ศุภลักษณ์ วิรัชพินทุ


ผู้ช่วยศาสตราจารย์
ภาควิชาชีววิทยา
Username
supaluck
สมาชิกเลขที่
1348
เป็นสมาชิกเมื่อ
เข้าระบบเมื่อ
-
(ไม่มีตั้งแต่ พ.ศ. 2564)
ประวัติย่อ

ใช้ชื่อ"ครูเล็ก" ในบล๊อก เพราะว่าเรียนทางครู ฝึกสอนกับเด็กป.2 และม.1 พอจบ ป.ตรี --กศบ.ชีววิทยา- วิทยาศาสตร์ทางทะเล จาก มศว.บางแสน --เป็นครูรับจ้างร.ร.วันทามารีย์(สมัยนั้น)ที่เมืองชอนตะวัน-นครสวรรค์ 1 ปี จากนั้นก็เป็นครูรัฐบาลโรงเรียนมัธยม ร.ร.บ้านไร่วิทยา อุทัยธานี ทำงาน 3 ปี ก็ลาไปเรียนต่อ ป.โท ด้าน วท.ม.สัตววิทยา จาก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำวิทยานิพนธ์ทางอนุกรมวิธานของปูม้า portunidae แล้วกลับไปทำงานเป็นครูที่โรงเรียนรัฐบาลเดิม และชอบใช้คำว่า"เป็นครูบ้านนอก"(อ่านเสียงสั้นและกระแทกเล็กน้อย นั่นแหละ"บ้านนอก"ตัวจริงๆ)

ช่วงชีวิตครูบ้านนอกหลังจบโท ได้สอนสูงขึ้น คือมัธยมปลาย ขยับจากอาคาร"เพิงเรียนชั่วคราว-เล้าไก่" ไปเป็นตึก2-3ชั้น และทำงานทางด้านอนุรักษ์ตลอด 4 ปี  ถือว่าเต็มที่มาก ที่เฮและไม่คาดฝันคือเด็กมาขอให้เป็นผู้จัดการทีมวอลเลย์บอล (ทั้งที่เล่นไม่เป็น) ก็เลยตกลง ออกเงินเองให้เด็กมาเก็บตัวนักกีฬาอยู่ 10 วัน เพื่อนครูอีกคนที่เล่นเก่งฝึกซ้อม เพื่อนครูทีมอนุรักษ์ช่วยกันทำกับข้าวหุงหา แล้วส่งแข่งกีฬาระหว่างโรงเรียนกับจังหวัด ทีมได้ที่ 3 นะ แม้ว่าจะเป็นเด็กใหม่ โรงเรียนเพิ่งส่งเข้าแข่งในรอบนานโขไม่รู้กี่ปี (15 ปีมั้ง) ..เด็กเขาเก่งและอยากเล่นกีฬา.. ถ้าครูเล็กเล่นเป็นหรือเป็นโคชมืออาชีพ เด็กได้ที่หนึ่งไปแล้ว  ทำให้คิดได้ว่า เมื่อมอบโอกาส + ความตั้งใจจริงของเด็ก เด็กก็ไปสู่ดวงดาวได้ อย่างใจฝัน

งานอื่นๆ นอกหน้าที่สอน ส่วนใหญ่จะใช้วิชาการนำหน้า เช่นจัดสัปดาห์วิทยาศาสตร์ จัดออกfiled trip bio ที่นั่นที่นี่ใกล้ๆ ชายป่าห้วยขาแข้ง แปะด้วยงานอนุรักษ์สร้างจิตสำนึกแฝงตลอด ..แต่เรื่องหลังนี่จริงจังกว่า โชคดีที่มีผู้ร่วมงานไฟแรง ประมาณ 4 คน..(รวมเราเป็น 5 ตอนหลังเป็นกลุ่มครูอนุรักษ์.. พวกเราเหมือนจะจบใหม่-บรรจุใหม่ ใสๆกันหมด อ้อมีย้ายมาก็ถือว่าใหม่ที่นี่) และได้รับความร่วมมือจากผู้บริหารและอาจารย์ท่านอื่น(บ้าง)

ที่ได้มากคือแรงใจของตนเองเป็นแรงขับเคลื่อน ก็มีโอกาสใส่แนวคิดและฝีมือศิลเปอะของเราเอง ..ประกอบกับเด็กๆเอง ตัวกระเปี๊ยก ม.1 ยัน ม.6 ก็มีศิลป์ มาลุมทำงานกัน พวกเราทำบอร์ดด้วยสมองล้วน+เลียนแบบ ดัดแปลง เพื่อประหยัดเงิน เราจับกระดาษหนังสือพิมพ์ ลวดเก่าๆ ไม้อัดที่เก็บมาได้ ปูนปาสเตอร์อีกหน่อย สีอีกนิด เสกให้เป็นเขาสมันผอมๆ ประกอบฉาก-บอร์ด"แด่เพื่อนผู้จากไปไม่มีวันกลับ" แล้วก็ใส่ร้อยกรองลงไป พี่สืบ นาคะเสถียรมาเป็นวิทยากรในวันคุ้มครองสัตว์ป่า --ปีแรกที่พี่เขามาเป็นหน.เขตห้วยขาแข้ง เห็นแล้วก็ให้กำลังใจว่า "เหมือนดี" หรือ "สวยดี" ก็ไม่รู้ แค่นี้ก็ปลื้มกันนานอยู่ 

เมื่อก่อนไม่มีเวทีให้แสดงความคิด ..แต่ต่อมากระแสอนุรักษ์มาแรงเราก็ได้นักจัดกิจกรรมอิสระและนิสิตมหาวิทยาลัยต่างๆ(จุฬาฯ บางมด ลาดกระบัง เชียงใหม่) มาช่วยเป็นวิทยากรในบางเรื่อง และนำกิจกรรมสร้างจิตสำนึกและนันทนาการ-นักเรียนชอบตรงนี้แหละ..มันเบื่อครูหน้าเดิม 

พานักเรียนออกนอกบ้านบ่อยมากเสาร์-อาทิตย์ ทั้งในฐานะสอน-คือวิชาชีวะ กับกิจกรรมอื่นๆที่โรงเรียนและหน่วยงานขอมา เคยทำโครงการแยกขยะ-โครงงานวิทย์ ซึ่งโครงงานวิทย์นี้ผู้บริหารเป็นปลื้ม เพราะส่งไปแข่งได้ที่ 3 ของเขต 12(สมัยนั้น) ประกวดที่มศว.บางแสน หรือม. บูรพาสมัยนี้ เด็กภูมิใจมาก เพราะไม่เคยส่งประกวดที่ใดมาก่อนเลย เงินรางวัลอันน้อยนิด(4000 บาทมั้ง) ยังอุตสาห์แบ่งให้ได้กันทั่วถึงทั้งเด็กที่ทำและโรงเรียน 

เด็กในที่ปรึกษาทั้งห้องและพวกทำโครงงานนี้ หลังจากจบมัธยมไป ก็เข้ากรุง แยกย้ายจากกันไป จนจบป.ตรี ป.โท บ้างไม่ได้เรียนต่อ แต่ทำอาชีพอิสระ บ้างทำงานเพื่อสิ่งแวดล้อมกับ NGOs ที่จริงเด็กมัธยมทั้งห้องช่วยงานครูทุกเรื่อง ทั้งหมดไม่ว่าวิชาการหรืองานค่ายอนุรักษ์ หรือเดินป่า กระเตงไปด้วยกันเป็นกลุ่มใหญ่ นอนกลางดินกินกลางทราย และกินข้าวไหม้ในหม้อสนาม--

พวกเราทำงานด้วยความสนุก ทั้งที่ไม่ค่อยมีเงินกันทั้งครูทั้งเด็ก  และพากันไปไหนต่อไหนในที่ฐานะที่ปรึกษา ไปเที่ยวทะเล เฮส่วนตัวกันทั้งกลุ่ม อาศัยมีเพื่อนเก่า ป.ตรี ที่มีบ้านใกล้ทะเลเป็นเจ้าบ้านชานเรือนไม่เสียเงิน--

เด็กกับครูไปร่วมกิจกรรมทางสิ่งแวดล้อมที่อื่นๆด้วย เดินป่าห้วยขาแข้งมากครั้ง-ต้องขอบคุณหน.และจนท.พิทักษ์ป่าหน่วยต่างๆ ที่อนุญาตแถมอนุเคราะห์รับพวกเราขึ้นไปด้วยรถ4x4 wD พวกเขาควรภูมิใจที่เราเรากลับมา มีแรงใจทำงานอนุรักษ์ คุ้มค่าหรอกน่า ไม่ใช่ไปเที่ยวเพราะคิดว่าเท่ แต่พวกเราไปเพราะความชอบ-ชอบออกไปหาความลำบาก  ทั้งที่อยู่โรงเรียนก็ไม่ค่อยสบายนักหรอกในสมัยนั้น(พอเราออกมาเขาก็เจริญ และค่อนข้างสบาย...ฮา)--การเที่ยวธรรมชาตินี้มันเป็นเสมือนน้ำยาแอร์ ต้องเติมถึงจะเย็น ทำงานอื่นๆได้อีก หมดแรงเมื่อไร ไปเข้าป่า นอนเปลสนามหนาวเหน็บเนี่ย คงไม่สบายหรอกใช่ไหม  ตอนหลังๆ ก็เริ่มดูนกด้วย

มันทำให้พวกเราทำงานกันอีกเรื่อยๆ ไม่เหน็ดเหนื่อย ทำงานอย่างกับเจ้าทุยกลางนา ไม่ใส่ใจแม้เสียงเสียดทาน เสียงบั่นทอนกำลังใจจากรอบด้าน ได้"สองขั้น"หรือเปล่า ยังลืมเลย

 นักเรียนและครูรวมหัวกันตั้ง "ชมรมอนุรักษ์ธรรมชาติ บรว." ระดมทุนด้วยการทำเสื้อ ทำสติกเกอร์รุ่นต่างๆ ออกขาย ถ้าอยากใส่เสื้อฝีมือตนเองต้องจ่ายเงินซื้อ ไม่ได้เอาฟรี สติกเกอร์ก็เหมือนกัน เงินทั้งหมดที่หามาได้ ก็กองไว้ที่นั่นแหละ หลังจากที่เราย้ายออกมาแล้ว

เคยขอเชิญครูโรงเรียนอื่นๆมาฝึกทำค่ายสิ่งแวดล้อม รุ่น "คุรุอนุรักษ์" เลยได้ทำจุลสารคุรุอนุรักษ์ มาหลายฉบับ มุ่งเน้นส่งข่าวสารและให้กำลังใจกันและกัน ถึงการทำงานอนุรักษ์ของเพื่อนครูที่ร่วมชะตาหนีช้างป่าด้วยกันในรุ่นนั้น เราย้ายมาอยู่ มน.ก็ยังได้ทำอีก 1 ฉบับ 

ตอนอยู่บรว. ทำสื่อ วาดบอร์ดขนาดใหญ่ไม้อัดแผ่นยักษ์ 4-5 แผ่น -สื่อถึงเรื่อง "รักชีวิต รักสัตว์ป่า รักษาพรรณไม้และแหล่งน้ำ" เพราะเป็นห่วงเป็นใยแหล่งน้ำมาก--ที่ใกล้ตัวที่สุดก็ แม่น้ำสะแกกรัง-- เลยกระตุ้นว่า "สะแกกรังน้ำใส ร่วมใจรักษา หรือว่าอยากให้เน่า? .........ดูเถอะดันใส่มดคันไฟเข้าไปด้วย......

ช่วงนั้นชาวนาขายที่ดินทำกินกันจัง ที่นานี่ขายหมด แล้วส่งลูกเรียนจบมาก็เข้าทำงานในโรงงาน เลยวาดรูปชาวนาผอมกะหร่องคอตก  นั่งอยู่กลางผืนดินแห้งผาก ข้างหน้ามีจานใส่ลูกgolf 2 ลูก  เหนือไป มีมือปีศาจยื่นเงินมาให้ก้อนใหญ่

ครูเล็กจัดว่ามองการณ์ไกล ...เพราะสายตายาว...สมัยนั้นฮิตขายนาให้นายทุนไปทำสนามกอล์ฟและอื่นๆ ที่ไม่ใช่เกษตรกรรม คงแย่พอกันกับสมัยนี้ ที่มีกระแสว่า  จะขายนาให้ต่างชาติมาทำนาในบ้านเราเอง..ปีศาจความโลภกำลังออกอาละวาด มันจะทำวิกฤตการณ์อาหารโลกปั่นป่วนอีกหลายระลอก

สมัยนั้นเรื่องอนุรักษ์แบบนี้เป็นยาขม หมายถึงใครๆ ก็ไม่อยากได้ยิน ไม่อยากสนับสนุน --ตอนนี้ก็ยาขมปนหวาน   ปะแหล่มๆ และก็มีหลายคนที่พูด "เรื่องอนุรักษ์"ได้คล่องปาก ทั้งที่ตัวจริงไม่ใช่เลย

-สื่อบอร์ดที่วาดไว้พวกนั้นใช้ออกงานของจังหวัดและของทุกที่ที่อยากให้เราไป ขอให้บอก และมักออกเงินกันไปเองตลอด ขอให้มีเวทีก็พอนับว่าคุ้มค่าอยู่  

พอคุณสืบเสียชีวิต กระแสอนุรักษ์แรงขึ้น ใครๆ ก็หันมาทำงานอนุรักษ์ แม้แต่ค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ก็หันมาแต่งเพลงอนุรักษ์  จนชมรมอนุรักษ์บ้านไร่วิทยา เด่นดัง ใครๆ ก็พูดถึงชมรม ยาขมที่เคยมี  เริ่มมีความดีกลับกลายเป็นหวานเล็กน้อย  นั่นไม่ได้ทำให้เราเพิ่งจะปลื้ม เพราะเราปลื้มกับงานทีทำก่อนหน้านั้นมาแล้ว

ที่ทำค่ายได้ และพาเด็กไปไหนต่อไหน เพราะมีเครือข่ายให้โอกาสด้วย NGOsอื่นๆ ชมรมนักนิยมธรรมชาติ ชมรมอนุรักษ์ของโรงเรียนต่างๆด้วย ก็ให้ครู-นักเรียนไปร่วมแจม พวกเราไปแม่ฮ่องสอน ราชบุรี กรุงเทพ ตรังฯ  งานค่ายที่เราทำทั้งผ่านวิชาสอนและค่ายต่างๆ ค่ายคุรุอนุรักษ์ฯ ที่ผ่านมามีงบฯ(บางส่วน)จากมูลนิธิโกมลคีมทอง มูลนิธิสืบนาคะเสถียร สนับสนุน  

ตั้งแต่จบ.ตรี และโท ก็ทำงานที่นั่นโรงเรียนบ้านนอกวิทยา(อุ้ยเรียกด้วยรักและคิดถึงนะ) เงินที่ใช้ ไม่เคยได้มาจากการคอร์รับชั่น ใช้เงินส่วนตัวประมาณ 40%ของเงินเดือน ทั้งที่ตอนนั้นเงินเดือนไม่ถึงห้าพัน ทำงานได้เยอะมาก ทำงาน 8 วันในหนึ่งสัปดาห์ 

พอโอนมาสอน อยู่ ม.นเรศวร เงินเดือนมากกว่าห้าพัน แต่แปลกแฮะไม่ค่อยได้ทำงานทางสิ่งแวดล้อม  คงเพราะต้องมุ่งเน้นวิชาการ และเรียนต่อป.เอก

ที่ มน.แค่ทำค่ายอนุรักษ์ครั้งเดียว พาไปเดินป่าห้วยกุ่ม-ชัยภูมิ หาทุนจากการทำเสื้อชุด 'เก็บความงามฝากไว้ในแผ่นดิน' ขาย สำรองทุนไปก่อน พอได้กำไร เงินทุกบาท รวมเงินค่าตอบแทนที่ปรึกษาชมรมด้วย เข้าชมรมอนุรักษ์ฯ เงินบางส่วนขอใช้ในกิจกรรมขอบคุณผู้อุดหนุนเสื้อ  'พูด- บรรเลง เพลงใบไม้' วิทยากรคือ หน.พิทักษ์ป่า จากห้วยขาแข้ง นิสิต มน.เข้าฟังไม่ถึง 20 คน..ล้มเหลวนะงานนั้น เวทีใหญ่มาก ไฮเทคมาก เขาบอกว่าเด็กกำลังสอบ -- เลยพาวิทยากร และเพื่อนครูเก่า ไปแก่งวังน้ำเย็น ทุ่งแสลงหลวง เพชรบูรณ์ กะพานิสิตที่เฮๆ รู้ใจกันโดดเรียนไปภูกระดึงอีก 1 ครั้ง (อุ้ย.. อธิการบดีค้อนแล้ว ไม่ใช่จ้า พวกเราไม่มีชม.เรียน-สอน ตะหากจึงไปได้ เด็กที่ไปไม่มีปัญหาเรื่องเรียนเล้ย จบไปแล้วได้ดิบได้ดีกันทุกคน..อย่าเอาผิดย้อนหลังล่ะ)

ที่ มน.ได้ร่วมเป็นกองหนุนเด็กในภาคชีวะ จัดงานระลึกสืบนาคะเสถียร 1 ครั้ง ชวนอาจารย์ไปเดินป่าเล็กๆน้อยๆอีกไม่กี่ครั้ง ตอนนั้นเดินจริงๆ หลายกิโล (จึงเข็ดกันเป็นแถว) ตอนนี้เดินไม่จริง แค่เดินดูนกไม่กี่เมตร

ปี 41 ก็ลาเรียนต่อ วท.ด.วิทยาศาสตร์ชีวภาพ(นิเวศวิทยา)จุฬาฯ --วิทยานิพนธ์ทางนิเวศวิทยาการสืบพันธุ์ของนกแอ่นกินรัง--จึงเป็นที่มาของเนื้อหาในบล็อกนี้  

เขียนบล๊อกนี้อย่างไม่ปิดบัง อย่างน้อยอยากให้คนอ่านมีวิชาการนกอีแอ่น รักและสงสารมันด้วย เคยมีคนเชิญไปพูดเรื่องนกอีแอ่น ซึ่งตอนนั้นไม่ว่างเลย เพราะทำงานทุกวัน ก็เลยของเดินทางโดยเครื่องบิน ไม่พูดถึงค่าตอบแทนกัน แต่เขาก็ให้ค่าความรู้มาด้วย ส่วนหนึ่งจึงไปสมทบกับเงินที่นิสิตในชมรม 'คนดูนกม.นเรศวร' ปี 47หาไว้ให้ห้าพันกว่าบาท  ซื้อกล้องส่องดูนก 2 ตัว กะหนังสือดูนก ชมรมฯจึงทำงานได้คล่องขึ้น เริ่มมีอุปกรณ์ของชมรม 

ชมรมคนดูนกม.นเรศวร แม้ว่าจะมีการเข้าดักแด้กันเป็นระยะ (คือปี-เว้นปี เพราะว่ารอให้เด็กที่สนใจอยากทำงานกันจริงๆมาสานต่อ ..ไม่ได้บังคับใคร ไม่ประกาศหา เด็กเดินเข้ามาด้วยความอยากทำ) ตอนนี้พวกเขาก็ทำงานกันต่อไป และก็ยังระดมทุนกันอีกประปราย  แต่คนทำส่วนใหญ่ใจหนักแน่น 

งานอนุรักษ์ที่ มหาวิทยาลัยจึงดูจะด้อยกว่าครั้งอยู่มัธยมตั้งเยอะ

ตอนนี้ เรารู้ว่านักเรียนเก่า--บ้านนอกวิทยา ของเรา มีครอบครัวกันไป แต่พวกเขายังเหนียวแน่นคบหากันตลอด และกลับมาติดต่อกับครูที่ปรึกษาของเขาอีกด้วยความบังเอิญ 

เรากลับไปเยี่ยมโรงเรียนเก่า แบบว่า"คืนรัง"ในวันที่พวกเขาหาเงินเข้ามูลนิธิสืบฯ โปรเจคย่อย ชวนเพื่อนมากิน ฟังเพลงเพื่อชีวิตของตู--มลคล อุทก พร้อมนักร้องเพื่อชีวิตที่อยู่ที่นั่น ซึ่งก็คือนักเรียนเก่าของเรานั่นแหละ-1 ก.ย.50  รู้สึกดี ที่พวกเขายังทำงานเพื่อคนอื่นบ้าง ก็ยังมีศิษย์เก่าหลายคนทำวานกับNGOsและมูลนิธิเพื่อสิ่งแวดล้อม

ในการดำเนินชีวิตนั้น มีศิษย์เก่าของเราสร้างบ้านดิน ทำสวนเกษตร บ้างเป็นราชการที่มีไฟแรง ทำงานด้วยจิตสำนึกมุ่งมั่นในอาชีพ'คุณหมออนามัย' บ้างมีอาชีพอิสระตามอรรถภาพ อย่างที่รู้ๆ พวกเขาไม่ใช่คนรวยมากมาแต่กำเนิด อย่างไรเสีย พวกเขาก็ไม่รวยล้นฟ้าไปได้หรอก ถ้าไม่คอร์รัปชั่นในวงราชการ (!) ดังนั้นพวกเขาก็เลย "พอมี" แต่ที่รวยล้นฟ้าคือ น้ำใจ

ชีวิตครูมัธยมถือว่าเป็นกำไร

ส่วนชีวิตอาจารย์มหาวิทยาลัยก็ดีมาก  ได้สอนในวิชาที่เรียนมาตั้งแต่ป.ตรี ยัน ป.เอก 

ได้พาคนดูนก-รักนก ไปหลายคนแล้ว ...เป้าหมายต่อไปคือให้เขารักนกพร้อมกับรักษ์ธรรมชาติกันทุกคน..หวังสูงไปอะเปล่า... ไม่รู้จะเกษียณไปก่อนหรือเปล่าจึงจะทำสำเร็จสักคน

ชมรมคนดูนก ม.นเรศวร ก็มีกำลังหนุนคือคนเก่งๆที่ดูนกในมอ...คุณมาโนช และนอก ม. อย่างกลุ่มชมรมอนุรักษ์นกและธรรมชาติล้านนาซึ่งส่ง "ปิ๊ดจะลิ่ว"มาให้ชมรมอ่านฟรี ตั้งแต่ปี 48 บางทีก็เป็นเอกสารอื่นๆ เกี่ยวกับนก ขอบคุณสักพันครั้ง

ที่มน.ครูเล็กได้ทำงานเพื่อสิ่งแวดล้อมก๊อกแก๊ก ถ้ามีโอกาส ส่วนใหญ่มาทางวิชาที่สอนหลายๆ วิชา และเฉพาะกับ ECB ที่เน้นวิชาการ และคุณธรรมและจิตสาธารณะด้วย ในส่วนที่เป็นที่ปรึกษาทำ project ป.ตรี is +วิทยานิพนธ์ ป.โท ถ้าทำเรื่องนกละก็ ครูเล็กมักจะได้ทำค่ายให้โรงเรียนไกลๆ ผ่านคุณครูของพวกเขา แม้ไม่เต็มรูปแบบแต่ก็ยังดีที่ได้ทำบ้าง เส้นสายมันยึด ขึ้นสนิมหมดแล้วเนี่ย 

แรงบันดาลใจที่ทำงานอื่นๆ ด้วย นอกจากวิชาการ(ซึ่งวิชาการก็ไม่ได้เรื่อง) เพราะคิดว่า ยังทำงานเพื่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่าคนอื่นๆมาก เมื่อไรจะตามทัน สังคมไทยยังต้องการคนมีจิตสาธารณะอีกมาก

ขอบคุณทุกคนที่มาเกี่ยวบุญสัมพันธ์ ตั้งแต่เราอยู่บ้านนอกวิทยาจนถึงมหาวิทยาลัย

พวกเขามีน้ำใจมาก นักเรียนเก่ารวมศิษย์ มน.เก่า-ใหม่ทั้งป.ตรี ป.โทด้วย   เพื่อนเก่า ..มีหลายคนที่ทำงานเพื่อสิ่งแวดล้อม และแบบทุ่มสุดตัว อย่าง อ.ประสาน แสงไพบูลย์เรื่องปะการัง นี่จัดเป็นแรงใจหนุน NGOsก็ยังปราณีช่วยเหลือ เพื่อนร่วมงาน หัวหน้าผู้บริหารของ มน.(บ้าง) เพื่อนครู บรว.และเพื่อนผอง ที่เจอหน้ากัน เฮกันทุก ปี-2ปีครั้ง นี่เป็น"ทอง"จริงๆ ให้เสียงเป็นกำลังใจตลอด บ้างเติมน้ำยาแอร์ด้วยการอาสาพาไปเที่ยวป่า เพื่อนนาวีจะพาไปดำน้ำดูปะการัง..ปลื้มต่อเนื่อง  ยังจะเพื่อนใหม่ไม่เห็นตัว (ชมรม-นักดูนก)ทั้งหลาย

ครูเล็กได้เพียงแต่ปันผลบุญเป็นการตอบแทน..บุญจากการทำดีที่ไม่มีธุรกิจมาเอี่ยว ..เป็นบุญได้ไหม? ถือว่าเรามาร่วมตอบแทนคุณแผ่นดินด้วยกันละกันนะ

ส่วนการทำงานได้เนี้ยบขึ้นมาก หลังจบป.ตรี ต้องยกเครดิตให้กับเพื่อนรุ่นพี่ ที่ร.ร.เอกชนวันทามารีย์ ครูเล็กเรียนรู้การทำงานที่ดีมีระบบมาจาก "มีส-สายและคณะ"  ตอนนี้ก็ยังคบกันอยู่  เฮกันอยู่ตลอด

ส่วนวิธีสอนที่ดี ที่ครูเล็กทำบ้างเล็กน้อย จำมาจากครู-อาจารย์ตั้งแต่วัยเยาว์  จนถึงวัยสายตายาว

(ประถมถึงป.เอก---อาจารย์ให้โอกาสเด็กเรียนไม่เด่น ไม่สวย ไม่รวยและไม่เจรจาอ่อนหวานแบบครูเล็ก---อืม อย่างนี้ ---ตั้งตัวได้นับว่าอาจารย์มีเมตตาอย่างใหญ่หลวง)

จนถึงคนที่เคยกริ้งกร้าง แสดงน้ำใจอนุญาตให้ทำวิจัยในบ้านรังนก ในวงการนกอีแอ่น ทั้งคนที่เคยเจอกัน และที่ไม่เคยเห็นหน้ากันเลย  ก็เถอะ  ครูเล็กขอบคุณจริงๆ และรับรู้และซาบซึ้งถึงความจริงใจของคนหลายคนในธุรกิจนี้(หายากนะ) กลุ่มที่เซย์ไฮ..มาในบล็อกด้วยอะ

นี่เป็นส่วนหนึ่งในประวัติศาสตร์การทำงานที่ผ่านมา ดูเหมือนประวัติจะยังมีอะไรให้เขียนต่อ.......

 

 

 

  

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท