การพัฒนาชีวิตของ “เด็กบ้านนอก”


ตัวอย่างเล็กๆน้อยๆของการพัฒนาการของเด็กชนบทที่ผมได้ผ่านชีวิตมาจนเกือบจะลืมไปแล้ว ที่พยายามจะฟื้นฟูเพื่อเป็นบทเรียนของการพัฒนาชีวิตที่อยู่กับธรรมชาติ

ในหลายปีที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสทบทวน และนั่งดูการเปลี่ยนแปลงของสังคมที่ผ่านไปในปัจจุบัน เปรียบเทียบกับสถานการณ์ในอดีต ตั้งแต่สมัยผมเด็กๆ นั้น มีเงื่อนไขและรายละเอียดต่างกันมาก ที่มีการเปลี่ยนแปลงทั้งเชิงความจำเป็น และทรัพยากรที่เปลี่ยนแปลงไป

สังคมบ้านนอกสมัยโน้นมีเงื่อนไขที่สำคัญที่พ่อแม่ และญาติพี่น้องจะพยายามช่วยกันสอน และประคับประคองให้เด็กทำความรู้จัก คุ้นเคยกับญาติพี่น้อง ทั้งทางสายของพ่อ สายของแม่ สายปู่ สายย่า สายตา และสายยาย
ที่บางครั้งจะอยู่ในหมูบ้านเดียวกัน แต่บางทีก็ต่างหมู่บ้าน ต่างตำบล ที่มีระบบนิเวศของหมู่บ้าน
และการทำมาหากินที่ถือว่าต่างกันพอสมควร

ทำให้ผมได้เข้าใจถึงเงื่อนไข
ความจำเป็นในการพึ่งพาซึ่งกันและกัน ที่ถือเป็นการเชื่อมโยง และแลกเปลี่ยนทรัพยากร
เป็นฐานทรัพยากรสำรอง กรณีฉุกเฉิน หรือขาดแคลน ทั้งในกรณีฝนแล้ง และน้ำท่วม เป็นที่พักพิงในระหว่างการเดินทาง การเคลื่อนย้ายสถานที่เลี้ยงสัตว์ แหล่งแลกเปลี่ยนแรงงาน เพราะมักมีกิจกรรมการเกษตรและการประกอบอาชีพที่ไม่ตรงกัน ที่พบว่าคนบ้านนอกสมัยโน้นมักจะเตรียมเครื่องนอนไว้เผื่อญาติที่มาเยี่ยมเสมอๆ
บ้านเรือนก็มักเตรียมไว้ในระดับที่สามารถรับรองการเดินทางของญาติพี่น้องได้
มักจะไม่กั้นห้อง มีแต่กั้นฝากันฝน เพื่อความสะดวกของการใช้งาน

ลักษณะบ้านมักจะไม่ตีฝา
ไม่ตีพื้น แต่ใช้ไม้ปูเฉยๆ เพื่อความสะดวกในการก่อสร้างและการทำความสะอาด
โดยเฉพาะในสมัยโบราณจะมีแมลงดูดเลือดที่แอบอยู่ตามเสื่อ และไม้กระดานพื้น
ที่เรียกว่า “เรือด” คอยออกมาดูดเลือดตอนคนนอนหลับ ที่เรียกกันเล่นๆว่า “กองทัพบก”
ที่เทียบกับ ยุง เป็น “กองทัพอากาศ” และ ปลิง เป็น “กองทัพเรือ”
ที่คนสมัยนี้อาจจะลืมไปหมดแล้ว ว่าคนสมัยก่อนมีปัญหาอะไรบ้าง และยังมี “เหา” เป็น “พระเจ้าอยู่หัว”
ที่เป็นปัญหากับเด็กผู้หญิงไว้ผมยาวกันถ้วนทั่ว ที่เป็นปกติที่จะพบ “ไข่เหา”
ตามผมของเด็กๆ ที่ต้องใช้ หวีถี่ๆ ฟันแข็งๆ ที่เรียกว่า “เสนียด” คอยสางออก

เรือด และยุง ลดลงไปมากจนหมด
ตั้งแต่สมัย ดีดีที เข้ามาฉีดพ่นในหมู่บ้านทุกแห่ง ทั้งฝาบ้านและพื้นบ้านเพื่อป้องกันกำจัด
มาลาเรีย ที่บางคนใช้สระผมฆ่าเหาด้วย สารพิษตัวนี้
เพิ่งถูกระงับการใช้เมื่อไม่นานมานี้

การเดินทางไปเยี่ยมญาติในสมัยโน้น
ก็จะมีของฝากติดมือไปแลกเปลี่ยนกัน ส่วนใหญ่จะเป็นผลผลิตประจำหมู่บ้าน
หรือประจำท้องถิ่นที่อีกบ้านหนึ่งไม่มี แต่ บางทีก็เป็นของประเภท หรือ สิ่งเดียวกัน
เช่น เทศกาลทำขนมในท้องถิ่น ทุกบ้านจะทำขนมแบบเดียวกัน เช่น ขนมจีน ขนมเทียน
กระยาสารท ทุกหลังคาเรือนจะทำเหมือนกัน แต่ก็ถือใส่ตะกร้าไปให้กัน
เจ้าของบ้านก็จะเอาของตัวเองใส่ตะกร้าคืนมาให้

การเดินทางไปเยี่ยมญาติพี่น้อง
นอกจากจะทำให้เกิดความคุ้นเคยกันแล้ว ยังมีการผูกเกลอ ที่ อีสาน เรียกว่า “ผูกเสี่ยว”
ทำให้มีการคบเพื่อนต่างหมู่บ้าน ที่เป็นระบบการสร้างความสัมพันธ์ทางสังคมในอดีต

เมื่อมีเพื่อน
สิ่งที่ติดตามมาก็จะชวนกันไปเล่นในรูปแบบของตนเอง
ทำให้ได้มีการและเปลี่ยนความคิดและประเพรีของชุมชน มีการคิดทำของเล่นเองที่บางทีก็ต่างคนต่างคิด หรือคิดร่วมกัน
ที่นับว่าเป็นระบบการศึกษาตามอัธยาศัยก็ยังได้

ในชุมชนที่ผมเกิดนั้นจะเป็นพื้นที่น้ำท่วมถึงทุกปี
มากบ้างน้อยบ้าง บางปีก็ครั้งเดียว บางปีก็สองสามครั้ง
ทำให้เด็กทุกคนต้องหัดว่ายน้ำเผื่อไว้ก่อน การหัดว่ายน้ำส่วนใหญ่
จะไปหัดตามริมคลองตื้นๆ ใช้ลูกมะพร้าวที่ฉีกเปลือกผูกติดกันเป็นทุ่น ใส่หน้าอก
และลอดขึ้นมาทางรักแร้ บางทีอาจจะใช้เชือกผูกหน้าอกไว้ กันเด็กพลัดจมน้ำ
ผู้ใหญ่ที่หัดเด็กว่ายน้ำ อาจจะยืนบนสะพานก็ได้ โดยถือเชือกไว้

สำหรับตัวผมนั้น
พี่ชายหัดให้ตอนไปเลี้ยงวัว พอต้อนวัวลงกินน้ำตอนเย็น พี่ชายบอกให้ผมหัด “ชมุดน้ำ”
หรือ ดำน้ำ ให้เป็นก่อน ถ้ากลั้นหายใจไม่เป็นก็ใช้มือบีบจมูกเอาไว้
พอดำน้ำเป็นแล้ว ผมก็ไม่กลัวจมน้ำ และว่ายน้ำเป็นในเวลาต่อมา แต่ก็ว่ายแบบ “วิดวา”
ที่ทุกคนก็ว่ายกันแบบนั้น คือ ใช้เท้าถีบน้ำแบบว่ายกบ แต่แขนกวักน้ำแบบฟรีสไตล์
หัวไม่จมน้ำ พอว่ายเป็นก็หัดตีกรรเชียง ว่ายหงายท้อง ที่ประหยัดแรงในการว่ายมาก

การว่ายน้ำในสมัยก่อนในคลองจะน่ากลัวมาก
เพราะน้ำจะใส เห็นความลึก มองเห็นพื้นท้องน้ำ ที่มีทั้งเทา และตะไคร่เขียวๆ
ที่เป็นที่มาของ “วังน้ำเขียว” ถ้าลึกมากก็เรียกว่า “วังมืด” ไปเลย
เพราะจะดูเขียวๆ ดำๆ ที่มองแทบไม่เห็นท้องน้ำ ที่จะมองเป็นตัวปลาเกือบทั้งหมด สามารถดักจับปลา
ใช้ “แหลม” หรือฉมวกแทงปลาหรือใช้ “กล้อง”
หรือกระบอกไม้ไผ่ ที่มีลูกดอกอยู่ข้างใน ยิงปลาได้ง่ายมาก ถ้าน้ำไม่ลึกมาก
ก็สามารถใช้แห “ทอด” จับได้เช่นกัน

สมัยโน้นมีปลามาก
ขายไม่ได้ มีแต่จับมาบริโภคอย่างเดียว อย่างมากก็แจกญาติพี่น้อง
จึงมักจะเลือกจับเฉพาะขนาดที่ชอบ และทำกินได้พอดี

สำหรับเด็กๆนั้น
ผู้ใหญ่จะให้หัดจับปลาที่อยู่ในน้ำตื้น ที่เริ่มจากปลาขึ้นมาในนาตอนฝนแรก
ที่น้ำหลากนาหลังฝนตกใหม่ๆ น้ำตื้นเพียงไม่เกินคืบ จะมีปลาว่ายและโดดขึ้นมาในนา
ที่อาจใช้ยอคอยยก แหคอยทอด ตะแกรงคอยตัก หรือไม่ไล่ตีหรือดักตี
ที่จะถือเป็นกิจกรรมชุมชน ไปจับด้วยกัน แบ่งๆกันไปทำอาหาร เพราะไม่มีตู้เย็นเก็บ
เหลือก็อาจปลาแห้งหรือ ปลาร้า

การทำปลาร้านั้นนอกจากจะเป็นการถนอมอาหารแล้ว
ยังเป็นการทำ “น้ำปลาปากไห” ไว้ใช้ในการทำกับข้าวเอง ไม่ต้องซื้อน้ำปลาจากตลาด
แต่ก็เลิกหลังจากที่น้ำปลาจากตลาดมีขายมากและทั่วไป แต่อย่างไรก็ตามทุกบ้านจะมี “หม้อปลาร้า”
ไว้ทำน้ำปรุงรสสารพัดชนิด โดยการเติมน้ำต้มทุกวัน พอจะจืด ก็เติมปลาร้าลงไป หม้อเดียวใช้ได้ตลอดปี


การหัดจับปลาของเด็กๆนั้น
ผู้ใหญ่จะพาไปจับปลาในนา ช่วงที่ข้าวกำลังโต เพราะน้ำตื้นจับง่าย
บางทีก็ไปตกเบ็ดตามบริเวณใต้ต้นไม้ที่มีปลามาก หรือพาไปปักเบ็ด ตามริมคลองหรือในนา ที่อาจใช้ไส้เดือนเป็นเหยื่อ บางทีก็ใช่ลูกเขียด
ลูกปลา แมลงกระชอน ที่มักจะได้พวกปลาช่อน แต่มีอยู่ยุคหนึ่งนิยมใช้ “สบู่ลาย”
ที่ซื้อมาจากตลาดเป็นเหยื่อ ที่มักจะได้ปลาดุก ถ้าเป็นแห
หรือเครื่องมือขนาดใหญ่และอาศัยความชำนาญนั้น สำหรับเด็กโต และผู้ใหญ่เขาทำกัน
ที่แยกประเภทเครื่องมือเป็นเครื่องมือผู้หญิง และเครื่องมือผู้ชาย
ที่กำหนดโดยความละเอียดอ่อนของการทำงานและความหนักของเครื่องมือ เช่น
ตะแกรงตักปลาหลด เบ็ดตก มักจะเป็นงานผู้หญิง แต่ซ่อมแทงปลาไหล เบ็ดปัก เบ็ดราว เบ็ดหยกกบ
หรือเบ็ดจับกบ ฉมวกและแหจะเป็นงานของผู้ชาย ดังนั้นเด็กผู้ชายกับเด็กผู้หญิงก็จะได้รับการฝึกที่ต่างกัน
ตามสถานการณ์และเครื่องมือคนละแบบ

 

การฝึกจับปลาสำหรับเด็กๆสมัยก่อนก็ยังมีตอนหัดส่องปลาตอนกลางคืน
ช่วงน้ำท่วมบ้านใหม่ๆ ที่น้ำไม่ลึกมาก และการดักปลาโดยใช้ตุ้มดักปลา
ที่ไม่ต้องใช้ความสามารถมาก เครื่องมืออื่นๆที่ใช้ทักษะมากนั้น สำหรับผู้ใหญ่เขาใช้กัน
และสุดท้ายของฤดูจับปลาก็คือช่วงน้ำจะแห้งจากท้องนา ที่ยังจะมีปลาติดอยู่เรียกว่า “ปลาตกครัก”
คงว่าตามเสียงการดิ้นของปลาตอนน้ำแห้ง และการวิดปลาตามทางน้ำใกล้ๆนาที่ไม่ลึกนัก
แต่สำหรับในคลองที่มีน้ำมากตลอดปี จะรอจังหวะตอนน้ำขาดตอนเหลือเป็นวังปลา
ชาวบ้านจะดูวันที่แดดร้อนๆ นัดกันมากๆ ไป”ลงปลา” ช่วยกันกวนจนน้ำขุ่น ปลาลอยหัว
ที่ใช้ตะแกรงตัก หรือใช้แหทอดได้โดยง่าย ช่วงนั้นอาจจะมีคนที่เตรียมการล่วงหน้าไว้แล้วโดยนำกิ่งไม้ไปสุมกองให้ปลาหนีคนเข้ามาในกองไม้
เขาจะใช้เฝือกไม่ไผ่ล้อม และนำกิ่งไม้ออก นำสวิงเข้าไปจับ ที่เป็นกิจกรรมของผู้ชาย
เด็กและผู้หญิงจะช่วยกันกวนน้ำให้ขุ่น และจับปลาที่ลอยหัวเป็นส่วนใหญ่

นอกจากการจับปลาตลอดทั้งปีแล้ว
ในฤดูแล้งผู้ใหญ่จะสอนให้หากบ ขุดปุ และใช้เสียมดายหอยข้างคันนาในฤดูแล้ง
ที่มักเป็นกิจกรรมของผู้หญิง


สำหรับเด็กผู้ชายนั้น
ผู้ใหญ่จะสอนให้หัดล่าสัตว์จำพวกนก หนู งู ตะกวดที่มีอยู่ตามทุ่งนาในฤดูแล้ง
ไปพร้อมๆกับการหัดเลี้ยงสัตว์จำพวกควาย วัว แต่ในฤดูฝน
ใครที่มีวัวฝูงจะต้องนำไปเลี้ยงในป่าโคกที่สมัยก่อนยังไม่มีการจับจอง
เพราะใช้ทำอะไรไม่ได้ อย่างมากก็เป็นป่าหัวนาโคกที่มีไม่มากนัก
เพราะสภาพโคกที่เก็บน้ำได้น้อย นาทำได้น้อยและเสียหายได้ง่าย แถมมีสัตว์ป่ามารบกวน
จึงมักไม่ค่อยได้ผล ในการเลี้ยงสัตว์บนป่าโคก ที่ส่วนใหญ่จะเป็นงานของเด็กผู้ชาย
ก็จะมีการฝึกหัด หาผึ้ง ล่าสัตว์ ขุดแย้ เก็บฟืน เก็บเห็ด เก็บหน่อไม้ และจับอึ่ง
ที่เป็นกิจกรรมควบคู่ไปกับการเลี้ยงสัตว์

 

ในช่วงฤดูการทำนา
ทั้งเด็กผู้หญิงและผู้ชายจะมีโอกาสได้หัดทำนา โดยช่วยงานเล็กน้อยๆไปก่อน
ส่วนใหญ่จะเป็นการเล่นสนุกๆเสียมากกว่าการทำงานจริง ตั้งแต่ช่วยจูงควายไปไถนา ช่วยถอนกล้า
ช่วยดำ จนถึงช่วงเก็บเกี่ยวก็จะช่วยนาบข้าวให้ล้มไปทางเดียวกัน
ที่จะทำให้เกี่ยวง่าย ช่วยเกี่ยว ช่วยขนขี้ควายมาทาลาน ขนข้าวขึ้นลาน ช่วยนวดข้า
ตั้งแต่การตีข้าวไปจนถึงใช้ความเดินนวดข้าว ที่ถือว่าเป็นการหัดทำนา ของเด็กบ้านนอกจริงๆ


การทำงานและอยู่อาศัยในชนบทอย่างต่อเนื่องจะทำให้เด็กในชนบทเรียนรู้วิถีชีวิต
และเข้าใจฤดูกาลการทำงานร่วมกันแบบช่วยเหลือกัน แบ่งปันกัน
ทำให้เด็กเกิดมาได้เข้าใจสังคมจนกระทั่งรู้จักและเข้าใจทรัพยากรในท้องถิ่น
ที่เป็นระบบธรรมชาติที่บ่มเพาะความรู้ ทักษะและความพร้อมในการอยู่กับธรรมชาติ
อย่างเข้าใจธรรมชาติ และถ้าผู้ใหญ่ได้ช่วยชี้นำในทิศทางที่ถูกต้อง
ก็จะช่วยเด็กรักถิ่น เข้าใจท้องถิ่น และอยู่กับท้องถิ่นอย่างมีความภาคภูมิใจและความสุข

 

นี่คือตัวอย่างเล็กๆน้อยๆของการพัฒนาการของเด็กชนบทที่ผมได้ผ่านชีวิตมาจนเกือบจะลืมไปแล้ว
ที่พยายามจะฟื้นฟูเพื่อเป็นบทเรียนของการพัฒนาชีวิตที่อยู่กับธรรมชาติ
สำหรับรายละเอียดของแต่ละขั้นตอน
และกิจกรรมย่อยๆนั้นจะได้นำมาเล่าในโอกาสต่อไปครับ

หมายเลขบันทึก: 511378เขียนเมื่อ 8 ธันวาคม 2012 22:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 ธันวาคม 2012 12:52 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

อ่านแล้ว ยังจำอดีตได้ดี เคยเห็นและเคยผ่านชีวิตแบบนี้

สวัสดีครับอาจารย์แสวง สมัยนั้นเรามีทรัพย์สมบัติน้อยจนแทบจะนับว่าไม่มีถ้าเทียบกับที่เรามีตอนนี้ แต่เรามีญาติพี่น้องเยอะกว่ามากเลยนะครับ

เพียร

พูดถึงการเดินทางเมื่อประมาณ 40 ปีที่แล้วขึ้นไปมีรถยนต์ใช้น้อยมากในแถบทุ่งกุลาร้องไห้ ตอนผมเป็นเด็กชั้นประถมต้นเคยเดินเท้าไปกับแม่เพื่อไปเยี่ยมยายซึ่งอยู่ห่างออกไปราว 10 กม. บางครั้งก็เดินเป็นเพื่อนแม่ซึ่งไปเก็บใบหม่อนอัดใส่ตะกร้าแล้วหาบเอามาเลี้ยงไหมระยะทางไกลเป็น 10 กม. เหมือนกัน ผมเดินตามอย่างเดียวยังเหนื่อยเกือบตาย แต่แม่หาบของหนักด้วยจะขนาดไหน นอกจากนี้ กลิ่นท่อไอเสียรถยนต์ที่ใช้น้ำมันเบนซินหอมจนต้องวิ่งตามไปดม

ขอบคุณอาจารย์แสวงที่ช่วยรวบรวมภาพแห่งความทรงจำในใจให้กลับมาชัดเจนขึ้นอีกครั้งครับ

เพียร

ขอบคุณครับ ที่มาให้กำลังใจครับ จะลองเขียนเรื่อยๆ ทดสอบความจำเก่าๆครับ

สวัสดีค่ะ อาจารย์ - หนูอ่านแล้ว หนู ก็นึก ขำขำ ตัวเอง อยู่ไม่น้อย - บ้านของหนู เป็น เหมือนกับที่อาจารย์ เล่าเรื่องราวให้ฟัง เกือบทั้งหมด - หนู มีเหา เต็ม หัว สมัย เล็กๆ และ โดน แม่จับ "สางเหา - รีดไข่เหา" ด้วยหวี เสนียด เป็นประจำ --- ร้องไห้ เพราะเจ็บ บางที แม่ก็นำ น้ำมันกาส เหม็นๆ มาใส่ เพื่อ ฆ่า เหา.... สุดจะบรรยาย - บ้านหนู อยู่ริมคลอง คุณพ่อ จับโยนลงคลอง ดำพุด ดำว่าย สำลักน้ำ ไปหลาย ขนาด กว่าจะว่ายน้ำเป็น
ด้่วยฝีมือ คุณพ่อ...5555 - ปัจจุปัน ว่ายน้ำเก่ง ทุกท่า ค่ะ อาจารย์ โดยเฉพาะ "ท่าจิ้งจกตกน้ำ".... กระดึบ ๆ แบบที่อาจารย์ บรรยาย ได้อรรถรส.... - ท่าน้ำ หน้าบ้านหนู มี "ยอ" ด้วยนะคะ หนู มีหน้าที่ ทำปลา ตัวเล็ก ตัวน้อย ให้แม่ หมักทำปลาแดดเดียว อร่อยเหลือหลาย..... - อีกอย่างที่หนูจำได้ คือ การ "งมหอย" จาก ขี้เลน และ ช้อนกุ้ง ด้วยสวิงในคลอง....สนุกแบบสร้างสรรค์ เหลือหลาย......

ขอบพระคุณ สำหรับ "การแบ่งปันอดีตกาล" ที่ทำให้ ยิ้มได้ ทั้งวันค่ะ อาจารย์

ดีใจด้วยที่อ่านรู้เรื่อง ตอนทำหนังสือจริงจะแทรกภาพประกอบครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท