“ผลไม้ป่า” โปรดรักษาไว้..สายพันธุ์ของโลก (๑)


ต้นจำปูลิ่ง...บ่งชี้ "สถานภาพของป่า" มีนัยว่าถ้ายังมีผลไม้ชนิดนี้อยู่ แสดงว่ายังคงมีป่าใหญ่อยู่ในพื้นที่ แต่ปัจจุบันนี้ ป่าถูกทำลาย ต้นจำปูลิงถูกโค่น ต้นไม้จึงบ่งชี้ "ความพร่องของคน เห็นแต่ประโยชน์ส่วนตน โค่นทำลายต้นไม้ที่เติบโตคู่ป่าใหญ่

 ผลไม้ป่า" ...โปรดรักษาไว้ ...สายพันธุ์ของโลก (๑) 



ท่ามกลางวิถีชีวิตที่เร่งรีบในตลาดเช้า  หากแต่ “ครูพื้นที่” เหลียวมองดูสรรพสิ่งอย่างเพลินตา สัมผัส เก็บภาพเบื้องหน้าโน่นก็พืชผัก นี่ก็ผลไม้ มองซ้ายขวาเพ่งมองไปมา  เอ๊ะ..นี่ผลอะไร?? ประทับ ใจ ผลไม้ชนิดหนี่งที่วางกองรวมไว้กับเพื่อนไม้ผลชนิดอื่น  มิรู้จักในเบื้องต้น แต่นึกเทียบเคียงทันควันกับผลไม้ที่คุ้นเคย  ดูจะมีส่วนคล้ายและส่วนที่แตกต่าง  คล้ายๆกับ “มะไฟ” ลักษณะของก้านช่อ และการจัดเรียงตัวของผลเล็กๆ ในช่อ  หากแต่มะไฟ มีลูกโตกว่า เปลือกหนากว่า รสชาติหน่ะหรือ??..เชิญชวน


จำปูลิ่ง จำปูรี จำไหร หรือ มะไฟลิง”  เป็นชื่อที่รู้จัก และเรียกต่างกันในแต่ละพื้นถิ่น สมัยก่อนจัดว่าเป็นผลไม้ที่พบเห็นได้เป็นประจำในฤดูไม้ผล แถบพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้  สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส  โดยเฉพาะผลสุก เริ่มมีทยอย ออกมาให้เห็นชุกในเดือน กรกฏาคม สิงหาคม เรื่อยมาถึงกันยายน ปัจจุบันมีน้อยลง หาทานยากขึ้น




ลักษณะผล สีเหลืองอมส้ม ผลค่อนข้างกลม แต่ลักษณะเป็นสันเล็กน้อย ดูเหมือนมีรอยต่อ ทำให้แตกออกง่าย มีขนาดเล็กกว่ามะไฟเล็กน้อย  ส่วนในเรื่องก้านช่อที่ติดผล มักจะออกดอกที่ก้านกิ่ง แต่ละก้านช่อมีก้านขั้วสั้นๆยึดผลย่อย สลับไปมาซ้ายขวาในหนึ่งก้าน  เปลือกหุ้มผลบางและเปลือกด้านในแยกออกได้เป็นห้องๆ โดยมีเมล็ดในแต่ละห้อง เมล็ดที่สมบูรณ์ที่เจริญเต็มพื้นที่ ส่วนใหญ่จะมีสามเมล็ด ในหนึ่งผล



ส่วนที่กินได้เมื่อผลสุกคือเนื้อหุ้มเมล็ดที่มีสีส้มแดง เมื่อเปลือกแตกออกมาทำให้สีผลดูจืดลงไปถนัดตา  เยื่อหุ้มเมล็ดตึงใสฉ่ำน้ำยั่วใจให้ลิ้มลองยิ่งนัก โดยเมล็ดมีขนาดเล็ก บาง และลื่นๆจึงกลืนไปได้เลย ในขณะที่บางคนเผลอหรือตั้งใจกลืน  หากแต่ถ้าคายเมล็ดก็สามารถนำไปเพาะเป็นต้นกล้าได้ต่อไป   ปกติต้นจำปุลิ่งงอกขึ้นได้เองตามธรรมชาติ จากเมล็ดที่นกหรือสัตว์กินเป็นอาหาร  ต้นที่พบในธรรมชาติ มีลักษณะต้นไม้ใหญ่ สูงประมาณ กว่า 20 เมตร คล้ายกับต้นมะไฟ ซึ่งพืชทั้งสองชนิดจัดจำแนกทางพฤกษศาสตร์อยู่ในกลุ่มเดียวกัน


สรรพคุณ ของผลไม้ชนิดนี้ ยังไม่มีรายงาน แต่พืชในกลุ่มเดียวกันคือ "มะไฟ" มีข้อมูลกล่าวถึงว่าทั้งราก ใบ ผล มีสรรพคุณใช้รักษาโรค (medicinal plant) มี ฤทธิ์ขับเสมหะ และช่วยย่อย    หากแต่ที่ต่างไปจากมะไฟก็คือส่วนที่กินได้ของ จำปูลิ่ง มีสีสันเช่นเดียวกับแครอท จึงมีสารในกลุ่มแคโรทีนที่น่าจับตามองทีเดียว   เทียบเคียงกับผลของ "มะไฟ" นอกจากจะมีโปตัสเซียม แมกนีเชี่ยม ฟอสฟอรัสแล้ว วิตามินซีสูง 55 มก. วิเคราะห์ จากปริมาณ 100 กรัมของส่วนที่กินได้ เทียบกับผลมะขามป้อมซึ่งเป็นผลไม้ที่มีวิตามินซีสูง 276 มก.)   จำปูลิ่งนั้นหากกินผลที่สุกแล้วในปริมาณมากๆๆ ทำให้ระบายท้อง  และในช่วงที่ผลแก่ มีสีเขียว นำไปปรุงอาหารได้  เพิ่มความเปรี้ยวของรสชาติ อาหารพื้นบ้าน



ผลไม้ชนิดนี้มาจากต้นพันธุ์ที่ขึ้นได้เฉพาะแหล่งอาศัย (habitat) เช่นบริเวณป่าต้นน้ำ  หรือป่าที่ไม่ค่อยถูกรบกวนจากภัยคุกคามภายนอก  ต้นจำปูลิ่งจึงบ่งชี้ "สถานภาพของป่า" มีนัยว่าถ้ายังมีผลไม้ชนิดนี้อยู่ แสดงว่ายังคงมีป่าใหญ่อยู่ในพื้นที่   แต่ปัจจุบันนี้หาทานผลไม้ชนิดนี้ได้ยากขึ้น เป็นเพราะป่าถูกทำลายต้นจำปูลิงถูกโค่น ต้นไม้จึงบ่งชี้ "ความพร่องของคน"..เห็นแต่ประโยชน์ส่วนตน โค่นทำลายต้นไม้ที่เติบโตคู่ป่าใหญ่ 




ปัจจุบัน ป่าไม้ถูกแผ้วถางเพื่อปลูกพืชเศรษฐกิจ  ผลพวงจากการตกเป็นผู้รับเคราะห์เชิงนโยบาย กี่ยุคสมัยที่ส่งเสริมการทำเกษตรแบบพืชเชิงเดี่ยว เช่นปลูกยางพารา หรือปาล์มน้ำมัน ส่งผลผลิตสู่โลกอุตสาหกรรม จนทำให้เกิดเป็นวิบากกรรมต่อเนื่อง โดยไปริดรอนสิทธิ ของพืชพันธุ์ที่เป็นเพื่อนคู่ป่า  ที่มีคุณค่าอนันต์ต่อระบบนิเวศ  มีคุณค่าทางวิวัฒนาการ  รวมถึงเป็นแหล่งยีน (gene pool) หรืออาจจะมีคุณค่าในมิติยารักษาโรคที่รอการวิจัยอยู่ก็เป็นได้  เราจึงควรมองให้รอบด้าน ด้วยเพราะเป็นสายพันธุ์ที่ปรับตัวมาเป็นระยะเวลานาน พบได้เป็นพืชพื้นถิ่น (native species)



หากแต่การณ์กลับกลายเป็นว่า พืชเหล่านี้กำลังจะไม่มีที่ยืน ในสังคมพืชป่า” (plant community)  เพราะมนุษย์ไปตีค่าว่า..ด้อยค่ายิ่งนัก...ต่อความเป็นพืช/ไม้ผลทางเศรษฐกิจ  ชวนคิดว่า ใครน่ะ??..ที่มักจะตีค่าด้วยการลดคุณค่าที่แท้จริง มองไม่เห็นถึงค่าแท้อีกต่างหาก สนใจในค่าที่แปลงไปตามเหตุแห่งความต้องการ  ..."คุณค่า" จึงถูกจำแลงไปกับ “มูลค่า-ราคา” (value vs price)ซึ่งเน้นมิติทางเศรษฐกิจที่ผูกติดกับตลาด/การค้าขาย..??  หรือแม้กระทั่งปัจจุบันนี้ได้พยายามแปลงค่าให้หลากหลายขึ้นเช่น ในวงการ คาร์บอนเทรด (carbon trade) คาร์บอนเครดิต (carbon credit) ที่ล้วนแล้วแต่สนนมา..นัยว่าป่าก็ยังถูกทำลาย  มิได้แก้ที่ต้นเหตุ  ผลกระทบโดยภาพรวมทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลกที่เกิดขึ้น หากวัฒนธรรมบริโภคนิยมยังคงนำหน้า สวนทางกับแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของ ปวงชนชาวไทย ...หากเราคิดรักป่ารักต้นไม้ หรือกรณีนี้ต้นจำปูลิง ก็คงมองทะลุข้ามผ่านมิติเหล่านี้ไป  ร่วมสร้างภูมิคุ้มกันทางเศรษฐกิจ และเสริมความมั่นคงในชีวิตบนของฐานทรัพยากรธรรมชาติสมดุลและยั่งยืน...เป็นสิ่งที่พึงตระหนัก


ทุกชีวิตมีคุณค่า!!  แว่บคิดถึงคำสอนเตือนตนที่แทรกขึ้นมา  "หากเรามัวแต่เสียเวลาโดยให้ความสำคัญกับการ "ตีค่า" ก็จะไม่เหลือเวลาที่จะให้ "ความรัก" ต่อกัน"  การไม่ตีค่า..ก็ไม่ถูกตัดสิน ไม่ถูกแยกแยะ.. ก็ไม่มี..เรา/เขา ..ไม่มี..ค่ามาก/ค่าน้อย   หากแต่ให้รักทุกชีวิตดั่งเช่นชีวิตตน ช่วยกันดูแล... คุณค่าที่แท้จริงของต้นไม้...จะได้แจ่มชัดจากการขัดเกลาทางปัญญา :-)))



หากแต่วันนี้คงจะไม่สายเกินไป  เราต้องร่วมมือช่วยกันปกป้องให้พืชเหล่านี้มีที่ยืนในป่า  ที่เคยเป็นแหล่งที่อยู่  ให้ยืนต้นประกาศคุณค่าที่แท้จริงต่อไป...  เพราะสิ่งนั้น จึงมีสิ่งนี้... เป็นเหตุปัจจัยที่เกี่ยวเนื่องกัน  กล่าวคือ เพราะมีต้นไม้เหล่านี้ ช่วยรักษาความชุ่มชื้นในป่าใหญ่ รวมตัวก่อให้เกิดเป็นละออง หยดน้ำ หยาดน้ำฟ้า ฝนตกลงมา  รากดูดซับน้ำ ชะลอการไหลบ่าของน้ำยามฝนตก อีกทั้งเพิ่มออกซิเจนให้กับสรรพสิ่งที่เอื้ออิง  ส่วนใบ ดอก ผล นั้นเล่าก็เป็นแหล่งอาหารอันอุดมด้วยสารอาหารและวิตามิน หรือที่นิยมเรียกกันให้ดูเข้าใจยากขึ้นว่า "phyto-nutrient" มากด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ (antioxidant)  มีวิตามินซีสูง แถมมีรงควัตถุสีสันในเซลล์ พืชจึงทำหน้าที่ มีบทบาทในระบบนิเวศในฐานะผู้ผลิต หล่อเลี้ยงสรรพสัตว์น้อยใหญ่ในป่า รวมถึงคนซึ่งมีบทบาทเป็นผู้บริโภค ต้องพึ่งพิงพืช  เราจึงควรจะรู้คุณ ดูแล และเห็นคุณค่าของพืชพรรณเหล่านี้ แทนที่จะทำลาย





ครือข่ายก่อการดี ...“ต้นกล้า รักษ์โลก”...ที่ พิพิธภัณฑ์ประวัติธรรมชาติและเครือข่ายเรียนรู้ท้องถิ่น คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  มอ.ปัตตานี  ..เราทำงานด้วยจิตสาธารณะ ใจอาสา หาความสุขเรียบง่ายใกล้ๆตัว ชวนกันรวมพลังเพื่อ "ปลูกป่าในใจคน" เป็นเบื้องต้น  จากนั้นขยายผลร่วมเชิญชวนปลูกและดูแลเพื่อเพิ่มจำนวนต้นไม้ให้กับโลก ด้วยการส่งเสริมกิจกรรมการปลูกให้ครบวงจร  เริ่มจากการเพาะพันธุ์ต้นกล้า ส่งเสริมการนำไปปลูกในท้องถิ่น นำเรื่องราวในระหว่างการดูแลมาแลกเปลี่ยน และร่วมมือกันรักษ์สายพันธุ์ทีมีอยู่ในธรรมชาติ 


ขณะนี้ได้เริ่มการเพาะพันธุ์พืชหลายชนิด ทั้งเมล็ดพืชป่าชายเลน เมล็ดพันธุ์ที่เก็บมาจากป่าขณะไปท่องเที่ยว/ดูนก หรือเมื่อลงไปทำงานในชุมชน/พื้นที่ และซื้อหาจากตลาด ที่มีพืชพรรณนำมาขาย เพื่อได้มาซึ่งเมล็ดพันธุ์ของพืชประจำถิ่น นำมาเพาะพันธุ์ในเรือนเพาะชำ จำนวนหลายชนิดที่เป็นชนิดพืชพรรณที่กำลังจะถูกลืมเลือนไป   เรามีต้นกล้า จำปูลิ่ง”  ที่เพาะจากเมล็ด (จำนวนไม่มากนัก แต่พร้อมแบ่งปัน)


เราควรร่วมกันรักษาเอาไว้เพื่อการคงอยู่ ของความหลากหลายในสายพันธุ์ที่กระจายอยู่บนโลกใบน้อยร่วมกับสรรพสิ่งต่างๆ  โดยเริ่มนับตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป..เชื่อมั่นและศรัทธา.. รักษ์พื้นถิ่น รักษ์ดิน รักษ์ป่า รักษ์ท้องฟ้า รักษ์อากาศ รักษ์น้ำ รักผู้คน และรักโลกในที่สุด :-))




ฝากคำ..ก่อนลา

ข้าน้อย ต้นกล้า "จำปุลิง" อายุ 1 เดือนกับอีก 17 วัน   ขอน้อมคารวะทุกท่าน...ที่เข้ามา้ีี้อ่าน  ขอเชิญร่วมกันนำข้าน้อยกลับไปปลูกด้วยเถอะ.... คิดถึงป่ามากๆๆ ..หากโตใหญ่วันใดจะีได้เป็นเพื่อน เพิ่มออกซิเจนแก่โลก ดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ ซึมซับน้ำไว้ให้   ชะลอการไหลแรงของน้ำ  หากมีดอกออกผลคราใด  สัตว์น้อยใหญ่/ผู้คน จะได้ชิมและชื่นชม..สมใจ.. :-)) อ่านเพิ่มเติมที่ http://burongtani.oas.psu.ac.th/bird-story/1028




๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๕
วรรณชไม การถนัด

หมายเลขบันทึก: 509118เขียนเมื่อ 18 พฤศจิกายน 2012 11:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 มีนาคม 2013 22:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (26)

ขอบคุณมากค่ะที่ทำให้ได้รู้จัก จำปูลิง  :)

on my last tour of Thailand, wheresoever I went I saw the countryside being swallowed up by "rubber trees".

Hardly, anyone (animals, insects, micro-organisms, and people) can live in rubber plantations. Are we destroying our environment and habitats by reducing biodiversity? My answer is YES. What's yours?

ใช่ ค่ะ เมื่อก่อนมันมีเยอะมาก ๆ เดี๋ยวนี้นานเจอที 

ที่ถ้ำทะลุ เมื่อก่อน คนเข้าป่าหามาให้กินกัน 

แต่เดี๋ยวนี้ ป่าแก่ โดนโค่น ปลูกยาง  หลายต้นหลายอย่าง มันหายไปเลย

เมื่อหลายเดือนก่อน เพาะต้นฝรั่งขี้นกไส้แดง ไว้ ลงปลูกไปแล้ว หนึ่งต้น ค่ะ

คงต้องหามาปลูกไว้ในสวนบ้าง :)

ขอบคุณค่ะ อาจารย์ 

ปล. นึ่งขนมอยู่ แล้วจะกลับมาอ่านอีกรอบ ยังอ่านไม่ละเอียด อ่ะค่ะ แต่อยากเขียน อิอิ

  • ประทับใจบันทึกนี้มากค่ะ เขียนได้ลื่นไหลแสดงออกถึงความลุ่มลึกและความจริงใจด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติของผู้เขียนเป็นอย่างดี
  • ยายไอดินเป็นคนที่แสวงหาไม้ป่าไม้พื้นบ้านไปปลูกอยู่แล้ว อ่านบันทึกนี้แล้วติดใจคุณค่าที่ไม่ใช่ราคาของจำปูลิ่ง และหลงใหลเนื้อใสๆ ของเธอแม้เปลือกนอกจะไม่จูงใจ ถ้าไกลไม่เกิน 200 กม.จะแวะมาขอไปปลูกที่ฟาร์มไอดินบ้างค่ะ พร้อมด้วยนำพืชในฟาร์มมาแลกเปลี่ยน
  • ประทับใจคำเชิญชวน "...เราควรร่วมกันรักษาเอาไว้เพื่อการคงอยู่ ของความหลากหลายในสายพันธุ์ที่กระจายอู่บนโลกใบน้อยร่วมกับสรรพสิ่งต่างๆ โดยเริ่มนับตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป..เชื่อมั่นและศรัทธา..รักษ์พื้นถิ่น รักษ์ดิน รักษ์ป่า รักษ์ฟ้า รักษ์น้ำ รักผู้คน และรักโลกในที่สุด" ค่ะ

ชอบจังเลยค่ะ ต้องบอกแบบนี้ ขอบคุณบันทึกนี้ค่ะ ไม่เห็นเค้านานแล้ว จนเราเกือบลืมไปค่ะ เด็กๆ ได้ทานค่ะ เปรี้ยวๆ อร่อยดีค่ะ ตอนนี้มีแต่ลูกละไมให้เราเห็นค่ะ

Ico48Ico48Ico48Ico48Ico48Ico48Ico48Ico48Ico48Ico48

สวัสดีค่ะ....กัลยาณมิตรทุกท่านที่่แวะมาทักทาย ให้ดอกไม้และฝากความเห็นไว้...ขอบคุณค่ะ :-))

สวัสดีค่ะคุณหยั่งราก ฝากใบ

ดีใจที่บันทึกนี้ทำให้หลายคน รู้จักผลไม้ชนิดนี้มากขึ้น เพราะเป็นผลไม้ป่า หมายถึงการมีให้กินได้ในแต่ละปี ต้องมีการเก็บจากป่า หรือในที่ ตามธรรมชาติของพืชชนิดนี้ และพบได้ที่บริเวณภาคใต้ตอนล่างค่ะ จึงทำให้พบเจอได้น้อย ท่ามกลางสถานการณ์การเกษตรเชิงเดี่ยวของบ้านเรา ป่าถูกแผ้วถางไม้ใหญ่ถูกทำลาย ...เดาว่าแถวบ้านคุณ หยั่งราก ฝากใบ ไม่มีแน่ๆเลย ใช่ไหม๊ค่ะ?? ส่วนชาวปักษ์ใต้ก็ต้องเร่งทำหน้าที่รักษาไว้ เพราะเป็นทรัพยากรของโลก เพียงแต่มาเจริญเติบโตในแถบบ้านเรา เราจึงต้องทำหน้าที่ส่วนนี้ ดูแลรักษาไว้ ให้ดีค่ะ อย่างน้อยตอนนี้พยายามอย่าให้โค่นทำลายมากขึ้น ก็ต้องอาศัยเยาวชนในท้องถิ่น ซึ่งส่วนหนึ่งเข้ามาเรียนในระบบมหาวิทยาลัย โดยส่วนตัวจึงใช้โอกาสตรงนี้สร้างความตระหนัก และชี้ให้เห็นคุณค่า หวังไว้่ว่าคงดีขึ้นหากทำต่อไปๆๆๆ..ค่ะ ขอบคุณค่ะที่แวะมาสนับสนุน เป็นกำลังใจกันนะค่ะ

สวัสดีค่ะบัง

ขอบคุณค่ะที่แวะมาให้กำลังใจเสมอ   เพิ่งทราบนะค่ะเนี่ยว่า ผลไม้นี้มีชื่อเรียกว่า "ลูกประดอง" ... บังค่ะ  เป็นคำเรียกชื่อแถวๆ พังงา ถิ่นเก่าสมัยเด็กๆของบัง??   หรือว่า แถวปากยูน ถิ่นปัจจุบันละค่ะ???  คนดังหลายถิ่น ก็ยังงี้หล่ะ  ต้องถามให้ชัดเจน  อิอิ:-))     สงสัยอีกว่ามีต้นจำปูลิงขึ้นได้ด้วยหรือเปล่าวค่ะบัง??   หรือว่าเป็นการนำผลไม้ไปขาย  เพราะจะได้รู้การแพร่กระจายว่า ต้นจำปูลิง ในภาคใต้กระจายจากบริเวณไหนถึงไหนค่ะ  อาจจะบอกได้ว่า ป่าไหนถึงป่าไหน เพราะเท่าที่ทราบมีต้นกระจายเรื่อยมาตั้งแต่นราธิวาส จนสงขลา  ไม่ทราบว่าฝั่งตะวันตกมีไหม๊  เพราะติดเลน๊า??? ...แถวบ้านน้อง ที่ชุมพรไม่เคยเห็นเลยค่ะ  แน่ๆว่าภาคใต้ตอนบนไม่มี  เอาไว้ค่อยหาช่องทางถามบังไปใหม่นะค่ะ ...สนุกดีตามหาลายแทงต้นไม้   จะได้ช่วยกันรักษาเอาไว้ค่ะ ต่อไปจะได้กำหนด GPS ไว้ค่ะ  ดูแลกันเป็นเฉพาะต้นเลย ถ้ามีน้อยลง..เผื่อสถานการณ์แย่ลงค่ะ ...อืมม์...ทนเลื่อยยนต์ไม่ไหว  ไม้ตัดหลาก็เป็นภัยคุกคามอย่า่งยิ่งค่ะบัง   ..

สวัสดีค่ะ SR

ขอบคุณที่แวะมาทักทายและฝากความเห็นที่ชวนคิดไว้ ค่ะ โดยส่วนตัวเห็นเช่นเดียวกันกับ SR ค่ะ เรื่องการส่งเสริมการปลูกพืชเชิงเดี่ยวในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นยางพารา หรือ ปาล์มน้ำมัน หรืออื่นๆ

จริงๆแล้วยางพาราก็ปลูกได้ ท่ามกลางการอยู่ร่วมของต้นไม้อื่นๆ นะคะ่ และก็ไม่ได้รังเกียจยางพารา หรือพืชอื่นๆ เพียงแต่ขอให้ไม่ตัดไม้ใหญ่ เพียงแต่ให้โอกาสพืชชนิดอื่่นๆด้วย อาจเลือกพืชที่เหมาะสม ต้องการร่ม ต้องการแดดที่แตกต่างกัน หรือปล่อยไว้ตามธรรมชาติในร่องยาง ทางใต้เรียก "สวนสมรม" ค่ะ ยังคงรักษาความเป็นระบบนิเวศมันเกื้อกูลกันไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เพราะเรามองไม่เห็นทั้งหมด

อย่างแนวคิดของ SR ที่ยังคงรักษาความเป็นธรรมชาติในป่า รอบบ้านSR ที่ Aus ทำให้ได้ชื่นชมและสังเกตสิ่งที่เกิดขึ้นโดยไ่ม่คิดไปควบคุม ชอบมากค่ะแนวคิดนี้ วันก่อนยังได้ดูนกและสัตว์ชนิดอื่นๆที่ SR โพสท์มาแจมด้วยเรื่องนกนะค่ะ

อืมม์....มนุษย์เรานี้ ไม่ชอบถูกให้ใครมาควบคุมบงการ แค่กลับไปควบคุม ธรรมชาติ อย่างเช่น ต้นไม้อะไรที่โต ขวางหูขวางตา ก็ควบคุม ตัดทิ้ง ไม่มีราคามากทางเศรษฐกิจก็ตัดทิ้ง โดยไม่ได้เฉลียวใจเลยว่า ที่กระทำลงไปกระทบสักกี่ชีวิต เพียงแต่คิดก็เศร้าละค่ะ .. แต่ไม่ท้อนะคะ่ ต้องรีบทำเชิงรุกค่ะ SR เพราะในสถานการณ์ที่พืชป่าถูกคุกคาม เรามีเยาวชนคนท้องถิ่น เข้ามาเรียนรู้ในมหาลัย เรามีลูกศิษย์ถึงแม้จะเป็นช่วงสั้นๆ แต่ยังมีโอกาสที่จะสร้างความตระหนัก ให้ลงมือทำ ปฏิบัติให้เห็น ทำไปด้วยกันค่ะ ส่งเสริมให้เห็นคุณค่า เวลาเขากลับไปที่ท้องถิ่นบ้านของเขา ก็ให้เขามองหา เห็นความดีในสิ่งที่มี ฝันไว้ว่า เขาคงมีอะไรๆ ๆ ที่ได้ลงมือปฏิบัติ ได้แนวคิด ไปสานต่อค่ะ เรียนอย่างเดียวในห้องสี่เหลี่ยมไม่เกิดผล ต้องให้เหนื่อย พร้อมๆกับคิด และ เห็นความยากลำบาก กว่าที่แต่ละต้นจะโตมาได้ เปรียบเทียบให้เห็น จะได้ช่วยกันรักษา อย่างน้อยห้ามไม่ให้ถูกตัดได้ค่ะ ความหลากหลายทางชีวภาพก็จะยังคงอยู่ได้ต่อไป โดยเฉพาะแถบนี้เป็น tropical belt ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงด้วยค่ะ ขอบคุณค่ะ :-))

สวัสดีค่ะน้องหนูีรี

ยุ่งมากเลยใช่ไหม๊เ่อ่ยวันนี้??  กลิ่นหอมขนมไทยๆลอยมาแตะจมูก ตามฝันเลยค่ะ...พี่ว่า ถ้ำทะลุนี่เหมาะเลย  ถิ่นของจำปูลิง เลยหล่ะค่ะ  ถ้าน้องหนูรีสนใจ จะเอาต้นไปปลูก  พี่จะรอจนต้นโตได้ที่ ผูกโบว์จองไว้ให้เลย แล้้ววันไหนผ่านปัตตานี จะได้แวะเอาไปให้ เผื่อจะได้ติดตามขับรถไปเที่ยว ถ้าทะลุที่รัก ด้วยค่ะ  ดีไหม๊เอ่ย  "จำปูลิง กระชับมิตร"   อิอิ... คาดว่าน่าจะต้องผ่านแล้งนี้ให้ได้ก่อน ดูความแกร่งของต้นค่ะ  ถ้าต้นกล้าที่มีอยุ่รอดได้ แสดงว่าน่าจะใช้ได้  รอดในสภาวะธรรมชาติ  แล้วจะส่งข่าวนะค่ะ ..ขอบคุณอีกครั้งที่แวะมาให้กำลังใจ ทักทายกันแม้ว่าจะยุ่งๆ นึ่งขนมอยู่  ฝีมือสุดยอดอยู่แล้วหล่ะ สูตรจากครัวถ้ำทะลุ ดูน่าเชิญชวนให้อ้วน... อุ๊บส์ ให้สุขภาพดีทุกเมนูเลยค่ะ :-))

 

สวัสดียามเช้าค่ะป้าวิ

ขอบคุณที่แวะมาทักทาย แลกเปลี่ยนความเห็น และให้กำลังใจค่ะ     อืมม์....ระยะทางหน่ะหรือค่ะ 200 แล้วก็คูณอีก 5 เท่า กับเศษๆเล็กน้อยค่ะ   อ้อ...หมายถึง กทม- ปัตตานี..... นะค่ะป้าวิ  แต่จริงๆแล้วระยะทางก็ไม่เป็นอุปสรรคค่ะในทุกๆเรื่อง   

ป้าวิปลูกต้นไม้เป็นปกติอยู่แล้ว ในฟาร์ม นั่นก็ปลูกเพื่อนๆต้นไม้ให้กับโลกเราสำรับทุกๆคน  เยี่ยมมาก ขอบคุณค่ะ   ส่วนต้นจำปูลิง หากมีโอกาสเมื่อไหร่ก็จะได้ปลูกเจ้าผลไม้ป่าจากปักษ์ใต้ต้นนี้ค่ะ  ป้าวิ :-))

สวัสดีค่ะ คุณ Bright Lily

ขอบคุณที่แวะมาทักทายและให้กำลังใจเสมอ   ค่ะ  ผลไม้นี้ได้รับคำบอกเล่าจากสมาชิกในพื้นที่ทั้งศิษย์และผู้ที่เคยกินลูกจำปุริง ก็จะคิดถึง โดยเฉพาะช่วงวัยเด็กที่สนุกๆกับวิธีกินจำปูริง  ส่วนลูกละไม  และรังแข ก็จัดเป็นพืชในกลุ่มเดียวกันกับจำปูริง   ทั้งสามชนิดพบได้ที่ปักษ์ใต้  การกระจายของพืชทั้งสองชนิด ในธรรมชาติค่อนข้างจำกัด เฉพาะถิ่นค่ะ   หากมีการโค่น ตัดทำลาย ก็จะมีแต่สูญหาย เพราะยากที่จะมีที่อื่นทดแทนได้  จึงต้องเร่ิงให้รับรู้ เห็นคุณค่า และ ส่งเสริมการนำไปปลูกที่ถิ่นที่ เคยประกาศความยืนยง ยังชีพ ดั่งพืชที่โตมากับป่าใหญ่ค่ะ  :-))

ผมว่าเราต้องรักษาธรรมชาติ "ด้วยการกิน" ครับ เมื่อไหร่ก็ตามสังคมเกิดมีความรู้สึกว่าพืชประเภทไหนดีต่อสุขภาพรักษาโรคได้สารพัดประโยชน์ก็เกิดกระแสแฟชั่นในการกินพืชนั้นขึ้นมา เหมือน ลูกยอ หรือมะรุม ที่ผ่านมา พืชนั้นก็น่าจะมีคนปลูกมากขึ้นครับ

เหมือนที่อเมริกาเขามีโครงการอนุรักษ์วัว bison ด้วยการกิน ปรากฎว่าจากปริมาณที่มีอยู่น้อยในธรรมชาติ พอพบว่าเนื้อวัว bison อร่อยกว่าวัวธรรมดา ตอนนี้มีคนเลี้ยงกันเต็มเลยครับ ทำให้นึกว่าสมัยหนึ่งถ้าเราเพาะเลี้ยงกระซู่ ละมั่ง ฯลฯ ตอนนี้ก็ไม่น่าจะสูญพันธุ์แถมน่าจะได้กินกันบ่อยๆ ด้วยครับ

สวัสดีค่ะอาจารย์ธวัช

ขอบคุณค่ะสำหรับความเห็นเพื่อแลกเปลี่ยน ...  ค่ะเห็นด้วยกับอาจารย์นะ่ค่ะเรื่อง รักษาธรรมชาติให้คงอยู่"ด้วยการกิน" .. แต่ส่วนใหญ่ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือ จะกินอย่างเดียว โดยไม่เหลียวดูต้นเลยว่า ยังมีอยู่หรือไม่  เจออีกทีก็รู้ว่า เกือบจะหมดไปไม่เหลือให้กินได้แล้วก็จะกลับตัวไม่ทัน  โดยส่วนตัวจึงได้ทำไปสองส่วนพร้อมๆกันคือ ทั้งส่งเสริมให้ดูแลตันไว้ด้วย  หรือปลูกเสริมในกรณีที่ถูกโค่นล้มไป และส่งเสริมให้รู้จักด้วยการกินในเบื้องต้น หรือใช้ประโยชน์อย่างอื่นเช่น รักษาโรคและือื่นๆตามมาค่ะ .. อย่างทีอาจารย์มี "ชา" ประเภทต่างๆ จากการกิน ชาจากพืชพรรณที่เริ่มจากการปลูกเองรอบบ้านใช่ไหม๊ค่ะ  "หญ้าหนวดแมว"   หนึ่งละ  "โรสแมรี่" อีกหนึ่งละ  อาจมีอื่นๆตามมา ..อีกไหม๊น๊า :-))

ผมมีเปปเปอร์มินต์ด้วยที่ชงได้ทุกวันเลยครับ ตอนนี้กำลังเพาะอาริกาโน่ครับ พวกนี้ได้พันธุ์มาจากร้านดอยคำครับ ส่วนไทยๆ นั้นผมลองเอา "ใบรา" มาชงกินก็อร่อยดีครับ แต่พอหาข้อมูลปรากฎว่าใบราบ้านเราคือ "ยี่หร่า" ซึ่งก็ไม่ใช่ของไทยเท่าไหร่ครับ

จริงๆ แล้วพืชพวกนี้ถ้ามาศึกษาดูก็น่าจะมีอะไรดีๆ ไม่ได้แพ้ชาเขียวหรือชาสมุนไพรอื่นๆ เท่าไหร่ครับ

ผมได้เสนอให้ม.ผม ทำการสร้างสวนผลไม้ป่าอีสานเชิงอนุรักษ์พันธุ์ เสนอมาสิบปีแล้ว วันนี้ อธก. เปิดไฟเขียว ให้ทำการได้ ประชุมกันสองครั้ง แ่ต่แล้วก็เงียบหายไป (ตามฟอร์ม) สงสัยวันนี้ต้องเตือน อธก. ให้สั่งการต่ออีกแล้ว เพราะท่านมีภารกิจมาก (ตามฟอร์ม)

สวัสดีค่ะอาจารย์ ธวัชชัย

ขอบคุณค่ะีที่แวะมาเพิ่มเติม "ชา"..ของโปรดจากพืชพันธ์รอบรั้ว ที่บ้าน  อืมม์..ต้น "ใบรา" อาจารย์ลองเอาชงเป็นชา แล้ว หรือค่ะ???   สงสัยคงต้องใช้ปริมาณน้อยๆ  เพราะกลิ่นแรง  เป็นพืชที่ ชอบค่ะ  แต่นึกถึงเอาไว้ใส่แกงป่า แกงปลา  หรือผัดเผ็ดอร่อยค่ะ  ทางปัตตานีที่ไม่มีคนชอบทาน แต่เห็นมีขายบ้างในตลาด  ในขณะที่แถวบ้านที่ชุมพรเป็นที่นิยม ใช้ปรุงอาหาร   ทั้งหอมและร้อน นะค่ะ ...แฮ่ๆ...พูดแล้วหิว..นึกถึงแกงป่า มากกว่า ชา ค่ะ  ขออภัย ๆ ๆ :-))

ขอให้มีความสุขกับ ชา "เปบเปอร์มินต์" และอื่นๆ  ทำให้มีอารมณ์ดี มีสุขในการสร้างงาน พัฒนาระบบ Go to Know ให้กัลยณมิตรได้ใช้กันต่อไปค่ะ และจะรอฟังข่าว ชา ชนิดอื่นๆต่อไป :-)) ขอบคุณค่ะ

สวัสดีค่ะอาจารย์ถางทาง

ดีใจจังเลยค่ะ  ที่มีผู้ที่ช่วยมองให้ผู้บริหาร  ด้วยวิสัยทัศน์ก้าวไกล อย่างคนถางทาง  ที่เห็นความสำคัญ

ชอบมากเลยค่ะ  กับแนวคิดการสร้างสวนผลไม้ป่าเพื่อการอนุรักษ์พันธุ์ ในมอ. อย่างน้อยก็ให้พื้นที่ให้ต้นไม้ป่าเหล่านี้ได้มี การการดูแล และเก็บรวบรวมยีนเอาไว้  ขณะเดียวกันการสืบหาถึงต้นพันธุ์ในธรรมชาติก็ น่าสนใจด้วยนะค่ะ  เพราะแหล่งอาศัยในธรรมชาติ ระบบนิเวศมีความซับซ้อนและเกื้อกูลกันเป็นองค์รวม อาจจะเจริญได้ต่างกัน

 ปัจจุบันปัญหาการปลูกพืชเชิงเดี่่ยวดูจะกระจายไปทั่ว ยางพาราก็ปลูกแทบจะทุกภาคของประเทศ    อืมม์..กว่าจะได้สร้างสวนฯคงต้องมีประชุมอีกหลายครั้งๆๆ (ตามฟอร์ม)  กว่าจะได้สั่งการเป็นรูปธรรม  แต่อย่างน้อยก็มีคนช่วยคิด แถม proactive ซะด้วย...แฮ่ๆ แซวหน่อยน๊า ..(ตามฟอร์ม)  :-))

สวัสดีค่ะพี่อาจารย์

ขอบคุณความรู้และความตั้งใจในการอนุรักษ์ผลไม้ป่าค่ะ ขอส่งกำลังใจข้ามประเทศมาเลเซียไปนะคะ

ตอนแรกนึกว่ามะไฟด้วยค่ะ แต่ตอนนี้รู้แล้วว่าไม่ใช่

วันข้างหน้าจะลองปลูกต้นไม้พวกนี้ในสวนไว้ให้นกกินค่ะ ;))))

ขอบคุณบทความอันทรงคุณค่านี้นะคะ

สวัสดียามเย็นค่ะน้องปริม 

ขอบคุณค่ะที่แวะมาทักทายพี่  ทั้งๆที่ทราบว่า น้องมีงานรัดตัวหมู่่นี้   อืมม์...เช่นกันค่ะน้องปริม  แว่บแรกที่เห็นพี่ก็เข้าใจว่าเป็นมะไฟ  แต่พอเห็นความแตกต่างก็เลย ...จุดประกาย ถามสมาชิกคนพื้นที่  หลายคนรู้จักผลแต่ไม่เคยรู้จักต้น   อืมม์...เพราะคนรู่นปู่ย่าตายาย ปลูกไว้ข้างบ้าน แต่ถูกโค่นไปซะนี่  แสนจะเสียดายค่ะ

ต้นจำปูลิง และอีกหลายๆต้น จะเลือนหายไปจากความทรงจำของใครๆที่นี่  เพราะแม้แต่ลองถามศิษย์ที่เป็นคนพื้นถิ่นก็จะรู้จักแต่ว่า ชอบลูกจำปูลิง  กินอร่อย เปรี้ยวๆ  บางคนก็บอกว่าเมื่อก่อนที่บ้านมีแต่ถูกโค่นไปแล้วเพราะเร่ิมเปลี่ยนพื้นที่ไปปลูกยางพารา   เลยเป็นโอกาสที่ฝากให้เอาต้นกล้าไปปลูกใหม่ ช่วยกันดูแลค่ะ ให้โตขึ้นมาทดแทน ถึงแม้ต้องใช้เวลาพอสมควร กว่าจะโตได้  แต่ก็ค่อยเป็นค่อยไปค่ะ

มีข้อสังเกตว่า พื้นที่สาธารณะที่เป็นศูนย์รวมทางจิตวิญญาณของผู้คนในหมู่บ้านหรือชุมชน เช่นที่ กูโบว์  (ภาษามลายูถิ่นหมายถึงสุสานค่ะ)  ได้รับคำบอกเล่าว่ายังมีไม้ยืนต้นให้เห็นและมักจะไม่มีใครไปโค่นต้นไม้  และจำปูลิงก็เป็นหนี่งในนั้นที่ยังคงมีเหลือรอด  อาจจะเป็นกุศลโลบายที่ดีทีเดียว เป็นพื้นที่สีเขียวที่ต้นไม้ใหญ่ได้รับการอภัยทานไปด้วยทั้งที่วัด และที่กูโบว์ค่ะ 

น้องปริมคิดจะปลูกไม้ป่าเหรอค่ะ   ดีจังเลยค่ะ จริงๆปลูกไม้อะไรก็ได้ ไม้ยืนต้นก็ดีค่ะ   กลับมาเยื่ยมบ้านคราวนี้น้องปริม ก็เตรียมๆหาต้นพันธุ์ปลูกไว้ได้เลยค่ะ จะได้โตทัน  เพราะกว่าต้นไม้จะโตใข้เวลาพอควรนะค่ะ  เอาประเภทไม้ป่า ไม้ผลที่เป็นไม้พื้นถิ่น   หรือประเภทที่มีดอก ผล ที่นกชอบก็ได้ค่ะ  จะได้รู้สึกว่าเชิญชวนอยากจะปลูกหน่อย  แถมทางเหนือมีนกอพยพหลากหลายด้วยซิค่ะ     ตอนนี้พี่ก็เริ่มปลูกไว้ที่บ้านไว้ด้วยเช่นกัน  หลังจากที่ใช้ต้นทุนเก่าที่พ่อกับแม่ปลูกไว้ให้   พี่สังเกตดูว่ามีหลายต้นที่นกชอบ แต่บางที่เพาะกับเมล็ดก็ไม่ขึ้นนะค่ะ ต้องเอาที่ผ่านการกินของนกและถ่ายออกมาก่อน จึงจะงอกได้    

อืมม์...ที่แฟลตที่พักในมอ  ด้านระเบียงมีนกมาถ่ายไว้    ต่อมาสังเกตดูว่ามีต้นไม้งอกในกระถาง  โตขึ้นก็บอกได้ว่าเป็นต้นไทร   เลยรับเลี้ยงดู  เอากลับไปปลูกที่บ้านชุมพรแล้วค่ะ     เวลาจะปลูกต้นอะไรๆ ก็    บอกกะพ่อและแม่ว่า  ต้นนี้นกชอบ  ลูกขอปลูกไว้หน้าบ้าน ข้างบ้าน หลังบ้าน ริมรั้ว   เอาให้ทั่วๆเลยค่ะ  จะได้นั่งดูนกเพลินๆตาค่ะ  น้องปริม    ฝันไว้ว่า พออายุมากขึ้น ออกไปดูนกที่อื่นไม่ได้   ก็ให้นกมาเวียนกินน้ำหวาน กินผลไม้ ให้ดูแทน  อิอิ    ว่าแต่ว่า ถึงตอนนั้นตา ก็คงไ่ม่ฝ้าฟางเท่าไหร่เน๊าะ!!  

ต้นจิกน้ำ ดอกสวย พี่ชอบและนกก็ชอบด้วย  น้องปริมชอบไหม๊ค่ะ??    พี่ขุดจากพรุ เอาต้นเล็กๆมาปลูกไว้สองต้นในหนึ่งหลุม ไว้เป็นเพื่อนกัน  ลงมือปลูกเองและปลูกไว้ริมสระเพราะเป็นไม้ที่เอามาจากพรุ ชอบน้ำค่ะ  โตช้ามากเลย  นี่ขนาดว่าสองสามเดือนกลับไปเห็นการเปลี่ยนแปลง  ไว้มีโอกาสพี่ค่อยเอารูปมาลงให้ดูนะค่ะ  น้องปริม    ในเรือนเพาะชำที่ปัตตานีก็มีต้นจิก ประเภทที่เพาะกับเมล็ดไว้ด้วย  ถ้าสนใจบอกนะค่ะ จะเก็บไว้ให้ค่ะ  :-))

 

  • มีหลายชนิดมากเลย
  • สมัยก่อนมีต้นตะค้อเปรี้ยวๆคล้ายมะไฟ
  • ลูกเล็กกว่า
  • แต่หายากแล้ว
  • เอาผลไม้อีสานมาฝากครับ
  • ลูกสีสดเลย
  • เคยเห็นไหมครับ
  • หมากผีพวน
  • 555

สวัสดีค่ะน้องแอ๊ด

ขอบคุณค่ะที่แวะมาแหย่ทักทายด้วย "หมากผีพวน"   อืมม์...แม้เพียงได้ยินชื่อก็เชิญชวนมากละค่ะ   แวะไปดูสืบค้นหน่อย เห็นแล้วก็  สียั่วชวนลิ้มลอง  คงต้องบอกว่าเ..ปรี้ยว  ..ลูกอีสาน คงบอกได้ดี มากว่าพี่นะค่ะ  

ว่าแต่ว่า ลูกตะค้อ แถวบ้านน้องแอ๊ด ก็น่าสนใจนะค่ะ ผลไม้พื้นถิ่น พี่ว่าควรจะหาทางรักษาไว้  ต่อไปคนห่างธรรมชาติมาก ก็จะไม่รู้จักขึ้นไปเรื่อยๆ แม้กระทั่งสูญพันธุ์ไปก็ไม่มีใครรู้  

พี่มีผลไม้ป่า น่าสนใจ "ลูกอัมพวา"  รู้จักไหม๊ค่ะ???  ถ้าตอบว่า ไม่...  วันหลังพี่จะเขียนให้อ่าน  ต้นนี้ก็ไม้ยืนต้น ผลอมเปรี้ยวอมหวาน  ผลใกล้ๆสุกจะอร่อยค่ะ  ผิวพรรณภายนอกดูไม่เชิญชวน แต่รสชาติกลมกล่อม  แหม..ถ้าได้ยินชื่อบางถิ่นเรียก "ลูกคางคก"  ก็คงจะนึกภาพออก ว่า...ใครหล่ะจะกล้ากิน??  จึงเชิญชวนให้ร่วมกันปลูกยิ่งนัก เพราะเิริ่มจะหายากขึ้นทุกวันค่ะ  สมัยเด็กๆ คุณยายพี่เรียกว่า  "ลูกขี้อาย"  ...เหมือนพี่สมัยเด็กๆ เลยค่ะ .น้องแอ๊ด ...  เชื่อไหม๊??   เหตุที่เรียกต้นนี้ว่า ลูกขี้อาย เพราะต้องเอากระสอบป่านไปห่อ ปิดไว้ที่รอบโคนต้นที่มีช่อดอก  เพื่อจะได้ผลที่สมบุรณ์และอร่อยค่ะ  เคล็ดลับ..

 วันก่อนกลับบ้านพี่ไปเยียมบ้านคุณยาย..(แต่ตอนนี้เป็นบ้านคุณป้าไปละ)    ที่ๆพี่คยวิ่งเล่นสมัยเด็กๆเมื่อไปเยี่ยมตากะยาย   วันนั้นนึกได้ว่าจะไปถ่ายรูปต้นนี้ซะหน่อย    เลยพกพาเลนส์มาโครไปด้วย เพื่อถ่ายช่อดอกค่ะ   ต้นไม้ชนิดนี้ยังมีอยู่ สองต้นและต้นโตด้วยค่ะ   ตั้งใจถ่ายช่อดอก กว่าจะเสร็จ ทำเอาเหงื่อตก ... แฮ่ ๆๆ   ถ่ายยังไงก็ไม่ถูกใจนัก  เป็นเพราะอยากหาคำตอบว่่า...ทำไมที่ยายเคยบอกไว้ว่าเมื่อเอากระสอบมาปิดไว้้แล้วได้ผลสมบูรณ์ สวย ไม่เสียรูป คดงอ    จึงอยากดูช่อดอก เกสรตัวผู้ ตัวเมีย ให้ชัดเจนค่ะ ว่ามีลักษณะยังไง ..  โห..ยิ่งน่าพิศวงถึงรายละเอียดที่สังเกตเห็นว่า มีการเื้อื้ออิงของสรรพสัตว์ในช่อดอก หลายชนิดจริงๆ   น่าทึ่งมากค่ะน้องแอ๊ด  เอาไว้ค่อยเล่าให้ฟังเมื่อมีโอกาสค่ะ :-))

ปล.  พี่เอาต้นเล็กๆมาปลูกไว้ที่บ้าน ยังโตไ่ม่มากเลยค่ะน้องแอ๊ด  กว่าจะได้ชิมลูกก็คงเป็นรุ่นหลานแล้วหล่ะค่ะ  :-))

ขอบคุณสำหรับความรู้ที่แบ่งปันครับ

สวัสดีค่ะลุงชาติ

ขอบคุณค่ะ ที่แวะมาทักทาย ให้กำลังใจกันค่ะ  และขอบคุณลุงชาติเช่นกันที่มีภาพธรรมชาติ มองลอดเลนส์    เก็บภาพด้วยเทคนิคเยี่ยมมๆ นำภาพสวยๆมาฝากกันค่ะ:-))

  • เพิ่งเคยเห็น เพิ่งทราบ ครับ
  • ขอขอบพระคุณในสิ่งดีๆ ที่นำมาแบ่งปัน
  • อยากได้เมล็ดมากกว่าต้นที่เพาะแล้ว....ครับ

สวัสดค่ะคุณสามสัก

ขออภัยมากๆค่ะคุณสามสัก ที่ไม่ได้ตอบความเห็นซะนี่ นานมากแล้วจริงๆด้วยค่ะ  อืมม์  อยากได้เมล็ดไปปลูกที่สวนแถวๆเขาลับงาเหรอค่ะ ต้องบอกว่า จะรอไหม๊ค่ะ??    รอเหมือนในเพลงเลยน๊า ...   รอถึงปีหน้าค่ะ เพราะว่าช่วงนี้หมดฤดูของต้นจำปูลิงแล้วหล่ะค่ะ   ถ้ายังสนใจต้นจำปูลิง มีโอกาสเดินทางมาปักษ์ใต้ แวะมาเอาต้นไปปลูกได้เลยค่ะ จักยินดียิ่ง     จะได้มีต้นพันธุ์ไปกระจายที่ป่าเบญจพรรณ แถวเขาลับงาบ้างค่ะ :-))

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท