KM-DMHT 2012 : หมุนเกลียวความรู้สู่การป้องกันโรคเบาหวาน-ความดันโลหิตสูง


การหมุนเกลียวความรู้จะมีพลังเมื่อมีความรู้ทฤษฎีและความรู้ปฏิบัติ และจะมีพลังมากถ้าเอาขั้วตรงกันข้ามมา

วันที่ 26 ธันวาคม 2555 

เวลา 08.30-09.30 น. เป็นปาฐกถาเรื่อง หมุนเกลียวความรู้ สู่การป้องกันโรคเบาหวาน-ความดันโลหิตสูง โดยศาสตราจารย์นายแพทย์วิจารณ์ พานิช  Download Powerpoint ประกอบการบรรยายได้ที่นี่ 

ภก.เอนก ทนงหาญ รับหน้าที่เป็นพิธีกรในวันนี้ ได้แนะนำอาจารย์วิจารณ์ต่อผู้เข้าประชุมว่าอาจารย์จบการศึกษา แพทยศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (มนุษยพันธุศาสตร์) มหาวิทยาลัยมิชิแกน สหรัฐอเมริกา และวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร ปัจจุบันเป็นประธานมูลนิธิสถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม เป็นผู้ก่อตั้งและอดีตผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส.) ในปี 2547 ได้เป็นผู้ริเริ่ม ชักชวน และสนับสนุนการสร้างเครือข่าย KM เบาหวาน คอยให้กำลังใจและชี้แนะวิธีการทำงาน เพื่อให้ยกระดับการทำงานอย่างสม่ำเสมอ จนไม่อาจล้มเลิกการทำงานของเครือข่ายไปได้ 

อาจารย์วิจารณ์เป็นผู้นำ ที่ชี้นำการทำงานด้านการจัดการความรู้ของประเทศไทย โดยมีเป้าหมายเพื่อประโยชน์ของสังคมและประเทศชาติโดยรวม เป็นนายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล เพิ่งพ้นวาระประธานกรรมการบริหารสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล เป็นผู้บริหาร ที่ปรึกษา และกรรมการที่สำคัญๆ อีกหลายชุดโดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับงานด้านสุขภาพและงานด้านการศึกษา ทั้งในอดีตและปัจจุบัน



ศาสตราจารย์นายแพทย์วิจารณ์ พานิช


อาจารย์วิจารณ์เริ่มว่ามีความยินดีอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสมา share ความคิดเรื่องการหมุนเกลียวความรู้... ขณะที่เตรียมไฟล์ประกอบการปาฐกถาอยู่นั้น ภรรยาของอาจารย์ได้แซวว่ามีฉันทะในการเตรียมเป็นพิเศษเพราะตัวเองเป็นทั้งสองโรค อาจารย์บอกว่าตนเองเป็นลูกที่ดีเพราะรับมรดก (โรค) มาจากพ่อและแม่

มีความสุขเป็นพิเศษเพราะได้ช่วยกันก่อตั้งเครือข่ายเบาหวานมา อาจารย์เทพเล่าให้ฟังว่าคิดอย่างไร เพราะเบาหวานเป็นปัญหาที่ใหญ่มาก กระทรวงสาธารณสุขทำไม่ทัน ตอนนั้นมีไอเดียที่ทั้งคนชวนและคนฟังยังงงๆ ว่าจะใช้การจัดการความรู้ แต่กระบวนการไม่รู้ว่าทำอย่างไร... มาถึงบัดนี้ ได้เห็นพลังการทำงานเพื่อสังคม...

การหมุนเกลียวความรู้ก็คือการจัดการความรู้นั่นเอง อาจารย์วิจารณ์กล่าวว่าอาจารย์ได้ถอยออกมา ไม่ได้ทำ KM โดยตรงแล้ว แต่ยังสนใจและเฝ้าสังเกต การหมุนเกลียวความรู้เป็นการใช้ความรู้ 2 อย่าง (2 ขั้วตรงกันข้าม) เอามาอธิบายและหนุนซึ่งกันและกัน หนุนผ่านการปฏิบัติ เป็นหัวใจสำคัญ พลังของการหมุนเกลียวความรู้ผ่านการปฏิบัติจะง่ายและเบาแรงขึ้นเยอะ ถ้าผ่านปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ตัวสำคัญคือคนและปฏิสัมพันธ์ระหว่างคน



ภายในห้องประชุม


เรื่องเบาหวาน-ความดันโลหิตสูง การหมุนเกลียวความรู้... มีความสำคัญเป็นพิเศษ เพราะเป็นเรื่องของพฤติกรรม/การปฏิบัติด้วยตนเอง การหมุนเกลียวความรู้จะมีพลังเมื่อมีความรู้ทฤษฎีและความรู้ปฏิบัติ และจะมีพลังมากถ้าเอาขั้วตรงกันข้ามมา... เคล็ดลับ เริ่มด้วยความกล้าก่อน กล้าที่จะเอาสิ่งที่แตกต่างกันมาไว้ด้วยกัน เรื่องของ 2 ขั้วตรงกันข้าม ส่วนหนึ่งมีอยู่ในหนังสือที่เขียน

สมัยที่เรียนหมอ เคยปฏิเสธภูมิปัญญาท้องถิ่น ปัจจุบันไม่ปฏิเสธ พิสูจน์จากการที่มันใช้ได้ผล แต่บางทีเรื่องพวกนี้พิสูจน์ไม่ได้ด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์

อาจารย์ถามผู้เข้าประชุมว่าความรู้เพื่อการป้องกันเบาหวาน-ความดันโลหิตสูง อยู่ในตัวคนที่เป็นโรคนั้นเองหรือตำราหรือเจ้าหน้าที่ อันไหนมากกว่ากัน ได้รับคำตอบจากผู้เข้าประชุมส่วนใหญ่ว่าอยู่ในตัวคนที่เป็นโรคนั้นเอง... ในห้องประชุมนี้คิดเหมือนๆ กัน... ในความเป็นจริงต้องรู้จักใช้ความแตกต่างให้เกิดประโยชน์... ความรู้ฝังลึกเป็นส่วนที่ dominate ความรู้ในตำราและความรู้ในเจ้าหน้าที่...

ในหนังสือที่แจกผู้เข้าประชุมมีรายละเอียดเรื่อง SECI เยอะมาก... ไม่ว่าคำอธิบายใด ไม่มีวันครบ... ทำงานแล้วเอามาพิจารณา อ่านหนังสือที่อาจารย์ยุวนุชเขียนแล้วจะค่อยๆ เข้าใจ คิดต่อได้ 



SECI Model ภาพจากการบรรยายของ Prof.Nonaka วันที่ 22 พฤศจิกายน 2553


SECI เริ่มจาก

  • S - ตัวบุคคล ทำงานด้วยกัน แลกเปลี่ยนกันโดยมีสภาพแวดล้อมที่ดี เป็นการแลกเปลี่ยนระหว่างคน ทำให้ tacit knowledge มีการแลกเปลี่ยน
  • E - คนมาคุยกันเป็นกลุ่มเพื่อตีความ ทำความเข้าใจ พยายามทำให้ความรู้ในตัวคนพูดออกมา/เขียนออกมาได้ ผ่านการทำ dialogue, reflection… ในบรรยากาศสบายๆ หลายครั้งการตีความอาจไม่เหมือนกัน อาจออกมาเป็นเรื่องเล่าหรือเขียนออกมา
  • C - เอาความรู้มาบูรณาการเข้าด้วยกัน ความรู้จากต่างกลุ่มเอามาแชร์ข้ามกลุ่ม จะเกิดความรู้ที่เชื่อมโยง จะได้ explicit knowledge ที่ยกระดับขึ้น
  • I - หัวใจคือตัวบุคคล จะมีความรู้เพิ่มขึ้น เคยมองว่าเป็นการเอาความรู้บรรจุเข้าไปในวิธีการทำงาน ทำให้เราทำงานสบายขึ้น ใช้เวลาน้อยลง internalization เข้าไปในกระบวนการทำงาน เข้าไปใน process/ product เกิดผลิตภัณฑ์ใหม่

วงจรนี้จะหมุนตลอดเวลา หมุนบ่อยแค่ไหนนั้นในความเห็นของอาจารย์วิจารณ์คิดว่า SECI เกิดทุกวัน อาจจะวันละหลายรอบ แต่ละ quadrants ไม่ได้แยกจากกัน จะปนๆ กัน ส่วนใหญ่เกิดขึ้นแบบไม่เป็นทางการ

มอง SECI ได้หลายแบบ วิธีมองอีกแบบหนึ่ง

  • พื้นที่ S มองว่าเป็น Originating Ba
  • พื้นที่ E มองว่าเป็น Interacting Ba
  • พื้นที่ C ที่มองว่าเป็นพื้นที่ Cyber ที่จะแลกเปลี่ยนกัน ความจริงไม่ต้องเป็น cyber ก็ได้ ไม่ต้องพร้อมกันก็ได้ แต่ต้องข้ามแดน
  • พื้นที่ I – Exercising Ba 

การหมุนเกลียวความรู้มองได้หลายแบบ การให้คุณค่าความรู้ tacit knowledge สำคัญมาก พอเข้ามาในวงนี้เราให้คุณค่า tacit knowledge พอกลับไปในสภาพอีกแบบ tacit knowledge มันลีบ... tacit knowledge เป็นความรู้มือหนึ่ง แม้จะได้มาจากหนังสือ แต่พอปฏิบัติก็เป็นความรู้ของเรา เป็นความรู้มือหนึ่ง

ปฏิสัมพันธ์ที่มีมิติของความเป็นมนุษย์มากหน่อย จะเกิดการหมุนเกลียวความรู้ระหว่างความรู้ของเรากับของผู้ป่วย หากเราเคารพความรู้มือหนึ่ง ผู้ป่วยก็จะกล้าที่จะบอก ผู้ให้บริการก็ได้ความรู้ เอาไปตรวจสอบต่อหรือเอาไปออกแบบโจทย์วิจัย

จุดสำคัญของ tacit knowledge เยอะเลยที่เจ้าตัวไม่รู้ว่าตัวเองมี ต้องมีวิธีกระตุ้น... นี่แหละคือเทคนิคเฉพาะตัว ความสามารถในการตั้งคำถามคือ tacit knowledge อย่างหนึ่ง หลักง่ายๆ คือการถามด้วยความเคารพและเห็นคุณค่าของ tacit knowledge ด้วยท่าทีและน้ำเสียง ถามแล้วผู้ป่วยจะพรั่งพรูออกมา

การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ tacit knowledge ในหลายกรณีเจ้าตัวไม่รู้ว่าตัวมี เพราะเราถูกสอนถูกครอบงำว่าความรู้เป็นความรู้ทฤษฎี ไม่ให้เกียรติความรู้ปฏิบัติ การจะทำให้ tacit knowledge ออกมาจะต้องมีเทคนิค เช่น storytelling เล่าแบบสุนทรียสนทนา BAR/AAR…วิธีปล่อย tacit knowledge ที่อาจารย์วิจารณ์ใช้ทุกวันคือการเขียนบล็อก ทำให้ได้ AAR หรือ reflection กับตัวเอง 

การเขียนบล็อกเป็นเครื่องมือที่ดึงความรู้ที่เลยความรู้ทฤษฎีออกมา คนที่ไม่ชอบเขียนก็ถ่าย VDO ไปลงใน youtube, website เพื่อแชร์ในวงกว้าง หลายๆ เรื่องอธิบายยากก็ทำให้ดู หรือทำ Peer Assist แทนการไปดูงานแบบเดิมที่ไม่ค่อยได้ผล

Tacit knowledge อาจเรียกเป็นความรู้นอกตำรา



ผู้เข้าประชุม


Deep listening เป็นเทคนิคที่ฟังดูง่าย ใครที่มีทักษะนี้จะเป็นคุณต่อชีวิตมากมาย วัยรุ่นในยุคนี้มีทักษะนี้น้อย ต้องมีการฝึก การฟังอย่างลึกจะได้ความรู้เหนือถ้อยคำ ความรู้ที่ปล่อยจากใจถึงใจ

AI เป็นการเห็นคุณค่า ตั้งคำถามด้วยความชื่นชม กระตุ้นความรู้ให้ไหลออกมาด้วยความชื่นชม บรรยากาศเชิงบวก ถ้าทำเป็นก็เป็นของง่ายๆ บางคนอาจมีอยู่แล้วเป็นธรรมชาติ บางคนต้องฝึก

Tacit knowledge ของ/เพื่อผู้เป็นเบาหวาน มีหลากหลายเรื่อง ยกตัวอย่างมาให้ดู เช่น การใช้ยา อาหาร การออกกำลังกาย ใจหวิว ใจสั่น เหงื่อแตก การไปหาหมอ ตา ไต ตีน การปฏิบัติตัวในเรื่องต่างๆ

การหมุนเกลียวความรู้ ถ้าจะให้ดี ต้องการพลังของความเป็นอิสระ สังคมของเราเคารพผู้อาวุโส คนมีตำแหน่ง.... จะไม่กล้าแชร์ ถ้าจะให้ดีก็ควรเคารพซึ่งกันและกัน ในขณะเดียวกันก็ไม่ยึดมั่นถือมั่น สภาพเช่นนั้นจะทำให้ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ออกมาทำงาน คนทุกคนมี creativity แต่โชคร้าย มนุษย์ใช้ creativity น้อย เพราะถูกครอบงำ เพราะเชื่อว่ามีถูกมีผิด กลัวผิด กลัวหัวหน้า... ถ้าก้าวข้ามได้ creativity จะโผล่เองเพราะเป็นคุณสมบัติของมนุษย์

ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ส่วนใหญ่จะอยู่ที่คนหน้างาน เรื่องที่ใครทำ เขาจะริเริ่มสร้างสรรค์ได้ดี... คนเราไม่ได้ทำงานแบบเดี่ยวๆ ถ้าหน่วยงานยอมให้มีการลองและผิดได้...

เราอยู่ในหน่วยงานสุขภาพเป็นโชคดี เพราะเป็นงานที่ทำเพื่อผู้อื่น เป็นพลัง สมองมีส่วนที่ทำให้เกิดความสุขจากการทำเพื่อผู้อื่น ในสภาพเช่นนั้นจะโยงไปสู่ healthy workplace

การหมุนเกลียวความรู้ต้องการพื้นที่เพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้... share & learn… เป็นพื้นที่ที่ให้ความอิสระ... มีข้อสังเกตว่าพื้นที่ที่คนมาประชุมแล้วชื่นชม ชื่นชมแล้วจบ ไม่หมุนเกลียวความรู้ ชื่นชมแล้วต้องตั้งคำถามชวนกันตีความ ถามต่อว่าจะทำให้ดีขึ้นอย่างไร ต้อง “ชื่นชมและแสวงหา” การที่จะแสวงหาเช่นนั้นได้ ต้องมีสมาธิที่จะฟัง ช่างสังเกต จับประเด็น และตั้งคำถาม ไม่มองเป็นจุดอ่อน แต่มองเป็นความท้าทาย การที่แต่ละคนฝึกตัวเองให้เป็นคนละเอียดอ่อน ช่างสังเกต... เป็นการหมุนเกลียวความรู้ในตัวเอง

Ba ในสไลด์ของ Prof.Nonaka บอกว่าพื้นที่สำหรับการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ Here & Now เป็นปฏิสัมพันธ์ในปัจจุบันขณะ สิ่งที่เอามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่มีคุณค่า (การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่มีค่าอย่างยิ่ง) เป็นนามธรรม ไม่ค่อยชัดเจน ไม่ค่อยเข้าใจ ถ้าเราสามารถเข้าสู่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในสิ่งที่มาจากใจ สื่อออกมาจากใจ “ฟังได้ยินในสิ่งที่เพื่อนไม่ได้พูด” ก็จะทำให้การหมุนเกลียวความรู้มีพลัง = Intersubjectivity



Ba ภาพจากการบรรยายของ Prof.Nonaka วันที่ 22 พฤศจิกายน 2553


การหมุนเกลียวความรู้ที่ดี ด้วยข้อสงสัย คำถาม ถามกระตุ้นความภูมิใจในความสำเร็จ จะฟู หลายครั้งคนพูดโดยไม่คิดว่าจะพูด เพราะถูกกระตุ้นด้วยโดยบรรยากาศ... วิธีการหนึ่งที่อาจารย์วิจารณ์ใช้และ สคส. เจอเองคือเวลาที่ AAR แล้วคุยกัน วิธีที่จะให้ tacit knowledge ออกมา ก็ให้แต่ละคนตีความ การตีความเกิดขึ้นได้อย่างไร การตีความมองมุมหนึ่งเป็นการเอาความรู้มาตีความ การตีความเป็นเครื่องมือตัวหนึ่งที่ทำให้คนสบายใจ

ชวนคนไข้เบาหวานมาเล่าว่ารู้ตัวหรือเปล่าว่าเป็นคนไข้ที่ดีที่สุดที่เคยเจอมา เป็นการเล่าเรื่อง best practice แล้วซักทีละตัว แล้วตีความด้วยทฤษฎี... แสดงว่ากินอาหารแป้งน้อย... เราได้ความรู้ คนไข้ได้ความรู้ด้วย แล้วท้าทายว่าจะดีขึ้นถ้า....

เรายกระดับความรู้ (ปฏิบัติ) ของผู้ปฏิบัติด้วยการใส่ความรู้ทฤษฎีเข้าไป ให้เอาไปปฏิบัติ แล้วเอากลับมาเล่าอีก (เล่าผลและวิธีปฏิบัติ)... ในมุมของนักวิชาการ ยกระดับความรู้ (ทฤษฎี) โดยรวบรวม วิเคราะห์ จัดระบบความรู้ปฏิบัติ นำมาขยายความความรู้ทฤษฎี จัดทำเป็นความรู้เชิงบริบท (contextual knowledge) ที่เกี่ยวข้องกับการใช้ทฤษฎีนั้น...

การหมุนเกลียวความรู้ต้องการ “คุณอำนวย” ซึ่งมีทักษะหลายๆ อย่าง เช่น สร้างบรรยากาศอิสระ ผ่อนคลาย เล่นๆ เจือจริงจัง ตั้งคำถามที่ได้ใจ/ความมั่นใจ/ท้าทาย/ไม่มั่นใจ – ตีความ/ได้ข้อมูล วางแผนเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบ โดยมีคำถามสำหรับใช้จัดระบบข้อมูลล่วงหน้า... ทักษะกระตุ้นให้ความรู้ออกมา เช่น วางแผนกำหนดเป้าหมายให้ชัด ทำความรู้จักคนที่จะมาร่วมวงไว้ล่วงหน้า...

ต้องมีการบันทึกข้อมูล “คุณลิขิต” มีทักษะ มีการวางแผนร่วมกับ “คุณอำนวย” ไว้ล่วงหน้า... เขียน flip chart เพื่อ visual stimulation แก่วงและเก็บเป็นข้อมูล บันทึกแหล่งข้อมูลเอาไว้ติดตาม

แนะนำนักวิชาการโยงเข้าสู่งานวิจัย การใช้ KM เป็นเครื่องมือวิจัย เก็บความสำเร็จเป็น research data… ตัวอย่างนักโภชนาการ จากการปฏิบัติเก็บความรู้จากคนไข้มาแชร์กันเป็น practical knowledge เอาทฤษฎีมาตีความ ได้เป็น research ผลงานวิจัย

การหมุนเกลียวความรู้ เป้าหมายสำคัญที่สุดคือเปลี่ยนพฤติกรรมผู้ป่วย ในขณะเดียวกันก็เปลี่ยนพฤติกรรมของเราด้วย... ใช้ KM เปลี่ยนใจคน... 

หลังจากพักรับประทานอาหารว่าง เป็นกิจกรรมในฐานการเรียนรู้ 4 ฐาน จำนวน 2 รอบในวันนี้ ภาคเย็นเป็นกิจกรรมพิเศษของบริษัทโรช ไดแอกโนสติกส์ (ประเทศไทย) จำกัด เรื่อง The New Ways to Engage Your Patients by Structural Testing and Behavioral Style ซึ่งมีผู้เข้าประชุมเข้าร่วมจำนวนพอสมควร พวกเราทีมทำงานไม่ได้เข้าร่วมกิจกรรมด้วย เพราะติด AAR การจัดกิจกรรมฐานการเรียนรู้ของวันนี้และวางแผนการเริ่มต้นงานวิจัย DPP Thailand ต่อ

วัลลา ตันตโยทัย

หมายเลขบันทึก: 515302เขียนเมื่อ 6 มกราคม 2013 16:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 มกราคม 2013 16:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบคุณมากค่ะสำหรับการสรุปเนื้อหาที่เป็นประโยชน์มาก..

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท