มหาธี
อาจารย์ ธีรวัส บำเพ็ญบุญบารมี

พระพุทธวจนะแสดงการพัฒนาคุณธรรมมนุษย์


 

  โครงการธรรมศึกษาวิจัย

พระพุทธวจนะแสดงการพัฒนาคุณธรรมมนุษย์

ธีรวัส  บำเพ็ญบุญบารมี

มหาบัณฑิตสาขาวิชาพุทธศาสน์ศึกษา

มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย

ธรรมศึกษาวิจัยนี้เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาค้นคว้าเพื่อเป็นหลักฐานทางวิชาการทางพระพุทธศาสนาตามหลักสูตรวิจัยคัมภีร์พระพุทธศาสนา มูลนิธิเบญจนิกาย พุทธศักราช  ๒๕๕๐  พิมพ์ครั้งที่ ๑  ๕๐๐ เล่ม

เพื่อเป็นธรรมทานไม่สงวนลิขสิทธิ์

คำนำ

  การศึกษา พระพุทธวจนะแสดงการพัฒนาคุณธรรมมนุษย์

ช่วยให้ผู้ศึกษาได้ทราบถึงความจริงในหลักธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้แสดงไว้ สร้างความลึกซึ้งการจะเข้าถึงธรรมได้อย่างดี เพราะใน  มีการแสดงเปรียบเทียบความจริงกับสิ่งปรากฏให้รู้ได้  เพื่อทำให้พระพุทธวจนะแสดงการพัฒนาคุณธรรมมนุษย์เป็นที่เข้าใจ ผู้เขียนจึงสกัดเนื้อธรรม และภาษาให้เข้าถึงธรรมได้อย่างง่ายๆและไม่เสียเนื้อความ อันที่ปรากฏอยู่ในคัมภีร์นี้ สามารถสร้างเข้าใจได้อย่างง่ายขึ้น

  หนังสือนี้เชื่อว่าจะยังคุณประโยชน์ให้แก่ผู้อ่าน ด้วยผลแห่งกุศลที่ประสงค์จะดำรงพระสัทธรรมให้ดำรงคงมั่นในอยู่จิตใจชาวพุทธ สร้างเสริมปัญญาเป็นบารมี จงเป็นบุญญาบารมีให้บิดามารดาครูอาจารย์ญาติพี่น้องตลอดจนสหายธรรมทุกท่านเป็นผู้ดำรงคงมั่น ในสัทธรรมที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ และให้ศาสนาแห่งพระบรมศาสดาดำรงคงอยู่ตลอดกาลนาน เป็นแสงสว่างนำพาชีวิตของสรรพสัตว์ออกจากห้วงมหรรณพภพสงสารพ้นกองทุกข์กองโศกกองกิเลสเครื่องเศร้าหมองแห่งจิต ด้วยทั่วหน้ากันทุกท่านทุกคนเทอญ

  ธีรเมธี

  ธีรวัส บำเพ็ญบุญบารมี

  มหาบัณฑิตพุทธศาสนามหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย

บทที่  ๑

พระพุทธวจนะแสดงการพัฒนาคุณธรรมมนุษย์

 

  ความหมายและกระบวนการพัฒนาตามแนวพุทธ

  คำว่า  “พัฒนา”  หมายถึง  ความเจริญ,  ทำให้เจริญ[1]

  คำว่า  “วัฒนา”  หมายถึง  ความเจริญ,  ความงอกงาม[2]

  เมื่อพิจารณาคำว่า  “พัฒนา”  หรือ  “วัฒนา”  ตามแนวคิดทางพุทธศาสตร์ พบว่า  หมายถึง  การเจริญ  การเติบโต  เช่นต้นไม้งอก  เป็นการเติบโตที่ไม่มีการควบคุม  อาจยั่งยืน  หรือไม่ยั่งยืนก็ได้  เดิมนั้นพระพุทธศาสนาไม่ได้ใช้คำว่า  พัฒนาในยุคปัจจุบันใช้กันมาก  มีคำหนึ่งคือ  คำว่า  “ภาวนา”  ถ้าแปลกันในภาษาไทยง่าย ๆ  ว่าเจริญ  เป็นความเจริญที่ยั่งยืน[3]  ดังนั้นคำว่า  “พัฒนา”  ในภาษาไทยปัจจุบันมีความหมายตรงกับคำภาษาบาลีว่า  “ภาวนา”  การพัฒนาตนของบุคคลตามแนวพุทธต้องตั้งอยู่บนหลักภาวนา  ๔  คือ  กายภาวนา  ศีลภาวนา  จิตภาวนา  และปัญญาภาวนา  ถ้าเป็นคุณสมบัติของท่านผู้พัฒนาตนแล้ว  เป็นรูปคุณนาม  เป็นคุณสมบัติของบุคคลท่านใช้ว่า  ภาวิตกาโย  ภาวิตสีโล  ภาวิตจิตโต  และภาวิตปัญโญ[4]

  การพัฒนา  หมายถึงการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงสิ่งต่าง ๆ  ภายในชีวิตของตนเองจากสภาพหนึ่ง  ไปสู่อีกสภาพหนึ่งที่ดีกว่า

  ในทางพระพุทธศาสนานั้น  คำว่าพัฒนา  ถ้าว่าตามแนวของพุทธศาสตร์แล้วคำว่าพัฒนาน่าจะแยกได้เป็น  ๒  ส่วน  ส่วนหนึ่งก็คือพัฒนาคน  การพัฒนาคนนี้ตามศัพท์ทางพระพุทธศาสนาเรียกว่า  ภาวนา  ภาวนาหมายถึง  การพัฒนามนุษย์  การพัฒนาคนนั้นไม่ว่าจะเป็นทางด้านกายหรือจิตใจก็ตาม  อีกส่วนหนึ่งคือ  การพัฒนาสิ่งแวดล้อมภายนอก  เช่น  เทคโนโลยี  การศึกษา  การสื่อสาร  พัฒนาสังคม  พัฒนาบ้านเมือง  พัฒนากิจการต่าง ๆ  เป็นต้น

.  แนวทางการพัฒนามนุษย์ตามหลักภาวนา  ๔  ในพระพุทธศาสนา

  ในการพัฒนาชีวิตเพื่อความสงบสุขในปัจจุบันหรืออนาคตก็ตาม  เราจะต้องพัฒนาคนให้มีคุณภาพ  ชีวิตจะมีคุณภาพได้ก็ต้องมีคุณธรรม  ดังนั้นคุณธรรมย่อมจะมีขึ้นได้ก็ด้วยการฝึกฝนอบรมนี้  เรียกว่า  หลักภาวนา  ๔  นั้นได้แก่  กายภาวนา  ศีลภาวนา  จิตภาวนา  และปัญญาภาวนา[5]

  .  กายภาวนา  คือ  การทำกายให้เจริญ  มีความสัมพันธ์ที่เกื้อกูลกับสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ  หมายถึง  การพัฒนากายให้มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง  ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ  และยังรวมถึงการพัฒนาความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมภายนอกอย่างถูกต้องดีงาม  ในทางที่เป็นคุณประโยชน์  ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมาก  เพราะไม่เพียงหมายถึงสิ่งแวดล้อมทางสังคม  แต่ยังหมายถึงสิ่งอื่น ๆ  ที่มีความสำคัญและจำเป็นต่อชีวิตมนุษย์  เช่น  รู้จักการบริโภคปัจจัย  ๔  อันได้แก่  อาหาร  เครื่องนุ่งห่ม  ที่อยู่อาศัย  การใช้การบริโภคยา  และรู้จักใช้อินทรีย์  คือ  ตา  หู  จมูก  ลิ้น  กาย[6]  ในการเสพหรือใช้สอยวัสดุอุปกรณ์ในทางที่เป็นการส่งเสริมคุณภาพชีวิต  การมีความสัมพันธ์กับปัจจัย  ๔  อย่างถูกต้องนั้นหมายถึงการจัดสรรให้มีปัจจัย  ๔  เพียงพอที่จะเลี้ยงชีวิตให้ดำรงอยู่ได้อย่างดี  และใช้ปัจจัย  ๔  นั้นตามคุณค่าแท้  เช่น  รับประทานอาหารที่มีคุณประโยชน์ต่อร่างกาย  เพื่อเสริมสร้างร่างกายให้มีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง  ไม่ใช่รับประทานอาหารตามคุณค่าเทียม  คือรับประทานอาหารเพื่อความเอร็ดอร่อยโดยไม่คำนึงถึงโทษที่จะตามมา  นอกจากปัจจัย  ๔  แล้ว  ในการใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ  ก็ต้องพิจารณาถึงความถูกต้องเหมาะสม  ไม่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ตนเองและผู้อื่น  รวมถึงการพัฒนาความสัมพันธ์กับธรรมชาติให้เป็นไปในทางเกื้อกูลกันมากกว่าจะเป็นการทำลาย  เพื่อประโยชน์ของมนุษย์เพียงฝ่ายเดียว  เพราะในที่สุดโทษที่เกิดจากการทำลายสิ่งต่าง ๆ  ย่อมจะย้อนกลับมาทำความเสียหายให้แก่มนุษย์เองด้วย  สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นเรื่องของการพัฒนากาย  และคนที่พัฒนาตนแล้ว  เรียกว่า  ภาวิตกาย

  ในพระพุทธศาสนากล่าวถึงหลักธรรมตังขณิกปัจจเวกขณปาฐะ[7]  ซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิตเอาไว้  ทั้งนี้ก็เพื่อให้มนุษย์เราบริโภคปัจจัยพื้นฐานนั้นอย่างถูกต้อง  ถูกจุดประสงค์  เรียบง่าย  และคุ้มค่าอย่างที่สุด  ปัจจัย  ๔  ได้แก่เครื่องยังชีพทางร่างกายในการดำรงชีวิตซึ่งมีดังนี้

  ๑.  อาหาร  โดยมีจุดมุ่งหมายในการบริโภคอาหารก็คือ

-  เพื่อให้กายดำรงอยู่ได้

-  เพื่อกำจัดความหิวอาหาร

-  เพื่อจะอนุเคราะห์การปฏิบัติธรรม

๒.  เครื่องนุ่งห่ม

-  เพื่อบรรเทาความหนาว

-  เพื่อบรรเทาความร้อน

-  เพื่อป้องกันพวกแมลงสัตว์ร้ายมารบกวน  เช่น  ยุง เป็นต้น

-  เพื่อปกปิดอวัยวะที่ทำให้เกิดความละอาย

๓.  ที่อยู่อาศัย

-  เพื่อบรรเทาความหนาว

-  เพื่อบรรเทาความร้อน

-  เพื่อป้องกันสัตว์ร้าย  รวมทั้งคนร้ายด้วย

-  เพื่อป้องกันอันตรายจากฤดูกาลต่าง ๆ  เช่น  พายุ  ฝน  เป็นต้น

๔.  ยารักษาโรค

-  เพื่อบรรเทาเวทนา  เป็นการระงับโรคต่าง ๆ  ให้บรรเทาเบาบางลง  หรือให้โรคหายไปในที่สุด

-  เพื่อความเป็นผู้ไม่มีอาพาธหรือโรคต่าง ๆ 

เพราะฉะนั้น  การบริโภคปัจจัย  ๔  นี้จะต้องไม่ใช่เพื่อวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้

-  เพื่อเล่น

-  เพื่อมัวเมา

-  เพื่อประดับ

-  เพื่อตบแต่งประเทืองผิว

นอกจากนี้ในพระพุทธศาสนายังได้กล่าวถึงหลักจรณะหรือข้อปฏิบัติของผู้ฝึกอบรม

ตนเพื่อบรรลุวิชชาหรือปัญญา  ผู้ที่ต้องพัฒนาตนในที่นี้หมายถึง  ปุถุชน  โสดาบัน  สกทาคามี  และอนาคามีบุคคล  อาจกล่าวได้ว่า  กิจกรรมทางการพัฒนากาย  คือ  การปฏิบัติในชีวิตประจำวัน  การสำรวมอินทรีย์  การรู้จักประมาณในการบริโภค  เป็นต้น  ดังพุทธพจน์ว่า

  แม้ข้อที่อริยสาวกเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีลนี้  ก็เป็นจรณะของเธออีกประการหนึ่ง  แม้ข้อที่อริยสาวกเป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลายนี้  ก็เป็นจรณะของเธอประการหนึ่ง  แม้ข้อที่อริยสาวกเป็นผู้รู้ประมาณในโภชนะ  ก็เป็นจรณะของเธอประการหนึ่ง  แม้ข้อที่อริยสาวกเป็นผู้ประกอบความเพียรเครื่องตึ่นนี้  ก็เป็นจรณะของเธอประการหนึ่ง  แม้ข้อที่อริยสาวกเป็นผู้ประกอบด้วย  สัปปุริสธรรม  ๗  ประการนี้  ก็เป็นจรณะของเธอประการหนึ่ง  แม้ข้อที่อริยสาวกเป็นผู้ได้ฌานทั้ง  ๔  อันเป็นธรรมอาศัยซึ่งจิตอันยิ่ง  เป็นเครื่องอยู่เป็นสุขในทิฏฐธรรมตามความปรารถนา  เป็นผู้ได้โดยไม่ยาก  ไม่ลำบากนี้  ก็เป็นจรณะของเธอประการหนึ่ง[8]

  จรณะหรือข้อปฏิบัติของผู้ฝึกอบรม  ๖  ประการนี้  ปรากฏในหลายที่ต่างกรรมต่างวาระ  เช่น  เสขปฏิปทา  ความเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยสิกขาและการปฏิบัติ (ฝึกฝนอบรม)  เป็นต้น  โดยทั่วไปกิจกรรมนี้เรียงตามลำดับด้วย  คือเริ่มจาก  ๑)  ความถึงพร้อมด้วยศีล  ๒)  คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย  ๓)  ประมาณในการบริโภค  ๔)  ประกอบความเพียรเครื่องตื่น  ๕)  ประกอบด้วยสัปปุริสธรรม  ๖)  ปฏิบัติเพื่อบรรลุฌาน  ๔  ในที่นี้จะกล่าวถึงเฉพาะกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนากาย  ดังนี้ 

.  อินทรีย์สังวร  หรือคุ้มครองทวารอินทรีย์  หมายถึง  การสำรวมอินทรีย์  คือ  ระวัง

ไม่ให้บาปอกุศลธรรมครอบงำจิตใจเมื่อรับรู้อารมณ์ด้วยอินทรีย์  ๖  ในชั้นนี้เป็นการควบคุมการรับรู้เมื่อติดต่อเกี่ยวข้องกับโลกทางตา  หู  จมูก  ลิ้น  กาย  และใจ  เป็นการควบคุมตามกฏเกณฑ์หรือมาตราฐานภายนอก  การควบคุมที่ว่านี้โดยสาระแล้วเป็นการระมัดระวังในขณะที่ตาเห็นรูป  หูได้ยินเสียง  จมูกได้กลิ่น  ลิ้นได้ลิ้มรส  กายได้สัมผัส  และจิตใจคิดสิ่งต่าง ๆ  อย่างใดอย่างหนึ่งหรือพร้อมกันหลาย ๆ  อย่างก็ได้  โดยระมัดระวังไม่ให้หมายรู้หรือยึดถือเป็นสาระไม่ว่าโดยการตีความเอาจากลักษณะทั่วไปหรือลักษณะเฉพาะ  เพราะถ้าไม่ระมัดระวังแล้วถ้าหมายรู้เอาว่าเป็นตัวตน  ก็จะเผลอใจไปตามความชอบความชังก็จะทำให้ความดีใจ  เสียใจครอบงำจิตใจเอาได้  ที่ต้องระมัดระวังก็เพราะว่าผู้ฝึกฝนยังไม่รู้แจ้งวิชชา การระมัดระวังนี้อาจทำได้โดยตั้งสติกำหนดรู้อารมณ์  แล้วนำหลักการที่ช่วยไม่ให้เผลอตัวดังกล่าว  หลักการสำคัญในกิจกรรมนี้คือ  ไม่ถือนิมิต  ไม่ถืออนุพยัญชนะ[9]

  ๑.  ประมาณในการบริโภค  คือ  รู้จักพิจารณาในการรับประทานอาหารว่า  เพื่อหล่อเลี้ยงร่างกายเพื่อใช้ทำกิจกรรมให้เกิดความผาสุก  มิใช่เพื่อสนุกสนานมัวเมา[10]  เช่นคะเนในการบริโภคอาหารให้พอเหมาะพอควรแก่ฐานะของผู้ฝึกฝน  แล้วผู้บริโภคเพื่อให้ได้ประโยชน์ที่เป็นคุณค่าแ้ไม่ใช่ประโยชน์จากค่านิยมหรือคุณค่าเทียม  การประมาณในการบริโภคเช่นนี้  ทำให้การยึดติดในการบริโภคลดลง จิตใจก็สงบขึ้นในการแสวงหาสิ่งบริโภคการพัฒนาก็จะเป็นไปด้วยดี  อีกทั้งยังป้องกันไม่ให้ความไม่สบายกายต่าง ๆ  เช่น  ความหิวที่เกิดขึ้น  ผู้ฝึกฝนก็จะมีวิถีชีวิตแห่งการพัฒนาตนได้อย่างสมบูรณ์

.  ศีลภาวนา  พัฒนาศีล  เจริญศีล  คือมีพฤติกรรมทางสังคมที่พัฒนาแล้ว ไม่เบียดเบียนก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ผู้อื่น  แก่สังคม  และประพฤติสิ่งที่เป็นประโยชน์เกื้อกูลต่อสังคม  มีระเบียบวินัย  ประกอบอาชีพสุจริต  เป็นการฝึกตนให้อยู่ในสังคมด้วยดีและเป็นประโยชน์[11]  ระดับต้นคือ  ความมีระเบียบวินัยในการเป็นอยู่  ในการดำเนินชีวิต  โดยไม่ให้มีการเบียดเบียนกัน  ศีล  ๕  ซึ่งเป็นศีลขั้นพื้นฐาน  จะเห็นได้ว่ามุ่งที่การไม่เบียดเบียนกันกล่าวคือ  ไม่เบียดเบียนต่อกันในทางชีวิตร่างกาย  ในทางทรัพย์สิน  ในทางคู่ครอง  ในทางใช้วาจา  ตลอดจนไม่เบียดเบียนสติสัมปชัญญะของตนเอง  เมื่อไม่เบียดเบียนกันแล้วก็ขยายออกไปถึงความสุจริต

  การอบรมกายวาจาให้อยู่ในศีล  ก็คือความประพฤติที่ดีงาม  มีมารยาทงดงาม  และน่าเคารพนับถือ  เป็นที่ไว้วางใจโดยมีคุณธรรมเป็นเครื่องอยู่  ซึ่งได้แก่เบญจศีล  เป็นคุณธรรมพื้นฐานสำหรับมนุษย์  ซึ่งอาจเรียกคุณธรรมนี้ว่า  มนุษยธรรม  อีกทั้งยังทำให้สังคมมนุษย์อยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขด้วย  ได้แก่

  ๑.  งดเว้นจากการฆ่าสัตว์  แต่ควรมีเมตตา  กรุณาต่อสรรพสัตว์ทั้งปวง

  ๒.  งดเว้นจากการลักทรัพย์  หรือแสวงหาทรัพย์ในทางมิชอบ  แต่ควรประกอบสัมมาอาชีพที่สุจริตถูกต้องตามทำนองคลองธรรม

  ๓. งดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม  แต่ควรมีความสันโดษพอใจเฉพาะในคู่ครองของตน

  ๔.  งดเว้นจาการพูดเท็จ  แต่ควรพูดแต่ความจริง

  ๕.  งดเว้นจากการเสพของมึนเมาอันเป็นเหตุให้ขาดสติ-สัมปชัญญะ  ดำเนินชีวิตด้วยความประมาท  แต่ควรเจริญสติ-สัมปชัญญะ  ให้บริบูรณ์[12]

.  ความสัมพันธ์ของมรรคมีองค์  ๘ กับศีลภาวนา

ระบบการฝึกฝนอบรมตามหลักภาวนา  เป็นการพัฒนาจากภายนอกเข้าไปภายใน  เมื่อเริ่มแรกการฝึกฝนต้องอาศัยความเห็นชอบ  หรือความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง  เรียกว่า  สัมมาทิฏฐิ  ในระหว่างฝึกฝนพัฒนาส่วนหยาบภายนอกในขั้นศีล  ช่วยเป็นรากฐานให้แก่การฝึกฝนพัฒนาในส่วนละเอียดภายในคือ  ขั้นจิตและขั้นปัญญา  ผลส่งกลับออกมาช่วยให้การดำเนินชีวิตด้านนอก  ทำให้มีความเป็นปกติธรรมดาของมนุษย์คือ  การรักษากาย  วาจา  และอาชีวะ  ไม่ว่าชีวิตของมนุษย์จะกำลังพัฒนาอยู่ในขั้นตอนใดของภาวนา  การทำหน้าที่ขององค์มรรคหรือการปฏิบัติตามมรรคมีองค์  ๘  ก็มีการดำเนินไปตลอดเวลา

  มรรค  คืออริยสัจจ์ข้อสุดท้ายเป็นหลักความประพฤติปฏิบัติ  หรือเป็นระบบจริยธรรมทั้งหมดในพระพุทธศาสนา  เป็นคำสอนภาคปฏิบัติที่จะช่วยให้ชีวิตมนุษย์ดำเนินไปสู่จุดหมายสูงสุดคือความพ้นจากทุกข์  อริยมรรคนี้มีองค์ประกอบที่เป็นเนื้อหาหรือรายละเอียดของการปฏิบัติ  ๘  ประการตามที่แสดงไว้ในพระบาลีดังนี้  คือ

  ภิกษุทั้งหลาย  ข้อนี้แลเป็นทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ  คืออริมรรคมีองค์  ๘  คือ  สัมมาทิฏฐิ(ความเห็นชอบ)  สัมมาสังกัปปะ(ความดำริชอบ)  สัมมาวาจา(การพูดชอบ)  สัมมากัมมันตะ(การกระทำชอบ)  สัมมาอาชีวะ(การเลี้ยงชีพชอบ)  สัมมาวายามะ(ความพยายามชอบ)  สัมมาสติ(ความระลึกชอบ)  สัมมาสมาธิ(ความมีจิตตั้งมั่นชอบ)[13]

 

..  หลักศีลภาวนา  ในอริยมรรค

  ศีลภาวนาในมรรคมีองค์  ๘  จัดเป็นการฝึกฝนอบรมควบคุมกายและวาจา  เพื่อสร้างความมีระเบียบวินัยให้กับตัวเอง  อันจะเป็นกรอบให้มนุษย์กระทำสิ่งที่ดีงาม  เพื่อขจัดกิเลสอย่างหยาบ  ซึ่งปรากฏความสัมพันธ์กับหลักอริยมรรค  ดังนี้

 

  สัมมาวาจา 

สัมมาวาจา  หมายถึงวาจาชอบ  วาจาหมายถึงคำพูดหรือการพูด  คือการไม่กล่าววาจาประกอบด้วยคำเท็จ  ไม่กล่าววาจาส่อเสียดทำให้แตกสามัคคี  ไม่กล่าววาจามุ่งการชนะอันทำให้เกิดการแข่งดี  แต่กล่าววาจาที่อาศัยปัญญา  และเหมาะสมตามกาลสมัย[14]ให้พูดคำที่อ่อนหวาน  ประสานสามัคคี  เกิดผลดีมีประโยชน์ต่อผู้อื่น  พูดด้วยเมตตาจิต  เป็นการพัฒนาตนด้านคำพูด  สัมมาวาจาในพระบาลีมีความหมายดังนี้

  ภิกษุทั้งหลาย สัมมาวาจาเป็นไฉน  ภิกษุทั้งหลาย  เจตนางดเว้นจากการพูดเท็จ  เจตนางดเว้นจากการพูดส่อเสียด  เจตนางดเว้นจากการพูดคำหยาบ  เจตนางดเว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ  นี้เรียกว่าสัมมาวาจา[15]

  ในอภัยราชกุมารสูตร  ได้แสดงวาจาที่ควรพูดและไม่ควรพูดโดยมีหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการพูด  ๕  ประการจัดเป็นวาจาที่ควรพูด  ๒  ประการและไม่ควรพูด  ๓  ประการดังนี้

  ๑.  วาจาใด  ไม่จริงไม่แท้  ประกอบด้วยประโยชน์  และไม่เป็นที่รักไม่เป็นที่พอใจของคนอื่น  วาจานั้นไม่ควรพูด

  ๒.  วาจาใด  จริงแท้  ไม่ประกอบด้วยประโยชน์  และไม่เป็นที่รักไม่เป็นที่พอใจของคนอื่นวาจานั้นไม่ควรพูด

  ๓.  วาจาใด  จริงแท้  ประกอบด้วยประโยชน์  และไม่เป็นที่รักเป็นที่พอใจของคนอื่น  วาจานั้นต้องรู้กาลเวลาเสียก่อนแล้วจึงกล่าววาจานั้น

  ๔.  วาจาใด  ไม่จริงไม่แท้  ไม่ประกอบด้วยประโยชน์  และไม่เป็นที่รักไม่เป็นที่พอใจของคนอื่น  วาจานั้นไม่ควรพูด

  ๕.  วาจาใด  จริงแท้  ประกอบด้วยประโยชน์  และเป็นที่รักเป็นที่พอใจของคนอื่น  วาจานั้นต้องรู้กาลเวลาเสียก่อนแล้วจึงกล่าว[16]

  สัมมาวาจาตามนัยพระสูตรนี้  มีองค์ประกอบ  ๔  ประการคือ  จริงหรือแท้  มีประโยชน์  เป็นที่รักเป็นที่พอใจของคนอื่น  เหมาะกับกาลเวลา  ในองค์ประกอบของสัมมาวาจาทั้งหมดนี้  ข้อมีประโยชน์มีความสำคัญมากที่สุด ส่วนประกอบอื่นมีความสำคัญรองลงไป  ถึงอย่างไรก็ตาม  วาจาแม้จะเป็นคำจริง  มีประโยชน์  เป็นที่พอใจของคนอื่นแล้วก็ตาม  แต่ต้องคำนึงถึงกาลเวลาด้วยซึ่งนับได้ว่าเป็นองค์ประกอบที่ช่วยให้การพูดนั้นเกิดผลหรือประโยชน์ได้อย่างเต็มเปลี่ยมสมบุรณ์

  สัมมาวาจา  คือการเจรจาชอบ  โดยการเว้นวจีทุจริต  ๔  แต่ให้พูดด้วยปัญญารู้ว่าเจรจาอย่างไรเป็นโทษ  เจรจาอย่างไรเป็นคุณ  แล้วงดเว้นคำพูดที่เป็นโทษ  มาพูดคำที่เป็นคุณ

  องค์ประกอบของวจีทุจริต  ๔  คือ

  ๑.  คำเท็จ  คือการกล่าวให้คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง  ทั้ง ๆ  ที่รู้ความจริงนั้นอยู่  คือพูดไม่ตรงตามที่ตนได้เห็น  ได้ยิน  ได้ทราบ  ได้รู้มา  มุสาวาทมีองค์ประกอบ  ๔  อย่างคือ

  ๑.  เรื่องไม่จริง

  ๒.  ตนรู้อยู่ว่า  เป็นเรื่องไม่จริง  และคิดจะกล่าวให้คลาดเคลื่อน

  ๓.  มีความพยายามในการกล่าวให้คลาดเคลื่อน

  ๔.  ผู้ฟังรู้เรื่องและเข้าใจตามที่บุคคลผู้นั้นพูด

๒.  คำส่อเสียด  คือคำพูดยุยง  โดยการนำความข้างนี้ไปบอกข้างโน้น  นำเอาความข้างโน้นไปบอกข้างนี้  เพื่อให้เขาแตกกัน  หรือด้วยความหวังว่าตนจักเป็นที่รักของผู้นั้นด้วยอาการอย่างนี้  คำส่อเสียดประกอบด้วยองค์  ๔  คือ

  ๑.  คนอื่นที่พึ่งทำให้แตกกันได้

  ๒.  มีเจตนาที่ทำให้เขาแตกกัน

  ๓.  ความพยายามอันเนื่องมาจากเจตนานั้น

  ๔.  ผู้อื่นรู้ความนั้น

๓.  คำหยาบ  มีหลายลักษณะดังนี้ 

  ๑.  คำด่า  คือกดให้เขาต่ำกว่าที่เป็นจริง

  ๒.  คำประชด  คือ  ยกให้เขาสูงกว่าที่เป็นจริง

    คำกระแทกแดกดัน  คือเสียดสี 

  ๔.  คำกระทบ  คือพูดถึงสิ่งหนึ่งเพื่อกระทบบุคคลหนึ่ง

๔.  คำเพ้อเจ้อ  คือ  คำพูดไร้สาระ  พูดเล่น  สรวลเส  เฮฮา  เหลวไหล  มีองค์ประกอบ  ๒  ประการคือ

  ๑.  ความต้องการพูดเรื่องที่หาประโยชน์มิได้

  ๒.  การได้พูดเรื่องอย่างนั้นออกมา[17]

ตามพระสูตรนี้  สัมมาวาจา  ก็คือ  การพูดหรือการแสดงออกทางวาจาที่สุจริต  ไม่ทำร้ายผู้อื่น  ตรงตามความเป็นจริง  ไม่โกหกหลอกลวง  ไม่ส่อเสียด  ไม่ให้ร้ายป้ายสีไม่หยาบคาย  ไม่เหลวไหล  ไม่เพ้อเจ้อเลื่อนลอย  แต่มีสภาพนิ่มนวลชวนให้เกิดไมตรีสามัคคีกัน  เป็นถ้อยคำที่มีเหตุผล  เป็นไปในทางสร้างสรรค์ก่อประโยชน์นี้เรียกว่าสัมมาวาจา(วาจาชอบ)

  สัมมากัมมันตะ

  สัมมากัมมันตะ  หมายถึง  การงานชอบหรือการกระทำชอบ 

  ภิกษุทั้งหลาย  สัมมากัมมันตะเป็นไฉน  ภิกษุทั้งหลาย  การละเว้นจากปาณาติบาต การละเว้นจากอทินนาทาน  การละเว้นจากกาเมสุมิจฉาจาร  นี้เรียกว่าสัมมากัมมันตะ[18] 

  สัมมากัมมันตะหรือการงานชอบ  นั้นอาจแบ่งเป็น  ๒  ระดับ  คือ

  ๑.  โลกิยสัมมากัมมันตะ  การงานชอบระดับโลกีย  หมายถึงการละเว้นจากปาณาติบาต  เว้นการทำลายชีวิต  รวมถึงการกระทำที่ช่วยเหลือเกื้อกูล  ละเว้นจากอทินนาทาน  เว้นการถือเอาของที่เจ้าของเขามิได้ให้  เว้นจากกาเมสุมิจฉาจาร  เว้นความประพฤติผิดในกาม  ซึ่งยังจัดเป็นฝ่ายบุญ  ยังอำนวยกิริยาวิบากขันธ์อยู่

  ๒.  โลกุตตรสัมมากัมมันตะ  การงานชอบในระดับที่เป็นโลกุตตระ  หมายถึงการงดเว้นกายทุจริต  ๓  ดังที่กล่าวแล้วลงได้อย่างเด็ดขาดของพระอริยะ  ซึ่งมีจิตหลุดพ้นจากกิเลสาสวะได้แล้ว[19]

  องค์แห่งปาณาติบาตมี  ๕  องค์คือ  สัตว์มีชีวิต  รู้อยู่ว่าสัตว์มีชีวิต  จิตคิดจะฆ่า  มีความพยายาม  และสัตว์ตายด้วยความพยายามนั้น[20]  ส่วนโทษของปาณาติบาตจะมีโทษมากหรือน้อนนั้นขึ้นอยู่กับองค์ประกอบต่อไปนี้คือ  ความใหญ่หรือเล็กของสัตว์ที่ถูกฆ่า  ความมีคุณมากหรือน้อย  ความพยายามในการฆ่า  บุคคลที่ทำปาณาติบาตเนือง ๆ  กระทำเป็นอาจิณ  ยังต้องประสบกับโทษอีกหลายอย่างเช่น

๑.  ทำตนให้เป็นที่หวาดหวั่นของคนอื่น  สัตว์อื่น  ไม่เป็นที่เย็นใจแก่ผู้เข้าใกล้

  ๒.  สั่งสมอกุศลธรรม  หมักหมมด้วยอาสวะ[21]

  องค์แห่งอทินนาทานมี  ๕  องค์คือ  ของผู้อื่นหวงแหน  รู้ว่าเขาหวงแหน  จิตคิดจะลัก  มีความพยายาม  และลักของมาด้วยความพยายามนั้น[22]  วัตถุประสงค์ของการเว้นจากอทินนาทานก็เพื่อให้มีความซื่อสัตย์  ประกอบอาชีพสุจริต  เคารพในสิทธิ์ของผู้อื่น  เกิดความมั่นใจในกรรมสิทธิ์ของตนให้เกียรติแก่ตนเอง  และเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข

  องค์แห่งกาเมสุมิจฉาจารมี  ๔  คือ  สตรีหรือบุรุษที่ไม่ควรละเมิด  จิตคิดจะเสพ  มีความพยายามในการเสพ  และยังอวัยวะสืบพันธ์ให้ถึงกัน[23]สำหรับบุคคลไม่ควรละเมิดนั้นได้แก่  สตรีที่มารดารักษา  บิดารักษา  ท่านทั้งสองรักษา  พี่สาวน้องสาวดูแล  ญาติรักษา  ตระกูลรักษา  ธรรมเนียมรักษา  เช่น  ชี  นักบวชสตรีประเภทต่าง ๆ[24]โทษของกาเมสุมิจฉาจารจะมากหรือน้อยนั้นขึ้นอยู่กับองค์ประกอบและจะส่งผลให้แก่ผู้ประพฤติ  ดังนี้  นำผู้ประพฤติไปสู่อบายภูมิ  ถูกบัณฑิตติเตียน  สังคมไม่ไว้วางใจ  นำมาซึ่งการประทุษร้ายชีวิตผู้อื่น 

  จึงอาจสรุปได้ว่าสัมมากัมมันตะ  หมายถึงการกระทำที่ดีงาม  สุจริตเป็นไปในทางสร้างสรรค์  ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน  ไม่เบียดเบียนไม่ทำร้ายกัน  สร้างความสัมพันธ์ที่ดีงามทำให้อยู่ร่วมกันด้วยดี  ทำให้สังคมสงบสุขคือ  การกระทำหรือทำการต่าง ๆ  ที่ไม่เกี่ยวข้องหรือไม่เป็นไปเพื่อการทำลายชีวิต  ร่างกาย  ทำลายทรัพย์สินของผู้อื่น  การไม่ล่วงละเมิดสิทธิ์ในคู่ครองหรือของรักหวงแหนของผู้อื่น  เป็นต้น

 



[1]ราชบัณฑิตยสถาน,  พจนานุกรม  ฉบับราชบัณฑิตยสถาน  ๑๕๒๕,  (กรุงเทพฯ  :  สำนักพิมพ์อักษรเจริญทัศน์,  ๒๕๓๑.), หน้า  ๕๘๘.

[2]เรื่องเดียวกัน, หน้า  ๗๔๖.

[3]พระธรรมปิฎก(ป.อ.  ปยุตฺโต),  พุทธธรรมกับการพัฒนาชีวิต,  (กรุงเทพฯ  :  โรงพิมพ์ธรรมสภา  ๒๕๔๐),  หน้า  ๓.

[4]องฺ.ปญฺจก.๒๒/๗๙/๑๐๔–๑๐๖,ขุ.จู.๓๐/๑๔๘/๕๒–๕๓.

[5]ที.ปา.  ๑๑/๒๒๘/๒๐๐,  องฺ.ปญฺจก.  ๒๒/๗๙/๑๐๔.

[6]พระธรรมปิฎก  (ประยุทธ์  ปยุตฺโต),  พุทธธรรมกับการพัฒนาชีวิต,  (กรุงเทพฯ  :  โรงพิมพ์ธรรมสภา,  ๒๕๔๐),  หน้า  ๙.

[7]สมเด็จพระสังฆราช  (ปุสฺสเทว),  หนังสือสวดมนต์ฉบับหลวง,  (กรุงเทพฯ  :  โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ,  ๒๔๗๒),  หน้า  ๑๑๔–๑๑๕.

[8]ม.ม.  ๑๓/๓๓/๒๘.

[9]ม.ม.  ๑๓/๒๘/๒๓.

[10]ม.ม.  ๑๓/๒๙/๒๔.

[11] พระธรรมปิฎก  (ประยุทธ์  ปยุตฺโต),  พุทธธรรมกับการพัฒนาชีวิต,  อ้างแล้ว,  หน้า  ๑๐.

[12]สํ.สฬา.  ๑๘/๔๘๓/๒๘๐.

[13]วิ.มหา.  ๔/๑๓/๑๖.

[14]ที.ปา.๑๑/๘๓/๙๖,  ๘๔/๙๖.

[15]ที.มหา.๑๐/๒๙๙/๒๗๔–๒๗๖,ม.อุ.๑๔/๗๐๔/๓๘๔–๓๘๖,อภิ.วิ.๓๕/๑๖๕/๑๒๒ ,๑๗๘/๑๒๔.

[16]ม.ม.๑๓/๙๔/๗๒ -๗๓.

[17]ที.ส.๙/๔/๔,  องฺ.ทสก.๒๔/๑๖๕/๒๗๑–๒๗๓,ม.มู.๑๒/๔๕๕/๓๔๔,ม.ม.๑๓/๑๒/๙.

[18]ที.มหา.  ๑๐/๒๙๙/๒๗๕. 

[19]ม.อุ.  ๑๔/๒๗๑–๒๗๓/๑๖๒.

[20]อิติ.อ.  ๒๙๙–๓๐๔.

[21]วศิน  อินทสระ,  หนังสือประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา,  พิมพ์ครั้งที่  ๔,  (กรุงเทพฯ  :  โรงพิมพ์มหา มุฏราชวิทยาลัย,  ๒๕๓๔),  หน้า  ๑๖๑–๑๖๒.

[22]อิติ.อ.  ๒๙๙–๓๐๔.

[23]เรื่องเดียวกัน.

[24]พระราชธรรมนิเทศ  (ระแบบ  ฐิตญาโณ),  หนังสือโลกและชีวิต,  (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ศิวการพิมพ์  ๒๕๔๑),  หน้า  ๑๑๕.

หมายเลขบันทึก: 512795เขียนเมื่อ 20 ธันวาคม 2012 13:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 ธันวาคม 2012 13:04 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

สัมมาอาชีวะ

  สัมมาอาชีวะ  หมายถึงการเลี้ยงชีพชอบ  คำว่าอาชีวะคือ  การเลี้ยงชีวิต  การดำเนินชีวิต  การทำมาหากิน  พระพุทธศาสนามองว่าการดำเนินชีวิตนั้น  ต้องเป็นการดำเนินชีวิตที่ถูกต้อง  และไม่เห็นด้วยกับการดำเนินชีวิตที่จะทำอย่างไรก็ได้ขอแต่เพียงให้ได้ในสิ่งที่ตนปรารถนามา แต่พระพุทธศาสนามีทัศนะว่าการที่จะได้อะไรมานั้น  ต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานแห่งความถูกต้องเท่านั้น

  ภิกษุทั้งหลาย  สัมมาอาชีวะเป็นไฉน  ภิกษุทั้งหลาย  อริยสาวกในศาสนานี้  เว้นมิจฉาอาชีวะแล้ว  เลี้ยงชีพด้วยสัมมาอาชีวะ  นี้เรียกว่าสัมมาอาชีวะ[1]

  พระพุทธศาสนาเน้นให้เห็นถึงความสำคัญของปัจจัย  ๔[2]ซึ่งเป็นพื้นฐานของชีวิตและมีความจำเป็นต่อชีวิตคือ  อาหาร  เครื่องนุ่งห่ม  ที่อยู่อาศัย  และยารักษาโรค  ส่วนปัจจัยอย่างอื่นนอกจากนี้  ถือว่าเป็นเพียงปัจจัยประกอบเท่านั้น  พระพุทธศาสนาเน้นว่าการที่จะได้ปัจจัย  ๔  และปัจจัยที่เป็นส่วนประกอบเหล่านั้นมาต้องด้วยวิธีการที่ถูกต้อง  และการใช้สอยปัจจัยเหล่านั้นไปในทางที่ถูกต้องด้วย 

  การที่จะได้มาซึ่งทรัพย์  ต้องเกิดจากความขยันหมั่นเพียร  ไม่เกียจคร้าน  เมื่อได้ทรัพย์มาแล้วต้องรู้จักรักษาและใช้สอยทรัพย์นั้นเพื่อให้เกิดประโยชน์  รู้จักคบหากัลยาณมิตรที่จะเกื้อกูลในทางที่ดีงาม  ให้ดำเนินชีวิตแต่พอดีกับทรัพย์ที่หามาได้  พระพุทธศาสนาได้แสดงวิธีใช้จ่ายทรัพย์ที่ถูกต้องว่า  ใช้เลี้ยงตนเองให้เป็นสุข  เลี้ยงบิดามารดา  เลียงภรรยา  บุตรธิดา  และคนใช้คนงานให้เป็นสุข  ใช้บำบัดอันตรายที่เกิดจากเหตุการต่าง ๆ  เป็นต้น

มนุษย์เราเกลียดทุกข์ชอบสุขด้วยกันทุก ๆ  คน  การแสวงหาความสุขหรือการแสวงหาความเจริญก้าวหน้าให้กับชีวิตนั้น  มนุษย์มักจะกระทำด้วยวิธีเอาความทุกข์มาทับถมตนเอง  เช่นการทำงานแต่น้อยแต่กลับอยากได้ค่าตอบแทนมาก ๆ  หรือโดยการกระทำในสิ่งที่ผิดศีลธรรมและผิดกฎหมายบ้านเมือง  เช่น  ฉ้อ  โกง  คอรัปชั่น  เล่นการพนัน  ปล้น  จี้  ชิงทรัพย์  วิ่งราว  เป็นต้น  เมื่อได้ทรัพย์มาแล้วก็นำไปใช้จ่ายเพื่อแสวงหาประโยชน์ในทางมิชอบ  เพื่อเบียดเบียนข่มเหงคนอื่นเป็นต้น  ในพระสุตตันตปิฎก  เทวทหสูตร  ได้กล่าวถึงลักษณะการดำเนินชีวิตที่ถูกต้องไว้  ๓  ประการดังนี้  ๑)  ไม่เอาทุกข์มาทับถมตน  ๒)  ไม่ละทิ้งความสุขที่ชอบธรรม  ๓)  ไม่หมกมุ่นสยบติดอยู่กับความสุขนั้น[3] 

  สัมมาอาชีวะสำหรับบุคคลโดยทั่วไป  พระพุทธศาสนาได้แสดงแนวทางการดำเนินชีวิตที่ดีไว้หลายนัยในระดับต่าง ๆ  เพื่อความเหมาะสมของแต่ละบุคคลที่แตกต่างกัน  เช่น  ไม่ควรค้าขายของ  ๕  อย่างคือ  ๑)  ค้าขายอาวุธ  ๒)  ค้าขายมนุษย์  ๓)  ค้าขายสัตว์ที่มีชีวิตสำหรับฆ่าเป็นอาหาร  ๔)  ค้าขายน้ำเมา  และ  ๕)  ค้าขายยาพิษ[4]  เป็นต้น  ส่วนบรรพชิตซึ่งต้องอาศัยปัจจัยที่ชาวบ้านบริจาคให้ในการดำเนินชีวิต  การกระทำตนต้องเป็นคนมักน้อยสันโดษ  เป็นคนเลี้ยงง่าย  ยินดีในปัจจัยตามมีตามได้ไม่ว่าจะเศร้าหมองหรือปราณีต  จึงเป็นการเลี้ยงชีพที่ถูก  ต้อง[5]

  กล่าวโดยสรุปหลักคำสอนพื้นฐานสำหรับการดำเนินชีวิตที่ถูกต้องดีงาม  ของฝ่ายคฤหัสถ์หรือชาวบ้านควรเว้นอกุศลกรรมบถ  ๑๐  และปฏิบัติตามทางแห่งกุศลกรรมบถ  ๑๐  คือ  กายกรรม  ๓  วจีกรรม  ๔  และมโนกรรม  ๓  ได้แก่

  เว้นการทำชั่ว  ๑๐  อย่าง  คือ  ฆ่าสัตว์  ลักทรัพย์  ประพฤติผิดทางกาม  พูดเท็จ  พูดส่อเสียด  พูดคำหยาบ  พูดเพ้อเจ้อ โลภอยากได้ของเขา  พยาบาทปองร้าย  เห็นผิดจากคลอง  ธรรม[6]  และดำเนินชีวิตด้วยการกระทำความดี  ๑๐  อย่างซึ่งมีความหมายในทางตรงกันข้ามกับการทำชั่วดังกล่าวแล้ว

  ส่วนบรรพชิตควรดำเนินชีวิตตามปาริสุทธิศีล  ๔  ดังนี้

  ๑.  ปาฏิโมกขสังวร  คือสำรวมในพระปาฏิโมกข์  เว้นจากข้อที่พระพุทธเจ้าทรงห้าม  ปฏิบัติตามข้อที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาต

  ๒.  อินทรียสังวร  คือสำรวมอินทรีย์  ๖  ได้แก่  ตา  หู  จมูก  ลิ้น  กาย  และใจ  ไม่ให้ยินดีินร้ายในเวลาเห็นรูป  ได้ยินเสียง  ดมกลิ่น  ลิ้มรส  ถูกต้องโผฏฐัพพะ  และรู้อารมณ์ทางใจ

  ๓.  อาชีวปาริสุทธิ  คือเลี้ยงชีพในทางที่ชอบ  ไม่หลอกลวงเขาเลี้ยงชีวิตเป็นต้น

  ๔. ปัจจยสันนิสิตต  คือการพิจารณาเสียก่อนบริโภคใช้สอยปัจจัย  ๔  คือ  จีวร  บิณฑบาต  เสนาสนะ  และเภสัช  ไม่บริโภคใช้สอยด้วยอำนาจแห่งตัณหาเป็นต้น[7]

เมื่อดำรงชีวิตอยู่ในสังคม  อยู่ร่วมกับคนอื่น  โดยมีการช่วยเหลือเกื้อกูลกันแล้ว  ต่อจากนั้นก็มีอีกระดับหนึ่ง  คือ  การฝึกฝนควบคุมตนในทางกายวาจา  เพื่อเป็นพื้นฐานของการฝึกจิตใจหรือพัฒนาจิตใจ  เช่นศีลของพระ  ศีลของอุบาสกที่ไปรักษาศีลอุโบสถ  เป็นศีลที่ต้องมีการฝึกกาย  วาจา  เพื่อเป็นพื้นฐานในการพัฒนาจิตใจ  เช่น  ต้องรู้จักควบคุมบังคับใจตนเองให้ดีขึ้น  เป็นการประพฤติปฏิบัติตามกฏเกณฑ์  หรือข้อกำหนดที่บัญญัติขึ้นมาเพื่อจะฝึกฝนตนเองในการที่จะเจริญขึ้นในคุณธรรมต่าง ๆ  ในทางจิตใจยิ่ง ๆ  ขึ้นไป  โดยสัมพันธ์กับการพัฒนาข้อต่อไปที่เรียกว่าการพัฒนาจิตใจ  ผู้ที่พัฒนาทางศีลแล้วเรียกว่า  ภาวิตสีโล

.  จิตภาวนา  พัฒนาจิต  ในการพัฒนาจิตตามหลักพระพุทธศาสนานั้นเป็นการฝึกอบรมให้จิตมีคุณสมบัติครบ  ๓  ด้านคือ

  คุณภาพจิต  คือมีคุณธรรมต่าง ๆ  เสริมสร้างจิตใจให้ดีงาม  เป็นจิตใจที่สูง  ประณีต  มีเมตตา  มีความเป็นมิตร  ปรารถนาประโยชน์สุขแก่ผู้อื่น  มีความกรุณา  คืออยากช่วยให้ผู้อื่นพ้นทุกข์  มีจาคะคือมีใจเผื่อแผ่โอบอ้อมอารี  มีคารวะ  คือเห็นความสำคัญของผู้อื่น  มีมัทวะคือความอ่อนโยน  กตัญญูคือรู้คุณค่าแห่งการกระทำของผู้อื่น

  สมรรถภาพจิต  หรือความสามารถของจิต  เช่น  ความมีสติดี  มีวิริยะ  คือความเพียรในการทำงาน  มีขันติ  คือความอดทน  มีสมาธิแน่วแน่  มีสัจจะจริงจัง  มีอธิษฐาน  คือความเด็ดเดี่ยวต่อความมุ่งหมาย  มีความหนักแน่นมั่นคงเข้มแข็งของจิตใจ  ที่จะทำงานให้ได้ผลสมบูรณ์  โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานทางปัญญา  คือการคิดพิจารณาให้สิ่งต่าง ๆ ตามความเป็นจริงอย่างแจ่มชัด

  สุขภาพจิต  คือ  มีจิตที่มีสุขภาพดี  เป็นสุข  สดชื่นร่าเริงเบิกบาน  ปรอดโปร่ง  มีปีติ  ความอิ่มเอิบใจ  มีความผ่อนคลายไม่ขุ่นมัว  ไม่หม่นหมองหดหู่  เป็นต้น  ลักษณะต่าง ๆ  ของจิตใจที่มีความสุขนี้เป็นสิ่งสำคัญมากในพระพุทธศาสนา  การขาดสุขภาพจิตเป็นปัญหาสำคัญของสังคมในยุคปัจจุบัน  จึงจะต้องเน้นเรื่องสุขภาพจิตให้มากด้วย  ผู้ที่ฝึกฝนอบรมจิตแล้วเรียกว่า  ภาวิตจิตโต

.  หลักจิตภาวนา  ในอริยมรรค

หลักจิตภาวนา  ในมรรคมีองค์  ๘  เป็นหลักปฏิบัติเดียวกันคือ  เป็นหลักปฏิบัติเพื่อความหลุดพ้นจากทุกข์  หลักภาวนาจัดวางขึ้นไว้โดยอาศัยหลักปฏิบัติที่เรียกว่า  คุณธรรมของอารยชนเป็นพื้นฐาน  คุณธรรมของอารยชนนี้  เรียกตามคำบาลีว่า  อริยมรรค  แปลว่า  ทางดำเนินสู่ความดับทุกข์ทำให้เป็นอารยชน  หรือวิธีดำเนินชีวิตที่ประเสริฐ  การจัดวางหลักภาวนาโดยมุ่งให้ผลเกิดขึ้นตามหลักปฏิบัติแห่งอริยมรรคคือ  เป็นการฝึกอบรมพัฒนาให้องค์ทั้ง  ๘  แห่งมรรคนั้นเกิดมีและเจริญงอกงามยิ่งขึ้น  แก้ปัญหาของอารยชนได้ตามลำดับจนถึงความหลุดพ้นจากทุกข์ได้ในที่สุด

  จิตตภาวนา  เป็นเรื่องของการฝึกฝนในด้านจิต  หรือระดับของจิตใจ  คือการพัฒนาคุณสมบัติต่าง ๆ  ของจิตให้มีสุขภาพจิตที่ดี  สร้างสติสัมปชัญญะให้รู้จักยั้งคิด  และรู้จักกระตุ้นเตือนตัวเองให้สำนึกในความรับผิดชอบต่อหน้าที่  ซึ่งมีความสัมพันธ์กับหลักอริยมรรคในประเด็นต่อไปนี้

  สัมมาวายามะ  คือความเพียรชอบ  ความหมายของสัมมาวายามะตามนัยที่แสดงไว้ในพระสูตรมีดังนี้

  ภิกษุทั้งหลาย  สัมมาวายามะเป็นไฉน  ภิกษุทั้งหลาย  ภิกษุในธรรมวินัยนี้  สร้างฉันทะพยายาม  ระดมความเพียรคอยเร้าจิตไว้  มุ่งมั่นเพื่อป้องกันอกุศลธรรมอันเป็นบาปที่ยังไม่เกิดมิให้เกิดขึ้น….  เพื่อละอกุศลธรรมอันเป็นบาปที่เกิดแล้ว…..เพื่อสร้างกุศลธรรมที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น….เพื่อความดำรงอยู่  ไม่เลือนหาย  เพื่อภิญโญภาพ  เพื่อความไพบูลย์  เจริญเต็มเปี่ยมแห่งกุศลธรรมที่เกิดแล้ว[8]

  สัมมาวายามะ  ความพยายามชอบ  หมายถึงสัมมัปปธาน  ๔  อันเป็นความเพียรที่เป็นคุณธรรมสำคัญยิ่งในพระพุทธศาสนา  เหตุผลก็คือพระพุทธเจ้าทรงพากเพียรจึงสามารถค้นพบสัจธรรมได้  มิใช่เป็นผลสำเร็จจากการอ้อนวอนหรือการครุ่นคิดคำนึงเอาเท่านั้น  ความเพียรพยายามจึงเป็นหน้าที่ของมนุษย์ทุกคน  พระองค์จะไม่เข้าไปก้าวก่ายในเรื่องของการเพียรพยายามของมนุษย์เอง  ดังมีพุทธพจน์ว่า  ความเพียรเป็นหน้าที่ของท่านทั้งหลายต้องทำเอง  ตถาคตเป็นแต่ผู้บอก(ทาง)ให้[9] 

  สัมมัปปธาน  หรือความเพียรชอบ  ๔  อย่าง  คือ

  ๑.  สังวรปธาน  เพียรระวังประคองจิตไว้เพื่อไม่ให้อกุศลธรรมเกิดขึ้น

  ๒.  ปหานปธาน  เพียรประคองจิตไว้เพื่อละอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว

  ๓.  ภาวนาปธาน  เพียรประคองจิตไว้เพื่อให้กุศลธรรมที่ยังไม่เกิดให้เกิด

  ๔. อนุรักขณาปธาน  เพียรประคองจิตไว้เพื่อความตั้งมั่นเจริญยิ่งแห่งกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว[10]

    ๑.  สังวรปธาน  คำว่าสังวระ  แปลว่า  สำรวม  ระวัง  และคำว่าปธาน  แปลว่า  เพียร  พากเพียร  ตั้งใจ  ดังนั้นคำว่า  สังวรปธาน  จึงหมายถึงเพียรระวัง  ในที่นี้คือการสำรวมระวังเมื่อตาเห็นรูป  หูได้ยินเสียง  จมูกได้กลิ่น  ลิ้นได้ลิ้มรส  กายได้ถูกต้องโพฏฐัพพะ  ใจได้รู้ธรรมอารมณ์  ไม่ให้บาปธรรมหรืออกุศลธรรมเกิดขึ้นภายในจิตใจ  สังวรปธาน  เป็นธรรมเครื่องกำจัดความเกียจคร้าน  สนับสนุนกำลังกาย  ใจให้เข้มแข็งอดทน

  ๒.  ปหานปธาน  หมายถึงเพียรละ  บาปธรรมหรืออกุศลธรรมมี  กามวิตก  พยาบาทวิตก  วิหิงสาวิตก  และอกุศลธรรมอื่น ๆ  ที่เกิดขึ้นแล้วให้หมดสิ้นไปเสีย

  ๓.  ภาวนาปธาน  หมายถึงเพียรสร้าง  หรือเพียรเจริญ  ในกุศลธรรมหรือความดี  เช่นกุศลกรรมบถ  ๑๐  ความไม่โลภ  ไม่โกรธ  ไม่หลง  และโพชฌงค์  ๗  มี  สติ  ธรรมวิจัย  วิริยะ  ปีติ  ปัสสทธิ  สมาธิ  อุเบกขา  ให้เกิดขึ้น

  ๔.  อนุรักขนาปธาน  หมายถึงเพียรรักษาและส่งเสริม  ในกุศลธรรมหรือความดีที่เกิดขึ้นแล้วในจิตใจ  คอยถนอมสมาธิที่เกิดขึ้นแล้วให้ตั้งมั่น  และกระทำในความดีให้เจริญงอกงาม

ไพบูลย์ยิ่ง ๆ  ขึ้นไป[11]

  สัมมาวายามะ  หรือความเพียรชอบตามนัยของมรรคมีองค์  ๘  นั้น  มีความหมายควรพิจารณาดังนี้  คือ  เพียรกำจัดบาปหรืออกุศล  ในที่นี้หมายถึง  บาป  ความชั่ว  ทุจริต  ความที่จิตเศร้าหมอง  และเพียรที่จะกระทำหรือเจริญบำเพ็ญสิ่งที่ดีหรือกุศล ในที่นี้หมายถึง  บุญ  ความดี  สุจริต  สะอาดบริสุทธิ์  มีพระพุทธพจน์ที่เน้นถึงความเพียรดังนี้คือ

  ภิกษุทั้งหลาย  เรารู้ชัดถึงคุณธรรม  ๒  ประการ  คือ  ๑)  ความเป็นผู้ไม่สันโดษในกุศลธรรมทั้งหลาย  ๒)  ความเป็นผู้ไม่ยอมถอยหลังให้การบำเพ็ญเพียร…. เพราะฉะนั้น  เธอทั้งหลายพึงศึกษาดังนี้ว่า  เราจักตั้งความเพียรอันไม่ถอยหลัง  ถึงจะเหลือแต่หนัง  เอ็น  กระดูก  เนื้อ  และเลือดในสรีระจะเหือดแห้งไปก็ตามที  ยังไม่บรรลุผลที่บุคคลพึงบรรลุถึงด้วยเรี่ยวแรงของบุรุษ  ด้วยความเพียรของบุรุษ  ด้วยความบากบั่นของบุรุษแล้ว  ข้อที่จะหยุดยั้งความเพียรเสียเป็นอันไม่มี  เธอทั้งหลายพึงศึกษาดังนี้แล[12]

  องค์ประกอบของความเพียร  ที่จะกระทำให้ได้ผลดีมีดังนี้

  ๑.  คุณสมบัติของผู้ประกอบความเพียร

  ๒.  สมัยที่ควรประกอบความเพียร  และสมัยที่ไม่ควรประกอบความเพียร

  ๓.  สัปปายะคือความเหมาะสมของสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ[13] 

  สัมมาสติ  คือการระลึกชอบ  มีสติกำกับตน  ควบคุมจิตใจไว้และให้อยู่กับสิ่งที่กำลังกระทำหรือที่เกี่ยวข้องในเวลานั้น ๆ  ใจอยู่กับกิจ  จิตอยู่กับงาน  ระลึกได้ถึงสิ่งที่ดีงาม  เกื้อกูลเป็นประโยชน์  ไม่หลงไหลเลื่อนลอย  ไม่ละเลยหรือปล่อยตัวเผลอเรอ  โดยเฉพาะสติที่กำกับตนให้ทันต่อพฤติกรรมของร่างกาย  ความรู้สึก  สภาพจิตใจ  และความนึกคิดของตน  ไม่ปล่อยให้อารมณ์ที่เย้ายวนหรือยุยงมาฉุดกระซากให้หลุดหลงเลื่อนลอยไปเสีย

  ภิกษุทั้งหลาย  สัมมาสติเป็นไฉน  ภิกษุทั้งหลาย  ภิกษุในธรรมวินัยนี้  พิจารณาเห็นกายในกาย  มีความเพียร  มีสัมปชัญญะ  มีสติ  กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้  พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลาย  มีความเพียร  มีสัมปชัญญะ  มีสติ  กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้  พิจารณาเห็นจิตในจิต  มีความเพียร  มีสัมปชัญญะ  มีสติ  กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้  พิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลาย  มีความเพียร  มีสัมปชัญญะ  มีสติ  กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้[14] 

  สัมมาสติ  ความระลึกชอบ  เป็นเรื่องเกี่ยวกับการปฏิบัติกรรมฐาน  ซึ่งถือว่าเป็นการฝึกฝนอบรมพัฒนาจิตตามหลักพระพุทธศาสนา  การพัฒนาสัมมาสติได้แก่  การเจริญสติปัฏฐาน  ๔  มีพระพุทธพจน์ว่า  “ดูกรภิกษุทั้งหลาย  หนทางสายนี้เป็นทางสายเอก  เพื่อความบริสุทธิ์แห่งสัตว์ทั้งหลาย  เพื่อล่วงความโศกและปริเทวนาการ  เพื่อความดับสูญแห่งทุกข์และโทมนัส  เพื่อบรรลุธรรมที่ถูกต้อง  เพื่อทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน  หนทางสายนี้คือสติปัฏฐาน  ๔  ประการคือ

๑.  กายานุปัสสนา  ใช้สติตามดูโดยมีปัญญารู้เท่าทันสภาพร่างกาย

๒. เวทนานุปัสสนา  ใช้สติตามดูโดยมีปัญญารู้เท่าทันความรู้สึกสุข  ทุกข์  หรือไม่สุขไม่ทุกข์ที่เกิดขึ้น

๓.  จิตตานุปัสสนา  ใช้สติตามดูโดยมีปัญญารู้เท่าทันสภาพจิตใจ

๔.  ธัมมานุปัสสนา  ใช้สติตามดูโดยมีปัญญารู้เท่าทันเรื่องราวทั้งหลายที่รู้  ที่คิด  ที่เกิดขึ้นในใจ  [15]

  กายานุปัสสนา  การพิจารณาเห็นกาย  ในสติปัฏฐานได้แสดงขั้นตอนไว้  ๖  ตอนคือ

  อานาปานสติ  คือการตั้งสติกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก 

  อิริยาบถ  คือการตั้งสติกำหนดรู้อริยาบถต่าง ๆ  คือ  ยืน  เดิน  นั่ง  นอน  เป็นต้น  ก็ให้ตามรู้ชัดในอาการที่เป็นอยู่อย่างนั้น

  สัมปชัญญะ  คือให้มีความรู้ตัวพร้อมในการกระทำทุกอย่าง  และในการเคลื่อนไหวทุกอย่าง  เช่น  การทรงจีวร  การทรงบาตร  การฉัน  การดื่ม  เป็นต้น

  ปฏิกูลมนสิการ  คือการพิจารณาร่างกายว่าประกอบด้วยส่วนประกอบต่าง ๆ  และเต็มไปด้วยความไม่สะอาดโดยประการทั้งปวงของร่างกาย

  ธาตุมนสิการ  คือพิจารณาร่างกายของตนโดยความเป็นธาตุ  ๔  คือ  ธาตุดิน  ธาตุน้ำ  ธาตุลม  และธาตุไฟ  โดยความเป็นของไม่เที่ยง

  นวสีวถิกา  คือพิจารณาซากศพในสภาพต่าง ๆ  โดยกำหนดเป็น  ๙  ระยะ  ตั้งแต่ตายใหม่ ๆ  ไปจนถึงกระดุกผุ

  เวทนานุปัสสนา  การพิจารณาตามเห็นเวทนา  คือเมื่อเกิดสุขเวทนาคือความรู้สึกเป็นสุขก็ดี  ทุกขเวทนาคือความรู้สึกเป็นทุกข์ก็ดี  อุเบกขาเวทนาคือความรู้สึกเฉย ๆ  ไม่สุขไม่ทุกข์ก็ดี  ก็ให้ตามรู้ชัดตามที่เป็นอยู่ในขณะนั้น

  จิตตานุปัสสนา  การพิจารณาตามเห็นจิต  คือการตามดูจิตของตนในขณะนั้น ไม่ว่าจิตเป็นอย่างไร  เช่นจิตมีราคะ  จิตไม่มีราคะ  จิตมีโทสะ  จิตไม่มีโทสะ  จิตมีโมหะ  จิตไม่มีโมหะ  จิตหดหู่  จิตฟุ้งซ่าน  จิตเป็นสมาธิ  จิตไม่เป็นสมาธิเป็นต้น  ก็รู้ชัดตามที่มันเป็นอยู่

  ธัมมานุปัสสนา  การตามพิจารณาเห็นธรรมที่เกิดขึ้นกับตน  ทั้งส่วนที่เป็นกุศลและอกุศลที่เกิดขึ้นในจิตตน  ใช้สติกำหนดพิจารณาดูธรรมที่เป็นปัจจุบัน  จนจิตตั้งมั่นเป็นสมาธิ  และเกิดปัญญาเห็นธรรมทั้งภายนอก  ทั้งภายใน  มีสติปรากฏอยู่ที่ธรรม  โดยความรู้ชัดว่า  ธรรมนี้สักว่าธรรม  มิใช่สัตว์  บุคคล  ตัว  ตน  เรา  เขา  บรรเทาความยึดมั่นในธรรมให้สิ้นไปเสียได้  ซึ่งในพระพุทธศาสนาได้แสดงหลักธรรมที่เกิดกับตนไว้หลายอย่าง  เช่น

  ๑.  นิวรณ์  ๕  คือรู้ชัดว่าในขณะนั้น ๆ  มีนิวรณ์  ๕  แต่ละอย่างเกิดมีขึ้นในจิตใจตนหรือไม่  ที่ยังไม่เกิดจะเกิดขึ้นได้อย่างไร  ที่เกิดขึ้นแล้วละได้อย่างไร  ก็ตามพิจารณารู้ตามที่เป็นอยู่ขณะนั้น

  ๒.  อุปาทานขันธ์  ๕  คือกำหนดรู้ความยึดติดถือมั่นในขันธ์  ๕  คือ  รูป  เวทนา  สัญญา  สังขาร  และวิญญาณ  ว่าอุปาทานขันธ์ไหนเกิดขึ้นได้อย่างไร  ดับไปได้อย่างไร 

  ๓.  อายตนะ  คือกำหนดรู้อายตนะภายนอกและอายตนะภายในแต่ละอย่าง ๆ  โดยกำหนดรู้ว่าสังโยชน์ที่เกิดพร้อมกับอายตนะได้อย่างไร  สังโยชน์ที่เกิดแล้วพร้อมกับอายตนะดับได้อย่างไร  สังโยชน์ที่ละได้แล้วจะไม่เกิดขึ้นอีกได้อย่างไร

  ๔.  โพชฌงค์  ๗  คือตามรู้ในขณะนั้น ๆ  ว่า  โพชฌงค์  ๗  อันได้แก่  สติ  ธรรมวิจัย  วิริยะ  ปีติ  ปัสสัทธิ  สมาธิ  และอุเบกขา  มีอยู่ในจิตใจหรือไม่  ที่ยังไม่เกิดจะเกิดขึ้นได้อย่างไร  ที่เกิดขึ้นแล้วเจริญเต็มบริบูรณ์ได้อย่างไร

  ๕.  อริยสัจ  ๔  คือรู้ชัดอริยสัจ  ๔  แต่ละอย่างตามความเป็นจริงว่า  นี้คือทุกข์  นี้เหตุให้เกิดทุกข์  นี้ความดับทุกข์  นี้ทางให้ถึงความดับทุกข์[16]

  พระพุทธศาสนา  ได้ให้ความสำคัญแก่สติและถือว่าสติเป็นอุปการธรรมในขั้นของศีล  ขั้นสมาธิ  และขั้นปัญญา  การดำเนินชีวิตที่มีสติคอยกำกับนั้น  พระพุทธศาสนาถือว่าเป็นการดำเนินชีวิตที่ไม่ประมาท  หรือมีอัปปมาทธรรม  ซึ่งใน  ปทสูตร  สังยุตตนิกาย  มหาวารวรรคได้แสดงความยกย่องสติและอัปปมาทธรรมไว้ดังนี้

  ภิกษุควรบำเพ็ญความไม่ประมาท  คือการคุมครองรักษาใจด้วยสติด้วยตนเองในฐานะ  ๔  คือ  จิตของเราอย่างติดใจในธรรมที่ชวนให้เกิดความติดใจ  จิตของเราอย่างขัดเคืองในธรรมที่ชวนให้เกิดความขัดเคือง  จิตของเราอย่างหลงไหลในธรรมที่ชวนให้เกิดความหลงไหล  และจิตของเราอย่างมัวเมาในธรรมที่ชวนให้เกิดความมัวเมา[17] 

  สัมมาสมาธิ  คือความตั้งใจมั่นชอบ  ได้แก่  การฝึกฝนอบรมจิตในขั้นที่ลึกซึ้ง  เพื่อให้จิตมีความสงบ  ตั้งมั่นแน่วแน่ต่ออารมณ์ที่กำลังกำหนดพิจารณา  จิตที่มีสมาธิย่อมเป็นจิตที่มีคุณภาพและสมรรถภาพสูง  ประโยชน์สูงสุดของสมาธิคือ  การปฏิบัติเพื่อบรรลุเป้าหมายได้แก่  การรู้เห็นตามความเป็นจริง

  ภิกษุทั้งหลาย  สัมมาสมาธิเป็นไฉน  ภิกษุทั้งหลาย  ภิกษุในธรรมวินัยนี้  สงัดจากกามทั้งหลาย  สงัดจากอกุศลธรรมทั้งหลาย  บรรลุปฐมฌานอันมี  วิตก  วิจาร  ปิติ  และสุขอันเกิดแต่วิเวกอยู่  เพราะความสงัดระงับไปแห่งวิตก  วิจาร  จึงบรรลุทุติยฌาน  มีความผ่องใสแห่งจิตในภายใน  มีภาวะแห่งจิตเป็นหนึ่งผุดขึ้น  ไม่มีวิตก  ไม่มีวิจาร  มีแต่ปิติและสุขอันเกิดจากสมาธิอยู่  เมื่อคลายปิติได้  เธอจึงมีอุเบกขา  มีสติสัมปชัญญะ  เสวยสุขด้วยกาย  บรรลุตติยฌานที่พระอริยเจ้าทั้งหลายกล่าวว่า  เป็นผู้มีอุเบกขา  มีสติ  อยู่เป็นสุข  เพราะละสุขและทุกข์เสียได้  เพราะโสมนัสและโทมนัสดับไป  เธอจึงบรรลุจตุตถฌาน  อันไม่มีทุกข์  ไม่มีสุข  มีอุเบกขาและสติบริสุทธิ์อยู่[18]

  สมาธิ  หมายถึงภาวะแห่งจิตที่แน่วแน่มีอารมณ์เป็นหนึ่ง  ไม่ฟุ้งซ่าน  ไม่ซัดส่ายไปมา  สามารถแบ่งได้เป็น  ๓  ระดับ  คือ

  ๑.  ขณิกสมาธ  สมาธิชั่วขณะ  เป็นสมาธิขั้นต้น

  ๒.  อุปจารสมาธิ  สมาธิเฉียด ๆ  เป็นสมาธิขั้นระงับนิวรณ์  ๕

  ๓.  อัปปนาสมาธิ  สมาธิแน่วแน่  เป็นสมาธิระดับสูงสุด  จัดเป็นสมาธิในฌาน[19]

สิ่งที่เป็นอุปสรรคต่อสมาธิ

 

พระพุทธศาสนาถือว่า  นิวรณ์  ๕  เป็นปฏิปักษ์ธรรมที่ขัดขวาง  ปิดกั้น  ไม่ให้จิตมีสมาธิ  ทำให้จิตมืดบอด  ทำให้ปัญญาดับ  ทำให้เกิดความคับแค้น  ปุถุชนผู้ยังมีกิเลสอยู่ครบถ้วนไม่ว่าบุคคลนั้นจะรู้หรือไม่ก็ตาม  แต่สภาวะของจิตก็ยังซึมซับด้วยกิเลสอยู่  มนุษย์จะประสบผลสำเร็จในการพัฒนาชีวิตตนหรือไม่  ข้อสำคัญที่สุดคือมนุษย์จะปฏิบัติหรือทำอย่างไรต่อกิเลส  หากปฏิบัติต่อกิเลสโดยการประหาณได้ถูกวิธีก็จะประสบความสำเร็จ  ในทางตรงกันข้ามหากปฏิบัติผิดวิธีชีวิตก็จะเป็นทาสของกิเลสเรื่อยไป  นิวรณ์ทั้ง  ๕  ประการมีพระพุทธพจน์แสดงไว้ดังนี้  คือ

  ดูกรภิกษุทั้งหลาย  ธรรม  ๕  ประการ(นิวรณ์)  เหล่านี้เป็นเครื่องปิดกั้น(กุศลธรรม)  เป็นเครื่องห้าม(ความเจริญงอกงาม)  กดทับจิตไว้  ทำให้ปัญญาอ่อนกำลัง[20]

  ๑)  กามฉันท์  ความรักใคร่ในทางกาม  ๒)  พยาบาท  ความปองร้ายความอาฆาต  ๓)  ถีนมิทธะ  ความท้อแท้และความง่วงซึม  ๔)  อุทธัจจกุกกุจจะ  ความฟุ้งซ่านและความรำคาญ  ๕)  วิจิกิจฉา  ความสงสัยลังเลใจไม่อาจตัดสินใจได้  จะเห็นได้ว่า  ในขณะที่บำเพ็ญสมาธิอยู่นั้น  จะมีุศลธรรมที่เกิดพร้อมกับจิตเพื่อทำหน้าที่ประหาณหรือข่มนิวรณ์  ๕  ซึ่งเป็นสิ่งขัดขวางไม่ให้สมาธิเกิดขึ้นได้  ขณะที่สมาธิจิตปรากฏขึ้นกุศลธรรมคือ  วิตก  วิจาร  ปิติ  สุข  และเอกัคคตาทำหน้าที่ประหาณหรือข่มนิวรณ์  ๕  โดยวิตกประหาณถีนมิทธะ  วิจารประหาณวิจิกิจฉา  ปิติประหาณพยาบาท  สุขประหาณอุทธัจจกุกกุจจ  และเอกัคคตาประหาณกามฉันท์

  เมื่อนิวรณ์ถูกประหาญให้หมดไป  สมาธิก็เกิด  จิตที่เป็นสมาธิเป็นจิตที่ตั้งมั่น  แน่วแน่  สงบ  ใสกระจ่าง  มีพลัง  และควรแก่การงาน  ใน  ภยเภรวสูตร  มัชฌิมนิกาย  มูลปัณณาสถ์ได้แสดงลักษณะของจิตที่เป็นสมาธิไว้  ๘  ประการดังนี้

  ๑)  ตั้งมั่น(สมาหิตะ)  ๒)  บริสุทธิ์(ปาริสุทธะ)  ๓)  ผ่องใส(ปริโยทาตะ)  ๔)  ปรอดโปร่งไร้กังวล(อนังคณะ)  ๕)  ปราศจากสิ่งมัวหมอง(วัคตูปกิเลสะ)  ๖)  นุ่มนวล(มุทุภูตะ)  ๗)  ควรแก่การงาน(กัมมนียะ)  ๘)  ไม่หวั่นไหว(อาเนญชัปปัตตะ)[21] 

  คัมภีร์วิสุทธิมรรค  ได้แสดงลักษณะพิเศษของสมาธิไว้ดังนี้

  ๑.  มีความไม่ซัดส่ายเป็นลักษณะ

  ๒.  มีการกำจัดความซัดส่ายเป็นกิจ

  ๓.  มีความไม่หวั่นไหวเป็นผล

  ๔.  มีความสุขเป็นเหตุใกล้[22]

  สมาธิ  มีความสำคัญและมีประโยชน์มาก  เป็นธรรมมีอุปการะมากในงานทุกงาน  ทั้งในการประกอบกิจทางโลกและการปฏิบัติในทางธรรม  การมีสมาธิก็เพื่ออบรมปัญญา  การเจริญสมาธิให้จิตบริสุทธิ์มีจุดหมายคือเพื่อความเห็นความเข้าใจให้ถูกต้องสมบูรณ์  ภิกษุพึงอบรมสมาธิ  เพราะเมื่อใจมีสมาธิหรือมั่นคงแล้ว  ย่อมรู้เห็นตามความเป็นจริง[23]สมาธิเป็นสิกขาหนึ่งในไตรสิกขา  คือ  ศีล  สมาธิ  และปัญญา  แต่ละสิกขานั้นดำรงอยู่ในฐานะที่สัมพันธ์กัน  คือศีลเป็นพื้นฐานของสมาธิ  และสมาธิเป็นพื้นฐานของปัญญา  ในมหาปรินิพพานสูตร  ได้แสดงไว้ว่า  สมาธิที่บ่มอบรมโดยศีล  ย่อมมีผลมากมีอานิสงส์มาก  ปัญญาที่บ่มอบรมโดยสมาธิ  ย่อมมีผลมากมีอานิสงส์มาก  จิตที่บ่มอบรมโดยปัญญาแล้วย่อมหลุดพ้นโดยชอบจากอาสวะทั้งหลาย  คือ  กามาสวะ  ภวาสวะ  อวิชชาสวะ[24]



[1]ที.มหา.  ๑๐/๒๙๙/๒๗๕,  ม.มู.  ๑๒/๑๔๙/๘๖,  ม.อุ.  ๑๔/๗๐๔/๓๘๔,  อภิ.วิ.  ๓๕/๑๖๗/๑๒๒. 

[2]วิ.มหา.  ๔/๘๗/๘๐.

[3]ม.อุ.  ๑๔/๑๒/๑๒.

[4]องฺ.ปญจก.  ๒๒/๑๗๗/๒๑๑.

[5]อง.จตุก.  ๒๑/๒๘/๓๑–๓๓,  ที.ปา.  ๑๑/๒๓๗/๒๐๙–๒๑๐,  ขุ.จูฬ.  ๓๐/๖๙๑/๒๗๑.

[6]ที.ปา.  ๑๑/๓๕๙-๓๖๐/๒๘๒-๒๘๓.

[7]มหามกุฏราชวิทยาลัย,  วิสุทธิมรรคแปล, ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย,ภาค  ๑  ตอน  ๑, หน้า  ๓๔.

[8]ที.มหา.  ๑๐/๒๙๙/๒๗๕,  ม.มู.  ๑๒/๑๔๙/๘๖,  ม.อุ.  ๑๔/๗๐๔/๓๘๔.

[9]ขุ.ธ.  ๒๕/๓๐/๔๓–๔๔.

[10]ขุ.ปาฏิ.  ๓๑/๘๕/๓๘,  สํ.มหา.  ๑๙/๑๐๙๐–๙๑/๒๖๓.

[11]พระสังวาลย์  สิริจันโทการศึกษาเชิงวิเคราะห์อริยมรรค  :  กรณีการดำเนินชีวิตในพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท,  วิทยานิพนธ์ปริญญาศาสนศาสตรมหาบัณฑิต  สาขาพุทธศาสนาและปรัชญา  มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย,. ๒๕๔๔.

[12]องฺ.ทุก.๒๐/๒๕๑/๕๘. 

[13]องฺ.ปญฺจก.  ๒๒/๕๓/๖๕,  ที.ปา.  ๑๑/๔๑๑/๒๙๕,  องฺ.ทสก.๒๔/๑๑/๑๗. 

[14]ที.มหา.๑๐/๒๘๘/๒๖๓. 

[15]ที.มหา.๑๐/๒๗๓/๒๕๗.

[16]พระธรรมปิฎก  (ป.อ.  ปยุตฺโต),  พุทธธรรม  ฉบับปรับปรุงและขยายความ,  (กรุงเทพฯ  :  โรงพิม์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย  ๒๕๓๘),  หน้า  ๘๑๒.

[17]สํ.มหา.๑๙/๒๕๓/๖๕,  องฺ.ทสก.๒๔/๑๕/๒๕.

[18]ที.มหา.๑๐/๒๙๙/๒๗๔,  ม.อุปริ.๑๔/๗๐๔/๓๘๔,  อภ

 

สรุปพระพุทธศาสนาได้แสดงประโยชน์ของสมาธิลงในประเด็นที่สำคัญไว้  ๔  ประการคือ

  ๑.  สมาธิที่เจริญแล้วทำให้มากแล้ว  ย่อมเป็นไปเพื่อการอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน

  ๒.  สมาธิที่เจริญแล้วทำให้มากแล้ว  ย่อมเป็นไปเพื่อให้ได้ญาณทัสสนะ

  ๓.  สมาธิที่เจริญแล้วทำให้มากแล้ว  ย่อมเป็นไปเพื่อสติสัมปชัญญะ

  ๔.  สมาธิที่เจริญแล้วทำให้มากแล้ว  ย่อมเป็นไปเพื่อความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย[1]

  การปฏิบัติธรรมในพุทธศาสนาเรียกว่า  การเจริญสมาธิ  ซึ่งมีอยู่  ๒  วิธีคือ

  ๑.  สมถภาวนา  คือการฝึกอบรมจิตให้เกิดความสงบ  ทำให้จิตตั้งมั่น  ละราคะได้  สมถภาวนานี้เป็นทางปฏิบัติเพื่อทำให้เกิดสมาธิโดยตรง

  ๒.  วิปัสสนาภาวนา  คือการฝึกอบรมปัญญาให้เกิดความรู้แจ้งตามความเป็นจริง  ทำให้เกิดปัญญาสามารถละอวิชชาได้  วิปัสสนาภาวนานั้นต้องอาศัยสมาธิขั้นต้นเป็นฐาน  สำหรับใช้พิจารณาสภาวธรรมตามหลักของวิปัสสนา  ซึ่งจะช่วยให้ผู้ปฏิบัติธรรมได้บรรลุถึงจุดหมายคือความหลุดพ้นจากกิเลสาสวะได้

  การพัฒนาจิตขึ้นสู่สมาธิในระดับต่าง ๆ  เป็นขั้นตอนของการปฏิบัติ  ซึ่งแสดงให้เห็นว่าในระหว่างปฏิบัติ  ผลที่เกิดจากการปฏิบัติ  และรวมทั้งตัวสมาธิเอง  เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้  และเป็นไปตามเหตุปัจจัยเกิดจากการกระทำของมนุษย์เองอย่างแท้จริง  หาใช่เป็นเรื่องเพ้อฝันหรือรอให้มันเกิดหรือเป็นไปของมันเองไม่  การเจริญสมาธิอาจสรุปเป็นขั้นตอนได้ดังนี้

  ๑.  ตัดปลิโพธ  ๑๐  คือตัดความกังวล  ได้แก่ที่อยู่  ตระกูล  ลาภ  หมู่คณะ  การงาน  การเดินทาง  ญาติ  ความเจ็บป่วย  การศึกษา  และอำนาจ

  ๒.  ชำระศีลให้บริสุทธิ์

  ๓.  เข้าหากัลยาณมิตรหรือครูอาจารย์ที่มีความรู้ความสามารถให้กรรมฐานได้

  ๔. รับเอากรรมฐานอย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งเหมาะแก่อุปนิสัยของตน  จากกรรมฐานทั้งหมด  ๔๐  ชนิด

  ๕.  หาสถานที่เหมาะสมแก่การเจริญสมาธิ  แล้วลงมือปฏิบัติตามวิธีเจริญสมาธิ

  .  ปัญญาภาวนา  การพัฒนาปัญญา  คือ  การทำปัญญาให้เจริญงอกงาม  ในเบื้องต้นจะต้องมีความรู้ความเข้าใจในศิลปวิทยาการ  ทางวิชาชีพ  ต่อมาต้องพัฒนาปัญญาให้มีการรับรู้  เรียนรู้  อย่างถูกต้องของสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง  คือ  เข้าใจสิ่งนั้นทั้งหลายตามสภาวะหรือตามที่มันเป็น  ไม่เอนเอียงด้วยอคติหรือฉันทาคติ  ที่จะทำให้การรับรู้ผิดพลาดคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง  ขั้นต่อไปคือวินิจฉัยด้วยการใช้ปัญญาบริสุทธิ์  ไม่ใช่ด้วยกิเลส  เป็นปัญญาที่รู้จักเข้าใจโลกและชีวิตตามความเป็นจริง  เข้าใจความเจริญและความเสื่อมของโลกและชีวิตตามความเป็นจริงและตามเหตุปัจจัย  รู้จักทางแก้ไขปัญหาและสร้างสรรค์ความสำเร็จให้ตนพัฒนายิ่งขึ้น ๆ  ขึ้นไป  รู้เท่าทันโลกและชีวิตทำให้เป็นอิสระหลุดพ้นจากความทุกข์โดยสมบูรณ์  พัฒนาไปจนถึงขั้นวิมุติ  คือหลุดพ้นเป็นอิสระที่แท้จริง  จิตใจไม่ถูกยึดมั่นในสิ่งทั้งหลาย  ไม่ถูกครอบงำ  ผู้ที่ฝึกฝนอบรมพัฒนาทางปัญญาแล้วเรียกว่า  ภาวิตปัญญา

  การอบรมปัญญา  ก็คือการอบรมจิตนั่นเองให้มีปัญญา  ให้รู้ชัดว่าควรทำอะไร  ควรเว้นอะไร  ได้แก่การอบรมปัญญาให้รู้เห็นตามความเป็นจริง  เช่นเห็นไตรลักษณ์  แยกสมมติออกจากความเป็นจริง  ได้แล้วจะทำให้จิตใจไม่ติดสมมติ  กล่าวคือ  รู้ว่าแม้จะรับสิ่งสมมติ  แต่ก็รู้ว่าสิ่งนี้เป็นเพียงสิ่งสมมติเท่านั้น  แล้วจิตก็ไม่ไปติดอยู่ในสิ่งนั้น  แต่ถ้าเข้าใจไม่ชัดเจนก็ทำให้เกิดการสับสนซึ่งไม่สอดคล้องกับสภาพตามความเป็นจริง  ดังนั้น  พระพุทธศาสนาสอนให้รู้จักแยกสัจจะ  (ความจริง)  เป็นสองระดับ  สัจธรรม  ๒  อย่าง  คือ  สมมติสัจจะ  และปรมัคถสัจจะ

  ๑.  สมมติสัจจะ  คือความจริงอย่างสมมติ  สมมติว่าเป็นนั่นว่าเป็นนี่  ว่าอย่างนั้นว่าอย่างนี้  เป็นของสมมติจึงไม่ใช่ของจริง  เป็นจริงตามที่มีความเห็นร่วมกัน  เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการสื่อสารในการยังประโยชน์ให้สำเร็จในชีวิตประจำวัน  เช่น  คน  สัตว์  สิ่งของ  คนดี  คนชั่ว  โต๊ะ  เก้าอี้  เป็นต้น

  ๒.  ปรมัตถสัจจะ  คือความจริงโดยปรมัตถ์  เป็นความจริงตามความหมายอันแท้จริงตรงตามสภาวะ  เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจเท่าทันตามความเป็นจริงของสรรพสิ่ง  เพื่อให้เกิดประโยชน์อันสูงสุด  ซึ่งได้แก่  การหยั่งรู้สัจธรรม  เพื่อจะทำลายการยึดมั่นถือมั่นที่เป็นสาเหตุของการทำให้หลงผิด  ให้สลายหายไป  ทำให้หลุดพ้นจากกิเลส  และความทุกข์  มีจิตใจที่ผ่องใสบริสุทธิ์  มีความสุขตามความเป็นจริง  สิ่งที่เป็นจริงโดยปรมัตถ์  เช่น  นามธรรม  รูปธรรม  เวทนา  สัญญา  สังขาร  วิญญาณ  ฯลฯ

  การที่มนุษย์ประพฤติปฏิบัติตามหลักภาวนา  ๔  ประการที่พระพุทธเจ้าทรงค้นพบนี้  มีคุณประโยชน์อย่างมหาศาลโดยทำให้บุคคลสามารถเข้าใจในชีวิตของมนุษย์ได้มากมาย  ตลอดจนใช้เป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตเพื่อเข้าสู่สภาวะบุคคลในอุดมคติระดับชั้นอริยบุคคล  อันเป็นจุดหมายสูงสุดตามหลักพระพุทธศาสนาได้เป็นอย่างดี  ในการพัฒนาจิตตามหลักพระพุทธศาสนานั้นทำให้เกิดปัญญาเป็นเรื่องที่สำคัญมาก

.  หลักปัญญาภาวนา  ในอริยมรรค

การดำเนินชีวิตพอดี  หรือการปฏิบัติพอดี  ในพระพุทธศาสนาเรียกว่า  หลักมัชฌิมาปฏิปทา  ซึ่งมีความหมายเป็นอันเดียวกับการดำเนินชีวิตที่ดีงาม  กล่าวคืออริยมรรค  แปลว่า  มรรคาอันประเสริฐ  คือทางดำเนินชีวิตที่ดีงาม  ปราศจากพิษภัยไร้โทษ  นำสู่เกษมศานต์และความสุขที่สมบูรณ์

  พุทธธรรม  แสดงหลักการว่า  การที่จะดำเนินชีวิตให้ถูกต้องหรือมีชีวิตดีงามได้นั้น  จะต้องมีการฝึกฝนพัฒนา  ซึ่งได้แก่กระบวนการที่เรียกว่า  ภาวนา  กล่าวคือมรรคจะเกิดขึ้นได้ก็ด้วย  ศีล  สมาธิ  และปัญญา  เป็นตัวนำของชีวิตที่ดีงาม  และมรรคมีองค์  ๘  ก็สามารถแก้ปัญหาดับทุกข์ได้ดียิ่งขึ้นตามลำดับจนถึงที่สุด 

ปัญญาภาวนา  เป็นการฝึกฝนอบรมหรือพัฒนาในด้านปัญญา  ให้เกิดความรู้ความเข้าใจในสิ่งทั้งหลายตามที่เป็นจริงจนถึงความหลุดพ้น  เป็นการฝึกฝนทางด้านปัญญาอย่างสูง  ที่ทำให้เกิดความรู้แจ้งสามารถชำระจิตให้บริสุทธิ์หลุดพ้นเป็นอิสระโดยสมบูรณ์  รู้จักวางใจวางท่าทีและปฏิบัติต่อโลกและชีวิตได้อย่างถูกต้องเหมาะสม  ในทางที่เป็นไปเพื่อแผ่ขยายผลประโยชน์สุขแก่ตนเองและสังคม  คิดพิจารณาแก้ไขปัญหาต่าง ๆ  และการทำกิจทั้งหลายโดยการใช้ปัญญาที่บริสุทธิ์ไม่มีกิเลสแอบแฝง  ซึ่งหลักการพัฒนานี้มีความสัมพันธ์กับหลักอริยมรรคในประเด็นต่อไปนี้

  สัมมาทิฏฐิ  คือ  ความเห็นถูกต้อง  ความรู้ถูกต้อง  ความเข้าใจถูกต้อง  หมายความว่า  การเห็นอริยสัจ  ๔  ตามความเป็นจริง  เห็นตรงตามสภาวะของธรรมชาติซึ่งเริ่มจากการรู้จักคิดใคร่ครวญและพิจารณาอันเป็นองค์ประกอบภายในตัวบุคคลเรียกว่า  โยนิโสมนสิการ  ประกอบปัจจัยภายนอกคือกัลยาณมิตร  ได้แก่สิ่งแวดล้อมที่ดีงามถูกต้อง  ช่วยชักจูงให้เกิดสัมมาทิฏฐิ  โดยจะช่วยให้มองสิ่งแวดล้อมในเชิงวิเคราะห์ส่วนประกอบที่มาประชุมกัน  และเป็นกระบวนการของเหตุปัจจัย  จนทำให้เกิดปัญญาในการพัฒนาตนเอง  ทำให้มีการตัดสินใจที่มีการใคร่ครวญการกระทำต่าง ๆ  เป็นไปด้วยความถูกต้องดีงาม  มีพระพุทธพจน์ที่แสดงถึงความสำคัญของสัมมาทิฏฐิ  ไว้ดังนี้

  ภิกษุทั้งหลาย  เมื่อพระอาทิตย์จะขึ้น  สิ่งที่ขึ้นก่อน  สิ่งที่เป็นนิมิตมาก่อนคือ  แสงเงินแสงทอง  ฉันใด  สิ่งที่เป็นเบื้องต้น  เป็นนิมิตมาก่อนแห่งการตรัสรู้อริยสัจ  ๔  ตามความเป็นจริง  คือ  สัมมาทิฏฐิ  ฉะนั้นเหมือนกัน  อันภิกษุผู้มีความเห็นชอบ  พึงหวังข้อนี้ว่า  จักรู้ตามความเป็นจริงว่า  นี้ทุกข์…….นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา[2] 

  บรรดามรรค  ๘  นั้น  สัมมาทิฏฐิย่อมเป็นประธาน  ก็สัมมาทิฏฐิย่อมเป็นประธานอย่างไร  คือภิกษุรู้จักมิจฉาทิฏฐิว่าเป็นมิจฉาทิฏฐิ  รู้จักสัมมาทิฏฐิว่าเป็นสัมมาทิฏฐิ  ความรู้ของเธอนั้น  เป็นสัมมาทิฏฐิ[3]

สัมมาทิฏฐิ  แบ่งเป็น  ๒  ระดับ  คือ 

  ภิกษุทั้งหลาย  สัมมทิฏฐิเป็นไฉน  เรากล่าวว่าสัมมาทิฏฐิมี  ๒  อย่าง  คือสัมมทิฏฐิยังมีอาสวะ  ซึ่งจัดเป็นฝ่ายบุญ  อำนวยวิบากขันธ์  อย่างหนึ่งกับ  สัมมาทิฏฐิเป็นอริยะ  เป็นโลกุตตระ  และเป็นองค์มรรคอย่างหนึ่ง[4]

  ๑.  สัมมาทิฏฐิที่เป็นโลกียะ  คือสัมมาทิฏฐิเบื้องต้นที่เป็นฝ่ายบุญ  เช่น  ความเห็นว่า  การทำบุญมีผล  การให้ทานแล้วมีผล  กรรมที่ทำไว้ย่อมมีผล  ซึ่งความเห็นในระดับนี้สามารถกำจัดความเห็นผิดในขั้นหยาบได้  เป็นแรงชักนำให้เกิดกายกรรม  วจีกรรม  และมโนกรรมที่เป็นกุศล  สัมมาทิฏฐิขั้นนี้อาจเรียกได้ว่า  การเห็นชอบตามทำนองคลองธรรม

  ๒.  สัมมาทิฏฐิที่เป็นโลกุตตระ  คือสัมมาทิฏฐิเบื้องสูงเป็นองค์มรรค  เป็นตัววิชชา  ปัญญาของพระอริยเจ้า  ซึ่งความเห็นในระดับนี้สามารถกำจัดความเห็นผิดขั้นอนุสัยคืออวิชชา  เป็นต้นได้  สัมมาทิฏฐิประเภทนี้เกิดจาก  โยนิโสมนสิการ  และไม่สามารถเกิดขึ้นได้เพียงปรโตโฆสะทีดีหรือกัลยาณมิตรด้วยการรับฟังแล้วเชื่อตามคนอื่นด้วยศรัทธา  เพราะสัมมาทิฏฐิประเภทนี้ต้องเป็นการรู้จักที่ตัวสภาวะ  ต้องเอาธรรมชาตินั่นเองมาเป็นข้อพิจารณาโดยตรง  จึงเกิดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโลกและชีวิตถูกต้องตามความเป็นจริง  หรือรู้เข้าใจตามสภาวะของธรรมชาติ

  พระพุทธศาสนา  ถือว่าสิ่งที่ขัดขวางไม่ให้เกิดสัมมาทิฏฐินั้น  คือความเห็นคลาดเคลื่อน  ไม่ตรงตามความเป็นจริง  เรียกว่าวิปปัลลาส  มี  ๓  อย่างคือ  ๑)สัญญาวิปปัลลาส  ความจำได้หมายรู้คลาดเคลื่อนจากความจริงว่าในสิ่งที่ไม่เที่ยงว่าเที่ยง  ในสิ่งที่เป็นทุกข์ว่าเป็นสุข  ในสิ่งที่มิใช่ตัวตนว่าตัวตน  ในสิ่งที่ไม่งามว่างาม  ๒)  จิตวิปปัลลาส  ความคิดคลานเคลื่อนไปจากความจริงว่าในสิ่งที่ไม่เที่ยงว่าเที่ยง  ในสิ่งที่เป็นทุกข์ว่าเป็นสุข  ในสิ่งที่มิใช่ตัวตนว่าตัวตน  ในสิ่งที่ไม่งามว่างาม  ๓)  ทิฏฐิวิปปัลลาส  ความเห็นคลาดเคลื่อนไปจากความจริงว่า  ในสิ่งที่ไม่เที่ยงว่าเที่ยง  ในสิ่งที่เป็นทุกข์ว่าเป็นสุข  ในสิ่งที่มิใช่ตัวตนว่าตัวตน  ในสิ่งที่ไม่งามว่างาม[5]

  ปัจจัยที่ทำให้เกิดสัมมาทิฏฐิ  มีข้อความที่แสดงไว้ในพระไตรปิฎก  ว่าเป็นหลักการสร้างเสริมความเห็นถูกต้อง  คือ

    ภิกษุทั้งหลาย  ปัจจัยเพื่อความเกิดขึ้นแห่งสัมมาทิฏฐิ  มี  ๒  ประการดังนี้  คือ  ปรโตโฆสะ  และโยนิโสมนสิการ[6]

  ๑.  ปรโตโฆสะ  เป็นองค์ประกอบภายนอก  ได้แก่เสียงจากผู้อื่น  การกระตุ้นหรือชักจูงจากภายนอก  เช่น  การสั่งสอน  แนะนำ  การถ่ายทอด  การโฆษณา  คำบอกเล่า  ข่าวสาร  คำชี้แจง  ข้อเขียน  การเรียนรู้จากผู้อื่น  ในที่นี้หมายเอาเฉพาะส่วนที่ดีงามถูกต้อง  เฉพาะอย่างยิ่งการรับฟังธรรม  ความรู้หรือคำแนะนำจากบุคคลที่เป็นกัลยาณมิตร

  ๒.  โยนิโสมนสิการ  เป็นองค์ประกอบภายใน  ได้แก่การทำในใจโดยแยบคาย  การใช้ความคิดถูกวิธี  ความรู้จักคิด  คิดเป็น  หรือคิดอย่างมีระเบียบ  หมายถึงรู้จักมอง  รู้จักพิจารณาสิ่งทั้งหลาย  โดยมองตามที่สิ่งนั้น ๆ  มันเป็นของมัน  และโดยวิธีหาเหตุผล  สืบค้นถึงเค้า  สืบสาวให้ตลอดสาย  แยกแยะสิ่งนั้น ๆ  หรือปัญหานั้น ๆ  ออก  ให้เห็นตามสภาวะ  และตามความสัมพันธ์สืบทอดแห่งเหตุปัจจัย  โดยไม่เอาความรู้สึกด้วยตัณหาอุปาทานของตนเข้าจับ[7]

  สัมมาสังกัปปะ  ความดำริชอบ  หมายความว่า  ความนึกคิดที่ปลอดโปร่ง  ผ่องใสเป็นอิสระแก่ตัวเอง  ไม่แอบแฝงไปด้วยความชอบใจหรือไม่ชอบใจ  ไม่มีความคิดยึดติดถือมั่น  ความดำริชอบนี้เป็นผลมาจากสัมมาทิฏฐิ  เมื่อบุคคลมีความนึกคิดที่ถูกต้อง  คือคิดว่าชีวิตนี้ไม่ถาวรมั่นคง  มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา  หาความสุขที่แท้จริงได้ยาก  ก็จะเกิดความเบื่อหน่ายและคิดจะออกจากความสุขแบบทางโลก  ในพระบาลีได้แสดงความหมายของสังกัปปะไว้ดังนี้

  สัมมาสังกัปปะ  เป็นไฉน  ความดำริในการออกจากกาม(เนกขัมมสังกัปปะ)  ความดำริในการไม่ปองร้าย  (อพยาบาทังกัปปะ)  ความดำริในการไม่เบียดเบียน  (อวิหิงสาสังกัปปะ)  นี้เรียกว่า  สัมมาสังกัปปะ[8]

  สัมมาสังกัปปะ  เป็นความคิดหรือแนวคิดที่จะทำอะไรที่ถูกต้อง  เป็นความคิดที่มีสัมมาทิฏฐิเป็นมูลมี  ๓  ประการคือ

  ๑.  เนกขัมมสังกัปปะ  คือความคิดหรือแนวคิดที่จะออกไปจากกามทั้งที่เป็นวัตถุกามและกิเลสกาม วัตถุกามนั้นคือ  วัตถุหรือสิ่งที่น่าใคร่  น่าพอใจ  อันได้แก่  รูป  เสียง  กลิ่น  รส  โผฏฐัพพะอันน่าใคร่น่าพอใจเรียกว่ากามคุณ  ๕  ส่วนกิเลสกามก็คือกิเลสเหตุใคร่  ได้แก่ราคะ  โทสะ  โมหะ  เป็นต้น  เพราะเห็นว่า  การหมกมุ่นแสวงหาพัวพันอยู่กับกามทั้ง  ๒  เป็นที่ตั้งแห่งความทุกข์

  ๒.  อพยาปาทสังกัปปะ  คือความคิดหรือแนวคิดในทางไม่พยาบาท  ไม่มีความชิงชัง  เคียดแค้นที่เป็นเหตุให้ตัดรอนหรือทำร้ายคนอื่นหรือสัตว์อื่นให้ต้องเดือดร้อน  แต่เป็นความคิดที่เกิดจากความเมตตา  มีความปรารถนาดีมุ่งประโยชน์สุขต่อคนอื่นและสัตว์อื่น

  ๓.  อวิหิงสาสังกัปปะ  คือความคิดหรือแนวคิดไม่เบียดเบียน  ไม่กระทบกระทั่ง  ไม่แสวงหาความสนุกสนานให้แก่ตน  โดยไม่คำนึงถึงความลำบากของคนอื่นและสัตว์อื่น  แต่เป็นความคิดที่มุ่งช่วยเหลือคนอื่นด้วยอำนาจความกรุณาในอันที่จะให้คนอื่นหรือสัตว์อื่นพ้นจากความทุกข์เดือดร้อนเป็นต้น

พระพุทธศาสนา  แสดงให้เห็นว่า  สัมมาทิฏฐิและสัมมาสังกัปปะนั้นมีความสัมพันธ์กันในเชิงปฏิบัติ  กล่าวคือ  มนุษย์เมื่อจะคิดอย่างไร  มักจะเป็นไปตามความเห็น  หรือความรู้ของตนคือทิฏฐิ  และจะพูด  จะทำอย่างไรต่อไปก็ต่อเนื่องมาจากความคิด  ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่า ทิฏฐิหรือความเห็นเป็นรากฐานที่สำคัญของสังกัปปะหรือความคิด 

  อริยมรรคมีองค์  ๘  และภาวนาต่างก็เป็นแนวทางการปฏิบัติเพื่อความพ้นจากทุกข์เหมือนกัน  และมีจุดหมายร่วมกันเพราะมีลักษณะเกี่ยวเนื่องกันแบบครบวงจร  เพียงแต่สิกขาเชิงทฤษฎีจำเป็นต้องมีการวิเคราะห์แยกแยะ  เพื่อให้เป็นระบบระเบียบ  สะดวกชัดเจนในการศึกษาเรียนรู้  แต่เมื่อกล่าวถึงการฝึกฝนอบรมและพัฒนาตามหลักมรรคมีองค์  ๘  ในเชิงปฏิบัติแล้วต้องนำมาปฏิบัติพร้อมกันทั้ง  ๘  ข้อโดยตลอด  จึงจะถือว่าเป็นการพัฒนาชีวิตที่ถูกต้องโดยมีสัมมาทิฏฐิเป็นตัวชักนำ  พร้อมทั้งคอยควบคุมมรรคองค์อื่น ๆ  ให้อยู่ในแนวทางที่ถูกต้อง  เหมาะสมและดำเนินไปพร้อม ๆ  กันเหมือนเชือกเส้นเล็ก ๆ  ๘  เส้นที่ฟั่นเข้าเป็นเชือกเส้นเดียวกัน  เพราะเมื่อมนุษย์มีความเห็นในสิ่งต่าง ๆ  ถูกต้องเหมาะสมตามความเป็นจริง  การแสดงออกทางพฤติกรรมต่าง ๆ  ทั้งทางกาย ทางวาจาหรือทางความคิดก็ย่อมจะถูกต้องตามสภาพความเป็นจริงเช่นกัน

  จึงกล่าวได้ว่า  หลักการพัฒนามนุษย์ตามแนวพระพุทธศาสนาประกอบไปด้วยความศรัทธาเป็นตัวเกื้อกูล  คือเชื่อว่ามนุษย์มีศักยภาพที่พัฒนาตนได้  เชื่อในแหล่งที่มาของความรู้จากสิ่งแวดล้อมที่ดีงามถูกต้องจากปัจจัยภายนอก (ปรโตโฆสะ)  ร่วมกับจากปัจจัยภายใน (โยนิโสมนสิการ)  คือการคิดเป็น  รู้จักคิดโดยแยบคาย  การใช้ความคิดถูกวิธี  พร้อมทั้งมีทัศนะที่ถูกต้อง  (สัมมาทิฏฐิ)  เป็นเบื้องต้น  ตลอดจนมีการพัฒนากาย  พัฒนาศีล  พัฒนาจิต  และพัฒนาปัญญาตามแนวทางการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ตามหลักภาวนา  ซึ่งการฝึกฝนอบรมตามแนวนี้ย่อมส่งผลให้เกิดการพัฒนาคนได้อย่างครบถ้วนทุกขั้นตอน  เป็นการพัฒนาการดำเนินชีวิตอย่างสมบูรณ์  อันจะส่งผลต่อการพัฒนาสิ่งแวดล้อมในด้านอื่น ๆ  ของมนุษย์ด้วย  เพราะหลักการพัฒนาตามแนวพระพุทธศาสนามิได้หมายถึงเพียงแต่การทำให้วัตถุเจริญเติบโตอย่างเดียว  และดูเหมือนว่าการฝึกอบรมนี้จะเน้นปัจเจกชน  แต่ขณะเดียวกันก็ไม่แยกคนออกจากสังคม  นั่นคือ  การฝึกคนแต่ละคนให้พร้อม  เพื่อสร้างสรรค์ช่วยเหลือสังคม  เป็นการพัฒนาคนเพื่อสังคม

  การพัฒนาทั้ง  ๔  ด้านตามหลักภาวนาที่กล่าวมานี้  แสดงให้เห็นถึงหลักคำสอนในพระพุทธศาสนาที่มีความเกี่ยวข้องกับมนุษย์โดยตรงคือร่างกายและจิตใจรวมถึงปัญญา  แต่ในขณะเดียวกันก็ชี้ให้เห็นถึงความสัมพันธ์กับสิ่งต่าง ๆ  ที่มีความเกี่ยวข้องกับบุคคล  และแนวทางการปฏิบัติตนที่สอดคล้องกันทั้งในด้านร่างกาย  จิตใจ  ปัญญา  ให้มีความแข็งแรง  มั่นคง  เบิกบาน  มีความรู้เท่าทันในชีวิต  จึงกล่าวได้ว่าการพัฒนาตามหลักพระพุทธศาสนาเป็นการพัฒนาที่ครอบคลุมทุกด้านของชีวิตมนุษย์

  คุณลักษณะของมนุษย์ที่พัฒนาตนแล้วตามหลักพระพุทธศาสนา

  เป้าหมายของพุทธธรรม  หรืออุคมคติของพระพุทธศาสนาคือ  พระนิพพานซึ่งก่อนจะถึงพระนิพพานได้นั้น  ก็จะต้องพัฒนาตนขึ้นไปเป็นลำดับ  คือการพัฒนาตนให้มีชีวิตที่ดีงามมีความสุขจากกัลยาณปุถุชนไปจนถึงพระอรหันต์  ความสุขมีความสำคัญมากในการปฏิบัติธรรมทางพระพุทธศาสนา  อาจกล่าวได้ว่าหลักพุทธธรรมไม่ได้แยกต่างหากจากความสุข  เริ่มตั้งแต่ขั้นต้นในการทำความดีทั่ว ๆ  ไปที่เรียกว่าบุญ  ก็มีพุทธพจน์ตรัสว่า  บุญเป็นชื่อของความสุข[9]  ชีวิตจะมีความสุขประเทศชาติจะเจริญรุ่งเรืองมั่นคง  และสังคมจะร่มเย็นเกษมศานต์  ด้วยปัจจัยที่สำคัญที่สุดคือ  การพัฒนาคนซึ่งจะทำให้คนเป็นคนดีมีความสุข  และเป็นทรัพยากรที่มีคุณภาพ  ชีวิตจะมีคุณภาพได้ก็ต้องมีพุทธจริยธรรม  ดังนั้นพุทธจริยธรรมย่อมจะมีขึ้นได้ก็ด้วยการพัฒนาฝึกฝนอบรมตน    เริ่มตั้งแต่หลักจริยธรรมเบื้องต้นเพื่อตนเองและสังคม  ไปจนถึงหลักพุทธจริยธรรมเพื่อพัฒนาตนให้ไปสู่ความหลุดพ้น

  มนุษย์ที่พัฒนาตนแล้ว  หมายถึงบุคคลผู้ประเสริฐได้บรรลุสัจธรรม  คืออริยมรรค  ตามความเป็นจริงได้บรรลุธรรมตั้งแต่ขั้นโสดาบันเป็นต้นไปโดยไม่จำกัดว่าจะต้องเป็นบรรพชิต  หรือฆราวาส  มีทั้งเพศชายและเพศหญิง  สภาวะความเป็นมนุษย์นั้น  พระพุทธศาสนาถือว่ามีความเหมาะสมที่สุดต่อการขัดเกลาพัฒนาจิต  เพื่อให้บรรลุถึงความดีงามสูงสุด  กล่าวคือหมดกิเลสอันเป็นรากเหง้าของความชั่วทั้งปวงได้  โดยการพัฒนานั้นก็มีลำดับขั้นตอนเป็นขั้น ๆ  ตามสภาวะจิตของแต่ละบุคคลตั้งแต่ปุถุชนจนถึงอริยบุคคล  โดยอาศัยการปฏิบัติในหลักธรรมคือ  ภาวนา  ๔  เพื่อบรรลุความเป็นอริยบุคคลในระดับต่าง ๆ  เพราะความแตกต่างกันในหลายระดับดังกล่าว  พระพุทธเจ้าได้ทรงจัดบุคคลไว้  ๙  ประเภทด้วยกันในปุคคลสูตร  ดังนี้

  ๑.  บุคคลปุถุชนธรรมดาทั่ว ๆ  ไป

  ๒.  บุคคลผู้บรรลุโสดาปัตติมรรค

  ๓.  บุคคลผู้บรรลุโสดาปัตติผล

  ๔.  บุคคลผู้บรรลุสกทาคามิมรรค

  ๕.  บุคคลผู้บรรลุสกทาคามิผล

  ๖.  บุคคลผู้บรรลุอนาคามิมรรค

  ๗.  บุคคลผู้บรรลุอนาคามิผล

  ๘.  บุคคลผู้บรรลุอรหัตมรรค

  ๙.  บุคคลผู้บรรลุอรหัตผล[10]

๔.๓.๑  มนุษย์ที่พัฒนาตนแล้วหรืออริยบุคคลในพระพุทธศาสนา

  พระพุทธศาสนาถือว่า  การพัฒนาจิตด้วยหลักภาวนา  ๔  คือ  กายภาวนา  ศีลภาวนา  จิตภาวนา  และปัญญาภาวนา  เป็นสิ่งสำคัญมาก  จิตที่ได้รับการพัฒนาหรือฝึกฝนอบรมแล้วย่อมส่งผลให้สิ่งแวดล้อมต่าง ๆ  ของชีวิตเป็นไปในทางที่ดีขึ้น  สติปัญญาจากการพัฒนาจิตแล้วย่อมนำไปสู่การดับทุกข์ได้  ปุถุชนที่ยังมีกิเลสอยู่เมื่อปฏิบัติตามหลักภาวนา  ก็ย่อมจะพบทางสว่างของชีวิตในหลาย ๆ  ระดับชั้นตามแต่ผลของการปฏิบัติ  อาจกล่าวได้ว่าการปฏิบัติธรรมย่อมส่งผลให้การดำเนินชีวิตเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น

  ปุถุชน  คือ  คนที่ยังมีกิเลสหนา[11]  หมายถึงบุคคลทั่วไปที่มีกิเลสมากมายอยู่ในใจ  พระพุทธศาสนาถือว่า  คนธรรมดาทั่วไปที่เรียกว่า  ปุถุชนนี้เป็น  เวไนยสัตว์  หมายความว่า  แม้คนธรรมดามีกิเลสมากมายอยู่ในตัวก็สามารถลดและละกิเลสได้  และเพิ่มพูนความดีงามไว้ในตนมากขึ้น  ๆ  ได้ด้วย  บุคคลที่เป็นปุถุชน  ถ้าเปิดโอกาสให้ตนเองได้พัฒนาจิตตามหลักพระพุทธศาสนา  สภาพจิตก็สามารถเปลี่ยนไปเป็นกัลยาณปุถุชน  ย่อมยังผลให้บุคคลผู้ประพฤติปฏิบัติยกระดับฐานะจากคนธรรมดา  เป็นบุคคลในอุดมคติ  ในขั้นปุถุชนคือเป็นมนุษย์ผู้มีใจสูง  อีกทั้งยังประโยชน์ต่อสัตว์โลกอื่น ๆ  อีกด้วย  หรืออาจกล่าวได้ว่า  เป็นคนดีทั้งต่อตนเองและสังคม  ซึ่งเรียกบุคคลผู้มีคุณสัปปุริสธรรม[12]ในขั้นนี้ว่า  สัปปุรุษ[13]

  สัปปุรุษ  คนดีมีศีลธรรม[14]  หมายถึง  คนดีมีอุปนิสัยบำเพ็ญตนเพื่อประโยชน์แก่คนจำนวนมาก  คือเพื่อประโยชน์แก่มารดา  บิดา  บุตร  ภรรยา  ลูกจ้างกรรมกร  มิตรสหาย  ญาติ  อำมาตย์  พระราชา  สมณพราหมณ์  แก่เทวดาด้วย  สัปปุรุษเป็นผู้มีศีลเป็นที่รัก  เป็นผู้ไม่มีบาป  ไม่มีมลทินคือความตระหนี่[15]

  อริยบุคคล  หมายถึงบุคคลผู้ประเสริฐได้บรรลุสัจธรรม  ได้บรรลุธรรมตั้งแต่ขั้นโสดาบันเป็นต้นไปซึ่งเป็นผู้เข้าสู่กระแสพระนิพพาน  พระพุทธศาสนาถื่อว่าสภาวะความเป็นมนุษย์มีความเหมาะสมที่สุดต่อการขัดเกลาพัฒนาจิตใจ  เพื่อให้บรรลุถึงความสุขหรือประโยชน์สูงสุดของชีวิต  กล่าวคือความหมดกิเลสอันเป็นรากเหง้าของความชั่วทั้งปวงได้  ซึ่งคุณสมบัติด้านการเพิ่มพูนกุศลในจิตใจของอริยบุคคลโดยการศึกษาและปฏิบัติตามหลักพุทธธรม  ที่เรียกว่าภาวนา  อันเป็นหลักครองชีวิตของผู้พัฒนาตน  ผู้รู้เท่าทันชีวิตไม่หลงงมงาย  มุ่งผลสำเร็จคือความสุข  มีดังนี้  คือ 

  ๑.  โสดาบัน  เป็นผู้ทำศีลให้บริบูรณ์  เป็นผู้ทำสมาธิและปัญญาได้พอประมาณ

  ๒.  สกทาคามี  เป็นผู้ทำศีลให้บริบูรณ์  เป็นผู้ทำสมาธิและปัญญาได้พอประมาณ  และสามารถทำกิเลสให้เบาบางลงได้มากกว่า  โสดาบัน

  ๓.  อนาคามี  เป็นผู้ทำศีลและสมาธิให้บริบูรณ์  เป็นผู้ทำปัญญาได้พอประมาณ

  ๔.  อรหันต์  เป็นผู้ทำศีล  สมาธิ  และปัญญาให้บริบูรณ์[16]

  คุณสมบัติด้านการเพิมพูนความดีของอริยบุคคลเป็นการแสดงออกถึงสภาวะจิตใจว่า  อริยบุคคลแต่ละระดับนั้น  มีความเกี่ยวข้องกัน  ถ้าความดีมีมากแสดงให้เห็นว่าความชั่วถูกกำจัดทำลายไปได้มาก  ในทางตรงข้ามถ้าความชั่วมีมาก  แสดงให้เห็นว่าการบำเพ็ญความดีมีน้อย  แต่สำหรับอรหันต์นั้น  ความชั่วถูกกำจัดได้อย่างหมดสิ้น  นั่นย่อมแสดงให้รู้ว่าท่านมีความดีอยู่ในจิตใจอย่างเต็มเปี่ยม  กล่าวคือท่านได้ทำไตรสิกขาให้บริบูรณ์



[1]องฺ.จตุก.๒๑/๔๑/๕๒,  ที.ปา.๑๑/๒๓๓/๒๐๕.

[2]สํ.มหา.๑๙/๑๗๒๐/๔๓๗.

[3] ม.อุ.๑๔/๒๕๔/๑๕๘. 

[4]ม.อุ.๑๔/๒๕๘/๑๕๙.

[5]มหาวงศ์  ชาญบาลี,  พระวิสุทธิมรรค  เล่มเดียวจบ,  (กรุงเทพฯ  :  โรงพิมพ์เลียงเซียง,  ๒๔๗๘)  หน้า  ๘๑๘.

[6]องฺ.ทุก.๒๐/๓๗๑/๙๘.

[7]พระธรรมปิฎก  (ป.อ.  ประยุตฺโต),  พุทธธรรม  ฉบับปรับปรุงและขยายความ,  (กรุงเทพฯ  :  โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย,  ๒๕๓๘),  หน้า  ๖๒๑.

  [8] ที.มหา.๑๐/๒๙๙/๒๗๔.

[9]ขุ.อิติ.๒๕/๒๐๐/๒๐๘.

[10]องฺ.อฏฺฐ.  ๒๓/๒๑๒/๓๔๑.

[11]ราชบัณฑิตยสถาน,  พจนานุกรม  ฉบับราชบัณฑิตยสถาน  ๒๕๒๕,  (กรุงเทพฯ :  สำนักพิมพ์  อักษรเจริญทัศน์  ๒๕๓๑),  หน้า  ๕๓๗.

[12]ที.ปา.๑๑/๓๓๑/๒๕๕.

[13]องฺ.สตฺตก.๒๓/๖๕/๑๐๔,ม.อุ.๑๔/๑๔๓/๙๕.

[14]พระธรรมปิฎก  (ป.อ.  ปยุตฺโต),  พจนานุกรมพุทธศาสน์  ฉบับประมวลศัพท์,  (กรุงเทพฯ  :  โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย,  ๒๕๓๘),  หน้า  ๓๒๒.

[15]องฺ.อฏฺฐ.  ๒๓/๑๒๘/๒๑๙.

[16]องฺ.ติก.๒๐/๕๒๖/๒๖๒.

 

คุณสมบัติของอริยบุคคล

  อริยบุคคลคือผู้ที่ได้บรรลุธรรมตั้งแต่โสดาบันขึ้นไป  ไม่ได้จำกัดว่าจะต้องเป็นบรรพชิตหรือคฤหัสถ์  อริยบุคคลมีทั้งเพศชายและหญิง  ในทางพระพุทธศาสนาถือว่าความเป็นอริยบุคคลไม่ได้อยู่ที่ชาติกำเนิด  แต่อยู่ที่ธรรมซึ่งประพฤติปฏิบัติและฝึกฝนอบรมให้มีขึ้นในจิตใจของบุคคล  ผู้ใดรู้แจ้งเข้าใจสัจธรรมที่มีอยู่โดยธรรมดาแห่งธรรมชาติผู้นั้นเป็นอริยะ[๑]  คุณธรรมหรือระดับจิตของอริยบุคคลที่พัฒนาแล้วย่อมขึ้นอยู่กับผลที่ได้รับจากการปฏิบัตินั้นว่า  สามารถขัดเกลากิเลสออกไปจากจิตใจหรือภูมิของจิตที่แตกต่างกันไปตามลำดับ  อาจสรุปได้ว่ามีอยู่  ๒  ระดับใหญ่ ๆ  คือ

  ปุถุชน  หมายถึง  คนธรรมดาสามัญทั่ว ๆ  ไป  ซึ่งยังไม่ได้เป็นอริยบุคคลหรือพระอริยะ  ปุถุชนเป็นบุคคลเบื้องต่ำสุด  มนุษย์ทุกคนในระดับนี้สามารถพัฒนาจิตใจของตนจนกลายเป็นคนเก่ง  มีความสุข  คนดีของสังคม  เป็นผู้มีระเบียบวินัย  เคารพกฏหมาย  และอยู่ในกรอบวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามของสังคม  ได้รับการพัฒนาปัญญา  เกิดความรู้  ความเข้าใจตามความเป็นจริง  รู้จักคิด  คิดเป็น  ได้รับการพัฒนาพฤติกรรม  พัฒนาคุณธรรม  ทำให้สามารถดำรงชีวิตกับเพื่อนมนุษย์  สรรพสัตว์  ตลอดจนสิ่งแวดล้อมธรรมชาติได้อย่างดี  ได้รับการพัฒนาคุณภาพจิต  ทำให้จิตใจเป็นสุข  ปลอดทุกข์  มีอิสรภาพ  ไม่ถูกครอบงำด้วยกิเลสทั้งปวง   

อริยบุคคล  หมายถึงบุคคลผู้เป็นอริยะ  บุคคลผู้ประเสริฐ  ตามแนวพระพุทธศาสนานั้น  ผลสูงสุดของการปฏิบัติธรรมในระดับลึกคือการได้บรรลุเป็นอริยบุคคล  ในพระสุตตุนตปิฎก  ทีฆนิกาย  สีลขันธวรรคได้แบ่งอริยบุคคลเป็น  ๔  ระดับคือ  โสดาบัน  สกทาคามี  อนาคามี  และอรหันต์[๒]  การแบ่งระดับของอริยบุคคลเหล่านี้  มิใช่แบ่งตามลักษณะทางกายภาพ  หากแต่เป็นการแบ่งตามระดับจิตที่ละกิเลสได้  ในบรรดาอริยบุคคลเหล่านี้  พระอรหันต์เป็นพระอริยบุคคลที่มีคุณสมบัติเด่นและสำคัญที่สุด  เพราะพระอรหันต์เป็นผู้ที่มีจิตหลุดพ้นจากกิเลสทุกชนิด  เป็นบุคคลที่สมบูรณ์ที่สุด การที่พระอริยบุคคลประเภทอื่นจะผ่านมาถึงขั้นเป็นพระอรหันต์จะต้องพัฒนาจิตจนกระทั่งเหลือกิเลสเบาบางที่สุดจนหมดสิ้นไป  การที่จะเข้าใจสถานะของพระอริยบุคคลประเภทต่าง ๆ  ได้ดีนั้นจำเป็นอย่างยิ่งจะต้องศึกษาประวัติของพระอริยบุคคลตามที่ปรากฏในพระไตรปิฎก  พระโสดาบัน  เป็นพระอริยะบุคคลกลุ่มแรกที่ถือว่าเป็นผู้เข้าสู่กระแสพระนิพพาน

  โสดาบันบุคคล  เป็นอริยบุคคลประเภทแรกที่ได้สัมผัสกระแสพระนิพพาน  พระโสดาบันสามารถละสังโยชน์ได้  ๓  คือ  ๑)  สักกายทิฏฐิ  ความเห็นผิดว่ามีตัวตน  ๒)  วิจิกิจฉา  ความสงสัยในพระพุทธเจ้า  ๓)  สีลัพพตปรามาส  ความยึดมั่นในศีลพรต[๓]  อริยบุคคลในระดับต้นนี้มีความจำเป็นสำหรับปุถุชนหรือคฤหัสถ์ผู้ครองเรือนสามารถบำเพ็ญคุณธรรมให้เกิดแก่ตนได้  ดังในสังยุตตรนิกาย  มหาวรรค  พระพุทธเจ้าตรัสแนะนำว่า

  ดูกรภิกษุทั้งหลาย  เธอทั้งหลายพึงอนุเคราะห์เหล่าชนผู้เป็นมิตร  เป็นอำมาตย์  ญาติหรือสายโลหิต  ผู้ที่สำคัญโอวาทว่า  เป็นสิ่งที่ตนควรฟัง  พึงยังเขาเหล่านั้นให้สมาทาน  ให้ตั้งมั่น  ให้ดำรงอยู่  ในองค์แห่งธรรมเครื่องบรรลุโสดา  ๔  ประการ  คือ  ความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้า  ในพระธรรม  ในพระสงฆ์  ในศีลที่พระอริยะเจ้าใคร่แล้วไม่ขาด[๔] 

  โสดาบุคคล  เป็นผู้หมดความสงสัยในพระรัตนตรัย  (พระพุทธ  พระธรรม  พระสงฆ์)  คือไม่มีวิจิกิจฉา(ความสงสัย)  ในปัญญาตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า  โดยเห็นว่าพระพุทธเจ้านั้นทรงเป็นบุคคลตัวอย่างที่แท้จริง  เพราะมีความเชื่อในพระพุทธเจ้าด้วยจิตใจที่บริสุทธิ์ไม่คลอนแคลนนี้เอง  ที่ทำให้หมดความยึดมั่นในตัวตน  (สักกายทิฏฐิ)  และไม่เห็นความสำคัญของการยึดติดในศีลและพรต  (สีลัพพตปรามาส)  เพราะการเคารพนับถือในพระพุทธเจ้าย่อมมีความหมายที่สำคัญกว่าการถือว่าตนเองสำคัญ  และเกาะเกี่ยวอยู่ในระบบของศีลและพรต  การที่โสดาบุคคลเชื่อมั่นในพระรัตนตรัย  ก็จะทำให้ความเชื่อในสิ่งที่ไม่ใช่สาระของการดับทุกข์หมดไป  มีแต่มุ่งหน้าเพื่อก้าวไปสู่ความอิสระภาพทางจิตใจคือการบรรลุนิพพาน  แม้ว่าโสดาบุคคลจะยังเกิดอยู่อย่างมากอีก  ๗  ชาติ  แต่โสดาบุคคลก็จะไม่ไปเกิดในอบายภูมิอย่างแน่นอน  ดังนั้นการเกิดของโสดาบุคคลจึงเป็นการกิดที่มีความหมายมากกว่าการเกิดของปุถุชนทั่วไป ดังพระพุทธภาษิตที่ว่า  ยิ่งกว่าความเป็นพระราชเอกบนพื้นปฐพี  ยิ่งกว่าการไปสู่สวรรค์  ยิ่งกว่าความเป็นอธิบดีในโลกทั้งปวง  สิ่งประเสริฐล้ำคือ  โสดาปัตติผล[๕]

  นอกจากโสดาบันบุคคลละสังโยชน์ได้  ๓  อย่าง  ดังกล่าวแล้วยังเป็นผู้ปิดประตูอบายได้  คือปิดสถานที่ที่ไม่มีความเจริญ  หรือสถานที่มีแต่ความทุกข์  ความเดือดร้อนใจ  เรียกว่าอบายภูมิมี  ๔  ประเภทคือ  นิรยะ(นรก)    ติรัจฉานโยนิ(กำเนิดดิรัจฉาน)    ปัตติวิสัย(ภูมิแห่งเปรต)    อสุรกาย(พวกอสุรกาย)  [๖]

  มนุษย์ปุถุชนผู้ประมาท  คือผู้ที่พลาดพลั้งทำความชั่ว จะต้องตกลงไปในอบายภูมิเหล่านี้ภูมิใดภูมิหนึ่งหลังจากที่ตายไปแล้ว  เพื่อเสวยผลแห่งกรรมที่ตนได้กระทำไว้  สำหรับโสดาบันบุคคลนั้นได้กำจัดกิเลสอันจะนำไปสู่อบายภูมิได้หมดแล้ว 

  สกทาคามีบุคคล  ละกิเลสได้เหมือนพระโสดาบันคือ  สักกายทิฏฐิ  วิจิกิจฉา  สีลัพพตปรามาส  แต่ทำราคะ  โทสะ  โมหะ  เหลือเบาบางยิ่งขึ้น  เมื่อโสดาบันบุคคลได้พากเพียรในการฝึกฝนอบรมจิตของตน  โดยปรับปรุงอินทรีย์  ๕  คือ  ศรัทธา  วิริยะ  สติ  สมาธิ  ปัญญา  ให้สม่ำเสมอจนอินทรีย์แก่กล้าแล้ว  ภาวะของโสดาบันบุคคลก็จะเปลี่ยนไปสู่ความก้าวหน้าในทางธรรมก็จะอยู่ในระดับสูงขึ้นเป็นสกทาคามีบุคคล  แม้ว่าสกทาคามีบุคคลจะละกิเลสได้เท่ากับโสดาบันบุคคล  แต่สกทาคามีบุคคลก็มีกามราคะคือความพึงพอใจในกามคูณ  ๕  และความพยาบาทเบาบางกว่าโสดาบันบุคคล  ดังพระบาลีว่า  บุคคลผู้ปฏิบัติเพื่อความเบาบางของกามราคะ  และพยาบาท  ผู้ปฏิบัติเพื่อทำให้แจ้งสกทาคามีผล  ผู้มีกามราคะ  และพยาบาทเบาบางแล้วบุคคลนั้นท่าน  เรียกว่า  พระสกทาคามี[๗]สกทาคามีบุคคลละสังโยชน์ได้  ๓  ประการเท่ากับโสดาบันบุคคล  แต่ทำราคะ  โทสะ  และโมหะ  ให้เบาบางลงได้  ดังนี้

  ๑.  เป็นผู้มีกามราคะเบาบาง  แต่ยังมีความพอใจยินดีในรูป  เสียง  กลิ่น  รส  และโผฏฐัพพะที่เบาบาง  แต่ความพอใจที่ปรากฏอยู่ในจิตเพียงเล็กน้อยเท่านั้น  แม้ความอยากได้ในลาภ  ยศ  สรรเสริญและสุขจะยังคงมีอยู่

  ๒.  เป็นผู้มีความโกรธเบาบาง  แม้ว่าท่านยังมีความโกรธอยู่บ้าง  แต่ก็มีอยู่น้อยมาก  เป็นเพียงแต่สิ่งที่ทำให้ไม่พอใจอย่างเบาบางเล็ก ๆ  น้อย ๆ  เท่านั้น  เพราะเหตุที่จิตของท่านได้พัฒนาสูงขึ้นแล้ว

  ๓.  เป็นผู้ไม่พูดคำหยาบ  พูดส่อเสียดด้วยโทสะจริตที่รุนแรง  คงมีโทสะเหลืออยู่บ้าง  แต่เบาบาง  เพราะท่านได้ทำโทสะให้เบาบางลงได้แล้ว 

  กล่าวได้ว่าลักษณะจิตของสกทาคามีบุคคล  ยังคงมีความยินดีในโลกธรรมคือ  ลาภ  ยศ  สุข  สรรเสริญอยู่แต่ไม่มากนัก  หากมีเหตุจำเป็นที่จะต้องสูญเสียโลกธรรมไปอย่างใดอย่างหนึ่ง  สกทาคามีบุคคลก็จะไม่รู้สึกสูญเสียจนเกินไป  คือไม่มีลักษณะของการยึดติดหลงไหล  เมื่อเปรียบเทียบกับปุถุชนแล้ว  สำหรับปุถุชนนั้นเนื่องจากยังติดข้องอยู่ในโลกธรรมจนยากที่จะสลัดออกได้  เมื่อต้องสูญเสียโลกธรรมไปด้วยเหตุใดเหตุหนึ่งย่อมมีความเศร้าโศกใจจนเป็นเหตุให้ทำกรรมชั่วไปเกิดในอบายภูมิ  ส่วนสกทาคามีบุคคลไม่มีความคิดที่จะทำกรรมอันเป็นเหตุให้ต้องไปเกิดในอบายภูมิอีกต่อไป  แม้ว่าสกทาคามีบุคคลจะยังเกิดอีกแต่ก็เกิดอีกเพียงชาติเดียวเท่านั้น  จึงจะสามารถทำที่สุดแห่งทุกข์ให้หมดสิ้นไปได้[๘]  และชาตินั้นก็จะได้บรรลุเป็นอรหันต์

  อนาคามีบุคคล  ละกิเลสได้เหมือนสกทาคามีบุคคลคือ  สักกายทิฏฐิ  วิจิกิจฉา  สีลัพพตปรามาส  และละกิเลสได้เพิ่มขึ้นอีก  ๒  อย่างคือ  กามราคะ(ความกำหนัดด้วยอำนาจกิเลสกาม)  ปฏิฆะ(ความขุ่นเคือง)  รวมเป็นสังโยชน์เบื้องต่ำ  ๕  อย่างเรียกว่า  โอรัมภาคิยสังโยชน์  อนาคามีบุคคลที่สามารถพัฒนาจิตขึ้นมาในระดับนี้  ถือได้ว่าเกิดจุดเปลี่ยนแปลงที่สำคัญอีกครั้งหนึ่ง  กล่าวคือ  กามราคะ(ความกำหนัด)  โทสะ  (ความโกรธ)  ที่เคยเบาบางในขั้นสกทาคามีบุคคล  พอมาถึงขั้นอนาคามีบุคคลกิเลสคือราคะและโทสะก็จะหมดไปทันที  การที่จิตใจของอนาคามีบุคคลจะบริสุทธิ์และพัฒนาให้สูงยิ่งขึ้นไปอีกนั้น  ก็คือในสังโยชน์  ๑๐  ประการ  ที่เป็นเครื่องผูกใจสัตว์โลกให้เวียนว่ายตายเกิด  ได้รับความทุกข์อยู่ในสังสารวัฏนั้นอนาคามีบุคคลกำจัดสังโยชน์เบื้องต่ำได้  ๕  ประการ  โดยกำจัดได้มากกว่าโสดาบันบุคคลและสกทาคามีบุคคล  อยู่  ๒  ข้อด้วยกันคือ  กามราคะ  และปฏิฆะ  ดังนี้

  ๑.  เป็นผู้ไม่มีกามราคะ  คือความอยากความพอใจในรูป  เสียง  กลิ่น รส  โผฏฐัพพะ  อันน่าใคร่  น่าปรารถนา  น่าพอใจ  ไม่มีเหลือในจิตใจของอนาคามีบุคคล  กล่าวคือความยินดีในกามคุณทุกชนิดได้ถูกกำจัดไปหมดแล้ว  ถึงแม้ว่าอนาคามีบุคคลยังอยู่ครองเรือนโดยไม่ได้ออกบวชก็ตาม  ความเกี่ยวข้องในเรื่องกามคุณก็ไม่มีเลย  เปรียบเหมือนน้ำไม่ติดอยู่บนใบบัวเพราะท่านได้ทำลายกามราคะสิ้นแล้ว  มีแต่ความมุ่งมั่นบำเพ็ญเพียรทำความดีให้สูงยิ่ง ๆ  ขึ้น  เพื่อการบรรลุนิพพานในที่สุด

  ๒.  เป็นผู้ไม่มีความโกรธ  ไม่มีความหลงเหลืออยู่  รวมทั้งความพยาบาทด้วย  ความเศร้าโศกเสียใจในเรื่องที่เสื่อมจากลาภ  เสื่อมจากยศ  ความทุกข์  และนินทา  ก็จะหมดสิ้นไป  เพราะว่าท่านสามารถทำลายความโกรธได้หมดสิ้นแล้ว  และท่านเป็นผู้ที่มีจิตใจสุขุมเยือกเย็นมากกว่าสกทาคามีบุคคล

เมื่อสกทาคามีบุคคลได้พัฒนาจิตของตนจนบรรลุเป็นอนาคามีบุคคลแล้ว  การกลับมาเกิดเป็นมนุษย์อีกก็ถือว่าสิ้นสุดลง  มีแต่จะไปเกิดในพรหมโลกชั้นสุทธาวาส  ๕  ชั้นคือ  ชั้น อวิหา  อตัปปา  สุทัสสา  สุทัสสี  อกนิฏฐา  ตามความอ่อนแก่ของอินทรีย์ทั้ง  ๕  ดังนี้คือ

๑.  อนาคามีบุคคลที่มีศรัทธาแก่กล้าไปเกิดในพรหมโลกชั้นอวิหา

๒. อนาคามีบุคคลที่มีวิริยะแก่กล้าไปเกิดในพรหมโลกชั้นอตัปปา

๓. อนาคามีบุคคลที่มีสติแก่กล้าไปเกิดในพรหมโลกชั้นสุทัสสา

๔. อนาคามีบุคคลที่มีสมาธิแก่กล้าไปเกิดในพรหมโลกชั้นสุทัสสี

๕. อนาคามีบุคคลที่มีปัญญาแก่กล้าไปเกิดในพรหมโลกชั้นอกนิฏฐา[๙]

อนาคามีบุคคลที่ไปเกิดในพรหมโลกชั้นต่าง ๆ  ก็เนื่องจากว่ามีความแตกต่างกันที่คุณธรรม  อย่างไรก็ตามอนาคามีบุคคล  ถือว่าเป็นอริยบุคคลที่ใกล้ต่อการบรรลุเป็นพระอรหันต์ที่สุด  หากในชาติที่เป็นมนุษย์มีอินทรีย์ทั้ง  ๕  แก่กล้าพร้อมกับมีวาสนาบารมีสมบูรณ์ก็จะสำเร็จเป็นพระอรหันต์ในชาตินี้  แต่เมื่ออนาคามีไปเกิดในพรหมโลกชั้นสุทธาวาสชั้นใดชั้นหนึ่งใน  ๕  ชั้นนั้นแล้ว  บางท่านได้บรรลุเป็นอรหันต์  และนิพพานในภพที่เกิดนั้น  แต่บางท่านเลื่อนขึ้นไปอยู่ในชั้นสุทธาวาสที่สูงขึ้นไปอีกแล้วจึงได้บรรลุเป็นอรหันต์

  พระอรหันต์  การพัฒนาจิตในขั้นสูงสุดทางพระพุทธศาสนา  มีผลสำเร็จทำให้ผู้ปฏิบัติได้เป็นพระอรหันต์  ซึ่งเป็นบุคคลในอุดมคติหรือได้รับประโยชน์สูงสุดของชีวิต  พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนพุทธบริษัท  เพื่อกล่อมเกลาจิตใจของมนุษย์ให้พัฒนาขึ้นจากความเป็นปุถุชนที่ยังมีกิเลสให้ตรัสรู้ตามพระองค์เป็นลำดับจนหมดกิเลสเป็นพระอรหันต์  คุณสมบัติของพระอรหันต์ที่กล่าวไว้ในพระไตรปิฎกคือ  เป็นบุคคลที่มีจิตที่ฝึกฝนมาแล้วเป็นอย่างดีที่สุด[๑๐]

  บุคคลผู้เป็นพระอรหันต์เป็นผู้มีจิตหมดจดจากกิเลสทั้งปวง  โดยเฉพาะกิเลสอย่างละเอียดซึ่งอริยบุคคลขั้นอื่นไม่สามารถทำให้หมดจากสันดานได้  ตามหลักพระพุทธศาสนา  บุคคลผู้ละสังโยชน์เบื้องสูง (อุทธัมภาคิยสังโยชน์)  ได้ทั้งหมด  จึงจะชื่อว่าเป็นพระอรหันต์  รวมทั้งได้ละกิเลสที่  โสดาบุคคล  สกทาคามีบุคคล  และอนาคามีบุคคล  ละได้ทั้งหมดโดยไม่มีส่วนเหลือ  ความเป็นพระอรหันต์จึงเป็นบุคคลที่สมบูรณ์ที่สุด

  จิตของพระอรหันต์ไม่มีสังโยชน์เบื้องสูง  ๕  ประการ  รวมทั้งกิเลสเล็ก ๆ  น้อย ๆ  ที่ยังเหลืออยู่ในจิใจของอนาคามีบุคคล  ย่อมดับลงอย่างเด็ดขาดโดยหมดสิ้น  สังโยชน์เบื้องสูงอันเป็นกิเลสอย่างละเอียด  ๕  ประการ  คือ

  ๑.  รูปราคะ  ความกำหนัดยินดีในรูป

  ๒.  อรูปราคะ  ความกำหนัดยินดีในสภาวะที่มิใช่รูป

  ๓.  มานะ  ความถือตัว

  ๔.  อุทธัจจะ  ความฟุ้งซ่าน

  ๕.  อวิชชา  ความไม่รู้[๑๑]

สภาวะจิตของพระอรหันต์ที่หลุดพ้นจากกิเลส  มี  ๕  ลักษณะคือ

  ๑.  ไม่มีความยินดีในการไปเกิดเป็นรูปฌาน  ความยาก(โลภ)  พระอรหันต์ได้เจริญวิปัสสนากรรมฐานโดยผ่านขั้นสมถกรรมฐานมาแล้ว  ดังนั้นจิตที่ถูกความโลภเข้าไปปรุงแต่งจึงไม่มีอีกต่อไป(ละรูปราคะและอรูปราคะ)  ผู้ได้รูปฌานนั้นมักหลงติดพัวพันยินดีในภาวะที่มีความสุขอย่างมากซึ่งเกิดจากฌาน  และจัดว่าเป็นกิเลสชนิดที่ละเอียดมาก  เพราะยังทำให้บุคคลนั้นต้องเวียนว่ายตายเกิด  ประสบทุกข์อยู่อีก  แต่กิเลสเช่นนี้ไม่มีอยู่ในจิตของพระอรหันต์  เพราะท่านมองเห็นทุกข์ในสังสารวัฏอย่างชัดแจ้ง 

  ๒.  เป็นผู้ไม่มีความยินดีในอรูปฌาน  ได้แก่อรูปฌานที่เกิดจากการปฏิบัติสมถกรรมฐานต่อจากรูปฌานซึ่งทำให้จิตสงบเยือกเย็น  และละเอียดยิ่งกว่าความสงบในรูปฌาน  แต่กิเลสชนิดนี้ได้หมดสิ้นไปจากจิตของพระอรหันต์  และทำให้เป็นผู้ไม่หลงติดอยู่ในอรูปฌาน  เพาะเนื่องจากท่านได้หมดความยินดีความพอใจในภพทั้งปวง

  ๓.  จิตของพระอรหันต์ไม่มีความถือตัว(มานะ)  ไม่ว่าจะเป็นความถือตัวว่าตนประเสริฐกว่าคนอื่นหรือถือว่าตนเองเลวกว่าคนอื่นก็ตาม  เพราะความรู้สึกทั้งสองอย่างนั้นเป็นความเห็นผิดเกี่ยวกับตัวตน(อัตตา)  พระอรหันต์นั้นมีความรู้แจ้งเห็นจริงในเบญจขันธ์อย่างแท้จริง  ได้เห็นอนัตตาอย่างแจ้งชัดที่สุด  ได้ถอนความยึดมั่นถือมั่นในตัวตนได้อย่างสิ้นเชิง  ส่วนพระอริยบุคคลประเภทอื่นก็เข้าใจในรูปนามเหมือนกันแต่ยังไม่ชัดแจ้งเหมือนพระอรหันต์

  ๔.  สภาพจิตของพระอรหันต์ไม่มีความฟุ้งซ่าน  (อุทธัจจะ)  สำหรับปุถุชนความฟุ้งซ่านเป็นอุปสรรคที่สำคัญมากในการทำความดีทุกอย่าง  ยกเว้นเมื่อได้เจริญวิปัสสนาบ้างความฟุ้งซ่านจะลดน้อยลง  เมื่อจิตได้รับการพัฒนาจนเป็นอริยบุคคลประเภทใดประเภทหนึ่ง  ด้วยอำนาจแห่งวิปัสสนาญาณสามารถข่มหรือระงับความฟุ้งซ่านไว้ได้ชั่วขณะเท่านั้น  เพราะเป็นกิเลสที่ละเอียดอ่อนมาก  พอได้มีการพัฒนาจิตมาถึงเป็นพระอรหันต์จึงสามารถตัดความฟุ้งซ่านได้อย่างเด็ดขาด

  ๕.  สภาวะจิตของพระอรหันต์ไม่มีความหลงผิดหรือไม่มีอวิชชาเข้าครอบงำ  อวิชชาในที่นี้หมายถึง  ความไม่รู้แจ้งในความจริงของชีวิต  และสิ่งทั้งหลาย  ไม่รู้ถึงการปฏิบัติที่ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม  และความไม่รู้แจ้งเห็นจริงในอริยสัจ  ๔  คือ  ไม่รู้จักความทุกข์(ทุกข์)  ไม่รู้จักสาเหตุแห่งความทุกข์(สมุทัย)  ไม่รู้แจ้งความดับทุกข์(นิโรธ)  และไม่รู้จักทางดำเนินไปสู่ความดับทุกข์(มรรค)  พระอรหันต์ได้รู้แจ้งอริยสัจโดยสมบูรณ์จึงสามารถทำลายอวิชชาได้โดยเด็ดขาด[๑๒] 

การพัฒนาจิตให้เกิดปัญญาจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก แต่ทำไมอริยะบุคคลทั้ง  ๓  ประเภทจึงไม่สามารถทำลายอวิชชาได้  ตอบว่า  การที่อริยะบุคคลประเภทอื่นมีปัญญาแต่ไม่ถึงขนาดสามารถทำลายอวิชชาได้หมด  เนื่องด้วยปัญญาของอริยะบุคคลทั้ง  ๓  ประเภทนั้นปรากฏดุจฟ้าแลบ  ส่วนปัญญาที่เกิดแก่พระอรหันต์นั้น  เป็นดุจฟ้าผ่า[๑๓]  ดังนั้นจิตพระอรหันต์จึงเป็นจิตที่ว่างเปล่าจากอัตตาและสิ่งที่เกี่ยวเนื่องกับอัตตา

พระอรหันต์แม้จะมีชีวิตอยู่ในโลกนี้  แต่จิตของท่านก็บริสุทธิ์ปราศจากกิเลสทั้งหลาย  ไม่มีความโลภ  ความโกรธ  ความหลง  ไม่มีตัณหา  อุปาทาน  มีแต่ความสุขร่มเย็นในจิตใจอย่างสูงสุด  พระอรหันต์เป็นอริยะบุคคลชั้นสูงสุดได้พัฒนาจิตใจถึงที่สุดแล้วเป็นอเสขบุคคล  ชาติสิ้นแล้ว  พรหมจรรย์ได้อยู่แล้ว  กรณียะได้ทำแล้ว  กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้ไม่มีอีก[๑๔]  มีแต่จะบำเพ็ญประโยชน์เพื่อผู้อื่นต่อไปเท่านั้น เป็นบุคคลตัวอย่างที่เพียบพร้อมด้วยคุณธรรมอย่างสูง  ควรแก่การเคารพบูชาอย่างยิ่ง  และเป็นนาบุญของโลกอย่างยอดเยี่ยม

  ประวัติผู้รวบรวมและเขียน

ชื่อสกุล    นายธีรวัส บำเพ็ญบุญบารมี

วันเดือนปีเกิด    วันพฤหัสที่  ๓  กันยายน  พ.ศ. ๒๕๐๒

ที่อยู่ปัจจุบัน    ๔๓/๑๒ ถนนพุทธมณฑลสาย๓ เขตบางแค  กรุงเทพฯ

วุฒิการศึกษา     

พ.ศ.๒๕๒๐–๒๕๒๔  นิติศาสตร์บัณฑิต  สมาชิกวิสามัญแห่งเนติบัณฑิตยสภา

พ.ศ.๒๕๔๘-๒๕๕๐ พุทธศาสนมหาบัณฑิตมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย

ประสบการณ์การทำงาน

พ.ศ. ๒๕๒๑–๒๕๒๖ รับราชการที่มหาวิทยาลัยมหิดล คณะสาธารณสุขศาสตร์

พ.ศ. ๒๕๓๓–๒๕๓๖ เป็นผู้ช่วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดอุทัยธานี

  เป็นผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการบริษัทพี.ไทย.อาคิเต็คฯจก.

พ.ศ. ๒๕๓๗–๒๕๓๙เป็นกรรมการผู้จัดการบริษัท เอส.เอส.โกลเด้นท์แลนด์

พ.ศ. ๒๕๓๕– ๒๕๓๙เป็นเลขาธิการสมาพันธ์ชมรมวิทยุสมัครเล่นกรุงเทพฯ

  ประธานชมรมนักกฎหมายวิทยุสมัครเล่น

กิจการทางพระพุทธศาสนา

พ.ศ. ๒๕๔๒– ๒๕๔๖ เป็นกรรมการบริหารพุทธธรรมรัฐสภา สภา

    ผู้แทนราษฎร สังกัดคณะกรรมาธิการศาสนา

    วัฒนธรรมสภาผู้แทนราษฎร

พ.ศ. ๒๕๔๒–๒๕๔๖ เป็นกรรมการชมรมพิทักษ์พระพุทธศาสนา

  ประธานชมรมวิทยากรพิทักษ์พระพุทธศาสนา รุ่น ๔ 

พ.ศ. ๒๕๔๓–๒๕๔๗ เป็นนักจัดรายการวิทยุใน รายการไขปัญหาชาวพุทธ

  รายการรู้ธรรมนำปฎิบัติ, รายการบำเพ็ญบุญบารมี

  สถานีวิทยุเพื่อพระพุทธศาสนาธรรมะพล ๑ A.M. ๑๔๒๒

    อาจารย์พิเศษสอนระดับปริญญาโทตามสถาบันการศึกษาหลายแห่ง

พ.ศ. ๒๕๔๕–ปัจจุบัน  เป็นเวบมาสเตอร์ จัดทำโฮมเพจให้องค์กรพุทธฯหลายแห่ง

พ.ศ. ๒๕๓๖ – ปัจจุบัน เป็นกรรมการบริหารมูลนิธิเบญจนิกาย

พ.ศ. ๒๕๕๐ – ปัจจุบัน เป็นกรรมการบริหารมูลนิธิพุทธางกูร

พ.ศ. ๒๕๕๐ – ปัจจุบัน เป็นกรรมการบริหารสมาคมนักเรียนเก่า ร.ร.วัดราชาธิวาส

ตำแหน่ง/สถานที่ทำงาน

พ.ศ. ๒๕๓๙ – ปัจจุบัน ทำงานบริษัทในเครือ บริษัท สหวิริยา กรุ๊ปตำแหน่งผู้จัดการสำนักกฎหมาย ฝ่ายบริหารบริษัท



[๑]สํ.ม.๑๙/๑๗๐๘/๔๓๑.

[๒]ที.ส.๙/๒๕๐–๒๕๔/๑๙๒–๑๙๓.

[๓]สํ.มหา.๑๙/๑๔๗๐/๓๕๗.

[๔]สํ.มหา.๑๙/๑๔๙๓/๓๖๔.

[๕]ขุ.ธ.๒๕/๒๓/๓๒.

[๖]ขุ.อิติ.๒๕/๒๗๓/๒๘๑.

[๗]สํ.มหา.๑๙/๑๔๗๐/๓๕๗.

[๘]ที.ส.๙/๒๕๑/๑๙๒.

[๙]ที.ปา.๑๑/๒๙๔–๒๙๕/๒๓๐.

[๑๐]ขุ.ธ.๒๕/๑๓/๑๗.

[๑๑]องฺ.ทสก.๒๔/๑๐๐/๒๐๖.

[๑๒]พระมหาบุญชิต  สุดโปร่งศึกษาวิเคราะห์คุณสมบัติของพระอรหันต์ในพระพุทธศาสนานิกายเถรวาท,  วิทยานิพนธ์อักษรศาสตร์มหาบัญฑิต  สาขาศาสนาเปรียบเทียบ  บัณฑิตวิทยาลัย  มหาวิทยาลัยมหิดล,  ๒๕๓๖,  หน้า  ๙๗.

[๑๓]พระภัททันตอาสภเถระ  อัคคมหากัมมัฏฐานาจริยะ,  วิปัสสนาธุระ,  (กรุงเทพฯ  :  โรงพิมพ์  C ๑๐๐ DESIGN  CO. ,  LTD.๒๕๓๖),  หน้า  ๑๖๘

[๑๔]สํ.นิ.๑๖/๑๙๒/๙๑.

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท