เหตุเกิดที่นวลวรรณศึกษา 1/2


ผมมีสูตรการทำงานของผมว่า อ่าน (งานของเด็กให้) ออก บอก (สิ่งที่อ่าน) ได้ ใช้เป็น (เครื่องมือการชี้แนะ) เห็นแวว (เห็นศักยภาพของผู้เรียนคนนั้น)

เพื่อจะได้มองเห็นภาพของคำว่า  เรื่องสั้น ชัดเจนขึ้น  ขอนำ  “ลักษณะของเรื่องสั้น”  ที่ ชนะ วชกุล. (2524) กล่าวถึงไว้ว่า เรื่องสั้นมีลักษณะดังนี้

  “1.มีโครงเรื่อง  หมายถึงกลวิธีในการแสดงพฤติกรรมในลักษณะขัดแย้งกันในระหว่างตัวละคร  หรือขัดแย้งกับตัวเอง  หรือขัดแย้งกับสังคม  หรือขัดแย้งกับธรรมชาติ เป็นจุดเริ่มต้นของความยุ่งยากให้ผู้อ่านฉงน  อยากรู้ว่าจะเกิดมีอะไรต่อไป  พยายามทำให้ผู้อ่านสนใจใคร่รู้  แล้วดำเนินเรื่องให้จบลงด้วยผลอย่างใดอย่างหนึ่ง

2. มีจุดหมายของเรื่องอย่างเดียวกัน  และมีผลอย่างเดียวกัน  คือผู้เขียนจะต้องเสนอแนวคิดหรือแก่นเรื่อง (Theme) เพียงอย่างเดียว อาจจะเป็นทรรศนะหรือความคิดแง่ใดแง่หนึ่งของชีวิตเพียงอย่างเดียว  เช่น  “ความไม่แน่นอนของชีวิตมนุษย์”  ผู้เขียนจะต้องเขียนชะตาคนเพียงคนเดียว

  3.มีตัวละครน้อย ตัวละครที่แสดงบทบาทสำคัญที่สุดควรมีตัวเดียว  แล้วมีตัวละครประกอบอื่นๆ  ที่เกี่ยวข้องกับตัวเอก  เพื่อให้เรื่องดำเนินอย่างรวดเร็ว  รวบรัด โดยปกติไม่ควรมีตัวละครเกิน 5 ตัว ซึ่งจะต้องสนับสนุนตัวเอกให้เด่นชัดขึ้นเท่านั้น

  4.ใช้เวลาน้อย  ระยะเวลาในการท้องเรื่อง  ไม่ควรใช้เวลานานกว่าจะจบเรื่อง  อาจมีระยะเวลาหนึ่งวัน  หากใช้เวลานานอาจทำให้การติดต่อสืบเนื่องของเหตุการณ์ขาดตอนเรื่องไม่ชัดเจน  ยิ่งใช้เวลาน้อยเท่าใด  เรื่องยิ่งชัดขึ้น

  5.มีขนาดสั้น  การเขียนเรื่องสั้นจะพรรณาบรรยายยืดยาดไม่ได้  ต้องใช้คำอย่างประหยัด  มุ่งตรงไปตรงมา  ความสั้นมักจะกำหนดเป็นคำ  กล่าวกันว่า ขนาด 4,000 ถึง 5,000 คำ เป็นเรื่องเสนอพอเหมาะ (4 ตัวอักษรคิดเป็น 1 คำ) ในเรื่องของจำนวนคำนี้มิได้จำกัดลงไปอย่างแน่นอน  บางเรื่องอาจใช้ 1,500 คำ  แต่บางเรื่องอาจใช้ถึง 7,000 คำ  หรือ 10,000 คำ  จึงทำให้มีการเรียกชื่อ  เรื่องสั้นที่สั้นกว่าธรรมดาว่า  “เรื่องสั้น-สั้น”  (Short-Short Story) และเรื่องที่มีขนาดยาวกว่าธรรมดา เรียกว่า  “เรื่องสั้นขนาดยาว”  (Long Short Story) 

  6.มีความกระชับรัดกุมทุกๆ ด้าน  ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินเรื่อง  การพรรณาฉาก บทสนทนา  ฯลฯ  ผู้เขียนต้องอาศัยกลวิธีประหยัดคำ  คือ ใช้คำให้น้อย แต่ได้ความมากที่สุด เนื้อหาของเรื่องต้องแน่นและรสของเรื่องอยู่ในสภาพที่เข้มที่สุด

  มาถึงตรงนี้ก็พอที่จะมองเห็นภาพงานของปิ่นได้แล้วว่า  เรื่อง “กระรอกน้อยของฉัน”นั้น ปิ่นเขียนจากประสบการณ์จริงที่เกิดขึ้นกับปิ่น  โดยใช้วิธีการเล่าเรื่อง  แบบเรื่องสั้น-สั้น (Short-ShortStory) เพราะเรื่องราวที่ปิ่นเขียนเล่านั้น ผู้อ่านอ่านภายในเวลาไม่เกิน 10 นาทีก็จบ การบรรยายไม่ยืดยาดใช้คำประหยัด ตัวละครที่แสดงบทบาทสำคัญมีเพียงปิ่น (ผู้เล่า) กับกระรอกน้อย ปิ่นวางโครงเรื่องที่เห็นลักษณะความขัดแย้งในตัวของปิ่นเอง กลวิธีการเล่าเรื่องแบบนี้เป็นกลวิธีการเล่าแบบใช้บุรุษที่หนึ่งซึ่งเป็นตัวละครสำคัญในเรื่องเป็นตัวเล่า  โดยใช้คำแทนตัวผู้เล่าว่า  “ฉัน”  และมีจุดหมายของเรื่องหรือแก่นเรื่อง (Theme) ที่สอดรับกับพุทธพจน์ที่ว่า  “ที่ใดมีรักที่นั่นมีทุกข์” ถึงแม้ปิ่นจะไม่เขียนออกมาตรงๆ แต่เธอเขียนบอกเป็นนัยๆ ว่า  “ฉันคิดได้ว่า ความรักความเสียใจนั้นเป็นอย่างไร”

 

  สำหรับกลวิธีการเล่าเรื่องนั้น  ทองสุข เกตุโรจน์  (2519)  ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า

  กลวิธีในการเล่าเรื่องแบ่งออกได้เป็น4 วิธีดังนี้

  1.ใช้บุรุษที่หนึ่งซึ่งเป็นตัวละครสำคัญในเรื่องเป็นผู้เล่า  โดยใช้บุรุษที่หนึ่งคือ  “ผม”  “ฉัน”  ”ดิฉัน”  “ข้าพเจ้า”  และ  “เรา”  อันเป็นตัวละครสำคัญเล่าเอง  เป็นที่นิยมใช้กันมากพอสมควร  ข้อดีที่เห็นได้ชัดเจนในการใช้วิธีนี้คือ  ทำให้ผู้อ่านเห็นจริงเห็นจัง เพราะเชื่อว่าเรื่องเล่านั้นเกิดขึ้นแก่ผู้ประพันธ์จริงๆ

  2.ใช้บุรุษที่หนึ่งซึ่งเป็นตัวละครรองในเรื่องเป็นผู้เล่า  ตัวละครรองที่เป็นผู้เล่านี้  มักจะเป็นผู้ที่ใกล้ชิดกับตัวละครสำคัญ  เพื่อจะได้เล่าเรื่องราวหรือแม้แสดงความคิดเห็นที่ตนได้สังเกตหรือได้ฟังมาจากตัวละครสำคัญได้  การใช้วิธีที่สองนี้ดีกว่าวิธีที่หนึ่ง  ตรงที่ตัวละครรองซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้เล่า  สามารถบรรยายการกระทำ  อุปนิสัยใจคอ คุณงามความดีของตัวละครสำคัญ ซึ่งถ้าหากตัวละครสำคัญนั้นเป็นผู้เล่าเสียเอง  ก็ไม่สามารถบรรยายออกมาเป็นเช่นนั้นได้ นอกจากนี้ตัวละครรองยังสามารถเล่าเรื่องของตัวละครอื่นๆ  ตามที่ตนได้ยินได้ฟังได้เห็นมาได้ทุกตัวทุกแง่ทุกมุม ผู้เล่าประเภทนี้เหมือนกับคนกลางที่ได้ยินได้ฟังได้เห็นการสนทนา  การทะเลาะวิวาท  ฯลฯ ของบุคคลอื่น แล้วนำเรื่องที่ตยได้ยินได้เห็นนั้นไปเล่าให้คนอื่นๆ ฟังอีกต่อหนึ่ง

  3.ผู้ประพันธ์ในฐานะที่เป็นผู้รู้แจ้งเห็นจริงทุกอย่างเป็นผู้เล่า  วิธีนี้เป็นวิธีที่นิยมกัน เพราะผู้ประพันธ์สามารถเล่าเรื่องของตัวละครได้ทุกตัว  ไม่ว่าตัวละครนั้นๆ จะคิดเรื่องอะไร  รู้สึกอย่างไร และทำอะไรทั้งในที่ลับและในที่แจ้ง ผู้ประพันธ์อาจจะเปิดเผย ความคิดความอ่านของตัวละครทั้งหมดก็ได้ หรือปิดบังความคิดความอ่านนั้นไว้บางส่วน หรืออาจจะปิดบังไว้สักระยะเวลาหนึ่งแล้วค่อยเปิดเผยเมื่อถึงเวลาที่ต้องการก็ได้  ยิ่งกว่านั้นบางคราวผู้ประพันธ์อาจจะสอดแทรกคำพูดของตนเข้ามา หรืออาจให้ความเห็นเกี่ยวกับความประพฤติของตัวละครบางตัวก้ได้

  4. ผู้ประพันธ์ในฐานะที่เป็นผู้สังเกตการณ์เป็นผู้เล่า  หน้าที่ของผู้ประพันธ์ในวิธีที่สี่นี้ ก็คือรายงานเฉพาะสิ่งที่ตนเห็นหรือได้ยินได้ฟังได้สังเกตการสนทนาหรือการกระทำของตัวละครเท่านั้น ไม่อาจทราบความรู้สึกและความคิดของตัวละครได้เลย ผู้ประพันธ์มีหน้าที่ประหนึ่งผู้สังเกตการณ์  รูปของเรื่องสั้นหรือนวนยายที่ใช้กวลวิธีนี้จึงคล้ายกับบทละครมาก...”

  ทั้งหมดที่กล่าวมานั้นเป็นเพียงทฤษฎีหรือหลักการที่ผมอาศัยเพียงแค่เป็นเครื่องบอกทางว่า  ปิ่นเดินมาได้แค่ไหน  เพียงใด มีอะไรที่ผทพบเห็นสิ่งที่ซ่อนลึกในตัวเรื่องราวที่ปิ่นเขียนบ้าง  เพื่อจะช่วยเหลือให้ปิ่นเดินไปข้างหน้าได้อย่างถูกทาง

  ผมมองเห็นภาพงานของปิ่น  ดั่งที่ได้เขียนมาแล้วข้างต้น  ผมนึกต่อไปว่า ผมจะช่วยเหลือปิ่นได้อย่างไรบ้าง ผมมีสูตรการทำงานของผมว่า

  อ่าน  (งานของเด็กให้) ออก

  บอก(สิ่งที่อ่าน) ได้

  ใช้เป็น  (เครื่องมือการชี้แนะ)

  เห็นแวว  (เห็นศักยภาพของผู้เรียนคนนั้น)

 

  ผมสำนึกอยู่เสมอว่า  หน้าที่ของครูคือ ผู้ช่วยเหลือในการพัฒนาผู้เรียนเป็นรายบุคคล  ผมมีความเชื่อว่าไม่มีเด็กโง่  แต่มีเด็กที่ไม่เก่งไปทุกอย่าง  เด็กแต่ละคนจะมีความดี  ความเก่ง ความถนัดอย่างน้อยหนึ่งอย่าง และอย่างหนึ่งที่เขาถนัดนั้น ถ้าได้รับการพัฒนาเขาจะเก่ง แล้ว้าเขาเก่งอย่างหนึ่งอย่างใด เขาก็จะพัฒนาตัวเองให้เก่งเพิ่มขึ้นได้ในสิ่งนั้นหรือสิ่งที่ใกล้เคียงกัน

  การอ่านงานของเด็กจนทะลุเข้าไปในมิติของเด็กคนนั้น  จะใช้ให้ครูมีข้อมูลในการใช้เป็นเครื่องมือชี้แนะผู้เรียนให้พัฒนาต่อไปตามแววที่เห็น  แล้วก็บอกให้เด็กรู้ตามสิ่งที่เราพบเห็นพร้อมกับกระตุ้น  หรือ  เร้า  ให้ผู้เรียนมีความมั่นใจที่จะฝึกฝนต่อไป

  ผมใช้วิธีแสดงความคิดเห็นของผมลงไปในส่วนที่ว่างของงานเด็ก หรือเพิ่มหน้ากระดาษให้ในกรณีที่แสดงความคิดเห็นยาว  การเขียนข้อความสั้นๆนั้นเพื่อเร้าใจผู้นั้นให้คิดทำงานต่อ แต่การเขียนแสดงความคิดเห็นยาวนั้นเพื่อ บอกสิ่งที่พบเห็นจากการอ่านงานของเขา แล้วชี้แนะแนวทางให้เขาเดินต่อไป

  กับงานของปิ่น  ถ้าผมเขียนสั้นๆ  ผมจะเขียนว่า

ดีใจที่ได้อ่านเรื่อง “กระรอกน้อยของฉัน”  ปิ่นเขียนเล่าเรื่องจากประสบการณ์เก่งมาก  ครูเชื่อว่า  ปิ่นสามารถเขียนเรื่องแบบนี้ให้ครูอ่านได้อีก  ครูคอยอ่านเรื่องต่อไปของปิ่นอยู่นะ

  ถ้าจะเขียนแบบยาวๆผมจะเขียนว่า

เรื่อง “กระรอกน้อยของฉัน”  ครูอ่านแล้วชอบมาก  ชอบตรงที่ปิ่นเขียนแบบ “เล่าเรื่องจากประสบการณ์จริง”  โดยที่ปิ่นนำเรื่องที่ปิ่นพบเห็นด้วยตนเอง  มาเขียนเล่าให้ผู้อ่าน  อ่านด้วยภาษาง่ายๆ  ตรงไปตรงมากะทัดรัด  แต่สามารถรู้เรื่องที่อ่านนั้นได้อย่างดี  นี่คือ  ความเก่งของปิ่น  โดยเฉพาะวิธีการเขียนเรื่องของปิ่นเรื่องนี้  ปิ่นเขียนแบบเขียนเรื่องสั้น-สั้น (Short-Short Story) ซึ่งผู้อ่านสามารถอ่านจบภายในเวลา 5-10 นาที  จุดเด่นของเรื่องที่ปิ่นเขียนอีกอย่างหนึ่งคือ  ปิ่นแทรกคุณธรรมเข้าไปในเรื่อง  โดยไม่ได้บอกเล่าอย่างตรงไปตรงมา  แต่ผู้อ่านอ่านแล้วต้องคิดและคิดได้หลายแง่มุมกับข้อความที่ปิ่นเขียนว่า “จังหวะนั้นมันทำให้ฉันคิดได้ว่า  ความรัก  ความเสียใจมันเป็นอย่างไร”  นี่คือเสน่ห์ของเรื่องนี้

  ปิ่นลองชวนคุณพ่อออกเดินตามถนนในหมู่บ้านเวลาเช้ามืด  พบเห็นอะไรแล้วนำมาเขียนเล่าให้เพื่อนๆ อ่าน  ครูก็คอยอ่านด้วย  หรือปิ่นไปเที่ยวที่ไหนก็ตามลองนำมาเขียนเล่าเรื่องราวเหล่านั้นให้เพื่อนๆ อ่าน  ครูเชื่อว่าหนูเขียนได้ดี  ครูคอยอ่านเรื่องของเธออยู่นะ

อ่านเป็นเล่มได้ที่นี่ครับ https://docs.google.com/docume...

เอกสารอ้างอิง

ชนะ  เวชกุล.การเขียนสร้างสรรค์. กรุงเทพฯ สำนักพิมพ์โอเดียนสโตร์ 2524

ทองสุข  เกตุโรจน์.การเขียนแบบสร้างสรรค์. กรุงเทพฯ มหาวิทยาลัยรามคำแหง 2519

หมายเลขบันทึก: 508956เขียนเมื่อ 16 พฤศจิกายน 2012 12:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 ตุลาคม 2018 14:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

นานๆ จะได้อ่านบทความดีๆ ของท่านอาจารย์ชาตรี สำราญ ที่มีความเป็น "ครู" จริง ทำให้คนรู้จัก "ครู"

อ่านให้มากนะครับ คนที่กำลังประกอบอาชีพครู ต้องอย่างนี้ครับ "ครู" ที่แท้จริง เขาต้องมีหลักในการสอน มีขั้นตอนในการฝึก ไม่ใช่สักแต่ว่าอธิบายตามหนังสือแบบเรียน แล้วสั่งให้ทำ โดยไม่ต้องฝึกตามลำดับขั้นตอนการเรียนรู้เลย

ขอบพระคุณท่านอาจารย์เป็นอย่างมาก ที่ยังมีเมตตาพยายามแนะนำคนที่มีอาชีพครู แต่ไม่ยอมใฝ่รู้และสงสารเด็กให้มากขึ้น และไม่ยอมเข้าใจว่่า "ความเป็นครูนั้นอยู่ที่ "ฝึก" มิใช่ "สอน"

อ่านบทความของอาจารย์แล้วทำให้มองเห็นกระบวนการที่มีความหมายสำหรับเด็กๆ การเสียสละทุ่มเท

เพื่อให้เกิดการเรียนรู้อย่างมีความสุขอิ่มอร่อยกับการเรียน ทำให้มีกำลังใจมากขึ้น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท