เมล็ดพันธุ์ความดี"ปลูกไม้"...ถวายพ่อหลวง


กล้าไม้ “ขี้เหล็ก”..หากเจริญต่อไป ดอกสีเหลืองซึ่งตรงกับสีวันพระราชสมภพของพระองค์ท่าน คงสว่างไสวในใจของปวงประชาและน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ..... ส่วนยอดและใบขี้เหล็กนั้นเล่า ก็เก็บกินเป็นอาหาร โดยชาวประชา เพื่อการดำรงชีพอย่างพอเพียง พอดี พอกิน.. ต้นกล้ารักษ์โลก...".เมล็ดพันธุ์ความดี ปลูกกล้าไม้"..ถวายแ่ด่พระองค์ท่าน

 เมล็ดพันธุ์ความดี.."ปลูกไม้"...ถวายพ่อหลวง

เช้าที่สดใสวันหนึ่ง...ในใจของทุกคนวันนี้... ร่วมทำความดี เฉกเช่นทุกวันเพียงแต่ครั้งนี้ขอน้อมถวายแด่พ่อหลวง เนื่องในวันพ่อแห่งชาติ ๒๕๕๕... พระองค์ท่านทรงงานหนักเพื่อ ..ความกินอยู่อย่างพอดี  พอเพียง ของปวงประชา.. ทรงสนพระราชหฤทัยไม่ว่าจะเป็นเรื่องน้ำ ดิน ฝน ป่า อากาศ ฯลฯ.. ทรัพยากรอันมีค่า...เราต่างทราบถึงความห่วงใยที่พระองค์ท่านทรงมีต่อพสกนิกร ชาวไทย.....ขอพระองค์ทรงพระเจริญ ยิ่งยืนนาน

วันนี้เราต่างพกพาพลังเต็มเปี่ยม ที่จะนำ "ต้นกล้าไม้" ไปปลูกในพื้นที่ ...  ต้นกล้า “ขี้เหล็ก” จำนวน ๑๐๐ ต้น ที่ผ่านการบ่มเพาะด้วยความรักจากเราเอง โดยเริ่มเพาะจาก “เมล็ด”  ทั้งหมดถูกนำมาเพาะพันธุ์ไว้ในถุง  วันเวลาล่วงไป ..ใบน้อยๆก็โผล่ออกมารับแสงตะวัน ลำต้นงอกมาให้เห็น กิ่งก้านเริ่มจะยืดยาวและเพิ่มจำนวน ความสูงก็นับวันจะมีมากขึ้น รอวันเติบใหญ่  กล้าพันธุ์ทั้งหมดเก็บและดูแลไว้ในเรือนเพาะชำ วันนี้ ถึงเวลาจะได้ออกไปผจญภัย ในโลกกว้างภายใต้สภาพธรรมชาติ  ต่อสู้เพื่อความอยู่รอด แข็งแกร่ง เติบโตเป็นไม้ใหญ่ต่อไป ..นั่นคือความตั้งใจของพวกเรา ชาวบูรงตานี...“ต้นกล้า รักษ์โลก”



กล้าไม้ “ขี้เหล็ก”..หากเติบโตออกดอกวันใด สีเหลืองซึ่งตรงกับสีวันพระราชสมภพของพระองค์ท่าน คงสว่างไสวในใจของปวงประชา และน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ  ส่วนยอดและใบนั้นเล่า ก็เก็บกินเป็นอาหาร โดยชาวประชา "นาค้อใต้และใกล้เคียง"  เพื่อการดำรงชีพอย่างพอเพียง พอดี  ตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระองค์ท่าน


หมู่บ้านนาค้อใต้  อ. โคกโพธิ์ จ. ปัตตานี เป็นพื้นที่ ที่เราเลือกปลูกต้นขี้เหล็ก  มีภูมินิเวศเป็นป่าเขา  มีน้ำตกทรายขาวที่หล่อเลี้ยงชีวี  ต้นกล้าที่นำไปปลูกวันนี้  แม้เพียงจำนวนไม่มาก แต่ก่อให้เกิดความผูกพันกันเป็นเครือข่าย  เห็นความสำคัญของปลูก พร้อมๆกับการดูแลรักษาต้นไม้  โดยเฉพาะในช่วงเริ่มต้น การเลือกจะปลูกพืชอะไร ในหมู่บ้านก็ชวนคิดไม่น้อย  และมาลงตัวที่ความคิดว่า ปลูกพืชที่ทุกคน นำไปใช้ประโยชน์ได้ โดยเฉพาะทำอาหารได้…(ยอดขี้เหล็ก.. ปูโจ๊ะฆีเล๊ะ หรือ ปูโจ๊ะยะฮา ภาษามลายูถิ่น-ปูีโจ๊ะหมายถึงยอด)..ยอดและใบนำไปทำแกงขี้เหล็ก..ใส่กระทิและปลาย่าง..รสชาติอร่อย..ไม่น้อยเลย หากใครชอบ :-))


ก่อนที่จะปลูก “ต้นขี้เหล็ก” ..เรา ๓๐ ชีวิต นั่งพูดคุยบริเวณด้านหน้ามัสยิดรับรู้ไปพร้อมๆกับอีกหลายๆชีวิตที่ไม่แสดงตนรวมถึงบรรพชนที่รับรู้ได้   รวมพลังกล่าวถึงความรู้สึก ความสำคัญของต้นไม้ กล้าไม้ การปลูกและการติดตามดูแล เพื่อสร้างแรงจูงใจในการปลูกวันนี้  พูดคุยถึงประโยชน์ของต้นไม้  โดยเฉพาะวันนี้เล่าเรื่อง การใช้ประโยชน์จากต้นขี้เหล็ก  แกนนำเยาวชนในหมู่บ้าน  แบดีน” หรือ..ดีน ที่ผู้ใหญ่เรียกขาน.. ได้เล่าถึงแรงบันดาลใจ . .ทำไมจึงคิดจะปลูกต้น.. ขี้เหล็ก.??.   ซึ่งเป็นที่แปลกใจ..ก่อนหน้านี้ ไม่มีต้นขี้เหล็กในหมู่บ้าน เมื่อจะทำแกงขี้เหล็กก็ต้องไปเก็บจากที่อื่น หากได้ร่วมกันปลูกไว้ในพื้นที่สาธารณะ ทุกคนเข้าใช้ประโยชน์ได้ ..คงดีไม่น้อย   

แต่..ใครจะทราบบ้างว่า เบื้องหลังของต้นขี้เหล็ก ที่สมาชิกในหมู่บ้านได้เก็บยอดไปทำอาหารในปัจจุบันนั้น  ตลอดระยะเวลา  ๗ ปี ได้ผ่านทักษะชีวิต ลองผิดลองถูก ที่ต้องเรียนรู้ ปรับเปลี่ยนทั้ง “คน และต้นไม้”  หากแต่เป็นเพราะคนได้พี่งพาต้นไม้ ไม่ว่าจะ กินได้  ให้ร่มเงา ให้ออกซิเจน ฯลฯ  ทำให้เห็นคุณค่า จึงได้ขยายเครือข่าย หลายคนให้ความร่วมมือมากขึ้นเมื่อมีการปลูกครั้งต่อๆมา  ..ปัจจุบันมีต้นขี้เหล็กเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ประมาณ ๑๓๐ ต้นเจริญอยู่ในบริเวณต่างๆของหมู่บ้านทั้งในสวนและพื้นที่ส่วนรวม... น่าภูิมิใจไม่น้อย



ดีน..แกนนำเยาวชนเล่าว่า ....ทุกครั้งที่กลับเข้าหมู่บ้านจะมีความสุข  เมื่อเห็นต้นกล้าขี้เหล็กที่ได้ผ่านชีวิต เติบโตมาและยังคงโตต่อไป  มีผู้คนเก็บยอดไปใช้  นั่นคือความรัก..ที่ได้มอบให้กับหมู่บ้าน ใช้ต้นไม้เป็นตัวผสานความรัก ความเข้าใจของผู้คน ด้วยการร่วมกันปลูกต้นขี้เหล็ก ซึ่งหากได้มองอย่างใคร่ครวญก็จะพบว่า เป็นกุศโลบายเบื้องต้นคือ "ใช้ต้นไม้ สร้างเครือข่าย และผูกเพื่อน"  บางครั้งการสร้างความเข้าใจในเบื้องต้นใช้เวลานาน หากแต่ต่อมาก็จะทำงานร่วมก้นบนฐานของความเห็นอกเห็นใจ เข้าใจก้นมากขึ้น..ความสุขของการให้โดยไม่เจาะจงแก่ผู้ใด..ให้กับแผ่นดิน บ้านเกิด ..ให้โลกของเรา



โต๊ะอิหม่าม..ผู้นำทางจิตวิญญาณของหมู่บ้าน ให้ความสำคัญและเห็นคุณค่า ในสิ่งที่เราทำ   โดยเริ่มปลูกต้นไม้ด้วยความคิด การสร้างความตระหนัก และการสร้างความร่วมมือกับสมาชิกในหมู่บ้านเป็นเบื้องต้น   ท่านกล่าวพูดคุยต้อนรับพวกเราอย่างเป็นกันเอง  ถ้อยคำที่เรียบง่าย แต่ชวนคิด โดยกล่าวว่า “จะปลูกต้น อะไรก็ได้  การที่ต้นไม้กว่าจะโตใหญ่ ให้ ดอก ผล กินได้ก็อีกนาน  แม้เพียงมี นก กา มาเกาะที่กิ่งก้าน ก็สุขใจแล้ว”   นั่นก็คือความดีที่เราได้ทำ และยังประโยชน์ให้กับชีวิตอื่นด้วยแล้ว...สัจธรรมที่ได้ซึมซับ...ขอสิ่งนี้ดำเนินสืบๆไป…ความดีนี้น้อมถวายแด่พ่อหลวง 


ภาพแห่งการให้ความร่วมมือ สมานสามัคคีของชุมชนกับเราที่เพิ่งเข้าไปในหมู่บ้านวันนี้   มีความประทับใจยิ่งนัก  การจัดเตรียมถางพื้นที่ไว้ให้ การจัดเตรียมอุปกรณ์  น้ำดื่มที่บริเวณมัสยิด น้องๆเยาวชน เด็กน้อยในหมู่บ้าน และผู้ที่สนใจ ที่ต่างก็มาร่วมกัน บ้างช่วยขุดหลุมด้วยชะแลง จอบ  บ้างปลูก  รดน้ำ ปักไม้ทำสัญญลักษณ์ไว้ไม่ให้ต้นกล้าถูกทำลายได้ง่าย ขณะปลูกมีรอยยิ้ม เสียงหัวเราะ หยอกล้อกัน  ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่น่าชื่นชม  อิ่มใจทั่วๆกัน เป็นความน่าประทับใจเก็บไว้ในความทรงจำของพี่นักศึกษาและทีมงานพิพิธภัณฑ์ ประวัติธรรมชาติและเครือข่ายเรียนรู้ท้องถิ่น คณะวทท. มอ.ปัตตานี ความดีที่เราร่วมกันทำ ..รวมผนึกเป็นพลังส่งไปยังพ่อหลวงของเรา  ถึงแม้จะอยู่ไกลพระเนตรพระกรรณ ..แต่เรานั้นรักพระองค์ท่านยิ่งนัก..แม้มิได้มีโอกาสเดินทางไปถวายพระพรก็ขอทำความดีถวายที่นี่...



หลังจากปลูกต้นไม้เสร็จ เราพักพูดคุย ทบทวนความรู้สึก ก่อนปลูกต้นกล้า ขณะที่ปลูก และเมื่อปลูกแล้วเสร็จ  อะไรคือความแตกต่างกัน  สิ่งที่ได้รับการสะท้อนแบ่งปันกัน ต้นกล้าแต่ละต้นได้มีที่อยู่ รากจะได้ส้มผัสดินยืนหยัดทำหน้าที่....หากเรารู้จักรากเหง้า ก็คงจะล้มยาก ...นี่เป็นสิ่งที่ฝากให้คิดสะท้อนถึงคนเรา..


ากนั้นเราต่างเดินลัดทุ่ง ไปตามคันนา เพื่อไปแวะพักทานขนมไทยๆ ที่ทีมงานได้ฝากเงินไว้ให้ช่วยจัดการ...ลอดช่องน้ำกระทิ หวานเย็นรออยู่ เป็นการจัดเตรียมโดยสมาชิกในหมู่บ้านช่วยเหลือกันคนละไม้ละมือ เตรียมแป้งตั้งแต่วันวาน ..ใบเตย กระทิ น้ำตาล จัดหามา ตามประเพณีไทย "ใครมาถึงเรือนชาน ต้องต้อนรับ" ซึ่งไม่ใช่บ้านใครที่ไหน  เราไปเยี่ยมบ้านพี่ดีน.. แกนนำเยาวชนที่มี พ่อ แม่ และย่า คอยเตรียมขนมและผลไม้ไว้ต้อนรับ ..สานสัมพันธ์ชุมชน



ขณะเดินผ่านแปลงนาข้าวซึ่งกำลังอยู่ในระยะต่างๆ   ที่ลดเลี้ยวไปในเส้นทาง สร้างความสดชื่นไม่น้อย ทั้งๆที่เป็นเวลาใกล้เที่ยงวัน   ข้าวที่กำลังแตกกอระบัดใบ ไหวลู่ล้อลม ต่างรอต้อนรับทักทายผ่านสายตา  บ้างก็เพิ่งจะปักดำที่ดูเหมือนว่าน้ำจะเริ่มแล้งในบางแปลง ความเขียวขจีจากท้องทุ่งเป็นฉากหลังของความสุขวันนี้  ขนมหวานจึงเป็นการเติมความหอมหวาน ความสุขสดชื่นในวันนี้ ความดีที่ได้มอบให้ไว้กับแผ่นดิน เนื่องในวันพ่อ  ที่บ้านนาค้อใต้ .. ..ต้นขี้เหล็ก จะได้เติบโตต่อไป..ความสุขใจของเครือข่าย “ต้นกล้า รักษ์โลก” 



ความสุขจากท้องทุ่ง ถิ่นใต้บ้านเราเป็นอย่างที่เห็น..เสียงเพลง “ปักษ์ใต้บ้านเรา” แว่วเข้ามา..." โอ่ โอ..ปักษ์ใต้บ้านเรา ๆ แม่น้ำภูเขาทะเลกว้างไกล จะไปไหน กลับใต้บ้านเราๆ     โอ่ต้นยางยังยืนคงทน  เหมือนดั่งคนปักษ์ใต้ไม่ท้อชีวา....."...ถึงแม้ว่าเวลานี้แผ่นดินจะร้อนระอุด้วยเรื่องอื่นๆ  แต่น้ำใจผู้คนยังคงมีให้สัมผัส   สายน้ำที่รินไหลผสมธารน้ำใจไหลเย็น อาจช่วยลดความร้อนแรงในมิติอื่นๆบ้างกระมัง     ความเป็นอยู่ที่นี่ยืนยันดั่งเพลงที่แว่วมา...จะได้ช่วยบรรเทาความห่วงใยของพระองค์ท่าน… ขอพระผู้ทรงเป็นมิ่งขวัญเหนือเกล้า ทรงพระเกษมสำราญ พระบารมีแผ่ไพศาล ตลอดไป    ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมขอเดชะ...  สมาชิก"ต้นกล้า รักษ์โลก" มอ. ปัตตานี

 อ่านเพิ่มเติมได้ที่ http://burongtani.oas.psu.ac.th/blog/1145


วรรณชไม การถนัด

หมายเลขบันทึก: 511135เขียนเมื่อ 6 ธันวาคม 2012 12:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 ธันวาคม 2012 06:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (25)

รอภาพเมล็ดพันธ์ความดี ที่ปลูกแล้วเจริญงอกงาม 

    คูรบาอาจารย์กล่่าวว่า เราเลือกเมล็ดพันธ์ที่ดีมาปลูก หน้าที่เราต่อไปคือรดน้ำ พรวนดิน บำรุงรักษา ส่วนผล ต้นเติบโตเป็นอย่างไร อย่าเพิ่งไปคาด วาด หวัง........ทำหน้าของเราตอนนี้ให้ดีก่อน

สวัสดีค่ะอาจารย์วิชญฯ .99

ขอบคุณอาจารย์ที่เข้ามาทักทาย เตือนสติ   ให้ข้อคิดไว้ค่ะ  เห็นด้วยกับครูอาจารย์ที่กล่าวไว้นะค่ะ  "ทำหน้าที่เราให้ดีที่สุด อย่าเพิ่งไป คาด วาด หวัง"... ขณะนี้บอกได้ว่า เมล็ดพันธุ์ดีนั้นได้ผ่านการหว่านแล้ว ต่อไปก็รดน้ำ พรวนดี จับเพลี้ยบ้าง ปล่อยให้เพลี้ยกินบ้าง  อุ๊บส์..ไ่ม่ใช่ค่ะ...  อาจารย์วิชญ์ฯค่ะ  คงอะไรๆอีกหลายอย่าง ที่จะเรียนรู้ในเส้นทางแห่งการเติบโต ทั้งกาย ใจและิจิตวิญญานค่ะ .. ซึ่งคงอาศัยการฝึกฝนต่อไปค่ะ :-))

สวัสดีค่ะพี่ใหญ่

ขอบพระคุณที่กรุณานำภาพ เหตุการณ์วันมหาปิติของผองพสกนิกรชาวไทยมาไว้ที่นี่   สำหรับเตือนตน  ให้ทำหน้าที่ต่อไป ทดแทนคุณแผ่นดินนี้ ด้วยจิตสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ล้นเกล้าของชาวไทยทุกคนค่ะ

สวัสดีค่ะน้องแอ๊ด

ที่เลือก ปลูกต้นขี้เหล็ก ก็เพราะหลายองค์ประกอบค่ะ  ส่วนหนึ่งนอกจากจะเป็นพืชที่กินได้แล้ว ยังได้รับคำบอกเล่าจากเยาวชนแกนนำในหมู่บ้านว่า ต้นกล้าขี้เหล็ก จะรอดพ้นจากการกินของแพะ  ซึ่งส่วนใหญ่ถูกเลี้ยงแบบปล่อย และนิสัยของแพะคือเจอต้นอะไรก็กิน  แต่ต้นขี้เหล็กคงขมหน่อย แพะก็เลยเลือกกินต้นอื่นก่อน  เริ่มปลูกต้นกล้าขี้เหล็กครั้งแรกในหมู่บ้านเมื่อปี 2547 กว่าจะได้เป็นต้นโต กินยอดได้  และตอนนั้นก็ไปขอต้้นกล้าจากนราธิวาสมาปลูก  ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ปลูกด้วยต้นกล้าจากฝีมือพวกเรากันเอง เมล็ดจากต้นพันธุ์ในมอ. หลายคนช่วยกันคนละไม้คนละมือ อีกหน่อยก็จะมีต้้นไม้มากขึ้น แถมกินได้ด้วยก็ยิ่งดีใหญ่ค่ะ น้องแอ๊ด ขอบคุณที่แวะมาทักทายเป็นกำลังใจให้เสมอ  และพี่ได้เข้าไปร่วมชื่นชมกิจกรรมของน้องในวันพ่อแล้วเช่นกันค่ะ :-))

 

"ตลอดระยะเวลา 7 ปี ได้ผ่านทักษะชีวิตที่ต้องเรียนรู้ ปรับเปลี่ยนทั้ง “คน และต้นไม้” หากแต่เป็นเพราะคนได้พี่งพาต้นไม้ ไม่ว่าจะ กินได้ ให้ร่มเงา ให้ออกซิเจน ฯลฯ ทำให้เห็นคุณค่า ..." ประทับใจ จริง ๆ ค่ะ

สวัสดีค่ะ พี่วรรณชไม

ชอบจังเลย "ขี้เหล็ก" สมัยเล็ก ๆ มีอยู่ในบริเวณ บ้าน คุณแม่ชอบนำใบเขียวๆ มาแกง ให้ทาน ( แม่ เล่าให้ฟังว่า เป็นต้นไม้ ที่มีคุณประโยชน์ มหาศาล เป็น ร่มเงา เป็นอาหาร กันมด แลง.....ฯ ล ฯ คุณแม่ ชอบบอกว่า "จะแกง ใบไม้ให้กิน" จำได้ว่า วิธีการทำแกงใบไม้ สลับสับซ้อนมาก แต่ เมื่อได้ทานแล้ว อร่อย จริงๆ ......

ปัจจุบันนี้ ไม่มีแล้ว " ด้วยอุทกภัย และ ระยะเวลา ที่ยาวนาน ต้นไม้ใหญ่ ๆที่บ้าน ร่อยหลอ ลงไปเรื่อย ๆ ๆ ......." แม่ชอบพูดเปรียบเปรย กับตนเอง.... ว่า ไม่นานก็ต้องจากไป เช่นกัน........

ขอบคุณ สิ่งดีงาม ที่นำมาเผื่อแผ่ ให้กัน นะคะ
ธรรม คุ้มครองทั้งคน และ ต้นไม้ นะคะ

สวัสดีค่ะน้องJoy,

ขอบคุณที่แวะมาทักทาย ให้กำลังใจบันทึก.. ปลูกต้นกล้าขี้เหล็ก ถวายพ่อค่ะ..

น้องจอยค่ะ ..ดีใจเช่นกันที่น้องบอกว่า คุณแม่ทำแกงขี้เหล็กให้ทาน และอร่อยด้วย  แสดงว่าน้องจอยก็ทานอะไรที่ออกจะขมๆได้ใช่ไหม๊ค่ะ?? แฮ่ๆ.."หวานเป็นลม ขมเป็นยา" ตามที่ได้ยินมา

ขี้เหล็ก เป็นพืชที่น่าสนใจค่ะน้องจอย   โตได้แม้ในสภาพดินที่ไม่ีค่อยดี ค่อยมีกำลังใจหน่อย เวลาไปชวนให้ปลูกต้นไม้ค่ะ เท่าที่เยาวชนแกนนำในหมู่บ้าน สังเกตและบอกเล่า ถึงแม้ว่าจะมีสารที่พืชสร้างขึ้นและให้ความขม  ก็ยังมีเพลี้ยมาทำลายยอดเช่นกันค่ะ

วันนั้นที่เราเข้าหมู่บ้านไปปลูกกล้าไม้  เราเอายอดต้นขี้เหล็กที่ปลูกไว้รุ่นก่อนมาดูและถามนักศึกษาว่า การเก็บยอดไปใช้แกงคือระยะไหน  เด็กๆแต่ละคนก็จะมีประสบการณ์ไ่ม่เหมือนกัน ส่วนใหญ่บอกไม่ได้ค่ะ  รู้เมื่ออยุ่ในแกงแล้วหละค่ะ  พี่ก็เลยใช้โอกาสนี้ให้เค้า เรียนรู้ สัมผัส จะได้มองเห็นคุณค่าของต้นขี้เหล็กมากขึ้น  ได้เห็นเป็นองค์รวม ตั้งแต่เริ่มเพาะเมล็ดพันธุ์  เริ่มงอกเป็นกล้าไม้  รดน้ำให้โตไว้ในเรือนเพาะชำ  และนำไปปลูกให้เป็นประโยชน์  พร้อมทั้งเห็นต้นจริงๆขนาดที่นำไปใช้ได้ด้วย

ถ้่าทำได้จะพยายามให้เด็กๆเค้าสัมผัสในมิติต่างๆ  คราวต่อไปไม่แน่อาจจะมา..ทำ/กินแกงขี้เหล็กจากต้นที่ได้ปลูกไว้ก่อนหน้านี้ คงสนุกนะค่ะน้องจอย  เสียดายน้องอยู่ไกลไป มิฉะนั้นจะชวนมาร่วมวงด้วยนะ่ค่ะ  จะได้ทำแกงขี้เหล็กเป็นด้วยไงค่ะ  ส่วนพี่นั้นทำได้ ทำเป็นค่ะ แต่ที่บ้านพี่ที่ชุมพร เค้าใช้ดอกนะค่ะ  ใบนั้นถ้าเอามาขายในตลาดก็จะไม่มีใครซื้อ  เช่นเดียวกับสะเดา ที่ทางใต้ตอนล่าง เค้าทานใบ  พี่เลยแซวว่า ถ้าเอามาขายในตลาดบ้านพี่เค้าไม่มีใครซื้อ เพราะเค้ากินดอกมากกว่ากินใบค่ะ  ..แต่ละที่จึงมีวิถีการใช้พืชผักไม่เหมือนกัน ทำให้สนุกที่เรียนรู้ความแตกต่างค่ะน้องจอย..  

ขอให้มีความสุขกับครอบครัว ในวันหยุดยาวๆๆที่จะถึงนี้นะค่ะ  ฝากความคิดถึงไปยังน้องกระต่ายตัวขาวหูยาว ..สามหก ..ด้วยค่ะ..ไม่รู้ว่าจะกินใบขี้เหล็กเป็นกันบ้างไหม๊นะค่ะ  :-))

  • ขออนุโมทนาบุญด้วยนะคะ ทุกคนทำดีด้วยจิตใจที่เป็นสุข ดูแล้วก็เป็นสุขตามไปด้วยคะ 
  • การปลูกต้นไม้ถวายพ่อหลวงให้ประโยชน์ทั้งด้านการพิทักษ์สิ่งแวดล้อม และการปลูกขี้เหล็กก็ให้ประโชน์ด้านอาหารการกิน อีกด้วย
  • ขี้เหล็กบ้าน ต้นไม้ประจำจังหวัดชัยภูมิ เป็นไม้ที่ให้คุณค่าทางโภชนาการมากมาย ที่ฟาร์มไอดินฯ เกิดเอง ไม่ต้องปลูกค่ะ เก็บไว้บางต้น บางต้นต้องตัดเพื่อปลูกพืชอื่นทดแทน ทั้งยอดและช่อดอก ยายไอดินเก็บไปฝากญาติในเมืองแกงบ่อยๆ ตอนนี้ที่บ้านเรือนขวัญในเมืองของยายไอดิน ก็มีเถายานางขึ้นพันตลอดแนวรั้วด้านทิศเหนือ ตอนที่ยังไม่เกษียณก็เก็บไปฝากอาจารย์ที่เขาทานน้ำยานางเพื่อสุขภาพ ตอนนี้พอมีเวลาเลยเก็บไปทำอาหาร แกงขี้เหล็ก แกงเห็ดที่ฟาร์มค่ะ

Large_veget 

สวัสดีค่ะยายไอดิน-ป้าวิ..ของน้อง

ขอบคุณค่ะ  ทั้งภาพสวยๆ และเรื่องราวน่าประทับใจจากฟาร์มไอดิน...สวรรค์ของนักนิยมธรรมชาติ นะค่ะนั่น  พืชผักครบครัน ต้องชมคนขยันทั้งพ่อใหญ่สอและป้าวิ นะค่ะที่สร้างผลงานไว้เป็นทั้งแหล่งเรียนรู้ และพื้นที่แห่งความสงบ สบายทั้งกายใจ..

สังเกตว่า ต้นขี้เหล็ก ขึ้นได้ง่ายจริงๆค่ะ  อย่างที่ป้าวิบอกว่าในฟาร์มต้องตัดทิ้งบ้าง  แต่ที่นี่ขี้เหล็กกว่าจะรอดเป็นต้นโตได้ ก็ต้องรอดผ่านปากแพะก่อน  (แฮ่ๆๆ...ไม่ใช่ปากเหยี่ยว ปากกา นะค่ะป้าวิ)  ทำให้หลายคนไม่คิดอยากจะปลูกอะไรๆ .. และยังไปขอเก็บจากพื้นที่อื่นก็ได้  แต่ในกรณีนี้เยาวชนแกนนำ คิดจะเอาการปลูกขี้เหล็กมาปลูก ในเบื้องต้นเป็นเชิงสัญญลักษณ์ ของการสร้างความร่วมมือ สร้างความเข้าใจ ความตระหนักเรื่องต้นไม้และสุขภาพในชุมชน  และสุดท้ายก็จะมีต้นไม้นี้ไว้ในหมู่บ้านด้วย  และก็พบว่าสิ่งที่คิด/ ฝันเป็นจริงค่ะ ..รุ่นที่เห็นในรูปเป็นรุ่นที่ สาม ที่เราเข้าไปร่วมปลูกมาตั้งแต่ปี 47 แต่ก็ไม่ได้ปลูกทุกปีนะค่ะ ป้าวิ

ความผูกพันที่เห็นก็คือ นักศึกษาที่เคยปลูกต้นขี้เหล็กไว้  ก็ยังจำได้ว่าต้นที่ปลูกอยู่ตรงไหน  ส่งข่าวมาถามเมื่อเรียนจบไปแล้ว ..เพราะรู้ว่าทีมงานเข้าไปยังหมู่บ้าน  ถามว่า ต้นโต หรือตายไป ..เค้ายังห่วงใยถามไถ่ค่ะป้าวิ..เราได้ยินก็พลอยชื่นใจไปด้วย..เล่าให้ป้าวิฟังเล็กๆน้อยๆ เบื้องหลัง ต้นกล้าความดีค่ะ :-))

สวัสดีค่ะพี่อาจารย์

เมื่อวานมาให้ดอกไม้ไว้ก่อน วันนี้ตามมาบอกว่าชอบไอเดียการเลือกต้นขี้เหล็กจริงๆ ค่ะ ได้ทั้งสัญลักษณ์และประโยชน์ใช้สอย

ชอบทานยอดขี้เหล็กจิ้มน้ำพริก ยำยอดขี้เหล็ก และแกงกะทิดอกขี้เหล็กมากค่ะ ที่บ้านก็ชอบกันแทบทุกคน เป็นเมนูอาหารตามสั่งทุกครั้งที่กลับบ้านค่ะ กลับไปจะไปหาต้นมาปลูกที่บ้านด้วยค่ะ ;)))

อนุโมทนากับกิจกรรมดีดีนี้ด้วยคนค่ะ

สวัสดีค่ะยามเที่ยงวันค่ะน้องปริม,

ทักทายกันหลังทานข้าวเสร็จ ค่ะน้องปริม ...ขอบคุณมากค่ะที่มาให้กำลังใจ.. ต้นกล้า ความดี และต้นขี้เหล็ก

อืมม์..น้องปริม ชอบหลายเมนู จากต้นขี้เหล็กเชียวนะค่ะ  พี่ก็จะเคยชินกับการทานแกงดอกขี้เหล็กน่ะค่ะ..ถ้าน้องปริมสนใจ คราวนี้กลับมาเยี่ยมบ้านก็ปลูก ไว้ที่ในแปลงที่ดิน ที่มีอยู่ได้เลยนะค่ะ  โตเร็วด้วย ต้นกล้าก็ดูแลไม่ยาก  พืชชนิดนี้ขึ้นได้ทั่วไทย  จากชื่อวิทยาศาสตร์  "Senna siameaยังมีคำว่า Siamea ค่ะน้องปริม  แสดงว่าตั้งชื่อเป็นเกียรติกับบ้านเมืองเรามาก ..Siam ..ในชื่อละตินของ ขี้เหล็กบ่งชี้ว่า พืชไทยๆ ดีนะค่ะ น้องปริม  พบได้ตั้งแต่เหนือ จรดใต้!!  อย่างนี้ใครไม่รู้จัก ก็ต้องนำเสนอ หาช่องทางให้รู้จักกันในรายละเอียดและคุณค่าของต้นขี้เหล็กให้มากขึ้นค่ะ..ของพี่ทำได้โดยใช้กิจกรรมช่วย อย่างทีเห็นนั่นหล่ะค่ะ..

พี่สังเกตดูเค้ามักจะปลูกริมทางถนนสายต่างๆด้วย เพราะกินได้และดอกก็สีเหลืองสวย  แต่ที่เราเก็บกิน ส่วนใหญ่คือขี้เหล็กบ้านนะค่ะ   อืมม์..ปลูกต้นไว้แล้ว กว่าจะเก็บยอดกินได้  ก็ให้เป็นที่อาศัยเกาะของนก กา ได้ก่อน..  อย่างที่โต๊ะอิหม่ามท่านกล่าวไว้ ในวันที่พวกเราไปปลูกขี้เหล็กกันค่ะ..พี่เห็นด้วยกับคำพูดของท่าน จะปลูกต้นอะไรก็ได้  เพียงแ่ต่ที่เลือก ขี้เหล็กสำหรับที่นี่ ก็มีที่มาที่ไป อย่างที่น้องปริมเห็นนั่นหล่ะค่ะ:-)) 

ขอให้มีความสุขในวันหยุดพักผ่อน สงบ และผ่อนคลาย ๆ ๆ ๆ ..ในทางสายกลาง อย่างที่น้องปริมฝึกเป็นวัตรปฏิบัติ...พี่ขออนุโมทนาด้วยค่ะ  สาธุ สาูธุ  สาธุ....

ดีจังเลย

ช่วยกันคนละไม้คนละมือนะครับ

สวัสดีค่ะยามเช้าค่ะคุณพ่อ-ชาวบ้านอารมณ์ดี

ขอบคุณที่แวะมาทักทายค่ะ  อืมม์....  หลังจากทำอาหารเมนูอร่อยๆเสร็จแล้วนะค่ะ  นำเสนอได้น่าสนใจ น่าทาน น่าอร่อย :-))   เมื่อไหร่จะทำเมนู ยอดขี้เหล็กบ้างน๊า??  

ค่ะ...อย่างที่คุณอักขณิชทราบ   ช่วยกันคนละเล็กละน้อย คนละไม้ละมือ และมีเป้าหมายร่วมกัน สักวันก็จะมีต้นไม้ และอื่นๆที่ตั้งใจไว้ เพราะสมาชิกในชุมชนก็จะรู้ความต้องการ ความจำเป็น และข้อจำกัดของชุมชนตัวเอง หากรวมพลังกันได้  

การปลูกต้นไม้ ที่เราร่วมนำต้นกล้าขี้เหล็กไปร่วมปลูกนั้น ดูว่าไม่ยาก แต่กว่าจะมีวันนี้  กระบวนการให้ความร่วมมือ การตระหนักถึงความสำคัญ การสร้างแรงจุงใจ ฯลฯ   ต้องค่อยๆทำทีละน้อย   ดีที่แกนนำเยาวชนในหมู่่บ้านได้คลุกคลีมาอย่างต่อเนื่อง น่าชื่นชมค่ะ  

สวัสดีค่ะ

อ.หมอประเวศ วะสีเคยกล่่าวไว้ว่า... มนุษย์นั้นมีเมล็ดพันธุ์แห่งความดีอยู่ในจิตใจ

ครูคือผู้หว่านเพาะ พรวนดิน ฟูมฟัก...เมล็ดพันธุ์อันดีงามนั้นในงอกงาม

ชอบบันทึกนี้ค่ะ   :)

สวัสดีค่ะ คุณหยั่งราก ฝากใบ,

ขอบคุณที่แวะเข้ามาทักทายให้กำลังใจ ต้นกล้าขี้เหล็ก ค่ะ..

เมื่อวันที่ ๕ ที่ผ่านมา ต้นกล้าเหล่านี้ได้มีโอกาส... "หยั่งราก ฝากใบ"!!! แล้วเช่นกัน เลยได้มีชื่อพ้องกันนะค่ะ  ทางปักษ์ใต้เรียกว่า "ผูกเกลอ" กันไว้นะค่ะ:-)) . ครั้งนี้ได้รวมพลังกันรวมแล้ว  ๑๐๐ ต้นกล้า กับอีก ๑๓๐ ต้นที่ปลูกและรอดโตเป็นต้นใหญ่...เราน้อมถวายความดีแต่พ่อหลวง.. ที่ทำ้ด้วย..สองมือ สองเท้า แรงกาย แรงใจ รอยยิ้มของเราผู้ที่เกี่ยวข้องทุกคนค่ะ ..เกิดพลังของเครือข่าย ผูกกันไว้...  ยามยากจะได้เข้าใจกัน เห็นใจกัน  ช่วยเหลือแบ่งปัน...ท่ามกลางความร้อนรุ่ม  รุ้้มเร้า รอบด้าน ที่กำลังเผชิญในขณะนี้..การใช้ความรักในทุกมิติและความดีที่ก่อไว้ อาจช่วยให้มีสติมากขึ้นค่ะ :-))

ชอบปลูกต้นไม้เหมือนกัน

สวัสดีค่ะคุณ pap2498

ขอบคุณที่แวะมาทักทาย บันทึก..ปลูกต้นกล้าขี้เหล็ก....สำหรับคนที่ชอบปลูกต้นไม้ ก็จะรักและเห็นคุณค่าของไม้เหล่านั้น    ร่วมปลูกไม้..ฝากไว้ให้ลูกหลาน  เพราะต้นไม้มีคุณค่ามหาศาล นะค่ะ

 

 

ปลูกต้นไม้ในใจคนด้วยนะคะ

สวัสดีค่ะพี่ใบบุญ,

ขอบคุณค่ะที่แวะมาให้กำลังใจ ในการปลูกต้นไม้ ซึ่งเริ่มจาก "ใจ" ของคนในลำดับแรกเลยค่ะ หลายคนเห็นด้วย และเชื่อมั่นว่า... จากใจคน สู่ความรักห่วงใยต้นไม้ ..ทำให้ปลูกแล้วก็มักจะรอดค่ะ เพราะใจยังระลึกถึงกัน หมั่นแวะไปดู รดน้ำ หรือป้องกันไม่ให้ สัตว์เลี้ยงไปทำลาย หรือแม้แต่คนอื่นๆที่ไม่ได้ปลูก ก็อาจจะไม่รับรู้ ทำลายต้นไม้เหล่านี้ไปได้ เป้าหมายสุดท้ายก็คือ ดำรงชีพที่มั่นคงบนฐานทรัพยากรที่ยั่งยืน.

เราช่วยให้ชาวบ้านปลูก เมื่อเราออกมาถ้ากระบวนการกลุ่มเข้มแข็ง ต่อไปเค้าก็จะปลูกและดูแลได้เอง เพราะเห็นคุณค่าของสิ่งที่เค้าร่วมมือกัน และที่สำคัญ ขี้เหล็กเป็นพืชที่กินได้ ไม้ก็ใช้ประโยชน์อย่างอื่นๆได้ นี่ก็ฝันๆไว้ค่ะและทางทีมร่วมกันทำไว้หลายหมู่บ้าน บางหมู่บ้าน บางพื้นที่ก็ยังล้มลุกคลุกคลาน หมู่บ้านไหนได้ผล เราก็กลับมาวิเคราะห์กระบวนการเพื่อนำมาปรับใช้ในหมู่บ้านอื่นๆต่อไป ทั้งนี้ทั้งนั้นแต่ละหมู่บ้าน แต่ละพื้นที่ก็มีบริบทไม่เหมือนกัน เราก็ค่อยๆเรียนรู้ไป ลองกันไป แต่ต้องใช้เวลา .. บางหมู่บ้านส่งเสริมการปลูกไม้ฃายเลน บางบ้านส่งเสริมปลูกพืชจากพรุ บางบ้างส่งเสริมการปลูกป่าสาคูให้เก็บน้ำไว้ หลากหลายดีค่ะพี่ใบบุญ.. สนใจมาร่วมปลูกก็ได้นะค่ะ อืมม์..แต่ไกลไปหน่อยคะ สำหรับพี่ :-))

ทางเราพยายามให้มี กระบวนการกลุ่ม เกิดขึ้นอยู่อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในระดับเยาวชนเล็กๆด้วยค่ะ เราวางแผนที่จะเข้าไปทำงานร่วมกับโรงเรียน ให้น้องๆเที่มาเข้าร่วมกิจกรรมการปลูกในวันนั้นได้ มีการสังเกต จดบันทึก เรียนรู้การดูแล บ่งชี้ได้ว่าการเจริญเติบโตของต้นกล้าขี้เหล็กเป็นอย่างไร ให้ฝึกบันทึกว่าเหลือรอดกี่ต้น ในแต่ละช่วง เพราะสาเหตุอะไร โดยร่วมมือกันกับพี่แกนนำในหมู่บ้าน ในวันนั้นเราได้เชิญชวนน้องๆชั้นประถม ป 2-ป5 ที่เข้าร่วมกิจกรรมไว้แล้ว หากมีโอกาสจะเอาเรื่องราวมาเล่าให้รับทราบกันต่อไปนะค่ะ :-))

มาเยี่ยมทักทายนำแกงเลียงมาฝากค่ะ

เพิ่งทราบว่าแพะไม่ชอบต้นขี้เหล็กครับพี่ ที่บ้านพริกเผ็ดๆ แพะกินเรียบ สงสัยไม่มีต่อมเผ็ด แพะกินใบไผ่ ขึ้นต้นไม้กินใบเก่งมาก ของโปรดแถวบ้านผมเขากินใบกระถินครับ

สวัสดีค่ะพี่กานดาน้ำมันมะพร้าว, ขอบคุณค่ะที่แวะมาทักทาย ...แกงเลียง..น่าทานมาก เมนูโปรดเลยค่ะ.. อาหารเพื่อสุขภาพ.. แฮ่.ๆๆ..น้องเห็นกุ้งก่อนผัก เลยหล่ะค่ะ นับไว้แล้ว 5 ตัว.:-))... นี่แหล่ะน๊า.. เค้าบอกว่า ชอบอะไรก็จะเห็นสิ่งนั้นก่อน สงกะสัยว่าจะชอบกุ้งมากกว่าผักหรือค่ะนี่ ... เอ..ไม่ใช่นะ ..ความจริงชอบผักมากกว่า แต่เป็นเพราะกุ้งทางเมืองเหนือ ตัวโตๆดีค่ะ พี่กานดา เลยเห็นชัด..ขนาด.. อิอิ.. :-))

อืมม์...ได้เวลาอาหารมื้่อ กลางวันหล่ะซิค่ะเนี่ย....ยั่วความหิว ได้ผลจริงๆค่ะ ภาพแกงเลียงของพี่กานดา สงสัยว่า ยอดขี้เหล็ก คงใช้ทำแกงเลียงไม่ได้เพระขมมากไปหน่อย...คราวต่อไป ต้องรบกวนขอเมนูจากวัตถุดิบ "ยอดขี้เหล็ก" บ้างค่ะพี่กานดา เพราะชอบในสรรพคุณของใบ/ดอก ขี้เหล็ก.. ..อุ๊ปส์...หรือว่ามีแล้ว..ยังไม่ได้เฃ้าไปสืบค้นใน gtk เลยค่ะ...ขอบคุณค่ะ.. ไปก่อนล่ะ ทานข้าวกลางวัน สังสรรกับพลพรรคในวันหยุดค่ะ หากุ้งปักษ์ใต้กินซะหน่อยค่ะ:-))

สวัสดีค่ะน้องแอ๊ด,

ขอบคุณที่แวะมาเยี่ยมอีกครั้ง  วันนี้ไม่ออกไปทำกิจกรรมนอกบ้านเหรอค่ะ?? 

.จริงๆแล้ว  พี่ก็เห็นอย่างที่น้องแอ๊ดบอกมา  "น้องแพะ" กิน เรียบทุกต้น  แถวบ้านน้องแอ๊ด..แพะกินพริกด้วยเหรอค่ะ...  แล้วปักษ์ใต้จะเหลือเหรอค่ะ   คนใต้กินเผ็ดแพะก็คงกินพริกที่เค้าปลูกๆกัน ...  และโดยเฉพาะต้นกระถิน  ที่นี่ก็เช่นกัน แพะปีนขึ้นไปกินยอดที่อ่อนๆเลย .. แหม ช่างเืลือกนะค่ะ   แพะกินต้นไม้ทุกชนิดที่ขวางหน้า.ทำให้เป็นที่ระอา ต้องหาทางป้องกันแพะทำลายในเบื้องต้น เพราะแพะก็ไม่รู้ แต่คนเลี้ยงแพะนี่ซิที่รู้  ... อืมม์...ที่นี่ แพะ ก็เป็นสัตว์เลี้ยงประจำบ้าน ชุมชนมุสลิมไม่เลี้ยงหมา  ก็จะมีน้องแพะนี่แหละค่ะ เป็นเพื่อนคู่บ้าน คู่ถนน ส่งเสียงเรียก .. แพะๆๆๆๆ หาแม่ ในช่วงที่มีลูกอ่อน ได้ยินตลอดเวลา

การที่เลือกเอาต้นขี้เหล็กไปปลูก ก็มิใช่ว่า แพะจะไม่กินต้นขี้เหล็กค่ะ น้องแอ๊ด... เพียงแต่ถ้าเทียบแล้วกินน้อยกว่าต้นอื่นๆ  (จากข้อสังเกตของเยาวชนแกนนำที่หมู่้บ้านนี้) เพียงแต่ถ้ามีต้นอื่นๆใกล้ๆ ต้นขี้ัเหล็กก็จะเล็ดลอดตา/ปากแพะไปได้บ้าง   แต่เจ้าขี้เหล็กนี้..ก็มีความอึดมากค่ะ  ถึงแม้ว่าถูกแพะกิน รุมทึ้งต้น กิ่ง ใบ ก็ยังรอวันเวลา โตไปทีละน้อย..  เวลาเห็นต้นขี้เหล็กโต แล้วจะนึกย้อนไปว่า  กว่าจะโต. สู้ชีวิตจริงๆ ..เพราะต้นไม้ที่ถูกแพะกิน แรงที่ดึงไปแต่ละกิ่ง ก้าน แหม...แทบจะคลอนต้นเลย..น่าสงสารต้นจริงๆ  ...ฤา..จะเป็นกระบวนการสร้างความแกร่งของชีวิตในธรรมชาติก็ไม่ทราบได้... นะค่ะ..น้องแอ๊ด...:-))

ขอบคุณกัลยาณมิตรทุกท่านค่ะ..ที่เข้ามาทักทายฝากความคิดเห็นหรือมอบดอกไม้ไว้

Ico48Ico48Ico48Ico48Ico48Ico48Ico48Ico48Ico48Ico48Ico48Ico48Ico48

Ico48Ico48Ico48Ico48Ico48Ico48Ico48Ico48

 



ต้นกล้า....แต่ละต้น....ได้มีที่อยู่ ....รากจะได้ส้มผัสดิน...เมือนภาพนี้...ที่ทำงานเป็นทีม นะึคะ ....ชอบภาพนี้จังเลยค่ะ ... 


ขอบคุณบทความดีดีที่แบ่งปัน  นะคะ

 สวัสดีค่ะพี่เปิ้ล

ขอบคุณค่ะพี่เปิ้ล...ในรูปเป็นส่วนหนึ่งของทีมที่ปลูกต้นไม้ แต่เป็นส่วนใหญ่เพราะ ยกเว้น ชาวบ้านในพื้นที่  เนื่องจากมีภาระกิจอย่างอื่น  ในภาพจึงประกอบด้วย นักศึกษา แกนนำเยาวชน เด็กน้อยในหมู่บ้าน และทีมงาน ทุกคนต่างเดินลัดทุ่งไปพร้อมกัน  ทั้งๆที่เบื้องต้น ตกลงกันว่า เด็กน้อยให้ขึ้นรถไป  แต่เห็นได้ชัดในความเป็นเจ้าของบ้านของเด็กน้อย ที่อยากจะเดินเล่นไปพร้อมๆกัน แถวก็เลยยาวขณะเดินบนคันนาค่ะพี่เปิ้ล  เดินกันจนได้เหงื่อเช่นกัน เพราะลดเลี้ยวไปมา  แต่ก็ได้ไอเดีย มีคำถาม ให้ชวนคิดต่อมาว่า ก่อนที่จะเป็นรวงข้าว  ดอกข้าวมีลักษณะอย่างไร  ดอกสมบูรณ์หรือไม่สมบูรณ์  มีประเด็นแลกเปลี่ยนอีกมากมาย ที่ชวนเค้าคิดและฝึกสังเกตมากขึ้น ในสิ่งที่มีในธรรมชาติค่ะ  สนุกดีและสดชื่นดีค่ะพี่เปิ้ล ได้ออกไปท้องไร่ท้องนาท้องทุ่ง  สุดท้ายจบลงด้วยเด็กๆไปเล่นน้ำตกค่ะ

 สัญญลักษณ์นาข้าว และต้นตาลก็ยังคงมีคู่กับความเป็นชนบทของเรา แต่สิ่งหนึ่งที่เริ่มจะหายไปคือ วัว ควายค่ะ  ต่อไปก็คงจะไม่รู้จักกันมากขึ้น เพราะแม้กระทั่งที่นี่มีควายเหล็กเช่นกัน  ทั้งๆที่เป็นแหล่งปลูกข้าวผืนใหญ่ของปัตตานี  แต่โรงสีขนาดเล็กยังมีให้เห็น 

 นอกจากนี้แกนนำเยาวชนซึ่งที่นี่ต้องชมน้องเค้าที่มีความคิดอ่านและมีจิตสาธารณะมากค่ะเรื่องทำงานเพื่อชุมชน ตั้งแต่สมัยเรียนมัธยมจนเดี๋ยวนี้กำลังเรียน ปตรี ก็ยังทำงานเพื่อชุมชน หมู่บ้านไปด้วย  น่าชื่นชมค่ะสำหรับคนรุ่นใหม่หัวใจโบราณ  ที่มักจะนิยามน้องเขา..โดยทีมงานที่นี่ค่ะพี่เปิ้ล :-))


มาร่วมกันสร้างความดี..ด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ..ถวายแด่พ่อหลวงของเราครับ


สวัสดีค่ะอาจารย์นุ

ขอบคุณค่ะอาจารย์นุ.. เราช่วยกันและลงมือทำในมิติที่แต่ละคนทำได้ตามกำลัง เพื่อถวายแต่พระองค์ท่านค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท