องค์กรลูกจ้างชั่วคราว : นวัตกรรมการบริหารของโรงพยาบาลบ้านตาก


หากใครผิดกติกาก็ยึดเงินจากตรงนี้ไว้ ถ้าทำตามกติกาก็จะมีเงินทุนก้อนหนึ่งติดตัวไป แล้วทางลูกจ้างก็จะคอยช่วยกันดูแลกันและกัน
ในแวดวงของการพัฒนาคุณภาพโรงพยาบาลตามแนวทางHAหลายคนจะคุ้นเคยกับคำว่าองค์กรแพทย์ องค์กรพยาบาล ที่มีการจัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นคณะบุคคลที่ช่วยดูแลกลุ่มแพทย์พยาบาลให้ปฏิบัติไปตามหลักวิชาการและจรรยาวิชาชีพ แต่ที่โรงพยาบาลบ้านตากยังมีอีก 1 องค์กรที่เกิดขึ้นมาคือองค์กรลูกจ้างชั่วคราว ทำไมถึงเกิดขึ้น  ในโรงพยาบาลจะมีพนักงานที่มีการจ้างงานในรูปแบบที่แตกต่างกันทั้งข้าราชการ ลูกจ้างประจำ ที่รับเงินเดือนจากรัฐบาล ลูกจ้างชั่วคราวที่รับเงินเดือนจากเงินบำรุงโรงพยาบาลมีทั้งประเภทรายเดือนและรายวัน ในกลุ่มลูกจ้างชั่วคราวรายเดือนจะมีการจ้างทั้งในตำแหน่งของลูกจ้างประจำและตำแหน่งข้าราชการ เช่นพนักงานขับรถยนต์ ผู้ช่วยเหลือคนไข้  นักเทคนิคการแพทย์ นักกายภาพบำบัด เป็นต้น ปัญหาหนึ่งที่เราเจอเสมอทุกปีก็คือลูกจ้างชั่วคราวลาออก ซึ่งมักมีปัญหาไม่ปฏิบัติตามระเบียบที่กำหนดคือต้องยื่นใบลาก่อนออก 1 เดือน แต่ส่วนใหญ่ยื่นแล้วอีกไม่กี่วันก็จะออกไปเลย ทำให้โรงพยาบาลเจอปัญหาหาคนมาทำงานแทนไม่ทัน ขาดคนทำงานเพราะกว่าจะจัดจ้างได้ใหม่ก็ใช้เวลาเป็นเดือน เมื่อต้นปีในการประชุมคณะกรรมการบริหารมีกรรมการท่านหนึ่งยกประเด็นนี้มาแล้วเสนอว่าน่าจะหักเงินค้ำประกันไว้ 4,000 บาท ถ้าออกไม่ตรงตามระเบียบจะยึดเข้าโรงพยาบาล แต่ถ้าออกตามระเบียบก็จะคืนให้ ในช่วงถกเถียงช่วงแรกผมไม่ได้อยู่ในห้องประชุม และมติก็ให้นำแนวทางนี้ไปแจ้งแก่กลุ่มลูกจ้างชั่วคราว ซึ่งผมก็คิดอยู่ในใจว่าคงจะมีปฏิกิริยามากแน่ๆเพราะแค่เงินเดือนปกติก็จะไม่พอใช้กันอยู่แล้ว จะมาหักเยอะๆอย่างนี้เขาจะเอาเงินที่ไหนใช้  หลังการประชุมก็เกิดการรวมตัวกันของกลุ่มลูกจ้างชั่วคราวเพื่อขอเข้าพบผู้อำนวยการโดยที่เมื่อก่อนจะประชุมลูกจ้างชั่วคราว เราต้องเป็นฝ่ายนัดและก็ไม่ค่อยจะมากันมากนัก พอคราวนี้เราไม่ต้องนัดเขามากันเกือบครบเลย ก็ได้พูดคุยกันซึ่งลูกจ้างเขาก็ถามว่าตอนรับเขาเข้ามาก็มีคนเซนต์ค้ำประกันอยู่แล้ว ทำไมต้องมาเอาเงินค้ำประกันอีก ซึ่งจริงๆแล้วเวลามีปัญหาเราก็ไม่ได้เอาอะไรกับคนค้ำเพราะส่วนใหญ่ก็เป็นคนในโรงพยาบาล แต่สิ่งที่เราต้องการคือจะทำอย่างไรให้ลูกจ้างที่จะออกยื่นใบลาก่อนออก 1 เดือน ไม่ใช่ยื่นแล้วไปเลย  ก็ถกเถียงเหตุผลกันหลายอย่าง หลายประเด็น ทางกลุ่มลูกจ้างเขาก็เสนอว่า ถ้าทำเป็นกองทุนลูกจ้างเลยจะได้ไหม โดยหักเงินแบบเงินออมต่อเดือนไม่มากนักพอที่จะไม่เดือดร้อน เก็บเป็นเงินสะสมสำรองเลี้ยงชีพ หากใครผิดกติกาก็ยึดเงินจากตรงนี้ไว้ ถ้าทำตามกติกาก็จะมีเงินทุนก้อนหนึ่งติดตัวไป แล้วทางลูกจ้างก็จะคอยช่วยกันดูแลกันและกัน ไม่ให้เกิดการผิดระเบียบหรือเกิดปัญหากับทางโรงพยาบาล รวมกันตั้งคณะกรรมการเป็นผู้บริหารจัดการเงินจำนวนนี้ด้วย ผมงี้ปิ๊งเลยว่าเราไม่เคยคิดประเด็นนี้เลย ผมก็เลยบอกว่างั้นก็ให้กรรมการชุดนี้เป็นกรรมการขององค์กรลูกจ้างชั่วคราวและกรรมการบริหารกองทุนสำรองเลี้ยงชีพลูกจ้างชั่วคราวด้วย โดยประธานองค์กรลูกจ้างชั่วคราวก็จะเป็นกรรมการบริหารโรงพยาบาลด้วย ส่วนกฎกติกาต่างๆเกี่ยวกับกองทุนให้ทางองค์กรลูกจ้างไปกำหนดตกลงกันเองแล้วเสนอมาให้ผมออกเป็นระเบียบ เมื่อนำเสนอเรื่องนี้เข้าที่ประชุมกรรมการบริหารโรงพยาบาลก็ได้รับความเห็นชอบ จากการที่ต้องการแค่ให้ลูกจ้างชั่วคราวยื่นใบลาออกตามระเบยีบ 1 เดือน แต่สิ่งที่ได้เมื่อมีการหารือพูดคุยกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจริงๆเรากลับได้เพิ่มมาอีก 2 อย่างคือเกิดองค์กรลูกจ้างชั่วคราวที่คอยดูแลลูกจ้างกันเอง กับได้มีการจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพลูกจ้างชั่วคราวที่เป็นเหมือนการทำให้ลูกจ้างชั่วคราวได้มีโอกาสออมเงินไว้ใช้ตอนลาออกหรือเกษียณอายุ
คำสำคัญ (Tags): #kmกับงานประจำ
หมายเลขบันทึก: 5156เขียนเมื่อ 9 ตุลาคม 2005 21:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 พฤษภาคม 2012 11:08 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท