บทความชุดนักการศึกษาโลกเรื่องที่ 2 ฌ็อง-ฌัก รูซโซ (Jean-Jacques Rousseau): ผู้ปลดแอก


รูซโซเห็นว่าการศึกษาควรปลดแอกผู้เรียนออกจากการควบคุมบังคับของสังคม

                     บทความชุดนักการศึกษาโลกเรื่องที่ 2

        ฌ็อง-ฌัก รูซโซ (Jean-Jacques Rousseau): ผู้ปลดแอก



เฉลิมลาภ ทองอาจ
โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายมัธยม
คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


             เมื่อครั้งที่อยุธยารบพุ่งกับพม่าในคราวเสียกรุงทั้งที่สองนั้น ฝากข้างตะวันตกซึ่งตรงกับศตวรรษที่ 18  กลับมิได้เผชิญภาวะสงครามแย่งชิงอำนาจด้วยการใช้กำลังอาวุธแต่อย่างใด แต่เป็นการต่อสู้ด้วยหลักปัญญาแทน เพราะเป็นสมัยที่ถือได้ว่า มีความรุ่งเรืองเฟื่องฟูของปรัชญาอย่างยิ่ง จนต้องขนานนามว่าเป็นยุคแห่งเหตุผล (The Age of Reason) หรือยุคเรืองปัญญา (The Age of Enlightenment)  อันนำไปสู่การแสวงหาเหตุผลหรือสัจจะที่แท้ ที่ไม่พึ่งพิงความเชื่องมงายหรือประเพณีอันล้าหลัง จนเป็นฐานสำคัญที่ผลักดันให้เกิดการปฏิวัติในยุโรป  อเมริกาและอีกหลายประเทศ  นักปรัชญาและนักการศึกษาคนสำคัญ  ผู้มีอิทธิพลต่อการปฏิวัติความคิดในยุคดังกล่าวนั้นก็คือ ฌ็อง-ฌัก รูซโซ (Jean-Jacques Rousseau) ผู้เสนอทฤษฎี “คนเถื่อนใจธรรม” อันมีชื่อเสียง 




                                       Jean-Jacques Rousseau (28 June 1712 – 2 July 1778)

              รูซโซเป็นชาวฝรั่งเศสที่เกิดในสวิซเมื่อปี ค.ศ. 1712 หลังจากเขาเกิดได้เพียงสัปดาห์เดียว มารดาก็เสียชีวิต เขาจึงต้องอาศัยอยู่กับบิดาจนอายุได้ 10 ปี จากนั้นย้ายจากกรุงเจนีวาไปอาศัยอยู่   ณ เมืองลีอง (Lyons) ที่นั่นเขาได้ถูกทิ้งไว้กับญาติ และต้องเปลี่ยนที่อยู่บ่อยครั้ง ด้านการศึกษาของ  รูซโซนั้นถือว่าล้มเหลว เพราะแม้เขาจะเรียนและฝึกหัดในหลายอาชีพ ไม่ว่าจะเป็นนักกฎหมายหรือ  ช่างแกะสลัก แต่ดูเหมือนว่าทุกอาชีพก็ดูจะไม่ประสบความสำเร็จเอาเสียเลย แต่โชคดีว่า เขาได้พบกับ  มาดาม เดอ วาเรน (Madame de Warens) ซึ่งได้กลายมาเป็นสตรีผู้มีพระคุณ (benefactress) ของเขา เพราะเธอได้ชักนำเขาเข้าสู่สังคมของสุภาพชนและบัณฑิต ซึ่งที่นี่เอง  รูซโซได้เรียนรู้ พบปะและสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับนักเขียน  นักดนตรี นักปรัชญา เขาจึงค่อยๆ ศึกษาแนวคิดต่างๆ และนำมาพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม จากการใช้ชีวิตอยู่ในสังคมชั้นสูง ทำให้รูซโซเห็นอิทธิพลของสังคมที่มีต่อปัจเจกบุคคลมากยิ่งขึ้น และสิ่งนี้เองที่ทำให้เขาเกิดความคิดว่า สังคมนี้คือสิ่งที่ส่งผลต่อธรรมชาติของมนุษย์ และธรรมชาติดั้งเดิมของมนุษย์ต้องถูก  บิดเบือนไป ไม่ใช่สาเหตุจากความชั่วร้ายภายในจิตใจ  แต่เป็นสังคมต่างหากที่บีบบังคับและกดดันให้มนุษย์ต้องเป็นเช่นนั้น


                ทฤษฎีสำคัญของรูซโซคือแนวคิดเกี่ยวกับธรรมชาติเดิมแท้ (original state of nature) ซึ่งเชื่อว่า มนุษย์ทุกคนมีธรรมชาติดั้งเดิมที่เป็น “คนเถื่อนใจธรรม”  (noble savages) กล่าวคือ แม้ว่าจะมีรูปลักษณ์ภายนอก กิริยาท่าทาง  หรืออาการแตกต่างกันเพียงใด  แต่มนุษย์ทุกคนย่อมมีธรรมชาติดั้งเดิมที่ไร้เดียงสาและบริสุทธิ์ยิ่ง  แต่ที่กลายเป็นปัญหาหรือมีพฤติกรรมไม่ดีนั้น เป็นผลมากจากการอิทธิพลของสังคม ซึ่งเป็นสิ่งเทียมและบ่อนทำลายความเป็นมนุษย์เดิมแท้ให้ผิดเพี้ยนบิดเบี้ยวไปจากสภาวะธรรมเดิมของตน ดังที่เขากล่าวว่า “ธรรมชาติเดิมแท้ของมนุษย์นั้นดีงาม  แต่กลับถูกทำให้เสื่อมทรามโดยสังคม“ (the original nature of man is good but corrupted by society) เมื่อเขาเห็นว่าสังคมเป็นสิ่งที่ทำให้มนุษย์ละทิ้งธรรมชาติเดิมแท้ของตน เครื่องมือของสังคมคือโรงเรียนแบบเดิมในยุคนั้น จึงเป็นกลไกการขัดเกลาของสังคมที่เขาเห็นว่า  ควรทบทวนและได้รับการแก้ไขโดยด่วน 





                 นวนิยายที่รูซโซใช้นำเสนอปรัชญาเกี่ยวกับการศึกษาและการสอนเด็กคือเรื่อง “Emile” เขียนขึ้นในปี ค.ศ. 1762  เนื้อหาของนวนิยายเล่าถึงการศึกษาที่เด็กผู้ชายคนหนึ่งได้รับ  ตั้งแต่เป็นทารกกระทั่งเขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่ โดยเขาพยายามที่จะนำเสนอความคิดในเชิงปฏิเสธบทบาทของโรงเรียนในฐานะเครื่องมือขัดเกลาทางสังคม ซึ่งเด็กไม่ควรที่ถูกสอนในลักษณะการครอบงำความคิด หรือการสอนให้เชื่อตามคัมภีร์หรือหนังสือ แต่ผู้สอนควรให้ความสำคัญต่อสัญชาตญาณ ความรู้สึกและความต้องการอันเกิดจากธรรมชาติที่ดีงามและบริสุทธิ์ของพวกเขาให้มากที่สุด  ทั้งนี้โดยมีเป้าหมายสูงสุดก็คือ  ปลดแอกพวกเขาให้เป็นอิสระออกจากพันธนาการและการคุมขังโดยโรงเรียนหรือสังคม  เขาได้แบ่งระยะแห่งพัฒนาการของเด็กในนวนิยายไว้ 5 ระยะ ได้แก่ ระยะทารก  ระยะเด็ก  ระยะวัยรุ่นตอนต้น ระยะวัยรุ่นตอนปลาย และระยะผู้ใหญ่  ซึ่งในแต่ละระยะ มีหลักการจัดการเรียนการสอนดังนี้   


                1. ระยะทารก  (แรกเกิด-5 ปี) เด็กควรได้รับการสอนจากมารดา โดยเรียนรู้ผ่านความรู้สึกและประสาทสัมผัสที่มีต่อสิ่งต่างๆ ที่ปรากฏอยู่จริงในสิ่งแวดล้อมให้มากที่สุด
   

                2. ระยะเด็ก  (5-12 ปี) เด็กควรเรียนรู้ที่จะสร้างความเข้าใจลักษณะตนเอง  ผ่านประสบการณ์ทั้งในด้านดีและร้าย สร้างความสนใจใคร่รู้ให้แก่ตนเอง ในการที่จะใช้ความรู้สึกของตนเรียนรู้สิ่งต่างๆ ที่อยู่รอบตัว การจัดการเรียนการสอนจึงควรเน้นไปที่ความรู้สึกของผู้เรียนมากกว่าสิ่งอื่นๆ
    

                3. ระยะวัยรุ่นตอนต้น (12-15 ปี) เด็กควรเรียนรู้ผ่านการสังเกตธรรมชาติรอบตัว ทั้งที่เป็นพืช สัตว์ ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ และวงจรของสิ่งต่างๆ โดยมีลักษณะเป็นการเรียนรู้จาก  การสำรวจและลงมือปฏิบัติจริง 
   

                4. ระยะวัยรุ่นตอนปลาย (15-18 ปี) เด็กควรเรียนรู้โลกอย่างรอบด้าน   ผ่านการศึกษาสภาพสังคม ธุรกิจการค้า ศิลปะ ดนตรี รวมถึงไปเที่ยวชมอาคารสถานที่เกี่ยวข้องกับวิทยาการและศิลปการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นพิพิธภัณฑ์ หอศิลป์ ห้องสมุด
  

                5. ระยะผู้ใหญ่ (18 ปีเป็นต้นไป) การศึกษาเรียนรู้ผ่านประสบการณ์และการสร้าง  ความชัดเจนของชิวิต โดยใช้พื้นฐานจากที่ศึกษาในระยะต้นๆ มาขยายขอบเขตและต่อยอด


                จากหลักการจัดการเรียนรู้ข้างต้น เน้นให้เห็นว่า รูซโซไม่ได้ความสำคัญกับโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษาอันเป็นกลไกทางสังคมแต่อย่างใด แต่เขากลับเน้นให้เห็นว่า ในแต่ละช่วงวัยของชีวิต การเรียนรู้ตามอารมณ์และความรู้สึก การได้รับประสบการณ์ตรง  และการสังเกตสังกาโลกกว้างอย่าง  รอบด้าน หลากหลายมิติต่างหาก ที่เป็นหัวใจสำคัญของการศึกษาและการเรียนรู้  ที่สุดแล้ว โรงเรียนจึงถูกลดบทบาทลงไปจากเครื่องมือที่สังคมและผู้ใหญ่ใช้ขัดเกลาเด็ก ตามแต่ที่ฝ่ายตนจะต้องการ มาสู่การให้ความสำคัญต่อการตอบสนองต่อความรู้สึกและความต้องการตามธรรมชาติของเด็กแทน  การศึกษาจึงควรจะเริ่มตั้งแต่ในวัยเด็กทารก ซึ่งจะส่งผลต่อไปยังวัยผู้ใหญ่ โดยมุ่งให้ความสำคัญต่อความต้องการและความสนใจใคร่รู้ตามธรรมชาติของผู้เรียนในแต่ละระยะของพัฒนาการ และลดอิทธิพลต่างๆ ของสังคม โรงเรียนหรือผู้ใหญ่ ที่อาจจะไปกระทบต่อธรรมชาติดั้งเดิมเหล่านั้น


                  แนวคิดของผู้ที่เป็นมากว่านักการศึกษาอย่างรูซโซนั้น ภายหลังมีผู้เห็นว่า  ได้กลายมาเป็นแนวคิดพื้นฐานของทฤษฎีการเรียนรู้การสร้างความรู้ ซึ่งเน้นให้เห็นบทบาทของผู้เรียนที่จะต้องตีความหมายและสร้างความจริงส่วนตนขึ้นจากประสบการณ์ต่างๆ ที่ตนได้สัมผัสรับรู้ จึงนับได้ว่าคุรุเมธีแห่งฝรั่งเศสผู้นี้ เป็นอีกผู้หนึ่งที่บุกเบิกแผ้วถางการศึกษายุคใหม่ ที่พยายามแสดงให้เห็นจิตใจที่เดิมแท้นั้นเป็น “ธรรม” ของเด็กและเยาวชนทั้งหลายในโลกใบนี้ 


________________________________________________________

     



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท