สัญญาซื้อขายสินค้าระหว่างประเทศ เสถียรภาพในทางกฎหมายและประเทศไทย


สรุปประเด็นสำคัญของกฎหมายที่ช่วยให้เกิดความคล่องตัวในการทำธุรกิจ และทำให้เกิดเสถียรภาพในประเทศ

กฎหมายเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยในการพัฒนาการค้าระหว่างประเทศ การมีกฎหมายที่ทันสมัยจะทำให้การค้าระหว่างประเทศมีความคล่องตัว ส่งผลให้นักธุรกิจกล้าตัดสินใจทำการค้าระหว่างประเทศ เกิดความมั่นใจว่าการค้าของตนจะไม่มีความ

เสื่ยงและไม่มีอุปสรรคใดๆ  เสถียรภาพในทางกฎหมายที่จะเกิดขึ้นในทุกจุดของวงจรธุรกิจ ย่อมก่อให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจ แต่ปัญหาของประเทศไทยเกิดจากการที่รัฐสภาไทยให้ความสนใจในปัญหาการเมืองมากกว่าที่จะสนใจปัญหาเศรษฐกิจและสังคม เพราะที่ผ่านมาเสถียรภาพของรัฐบาลเป็นปัญหาสำคัญที่สุดในประเทศ การวิวัฒนาการของรัฐสภาไทยมีอุปสรรคจากการปฏิวัติ, รัฐประหารและการคอรัปชั่นมาโดยตลอดทำให้รัฐสภาไม่มีเวลาพอที่จะทำความเข้าใจและกำหนดนโยบายนิติบัญญัติเพื่อที่จะพัฒนาประเทศในทางเศรษฐกิจ

 

กฎหมายพิเศษที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการพัฒนานิติสัมพันธ์ ในทางการค้าระหว่างประเทศ มีดังต่อไปนี้

1.       พ.ร.บ. การรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534  เป็นกฎหมายที่มุ่งใช้กำหนดสิทธิหน้าที่และความรับผิดชอบของคู่สัญญาในสัญญารับขนของทางทะเลระหว่างท่าเรือในประเทศไทยและท่าเรือนอกประไทศไทยหรือโดยสลับกัน

2.    กฎหมายว่าด้วยสัญญาซื้อขายสินค้าระหว่างประเทศ

3.    กฎหมายว่าด้วยการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ

4.       กฎหมายว่าด้วยสัญญาเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ 

ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีรายได้ของประเทศส่วนใหญ่ที่สุดมาจากการค้าระหว่างประเทศ จะต้องมีนโยบายที่ชัดเจนและจริงจังในเรื่องของการพัฒนาการค้าระหว่างประเทศเพื่อให้เกิดประสิทธภาพและความยุติธรรมแก่นักธุรกิจไทย

การสร้างกฎหมายจะต้องทำให้เกิดขึ้นครบวงจร เพื่อตอบสนองความต้องการอย่างเฉพาะเจาะจงของนิติสัมพันธ์ในทางการค้าระหว่างประเทศ  จริงๆ แล้วประเทศไทยควรเริ่มต้นที่การบัญญัติกฎหมายสาระบัญญัติพิเศษว่าด้วยสัญญาซื้อขายสินค้าระหว่างประเทศ เมื่อมีการขยายตัวทางด้านการซื้อขายระหว่างไทยและต่างประเทศแล้วก็จะเกิดการขยายตัวของธุรกิจขนส่ง และธุรกิจการเงินระหว่างประเทศ ในยุคปัจจุบันมนุษย์อยากทำการค้าระหว่างกันมากกว่าการทำสงครามการค้าระหว่างประเทศทำให้รัฐต้องร่วมมือกันในการคงไว้ซึ่งสันติภาพระหว่างกัน การค้าระหว่างประเทศเป็นไปไม่ได้ในความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างรัฐสันติภาพและหลักถ้อยทีถ้อยปฏิบัติจึงเป็นความต้องการร่วมกันของนานารัฐ

ปัญหาที่นักกฎหมายธุรกิจประสบคือปัญหาความหลากหลายและความซับซ้อน

ของกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการค้าระหว่างประเทศจึงเป็นอุปสรรคต่อการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ  กล่าวคือ พ่อค้าอาจทราบว่า สิทธิหน้าที่และความรับผิดชอบของคู่สัญญาในแต่ละประเทศจะเป็นเช่นใดได้อย่างแน่นอน แต่สิทธิหน้าที่และความรับผิดชอบดังกล่าวจะแปรผันตามประเทศที่มีการกล่าวอ้างสิทธิหน้าที่และความรับผิดชอบดังกล่าว เช่น นายแก้วพ่อค้าไทยทำสัญญาซื้อขายสับปะรดกระป๋องกับนายอองรีพ่อค้าชาวฝรั่งเศส ซึ่งสัญญานี้อาจจะอยู่ภายใต้กฎหมายไทยหรือฝรั่งเศสของรัฐเจ้าของสัญชาติของคู่สัญญา หรืออาจอยู่ภายใต้กฎหมายของรัฐเจ้าถิ่นที่เกิดของสัญญา หรืออาจจะอยู่ภายใต้กฎหมายของรัฐเจ้าถิ่นที่สัญญามีผล การซื้อขายในครั้งนี้ย่อมตกอยู่ภายใต้กฎหมายขัดกันไม่ว่าศาลไทยหรือศาลฝรั่งเศสจะพิจารณาคดี เพราะสัญญานี้มีความเกี่ยวพันกับกฎหมายของสองรัฐขึ้นไป สถานการณ์นี้ เรียกว่า

การขัดกันแห่งกฎหมาย(Conflict of Law) เพื่อที่จะทราบว่ากฎหมายใดถูกใช้ในความเป็นจริงต่อสัญญาซื้อขายระหว่างประเทศ ต้องไปดูกฎหมายว่า ด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย (Law on Conflict of Law) โดยหลัก ศาลภายในของรัฐจะนำกฎหมายของรัฐที่มีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดที่สุดกับนิติสัมพันธ์มาใช้พิจารณานิติสัมพันธ์แม้ว่ากฎหมายจะเป็นกฎหมายต่างประเทศก็ตาม กฎหมายว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมายเป็นกฎหมายที่ชี้ว่า จุดเกาะเกี่ยวในแต่ละเรื่องคืออะไรและกฎหมายที่จะใช้ในแต่ละกรณีคือกฎหมายใด กฎหมายไทยว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย คือ พ.ร.บ. ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ. 2481 ถ้าศาลไทยจะต้องพิจารณาคดีระหว่างนายแก้วและนายอองรีศาลไทยจะต้องใช้ พ.ร.บ.ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ. 2481 เพื่อแก้การขัดกันแห่งกฎหมายเสียก่อน มาตรา 31 แห่ง พ.ร.บ. ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ. 2481 กำหนดให้ศาลไทยจะต้องนำเอากฎหมายของรัฐเจ้าถิ่นที่เกิดของสัญญามาใช้ต่อสาระสำคัญและผลของสัญญาที่มีลักษณะต่างสัญชาติ และจะต้องนำกฎหมายของรัฐเจ้าของถิ่นที่สัญญามีผลมาใช้ต่อสาระสำคัญและผลของสัญญาที่มีคู่สัญญามีสัญชาติเดียวกัน เว้นแต่คู่สัญญาจะแสดงเจตนาเลือกกฎหมายอื่นให้มีผลต่อสัญญา ศาลไทยก็จะต้องเคารพเจตนาของคู่สัญญา

สรุป แม้จะไม่มีศาลระหว่างประเทศสำหรับนิติสัมพันธ์ตามกฎหมายเอกชนที่มีลักษณะระหว่างประเทศ แต่จะเห็นได้ว่า กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคลสามารถนำมาซึ่งความยุติธรรมในทางระหว่างประเทศมาสู่ชีวิตของเอกชนในทางระหว่างประเทศได้ แต่ความหลากหลายและความซับซ้อนของกฎหมายก็ยังปรากฎเป็นเขื่อนกั้นความรวดเร็วและความมั่นใจในการประเมินการตัดสินของคู่สัญญาอยู่ดี จึงมีกฎหมายสาระบัญญัติพิเศษว่าด้วยสัญญาซื้อขายสินค้าระหว่างประเทศเป็นภาคีของอนุสัญญาของสหประชาชาติแห่งกรุงเวียนนาลงวันที่ 11 เมษายน ค.ศ. 1980 ว่าด้วยการซื้อขายสินค้าระหว่างประเทศ สิทธิหน้าที่และความรับผิดชอบของคู่สัญญาในสัญญาซื้อขายสินค้าระหว่างประเทศจะเป็นเรื่องที่ไม่มีความแตกต่างเมื่อประเทศที่กล่าวอ้างสิทธิหน้าที่และความรับผิดของคู่สัญญามีความแตกต่างกัน

 
หมายเลขบันทึก: 51391เขียนเมื่อ 23 กันยายน 2006 10:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 09:44 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท