ทบทวนชีวิตใน ๒ สัปดาห์ ๒๖ กย. – ๙ ตค. ๔๘


เป็นชีวิตที่สนุก สนุกอยู่กับการเรียนรู้จากการทำงาน

ทบทวนชีวิตใน ๒ สัปดาห์  ๒๖ กย. – ๙ ตค. ๔๘
    มีการเดินทางไกลไป อ. เกาะลันตา  จ. กระบี่ ตอนปลายสัปดาห์ แรก ทำให้ไม่มีเวลาทบทวนชีวิตในสัปดาห์ที่แล้ว    ต้องยกยอดเป็นทบทวนชีวิตใน ๒ สัปดาห์    ในเวลา ๒ สัปดาห์เท่านั้นผมได้เรียนรู้เรื่องสำคัญๆ และยิ่งใหญ่มากมาย     ช่างเป็นชีวิตที่สนุกจริงๆ    
·        ร่วมเวทีนโยบายสาธารณะ เรื่อง “นโยบายเพื่อสนับสนุนความเข้มแข็งของชุมชน” จัดโดย มสช. และองค์กรภาคี   เห็นจุดอ่อนในสังคมไทย ว่าเราคิดเชิงนโยบายไม่เป็น    และเห็นลู่ทางนำ KM เข้าไปหนุน    โอกับอ้อมจะทำงานร่วมกัน
·        บรรยายเรื่อง การพัฒนางานวิจัยของภาควิชาศัลย์ ศิริราช    อาจารย์เข้าฟังไม่ถึงครึ่งภาควิชา     ทางภาควิชาต้องการให้มีการนำงานประจำสู่การวิจัย หรือ R2R    สงสัยว่าภาควิชาเล็งผิดเป้าหรือเปล่า     เพราะเท่าที่เห็นใน R2R ของศิริราช ผู้ทำส่วนใหญ่เป็นพยาบาล และเจ้าหน้าที่สายสนับสนุน
·        มีนักศึกษาปริญญาเอกมาคุย ๒ คน    คนแรกทำวิทยานิพนธ์เรื่องมหาวิทยาลัยวิจัย    คำแนะนำสำคัญที่สุดคืออย่าหลงเชื่อเอกสารหรือตำราจากประเทศที่ระบบวิจัยของเขารุดหน้าเราไป ๕๐ – ๑๐๐ ปี   เขาไม่เข้าใจสภาพของเรา   เราต้องคิดของเราเอง      อีกท่านหนึ่งทำวิจัยด้าน KM    เป็นคนขยันและมีข้อมูล มีพันธมิตรมาก    น่าจะทำการทดลองได้อย่างน่าสนใจ    และ สคส. จะเข้าไปหนุน “คนทำจริง” แบบนี้ด้วย
·        เยี่ยมพื้นที่โครงการแผนที่คนดีของ อาศรมศิลป์ ที่เกาะลันตา    ทำให้ได้รู้จักพื้นที่   ผู้คนในพื้นที่ ทั้งที่เป็นชาวไทยใหม่ และคนไทยมุสลิม    ได้เห็นความอุดมสมบูรณ์ของทะเลในแถบนั้น    เห็นการเติบโตของธุรกิจท่องเที่ยวในเกาะ รองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นหลัก    เห็นพลังและศักยภาพในการทำงานขยายออกไปจากแผนที่คนดี    เห็นเครื่องมือในการทำงานชุมชน ที่ช่วยให้การผูกมิตรทำได้รวดเร็ว คือ (๑) การสื่อสารแบบใจถึงใจด้วยเรื่องเล่าของชาวบ้าน   และมีการนำรูปธรรมที่ได้จากการฟังกลับไปให้เจ้าของเรื่องราวได้ทบทวนตรวจสอบ   (๒) การใช้เทคโนโลยีเป็นสื่อ คนเราอยากใช้เทคโนโลยีที่เขาเห็นว่าทันสมัย  อยากใช้เป็น อยากมีผลงาน  กล้องถ่ายรูปดิจิตอล เป็นเทคโนโลยีที่ดึงดูดมาก    โครงการนี้เป็นการจัดการความรู้อย่างน้อย ๓ ชั้น   คือชั้นชาวบ้าน   ชั้นอาสาสมัครและทีมวิจัย   และชั้นผู้ไปเยี่ยมชมกิจกรรมซึ่งรวมทั้งศูนย์คุณธรรมผู้ให้ทุนสนับสนุนและ สคส. ผู้สนับสนุนเชิงเครื่องมือ
·        ประชุม กปสช. (คณะกรรมการปฏิรูประบบสุขภาพแห่งชาติ) มีรองนายกฯ พินิจ เป็นประธาน     วิธีคิดของท่านชัดเจนมาก   ท่านต้องการผลงานที่เป็นรูปธรรม และต้องการผลเร็ว    วันนี้ได้เรียนรู้มาก จากวิธีที่ อ. หมอบรรลุ ใช้สื่อกับรองนายก     พรบ. ปฏิรูประบบสุขภาพน่าจะคลอดได้ในไม่ช้า     ได้เรียนรู้แนวทางปฏิรูประบบสุขภาพแนวที่ไม่ใช่ใช้มาตรการทางการเงินเป็นตัวนำ (แบบของ สรอ.)   แต่ใช้มาตรการทางสังคม  (ซึ่งน่าจะเป็นนวัตกรรมของโลก) น่าสนใจมาก    และ นพ. อำพล จินดาวัฒนะเป็นเอตะทัคคะในด้านการจัดการภาพใหญ่แบบนี้     มีลู่ทางนำ KM เข้าไปหนุนได้มาก    ได้บอกหมออำพลแล้ว    อ้อมจะเป็นผู้ประสานงาน
·        ประชุมคณะกรรมการ วจส. (วิทยาลัยจัดการทางสังคม)    ได้พยายามสร้างความร่วมมือกับ สคส.    ใช้จุดแข็งของแต่ละฝ่ายร่วมสร้างการเรียนรู้ให้แก่ชุมชน
·        วิทยุจุฬาสัมภาษณ์ออกอากาศ เรื่องเศรษฐกิจพอเพียงกับการเรียนรู้ตลอดชีวิต ที่ไปบรรยายพิเศษวันมหิดล ที่ศิริราช    ได้เล่าตัวอย่างทั้ง ๓
·        เริ่มเข้าไปทำความเข้าใจขบวนการเปลี่ยนแปลง สกว.    จะแก้กฎหมาย    เอา สกว. ไปอยู่ในกระทรวงวิทย์     ฟังดูแล้วจุดเริ่มต้นเป็นความคิดของ นรม. ที่จะปฏิรูประบบวิจัย    ผนวกกับกระแสปฏิรูประบบราชการ ที่จะเปลี่ยนกระทรวงวิทย์ เป็นกระทรวง ซีอีโอ    บริหารงานแบบใหม่    บุคคลที่เป็นแกนคือ ที่ปรึกษาพันธ์ศักดิ์   เลขาฯ นพ. พรหมมินทร์ และ เลขาธิการ กพร. กำหนดภาพใหญ่     แล้วให้ทีมของ สวทช. ยกร่าง พรบ.     หัวใจคือประเทศไทยจะได้อะไร-เสียอะไร ในระยะยาว     ขบวนการสร้างทักษะระดับประเทศในการจัดการงานวิจัยที่สร้างมากว่า ๑๐ ปี จะถูกทำลายโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์หรือไม่     เราจะช่วยกันสร้างระบบการจัดการงานวิจัยที่ ใช้ “ศักยภาพความเฉลียวฉลาด (talent) ของคนไทย” ให้เกิดประโยชน์ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว อย่างสมดุล ได้อย่างไร    จะเอาชนะ mentality เน้นเฉพาะผลงานระยะสั้น ฉาบฉวย และจำกัดแค่เงินทอง ได้อย่างไร    จะเอาชนะการต่อสู้เพียงเพื่อให้ได้อำนาจการจัดการงบประมาณวิจัย โดยไม่สนใจขีดความสามารถในการจัดการงานวิจัย ได้อย่างไร    เรามองเห็น threat ต่อความเข้มแข็งด้านวิชาการระดับคุณภาพสูงหรือไม่    ระบบวิจัย/การจัดการงานวิจัยแบบ “ประชานิยม” เป็นคุณและโทษต่อสังคมไทยในระยะยาวอย่างไร    การมองบทบาทของผู้กุมอำนาจรัฐเป็นผู้เข้าไปควบคุมการทำงานเชิงวิชาการแบบ “คุมเบ็ดเสร็จ” เพราะตนคิดว่าตนฉลาดและรู้ดีกว่าใครๆ ในทุกเรื่อง มีคุณและโทษต่อสังคมไทยในระยะยาวอย่างไร    ผู้กุมอำนาจรัฐควรมองงานจัดการงานวิจัยเป็น creativity แล้วเข้าไป empower ความสำเร็จ แล้วจัดทรัพยากรสนับสนุนความสำเร็จเพิ่มเติมพร้อมเงื่อนไขให้ขยาย creativity สู่นโยบายของตน    หรือควรเข้าไปควบคุมการจัดการงานวิจัยให้อยู่ในกรอบที่ตนกำหนด    มีคำถามเป็นร้อย เกิดขึ้นในสมองของผม    แต่บันทึกไว้เพียงแค่นี้ก่อน    ถ้าไม่ตายเสียก่อน อีก ๑๐ ปีกลับมาดูผลกัน  
·        หารือกิจกรรม KM กับ สสส. ใน ๒ เรื่อง   (๑) การจัดทำหนังสือกรณีตัวอย่างการจัดการความรู้ด้านสุขภาพ    นพ. พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ เป็นบรรณาธิการ   สสส. เป็นเจ้าของเรื่อง     value add ที่ สคส. ไม่มี คือบริบทด้านราชการที่เป็นตัวกำหนดเงื่อนไข KM ในหน่วยราชการ    (๒) KM เด็กไทยไม่กินหวาน (ทพ. ศิริเกียรติ)   เป็น issue-based KM    และเป็นการนำ KM เข้าสู่งานประจำของ สสส. อีกประตูหนึ่ง     อ้อเป็นผู้ประสานงานทั้ง ๒ เรื่อง
·        สองสัปดาห์นี้เป็น “ปักษ์ด้านการศึกษา”  มีงาน KM ด้านการศึกษาเข้ามาถึง ๓ เรื่องใหญ่ๆ    (๑) สมศ.  ธวัช ประสานงาน   (๒) สอศ.   ธวัช ประสานงาน   (๓) สกศ. – ดร. เลขา & ดร. สุวัฒน์ :  KM เขตพื้นที่การศึกษา  และโรงเรียน สนับสนุนโดย สกศ. + สกว. + สคส.   หญิงประสานงาน
·        ไปร่วมให้ความเห็นเรื่องการปฏิรูประบบการสื่อสารที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย    ประทับใจสถานที่ (อยู่ตรงข้าม รพ. วชิระ) และการทำงานของกรรมการสมาคมที่เป็นคนหนุ่มคนสาว     ได้เรียนรู้ภาพใหญ่ของระบบการสื่อสารในโลกยุคทุนนิยม บริโภคนิยม และการเมืองประชานิยม    ให้เห็นว่า media literacy หรือการรู้เท่าทันในการบริโภคสื่อเป็นเรื่องสำคัญมากต่อการทำหน้าที่พลเมือง     สื่อที่เป็นอิสระที่สุดคือหนังสือพิมพ์ (ผมว่าอินเทอร์เน็ตยิ่งอิสระกว่า    แต่ปนเปื้อนสิ่งไร้สาระมากด้วย     ต้องรู้จักกรองสาระเอาเอง)     ฟังแล้วบอกตัวเองว่าที่ไม่ดูทีวี เป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว    ลูกชายผมเรียนโทอยู่ที่อเมริกาก็ไม่ดูทีวี     ผมให้ความเห็นว่าสื่อต้องสื่อสารหลายทางมากขึ้น    รวมศูนย์น้อยลง   ช่วยสื่อเรื่องราวของคนเล็กคนน้อยมากขึ้น    สื่อสารเรื่องราวดีๆ ที่เป็นการสร้างสรรค์ มากขึ้น    ใช้ช่องทางสื่อสารหลายรูปแบบประกอบกัน    มีหลักฐานว่าบริการเว็บไซต์และเว็บล็อกของ นสพ., นิตยสาร รวมทั้งวารสารวิชาการ ช่วยให้คนซื้อบริการมากขึ้น     ตอนไปที่ศิริราช หมอปรีดาแนะนำให้ใช้บริการ Podcaste ของวารสาร Nature    คือแทนที่จะอ่าน ก็พักสายตา ใช้หูฟังแทน    มนุษย์ยุคข้อมูลข่าวสารต้องเรียนรู้วิธีจัดการและเป็นตัวของตัวเองในการรับและเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร    ที่สำคัญต้องไม่เป็นฝ่ายรับเพียงถ่ายเดียว     ต้องเป็นผู้รุกด้วย    โดย 80-90% เป็นการรุกเพื่อสังคม เพื่อบ้านเมือง เพื่อทำหน้าที่พลเมือง     ผมจึงชอบการบันทึก บล็อกมาก
·        เรื่อง “ถอดความรู้” เข้ามาถึง ๒ เรื่อง   จากแม่ชีศันสนี กับ จาก ดร. สมชาย ดุรงค์เดช   ทั้ง ๒ เรื่องน่าจะนำไปสู่ความสัมพันธ์/ร่วมมือระยะยาว    และมากกว่าการถอดความรู้ในแนว KM    เพชรกับอ้อดำเนินการเรื่องแรก    อ้อดำเนินการเรื่องหลัง
·        อ้อมไปประชุมพันธมิตรโครงการชุมชนเป็นสุขภาคอีสาน    ได้สร้างความประทับใจเครื่องมือของ สคส. ที่ช่วยให้พันธมิตรหลายฝ่ายเริ่มมองเห็นลู่ทางความร่วมมือทำงานเพื่อชุมชนเป็นสุขภาคอีสาน    ในลักษณะที่แต่ละภาคีมีวิธีทำงานที่ต่างกัน    แต่เป็นเครือข่ายแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์จากความสำเร็จของแต่ละภาคี    โดยใช้เครื่องมือ ตลาดนัดความรู้
·        แนวความคิดเรื่อง สำนักงานประสานงาน KM ในพื้นที่ เริ่มก่อตัว   เนื่องจากจุดแข็งของ สคส. คือเครื่องมือ   และทักษะด้านการจัดการ     ดังนั้นหัวหน้าสำนักงานประสานงานต้องเป็นผู้ที่มีทักษะด้านเครื่องมือ KM + การจัดการ + การประสานงาน    เวลานี้ กำลังเจรจากับ ๓ คน  (๑) อ. ไพฑูรย์ ช่วงฉ่ำ -  พิษณุโลก  ดูแลภาคเหนือตอนล่าง    (๒) อ้อม – นครศรีฯ  ดูแลภาคใต้ตอนบน   (๓) ธวัช – บุรีรัมย์  ดูแลอีสานใต้    จุดเริ่มต้นต้องมาจากท่านเหล่านี้ยกร่างงานที่คิดว่าจะทำ เอามาคุยกัน     การทำงานของสำนักงานประสานงาน KM ในพื้นที่ ไม่จำกัดขอบเขตพื้นที่อย่างตายตัว เช่น อ. ไพฑูรย์ อาจไปให้บริการในภาคอีสานในงานด้าน KM โรงพยาบาลที่ตนถนัดก็ได้     และสำนักงานเหล่านี้จะเขียน บล็อก ทุกสัปดาห์  และเล่ากิจกรรมทุกเรื่อง เพื่อให้รู้กันว่ากำลังขับเคลื่อนอะไรอยู่บ้าง    คือเราจะทำงานร่วมมือกันเป็นเครือข่าย
·        งาน “จับภาพ KM” กำลังจะกลายเป็นงานหลักรูปแบบหนึ่งของ สคส. เพื่อเป็นเครื่องมือขับเคลื่อนเครือข่าย KM ของประเทศ    เราอยากเห็น KM ที่เกิดขึ้นเอง และมีการทำต่อเนื่อง เห็นผลต่อการพัฒนางาน  พัฒนาคน  และพัฒนาองค์กร หรือชุมชน   แล้วเราจะเอามา ลปรร. กันว่าทำไม่จึงเกิดเรื่องราวของความสำเร็จนั้นๆ    เอามาสร้างกระแส KM ของแท้    ให้สังคมไทยได้รับรู้    เพื่อขับเคลื่อนสังคมของเราสู่สังคมที่มีความรู้เป็นฐาน    โดยขับเคลื่อนทุกภาคส่วน ไม่ใช่เฉพาะภาคทันสมัย
·        การประชุมคณะกรรมการอำนวยการโครงการ R2R ของศิริราช ให้ความรู้มาก   ว่าจริงๆ แล้วโครงการนี้วัดผลสำเร็จไม่ใช่แค่ผลงานที่เป็นรูปธรรมคือ publication   แต่มีผลสำเร็จเชิงนามธรรม คือการเปลี่ยน culture ขอององค์กร    ซึ่งจะมีตัวกิจกรรมย่อยๆ มากมาย ที่ตัวผู้บริหารหน่วยงานย่อย เข้ามาแสดงบทบาทขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง    ถ้าทีมงาน R2R สามารถทำให้เกิด phenomenon นั้นๆ ได้ ก็ควรนับเป็นผลงาน    ดังนั้นการกำหนดตัวชี้วัดความสำเร็จของทีมจัดการ R2R (อ. นพ. สมเกียรติ เป็นหัวหน้า) ที่กว้าง และรวมเอาผลงานระดับกระบวนการเข้าไปด้วย จะช่วยให้ R2R ทำงานตรงตามความต้องการของศิริราช ได้อย่างแท้จริง    นี่เป็นนวัตกรรมในการจัดการงานวิจัย     หลังจากการประชุมนี้แล้ว  นพ. สมศักดิ์ กับ อ. นพ. สมเกียรติ จะต้องหาทางทำให้แนวคิดเชิงหลักการไปสู่การดำเนินการที่เป็นรูปธรรม     ในมุมมองของผม โครงการ R2R ของศิริราช จะเป็นการสร้างนวัตกรรมไม่ใช่แค่เพื่อสร้างผลงานวิจัย    แต่จะเป็นนวัตกรรมไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัยวิจัย 
·        ต้นเดือน ตค. เป็นฤดูกาลประกาศรางวัลโนเบล     รางวัลแรกคือสาขาการแพทย์ เราได้ตื่นเต้นกันในวงผู้ทำงานให้มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลฯ     เพราะว่าผู้ได้รับรางวัลคือ Barry Marshall กับ Robin Warren จากผลงานวิจัยที่ Barry Marshall ได้รับรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ปี ๒๕๔๔  คือผลงานเปลี่ยนความรู้ความเข้าใจและวิธีรักษาโรคแผลในกระเพาะอาหาร     จากสาเหตุหลั่งกรดมากเพราะเครียด เป็นสาเหตุจากติดเชื้อแบคทีเรีย เอ็ช ไพลอไร (Helicobacter pylori)   การรักษาเปลี่ยนจากยาลดกรดและยากล่อมประสาท    เป็นให้ยาปฏิชีวนะฆ่าเชื้อ เอ็ช ไพลอไร     เราตื่นเต้นเพราะแสดงว่าคณะกรรมการตัดสินของเราตาแหลม     เรื่องราวของการค้นคว้านี้น่าตื่นเต้นเหมือนนิยาย     และเป็นประวัติของการค้นพบระดับรางวัลโนเบลที่คลาสสิคมาก คือตอนแรกถูกหัวเราะเยาะ เพราะเป็นข้อค้นพบที่สวนกระแสความเชื่อในขณะนั้นอย่างสิ้นเชิง    เป็นอุทาหรณ์ให้กำลังใจคนที่คิดสร้างสรรค์สิ่งที่เป็นนวัตกรรมว่าต้องอดทนและหาข้อมูลหลักฐานสนับสนุนให้รัดกุม
·        เรากำลังคร่ำเคร่งกับการจัดทำต้นฉบับรายงายประจำปี ฉบับที่ ๓  ประจำปี ๒๕๔๘    ซึ่งจะต้องพิมพ์ให้ทันแจกในงานมหกรรมจัดการความรู้แห่งชาติ    และเรามีความทะเยอทะยานที่จะจัดทำให้เป็น รายงานประจำปีที่แปลกที่สุดในโลก (เราใช้คำเว่อร์ๆ เพื่อผ่อนคลายความเครียด และสร้างความกล้าหาญในการทำงานแบบที่ไม่เหมือนใคร น่ะครับ   แต่ก็แฝงความจริงอยู่ด้วย)     แปลกอย่างไรคอยอ่านตอนเข้าประชุมวันที่ ๑ ธค. นะครับ    นี่คือเหตุ ที่ทำให้ผมต้องยกเลิกการไปร่วมงานเปิดโครงการจัดการความรู้ของมหาชีวาลัยอีสาน ที่บ้านครูบาสุทธินันท์  ที่บุรีรัมย์  ในวันเสาร์ – อาทิตย์ ที่ ๘-๙ นี้    โดยส่งเพชรกับอ้อไปแทน    ได้มอบให้เพชรพูดแทน    แต่เพชรยกให้อ้อ    เราซ้อมกันถึง ๓ ยก    กิจกรรมนี้ทำให้เราเดินก้าวไปสู้นวัตกรรมในการทำงานของผมอีกก้าวหนึ่ง    คือต่อไปนี้ผมจะลดการทำงานเองลงไปอีก    จะใช้เวลาทำหน้าที่ coaching ให้แก่เพื่อนร่วมงานทุกคนมากขึ้น    นี้คือการทำงานแบบ เคออร์ดิก (chaordic)
·        สุดสัปดาห์ ๘-๙ ตค. สองวันเต็ม ผมทำงานให้คุณแอนน์ แม่กองจัดทำรายงานประจำปี ๒๕๔๘   คร่ำเคร่งอยู่กับการจับภาพรวมของ KM ประเทศไทย เขียนออกมาเป็นรายงาน    ผมสรุปว่า KM ประเทศไทยปี ๒๕๔๘ โต กว่า (ทั้งเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณ) ของปี ๒๕๔๗ สี่เท่า    ไม่ทราบว่าถูกต้องหรือไม่    เป็นประมาณการแบบ subjective สุดสุด   ถ้าจะมีคนบอกว่าเป็นประมาณการแบบเข้าข้างตัวเองก็เถียงไม่ออก


วิจารณ์ พานิช
๙ ตค. ๔๘

คำสำคัญ (Tags): #การศึกษา#km#ชุมชน
หมายเลขบันทึก: 5147เขียนเมื่อ 9 ตุลาคม 2005 18:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:01 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ผมสนใจเรื่อง "ระบบสารสนเทศ" ตามเรื่องที่ตัวเองเรียนครับ สื่อมวลชนเป็นส่วนหนึ่งของระบบสารสนเทศมหภาค ดังนั้นตอนผมเรียนอยู่อเมริกาผมรับสื่อมากครับ เรียกว่าหมดเงินกับค่ารับสื่อหลากหลายประเภทจนไม่มีเงินเหลือติดตัวกลับเมืองไทยทีเดียว

การรับสื่อเยอะทำให้ผมรู้ว่าประเทศไทยถูกครอบงำโดยสื่อมวลชนอย่างรุนแรง โดยคนไทยโดยส่วนใหญ่ก็ยังไม่รู้ตัวว่าตัวเองถูกครอบงำ กลับมองว่าสื่อถูกปิดกั้นเสียนี่ (เพราะสื่อบอกให้เชื่ออย่างนั้น) น่ากลัวมาก

media tycoons ของไทยชี้นำสังคมได้อย่างไม่น่าเชื่อทีเดียว แถมการตรวจสอบกันเองแทบจะไม่มี ยิ่งกว่านั้นกลับไม่มีคนไทยคนไหนสงสัยว่าทำไมเมืองไทยถึงไม่มีกลุ่มอิสระ (NGOs) ที่จะคอบตรวจสอบสื่อเลย ทั้งๆ ที่เรามี NGOs มากมาย

ผมเชื่อว่าไม่ใช่ผมคนเดียวที่เห็นอย่างนี้ แต่คนอื่นคงไม่กล้าพูดเพราะสื่อน่ากลัวเกินไปที่จะแตะต้อง แต่ผมกล้าพูดครับ เพราะการเป็นคนทำงานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ทำให้ผมรู้ว่าการปฎิวัติสื่อมวลชนโดยประชาชนกำลังจะเข้ามาถึงประเทศไทยแล้ว อีกไม่นานครับ สื่อใหญ่ยังไงก็ต้านไม่อยู่ ผมเชื่อเช่นนั้น

แต่โดยทั่วไปสำหรับคนเรียนในต่างประเทศ ถ้าไม่ได้เรียนด้านระบบสารสนเทศ ลดการรับสื่อลงก็ดีนะครับ ทำให้จิตใจสงบดี รับมากก็มีอะไรกระทบใจมากครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท