ครูเพื่อศิษย์ส่งเสริมให้ศิษย์สนุกกับการเรียน : 54. ประยุกต์ใช้ความรู้ (6) ทัศนศึกษา


การไปเยี่ยมชมสถานที่จริง ที่อาจเป็นพิพิธภัณฑ์ ห้องปฏิบัติการ โรงพยาบาล นิทรรศการศิลปะ ศูนย์สิ่งแวดล้อม สวนพฤกษศาสตร์ ศูนย์ธรณีวิทยา เป็นต้น ช่วยให้ นศ. เข้าใจความหมายหรือคุณค่าของวิชาที่เรียน ต่อชีวิตจริง ช่วยให้เข้าใจว่าความรู้เหล่านั้นมีที่ใช้ในสถานการณ์ต่างๆ อย่างไรบ้าง รวมทั้งช่วยให้ นศ. ได้ช่วยเหลือกัน เกิดความผูกพันกันเป็นชุมชนเรียนรู้

ครูเพื่อศิษย์ส่งเสริมให้ศิษย์สนุกกับการเรียน  : 54. ประยุกต์ใช้ความรู้  (6) ทัศนศึกษา

บันทึกชุดนี้ ได้จากการถอดความ ตีความ และสะท้อนความคิด  จากการอ่านหนังสือ Student Engagement Techniques : A Handbook for College Faculty เขียนโดย ศาสตราจารย์ Elizabeth F. Barkley  ในตอนที่ ๕๔นี้ ได้จาก Chapter 16  ชื่อ Application and Performance  และเป็นเรื่องของ SET 34 : Field Trips

บทที่ ๑๖ ว่าด้วยเรื่องการประยุกต์ใช้ความรู้  ประกอบด้วย ๖ เทคนิค  คือ SET 29 – 34  จะนำมาบันทึก ลปรร. ตอนละ ๑ เทคนิค  เทคนิคเหล่านี้ ช่วยให้ นศ. ฝึกเรียนรู้ด้วยการประยุกต์ใช้ความรู้ 

ความรู้และทักษะจะมีความหมายต่อ นศ. เมื่อ นศ. สามารถใช้ประโยชน์ได้ 

บันทึกนี้จะเป็นบันทึกสุดท้ายของตอนที่ว่าด้วยการประยุกต์ใช้ความรู้

SET 34  : Field Trips

จุดเน้น  :  ความร่วมมือ

กิจกรรมหลัก :  เยี่ยมชมสถานที่

ระยะเวลา  :  ๑ คาบ

โอกาสเรียน online  :  สูง

กลุ่ม นศ. ไปทัศนศึกษานอกสถานที่  เพื่อให้ได้สัมผัสตรง หรือค้นคว้า  เรื่องที่เกี่ยวกับรายวิชา ที่ไม่มีให้เรียนในชั้นเรียน 

การไปเยี่ยมชมสถานที่จริง ที่อาจเป็นพิพิธภัณฑ์ ห้องปฏิบัติการ โรงพยาบาล นิทรรศการศิลปะ ศูนย์สิ่งแวดล้อม สวนพฤกษศาสตร์ ศูนย์ธรณีวิทยา เป็นต้น  ช่วยให้ นศ. เข้าใจความหมายหรือคุณค่าของวิชาที่เรียน ต่อชีวิตจริง  ช่วยให้เข้าใจว่าความรู้เหล่านั้นมีที่ใช้ในสถานการณ์ต่างๆ อย่างไรบ้าง  รวมทั้งช่วยให้ นศ. ได้ช่วยเหลือกัน เกิดความผูกพันกันเป็นชุมชนเรียนรู้   

 ขั้นตอนดำเนินการ

1.  การออกไปทัศนศึกษานอกโรงเรียนมีความเสี่ยงด้านความปลอดภัย หรือความรู้สึกเป็นห่วงของผู้ปกครองเด็ก  สถาบันการศึกษาจึงมักมีข้อกำหนด  รวมทั้งต้องมีใบลงนามยินยอม  ครูต้องตรวจสอบระเบียบข้อบังคับของสถาบันการศึกษาของตนในเรื่องนี้   และปฏิบัติตาม 

2.   วางแผนตามรายละเอียดต่อไปนี้

-  ติดต่อสถานที่ที่จะไปเยี่ยมชม  เพื่อทราบข้อกำหนดรายละเอียดต่างๆ  รวมทั้งวิธีขอเข้าชมส่วนที่ตามปกติไม่เปิดแก่คนทั่วไป  แต่ นศ. น่าจะได้เข้าชม เพราะเกี่ยวข้องกับเรื่องที่เรียน

-  หากเป็นไปได้ ครูไปเยี่ยมสำรวจสถานที่ล่วงหน้าด้วยตนเอง เพื่อวางแผนป้องกันปัญหาไว้ล่วงหน้า

-  ร่วมกับเจ้าหน้าที่ของสถานที่ กำหนดวันเวลาไปเยี่ยมชม

-  เตรียม นศ. เกี่ยวกับค่าใช้จ่าย  การแต่งกาย  ข้อปฏิบัติตัว เป็นต้น

-  กำหนดการเดินทาง จะไปด้วยกัน  หรือแยกกันไป  เดินทางอย่างไร ฯลฯ  ควรกำหนด แบ่ง นศ. ออกเป็นกลุ่มๆ มีหัวหน้ากลุ่มทำหน้าที่ติดต่อกับครูทางโทรศัพท์มือถือ

3.  วางแผนกิจกรรมติดตามผล  เช่น การอภิปรายในชั้นเรียน  การเขียนเรียงความ เพื่อให้ นศ. ได้ทบทวนสิ่งที่ตนได้เรียนรู้  และเชื่อมโยงเข้ากับชีวิตจริง 

ตัวอย่าง

วิชาสังคมวิทยาเบื้องต้น

เป็นรายวิชาในหมวดการศึกษาทั่วไป  ของมหาวิทยาลัยมิชิแกน ที่ แอนน์ อาร์เบอร์  ครูแบ่ง นศ. เป็นกลุ่ม ไปทัศนศึกษานคร ดีทรอยท์ (ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นเมืองใหญ่ที่มีปัญหาทางสังคมสูงมาก)  เพื่อเรียนรู้สภาพจริงด้านสังคม  ได้แก่ ด้าน เชื้อชาติ ชาติพันธุ์ เพศ กลุ่มเศรษฐกิจและสังคม การแบ่งแยกชนชั้น การเคลื่อนย้ายประชากร  ความเป็นชุมชน  เป็นต้น 

วิชามานุษยวิทยากับประสบการณ์ชีวิตสมัยใหม่

เป็นรายวิชาที่ศึกษา online   ครูจึงจัด “ทัศนศึกษาเสมือน” ให้ นศ. เข้าเยี่ยมชม เว็บไซต์ ของพิพิธภัณฑ์ที่มีการจัดแสดงสิ่งของสำคัญ  โดยครูมีคำสั่งให้ นศ. หาข้อมูลสำคัญ ทำเป็นรายงาน  หรือนำไปเสนอใน online discussion group  คำสั่งของครูอาจเลยจากข้อมูล ไปเน้นที่การเรียนให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ 

วิชา DNA Sequencing and Bioinformatics

มีเป้าหมายให้ นศ. เรียนรู้เทคนิค DNA Cloning และ DNA Sequencing  และการใช้เทคนิคนี้ในการวิจัยและการผลิต 

เนื่องจากมีศูนย์วิจัยด้านนี้อยู่ใกล้มหาวิทยาลัย และให้บริการการเรียนรู้ในลักษณะ DNA Lenaring Center  ครูจึงจัดให้ นศ. ไปฝึกใช้คอมพิวเตอร์ และข้อมูลชุดจริงที่นักวิจัยใช้  เพื่อให้ นศ. ทำแบบฝึกหัด วิเคราะห์ จีโนมของ คน พืช แบคทีเรีย และไวรัส  ศึกษาว่าทำไมการเปลี่ยนแปลงลำดับเบสในดีเอ็นเอจึงทำให้เกิดโรค  ศึกษาแนวทางการพัฒนายา โดยเทคนิคจีโนมิกส์ เป็นต้น 

   

การประยุกต์ใช้ online

ใช้ได้ในทำนองเดียวกันกับการเรียนแบบ face-to-face  โดย นศ. นัดหมายกันไป “ทัศนศึกษาเสมือน”  และ ลปรร. กันเป็นกลุ่ม

การขยายวิธีการหรือประโยชน์

·  ใช้ประโยชน์ของเว็บไซต์ ชื่อ Virtual Field Trips   

·  ในการไปทัศนศึกษา มอบหมายให้ทีม นศ. ทำวิจัยหัวข้อที่กำหนด  จัดทำ presentation มาเสนอแก่เพื่อนในชั้น   

คำแนะนำ

ทัศนศึกษามักต้องจัดนอกเวลาเรียนตามปกติ  จึงอาจจัดเวลายาก  หากชั้นเรียนใหญ่มาก อาจจัด นศ. เป็นกลุ่มเล็กลง  หมุนเวียนเวลาไปทัศนศึกษา  นศ. ที่ไปทัศนศึกษาไม่ได้จริงๆ อาจได้รับมอบหมายงานให้ทำ 

อาจมอบหมายให้ นศ. เป็นผู้ช่วยครู ในการจัดทัศนศึกษา

เอกสารค้นคว้าเพิ่มเติม

Wright MC. (2000). Getting more out of less : The benefit of short-term experiential learning in undergraduate sociology classes. Teaching Sociology 28(2) : 116-126.

คำแนะนำของผม

ผมบันทึกเรื่องครูเรฟ พานักเรียนอายุ ๑๐ ขวบไปทัศนศึกษาที่นี่

วิจารณ์ พานิช

๑๕ พ.ย. ๕๕

  


หมายเลขบันทึก: 508928เขียนเมื่อ 16 พฤศจิกายน 2012 08:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 ธันวาคม 2012 11:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท