ครูเพื่อศิษย์ส่งเสริมให้ศิษย์สนุกกับการเรียน : 65. ทักษะการเรียน (1) แฟ้มงาน


เป็นเทคนิคที่ช่วยให้ นศ. มีสมาธิจดจ่ออยู่กับการเรียนในช่วงการเรียนแบบ face-to-face ในชั้นเรียน ทำให้ นศ. ตั้งใจฟังการบรรยาย ตั้งใจจดบันทึกคำบรรยาย และการอภิปรายในชั้นเรียน รวมทั้งตั้งใจร่วมการอภิปรายในกลุ่มย่อย และฝึกคิดอย่างลึกต่อโจทย์ของครูที่ให้ในชั้นเรียน เพราะจะต้องสรุปลงแฟ้มงาน

ครูเพื่อศิษย์ส่งเสริมให้ศิษย์สนุกกับการเรียน  : 65. ทักษะการเรียน  (1) แฟ้มงาน

บันทึกชุดนี้ ได้จากการถอดความ ตีความ และสะท้อนความคิด  จากการอ่านหนังสือ Student Engagement Techniques : A Handbook for College Faculty เขียนโดย ศาสตราจารย์ Elizabeth F. Barkley  ในตอนที่ ๖๕นี้ ได้จาก Chapter 19  ชื่อ Learning and Study Skills   และเป็นเรื่องของ SET 45 : In-class Portfolio

บทที่ ๑๙ ว่าด้วยเรื่องการพัฒนาทักษะการเรียน  ได้แก่ การวางแผนการเรียน  การจดเล็กเชอร์  การค้นความรู้เพิ่มเติม  การเตรียมตัวสอบ  การร่วมอภิปรายในชั้น  การร่วมทำงานในกลุ่มย่อย เป็นต้น

บทที่ ๑๙ นี้ ประกอบด้วย ๖ เทคนิค  คือ SET 45– 50  จะนำมาเสนอในบันทึกชุดนี้ตอนละ ๑ เทคนิค

SET 45  :  In-class Portfolio

จุดเน้น  :  รายบุคคล

กิจกรรมหลัก :  การจดบันทึก

ระยะเวลา  : หลายคาบ

โอกาสเรียน online  :  ต่ำ

นศ. จัดทำ บันทึกจากการฟังครูบรรยาย  เรียงความตอบโจทย์ระหว่างเรียนในชั้น  ข้อสรุปจากการอภิปรายทั้งชั้นหรือในกลุ่มย่อย  ข้อสะท้อนการเรียนรู้ของตน ฯลฯ  นำมาจัดหมวดหมู่ เข้าแฟ้ม ส่งให้ครูประเมินให้คะแนน ๒ - ๓ ครั้งต่อเทอม  

เป็นเทคนิคที่ช่วยให้ นศ. มีสมาธิจดจ่ออยู่กับการเรียนในช่วงการเรียนแบบ face-to-face ในชั้นเรียน  ทำให้ นศ. ตั้งใจฟังการบรรยาย  ตั้งใจจดบันทึกคำบรรยาย และการอภิปรายในชั้นเรียน  รวมทั้งตั้งใจร่วมการอภิปรายในกลุ่มย่อย  และฝึกคิดอย่างลึกต่อโจทย์ของครูที่ให้ในชั้นเรียน  เพราะจะต้องสรุปลงแฟ้มงาน 

 ขั้นตอนดำเนินการ

1.  ครูจัดกิจกรรมการเรียนรู้ในรายวิชา ให้มีกิจกรรมที่หลากหลาย นอกเหนือจากการบรรยาย  เพื่อให้ นศ. ได้ฝึกทำกิจกรรมอีกหลายอย่าง นอกเหนือจากการฟังคำบรรยาย และดูการสาธิต  ทำให้ นศ. ได้ลงมือทำ โดยการบูรณาการความรู้ และประยุกต์ความรู้ นำมาเขียน อภิปราย และแก้ปัญหา

2.  กำหนดองค์ประกอบของแฟ้มงาน (กำหนดส่งงาน  รูปแบบ  และขนาดของชิ้นงาน เป็นต้น)

3.  กำหนดเกณฑ์ประเมิน  และเขียน rubrics ของการให้คะแนน

4.  ออกแบบหน้าปกของแฟ้มงาน  แจก นศ.  และอธิบายเป้าหมาย  วิธีทำงาน  และความหมายต่อการเรียนรู้ของ นศ. ให้ นศ. เข้าใจ 

ตัวอย่าง

วิชาจิตวิทยาทั่วไป 

ครูจัดกิจกรรมเรียนรู้แบบ face-to-face  ให้มีกิจกรรมที่หลากหลาย  ได้แก่การบรรยาย  สาธิต  กิจกรรมกลุ่มย่อย  การอภิปรายทั้งชั้น  ฯลฯ  เพื่อให้ นศ. ตั้งใจเรียนในทุกกิจกรรม ครูจึงกำหนดให้ นศ. ต้องจัดทำบันทึกสรุปการบรรยาย และเขียนสะท้อนความคิด (reflection)  และเขียนสรุปแบบอภิปรายผล ต่อกิจกรรมการเรียนรู้อื่นๆ  จัดรวบรวมเป็นแฟ้มงานส่งครูตอนกลางเทอมและปลายเทอม

แต่เนื่องจากชั้นเรียนนี้ใหญ่มาก ครูไม่สามารถอ่านแฟ้มงานของ นศ. ทุกคนได้  จึงใช้กระบวนการ peer review process ให้ นศ. จำนวนหนึ่งอ่านและร่วมกันให้คะแนนแฟ้มงานของเพื่อน   โดยครูมีแบบฟอร์มและเกณฑ์ในการให้คะแนนมอบให้  รวมทั้งเปิดโอกาสให้เจ้าของผลงานอุทธรณ์คะแนนได้ด้วยหากไม่พอใจคะแนนที่ได้ 

ครูพบว่า เทคนิคดังกล่าว ช่วยเพิ่มความตั้งใจเรียนของ นศ. อย่างชัดเจน  ช่วยให้ นศ. พัฒนาทักษะการเรียน โดยเฉพาะด้านการจัดการ และด้านการเขียนบันทึก  

การขยายหรือปรับปรุงวิธีการ

·  ครูอาจพิจารณาให้คะแนนเพิ่มหาก นศ. ไปค้นคว้าเพิ่มเติมจากที่ครูสอน  โดยเฉพาะอย่างยิ่งส่วนที่ตนยังเข้าใจไม่ชัดเจน 

·  เพิ่มส่วนที่ นศ. ประเมินตนเอง  สะท้อนความคิดเรื่องการเรียน  หรือให้ feedback แก่ครู 

คำแนะนำเพิ่มเติม

ครูควร แนะนำวิธีจดบันทึกที่ดีแก่ นศ.  อาจโดยการบรรยายสั้นๆ มีกราฟหรือตารางแสดงโครงสร้างของการบันทึก  และในตอนที่ครูบรรยายหรือนำเสนอเรื่องใดๆ ก็ควรทำอย่างชัดเจนและไม่รีบเร่ง  เพื่อช่วยให้ นศ. สามารถจดบันทึกได้ดี 

ตารางให้คะแนน มีตัวอย่างใน คล. ๒๕ ของบันทึกนี้ 

เนื่องจากการอ่านและให้คะแนนแฟ้มงานต้องใช้เวลามาก  ครูจึงควรให้ นศ. อ่านและให้คะแนนกันเอง แบบ peer review   ซึ่งจะช่วยให้ นศ. ได้เรียนรู้จากการอ่านผลงานของเพื่อน  และได้ฝึกกระบวนการ peer review ด้วย  โดยครูควรแจ้ง นศ. ว่าจะใช้วิธีการนี้แต่เนิ่นๆ ตอนต้นเทอม 

เนื่องจากกระบวนการ peer review มีความอ่อนไหว และ นศ. บางคนอาจรู้สึกไม่สบายใจ  ผู้เขียนหนังสือจึงแนะนำให้ครูใช้กระบวนการนี้อย่างระมัดระวัง และอย่างมีกระบวนการชัดเจน  คือเป็นการประเมินโดยเพื่อน นศ. ในลักษณะที่มีครูเป็นผู้กำกับกระบวนการ ดังนี้

ในวันส่งแฟ้มงาน จัดเวลาประเมินแบบ peer review ไว้ ๑ ชั่วโมง  โดยทำความตกลงว่าจะเป็นการให้คะแนนโดยเพื่อน นศ. ๒ คน  แต่หาก นศ. คนใดมีเหตุผลที่เหมาะสมจะให้ครูเป็นผู้ให้คะแนนก็ได้  แต่ก็จะไม่ได้เข้ากระบวนการ peer review  ทำให้ขาดโอกาสเรียนรู้จากการฝึกประเมินผลงานของเพื่อน  รวมทั้งบอกให้ทราบด้วยว่า นศ. ที่ไม่พอใจคะแนนที่ได้ จะมีแบบฟอร์มให้อุทธรณ์คะแนนของตนต่อครูโดยตรง  แต่ถ้าเป็นการอุทธรณ์แบบไร้เหตุผล จะมีการหักคะแนนด้วย   โดยมีขั้นตอนของ peer review ดังนี้

1.  นศ. แต่ละคนเรียงรายงานตามลำดับวันเรียน และแนบปก (ซึ่งมีแบบฟอร์มสำหรับกรอกคะแนนประเมินอยู่ในนั้น) และส่งครู

2.  ครูจัด นศ. เป็นทีม ๒ คน  และแจกรายงานให้ทีมละ ๒ รายงาน  โดยมีวิธีแจกให้รายงานของคนอื่นแก่ทีม  เช่นให้ทีม ๒ คนเป็นเพศเดียวกัน  แล้วแจกรายงานของผู้ชายแก่ทีมเพศหญิง 

3.  ครูแนะนำให้ ทีมประเมิน อ่านรายงานเรียงตามลำดับวันเรียน  ให้เวลาทีมประเมินอ่านและให้คะแนนตามแบบฟอร์ม รวมทั้งข้อวิพากษ์

4.  ครูเก็บใบประเมินและรายงาน  และคืนเจ้าของ  ให้อ่านคะแนนและข้อวิพากษ์  ใครไม่พอใจคะแนนก็ให้กรอกใบทักท้วงหรืออุทธรณ์ 

5.  ครูเก็บใบประเมินและรายงานอีกครั้ง  นำมาตรวจหา นศ. ที่ทักท้วง และให้คะแนน  ส่วน นศ. ที่ไม่ทักท้วง ก็สุ่มตรวจ  จดคะแนน  แล้วส่งใบประเมินและรายงานคืนเจ้าของ

เอกสารค้นคว้าเพิ่มเติม

Stevens DD, Levi AJ. (2005). Introduction to rubrics : An assessment tool to save grading time, convey effective feedback, and promote student learning. Sterling. VA : Stylus.

วิจารณ์ พานิช

๒๘ พ.ย. ๕๕ 

หมายเลขบันทึก: 510390เขียนเมื่อ 29 พฤศจิกายน 2012 05:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 พฤศจิกายน 2012 05:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท