื่องการรับกัมพูชาเข้าเป็นสมาชิกลำดับที่สิบของอาเซียนและยืนยันเจตนารมณ์ที่จะร่วมมือกันอย่างเร่งด่วนและใกล้ชิดในการปฏิรูปทางเศรษฐกิจและการเงินเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคมที่เกิดจากวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจของภูมิภาค
ที่ประชุมได้ประกาศการจัดตั้งเขตการลงทุนอาเซียน (ASEAN Investment Area: AIA) เพื่อส่งเสริมการลงทุนในภูมิภาค  รวมทั้งเห็นพ้องให้ลดปัญหาความยากจนให้มีการพัฒนาชนบทซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุดสำหรับนโยบายในการฟื้นฟูและพัฒนาของประเทศสมาชิก  อาเซียนได้ให้การรับรอง แผนปฏิบัติการฮานอย”(Ha Noi Plan of Action) ซึ่งเป็นแผนปฏิบัติการ 6 ปี ครอบคลุมปี 2542-2547) เพื่อเป็นแนวทางในการทำให้อาเซียนบรรลุวิสัยทัศน์อาเซียนค.ศ.2000 (ASEAN Vision 2020) ที่ได้ประกาศไว้ในระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการเนื่องในโอกาสครบรอบวันก่อตั้งอาเซียนครบ 30 ปี เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2540 ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย  ซึ่งในการประชุมครั้งนี้นอกจากจะมีการประกาศวิสัยทัศน์อาเซียนแล้ว ยังมีความเห็นพ้องต่อข้อตกลงความเข้าใจเรื่องการจัดตั้งมูลนิธิอาเซียน เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนกิจกรรมด้านการศึกษา การฝึกอบรม สุขภาพและด้านวัฒนธรรม โดยมีการจัดให้เยาวชนและนักเรียนอาเซียนได้มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ร่วมกัน


การประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 7  จัดขึ้นระหว่างวันที่ 5-6 พฤศจิกายน 2544 ณ บันดาร์ เสรี เบกาวัน ประเทศบรูไน ดารุสซาลาม

ที่ประชุมได้ออก ปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยการดำเนินการร่วมกันในการต่อต้านการก่อการร้าย” (ASEAN Declaration on Joint Action to Counter Terrorism) เพื่อประณามเหตุการณ์การก่อการร้ายที่สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2544 เห็นพ้องให้ปรับปรุงแผนปฏิบัติการฮานอย (Mid-Term  Review of the Ha Noi Plan of Action) สนับสนุนให้จัดตั้ง แผนงานเพื่อการรวมตัวอาเซียน”(Roadmap for Integration of ASEAN – RIA) เพื่อกำหนดเป้าหมายและระยะเวลาในการดำเนินการให้ชัดจน รวมทั้งให้จัดตั้งสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน (ASEAN Buiness Advisory Council – ABAC) และให้จัดการประชุมสุดยอดอาเซียนภาคธุรกิจ
(ASEAN Business Summit) เพื่อส่งเสริมนักธุรกิจให้ได้เข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมทางเศรษฐกิจของอาเซียน

 

การประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 8  จัดขึ้นระหว่างวันที่ 4-5 พฤศจิกายน 2545 ณ กรุงพนมเปญ
ประเทศกัมพูชา
ที่ประชุมย้ำเรื่องการมุ่งไปสู่การเป็นประชาคมอาเซียนใน 4 ด้าน คือ การร่วมมือในโครงการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (Greater Mekong Subregion Program) การส่งเสริมการท่องเที่ยวปลายทางเดียวอาเซียน (Single Tourism Destination) การส่งเสริมความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในอาเซียนในการต่อต้านการก่อการร้ายและการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติตามที่อาเซียนได้ให้สัตยาบันในพิธีสารเกียวโต  ที่ประชุมได้ลงนามความตกลงด้านการท่องเที่ยวอาเซียน (ASEAN Tourism Agreement)
เพื่อส่งเสริมด้านการท่องเที่ยว นอกจากนี้ได้ย้ำเรื่องการให้ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community – AEC) เป็นเป้าหมายสูงสุดในการรวมตัวอาเซียน


การประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 9  จัดขึ้นระหว่างวันที่ 7-8 ตุลาคม 2546 ที่เกาะบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย

ผุ้นำอาเซียนได้ประกาศ ปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยความร่วมมืออาเซียน II” (Declaration of ASEAN Concord II) หรือ ความร่วมมือบาหลี II”(Bali Concord II) เรื่องการจัดตั้งประชาคมอาเซียนในสามเสา ซึ่งประกอบด้วยการจัดตั้งประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ภายในปี พ.ศ.2563 นอกจากนี้ที่ประชุมได้รับรอง แผนปฏิบัติการประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน”(ASEAN Economic Community Plan of Action) เพื่อให้ใช้เป็นแนวทางในการนำไปสู่การจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน


การประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 10 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 29-30 พฤศจิกายน 2547 ที่กรุงเวียงจันทน์  ประเทศลาว

ที่ประชุมได้ลงนาม แผนปฏิบัติการเวียงจันทน์”(Vientiane Action Programme : VAP) ซึ่งเป็นแผนปฏิบัติการระยะเวลา 6 ปี ตั้งแต่ปี 2547-2553 โดยจะใช้แทนแผนปฏิบัติการฮานอย ที่ประชุมได้รับรองเอกสาร แผนปฏิบัติการประชาคมความมั่นคงอาเซียน”(ASEAN Security Community Plan of Action) และ แผนปฏิบัติการประชาคมสังคม-วัฒนธรรมอาเซียน” ” ASEAN Socio-Cultural Community Plan of Action)
รวมทั้งเห็นพ้องให้จัดตั้งกองทุนอาเซียนเพื่อการพัฒนา (ASEAN Development Fund – ADF) เพื่อส่งเสริมการดำเนินงานของแผนปฏิบัติการเวียงจันทน์และเห็นพ้องให้จัดการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก ซึ่งประกอบด้วยประเทศสมาชิกอาเซียน จีน ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ครั้งแรกที่ประเทศมาเลเซีย ในปี พ.ศ.2548

 

การประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 11  จัดขึ้นระหว่างวันที่ 12-14 ธันวาคม 2528 ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย

ที่ประชุมได้ลงนามในปฏิญญากัวลาลัมเปอร์ว่าด้วยการจัดทำกฎบัตรอาเซียน”(Kuala Lumpur Declaration on the Establishment of the ASEAN Charter) เพื่อเป็นแนวทางในการจัดทำกฎบัตรอาเซียน
โดยจัดตั้งผู้ทรงคุณวุฒิเรื่องกฎบัตรอาเซียน
(Eminent Persons Group on the ASEAN Charter – EPG) เพื่อจัดทำข้อเสนอเกี่ยวกับทิศทางการรวมตัวของอาเซียนและเนื้อหาสาระของกฎบัตรอาเซียน
และได้จัดตั้งคณะทำงานระดับสูง (High Level Task Force) เพื่อทำหน้าที่ในการยกร่างกฎบัตรอาเซียน


การประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 12  จัดขึ้นระหว่างวันที่ 11-15 มกราคม 2550 ณ เมืองเซบู ประเทศฟิลิปปินส์ที่ประชุมได้ลงนาม ปฏิญญาเซบูเพื่อมุ่งไปสู่ประชาคมที่มีความเอื้ออาทรและแบ่งปันที่เป็นหนึ่งเดียว”(Cebu Declaration Towards One Caring and Sharing Community) เพื่อย้ำเจตนารมณ์ที่จะให้อาเซียนมุ่งไปสู่การเป็นประชาคมที่มีความเอื้ออาทรและแบ่งปันทั้งในด้านทรัพยากรมนุษย์ สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรม รวมทั้งเห็นพ้องให้ส่งเสริมการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (Millennium Development Goals – MDGs) ที่ได้มีการประกาศในช่วงการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหประชาชาติ ครั้งที่ 2 ในปี 2548 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการลดความยากจนและความไม่เท่าเทียมและการพัฒนาพื้นฐานและคุณภาพชีวิตของประชาชน นอกจากนี้ ที่ประชุมได้ลงนามใน ปฏิญญาเซบุว่าด้วยการเร่งจัดตั้งประชาคมอาเซียนภายในปี ค.ศ.2015” (Cebu Declaration on the Acceleration of the Establishment of an ASEAN Community by 2015) เพื่อเร่งการจัดตั้งประชาคมอาเซียนให้เร็วขึ้นอีก 5 ปี จากปี 2563 เป็นปี 2558 และได้ออก ปฏิญญาเซบุว่าด้วยแผนงานเรื่องกฎบัตรอาเซียน”(Cebu Declaration on the Blueprint of the ASEAN Charter) เพื่อรับรองรายงานของคณะผู้ทรงคุณวุฒิเกี่ยวกับการร่างกฎบัตรอาเซียนและมอบหมายให้คณะทำงานระดับสูงยกร่างกฎบัตรให้แล้วเสร็จเพื่อเสนอที่ประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 13 ในเดือนพฤศจิกายน 2550 ที่ประเทศสิงคโปร์ให้ความเห็นชอบ

การประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 13  จัดขึ้นระหว่างวันที่ 18-22 พฤศจิกายน 2550 ที่ประเทศสิงคโปร์

โดยออกแถลงการณ์ ปฏิญญาสิงคโปร์ว่าด้วยกฎบัตรอาเซียน”(Singapore Declaration on the ASEAN Charter) ประกาศรับรองกฎบัตรอาเซียนซึ่งถือเป็นความตกลงทางประวัติศาสตร์ ในช่วงเวลาที่อาเซียนก่อตั้งครบ 40 ปี กฎบัตรอาเซียนได้ระบุเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสำคัญ เช่น การกำหนดให้มีการประชุมสุดยอดอาเซียนปีละ 2 ครั้ง การให้ทุกประเทศสมาชิกแต่งตั้งผู้แทนถาวรอาเซียนในคณะกรรมการผู้แทนถาวรในกรุงจาการ์ตา และการจัดตั้งองค์กรสิทธิมนุษยชน นอกจากนี้ที่ประชุมได้ให้ความเห็นชอบ ปฏิญญาแผนงานประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน”(Declaration on the ASEAN Economic Community Blueprint) ซึ่งจะใช้เป็นแวทางในการมุ่งไปสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนภายในปี 2558


การประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 14  จัดขึ้นระหว่างวันที่ 27 กุมภาพันธ์ – 1 มีนาคม 2552 ที่อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี

โดยผู้นำอาเซียนได้ลงนามใน ปฏิญญาชะอำ หัวหิน ว่าด้วยแผนงานสำหรับประชาคมอาเซียน ปี ค.ศ.2009-2015” (Cha-am Hua Hin Declaration on the Roadmap for an ASEAN Community (2009-2015)) ซึ่งครอบคลุมแผนงานการเป็นประชาคมการเมืองและความมั่นคง  ประชาคมเศรษฐกิจ และประชาคมสังคมและวัฒนธรรรม และยังได้ให้การรับรองเอกสารอื่นๆที่มีความสำคัญ อาทิ แผนงานข้อริเริ่มเพื่อการรวมตัวของอาเซียน ฉบับที่สอง ค.ศ.2009-2015” (2nd Initiative for ASEAN Integration (IAI) Work Plan) ซึ่งเป็นแผนงานเพื่อลดช่องว่างทางการพัฒนาและส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนเพื่อสานต่อแผนงานข้อริเริ่มเพื่อการรวมตัวของอาเซียนฉบับแรก (ครอบคลุมระหว่างปี 2545-2551) ที่ได้มีการรับรองในระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการครั้งที่ 4 ในปี 2543 ที่ประเทศสิงคโปร์ และ แผนงานการจัดตั้งประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน”(ASEAN Political-Security Community Blueprint”ซึ่งทำให้อาเซียนมีแผนงานรองรับการเป็นประชาคมอาเซียนครบทั้งสามเสา


การประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 15  จัดขึ้นระหว่างวันที่ 23-25 ตุลาคม 2552 ที่อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรีและที่อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

มีผู้นำของอาเซียนและผู้นำประเทศคู่เจรจา ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอินเดียเข้าร่วมประชุมครบทั้ง 16 ประเทศ รวมทั้งมีเลขาธิการอาเซียนประธานธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเซีย (ADB) และผู้อำนวยการบริหารของคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งเอเชียและแปซิฟิก(ESCAP) เข้าร่วมด้วยหัวข้อหลักสำหรับการประชุมในครั้งนี้คือ “เชื่อมโยงประชาคมสร้างเสริมประชาชน”(Enhancing Community Empowering People) เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับประชาชนและรองรับการรวมตัวเป็นประชาคมอาเซียน โดยให้ความสำคัญกับการศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และการรับมือกับปัญหาที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อความกินดีออยู่ดีของประชาชน ที่ประชุมได้รับรอง ปฏิญญาจัดตั้งคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน”และลงนามความตกลงว่าด้วยเอกสิทธิ์และความคุ้มกันของอาเซียน

การประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 16  จัดขึ้นระหว่างวันที่ 8-9 เมษายน 2553 ณ กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม  ผู้นำอาเซียนได้ย้ำถึงเจตนารมณ์ร่วมกันที่จะเร่งดำเนินการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการรวมตัวเป็นประชาคมอาเซียนในปี2558 โดยเฉพาะการแปลงวิสัยทัศน์ต่างๆ ที่ผู้นำเคยตกลงกันไว้ให้เป็นการปฏิบัติที่มีผลอย่างเป็นรูปธรรม  รวมทั้งได้หารืออย่างกว้างขวางเกี่ยวกับการเสริมสร้างบทบาทของอาเซียนในโครงสร้างความสัมพันธ์ในภูมิภาค(regional architecture) และแนวทางเสริมสร้างความร่วมมือเพื่อแก้ไขปัญหาท้าทายต่าง
ๆ ทั้งในระดับโลกและระดับภูมิภาค ภายใต้หัวข้อหลักว่า ‘มุ่งสู่ประชาคมอาเซียน : จากวิสัยทัศน์สู่การฏิบัติ’ (Towards the ASEAN Community :  From Vision to Action) ในการประชุมครั้งนี้ ได้มีการลงนามในพิธีสารว่าด้วยกลไกระงับข้อพิพาทของกฎบัตรอาเซียนและเข้าร่วมพิธีฉลองในวาระที่มีการจัดตั้งคณะกรรมาธิการอาเซียนว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิเด็กและสิทธิสตรีอาเซียน (ASEAN Commission on the Promotion and Protection of the Rights of Women and Children — ACWC) ซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้อาเซียนเป็นองค์กรที่มีกฎกติกาในการทำงานและมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง  นอกจากนี้ที่ประชุมเห็นชอบให้สลับวาระการดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนระหว่างบรูไนกับอินโดนีเซีย เป็นผลให้อินโดนีเซีย กัมพูชา และบรูไน จะดำรงตำแหน่งประธานในปี 2554 2555 และ 2556 ตามลำดับ อีกทั้งยังได้เห็นชอบในหลักการให้จัดการประชุมสุดยอดอาเซียน-อินเดีย
สมัยพิเศษในปี 2555 เพื่อฉลองวาระครบรอบ 10 ปีความสัมพันธ์อาเซียน-อินเดีย


การประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 17  จัดขึ้นระหว่างวันที่ 28-31 ตุลาคม 2553 ณ กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม

สาระสำคัญในการประชุมสุดยอดครั้งนี้ คือ การจัดทำ Master Plan on  ASEAN Connectivity หรือแผนแม่บทในการเชื่อมโยงอาเซียน ที่มาของแนวคิดเรื่อง ASEAN Connectivity นี้ เกิดขึ้นในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 15 ที่ประเทศไทย  เมื่อปลายปี 2009 โดยมองว่า การจัดตั้งประชาคมอาเซียนภายในปี 2015 นั้น ประชาคมอาเซียนจะมีประสิทธิภาพก็ต่อเมื่อมีความเชื่อมโยงกัน ทั้งในด้านสินค้า บริการ ทุน และคน ใน Master Plan ได้มีการกำหนดรายละเอียดต่างๆ สำหรับช่วงปี 2011 ถึง 2015 เพื่อเชื่อมอาเซียนใน 3 ด้าน ด้านแรกเรียกว่า physical connectivity คือการเชื่อมโยงกันทางกายภาพ  ด้านที่ 2 institutional connectivity เป็นการเชื่อมโยงกันทางสถาบันและด้านที่ 3 people-to-people connectivity คือการเชื่อมโยงกันในระดับประชาชน


การประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 18  จัดขึ้นระหว่างวันที่ 7-8 พฤษภาคม 2554 ณ กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย

สาระสำคัญของการประชุมครั้งนี้ คือเรื่อง ความขัดแย้งไทย-กัมพูชา  ที่ประชุมยินดีที่ทั้งไทยและกัมพูชา จะแก้ไขปัญหาความขัดแย้งอย่างสันติด้วยการเจรจา เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาที่ยอมรับได้ทั้ง 2 ฝ่าย โดยการแก้ปัญหาจะใช้กลไกทวิภาคีที่มีอยู่รวมทั้งการเข้ามาปฏิสัมพันธ์จากอินโดนีเซีย ในฐานะประธานอาเซียน ที่ประชุมยินดีที่ทั้ง 2 ฝ่ายตกลงในเรื่องของเอกสารระบุอำนาจหน้าที่ของผู้สังเกตการณ์อินโดนีเซียที่จะส่งเข้ามาในบริเวณที่มีความขัดแย้งนอกจากนี้ยังได้มีการประชุม3 ฝ่าย ซึ่งเป็นการประชุมนอกรอบ มีผู้นำของอินโดนีเซีย คือ ประธานาธิบดี Susilo  Bambang Yudhoyono เป็นประธานการประชุม โดยมีนายกฯ อภิสิทธิ์ และ Hun Sen เข้าร่วมประชุม อย่างไรก็ตาม ผลการประชุมก็ไม่ได้มีอะไรคืบหน้าและไม่ได้มีเอกสารผลการประชุมออกมา

 

การประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 19  จัดขึ้นระหว่างวันที่ 17-19 พฤศจิกายน 2554 ณ บาหลี ประเทศอินโดนีเซีย

นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 19 โดยมีประเด็นการหารือหลัก ได้แก่ การสร้างประชาคมอาเซียนในปี ๒๕๕๘ การเสริมสร้างบทบาทของอาเซียนในเวทีโลกและประเด็นระดับภูมิภาคและประเด็นระหว่างประเทศต่างๆรวมทั้งได้เข้าร่วมการประชุมผู้นำอาเซียนกับสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน (ASEAN  Leaders’ Meeting with the ASEAN Business Advisory Council: ABAC) ด้วย


 การประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 20  จัดขึ้นระหว่างวันที่ 3-4 เมษายน 2555 ณ กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา ภายใต้หัวข้อ "One Community, One Destiny" นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียนโดยการประชุมครั้งนี้เป็นการติดตามความคืบหน้าในการสร้างประชาคมอาเซียนและแลกเปลี่ยนความเห็นในประเด็นภูมิภาคและระหว่างประเทศให้ความสำคัญกับการหารือเรื่องการพัฒนาประชาคมอาเซียน การเดินทางข้ามประเทศในภูมิภาคอาเซียนอย่างสะดวกและการใช้วีซาเดียวของประเทศอาเซียน การปฏิบัติตามกฎบัตรอาเซียนเพื่อบรรลุเป้าหมายต่างๆและการส่งเสริมให้เศรษฐกิจอาเซียนฟื้นตัวท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจโลกอ่อนแรง

ที่ประชุมได้ยกประเด็นเหตุการณ์ประเทศพม่าปฏิรูปเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยในระหว่างการปิดท้ายการประชุมสุดยอดอาเซียนโดยผู้นำอาเซียนได้เรียกร้องถึงนานาประเทศให้ยกเลิกการคว่ำบาตรต่อประเทศพม่าอันจะนำมาซึ่งประโยชน์แก่ประชาคมนานาชาติและโดยเฉพาะอย่างยิ่งแก่กลุ่มประเทศอาเซียนเพื่อสนับสนุนให้ประเทศพม่ามีโอกาสพัฒนาก้าวไปข้างหน้าอย่างต่อเนื่องและอย่างไม่ถอยกลับ ด้วยการสนับสนุนที่ไม่มีการเคลือบแฝง, ต่อเนื่องคงที่ และ ทันท่วงทีโดยเฉพาะในแง่ของการให้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจและการเพิ่มการค้าและการลงทุน 

ประเด็นที่ได้รับการกล่าวถึงมากระหว่างการประชุม คือ ข้อพิพาทอันสร้างความแตกแยกระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนเกี่ยวกับทะเลจีนใต้ อินโดนีเซียผู้เป็นคนกลางไกล่เกลี่ยหาทางออกที่เป็นที่ยอมรับร่วมกันได้สำหรับทุกฝ่าย
โดยที่ประชุมมีมติการร่างข้อปฏิบัติจรรยาบรรณ(Code of Conduct (CoC)) เกี่ยวกับการแสวงผลประโยชน์ในน่านน้ำทะเลจีนใต้ควบคู่ไปกันกับการหาข้อมูลจากผู้มีส่วนได้เสียที่ได้รับผลกระทบสำคัญทั้งหมด
อันมีประเทศหลักๆ เช่น จีน


การประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 21  จัดขึ้นระหว่างวันที่ 18-20 พฤศจิกายน 2555 ณ กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา ที่ประชุมเห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องเร่งรัดการดำเนินการตามแผนงานจัดตั้งประชาคมอาเซียนทั้ง
3 เสาหลัก ให้ทันตามเป้าหมายปี 2558 โดยให้กำหนดประเด็นความสำคัญ (priority issues) ส่วนการดำเนินการตามแผนแม่บทว่าด้วยความเชื่อมโยงในอาเซียนนั้น
ที่ประชุมเห็นว่าความท้าทายที่สำคัญที่สุดคือการระดมทุนให้เพียงพอ โดยจำเป็นต้องหานวัตกรรมทางการเงินหรือแนวทางระดมทุนอื่นๆจากประเทศนอกภูมิภาคและภาคเอกชน นอกจากนี้ ที่ประชุมยินดีต่อการรับรองปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (ASEAN Human Rights Declaration - AHRD) ซึ่งจะเป็นก้าวสำคัญของอาเซียนในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในภูมิภาคส่วนประเด็นด้านความมั่นคงรูปแบบใหม่่
ไทยเรียกร้องให้ประเทศภาคีร่วมมือกันจัดการปัญหายาเสพติดเพื่อให้อาเซียนเป็นเขตปลอดยาเสพติดในปี
2558 และเร่งพิจารณาการประชุมอาเซียนว่าด้วยการค้ามนุษย์ รวมถึงการบริหารจัดการภัยภิบัติ
ซึ่งไทยได้ย้ำถึงความพร้อมในการเป็นคลังสำรองข้าวยามฉุกเฉิน

ภาพรวมของผลการประชุม ได้แก่

(1) การสร้างประชาคมอาเซียน ซึ่งที่ประชุมสุดยอดได้กำหนดให้วันที่ 31 ธ.ค.2558 เป็นวันบรรลุเป้าหมายการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน

(2) การสร้างความเป็นเอกภาพและทำให้อาเซียนเป็นศูนย์กลางของสถาปัตยกรรมในภูมิภาค
(3) การบูรณาการทางเศรษฐกิจ โดยประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศและประเทศคู่ค้าที่ทำ FTA กับ อาเซียนได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลี อินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ประกาศที่จะเจรจาจัดทำ Regional Comprehensive Economic Partnership (RCEP) ในช่วงต้นปี2556 ซึ่งจะเป็นเขตการค้าเสรีระดับภูมิภาคที่ครอบคลุมตลาดครึ่งหนึ่งของโลก

(4) การส่งเสริมความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียน ซึ่งในเรื่องนี้ไทยได้เน้นย้ำถึงความร่วมมือของไทยกับเมียนมาร์ในการพัฒนาโครงการท่าเรือน้ำลึกทวาย



หมายเลขบันทึก: 516569เขียนเมื่อ 17 มกราคม 2013 12:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มกราคม 2013 15:04 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท