รัฐบาลยิ่งลักษณ์ 3 กับอำนาจทั้งสามตามรัฐธรรมนูญ


รัฐบาลยิ่งลักษณ์ 3 กับอำนาจทั้งสามตามรัฐธรรมนูญ

 

  สถานการณ์บ้านเมืองก่อนสิ้นปี พ.ศ. ๒๕๕๕ นี้ เป็นที่น่าจับตาและเป็นที่สนใจของประชาชนโดยทั่วไปเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งวันชุมนุมของ "กลุ่มองค์การพิทักษ์สยาม" ในวันที่ 24 พฤศจิกายนนี้ นำโดย เสธ.อ้าย(พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์) เพราะมีปัจจัยเกื้อหนุนหลายๆ ด้านที่อาจทำให้สถานการณ์บ้านเมืองโดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานการณ์ทางการเมืองพลิกผันเปลี่ยนแปลงหรืออุณหภูมิทางการเมืองร้อนระอุขึ้น เป็นต้นว่า การบริหารราชการของรัฐบาลของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ล้มเหลว มีการคอร์รัปชั่นหรือฉ้อราษฎร์บังหลวงอย่างมากมาย โดยเฉพาะกรณีโครงการรับจำนำข้าวมีปัญหา ไม่โปร่งใสทำให้ประเทศเสียหาย การคอร์รัปชั่นงบช่วยเหลือน้ำท่วมในปีที่ผ่านมา เหตุผลเหล่านี้ที่เป็นเงื่อนไขที่กลุ่มองค์การพิทักษ์สยามอ้างในการระดมพลภาคประชาชนในการชุมนุมใหญ่ที่ลานพระบรมรูปทรงม้ารัชกาลที่ 5 ที่จะถึงนี้  และอีกเงื่อนไขหนึ่งก็คือ การเสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๑๒[๑] โดยเนื้อหาสาระมีอยู่ว่า "มาตรา ๑๑๒ ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จ ราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี" ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญและร้อนมากเพราะเป็นการแก้ไขสาระสำคัญของมาตรา ๑๑๒ อันเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้กลุ่มสีเสื้อต่าง ๆ ออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านในการแก้ไขในมาตรานี้ เพราะเป็นความรู้สึกและผลกระทบต่อจิตใจของประชาชนที่ไม่ยากให้แก้ไขในมาตรานี้ การเรียกร้องให้มีกฎหมายนิรโทษกรรมนักโทษในคดีการเมือง การปรับปรุง เปลี่ยนแปลง หรือปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) รวมไปถึงอดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยจำนวน ๑๑๑ คน (พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร รวมอยู่ด้วย) หรือบ้านเลขที่ ๑๑๑ ที่หลุดพ้นการเพิกถอนสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา ๕ ปีในเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๕ ที่ผ่านมานี้ ตามคำวินิจฉัยในคดียุบพรรคการเมือง เมื่อวันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๕๐ ของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ที่ได้รับการแต่งตั้งโดย คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ซึ่งกระทำรัฐประหาร ในรัฐบาลของพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร เมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๔๙ อย่างไรก็ตาม บ้านเมืองจะอยู่อย่างสงบสุข เกิดความสามัคคีปรองดองกันได้ ก็ต้องอาศัยประชาชนคนไทยทุกคน ช่วยสร้างบรรยากาศที่ดีให้เกิดขึ้นในสังคมไทยให้ได้โดยยึดหลักของกฎหมายของบ้านเมืองเป็นหลัก เคารพสิทธิของคนอื่น ให้เกียรติซึ่งกันและกัน ผู้มีอำนาจหรือผู้บริหารบ้านเมือง ก็จะต้องยึดหลักความถูกต้อง ให้ความเป็นธรรมในการใช้กฎหมายบังคับอย่างเสมอภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รัฐบาลของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กับอำนาจทั้งสามตามรัฐธรรมนูญ คือ อำนาจบริหาร ตุลาการ และนิติบัญญัติ เป็นอำนาจสูงสุดที่จะชี้ชตากรรมของประเทศว่าจะพัฒนาไปในทิศทางไหน ให้เจริญก้าวหน้าเทียบเท่ากับอารยประเทศ เพราะฉะนั้นรัฐบาล ในฐานะผู้บริหาร นักการเมืองและข้าราชการ  จะต้องมีคุณธรรมและจริยธรรมในการบริหารราชการบ้านเมือง ให้เกิดความโปร่งใส ตรวจสอบได้ ด้วยความซื่อสัตย์ และสุจริต[๒] คือ ความประพฤติดีประพฤติชอบ และประพฤติถูกต้องตามคลองธรรม มีอยู่ ๓ คือ

๑.กายสุจริต คือ ประพฤติชอบด้วยกายคือ การทำความดีทางกาย เช่น เป็นผู้เสียสละทรัพย์ส่วนตัว เพื่อประโยชน์สุขแก่ส่วนรวม และเสียสละความสุขส่วนตน เพื่อความสุขของผู้อื่น

๒.วจีสุจริต  คือ  ประพฤติชอบด้วยวาจาคือ การทำความดีทางวาจา พูดจาไพเราะ พูดแต่ความจริง พูดยกย่องเพื่อน พูดให้กำลังใจผู้อื่น และไม่ควรพูดสิ่งที่จะเป็นการสร้างประเด็นความขัดแย้ง ที่เป็นบ่อเกิดให้สังคมเกิดความแตกแยกมากยิ่งขึ้น เป็นต้น

๓.มโนสุจริต  คือ  ประพฤติชอบด้วยใจคือ การทำความดีทางใจ เช่น ปรารถนาให้ผู้อื่นมีความสุข คิดแต่สิ่งที่ดีงามถูกต้อง  เป็นต้น

 ผู้บริหารประเทศ นักการเมือง และข้าราชการ จะต้องเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมให้สังคมสามารถตรวจสอบในการทำงานเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินได้ในฐานะเป็นบุคคลสาธารณะ ได้รับค่าตอบแทนซึ่งเป็นภาษีอากรของประชาชนโดยทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้บริหารประเทศ นักการเมืองทุกระดับ และข้าราชการ จะต้องเป็นผู้บริหาร ที่อยู่ในฐานะที่เป็น ครู เป็นเพื่อน เป็นพี่เลี้ยง และเป็นแบบอย่างที่ดี ความเป็นมา และความสัมพันธ์ของอำนาจทั้งสาม คือ

๑. อำนาจทางนิติบัญญัติ

  นักรัฐศาสตร์ได้กล่าวถึง อำนาจทางนิติบัญญัติ อยู่ ๒ ลักษณะคือ สถาบันนิติบัญญัติกับอำนาจนิติบัญญัติ ซึ่งจะกล่าวถึงทั้ง ๒ ลักษณะดังนี้

  ๑. สถาบันนิติบัญญัติ เป็นสถาบันที่รับผิดชอบต่อกระบวนการบัญญัติกฎหมายเป็นสำคัญ ประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยมีองค์กรที่ทำหน้าที่บัญญัติกฎหมาย คือ รัฐสภา (Parliament) เพราะถือว่ารัฐสภาเป็นสถาบันที่แสดงเจตนารมณ์ทั่วไปของประชาชน เพราะฉะนั้นการตราพระราชบัญญัติจึงถูกกำหนดโดยรัฐธรรมนูญ ให้ผ่านกระบวนการพิจารณาและแสดงความเห็นชองโดยรัฐสภา ถ้ารัฐสภาให้ความเห็นชอบผ่านร่างพระราชบัญญัติก็เป็นผลให้ร่างพระราชบัญญัตินั้นได้รับการตราให้เป็นกฎหมายออกมาบังคับใช้[๓]

สถาบันนิติบัญญัติมีหน้าที่หลักคือ การออกกฎหมาย ซึ่งเป็นกลไกที่สำคัญในการบริหารและปกครองประเทศ ส่วนหน้าที่รองได้แก่ หน้าที่เป็นตัวแทนของประชาชน ได้แก่ การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน การแสดงเจตนารมณ์ของประชาชนและเจตนารมณ์ของตนเอง หน้าที่ต่อมาก็คือ หน้าที่ในการควบคุมการทำงานของรัฐบาล ในระบบรัฐสภา[๔] อันหมายถึง การสอดส่องดูแลการปฏิบัติงานของคณะรัฐมนตรีหรือฝ่ายบริหารด้วยวิธีการที่รัฐธรรมนูญได้กำหนดไว้คือ การตั้งกระทู้ถาม การขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อให้คณะรัฐมนตรีแถลงข้อเท็จจริง หรือแสดงความคิดเห็นในปัญหาอันเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดิน เป็นต้น[๕]

  นอกจากนั้นสถาบันนิติบัญญัติยังมีอำนาจในการให้ความเห็นชอบ เป็นผู้มีอำนาจในการพิจารณาให้ความเห็นชอบในเรื่องสำคัญที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของแผ่นดินในกรณีต่าง ๆ เช่น การให้ความเห็นชอบในการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในการสืบราชสมบัติ ในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติต่างๆ เป็นต้น

  ๒. อำนาจนิติบัญญัติ[๖] เป็นอำนาจในการบัญญัติกฎหมาย สถาบันทางการเมืองที่มีอำนาจในทางนิติบัญญัติ คือ สถาบันรัฐสภา หลักการสำคัญของระบบรัฐสภา ประกอบด้วย ๓ หลักการคือ

 ๑) หลักการแบ่งแยกอำนาจ อันเป็นหลักการสำคัญของการปกครองระบอบเสรีนิยมประชาธิปไตย ที่สำคัญคือ การแบ่งแยกอำนาจทางการเมืองเป็นการแบ่งแยกอำนาจเพื่อเป็นหลักประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชน ป้องกันผู้มีอำนาจใช้อำนาจในทางที่ผิด อันเป็นที่มาของการแบ่งแยกอำนาจออกเป็นสามส่วนคือ นิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ

 ๒) หลักการมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นหลักการส่วนหนึ่งของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่มีความสัมพันธ์กับประชาชน ในส่วนของการมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่ประชาชนเลือกตัวแทนเข้าในรัฐสภาเพื่อเป็นตัวแทนของประชาชนทั้งประเทศ อันสะท้อนถึงความสัมพันธ์กับชาติ มติของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร คือ มติของประเทศ เป็นต้น

 ๓) หลักการตามกฎหมายที่กฎเกณฑ์ทางกฎหมาย ทำให้เป็นที่ยอมรับอย่างถ้วนหน้า กฎหมายที่มาจากรัฐสภามีศักดิ์ศรีเหนือกว่ากฎหมายอื่น ยกเว้นกฎหมายรัฐธรรมนูญที่มีกระบวนการดำเนินการจัดทำแตกต่างจากกฎหมายฉบับอื่น อันแสดงถึงหลักการของระบบเสรีนิยม

๒.อำนาจทางตุลาการ

  หลักตุลาการ สามารถกล่าวได้ ๒ ประเด็น เช่นเดียวกับหลักนิติบัญญัติ กล่าวคือ

    ๑. สถาบันตุลาการ สถาบันตุลาการมีหน้าที่โดยตรงในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพตามหลักกฎหมายของประชาชน ดังนั้นผู้พิพากษาซึ่งเป็นตัวจักรสำคัญในกระบวนการยุติธรรม จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะผดุงไว้ซึ่งหลักการดังกล่าว ผู้พิพากษาจะต้องมีหลักการที่จะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความชื่อสัตย์ เป็นกลางและปราศจากอคติใดๆ รวมทั้งต้องมีความรู้และประสบการณ์ทางด้านกฎหมายเป็นอย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้พิพากษาต้องไม่เป็นผู้ที่ผูกพันหรือถูกกดดันต่อสถาบันอื่นใด สถาบันนี้จึงเป็นที่พึ่งของประชาชนในกรณีที่เกิดความขัดแย้งหรือความผิดขึ้น ตุลาการจึงต้องใช้อำนาจอย่างบริสุทธิ์ ยุติธรรม และเสมอภาคต่อคนทุกๆ ชนชั้นและสาขาอาชีพ และทั่วทุกแห่งภายในอาณาเขตของรัฐนั้น บทบาทอื่นๆ ของฝ่ายตุลาการ ประกอบด้วย การตีความกฎหมาย การกำหนดกฎเกณฑ์ในกระบวนการยุติธรรม สร้างขนบธรรมเนียมประเพณีแห่งศาล ให้คำแนะนำของศาล และเป็นกระบวนการสุดท้ายในการสร้างความมั่นคงและผดุงไว้ซึ่งความยุติธรรม[๗]

  ๒. อำนาจตุลาการ[๘] คืออำนาจในการอำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชนทั่วหน้ากัน เพื่อให้เกิดความสงบสุขในการดำรงชีวิต เป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องรักษาความยุติธรรมตามกฎหมาย การปฏิบัติหน้าที่ของรัฐดังกล่าวนี้เป็นหน้าที่ของศาล ซึ่งมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีหรือกล่าวอีกนัยหนึ่งศาลเป็นผู้ใช้อำนาจตุลาการ

๓. อำนาจทางบริหารและตุลาการเปรียบเทียบกับหลักประชาธิปไตย

  ถ้าพิจารณากำเนิดของกษัตริย์ตามที่ปรากฏในอัคคัญญสูตรก็จะเห็นว่ากษัตริย์มีอำนาจเพราะประชาชน และประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยอย่างแท้จริง กษัตริย์เป็นเพียงมหาชนสมมติ คือ มหาชนยกขึ้นเพื่อให้ใช้อำนาจนั้น  ข้อนี้คงเป็นที่มาของประชาธิปไตยได้ แต่ลำพังการที่ประชาชนมอบอำนาจให้แก่บุคคลใดนั้นยังหานับเป็นประชาธิปไตยเสมอไปไม่ เพราะในระบบของโธมัส ฮอบส์ อำนาจก็เป็นของประชาชน และประชาชนมอบให้แก่ผู้ปกครองหรืออธิปัตย์ แต่ระบบนั้นก็เป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เพราะอำนาจนั้นอธิปัตย์ใช้ได้โดยสิทธิ์ขาด ประชาชนไม่มีสิทธิ์เข้าไปตรวจสอบหรือเรียกเอาอำนาจคืนได้ นั่นคือประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจแต่ประชาชนมิได้มีส่วนแห่งการใช้อำนาจนั้น โดยเฉพาะอำนาจที่แสดงถึงการปกครองตนเองคือ อำนาจนิติบัญญัติ ดังนั้น หากระบบการเมืองในพระพุทธศาสนาเป็นประชาธิปไตยจริงก็ต้องตัดสินได้ด้วยเกณฑ์ข้อนี้ ในอัคคัญญสูตรจะเห็นได้ว่ากษัตริย์ทรงใช้อำนาจตุลาการ คือ ตัดสินข้อขัดแย้งต่างๆ และอ้างถึงอำนาจบริหารด้วยคือ เป็นผู้ทำให้ประชาชนพอใจ จึงใช้คำเรียกกษัตริย์ว่า “ราชา” แต่อำนาจทั้งสองนั้นก็อยู่ในมือคนคนเดียว ซึ่งไม่ต่างอะไรกับระบอบสมบูรณาญาธิราชย์ จึงต้องพิจารณาดูอำนาจอีก อำนาจหนึ่ง คืออำนาจนิติบัญญัติ อำนาจทั้ง ๓ ตามแนวพระพุทธศาสนา มีดังนี้[๙]

๑. ด้านนิติบัญญัติ ในสังคมสงฆ์ มีการบัญญัติพระวินัยเพื่อใช้ปกครองสงฆ์หรือใช้เป็นหลักปฏิบัติของพระภิกษุ แต่พระวินัยนั้นเป็นพุทธบัญญัติทั้งหมดหาใช่สงฆ์หรือผู้แทนของสงฆ์เป็นผู้บัญญัติ อย่างที่รัฐสภาเป็นผู้บัญญัติกฎหมายในระบอบประชาธิปไตยไม่ จุดประสงค์ในการบัญญัติพระวินัยก็เพื่อให้สงฆ์อยู่ร่วมกันด้วยดี พ้นจากมลทินและกิเลสต่างๆ ทำให้ประชาชนเกิดความเลื่อมใสและเป็นเครื่องส่งเสริมการปฏิบัติธรรมดังข้อความว่า

  “ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแล เราจักบัญญัติสิกขาบทแก่ภิกษุทั้งหลาย อาศัยอำนาจประโยชน์  ๑๐ ประการ คือ เพื่อความดีแห่งสงฆ์ ๑ เพื่อความสำราญแห่งสงฆ์ ๑ เพื่อข่ม

ผู้เก้อยาก ๑ เพื่ออยู่สำราญแห่งภิกษุผู้มีศีลเป็นที่รัก ๑ เพื่อป้องกันอาสวะอันจักบังเกิดในปัจจุบัน ๑ เพื่อกำจัดอาสวะ อันจักบังเกิดในอนาคต ๑ เพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส ๑ เพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว ๑ เพื่อความตั้งมั่นแห่งพระสัทธรรม ๑ เพื่อถือตามพระวินัย ๑”

  ๒. ด้านการบริหาร ในสมัยเมื่อยังมีพระสาวกไม่มากนักพระพุทธองค์ทรงบริหารพระศาสนาด้วยพระองค์เอง โดยมีพระสาวกที่สำคัญ เช่น พระสารีบุตร และพระมหาโมคคัลลานะช่วยแบ่งเบาภาระบ้างตามความจำเป็น ต่อมาเมื่อมีพระสาวกเพิ่มขึ้นและมีผู้ขอเข้าอุปสมบทโดยให้ผู้ขอบวชเปล่ง วาจาถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ ครั้นต่อมาเมื่อภิกษุเพิ่มขึ้นอีก ทรงมอบความเป็นใหญ่ให้แก่สงฆ์ในการทำกิจกรรมทั้งปวงของพระพุทธศาสนา เช่น การให้บรรพชาอุปสมบท การกรานกฐิน การกำหนดเขตสีมา การระงับอธิกรณ์ เป็นต้น ซึ่งเท่ากับมอบให้สงฆ์เป็นผู้บริหารงานพระศาสนาตามระเบียบที่ได้ทรงกำหนดไว้นั่นเอง ส่วนการบริหารคณะสงฆ์ในรูปองค์กร เช่น มหาเถรสมาคมนั้นไม่บัญญัติในพระวินัยแต่ก็มิได้ขัดพระวินัย

  ๓. ด้านตุลาการ สถาบันตุลาการทางพระพุทธศาสนามีลักษณะบางอย่างคล้ายกับสถาบันตุลาการทางอาณาจักร มีกฎหรือระเบียบที่สังคมว่าไว้เป็นบรรทัดฐานแห่งการกระทำของบุคคลในสังคม ป้องกันไม่ให้มีการกระทำหรือความประพฤติที่เป็นปฏิปักษ์ต่อความสงบสุขของสังคม ฝ่ายอาณาจักรมีกฎหมายเป็นหลักในการปกครอง ส่วนฝ่ายพุทธจักรมีธรรมวินัยเป็นหลัก ทั้งฝ่ายอาณาจักร และพุทธจักรมีกระบวนการพิจารณาคดีหรืออธิกรณ์ และมีวิธีลงโทษตามโทษานุโทษ แต่ลักษณะการลงโทษตามพระวินัยกับโทษของกฎหมายบ้านเมืองมีข้อแตกต่างกันมาก ความผิดที่ร้ายแรงบางอย่างของบรรพชิต เช่น ความผิดทางเพศ สำหรับฝ่ายอาณาจักรอาจไม่ถือว่าผิด  การเปรียบเทียบลักษณะการปกครองของฝ่ายอาณาจักรกับฝ่ายพุทธจักรซึ่งมีรูปแบบตามระบอบของประชาธิปไตย ๓ สถาบันหลัก คือ[๑๐]

  ๑. สถาบันนิติบัญญัติ ก็คือรัฐสภาที่มีหน้าที่คือตราพระราชบัญญัติโดยวิธีประชุมกันพิจารณาร่างพระราชบัญญัติที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือรัฐบาลเสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภา ใช้ระบบเสียงส่วนใหญ่เป็นมติในการชี้ขาด พระวินัยเป็นพุทธบัญญัติทั้งหมด ส่วนคณะสงฆ์ไม่มีอำนาจในการบัญญัติ เพียงแต่มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามพระวินัยหรือพุทธบัญญัติ

  การตราพระราชบัญญัติ หรือออกกฎหมายของสถาบันนิติบัญญัติมี ๒ ลักษณะ คือ

    ก. การตราพระราชบัญญัติ เพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำความผิดซ้ำอีก คือเมื่อมี เหตุการณ์เกิดขึ้นแล้ว จึงออกกฎหมาย

    ข. การตราพระราชบัญญัติเพื่อป้องกันล่วงหน้า คือเหตุการณ์ที่จะก่อความเสียหายยังไม่เกิดขึ้น แต่คาดว่าจะเกิดขึ้นจึงออกกฎหมายไว้ล่วงหน้า

  กฎหมายรัฐธรรมนูญ เป็นกฎหมายหลักหรือกฎหมายสูงสุดของการปกครองในทางโลก ส่วนพระวินัยในพระปาฏิโมกข์ เป็นหลักในการปกครองคณะสงฆ์ พระวินัยแต่ละสิกขาบทมีบทบัญญัติระบุโทษแก่ผู้ละเมิดไว้ แต่กฎหมายรัฐธรรมนูญ ไม่มีบทบัญญัติระบุโทษควบคู่ไปด้วย แต่ไม่ระบุโทษแก่ผู้ละเมิดไว้ในกฎหมายอื่นที่ออกตามความในกฎหมายรัฐธรรมนูญ จึงมีส่วนคล้ายประมวลกฎหมายมากกว่า การแบ่งกฎหมายทางโลกแบ่งเป็น ๒ ประเภทใหญ่ ๆ คือ กฎหมายเอกชน กฎหมายมหาชน แต่พระวินัยจะมีลักษณะของกฎหมายเอกชน และกฎหมายมหาชนรวมกันอยู่

  อาบัติปาราชิก ถ้าเป็นกฎหมายทางโลกจัดว่าเป็นความผิดทางอาญา ซึ่งละเมิดย่อมมีบทบัญญัติลงโทษตามควรแก่กรณี แต่พุทธบัญญัติทรงปรับอาบัติปาราชิกก็คือการขาดจากความเป็นภิกษุซึ่งจะเข้ามาบวชอีกมิได้ ซึ่งเท่ากับโทษประหารชีวิตนั้นเอง ส่วนเจตนารมณ์ในการบัญญัติกฎหมายและพระวินัย เจตนารมณ์ของการบัญญัติกฎหมายคือเพื่อเป็นหลักการปกครองประเทศ หรือบริหารสังคมให้ดำเนินไปอย่างมีระเบียบและมีความสงบสุขตลอดจนเพื่อให้สังคมเจริญรุ่งเรืองและก้าวหน้าไปได้อย่างไม่ติดขัด อันจะอำนวยให้ปัจเจกบุคคลสามารถดำรงและดำเนินชีวิตไปได้ตามปกติและอย่างมีความสงบสุขตามควรแก่อัตภาพ

๒. สถาบันบริหาร ระยะเริ่มแรกทรงจัดการบริหารด้วยพระองค์เอง และทรงมีพระสารีบุตรอัครสาวกเบื้องขวา และพระมหาโมคคัลลานะอัครสาวกเบื้องซ้าย แบ่งเบาภาระระยะหลังทรงมอบความเป็นใหญ่ให้กับคณะสงฆ์ในการทำสังฆกรรมต่าง ๆ เช่น พิธีอุปสมบท, การกำหนดเขตสีมา กฐิน ปาฏิโมกข์ เป็นต้น มติทางโลกเสียงข้างมาก แต่มติคณะสงฆ์ต้องเป็นเอกฉันท์แม้ภิกษุทักท้วงเพียง ๑ รูปก็ต้องทบทวนมติใหม่ ทรัพย์สินของสงฆ์ ภิกษุอยู่อาวาสเดียวกันเป็นเจ้าของร่วมกันภิกษุรูปใดรูปหนึ่งจะถือเอาทรัพย์สินเป็นส่วนตัวไม่ได้ เว้นแต่จะได้รับการอนุมัติจากสงฆ์ สงฆ์มีความหมายกว้าง ไม่มีลักษณะแน่นอนตายตัว เช่น ภิกษุในอาวาสหนึ่งประชุมกันทำกิจกรรม ก็เป็นกิจของสงฆ์ ถ้ามี ๑๐๐ วัด สงฆ์ก็มี ๑๐๐ กลุ่ม หรือคณะ (โบราณถือว่าหนึ่งอาวาสก็คือหนึ่งประเทศ หรือองค์กรหนึ่ง)

  ๓. สถาบันตุลาการ กระบวนการตุลาการในระบอบการปกครองฝ่ายอาณาจักรเรียกว่า คดี ในทางพระวินัยเรียกว่า อธิกรณ์ คือ เรื่องที่เกิดขึ้นแล้วจะต้องจัดต้องทำ ศาลยุติธรรมทำหน้าที่ วินิจฉัยและพิพากษาอรรถคดีให้สอดคล้องกับกฎหมาย สงฆ์ทำหน้าที่ วินิจฉัยและพิพากษาอรรถคดีให้สอดคล้องกับพระวินัย การทำหน้าที่ของสงฆ์ในการเป็นสถาบันตุลาการเมื่อมีอธิกรณ์เกิดขึ้น ๔ ประการ คือ

    ๑) วิวาทาธิกรณ์ การวิวาทกันของภิกษุในเรื่องพระธรรมวินัยสงฆ์จะวินิจฉัยว่าฝ่ายไหนผิดฝ่ายไหนถูก เช่น วิวาทกันว่า สิ่งนี้เป็นธรรมเป็นวินัย สิ่งนี้ไม่ใช่ธรรมไม่ใช่วินัย เป็นต้น ดังนั้น สงฆ์พึงระงับด้วยสัมมุขาวินัย และเยภุยยสิกา

  ๒) อนุวาทาธิกรณ์ การกล่าวโจทกันด้วยอาบัติ เช่น การฟ้องร้องกล่าวหาว่าภิกษุต้องอาบัติ ผู้วินิจฉัยพึงใช้หลักสัมมุขาวินัย สติวินัย อมูฬหวินัย และตัสสปาปิยสิกา ข้อใดข้อหนึ่งเป็นเครื่องตัดสิน

  ๓) อาปัตตาธิกรณ์ อาบัติที่ภิกษุต้องแล้ว (ได้ทำลงไปแล้ว) การปรับอาบัติ และการแก้ไขตัวให้พ้นจากอาบัติ ด้วยวิธีปลงอาบัติ หรืออยู่กรรม เป็นต้น คณะผู้วินิจฉัยพึงใช้หลัก  สัมมุขาวินัย ปฏิญญาตกรณวินัย และติณวัตถารกวินัย ข้อใดข้อหนึ่งเป็นเครื่องตัดสิน

  ๔) กิจจาธิกรณ์ กิจที่เกิดขึ้นที่สงฆ์ต้องทำ ทั้งรับเข้าหมู่ เช่น พิธีอุปสมบท การลงโทษ เช่น นิคหกรรม เป็นต้น กิจจาธิกรณ์นี้ สงฆ์พึงระงับด้วย สัมมุขาวินัย

นอกจากนั้นแล้วถ้าภิกษุรูปใดกระทำผิดพระพุทธองค์จะไต่สวนหาความผิด แล้วจึงตัดสินพิพากษา ถ้าหากสิกขาบท (กฎหมาย) ใดไม่มี ก็ทรงเรียกประชุมสงฆ์แล้วแจ้งเหตุที่เกิดขึ้นและปรับแก้สิกขาบทนั้นใหม่ (ตรากฎหมายใหม่) การบัญญัติครั้งแรก เรียกว่า มูลบัญญัติ หรือบัญญัติเดิม ส่วนข้อแก้ไขเพิ่มเติมเรียกว่า อนุบัญญัติ[๑๑] 

อธิกรณสมถะ[๑๒] คือ ธรรมเครื่องระงับอธิกรณ์ สิกขาบทสำหรับระงับอธิกรณ์ หรือวิธีดำเนินการเพื่อระงับอธิกรณ์ให้เสร็จสิ้นอย่างถูกต้องเหมาะสม มี ๗ อย่างคือ

  ๑) สัมมุขาวินัย คือ วิธีระงับในที่พร้อมหน้า ต่อหน้า ได้แก่ การระงับอธิกรณ์ในที่พร้อมหน้า ๔ ประการคือ

  ๑.๑) สังฆสัมมุขตา ภิกษุเข้าประชุมครบองค์สงฆ์

  ๑.๒) ปุคคลสัมมุขตา บุคคลที่เกี่ยวข้องในเรื่องนั้นอยู่พร้อมหน้า

  ๑.๓) วัตถุสัมมุขตา ยกเรื่องที่เกิดนั้นขึ้นวินิจฉัย

  ๑.๔) ธัมมสัมมุขตา และวินยสัมมุขตา นำเอาหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ตามพระธรรมวินัยมาใช้ปฏิบัติ ได้แก่ วินิจฉัยถูกธรรมถูกวินัย

  สัมมุขาวินัยนี้ใช้เป็นเครื่องระงับอธิกรณ์ได้ทุกเรื่อง

  ๒) สติวินัย คือ วิธีระงับอธิกรณ์ถือสติเป็นหลัก ได้แก่กิริยาที่สงฆ์สวดประกาศให้สมมติแก่พระอรหันต์ว่าเป็นผู้มีสติเป็นหลัก ได้แก่ กิริยาที่สงฆ์สวดประกาศให้สมมติแก่พระอรหันต์ว่าเป็นผู้มีสติเต็มที่เพื่อระงับอนุวาทาธิกรณ์ที่มีผู้โจทค้านด้วยศีลวิบัติ หมายความว่า จำเลยเป็นพระอรหันต์ สงฆ์เห็นว่าไม่เป็นฐานะที่จำเลยจะทำการล่วงละเมิดดังโจทก์กล่าวหา จึงสวดกรรมวาจาประกาศความข้อนี้ไว้ เรียกว่า ให้สติวินัยแล้วยกฟ้องของโจทก์เสีย ภายหลังจำเลยจะถูกผู้อื่นโจทด้วยอาบัติอย่างนั้นอีก ก็ไม่ต้องพิจารณาให้อธิกรณ์ระงับด้วยสติวินัย

  ๓) อมูฬหวินัย คือ วิธีตัดสินที่ให้แก่ภิกษุผู้หายเป็นบ้าแล้ว ได้แก่ กิริยาที่สงฆ์สวดประกาศให้สมมติแก่ภิกษุผู้หายเป็นบ้าแล้ว เพื่อระงับอนุวาทาธิกรณ์ อธิบายว่า จำเลยเป็นบ้าทำการล่วงละเมิดอาบัติแม้จะเป็นจริงก็ไม่ต้องอาบัติ เมื่อหายบ้าแล้ว มีผู้โจทด้วยอาบัติระหว่างเป็นบ้านั้นไม่รู้จบ ท่านให้สงฆ์สวดกรรมวาจาประกาศความข้อนี้ไว้เรียกว่า อมูฬหวินัย ยกฟ้องของโจทเสีย ภายหลังมีผู้โจทด้วยอาบัตินั้นหรืออาบัติเช่นนั้นในคราวที่เป็นบ้า ก็ให้อธิกรณ์ เป็นอันระงับด้วยอมูฬหวินัย

๔) ปฏิญญาตกรณะ คือ วิธีตัดสินโดยปรับโทษตามคำสารภาพ ได้แก่ ปรับอาบัติตามปฏิญญาของจำเลยผู้รับเป็นสัตย์ การแสดงอาบัติก็จัดเข้าในข้อนี้

๕) เยภุยยสิกา คือ วิธีตัดสินโดยอาศัยเสียงข้างมาก ได้แก่ วิธีตัดสินอธิกรณ์โดยถือเอาตามคำของคนข้างมาก เช่น วิธีจับสลากเพื่อชี้ข้อผิดถูก ข้างไหนมีภิกษุผู้ร่วมพิจารณาลงความเห็นมากกว่าก็ถือเอาพวกข้างนั้น เป็นวิธีอย่างเดียวกับการเลือกตั้งคะแนนเสียงของทางโลก

  ๖) ตัสสปาปิยสิกา คือ วิธีตัดสินโดยปรับโทษแก่ผู้ทำความผิดเป็นกรรมอันสงฆ์พึงทำเพราะความที่ภิกษุนั้นเป็นผู้เลวทราม กรรมนี้สงฆ์ทำแก่ภิกษุผู้เป็นจำเลยอนุวาทาธิกรณ์ ให้การกลับไปกลับมา เดี๋ยวปฏิเสธ เดี๋ยวสารภาพ พูดกลบเกลื่อนข้อความที่ถูกซัก พูดมุสาซึ่งหน้า สงฆ์ทำกรรมนี้เป็นการลงโทษตามความผิด แม้ว่าจะไม่รับสารภาพ หรือเพื่อเพิ่มโทษจากอาบัติที่ต้อง

  ๗) ติณวัตถารกวินัย คือ ระเบียบวิธีระงับอธิกรณ์ดังกลบไว้ด้วยหญ้า ได้แก่ กิริยาที่ให้ประนีประนอมกันทั้งสองฝ่าย ไม่ต้องชำระสะสางหาความเดิม เป็นวิธีระงับอาปัตตาธิกรณ์ ที่ใช้ในเรื่องจะระงับลหุกาบัติที่เกี่ยวกับภิกษุจำนวนมาก ต่างก็ประพฤติไม่สมควรและซัดทอดกันเป็นเรื่องสลับซับซ้อน ชวนให้ทะเลาะวิวาท กล่าวซัดคำล้ำเลิกกันไม่มีที่สิ้นสุด จะระงับด้วยวิธีอื่นก็จะเป็นเรื่องลุกลามไป เพราะถ้าจะสืบสวนปรับให้กันและกันแสดงอาบัติก็มีแต่จะทำให้อธิกรณ์รุนแรงยิ่งขึ้นจึงระงับเสีย ด้วยติณวัตถารกวิธี โดยการยกเลิก ไม่สะสางอีก

  กล่าวโดยสรุป การแบ่งแยกอำนาจออกเป็นสามฝ่ายมีอยู่จริงในพระพุทธศาสนา แต่การแบ่งอำนาจทำนองเดียวกันนี้อยู่ในระบอบการปกครองอื่น ๆ ที่มิใช่ประชาธิปไตย ความเป็นประชาธิปไตยของการแบ่งแยกอำนาจในระบอบประชาธิปไตยนั้นอยู่ที่การคานอำนาจระหว่างกัน เพื่อให้ประชาชนได้รับความปลอดภัยจากรัฐ และควบคุมการปฏิบัติงานของรัฐให้เป็นไปตามกฎหมายซึ่งประชาชนเป็นผู้บัญญัติ ลำพังการแบ่งแยกอำนาจจะถือว่าเป็นลักษณะประชาธิปไตยไม่ได้ หากแต่เป็นความจำเป็นทางสังคมที่จะต้องคำนึงถึงกฎเกณฑ์การทำตามกฎเกณฑ์และการตัดสินปัญหาด้วยกฎเกณฑ์ซึ่งเป็นเรื่องที่มีอยู่ทุกสังคมการที่จะตัดสินว่าการแบ่งอำนาจเช่นนี้แสดงความเป็นประชาธิปไตยหรือไม่

  ส่วนพระวินัย คือ กฎหมายที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติขึ้นเพื่อป้องกันการละเมิดและการกระทำผิดในครั้งต่อไปของพระภิกษุ จะเห็นได้ว่าพระพุทธเจ้า พระองค์ทรงบัญญัติพระวินัยในกรณีที่พระภิกษุรูปนั้น ๆ กระทำผิดที่เป็นสาเหตุให้พระพุทธศาสนาของพระองค์มัวหมอง ทำให้พุทธศาสนิกชนขาดศรัทธาที่จะทำนุบำรุง และขาดความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาของพระองค์ จึงทรงบัญญัติข้อห้ามไว้เพื่อป้องปรามพระภิกษุรูปอื่นที่จะละเมิดและกระทำผิดในอนาคตเช่นนั้นอีก พระองค์จะไม่ทรงบัญญัติพระวินัยขึ้นบังคับก่อนเหตุการณ์จะเกิดขึ้น จะบัญญัติพระวินัยเพื่อลงโทษพระภิกษุรูปนั้น ๆ หลังกระทำผิดแล้ว เพื่อไม่ให้ภิกษุรูปอื่นยึดถือเป็นเยื้องอย่างในการกระทำผิดต่อไป แต่ในยุคต่อมา จนถึงยุคปัจจุบัน การจะควบคุมพระภิกษุ สามเณร ที่ละเมิดพระวินัย โดยอาศัยพระวินัยอย่างเดียวมาควบคุมลงโทษคงไม่เพียงพอ จะต้องอาศัยกฎหมายของบ้านเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กฎหมายปกครองคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. ๒๕๓๕ มาควบคุมพฤติกรรมของพระภิกษุที่ละเมิดพระวินัยและกฎหมายต่อไป



  [๑] รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐

  [๒] พระธรรมปิฎก, พจนานุกรมพุทธศาสน์, มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, หน้า ๓๔๕.

  [๓]ประจักษ์ พันธ์ชูเพชร. การเมืองการปกครองไทย : มิติทางประวัติศาสตร์ และสถาบันทางการเมือง. พิมพ์ครั้งที่ ๓. (กรุงเทพมหานคร: มายด์ พับลิชชิ่ง, ๒๕๔๓), หน้า ๑๙๙.

  [๔]ณัชชาภัทร อุ่นตรงจิตร. รัฐศาสตร์. พิมพ์ครั้งที่ ๔. (กรุงเทพมหานคร: ด่านสุทธาการพิมพ์, ๒๕๔๙), หน้า ๑๕๓.

หมายเลขบันทึก: 509604เขียนเมื่อ 22 พฤศจิกายน 2012 09:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 ธันวาคม 2012 22:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท