คำถามจากครูไทยในญี่ปุ่น


ถ้าครูพูดมากกว่านักเรียน ถือว่าเป็นการสอนที่ไม่ดี


เมื่อกลางเดือนที่แล้ว ดิฉันได้รับอีเมลฉบับหนึ่งที่ส่งจากคุณครูวัชราภรณ์  ระยับศรี ครูระดับประถม สังกัดกรุงเทพมหานคร ที่ได้ทุนจากรัฐบาลญี่ปุ่น ให้ไปศึกษาเรียนรู้ที่มหาวิทยาลัย Osaka Kyoiku 


คุณครูวัชราภรณ์รู้จักดิฉันผ่านบันทึกความรู้ที่เขียนลงใน blog และเขียนอีเมลฉบับแรกผ่านมาทางระบบของ gotoknow


ในอีเมลฉบับล่าสุดคุณครูเล่าประสบการณ์ให้ฟังว่า...

เมื่อสองวันก่อนได้มีโอกาสไปดูวิธีการศึกษาบทเรียนของครูค่ะ ที่นี่จะเน้นที่นักเรียนค่ะ เน้นให้นักเรียนเข้าใจอย่างลึกซึ้ง ถ้านักเรียนเข้าใจอย่างถ่องแท้ นักเรียนจะสามารถอธิบายให้คนอื่นๆเข้าใจได้ค่ะ  ในระหว่างการศึกษาบทเรียนเขาจะมีโปรแกรมเช็คระยะเวลาการพูดของครูกับนักเรียนด้วย


เมื่อหมดคาบเขาจะมาวิเคราะห์จากกราฟที่แสดงออกมา  ถ้าครูพูดมากกว่านักเรียน ถือว่าเป็นการสอนที่ไม่ดีค่ะ  แต่ถ้าระยะเวลาที่นักเรียนพูดมีมากกว่าครู  ถือเป็นการสอนที่ดีค่ะ 


ที่ประเทศญี่ปุ่น lesson study ถือเป็นหนึ่งในงานของครู ไม่มีใครไม่รู้จักค่ะ ครูทุกคนต้องทำ lesson study ค่ะ (เหมือนที่ครูไทยต้องเขียนแผนการสอน) เพราะเขาถือว่าเป็นการพัฒนาครูที่เห็นผล เขาเชื่อว่าสิ่งต่างๆ ที่ครูสามารถเรียนรู้และพัฒนาได้อยู่ในห้องเรียนนี่เองค่ะ งานของครูคือการสอน 


เพราะฉะนั้นถ้าจะอบรมครูก็อบรมจากห้องเรียนค่ะ เรียนรู้สิ่งต่างๆ  รวมทั้งปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างการสอน พูดง่ายๆคือ เจอปัญหาและร่วมกันแก้ให้ตรงจุดเลย เป็นรูปธรรมค่ะ ไม่ต้องไปขวนขวายภายนอกค่ะ ครูที่ญี่ปุ่นไม่ค่อยอบรมมากมายเหมือนครูไทยค่ะ นานๆทีจะไปอบรมค่ะ แต่จะมีศึกษานิเทศก์ หรือนักวิชาการ เข้ามาช่วยครูที่โรงเรียนเป็นประจำค่ะ ที่ญี่ปุ่น ศึกษานิเทศก์ หรือนักวิชาการจะเป็นคนเข้าหาครูที่โรงเรียนค่ะ เข้าไปเพื่อช่วยเหลือ ช่วยพัฒนาครูค่ะ


สิ่งที่หนูรู้สึกประทับใจในระบบการทำงานของคนญี่ปุ่นค่ะ คนที่มีตำแหน่งใหญ่ๆ ท่านไม่ได้คิดว่าตัวเองมีอำนาจค่ะ แต่หน้าที่ของท่านคือ การช่วยเหลือผู้น้อย การทำทุกๆอย่างเพื่อให้ผู้น้อยทำงานได้อย่างราบรื่นค่ะ


วันนี้ส่งคำถามมารบกวนคุณครูค่ะ   รบกวนคุณครูด้วยนะคะ  ขอบพระคุณมากค่ะ


คำถาม

๑.  คุณคิดว่า lesson study แตกต่างจากการพัฒนาครูด้วยวิธีอื่นๆอย่างไร?

๒.  คุณคิดว่า lesson study มีความจำเป็นต่อการพัฒนาครูในประเทศไทยหรือไม่ เพราะเหตุใด?

๓.  ในโรงเรียนที่ไม่มีใครทราบเกี่ยวกับ lesson study เราควรเริ่มต้นอย่างไร?

๔.  คุณคิดว่าประโยชน์ของ lesson studyคืออะไร?

๕.  คุณคิดว่า lesson study มุ่งเน้นความสำคัญที่ครูหรือนักเรียน? เพราะอะไร?

๖.  คุณสมบัติหรือลักษณะนิสัยที่สำคัญที่จะทำให้ครูไทยประสบความสำเร็จในการพัฒนาครูด้วยวิธี lesson study คืออะไร (ข้อดีที่เอื้อให้ครูไทยทำ lesson study ได้ดี)

๗.  คุณสมบัติ ลักษณะนิสัย หรืออุปสรรคสำคัญที่จะทำให้ lesson study ล้มเหลวในประเทศไทย คืออะไร และเราควรใช้วิธีใดก้าวข้ามอุปสรรคนั้น (เช่น ระบบการศึกษา การเมือง สังคม วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีของไทย จิตใจเป็นต้น) (วิธีการแก้ปัญหา)

๘.  เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเราทำ lesson study ได้ถูกต้องหรือยังไม่ถูกต้อง

๙.  เราจะมีวิธีการอธิบายเรื่องการศึกษาบทเรียนให้ผู้บริหารและครูเข้าใจได้ตรงกันอย่างไร

๑๐.  คุณคิดว่า lesson study เป็นวิธีที่สามารถพัฒนาครูได้อย่างแท้จริง และคุณต้องการให้มีการทำ lesson study ระหว่างเพื่อนครูด้วยกัน แต่ผู้บริหารไม่เห็นด้วยและไม่สนับสนุน คุณจะทำอย่างไร 

๑๑.  คุณคิดว่าการทำ lesson Study ที่เมืองไทย กับ lesson study ที่ญี่ปุ่น มีความแตกต่างหรือเหมือนกันอย่างไร (สิ่งที่เราปรับให้เป็นแนวทางวิธีการของเราค่ะ) คือหนูไม่ทราบว่าพอเราทำที่เมืองไทย เราทำเหมือนกับครูที่ญี่ปุ่นทุกอย่างทุกขั้นตอนหรือเปล่า รบกวนอาจารย์ช่วยชี้แนะหนูด้วยนะคะ

๑๒.  คุณคิดว่าแนวโน้มการพัฒนาครูด้วย lesson study ในประเทศไทยจะเป็นอย่างไรในอนาคต

๑๓.  คุณคิดว่าครูไทยจะประสบความสำเร็จใน lesson study อย่างประเทศญี่ปุ่นหรือไม่ อย่างไร


คำถามที่คุณครูวัชราภรณ์ส่งมา เป็นคำถามที่น่าสนใจ ที่ไม่เพียงแต่จะช่วยให้ผู้ที่ตั้งคำถามได้คำตอบเอาไปทำรายงาน แต่ยังช่วยให้ผู้ตอบได้คำตอบจากการใคร่ครวญผ่านคำถามชุดนี้


และเป็นเรื่องชวนคิดว่า ในการสร้างห้องเรียนกลับทางนั้น ต้องการเหตุและปัจจัยที่มากไปกว่าตัวครู  ที่ญี่ปุ่นมีเส้นทางให้ครูได้มีประสบการณ์กับการเรียนรู้อย่างเป็นระบบ  มีกระบวนการทางปัญญารองรับ  ตลอดจนมีวิธีการทำงานที่เอื้อต่อการเป็นชุมชนเรียนรู้ไปจนตลอดชีวิตความเป็นครู ดังเช่นที่คุณครูวัชราภรณ์เขียนมาเล่าสู่กันฟัง



หมายเลขบันทึก: 508448เขียนเมื่อ 12 พฤศจิกายน 2012 12:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 ธันวาคม 2012 14:00 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ดีนะครับ ต่อไปเราพยายามให้นักเรียนพูดมากกว่าครู ครูฟังมากกว่าพูดนะครับ

สุปราณี ภักดีรัตน์

เด็กนักเรียนญี่ปุ่นส่วนมากน่ารัก  แต่นักเรียนในโรงเรียนประถม (โดยเฉพาะรัฐบาล) ส่วนใหญ่จะสมาธิสั้น ไม่ค่อยสนใจเรียน ความจำไม่ดี พอกลับถึงบ้านเห็นส่วนมาเล่นแต่เกมส์ค่ะ 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท