ยอยศยิ่งฟ้าอยุธยามรดกโลก (1)


จังหวัดพระนครศรีอยุธยาเตรียมจัดการแสดงแสงและเสียงประกอบจินตภาพ "ยอยศยิ่งฟ้าอยุธยามรดกโลก"

บทนำ

ท่านทั้งหลายที่มีโอกาสเดินทางมาเที่ยวจังหวัดพระนครศรีอยุธยาในช่วงประมาณช่วงกลางเดือนธันวาคมของทุกปี ประมาณ 1 สัปดาห์ อย่าพลาดชมงาน "ยอยศยิ่งฟ้าอยุธยามรดกโลก" ซึ่งทุกๆปีจะมีกิจกรรมหลักๆภายในงาน อาทิ
- การแสดงแสงและเสียงประกอบจินตภาพ
- การจำลองวิถีชีวิตประเพณีไทยสมัยกรุงศรีอยุธยา
- การสาธิตหมู่บ้านหัตถกรรมไทย "ช่างสิบหมู่" ชีวิตความเป็นอยู่และเรื่องราวสมัยกรุงศรีอยุธยา
- การแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านของไทยสมัยกรุงศรีอยุธยา หรือ "ลานวัฒนธรรม"
- การจำหน่ายสินค้าพื้นเมืองผลิตภัณฑ์ OTOP
- การบรรยายและนำชมนครประวัติศาสตร์ โดยขบวนรถพ่วง เป็นต้น

เรื่องราวการแสดงแสงเสียง

สำหรับการแสดงแสงและเสียงประกอบจินตภาพ ในแต่ละปีจะมีจุดเน้นสำคัญแตกต่างกัน อาทิ

*ฉากที่ 1 พระมายศยิ่งฟ้า ดินชม ชื่นแฮ

  "สมเด็จพระรามาธิบดีศรีสุนทรบรมพิตรฯ พระเจ้าอู่ทอง" ทรงสถาปนา"กรุงเทพมหานครบวรทวารวดีศรีอยุธยา" ขึ้นเหนือฝั่งหนองโสนในชัยภูมิที่ล้อมรอบด้วยแม่น้ำ 3 สาย คือ แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำป่สัก และแม่น้ำลพบุรี  เมื่อวันศุกร์ เดือน 5 ขึ้น 6 ค่ำ เวลา 3 นาฬิกา 9 บาท ( 1 บาท = 6 นาที) พุทธศักราช 1893 ด้วยพระปรีชาญาณและพระราชวินิจฉัยอันสุขุมลุ่มลึก กรุงศรีอยุธยาก็เจริญรุ่งเรืองไพศาล เป็นทั้งราชธานีและเมืองท่าค้าขายที่พ่อค้าวาณิชจากต่างบ้านต่างเมืองมาชุมนุมกัน ความมั่งคั่งและศรัทธาของชุมชนยังผลให้เกิดวัดวาอารามทั่วเมือง

*ฉากที่ 2 เจดีย์ละอออินทร์ปราสาท

กาลเวลาผ่านไปจวบจนรัชสมัยสมเด็จพระราเมศวร พระราชโอรสของพระเจ้าอู่ทอง ในราตรีหนึ่งขณะที่กำลังทรงศีลได้ทอดพระเนตรเห็นพระบรมสารีริกธาตุกระทำปาฏิหาริย์เปล่งฉัพพรรณรังสีกลางอากาศในบริเวณที่สมเด็จพระบรมราชาธิราชขุนหลวงพระงั่วทรงสร้างพระมหาธาตุค้างไว้ ทรงพระราชศรัทธาจึงสถาปนาพระมหาธาตุสูง 99 วา ( 1 วา = 2 เมตร) ยอดปรางค์หุ้มทอง นภศูลสูง 3 วา ประกอบไปด้วยรูปปั้นตกแต่งงดงามต่างๆ ณ ที่นั้นจนสำเร็จ พระราชทานนามว่า "วัดมหาธาตุ" เป็นศูนย์กลางของพระมหานครและเป็นที่สถิตของสมเด็จพระสังฆราชแห่งกรุงศรีอยุธยา  ปีพุทธศักราช 1961 สถาปนาพระอารามขึ้นอีกแห่งหนึ่งเคียงคู่วัดมหาธาตุ พระราชทานนามว่า "วัดราชบูรณะ"

*ฉากที่ 3 สรรเพชญภูวนาถแผ้ว แกล้ว การยุทธยิ่งแฮ

สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ โปรดให้ปรับปรุงการปกครองเป็นแบบจตุสดมภ์ ตราพระราชกำหนดกฎหมายและกฎมณเฑียรบาล ซึ่งเป็นแบบแผนปฏิบัติที่ใช้สืบเนื่องกันต่อมาอีกนานหลายร้อยปี จนถึงกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงปรับปรุงการทหารจนป็นที่เกรงขามของหัวเมืองน้อยใหญ่ ทั้งยังทรงพระราชศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาอย่างแรงกล้า ถึงกับถวายพระราชวังหลวงเป็นพระอาราม นาม "วัดพระศรีสรรเพชญ์" และเสด็จออกผนวชเมื่อขึ้นครองราชย์เมืองพิษณุโลกนานถึง 8 เดือน  ศักดานุภาพและพระธรรมานุภาพแห่งพระมหากษัตริย์จึงปกแผ่ครอบคลุมทั้งอาณาจักรและศาสนจักร

โปรดติดตามตอนต่อไปครับ

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 5153เขียนเมื่อ 9 ตุลาคม 2005 21:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:01 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท