หลักกระบวนการอันควรแห่งกฎหมาย (Due Process of Law)


 

หลักกระบวนการอันควรแห่งกฎหมาย (Due Process of Law) [1]

หรือ "หลักศุภนิติกระบวน

เพื่อให้เข้าใจได้ตรงความหมายในการอธิบายขอให้วลีเดิมที่เป็นภาษาอังกฤษคือ  คำว่า  Due Process of Law  หรือเรียกสั้น ๆ ว่า  Due Process พูดถึงความหมายของวลีดังกล่าวมีอยู่สองคำคือ Due  แปลว่า  เหมาะสม  สมควร  พอเพียง  พอควร  ตามกำหนด  ครบกำหนด  ถึงกำหนด  ถูกต้อง  ถูกทำนองคลองธรรม  ตรง  หลีกเลี่ยงไม่ได้  Process  แปลว่า  กระบวนการ  ดังนั้นที่ศาสตราจารย์จิตติแปลคำทั้งสองคำนี้ว่า  “กระบวนการอันควร”  จึงเหมาะแต่อย่างไรก็ตามการเรียนการสอบกฎหมายนั้น  เราไม่ใช่เริ่มต้นและสิ้นสุดกันที่การแปลความหมายตามพจนานุกรม  ต้องดูให้ลึกลงไปที่กำเนิดรากเง่าของสิ่งนั้น  แล้วค่อยมาดูกฎหมายรัฐธรรมนูญของเรา

  Due Process of Law นี้มันสืบรากเง่าไปถึงเอกสารที่ถือเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกของโลกคือ  แมคนาคาร์ตา  ซึ่งเป็นเอกสารที่พระเจ้าจอห์นแห่งอังกฤษถูกบีบบังคับจากเหล่าขุนนางให้พระราชทานเสรีภาพแก่ราษฎรชาวอังกฤษ  ในยุคหลังถือว่าแมคนาคาร์ตาเป็นการยอมตนของพระมหากษัตริย์ต่อกฎหมายคือ  ยอมอยู่ภายใต้กฎหมายนั่นเองบัญญัติเมื่อ ค.ศ. 1217 (พ.ศ. 1760)  แต่เดิมไม่มีคำว่า  Due Process of Law มีแต่คำว่า  “โดยกฎหมายของแผ่นดิน”  ซึ่งคำนี้โยงไปถึงคำภาษาลาตินว่า  “Per Legum Terra”

  เอกสารนี้ออกโดยพระเจ้าจอห์น  แต่เมื่อมีการเปลี่ยนราชบัลลังก์ก็มีการยืนยัน  โดยพระมหากษัตริย์ที่ครองราชสมบัติ  โดยตลอดมา จน ค.ศ. 1354 (พ.ศ. 1897)  ในรัชสมัยของพระเจ้าเอ็ดเวอร์ดที่ 3 คำว่า  “Due Process of Law”  จึงปรากฏขึ้นเป็นครั้งแรก

  ในขณะที่ไม่มีส่วนใดของเอกสารเหล่านี้ระบุว่าอะไรที่หมายถึง  “กฎหมายของแผ่นดิน”  หรือ  “Due Processof Law”  คำสองคำนี้เริ่มปรากฏใน  Pettion of Right of 1628  ซึ่งมีข้อฎีกาว่า  “เสรีชนถูกจำคุกหรือถูกกักขังเฉพาะโดยกฎหมายของแผ่นดิน  หรือโดย  Due Process of Law  และมิใช่โดยการสั่งการพิเศษโดยปราศจากข้อหาของพระเจ้าแผ่นดิน”

  ตามความเข้าใจของชาวอังกฤษ  Due Process  มีความหมายตามที่เดเนียลเวบสเตอร์  นักการเมือง  และรัฐบุรุษสหรัฐอเมริกาคนหนึ่งกล่าวว่าเป็นกฎหมายทั่วไปเป็นกฎหมายฉบับหนึ่ง ๆ  ที่มีการพิจารณาก่อนแล้ว  จึงตัดสินลงโทษ  ซึ่งดำเนินการโดยการสอบสวน  และมีคำพิพากษาหลังการพิจารณา

  จึงเห็นว่าสิทธิเสริภาพนั้นมันสำคัญ  สำหรับชาวตะวันตกแค่ไหน  เพื่อหลักประกันแห่งสิทธิเสรีภาพนี้ชาวอังกฤษรู้กันมาเกือบเจ็ดร้อยปีแล้ว  เมื่อมีอาณานิคมของอังกฤษในอเมริกาช่วงทศวรรษ 1600  ชาวอาณานิคมก็ใช้คำว่า  “Due Process of Law”  ในกฎหมายฉบับต่าง ๆ ของตน  จึงกล่าวว่า  Due Process เป็นหัวใจของ  “เครื่องคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ”  (Constitional Safeguard)  อย่างที่ได้กล่าวไว้เมื่อสักครู่

  ตามความเข้าใจของชาวอเมริกันขณะนี้  Due Process of Law  มีสองอย่างคือ  Due Process  เชิงสารบัญญัติและ  Due Process  เชิงวิธีพิจารณา

  Due Process  เชิงสารบัญญัติหมายถึง  การให้ความคุ้มครองเนื้อหาสาระของสิทธิของปัจเจกชนตามหลักการของลัทธิเสรีนิยมในข้อนี้ศาลอเมริกันถูกโจมตีมาก  หัวใจของลัทธิเสรีนิยมสี่ประการ  เช่น  แนวคิดเรื่อง  Competitive Individualism  แนวคิดว่าสิทธิในทรัพย์สินของปัจเจกชนเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์และละเมิดสิทธิมิได้  และแนวคิดเองรัฐบาลที่มีอำนาจจำกัดไปโยงกับหลักกฎหมายของลัทธิเสรีนิยม  เช่น หลักเสรีภาพในการทำสัญญาเป็นต้น  หลักกฎหมายเหล่านี้อยู่ภายใต้ข้อสันนิษฐานของแนวคิดแบบเสรีนิยมว่าทุกคนมีความเท่าเทียมกัน  แต่ความจริงไม่เป็นอย่างนั้น  อำนาจต่อรองของคนความจริงไม่เท่าเทียมกัน  มีการเอารัดเอาเปรียบกันโดยข้อเท็จจริง  เพื่อผ่อนบรรเทาการเอารัดเอาเปรียบกันระหว่างชนชั้น  ฝ่ายการเมืองเสนอมาตรการแก้ไขการเอารัดเอาเปรียบกันระหว่างชนชั้น  ฝ่ายการเมืองเสนอมาตรการแก้ไขการเอารัดเอาเปรียบนี้ในรูปของกฎหมายสังคมนิติบัญญัติ  โดยกฎหมายเหล่านี้เรียกว่าเป็นการสร้าง  “มือที่มองเห็น”  มาช่วยมือที่มองไม่เห็นตามทฤษฎีของอาดัม  สมิธ  แต่ฝ่ายตุลาการที่ยึดแน่นกับแนวคิดเสรีนิยมไม่ยอมรับมาตรการนี้  อย่างเรื่องสัญญาจ้างแรงงานมีการออกกฎหมายกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำ  ศาลฎีกาสหรัฐก็วินิจฉัยว่าขัดต่อสิทธิขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญที่ว่าทุกคนมีเสรีภาพในการทำสัญญากัน  หรืออย่างเรื่องกฎหมายกำหนดให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยกรณีลูกจ้างประสบอันตรายในขณะทำงานให้นายจ้าง  ศาลฎีกาสหรัฐก็ถือว่าขัดต่อหลัก  Due Process  ที่กำหนดให้นายจ้างรับผิดทั้งที่ไม่มีความผิด

  Due Process  เชิงสารบัญญัติอยู่นอกขอบเขตของวิชานี้ที่เอามากล่าวก็  เพื่อให้ระลึกถึงคุณค่าสองอย่างที่แย้งกันอยู่ในตัวคือ  การคุ้มครองปัจเจกชนตามแนวคิดของลัทธิเสรีนิยมกับการรักษาผลประโยชน์ของมหาชนตามลัทธิประชาธิปไตย  ความขัดแย้งกรณีนี้ของสหรัฐอเมริกาที่เล่ามามีความรุนแรงมาก  ถึงขนาดมีการเผชิญหน้ากันระหว่างฝ่ายตุลาการ  และฝ่ายการเมืองประธานศาลฎีกาสหรัฐกล่าวถึงประวัติศาสตร์ของฝ่ายตุลาการอเมริกันว่า  มีเหตุการณ์สองอย่างที่ถือเป็นผลงานชิ้นโบว์ดำของศาลฎีกาสหรัฐที่ท่านไม่สบายใจอย่างแรกคือ  กรณีศาลฎีกายืนหยัดคว่ำกฎหมายสังคมนิติบัญญัติ  โดยอาศัยหลัก  Due Process  อย่างที่กล่าวมานี้  อีกอย่างหนึ่งเป็นเรื่องการรักษาสถานะเดิมตามลัทธิเสรีนิยมเหมือนกันคือ  คว่ำกฎหมายของมลรัฐที่จะปลดปล่อยทาส  การปลดปล่อยทาสในสหรัฐอเมริกาเป็นการปลดปล่อยตามรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขครั้งที่สิบสาม  ความจริงฝ่ายการเมืองเขามีความคิดจะปลดปล่อยทาสก่อนมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้ว  แต่ศาลฎีกาสหรัฐคว่ำกฎหมายดังกล่าวในคดี  Dred Scott  โดยอ้างถึงสิทธิในลักษณะของเจ้าของทาส

  สำหรับ  Due Process  ได้แก่เครื่องคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ  เช่น  การจับ  การคุมขัง  การค้น  เป็นต้น  ก่อนที่จะพูดถึงเรื่องเหล่านี้ขอกล่าวถึงเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งคือ  แนวคิดเรื่อง  Bill of Rights  เพื่อทำให้เข้าใจเรื่องดังกล่าวง่ายเข้า

บรรณานุกรม

G.D. Nokes, An Introduction of Evidence, 3rd ed., London, Sweet and Maxwell, 1962.

Lowreng M. Friedman, A History of American Law, Bidliography, 1985.

Rupert Cross and Nancy Wilkins, An Outline of the Law of Evidence, 5th ed., London, Butterworths, 1980.

 


[1]ปิติกุล จีระมงคลพาณิชย์, งานวิจัยเสริมหลักสูตร เรื่อง “สิทธิของจำเลยกับการอำนวยความสงบสุขของรัฐ” ในวิชากฎหมายลักษณะพยาน (น.382)ของคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

http://www.ops.moj.go.th/sub/download/check_count.php?SystemModuleKey=mini110_download&FileID=1020

 

 

หมายเลขบันทึก: 509875เขียนเมื่อ 24 พฤศจิกายน 2012 14:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 พฤศจิกายน 2013 09:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

 "...ดังนั้น การที่องค์กรฝ่ายปกครองจะกระทำการทางปกครองเพื่อตอบสนองต่อประโยชน์มหาชนอันเป็นความต้องการส่วนรวมของประชาชนโดยมิให้กระทบต่อสิทธิเสรีภาพของเอกชนในด้านต่าง ๆ จนเกินขอบเขตแห่งความจำเป็นในอันที่จะรักษาไว้ซึ่งประโยชน์มหาชน ซึ่งเป็นเจตนารมณ์ของการปกครองในรัฐเสรีประชาธิปไตย จึงจำเป็นต้องมีระบบแห่งกฎเกณฑ์ทางกฎหมายที่จัดระเบียบราชการบริหารและที่กำหนดความสัมพันธ์ระหว่างหน่วยงานของรัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาหรือภายใต้การกำกับดูแลของรัฐบาล ซึ่งรวมเรียกว่า ฝ่ายปกครอง” กับเอกชน โดยระบบแห่งกฎเกณฑ์ทางกฎหมายดังกล่าวต้องรวมอยู่บนพื้นฐานของหลักการควบคุมการใช้อํานาจขององค์กรฝ่ายปกครอง ซึ่งหลักการดังกล่าวนี้ประเทศในภาคพื้นยุโรปในกลุ่มประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษเรียกหลักนี้ว่า The Rule of Law หลักนิติธรรม ในประเทศอังกฤษ หรือหลักศุภนิติกระบวน (due process of law) ในประเทศสหรัฐอเมริกา ในประเทศเยอรมันเรียกหลักนี้ว่า Des Rechtsstaatsprinzip ในประเทศฝรั่งเศสเรียกหลักนี้ว่า Etat du Droit ส่วนนักกฎหมายไทยเรียก หลักนี้ว่า “นิติรัฐ” ซึ่งถึงแม้ว่าชื่อหรือรายละเอียดจะแตกต่างไป แต่ยังคงมีหลักการที่มีลักษณะอย่างเดียวกัน..."


"หลักนิติรัฐ" ใน หลักกฎหมายปกครองวันละเรื่อง, 16 สิงหาคม 2555.

http://www.facebook.com/DroitAdministrative



พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท