เหตุเกิดที่นวลวรรณศึกษา 1/1


มีเพื่อนครูบางท่านถามผมว่า “เวลาอ่านงานของเด็กผมคิดอย่างไร” ผมจะบอกทุกคนว่า ผมอ่านเพื่อหาสิ่งถูกมาต่อยอดให้เด็กๆ ดังนั้นเด็กๆ จะไม่เห็นวงกลมสีแดงบนผลงานของเขา เพราะผมไม่ได้จับผิดเขา เขาจึงไม่มีที่ผิด

ตอนที่ 1 พบเพชร

  มีเพื่อนครูบางท่านถามผมว่า  “เวลาอ่านงานของเด็กผมคิดอย่างไร”  ผมจะบอกทุกคนว่า  ผมอ่านเพื่อหาสิ่งถูกมาต่อยอดให้เด็กๆ  ดังนั้นเด็กๆจะไม่เห็นวงกลมสีแดงบนผลงานของเขา เพราะผมไม่ได้จับผิดเขา เขาจึงไม่มีที่ผิด ก็มีคนถามผมต่อไปอีกว่า แล้วถ้าเด็กเขียนคำผิดล่ะจะทำอย่างไร เท่าที่ผมเคยปฏิบัติมาคือ

1. ผมจะจดคำที่เด็กเขียนผิดไว้ในสมุดของผม  เพราะถ้าเด็กเขียนคำนั้นผิดครั้งแรก  ผมจะไม่ถือว่าเขียนผิด  เขาอาจจะลืมก็ได้หรือเขารีบจึงเขียนพลาดไป  ซึ่งผมเองก็เคยเขียนพลาดมาแล้ว  แต่ถ้าเขาเขียนผิด 2ครั้งขึ้นไป  ผมจะถือว่าเขาเขียนผิด  เราจะต้องนั่งพูดคุยกันหาทางแก้ไขกัน

วิธีการแก้ไข  ผมมักจะถามเด็กว่า  “เขียนอย่างนี้ถูกไหม  ครูอยากรู้ ลองช่วยเปิดพจนานุกรมให้หน่อย?” ฝึกให้เขาใช้เครื่องมือประกอบการเขียน หรือเขียนคำที่ถูกให้ แต่มักจะใช้วิธีแรกมากกว่า เพราะเด็กผ่านการค้นคว้า เขาจะจำได้นาน

2. การที่เด็กเขียนผิด  ผมจะไม่คิดว่าเด็กเขียนผิด  ผมจะคิดว่า ผมยังสอนให้เขาเขียนได้ไม่ถูก นั่นคือผมต้องหาวิธีการแก้ไขและผมต้องปรับปรุงที่ตัวผมเองมากกว่าไปโทษเด็ก

เวลาผมอ่านเรียงความของเด็กๆนั้น  ผมจะอ่านความที่เด็กๆ  นำมาเรียงกันว่ามีความถูกต้องมากน้อยเพียงใด  มีความดี ความงาม  ตรงไหน  มากกว่าค้นหาคำที่เขียนผิด  แต่ถ้าเจอคำผิดผมจะจดบันทึกไว้  ดังนี้

วันที่

สิ่งที่พบเห็น

1 ก.ย. 55

2 ก.ย. 55

3 ก.ย. 55

วันนี้  ประสิทธิ์เขียนคำว่า  แกล้ง  เป็น  แกร้ง  จึงจดบันทึกไว้  แต่ไม่คิดว่า  ประสิทธิ์เขียนผิด  เขาอาจจะเผลอไปก็ได้

วันนี้  ประสิทธิ์เขียน  แกร้ง  อีก  แสดงว่าเขาเขียนผิดจริง  เพราะซ้ำ 2 ครั้งแล้ว  จึงเรียกประสิทธิ์มาพูดคุยกัน  ถามถึงเรื่องที่เขียนว่า  “ทำไมจึงเขียนเรื่องนั้นมาส่งครู”  ประสิทธิ์ตอบว่า  “ผมโดนเพื่อนแกล้งครับ”  จะสังเกตได้ว่า  ประสิทธิ์พูดคำควบกล้ำพลาดจึงส่งผลให้เขียนคำนั้นผิด  จึงให้ประสิทธิ์เปิดพจนานุกรมดูคำนั้น  และพูดให้ถูก

วันนี้  ประสิทธิ์เขียน แกล้ง  ถูก  เวลาอ่านออกเสียงก็อ่านถูก  แต่พอถึงคำแกล้ง  เขาจะหยุดชะงักนิดหนึ่งเหมือนรวบรวมสติแล้วอ่าน  เชื่อว่าต่อไปเขาคงจะเขียนแกล้งได้ถูกต้อง  แต่ต้องสังเกตต่อไป

  การบันทึกรายละเอียดที่พบเห็นพฤติกรรมการเรียนของผู้เรียนเป็นรายบุคคล  จะเป็นข้อมูลหรือเครื่องมือในการวิจัยในชั้นเรียนได้เป็นอย่างดี

  3. ยังมีวิธีช่วยเหลือเวลาที่เด็กๆ  เขียนคำผิดซึ่งผมใช้บ่อยๆ เมื่อต้องการให้เด็กคนนั้นเขียนคำได้ถูกต้องไวๆ  ผมจะเขียนแสดงความคิดเห็นของผมลงไปในท้ายผลงานของเด็ก  เช่น คำว่า  แกร้ง  ผมจะเขียนว่า

  “อ่านเรื่องของประสิทธิ์แล้วชอบมาก  เพราะตอนเด็กๆ ครูก็เคยถูเพื่อนแกล้งเหมือนกัน แต่ครูไม่โกรธคนที่แกล้งครู ลองเขียนเล่าเรื่องอื่นๆ ให้ครูอ่านอีกนะ”

  ผมสังเกตเห็นเด็กเจ้าของผลงานอ่านแล้วหันมายิ้มกับผมและรีบแก้คำผิดคำนั้นทันที  แต่ผมชอบวิธีการค้นหาคำถูกจากพจนานุกรม  เพราะเด็กๆจะรู้จักการใช้พจนานุกรมให้เป็นประโยชน์ต่อการอ่าน  การเขียน และเด็กจะรู้จักการค้นหาความรู้ได้ด้วยตนเอง

  ในการขึ้นมากรุงเทพ ครั้งนี้ของผมจะว่าเป็นการบังเอิญก็คงไม่ใช่ เพราะผมจะมารับการตรวจหัวใจตามที่คุณหมอนัดไว้  แต่ผมขึ้นมาก่อนกำหนดเลยมาพักที่บ้านพักภายในโรงเรียนนวลวรรณศึกษา  วันนี้ผมว่าง (7 ส.ค. 55)ถือโอกาสมานั่งคุยกับเพื่อนครูที่โรงเรียนนี้

  ยังเช้าอยู่ เด็กๆ ทยอยกันมาโรงเรียน ผมนั่งคุยกับคุณนวลลออ สาครนาวิน เจ้าของและผู้จัดการโรงเรียน มีเด็กผู้หญิง 2 คน  เข้ามาพบคุณนวล  เพื่อมาขอพรจะไปแข่งขันการอ่านออกเสียง  หนึ่งในจำนวนนั้น  พูดไปสักพักก็ร้องไห้  เมื่อสอบถามได้ความว่า  เมื่อวานนี้กลับจากโรงเรียนไปบ้านไม่เห็นกระรอกที่เลี้ยงไว้  มันตายก่อนเธอจะไปถึง  จึงยังเสียใจอยู่  คุณนวลพูดปลอบใจ  จนปิ่นเด็กผู้หญิงคนนั้นคลายความเสียใจลงได้  คุณนวลแนะ ทำให้ปิ่นรู้จักกับผม เราพูดคุยกันครู่หนึ่ง คุณครูก็มารับตัวเพื่อเดินทางไปยังสถานที่แข่งขันอ่านออกเสียง ก่อนจากกันผมบอกปิ่นว่าเขียนเรื่องกระรอกของปิ่นให้ผมอ่าน  พรุ่งนี้ผมจะคอยอ่าน  แล้ววันรุ่งขึ้น  เด็กหญิงกุลนภา  พิบูลย์ศิลป์ หรือ  ปิ่น เด็กน้อยน่ารักก็ส่งเรื่อง “กระรอกน้อยของฉัน”  ให้ผมอ่าน  เธอเขียนว่า

กระรอกน้อยของฉัน

  ฉันเพิ่งมีกระรอกตัวแรกที่รักและห่วงใย  ฉันดูแลเจ้ากระรอกน้อยคล้ายๆ ดูแลคน

  พ่อซื้อกระรอกตัวนี้มาให้ฉัน  ฉันตั้งชื่อมันว่า  “ซานต้า” เพราะฉันซื้อมันมาตอนเดือนธันวาคม ช่วงวันคริสต์มาส เลยให้ชื่อมันว่า  “ซานต้า”

  ฉันเลี้ยงซานต้าโดยให้กิน “ซีรีแล็ค”  เพราะคนขายกระรอกตัวนี้บอกฉันมาอย่างนี้  ตอนกระรอกตัวเล็กๆ  ฉันจะชงซีรีแล็คให้กิน  แต่พอซานต้าโตขึ้น  ฉันให้ซานต้ากินผลไม้

  ฉันชอบเล่นกับซานต้าทุกวัน

  ฉันรักซานต้า

  แต่เมื่อ 6 ส.ค. 55  ฉันกลับไปถึงบ้านตอนเย็น  ฉันเห็นกรงของซานต้าว่างเปล่า  ยายบอกฉันว่า “ซานต้าตายแล้ว” พอได้ยินคำนี้ กระเป๋าที่ฉันถืออยู่หลุดจากมือไปตอนไหนไม่รู้  ฉันล้มตัวลงกับพื้นบ้านแล้วร้องไห้  จังหวะนั้นมันทำให้ฉันคิดได้ว่า  ความรักความเสียใจมันเป็นอย่างไร

  ฉันฝังซานต้าไว้ที่ใต้ต้นพุดซ้อน  ก่อนฝังฉันบอกซานต้าว่า  “แล้ววันหน้าค่อยเจอกันใหม่นะ”

  ฉันรักซานต้า

ด.ญ.กุลนภา พิบูลย์ศิลป์  (ปิ่น)  ป.5

7 ส.ค. 55

  อ่านเรื่อง “กระรอกน้อยของฉัน”  จบลง  สิ่งแรกที่ผมคิดคือ  ปิ่นเขียนเรื่องจากเรื่องจริง  เรื่องจริงที่เกิดขึ้นในชีวิตของปิ่นเอง ปิ่นสามารถหยิบเรื่องราวจากสิ่งที่พบผ่านเข้ามาในชีวิตของปิ่นมาเล่าให้ผู้อ่านฟังได้อย่างน่าอ่าน  การเขียนเรื่องแบบนี้เรียกว่า  “การเขียนเรื่องจากประสบการณ์”  ชนะ เวชกุล. (2524).  ได้กล่าวถึงการเขียนเรื่องจากประสบการณ์ว่า

  “เรื่องราวจากประสบการณ์นั้น จะต้องมีรายละเอียดในแง่ความสำคัญของเหตุการณ์นั้นๆ  สถานที่ของเหตุการณ์  บุคคล ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์...”

  สำหรับกลวิธีการเขียน ชนะ  วชกุล. (2524)  กล่าวว่า  “ในลักษณะของกลวิธีการเขียน  อาจใช้กลวิธีการเขียนเรื่องสั้นก็ได้  คือผู้เขียนเล่าเหตุการณ์ไปตามลำดับเวลาก่อนหลัง  วิธีนี้ผู้อ่านจะเข้าใจเรื่องได้ง่าย”

  คำกล่าวของ ชนะ วชกุล ที่ผมยกมาอ้างถึงนั้น เมื่อนำมาพิจารณาผลงานของปิ่น ก็จะเห็นภาพชัดเจนดังนี้

  1. เกี่ยวกับรายละเอียด ปิ่นให้รายละเอียดเรื่องกระรอกน้อยของฉันมากพอที่ผู้อ่านจะรู้ได้ว่า  ปิ่นได้กระรอกมาจากไหน  เมื่อไร เขาตั้งชื่อว่าอย่างไร เขามีวิธีการเลี้ยงดูแบบใด และสุดท้ายเกิดอะไรขึ้นกับเขา เหตุการณ์เหล่านั้นเกิดขึ้น ณ ที่ใด เมื่อใด  ปิ่นเขียนเล่าละเอียดมาก  อ่านเข้าใจเรื่องได้ง่าย

  2. กลวิธีการเขียน ปิ่นเขียนเรื่องแบบการเขียนเรื่องสั้น ความหมายของเรื่องสั้นนี้  เอช.จี.เวลส์(H.G.Wells) (อ้างถึงในชนะ  วชกุล. 2524)  โดยให้คำนิยามว่า

  “เรื่องสั้นคือ เรื่องอ่านเล่นที่อาจจะอ่านกันจบภายใน 1 ชั่วโมง  และเรื่องนั้นเต็มไปด้วยชีวิตจิตใจ  ความรื่นรมย์ ไม่จำกัดว่าเป็นเรื่องที่จะต้องมีตัวมีตน ไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องคนหรือไม่ใช่คน เรื่องไม่จำเป็นต้องซาบซึ้งเข้าไปในความคิดอย่างเดียว  และไม่จำเป็นต้องสนุกสนานเพียงผิวเผิน  เรื่องอาจจะน่าสะพรึงกลัว  น่าสังเวช และอาจจะน่าหัวเรากันน้ำหูน้ำตาไหล หรืออาจจะสดสวยสุกใสสดชื่น เรื่องสั้นประกอบด้วยสภาพเหล่านี้แล้วก็อาจจะอ่านกันได้ระหว่าง 15 นาทีถึง 50 นาที”

https://docs.google.com/docume...



หมายเลขบันทึก: 508955เขียนเมื่อ 16 พฤศจิกายน 2012 12:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 ตุลาคม 2018 14:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

นานๆ จะได้อ่านบทความดีๆ ของท่านอาจารย์ชาตรี สำราญ ที่มีความเป็น "ครู" จริง ทำให้คนรู้จัก "ครู"

อ่านให้มากนะครับ คนที่กำลังประกอบอาชีพครู ต้องอย่างนี้ครับ "ครู" ที่แท้จริง เขาต้องมีหลักในการสอน มีขั้นตอนในการฝึก ไม่ใช่สักแต่ว่าอธิบายตามหนังสือแบบเรียน แล้วสั่งให้ทำ โดยไม่ต้องฝึกตามลำดับขั้นตอนการเรียนรู้เลย

ขอบพระคุณท่านอาจารย์เป็นอย่างมาก ที่ยังมีเมตตาพยายามแนะนำคนที่มีอาชีพครู แต่ไม่ยอมใฝ่รู้และสงสารเด็กให้มากขึ้น และไม่ยอมเข้าใจว่่า "ความเป็นครูนั้นอยู่ที่ "ฝึก" มิใช่ "สอน"

ขอบคุณครับ ผมคิดว่า อ.ชาตรี ก็ยังคงหวังในการที่ครูทุกท่าน จะฝึกฝนตนเอง จนเป็น ครู ที่แท้จริง เช่นกันครับ อาจารย์จึงได้สละเวลา มาเขียนงาน ออกมาเรื่อยๆ ครับ ขอบคุณอีกครั้งครับ สำหรับความเห็นที่ โดนใจในยุคที่เกิดคำถามมากมายต่อความเป็นครู ของครู

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท