การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย(End of life care)


 เมื่อวันพุธที่ 9 มกราคม พ.ศ.2556 ข้าพเจ้าได้มีโอกาสฟังการบรรยายในหัวข้อเรื่องการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย(End of life care)โดยอาจารย์รัชณีย์ ป้อมทอง จากโรงพยาบาลเซนต์หลุยส์ ก่อนอื่นต้องขอกราบขอบพระคุณอาจารย์ที่ได้ให้ความรู้ในเรื่องนี้ 

ผู้ป่วยระยะสุดท้าย หมายถึง ผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยแล้วว่าสภาวะการป่วยไข้เป็นระยะลุกลาม เรื้อรัง หรือเป็นการป่วยไข้ที่เข้าสู่ระยะท้ายๆของโรค ซึ่งไม่มีวิธีรักษาให้หายได้ (น.พ.สถาพร ลีลานันทกิจ,2552)

เป้าหมายของการดูแลผู้ป่วยในระยะสุดท้าย

1. ช่วยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

2.บรรเทาอาการทุกข์ทรมานต่างๆทั้งทางกายและจิตใจ

3. ช่วยให้ปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงและความสูญเสียต่างๆ

4. ช่วยให้ได้ทำภารกิจต่างๆที่ยังห่วงกังวลให้สำเร็จ

5. ช่วยให้เสียชีวิตอย่างสมศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ โดยมีความทุกข์ทรมานน้อยที่สุด

แนวคิด

 การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายจะต้องคำนึงถึงอาการและสภาพร่างกายของผู้ป่วย โดยการรักษาดูแลแบบประคับประคองทั้งในเรื่องการหายใจ การรับสารอาหาร การขับถ่ายและการพักผ่อน นอกจากนี้ปัจจัยอื่นๆที่เกี่ยวข้องได้แก่ สิ่งแวดล้อม ซึ่งสิ่งแวดล้อมจะต้องมีความสงบ เหมาะแก่การพักผ่อน ,จิตใจและจิตวิญญาณ ซึ่งคำว่าจิตวิญญาณหมายถึง ความเชื่อ ความศรัทธา ที่มีต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เช่น อาจเปิดโอกาสให้ระบายความรู้สึกเกี่ยวกับความเชื่อ ความศรัทธา และความรู้สึกต่อบุคคลที่รัก สนับสนุนด้านความเชื่อเเละพิธีกรรมทางศาสนา โดยปัจจัยทั้งหมดนี้จะต้องมองเป็นองค์รวม

สำหรับวิชาชีพกิจกรรมบำบัดก็เป็นอีกวิชาชีพหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับผู้ป่วยระยะสุดท้าย สิ่งสำคัญที่เราต้องทำก็คือ ทำให้ผู้ป่วยมีความสุขในระยะสุดท้ายให้มากที่สุด โดยกรอบอ้างอิงทางกิจกรรมบำบัดที่เกี่ยวข้องกับผู้ป่วยในระยะสุดท้ายคือ Psycho spiritual integration Frame of Reference ซึ่งมีแนวคิดดังต่อไปนี้

  1. Becoming : ผู้รับบริการจะต้องทราบความเป็นไปของอาการ เข้าใจลักษณะอาการของโรคที่จะเกิดขึ้น
  2. Meaning : ให้ผู้รับบริการทำกิจจกรรมที่มีความหมายและเป็นกิจกรรมที่ตรงกับความสนใจของผู้รับบริการเพื่อให้ผู้รับบริการรับรู้ว่าตนเองมีคุณค่า 
  3. Centredness :ผู้รับบริการรู้สึกมีความสุข และรับรู้คุณค่าของตนเอง
  4. Connectedness : ปรับสภาพแวดล้อมให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมความเชื่อ เพื่อให้ผู้ป่วยจากไปอย่างสงบสุข
  5. Transcendence : ผู้รับบริการเสียชีวิตอย่างสมศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์โดยให้มีความทุกข์ทรมานน้อยที่สุด

 ความตายเป็นสัจธรรมของชีวิตที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ จึงเป็นหน้าที่ของทีมสุขภาพหรือผู้ดูแลที่จะช่วยให้ผู้ป่วยระยะสุดท้ายเสียชีวิตอย่างสมศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ โดยมีความทุกข์ทรมานน้อยที่สุด 


หมายเลขบันทึก: 516113เขียนเมื่อ 13 มกราคม 2013 18:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 มกราคม 2013 18:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ทราบว่าความตายเป็นสัจธรรมของชีวิตที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ก็อดที่จะเศร้าไม่ได้นะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท