บุคคลล้มละลายทำพินัยกรรมได้หรือไม่


บุคคลล้มละลายทำพินัยกรรมได้หรือไม่

บุคคลล้มละลายทำพินัยกรรมได้หรือไม่

การทำพินัยกรรม กรณีลูกหนี้ถูกฟ้องล้มละลาย (คดีสามัญ) [1] ใน ๒ กรณี

๑. ถ้าลูกหนี้ถูกฟ้องล้มละลาย แต่ยังไม่มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์

๒. ถ้าลูกหนี้ถูกฟ้องล้มละลาย มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์แล้ว

แนวพิจารณา

การทำพินัยกรรม [2] เฉพาะลูกหนี้ที่เป็นบุคคลธรรมดาเท่านั้น เพราะ นิติบุคคลทำพินัยกรรมไม่ได้ เฉพาะคดีสามัญเท่านั้น ไม่รวมคดีฟื้นฟู

ลักษณะทั่วไปของกฎหมายล้มละลาย

มาตรา ๙ เจ้าหนี้จะฟ้องลูกหนี้ให้ล้มละลายได้ก็ต่อเมื่อ

(๑) ลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว

(๒) ลูกหนี้ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาเป็นหนี้เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์คนเดียวหรือหลายคน เป็นจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งล้านบาท หรือลูกหนี้ซึ่งเป็นนิติบุคคลเป็นหนี้เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์คนเดียวหรือหลายคน เป็นจำนวนไม่น้อยกว่าสองล้านบาท และ

(๓) หนี้นั้นอาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอน ไม่ว่าหนี้นั้นจะถึงกำหนดชำระโดยพลันหรือในอนาคตก็ตาม

(มาตรา ๙ แก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ. ล้มละลาย (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๒๖

มาตรา ๙ (๒)  แก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ. ล้มละลาย (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๔๒)

สรุปกระบวนการในการพิจารณาคดีล้มละลาย

(๑) เจ้าหนี้ยื่นคำฟ้อง หรือผู้ชำระบัญชียื่นคำร้องขอต่อศาลเพื่อขอให้พิพากษาลูกหนี้ล้มละลาย (มาตรา ๑๓)

(๒) ศาลจะสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้เด็ดขาด หลังจากศาลไต่สวนพิจารณาตามฟ้องแล้ว โดยศาลจะไม่สั่งพิพากษาให้ลูกหนี้ตกเป็นบุคคลล้มละลายโดยทันที แต่ศาลจะสั่งให้มีการควบคุมกองทรัพย์สินของลูกหนี้ไว้ก่อน ซึ่งจะมีผลทำให้เป็นการตัดอำนาจในการครอบครองทรัพย์ และการจัดการทรัพย์สินทั้งปวง นอกจากนี้ยังเป็นการคุ้มครองลูกหนี้และกองทรัพย์สินไม่ให้บุคคลอื่นฟ้องบังคับเอาไป (มาตรา ๑๔ [3] มาตรา ๑๕)

๑. พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ แก้ไขเพิ่มเติมถึง พระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ ๗) พ.ศ. ๒๕๔๗ [4]

มาตรา ๒๒ [5] มาตรา ๒๔ [6] บัญญัติห้ามบุคคลล้มละลายกระทำการใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สิน หากมีการฝ่าฝืน (ทำพินัยกรรมได้) [7] แต่ก็ไม่มีผลบังคับ เพราะเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจจัดการทรัพย์สินแทนลูกหนี้

มาตรา ๑๑๓ [8] มาตรา ๑๑๔ [9] เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมที่ฉ้อฉลฯ ของลูกหนี้ภายในระยะเวลาหนึ่งปีก่อนมีการขอให้ล้มละลายและภายหลังนั้น

มาตรา ๓๐ [10] เมื่อศาลได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้ว ลูกหนี้ต้องปฏิบัติ ภายใน ๒๔ ชั่วโมง ต้องยื่นคำชี้แจงว่าได้มีหุ้นส่วนกับผู้ใดหรือไม่ ภายใน ๗ วัน ต้องยื่นคำชี้แจงเกี่ยวกับกิจการและทรัพย์สิน

เมื่อกล่าวถึงพินัยกรรม ก็พิจารณาถึง กรณีที่ลูกหนี้ตาย

มาตรา ๘๒ [11] การจัดการทรัพย์มรดกของลูกหนี้ที่ตาย ต้องยื่นคำฟ้องต่อศาลภายในกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่ลูกหนี้ตาย

มาตรา ๘๔ [12]การจัดการทรัพย์มรดกของลูกหนี้ที่ตาย

๒. ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.)

ป.พ.พ. มาตรา ๑๕๐ [13] บุคคลมีสิทธิทำนิติกรรม เว้นแต่กฎหมายบัญญัติห้ามไว้

มาตรา ๑๕๙๙ [14] ทรัพย์มรดกของผู้ตายตกแก่ทายาท (รวมผู้รับพินัยกรรม)

สรุปความ

  บุคคลธรรมดาสามารถทำพินัยกรรมได้ ทั้ง ๕ แบบ

๑. พินัยกรรมแบบธรรมดา (แบบทำเป็นหนังสือ) มาตรา ๑๖๕๖

๒. พินัยกรรมแบบเขียนเองทั้งฉบับ มาตรา ๑๖๕๗ 

๓. พินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมือง โดยนายอำเภอ มาตรา ๑๖๕๘ 

๔. พินัยกรรมแบบเอกสารลับ ซึ่งจะต้องไปทำต่อหน้านายอำเภอเช่นกัน มาตรา ๑๖๖๐ 

๕. พินัยกรรมแบบทำด้วยวาจา ซึ่งจะทำพินัยกรรมแบบนี้ได้นั้นต้องมีพฤติการณ์พิเศษ
ที่ไม่สามารถทำพินัยกรรมแบบอื่นๆ ได้ เช่น ตกอยู่ในอันตรายใกล้ความตาย มีโรคระบาด หรือ มีการทำสงครามกันอยู่ มาตรา ๑๖๖๓ 

  ทางอำเภอมีหน้าที่เกี่ยวข้องเพียง ๓ แบบ คือ แบบที่ ๓ , ๔ และ ๕ ส่วนแบบที่ ๑ และแบบที่ ๒ ทางอำเภอไม่ต้องเกี่ยวข้อง

นอกจากนี้ยังมีพินัยพิเศษอีกประเภทหนึ่ง คือ พินัยกรรมทำในต่างประเทศ มาตรา ๑๖๖๗ และพินัยกรรมทำในภาวะการรบหรือสงคราม มาตรา ๑๖๖๙ 

แต่บุคคลที่ถูกขอให้ล้มละลาย [15] สามารถทำพินัยกรรมได้ แต่จะไม่สามารถจัดการและจำหน่ายทรัพย์สินได้ เพราะหลังจากที่ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้ว ผู้ทำแทนลูกหนี้ก็คือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ก็เท่ากับว่า พินัยกรรมไม่มีผลบังคับ โดยเฉพาะกรณีที่นิติกรรมที่ฉ้อฉลฯ ได้กระทำภายในระยะเวลาหนึ่งปีก่อนมีการขอให้ล้มละลายและภายหลังนั้น  จะขอให้ศาลเพิกถอนฯได้

อ้างอิง

เดชอุดม  ไกรฤทธิ์. "กองมรดก." ๒๖ มกราคม ๒๕๕๒.[Online]. Available URL : http://www.library.coj.go.th/morradok.php

พ.ต.ท.อภิณ์รัตน์ สารากรบริรักษ์. ล้มละลาย.” [Online]. Available URL : http://www.chaibadancrime.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=538695384&Ntype=2

มานิต  จุมปา. "เทคนิคการทำพินัยกรรมเพื่อป้องกันการโต้แย้งว่าพินัยกรรมไม่สมบูรณ์." ๑๔ ธันวาคม ๒๕๕๑. [Online]. Available URL : http://www.vcharkarn.com/vblog/39713

สำนักงานคดีล้มละลาย.ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายล้มละลาย.” [Online]. Available URL :

http://www.bkc.ago.go.th/law.htm  or  http://www.mediafire.com/?7iaga8s83xfoab3

สำนักงานศาลยุติธรรม. "พินัยกรรมชาวบ้าน." ๒๖ มกราคม ๒๕๕๒. [Online]. Available URL : http://www.library.coj.go.th/pinaikum.php



[1] มาจากคำถามช่วยนู๋หน่อย.บุคคลล้มละลายสามารถทำพินัยกรรมได้รึเปล่าค่ะ.” เมื่อ ๙ ธันวาคม ๒๕๕๕ http://www.gotoknow.org/questions?page=3

[2]มาตรา ๑๖๔๖  บุคคลใดจะแสดงเจตนาโดยพินัยกรรมกำหนดการเผื่อตายในเรื่องทรัพย์สินของตนเอง หรือในการต่างๆ อันจะให้เกิดเป็นผลบังคับได้ตามกฎหมายเมื่อตนตายก็ได้

[3] "มาตรา ๑๔  ในการพิจารณาคดีล้มละลายตามคำฟ้องของเจ้าหนี้นั้น ศาลต้องพิจารณาเอาความจริงตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๙ หรือมาตรา ๑๐ ถ้าศาลพิจารณาได้ความจริง ให้ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาด แต่ถ้าไม่ได้ความจริง หรือลูกหนี้นำสืบได้ว่าอาจชำระหนี้ได้ทั้งหมดหรือมีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้ลูกหนี้ล้มละลาย ให้ศาลยกฟ้อง"

[4] http://web.krisdika.go.th/data/law/law4/%BB03/%BB03-20-9999-update.pdf

[5]มาตรา ๒๒ เมื่อศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้แล้ว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียวมีอำนาจดังต่อไปนี้

(๑) จัดการและจำหน่ายทรัพย์สินของลูกหนี้ หรือกระทำการที่จำเป็นเพื่อให้กิจการของลูกหนี้ที่ค้างอยู่เสร็จสิ้นไป

(๒) เก็บรวบรวมและรับเงิน หรือทรัพย์สินซึ่งจะตกได้แก่ลูกหนี้ หรือซึ่งลูกหนี้มีสิทธิจะได้รับจากผู้อื่น

(๓) ประนีประนอมยอมความ หรือฟ้องร้อง หรือต่อสู้คดีใดๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้

[6] มาตรา ๒๔  เมื่อศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ ของลูกหนี้แล้วห้ามมิให้ลูกหนี้กระทำการใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สิน หรือกิจการของตน เว้นแต่จะได้กระทำตามคำสั่งหรือความเห็นชอบของศาล เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ผู้จัดการทรัพย์หรือที่ประชุมเจ้าหนี้ ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้

[7] เมื่อศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้แล้ว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียวมีอำนาจ(มาตรา ๒๒  พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓)

[8] มาตรา ๑๑๓  การขอให้ศาลเพิกถอนการฉ้อฉลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์นั้น ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ขอได้โดยทำเป็นคำร้อง

[9]มาตรา ๑๑๔ ถ้านิติกรรมที่ขอเพิกถอนการฉ้อฉลตามมาตรา ๑๑๓ นั้น เกิดขึ้นภายในระยะเวลาหนึ่งปีก่อนมีการขอให้ล้มละลายและภายหลังนั้น หรือเป็นการทำให้โดยเสน่หาหรือเป็นการที่ลูกหนี้ได้รับค่าตอบแทนน้อยเกินสมควร ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นการกระทำที่ลูกหนี้และผู้ที่ได้ลาภงอกแต่การนั้นรู้อยู่ว่าเป็นทางให้เจ้าหนี้ต้องเสียเปรียบ” (มาตรา ๑๑๔ แก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ. ล้มละลาย (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๔๒)

[10] "มาตรา ๓๐  เมื่อศาลได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้วลูกหนี้ต้องปฏิบัติดังต่อไปนี้

(๑) ภายในยี่สิบสี่ชั่วโมงนับแต่เวลาที่ลูกหนี้ได้ทราบคำสั่งนั้น ลูกหนี้ต้องไปสาบานตัวต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์และยื่นคำชี้แจงตามแบบพิมพ์ว่าได้มีหุ้นส่วนกับผู้ใดหรือไม่ ถ้ามีให้ระบุชื่อและตำบลที่อยู่ของห้างหุ้นส่วนและผู้เป็นหุ้นส่วนทั้งหมด

(๒) ภายในเวลาเจ็ดวันนับแต่วันที่ลูกหนี้ได้ทราบคำสั่งนั้น ลูกหนี้ต้องไปสาบานตัวต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ และยื่นคำชี้แจงเกี่ยวกับกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ตามแบบพิมพ์ แสดงเหตุผลที่ทำให้มีหนี้สินล้นพ้นตัวสินทรัพย์และหนี้สิน ชื่อ ตำบลที่อยู่ และอาชีพของเจ้าหนี้ ทรัพย์สินที่ได้ให้เป็นประกันแก่เจ้าหนี้และวันที่ได้ให้ทรัพย์สินนั้น ๆ เป็นประกันรายละเอียดแห่งทรัพย์สินอันจะตกได้แก่ตนในภายหน้า ทรัพย์สินของคู่สมรส ตลอดจนทรัพย์สินของบุคคลอื่นซึ่งอยู่ในความยึดถือของตน

ระยะเวลาตามมาตรานี้ เมื่อมีเหตุผลพิเศษ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อาจขยายให้ได้ตามสมควร

ถ้าลูกหนี้ไม่อยู่หรือไม่สามารถทำคำชี้แจงตามมาตรานี้ได้ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เป็นผู้ทำแทน หรือช่วยลูกหนี้ในการทำคำชี้แจง แล้วแต่กรณี และเพื่อการนี้ให้มีอำนาจจ้างบุคคลอื่นเข้าช่วยตามที่เห็นจำเป็น โดยคิดหักค่าใช้จ่ายจากกองทรัพย์สินของลูกหนี้"

[11]คดีสามัญมาตรา ๘๒ ในกรณีที่ลูกหนี้ตาย หากปรากฏว่าถ้าลูกหนี้ยังคงมีชีวิตอยู่เจ้าหนี้อาจฟ้องให้ล้มละลายได้แล้ว เจ้าหนี้อาจฟ้องขอให้จัดการทรัพย์มรดกของลูกหนี้ตามพระราชบัญญัตินี้ได้ แต่ต้องยื่นคำฟ้องต่อศาลภายในกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่ลูกหนี้ตาย

[12] มาตรา ๘๔  เมื่อได้มีคำพิพากษาให้จัดการทรัพย์มรดกของลูกหนี้แล้วให้ปฏิบัติการและจัดการทรัพย์มรดกนั้นตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้เท่าที่จะทำได้

ผู้แทนลูกหนี้ที่ตายมีหน้าที่ยื่นคำชี้แจงตามมาตรา ๓๐ ค่าใช้จ่ายอันจำเป็นในการนี้ให้คิดเอาได้จากทรัพย์มรดก”

[13]มาตรา ๑๕๐ การใดมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายเป็นการพ้นวิสัยหรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน การนั้นเป็นโมฆะ”

[14]มาตรา ๑๕๙๙ เมื่อบุคคลใดตาย มรดกของบุคคลนั้นตกทอดแก่ทายาท

ทายาทอาจเสียไปซึ่งสิทธิในมรดกได้แต่โดยบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่น”

[15] บุคคลซึ่งจะเป็นผู้ทำพินัยกรรมได้ คือ 

(๑) ต้องเป็นบุคคลธรรมดาเท่านั้น

(๒) ผู้เยาว์สามารถทำพินัยกรรมได้หากผู้เยาว์นั้นมีอายุครบ  15  ปีบริบูรณ์

(๓) คนวิกลจริต  ซึ่งศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ (คนบ้า) หากได้ทำพินัยกรรม พินัยกรรมเป็นโมฆะ  ถ้าศาลยังไม่สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ  พินัยกรรมนั้นใช้ได้ จะใช้ไม่ได้ (เสียเปล่า) ก็ต่อเมื่อพิสูจน์ได้ว่าบุคคลนั้นได้ทำพินัยกรรมในขณะที่บุคคลนั้นเป็นคนวิกลจริต

(๔)  คนเสมือนไร้ความสามารถ  ทำพินัยกรรมได้มีผลสมบูรณ์


หมายเลขบันทึก: 516111เขียนเมื่อ 13 มกราคม 2013 18:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มกราคม 2013 19:03 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
 ......  บุคคลธรรมดาสามารถทำพินัยกรรม มีได้ ทั้ง ๕ แบบ .... อือ ... ได้ความรู้จริงๆๆ  นะคะ..... 

                   
        
                


พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท