มหาธี
อาจารย์ ธีรวัส บำเพ็ญบุญบารมี

ปรัชญาศาสนาเชน


 

ศาสนาเชน(Jainism)

ธีรวัส  บำเพ็ญบุญบารมี

ผู้อำนวยการโครงการอนุรักษ์คัมภีร์

มหาบัณฑิตสาขาวิชาพุทธศาสน์ศึกษา

มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย

ธรรมศึกษานี้เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาค้นคว้าเพื่อเป็นหลักฐานทางวิชาการทางพระพุทธศาสนา

ตามหลักสูตรวิจัยคัมภีร์พระพุทธศาสนา มูลนิธิเบญจนิกาย พุทธศักราช  ๒๕๕๐พิมพ์ครั้งที่ ๑  ๕๐๐ เล่ม

เพื่อเป็นธรรมทานไม่สงวนลิขสิทธิ์

ศาสนาเชน(Jainism)

ศาสนาเชนเป็นศาสนาหนึ่งที่มีแหล่งกำเนิดในเอเชียใต้คืออินเดียและยังคงเป็นศาสนาสำคัญศาสนาหนึ่งของอินเดียในยุคปัจจุบันมีผู้นับถือกระจัดกระจายอยู่ในทุกรัฐของอินเดีย ประมาณมากกว่า 4  ล้านคนส่วนใหญ่ผู้นับถือจะมีอยู่ในบริเวณตะวันตกของอินเดียโดยเฉพาะในเมืองใหญ่ๆและยังมีบางส่วนในรัฐอุตรประเทศรัฐกรณาฏกะ รัฐมัธยประเทศและรัฐมหาราษฎร์ ในอินเดีย ประเทศอื่นนอกจากอินเดียมีผู้นับถือศาสนาเชนไปอยู่ที่ทวีปอเมริกาเหนือ(สหรัฐอเมริกา,แคนาดา) ยุโรปตะวันออกตะวันออกไกล และออสเตรเลียแต่ก็มีเป็นจำนวนน้อย
ศาสนาเชนเกิดก่อนพุทธศาสนาเล็กน้อยเป็นศาสนาที่เกิดขึ้นจากการปฏิรูปศาสนาพราหมณ์หรือฮินดูในด้านคำสอน ความเชื่อและศาสนพิธี ตลอดทั้งปฏิเสธในเรื่องพระเจ้า เป็นศาสนาประเภทอเทวนิยม (Atheism) ไม่ยอมเชื่อเรื่องพระเจ้า ปฏิเสธเรื่องการถือชั้นวรรณะปฏิเสธการฆ่าสัตว์เซ่นสังเวยบูชาพระเจ้า เช่นเดียวกับพุทธศาสนา ที่แตกต่างกันก็คือพุทธศาสนาสอนเรื่องอนัตตา ศาสนาเชนสอนเรื่องอาตมัน(อัตตา)ศาสนาพุทธสอนให้เลิกการบำเพ็ญทุกรกิริยา(การทรมานตน)ศาสนาเชนสอนเน้นหนักในการบำเพ็ญทุกรกิริยา ศาสนาพุทธมีนิพพานเป็นเป้าหมายส่วนศาสนาเชนมีโมกษะเป็นเป้าหมาย ศาสดาของสองศาสนาเป็นบุคคลร่วมสมัยกันต่างก็เป็นนักปฏิรูปศาสนาและสังคมที่สำคัญและเป็นที่รู้จักกันดีของอินเดียในยุคนั้น เพียงแต่ว่าศาสดาของศาสนาเชนสมภพก่อนมีอายุแก่กว่าและถึงแก่กาลมรณะก่อนศาสดาของศาสนาพุทธนอกจากนี้ยังมีชีวประวัติที่ละม้ายคล้ายคลึงกันมากเกือบจะเป็นเรื่องเดียวกันจะมีแตกต่างกันบ้างก็เล็กน้อย จนคนนอกประเทศอินเดียคิดว่าเป็นประวัติอันเดียวกันจนกระทั่งในระยะประมาณ 100 ปีเศษมานี้มีนักปราชญ์ได้ทำการศึกษาคัมภีร์ว่าด้วยประวัติและคำสอนของศาสนาเชนสามารถพิสูจน์ได้ว่าศาสดาของศาสนาเชนมีตัวจริง
คำว่าเชนบางทีออกเสียงว่า ไชน์ หรือ ไยน์ มาจากคำว่า ชินะ แปลว่า ผู้ชนะ เพราะฉะนั้นศาสนาเชนจึงมีความหมายว่าศาสนาแห่งผู้ชนะ(ชนะตนเอง)เป็นการตั้งชื่อศาสนาตามเนมิตกนามหรือนามเกียรติยศของผู้เป็นศาสดาหรือผู้ก่อตั้งเช่นเดียวกับพุทธศาสนาได้ตั้งชื่อตามพระนามเกียรติยศ คือ พุทธะ แปลว่าท่านผู้ตรัสรู้ หรือศาสนาคริสต์ คำว่า คริสต์ หรือ ไครสต์(Christ)) แปลว่าผู้ได้รับอภิเษก
                                                                           ศาสดาของศาสนาเชน
สกุลกำเนิด
มหาวีระผู้เป็นศาสดาของศาสนาเชนมีนามเดิมว่าวรรธมานะ แปลว่า ผู้เจริญ ประสูติ ณ นครเวสาลีแคว้นว้ชชี(ดินแดนรัฐพิหารในปัจจุบัน) ในภาคเหนือตอนหนึ่งของประเทศอินเดีย ราวๆ 10 ปีหรือ 12 ปีก่อนการประสูติของพระพุทธเจ้าศาสดาของศาสนาพุทธ หรือราว 635 ปีก่อนคริสต์ศักราช จวบจนปัจจุบันก็กว่า 2,6000 กว่าปีมาแล้วทรงเป็นพระโอรสของกษัตริย์สิทธารถะ(เศรยาม) และพระนางตริศลาซึ่งเป็นกษัตริย์ในกลุ่มกษัตริย์ลิจฉวีพระนางตริศลาเป็นกนิษฐภคินี(น้องสาว)ของพระเจ้าเวฏกะแห่งแคว้นวิเทหะวรรธมานะทรงเป็นพระโอรสองค์สุดท้าย โดยมีพระเชษฐภคินี(พี่สาว) 1 องค์และพระเชษฐภาดา(พี่ชาย) 1 องค์
ในวันประสูติของเจ้าชายวรรธมานะได้มีการจัดงานเฉลิมฉลองสมโภชที่นครเวสาลีอย่างใหญ่โตมโหฬารมีประชาชนมาร่วมฉลองกันอย่างเนืองแน่นบรรยากาศของเมืองคึกคักไปด้วยกิจกรรมและพิธีต่างๆตามถนนสายต่างๆมีการประดับตกแต่งด้วยแผ่นผ้า ธงทิว และโคมไฟสีต่างๆส่องสว่างและระยิบระยับอยู่ทั่วไป ตามวัดวาอารามเทวสถานต่างๆ มีพิธีเซ่นสรวงบูชายัญนักบวชต่างก็ร่ายมนต์ต่อหน้าพระพรหมผู้สร้างโลก พระวิษณุผู้รักษาโรคและเทวรูปบูชาต่างๆ พระเจ้ากรุงเวสาลีทรงบำเพ็ญทานโปรดให้แจกจ่ายสิ่งของเครื่องอุปโภคและบริโภคแก่คนยากไร้อนาถาและทรงโปรดให้ประกาศนิรโทษกรรมแก่นักโทษที่ถูกจองจำโดยปลดปล่อยให้เป็นอิสระให้หมดงานฉลองวันประสูติเจ้าชายครั้งนี้ยิ่งใหญ่ไม่แพ้งานฉลองนักขัตฤกษ์หรืองานฉลองชัยชนะจากการทำศึกสงครามยิ่งกว่านั้นบรรดากลุ่มฤาษีนักพรตและเหล่าพราหมณาจารย์จากลุ่มแม่น้ำคงคาและเทือกเขาหิมาลัย ต่างก็เดินทางหลั่งไหลเข้าสู่พระราชวังเพื่อชื่นชมบารมีและถวายพระพรชัยมงคลให้ทรงพระเจริญยิ่งยืนนานพร้อมกันนั้นเมื่อได้ดูปุริสลักษณะแล้วต่างก็ได้พยากรณ์ว่าเจ้าชายจะทรงเป็นผู้มีอนาคตอันยิ่งใหญ่ โดยได้พยากรณ์มีคติเป็น 2 คือ 1. ถ้าอยู่ครองฆราวาส จักได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ และ 2. ถ้าออกทรงผนวชจักได้เป็นศาสดาเอกในโลก


เมื่อเจริญวัยขึ้นในขณะยังทรงพระเยาว์ได้รับการศึกษาศิลปะศาสตร์อันควรแก่ฐานะแห่งรัชทายาทหลายอย่างเช่น ศึกษาเพทางคศาสตร์ ศึกษาไตรเพท วิชายิงธนู วิชาฝึกม้าป่า วิชาควบช้างเผอิญวันหนึ่ง ขณะที่ได้เสด็จประพาสในอุทยานหลวงและได้เล่นอยู่กับพระสหายอย่างเพลิดเพลินอยู่นั้น ได้มีช้างพลาย(ช้างตัวผู้)ตกมันตัวหนึ่ง หลุดจากโรงช้างแล้วเที่ยวอาละวาดและวิ่งทะยานเข้ามาในอุทยานหลวงแสดงอาการบ้าคลั่งมีงวงแกว่งไปมา เจ้าชายและพระสหายกำลังเล่นสนุกโดยไม่ได้สนใจอะไรครั้งแรกเพียงแต่ได้ยินเหมือนเหยียบต้นไม้กอหญ้าแห้งดังเข้ามาใกล้ทุกขณะเมื่อหันมาดูเท่านั้นก็เห็นช้างใหญ่กำลังวิ่งทะยานเข้ามาสู่พวกตนบรรดาพระสหายทั้งหลายต่างก็ตกใจกลัวพากันวิ่งหนีกระจัดกระจายกันไปคนละทิศคนละทางพร้อมทั้งส่งเสียงโวยวายขอความช่วยเหลือไปตามอารมณ์กลัวในขณะนั้นฝ่ายเจ้าชายวรรธมานะพอเทิดพระเนตรเห็นเหตุการณ์เช่นนั้นแทนที่จะวิ่งหนีตามพระสหายกลับยืนนิ่งอยู่พระองค์เดียวเมื่อช้างวิ่งถลาเข้ามาใกล้ตัวก็กระโดดจับงวงช้างอย่างฉับพลันตามที่ครูช้างเคยสอนไว้แล้วก็ไต่ขึ้นไปประทับที่คอช้างแล้วขับขี่บังคับช้างให้กลับไปสู่โรงช้างและมอบให้นายควาญช้างเอาไปผูกขังไว้เช่นเดิม เมื่อเจ้าชายเสด็จกลับสู่พระราชวังแล้วก็มิได้ทูลเหตุการณ์อะไรให้พระราชบิดาพระราชมารดาทรงทราบเลยแต่พวกควาญช้างต่างก็รีบรายงานเหตุการณ์นี้ให้ผู้เกี่ยวข้องรับทราบคนทั้งหลายทั้งในพระราชวังและประชาชนทั่วไปทราบ และได้รู้ความกล้าหาญของเจ้าชายต่างพากันกล่าวยกย่องสดุดีวีรกรรมของเจ้าชายไปทั่วทุกหนทุกแห่งแล้วพร้อมใจกันถวายเนมิตกนามเสียใหม่ว่า มหาวีระ แปลว่าบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ด้วยความกล้าหาญ ตั้งแต่นั้นมาเจ้าชายวรรธมานะก็ได้สมญานามใหม่ว่ามหาวีระ
เมื่อเจ้าชายพระชนมายุได้ 12 พรรษา ก็ได้รับพิธียัชโญปวีตโดยพราหมณ์ทำพิธีคล้องด้ายศักดิ์สิทธิ์(ด้ายมงคลสายสิญจน์) ที่เรียกว่า สายธุรำตามพิธีพราหมณ์ เป็นการให้คำปฏิญาณว่าจะนับถือศาสนาพราหมณ์แล้วก็ถูกส่งไปศึกษาศาสนาพราหมณ์อยู่หลายปีปรากฏว่าเจ้าชายทรงสนพระทัยต่อการศึกษาเล่าเรียน มีผลการเรียนดีมากแต่ทรงเกลียดชังทิฐิของพราหมณ์ผู้เป็นครูเพราะครูพราหมณ์มักทะนงตัวเองว่าเป็นบุคคลในวรรณะสูงสุด สูงกว่ากษัตริย์มองเห็นตนเองว่าเป็นผู้วิเศษกว่ากษัตริย์ และครูบางคนก็ไว้ตัวเกินควรจึงทำให้เจ้าชายไม่ทรงโปรด
ทรงอภิเษกสมรส
เมื่อจบการศึกษาแล้วพระชนมายุได้ 19 พรรษา ความรู้สึกเกลียดพวกพราหมณ์ก็ค่อยๆจางหายไปเมื่อได้ทรงพบรักกับเจ้าหญิงเลอโฉมพระองค์หนึ่ง พระนามว่า ยโสธราในที่สุดก็ทรงเข้าพิธีอภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงในปีนั้นและทรงเสวยสุขในชีวิตสมรสกับเจ้าหญิงในพระราชวังของพระองค์เป็นเวลา 10 ปี กล่าวคือจนถึงอายุ 28 พรรษา และในภายหลังจากที่ทรงอภิเษกสมรสต่อมาไม่นานก็ทรงมีพระธิดา 1 องค์ ชื่อว่า อโนชา (หรือปริยทรรศนา)ทรงดำริที่จะออกผนวช
เมื่อมหาวีระมีพระชนมายุได้ 28 พรรษานั้น ก็มีเหตุการณ์น่าเศร้าสลดเกิดขึ้น กล่าวคือพระราชบิดาและพระราชมารดาสิ้นพระชนม์ในระยะติดๆกันไม่ใช่เพราะประสบอุบัติเหตุหรือถูกลอบปลงพระชนม์แต่เพราะทรงบำเพ็ญทุกรกิริยา(ทรมานตน)ด้วยการอดอาหารเพิ่มขึ้นทีละน้อยๆจนสิ้นพระชนม์ไม่ใช่เพราะทรงขัดสนอาหารหรือไม่มีอาหารเสวยเพียงพอแต่ทรงตั้งพระทัยเด็ดเดี่ยวในการบำเพ็ญทุกรกิริยาด้วยิธีอด
อาหารซึ่งคนอินเดียในสมัยนั้นเชื่อว่าการตายด้วยวิธีการที่เคร่งครัดเช่นนี้เป็นการตายที่ศักดิ์สิทธิ์และเป็นบุญลาภอันประเสริฐอย่างหนึ่งเชษฐภาดาของมหาวีระได้ขึ้นเสวยราชย์สืบต่อและทรงพระนามว่า พระเจ้าโมคทะจากเหตุการณ์ที่ต้องสูญเสียพระราชบิดาและพระราชมารดานี้ทำให้เจ้าชายมหาวีระเศร้าโศกมากจึงดำริที่จะออกผนวชเป็นการไว้อาลัยแด่พระราชบิดาและพระราชมารดา และจะขอปฏิญาณ 12 ปี ทีจะบำเพ็ญพรต งดพูดจา และไม่นำพาเกี่ยวกับการแต่งกายแล้วได้เข้าไปขออนุญาตพร้อมทั้งชี้แจงเหตุผลกับพระเชษฐภาดาแต่ถูกพระเชษฐภาดาห้ามไว้โดยให้เหตุผลว่าการที่พระราชบิดาและพระราชมารดาจากไปก็ทุกข์เศร้าโศกมากพออยู่แล้วถ้าเจ้าชายจะไปอีกคนหนึ่งก็ยิ่งเพิ่มความโสมนัสมากยิ่งขึ้นมหาวีระจึงเชื่อฟัง
ทรงปฏิญาณความเป็นผู้นิ่ง 12 ปี
เมื่อพระชนมายุได้ 30 พรรษา หลังจากได้ขออนุญาตจากพระเชษฐภาดาได้ 2 ปีมหาวีระก็ได้ตัดสินพระทัยอย่างเด็ดเดี่ยวออกจากกรุงเวสาลีไปพอพ้นเขตนอกเมืองก็เปลี่ยนเครื่องแต่งทรงออกเป็นเครื่องนุ่งห่มของนักบวชผู้ขอทานพร้อมอธิษฐานจิตว่า ตั้งแต่วินาทีนี้เป็นต้นไปเป็นเวลา 12 ปีจะไม่ยอมพูดจาอะไรกับใครแม้แต่คำเดียว เป็นการถือปฏิญาณ 12 ปีหลังจากนั้นก็ได้ท่องเที่ยวไปเช่นเดียวกับนักบวชจำนวนพันๆคนที่มีอยู่ในอินเดียสมัยนั้นเมื่อผ่านหมู่บ้านชนบทและนครต่างๆก็จะยื่นภาชนะขอรับอาหารจากประชาชนผู้ใจบุญเมื่ออยู่ในป่าก็หาผลไม้รับประทานเท่าที่จะได้ส่วนมากจะใช้เวลาอยู่ตามเทือกผาป่าไม้โดยลำพังเพื่อตริตรองสอบสวนคำสอนของศาสนาพราหมณ์และค้นหาหลักคำสอนใหม่ของพระองค์ต่อไปตลอดเวลาที่ผ่านมามิได้เคยปริปากพูดแม้แต่คำเดียว แต่ใช้ความคิดตริตรองมากยิ่งคิดก็ยิ่งพิจารณามองเห็นคำสอนใหม่พร้อมทั้งเห็นข้อผิดพลาดของคำสอนในศาสนาพราหมณ์มากมายจึงคิดจะเปลี่ยนแปลงปฏิรูปให้ถูกต้องยิ่งขึ้น
ตลอดเวลา 12 ปีมหาวีระได้ทรงรักษาปฏิญาณได้อย่างเคร่งครัดแม้จะเผชิญกับความทุกข์ทรมานหรือปัญหาอุปสรรคเท่าใดก็ตามไม่เคยทิ้งปฏิญาณหรือเผลอตัวพูดเลย ดังจะเห็นได้จากเหตุการณ์ต่างๆในระหว่างนั้นเช่น
คราวหนึ่งระหว่างที่ท่องเที่ยวไปพระมหาวีระมาถึงทุ่งหญ้าใกล้หมู่บ้านแห่งหนึ่งมีคนเลี้ยงแกะกำลังเฝ้าฝูงแกะอยู่
คนเลี้ยงแกะกล่าวแก่พระมหาวีระว่า “ถ้าท่านเฝ้าฝูงแกะให้เราเราจะเข้าไปในหมู่บ้านเอาอาหารมาและจะแบ่งปันให้ท่านบ้าง”
พระมหาวีระน้อมศีรษะรับคำคนเลี้ยงแกะก็จากไป
มิช้ามินานสุนัขป่าตัวหนึ่งออกมาจากป่าและคว้าเอาแกะตัวหนึ่งแล้วหนีไป เมื่อคนเลี้ยงแกะกลับมาเห็นแกะหายไปตัวหนึ่งจึวสอบถามพระมหาวีระ แต่ท่านนิ่งเฉยตามปฏิญาณว่าจะไม่พูด
คนเลี้ยงแกะโกรธเพราะพระมหาวีระไม่กล่าวอธิบายว่าแกะหายไปไหน จึงนึกว่าท่านเป็นโจรจึงเอาไม้พลองตีศีรษะพระมหาวีระ
พระมหาวีระไม่ยอมพูดอธิบายเพราะถือปฏิญาณอยู่อนึ่งพระมหาวีระก็แข็งแรงกว่าคนเลี้ยงแกะ ถ้าใช้กำลังต่อสู้ก็ย่อมป้องกันตัวได้แต่พระมหาวีระได้ถือปฏิญาณอีกข้อหนึ่งว่าจะไม่ป้องกันตัวจากทุกข์ภัยประการใดๆ
คนเลี้ยงแกะระดมตีพระมหาวีระจนโลหิตไหลอาบตัวครั้นแล้วก็หยุดชะงักและจ้องมองดูพระมหาวีระด้วยความหวั่นเกรง
พระมหาวีระไม่ตอบแต่ลุกเดินหลีกไป คนเลี้ยงแกะวิ่งตามมาขออภัยโทษพระมหาวีระก้มศีรษะพยักให้แสดงว่ายกโทษให้แล้วเดินทางต่อไป
คนเลี้ยงแกะมองตามพระมหาวีระจนลับตารำพึงกับตนเองว่า
“นักบวชรูปนี้สอนบทเรียนแก่เราว่าความนิ่งมีอำนาจเหนือคำพูด”พระมหาวีระก็คิดว่า
“เรื่องนี้สอนเราว่าความอ่อนน้อมดีกว่าความทะนงตัวสันติมีอำนาจเหนือความโกรธ”

  ประกาศศาสนา
เมื่อเวลาถือปฏิญาณครบ 12 ปีพระมหาวีระก็ทรงคิดและมั่นพระทัยว่าพระองค์ทรงพบคำสอนต่อปัญหาชีวิตครบถ้วนแล้วจึงออกไปเพื่อเผยแผ่แน่วความคิดสอนใหม่ของพระองค์ซึ่งได้ตรึกตรองค้นพบได้ในระหว่างปฏิญาณแห่งความเป็นผู้นิ่งทุกแห่งแห่งที่เสด็จผ่านไปก็เทศนาสั่งสอน เสด็จไปสั่งสอนยังที่ต่างๆเรื่อยไปโยมิได้เสด็จกลับนครเวสาลีอีก คนทั้งหลายผู้มาฟังพระองค์ในกาลต่อมาพูดว่าพระองค์เป็นพูดที่ยิ่งใหญ่ พระองค์ทรงพูดความจริง” มาเป็นเวลานานจนกลายมาเป็นสาวกของพระองค์เป็นจำนวนมาก
พระมหาวีระทรงตั้งศาสนาใหม่เรียกว่าศาสนาเชน ศาสนาของผู้ชนะ อันเป็นประเภทแห่ง ผู้ชนะแบบใหม่เพราะพวกเชนดังที่สาวกของศาสนานี้เรียกกัน ไม่ต้องออกไปและชนะผู้อื่นเขาเพียงแต่ต้องการเอาชนะตนเอง ศาสดาสอนพวกเขาว่าความหลุดพ้นมีอยู่ภายในตัวของท่านเอง
เหมือนกับพระพุทธเจ้ามหาวีระเริ่มต้นด้วยการยอมรับกฎแห่งกรรมของศาสนาพราหมณ์หรือฮินดูความดีต้องมาจากกรรมดี และความชั่วต้องมาจากกรรมชั่วเช่นกับพระพุทธเจ้าพระมหาวีระทรงยอมรับความเชื่อในสังสารวัฏและความหลุดพ้นขั้นสูงสุดในนิรวาน หรือโมกษะ
แต่มาถึงตอนนี้ทั้งพระพุทธเจ้าและพระมหาวีระมีทัศนะขัดแย้งกับศาสนาพราหมณ์หรือฮินดู กล่าวคือทั้งสองพระองค์ทรงปฏิเสธความเชื่อในความศักดิ์สิทธิ์ของระบบวรรณธการหลุดพ้นด้วยการอ้อนวอน และความจริงสูงสุดของพระเวท
ตรงจุดนี้ผู้ปฏิรูปศาสนาสององค์ก็แตกต่างกัน พระพุทธเจ้าทรงปฏิเสธตนตามมัชฌิมาปฏิปทาพระมหาวีระกลับหันไปหาอัตตกิลมถานุโยค(การทรมานตน)อย่างจริงจัง
แม้การประกาศศาสนาของพระมหาวีระจะมีบางอย่างที่ไม่ใช่ของใหม่เพราะมีอยู่แล้วในศาสนาพราหมณ์ หรือมีผู้สอนมาก่อนหน้าพระมหาวีระก็ตามแต่ก็ยังมีหลายอย่างที่ใหม่และรัดกุมกว่าเดิมพร้อมทั้งความเป็นนักเทศน์นักปาฐกถาที่สามารถยิ่งทำให้ผู้ฟังทั้งหลายเห็นจริงและเกิดศรัทธาได้จึงมีคนเชื่อฟังยอมเป็นสาวกมากเพิ่มขึ้นเรื่อยๆจนในที่สุดท่านพระมหาวีระสามารถจัดระบบคณะภิกษุ คณะภิกษุณี ขึ้นเป็นศาสนาได้สาวกทั้งหลายมีศรัทธาเชื่อว่าพระมหาวีระเป็นพระชินะผู้ชนะและเป็นผู้บรรลุโมกษความหลุดพ้นจากพันธนาการต่างๆ มีกรรมและกิเลสเป็นต้นทั้งเป็นผู้เปี่ยมด้วยเมตตากรุณาละปาณาติบาตได้ในสรรพสัตว์ รุกชาติและติณชาติทั้งปวงยิ่งกว่านั้นสาวกทั้งหลายต่างก็ยอมรับว่าพระมหาวีระเป๋นศาสดาองค์สุดท้ายแล้เป็นศาสดาที่สำคัญที่สุดในศาสนาเชนเพราะตามความเชื่อถือของศาสนาเชนแล้วมีศาสดาก่อนพระมหาวีระ 23 องค์ คือ ฤษภา อชิตะสัมภวะ อภินันทะ สุมาตี ปัทมประภา สุภาสวา จันทรประภา บุษปทันตะ สีตลา เศรยานสะวสุปุชวะ วิมลา อนันตะ ธรรม สันติ คุนธุ จรา มัลตี มุนีสุวตะ มนิ เนมิปารศวนาถ

  บั้นปลายชีวิต
พระมหาวีระผู้ชนะใช้เวลาในการสั่งสอนสาวกประกาศศาสนาเชนตามคามนิคม ชนบทน้อยใหญ่ เมืองต่างๆ และประสบผลสำเร็จตลอดมาเป็นเวลา 30 ปีเศษ เมื่อพระชนมายุได้ 72 ปีก็ได้เสด็จมายังเมืองปาวาหรือปาวาบุรี(ปัจจุบันเป็นเมืองเล็กๆในเขตปัตนะ)ทรงประชวรไม่สามารถเสด็จต่อไปได้อีก ทรงทราบว่าวาระสุดท้ายแห่งชีวิตมาถึงจึงเรียกประชุมบรรดาสาวกทั้งหลายและสั่งสอนเป็นโอกาสสุดท้าย
สาวกคนหนึ่งถามว่าในบรรดาคำสอนทั้งหมดของอาจารย์ ข้อไหนสำคัญที่สุด”พระมหาวีระตอบว่าในบรรดาคำสอนของเราทั้งหลาย ศีลห้า(ปฏิญาณ 5) ข้อต้นสำคัญที่สุด คือ


“ อย่าฆ่าสัตว์ อย่าทำอันตรายแก่สิ่งมีชีวิต จะเป็นด้วยวาจาก็ดี ความคิดก็ดีหรือด้วยการกระทำก็ดี”

“อย่าฆ่าสัตว์เป็นอาหาร อย่าทำการล่าสัตว์หรือจับปลาไม่ว่าในเวลาใด อย่าฆ่าสัตว์แม้ตัวเล็กที่สุด อย่าฆ่ายุงที่กัดเราหรือผึ้งซึ่งต่อยเรา อย่าไปทำสงคราม อย่าได้โต้ตอบผู้ทำร้ายอย่าเหยียบย่ำตัวหนอนริมทาง เพราะตัวหนอนก็มีวิญญาณ”
ศีลข้อแรกของมหาวีระนี้บรรดาสาวกรู้ว่าคือคำสอน อหิงสา ซึ่งหมายความหมายว่าความไม่ทำร้ายต่อสิ่งซึ่งมีวิญญาณ
พระมหาวีระขับขันธ์ในวันต่อมา
สรีระของพระมหาวีระได้กระทำการฌาปนกิจที่เมืองปาวาและจนกระทั่งถึงทุกวันนี้ เมืองปาวาในเขตปัตนะ รัฐพิหาร จึงเป็นสังเวชนียสถานเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์สำหรับศาสนิกชนเชนที่ควรไปดูไปทำสักการะ

  คัมภีร์ศาสนาเชน
คัมภีร์ศาสนาเชนชื่ออาคมะ หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า สิทธานตะ มีการรวบรวมขึ้นมาจากการท่องจำกันมาได้แล้วจารึกในภายหลัง ตามหลักฐานปรากฏว่าได้จารึกเป็นอักษรปรากฤตประมาณ 200 ปีหลังสมัยพระมหาวีระผู้เป็นศาสดา ส่วนคำอธิบาย(ที่เรียกว่าอรรถกถา)และวรรณคดีของเชนในสมัยต่อมา ล้วนเป็นภาษาสันสกฤต แต่ปัจจุบันนี้คัมภีร์ อาคมะได้มีการถ่ายทอดสู่ภาษาพื้นเมืองและภาษาอื่นๆมากพอสมควร
คัมภีร์อาคมะได้จัดพิมพ์เป็นหนังสือ 45 เล่ม โดยแบ่งออกเป็นอังคะ 11 เล่ม เป็นฤทธิวาท 1 เล่มเป็นอุปางคะ 11 เล่ม เป็นมูลสูตร 4 เล่ม เป็นเจตสูตร 6 เล่ม เป็นคูลิกะสูตร 2 เล่มเป็นปกัณกะ 10 เล่ม
ในคัมภีร์อังคะส่วนใหญ่เป็นบทสนทนาระหว่างพระมหาวีระกับโคตรมะสาวกของพระองค์และเชื่อว่าอารยะสุธรรมเป็นผู้บันทึกไว้ แล้วส่งคำสอนให้สาวกทั้งหลายอาคมะกลายเป็นคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ของศาสนาเชน นอกเหนือจากคัมภีร์ศาสนาแล้วศาสนิกชนได้เขียนงานด้านปรัชญาเกี่ยวกับศาสนาของตนไว้มากมายทั้งในนิกายเศวตัมพรและทิคัมพร ซึ่งรวมทั้งบทละครกวีนอกจากนั้นยังมีงานเขียนเกี่ยวกับปฏิบัติโยคะ พจนานุกรม ดนตรี ตำราแพทย์ ไวยากรณ์คณิตศาสตร์ โหราศาสตร์ นิทาน บทสวด ฯลฯ อีกมากมายจากผลงานของปรัชญาเมธีของศาสนิกชนเชน
  หลักคำสอนสำคัญบางประการของศาสนาเชน

1.อนุพรต

อนุพรตคือข้อปฏิบัติพื้นฐานหรือบางทีเรียกว่า ปฏิญญา มี 5 ประการ ที่สอนให้งดเว้นสิ่งที่ไม่ดีไม่งามคือ


1) อหิงสา การไม่เบียดเบียนให้คนอื่น สัตว์อื่น สิ่งอื่นได้รับความลำบากหรือการทรมานต่างๆ ตลอดจนไม่ทำลายชีวิต จะทำองก็ดีหรือใช้ให้ผู้อื่นทำก็ดี ไม่ว่าจะเป็นทางกาย วาจา หรือใจข้อนี้นับว่าเป็นยอดของศีลธรรมในศาสนานี้ ดังที่ว่า “อหิงสา ปรโม ธรมะ” (ธรรมะใดยิ่งไปกว่าการไม่เบียดเบียนไม่มี)ข้อปฏิบัติข้อนี้สำหรับนักบวชแล้วถือเคร่งครัดมากต้องระมัดระวังทุกอิริยาบถทุกย่างก้าวในการกิน ดื่ม พูด ยืน เดิน นั่ง นอนมีการปิดปากป้องกันแมลงจะพลัดเข้าไป มีไม้กวาด แผ่นผ้า ผ้าเช็ดหน้า และผ้ากรองน้ำติดตัวไปด้วย สำหรับกวาดทางตลอดระยะทางที่จะเดินไป ดื่มน้ำที่กรองแล้วหรือนั่งอยู่จะหาว จะไอ จะจามก็ต้องใช้ผ้าปิดป้องปากหรือไล่แมลงต่างๆไปเสีย


2) สัตยะ การไม่กล่าวเท็จไม่คิดให้ผิดเพี้ยนไปจากความจริง จะต้องซื่อสัตว์ทั้งกาย วาจา และใจมีความเที่ยงตรง ไม่พูดโดยไม่คิดก่อน มีความจริงใจต่อทุกๆคน


3) อัสตียะการไม่ถือเอาสิ่งของใดๆที่ตนไม่ได้เป็นเจ้าของด้วยอาการลักขโมย ไม่หลบของหนีภาษีไม่ใช้เงินหรือทำเงินปลอม และไม่ชั่งตวงวัดโกง


4) พรหมจริยะการประพฤติสิ่งที่ดีงาม โดยการเว้นจากการประพฤติชั่วทางกาย เช่นการประพฤติผิดทางกาม และการอยู่ร่วมกับโสเภณี หรือการดื่มน้ำเมา เสพยาเสพติดต่างๆสำหรับนักบวชก็ถือเคร่งครัดยิ่งขึ้น คือ จะต้องงดเว้นจากการเสพกามและสละตัณหาในเรื่องกามทุกชนิดทุกระดับโดยเด็ดขาด


5) อปริคคหะความไม่ละโมบโลภมาก ไม่โลภไม่อยากได้ของคนอื่นๆ เป็นผู้รู้จักประมาณพอใจในสิ่งของของตน หรับนักบวชก็ถือเคร่งครัดมากยิ่งขึ้น คือจะต้องเป็นคนมักน้อยสันโดษ ไม่สะสมข้าวของใดๆ เที่ยวไปผู้เดียวอาหารอะไรก็รับประทานได้ไม่เลือกอาหารผสมกันหลายชนิดที่ไม่มีรสชาติอะไรก็รับประทานได้แม้แต่น้ำล้างจานหรือเศษอาหารที่ไหลมาตามท่อน้ำเสียก็รับประทานได้ไม่ต้องเป็นห่วงหรือกังวลใจเรื่องเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มหรือสมบัติติดตัวใดๆข้อให้ได้ปฏิบัติธรรมด้วยร่างกายันเปลือยเปล่าก็ยอมและเปลือยกายได้ไม่มีความละอาบใดๆ


2.หลักเมตตา
หลักธรรมที่แสดงถึงความเห็นใจผู้อื่น มี 4 ประการคือ


1.มีความกรุณาโดยไม่หวังผลตอบแทน


2.ยินดีในความได้ดีของผู้อื่น


3.มีความเห็นใจในความทุกข์ยากของคนอื่นรวมทั้งช่วยเหลือให้เขาพ้นทุกข์


4.มีความกรุณาต่อผู้ทำผิด



3.หลักฆราวสธรรม
ธรรมะของฆราวาส 12 ประการ


1-5 ปฏิบัติตามอนุพรต หรือปฏิญาณ 5 ดังกล่าวแล้ว


6.ไม่เบียดเบียนสิ่งที่มีวิญญาณทั้งหลาย


7.ไม่ออกพ้นเขตของตนในทิศหนึ่งทิศใด


8.มีความพอดีในการกินการใช้


9.ประพฤติตนเสมอต้นเสมอปลาย


10.บำเพ็ญพรตทุกเทศกาล


11.จำอุโบสถและฟังธรรม


12.ต้อนรับเลี้ยงดูแขกผู้มาเยือน


  1. มหาพรต
    ข้อปฏิบัติอันสำคัญและยิ่งใหญ่อันเป็นทางนำไปสู่ความหลุดพ้นซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุดของศาสนานี้ เรียกว่า โมกษะหรือ นิวาณะ 3 ประการ บ้างเรียกว่า ไตรรัตน์(แก้ว 3 ประการ)ของศาสนาเชนคือ

1.สัมยัคทรรศนะ ความเห็นชอบหรือความเชื่อที่ถูกต้อง กล่าวคือมีความเชื่ออย่างจริงใจที่สุดในศาสดา 24 ของศาสนาเชนว่าท่านศาสดาเหล่านั้นเป็นบรรพบุรุษของเรา ทุกท่านแต่ก่อนก็เป็นปุถุชนอย่างเราแต่อาศัยที่ทุกท่านเหล่านั้นมีความวิริยะอุตสาหะขันติแรงกล้ากว่าสามัญชนจึงบรรลุถึงความหลุดพ้น(โมกษะ) หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง มนุษย์ทุกคนสามารถเป็นชินะได้นอกนั้นมีความเชื่อในคัมภีร์หรือคำสั่งสอนของศาสนาและเชื่อในนักบวชผู้สำเร็จผลหรืออริยธรรมในศาสนาเชน


  1. สัมยัคญาณะความรู้ที่ถูกต้อง ได้แก่ รู้ชอบถูกต้องในหลักการที่ศาสดาสั่งสอน รู้โลก รู้ชีวิตและสิ่งทั้งหลายทั้งปวงตามความเป็นจริงและด้วยความมั่นใจ

3.สัมยัคจาริตะความประพฤติที่ถูกต้อง คือ ความประพฤติชอบตามธรรมวินัยหรือข้อปฏิบัติของนักบวชและของคฤหัสถ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ อหิงสาการไม่เบียดเบียน
มหาพรตหรือหลักการปฏิบัติสำคัญทั้ง 3 นี้แหละจะเป็นวิธีการที่สามารถทำลายกรรม คือ การกระทำทำให้เกิดพันธนาการผูกมัดสัตว์ให้เวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏ เมื่อมีหลักการทั้ง 3 โยเคร่งครัดแล้ว จะทำลายกรรมได้และบรรลุในโมกษะหลุดพ้นจากพันธนาการดังกล่าวได้


คำสำคัญ (Tags): #ปรัชญาศาสนาเชน
หมายเลขบันทึก: 512794เขียนเมื่อ 20 ธันวาคม 2012 13:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 ธันวาคม 2012 13:00 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

 

พิธีกรรมของศาสนาเชน
1.การบวชเป็นบรรพชิต
เป็นการเปลี่ยนแปลงภาวะของคนธรรมดาสู่ความเป็นนักพรตหรือบรรพชิตเดิมทีบรรพชิตเชน ครองผ้า 3 ผืน(ไตรจีวร) เช่นเดียวกับพระภิกษุในทางพุทธศาสนาต้องโกนผมด้วยวิธีถอนผมเอง ฉันอาหารเท่าที่แสวงหามาได้ประพฤติทรมานตนเองไม่อยู่ในหมู่บ้านแห่งเดียวมากกว่าหนึ่งคืนเว้นแต่ฤดูฝนต้องถือศีลอดธรรมดา ถ้าถึงขั้นอุกฤษฏ์ต้องถือศีลอดอาหารจนตาย กาลต่อมาล่วงมาประมาณพุทธศักราช 500 ปี นักบวชเชนได้แตกแยกกันในทางปฏิบัติออกเป็น 22 กลุ่มกลุ่มที่ 1 คือ พวกนุ่งขาวห่มขาว เรียกว่า เศวตัมพร และอีกกลุ่มคือพวกนุ่งลมห่มฟ้า(ชีเปลือย) เรียกว่า ทิคัมพร ผู้หญิงที่เป็นบรรพชิตได้มีแต่เฉพาะกลุ่มเศวตัมพร เท่านั้น ส่วนกลุ่มทิคัมพรเห็นว่าปล่อยผู้หญิงมาบวชเป็นบรรพชิตนุ่งลมห่มฟ้าด้วย จะยุ่งกันไปใหญ่ จึงเห็นว่าผู้หญิงเป็นอันตรายแก่พรหมจรรย์ ต่อมา 2 กลุ่มนี้จึงกลายเป็นนิกายในศาสนาเชน

2.การถืออัตตกิลมถานุโยค
ศาสนาเชนถือว่าการทรมานตนให้ได้รับความลำบากต่างๆ เช่น การอดอาหารการไม่พูดจากับใครๆ การอยู่ในอิริยาบถเดียวตลอดเป็นเวลานานการกินเศษอาหารที่ไหลมาตามท่อ หรือแม้แต่น้ำล้างจานการปลงผมโดยการถอนเส้นผมทีละเส้น เป็นต้น นั้นจะทำให้นักพรตที่บริสุทธิ์สามารถบรรลุโมกษะอันเป็นจุดหมายปลายทางสูงสุดของศาสนาเชนได้


3.นอกจากนี้ศาสนาเชนยังมีพิธีกรรมอื่นๆที่ชาวเชนปฏิบัติกัน เช่น พิธีรักษาอุโบสถสิกขาการลำเพ็ญพรตประพฤติวัตรในเทศกาลการเข้าไปในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนาเชนที่เรียกว่าวัดเชน หรือวิหารเชนหรือการปฏิบัติเมื่ออยู่ต่อหน้าปฏิมากรศาสดามหาวีระ จะเป็นปูนปั้นหรือรูปสลักก็ตาม
จุดหมายปลายทางสูงสุดของศาสนาเชน
ศาสนาเชนมีจุดมุ่งหมายสูงสุดของชีวิตอันเป็นความสงบสุขอันแท้จริง คือ นิรวาณะ หรือ โมกษะ(ความหลุดพ้น)ผู้หลุดพ้นจากเครื่องผูก คือ กรรม ได้ชื่อว่า สิทธะ คือ ผู้สำเร็จเป็นผู้ไม่มีชั้นวรรณะ ไม่รู้สึกกระทบกระเทือนต่อกลิ่น ปราศจากความรู้สึกเรื่องรสไม่มีความรู้สึกที่เรียกว่าเวทนา ไม่มีความหิว ความเจ็บปวด ความเสียใจ ความดีใจไม่เกิด แก่ เจ็บ ตาย ไม่มีรูป ไม่มีร่างกาย ไม่มีกรรรมเสวยความสงบอันหาที่สุดมิได้ วิธีที่จะบรรลุจุดหมายปลายทางนั้นจะต้องปฏิบัติโดยเคร่งครัดตามข้อปฏิบัติพื้นฐาน เรียกว่า อนุพรต 5 จนถึงอย่างสูงที่เป็นข้อปฏิบัติอันยิ่งใหญ่และสำคัญคือ มหาพรต 3
นิกายสำคัญของศาสนาเชน
ศาสนาเชนมีนิกายที่สำคัญ 2 นิกาย ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 500 เศษโยศาสนิกชนเชนไม่อาจลงรอยกันอยู่ในแบบเดิมได้ คือ

1.นิกายเศวตัมพรนิกายนุ่งผ้าขาว นิกายนี้ถือว่าสีขาวบริสุทธิ์จึงใช้เครื่องแต่งกายเพื่อแสดงให้เห็นว่าจิตใจของผู้แต่งมีความบริสุทธิ์และผู้เข้ามาบวชเห็นว่าตนยังมีความละอายใจที่จะเที่ยวไปโยไม่มีชิ้นผ้าปกปิดกายนิกายนี้ส่วนมากจะอาศัยอยู่ทางภาคเหนือของประเทศอินเดียอันเป็นแถบที่มีอากาศหนาวมากกว่าทางตอนใต้ของประเทศซึ่งพวกนิกายทิคัมพรอยู่อาศัย


2.นิกายทิคัมพรนิกายนุ่งลมห่มฟ้า(เปลือยกาย) นิกายนี้เข้ามาบวชต้องเป็นนักบวชแบบชีเปลือยถือปฏิบัติธรรมเคร่งครัดเป็นอัตตกิลมถานุโยค ทรมานตนให้ลำบากด้วยประการต่างๆถือหลักอปริคคหะ มักน้อยสันโดษมากจนไม่ยอมมีเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มปกปิดร่างกายเพราะพวกเขาถือว่าการมีเครื่องแต่งกายปกปิดนั้นทำให้เป็นคนมักมากและมีความกังวลใจเกี่ยวกับบริขารของตนหรืออาจจะเป็นเครื่องกังวลใจทีจะต้องรักษาและแสวงหาแต่เมื่อตนถือเพศเป็นนักพรตเปลือยแล้ว ความกังวลใจในเรื่องนี้ก็เป็นอันหมดไปนอกจากไม่มีบริขารแล้ว พวกเขาก็มีเพียงไม้และผ้ากรองน้ำเพื่อมิให้สิ่งมีชีวิตเบียดเบียนหรือต้องตายเพราะตนและยังถือว่าผู้ที่มีกิเลสเท่านั้นที่ต้องละอายกล่าวโดยสรุปมีหลักปฏิบัติอันเคร่งครัดอีก 3 ข้อ คือ
1)ไม่กินอาหารใดๆแม้น้ำก็ไม่ยอมให้ล่วงลำคอในคราวปฏิบัติ
2)ไม่มีสมบัติใดๆติดตัวแม้แต่ผ้านุ่งสัญจรไปด้วยตัวเปล่าเปลือย
3)ไม่ยอมให้ผู้หญิงปฏิบัติตามและบรรลุธรรม

สัญลักษณ์ของศาสนาเชน


1.บางพวกบอกว่าสัญลักษณ์ของศาสนาเชน คือ รูปปฏิมาของศาสดามหาวีระ ซึ่งในโบสถ์หรือวัดเชนทั่วๆไปจะมีรูปปฏิมาของศาสดาประดิษฐานอยู่หรือภายในบ้านของศาสนิกชนก็มีรูปปฏิมาโลหะไว้บูชาเช่นเดียวกับที่ชาวพุทธมีพระพุทธรูปไว้บูชาในบ้าน ในวัด โรงเรียน และในโบสถ์รูปปฏิมาศาสดามหาวีระเป็นรูปอิริยาบถยืนบ้าง นั่งบ้าง ที่เก่าแก่ที่สุด ได้แก่ที่ประดิษฐานที่เมืองโลหะนิปุระ ใกล้กับเมืองพิหาร หล่อขึ้นในสมัยราชวงศ์เมารยะ


2.บางพวกก็ว่าสัญลักษณ์ของศาสนาเชนเป็นรูปของจักรวาลซึ่งรวมเอาสัญลักษณ์ต่างๆหลายอย่างมาอยู่ในที่เดียวกันดังนี้


1).โดยรวมสัญลักษณ์เป็นรูปของจักรวาลโดยส่วนที่อยู่ล่างสุดคือนรก ส่วนที่อยู่ตรงกลาง คือ มนุษยโลก และส่วนที่อยู่บนสุดคือเทวโลก

2.)มือที่ยกขึ้น หมายถึงให้”หยุด” คำที่อยู่ตรงกลางกงจักร คือคำว่าอหิงสา

3.)เหนือมือขึ้นไป คือเครื่องหมายสวัสดิกะ หมายถึง สังสารวัฏคือการเวียนว่ายตายเกิดซึ่งทุกคนจะต้องหลุดพ้นไปให้ได้

4.)จุดสามจุดที่อยู่เหนือเครื่องหมายสวัสดิกะคือ ไตรรัตน์ ได้แก่ สัมยัคทรรศนะ(ความเห็นชอบ) สัมยัคญาณะ (รู้ชอบ) และสัมยัคจาริตะ(ประพฤติชอบ)

5.)รูปเส้นโค้ง หมายถึงที่อยู่ของ สิทธะทั้งหลายที่มีชื่อเรียกว่า สิทธศีละอันเป็นที่พำนักสุดท้ายของวิญญาณที่หลุดพ้นแล้ว

6.)จุดเดียว ที่อยู่บนสุดหมายถึง สิทธะ ซึ่งจะบรรลุถึงจุดนี้ได้วิญญาณต้องทำลายกรรมที่เป็นเครื่องผูกมัดให้ได้ทั้งหมด ซึ่งสิ่งมีชีวิตทั้งหลายจะต้องพยายามบรรลุถึงความหลุดพ้นนี้ให้ได้
บทบาทของศาสนาเชนต่อสังคม

1.คำสอนที่สอนให้คนมีความปรารถนาน้อยแต่พอควรทำให้สังคมไม่เป็นสังคมฟุ้งเฟ้อ

2.คำสอนที่สอนให้คนไม่เบียดเบียนสัตว์และคนอื่นทำให้สังคมอยู่กันอย่างสงบ

3.คำสอนที่สอนคล้ายศีล 5 ของศาสนาพุทธทำให้คนแต่ละคนเป็นสมาชิกที่ดีของสังคม

4.คำสอนที่สอนให้คนเห็นชอบ รู้ชอบประพฤติชอบ ทำให้สังคมเป็นสังคมที่มีเหตุผลและเป็นสังคมที่เป็นระเบียบ

5.สอนให้คนมีเหตุผลและทำดีเพื่อไม่หวังสิ่งตอบแทนเป็นการทำให้คนในสังคมมีจิตใจสูง ทำให้เป็นสังคมที่พร้อมจะช่วยเหลือกันและเจริญก้าวหน้าขึ้นได้

  ประวัติผู้รวบรวมเรียบเรียงเขียน

ชื่อสกุล  นายธีรวัส บำเพ็ญบุญบารมี

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท