ชื่นชมภาคีจัดการความรู้ภาคราชการ : กรมอนามัย


          นี่คือองค์กรที่ ๓ ที่ สคส. ยกมาเสนอต่อคณะกรรมการประเมิน สคส.  เขียนโดยคุณอ้อ

1. ผลงานด้าน KM โดยสรุปขององค์กรนี้ 

             - กรมอนามัย ตื่นตัวเรื่องการทำ KM ตั้งแต่ปลายปี 2547  มีการตั้งคณะทำงานขึ้นศึกษาและดำเนินการ  มีการจัด Workshop เริ่มต้นให้กับตัวแทนศูนย์เขตต่างๆ   เมื่อต้นปี 2548   และได้ผลักดันการทำ KM เรื่อยมา  

             - กรมอนามัย นำ “การจัดการความรู้” เข้าไปใช้ในกระบวนการทำงานประจำในหลายๆ เรื่อง ของฝ่าย สำนัก กอง และศูนย์เขตทั้ง 12 ศูนย์ของกรม   เช่น งานของสำนักส่งเสริมสุขภาพ,  งานอนามัยการเจริญพันธุ์  , การพัฒนาคุณภาพบริการ, งานสุขภาพผู้สูงอายุ,  สุขภาพในช่องปาก,  งานของศูนย์ต่างๆ   ฯลฯ

             - ผลจากการทำ KM ของกรมอนามัย  นอกจากจะนำไปใช้ในเนื้องานหลักของกรมเพื่อให้มีประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น    ยังทำให้เกิดวัฒนธรรมการแบ่งปันแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกันของหน่วยย่อย  สร้างความชื่นชมยินดีซึ่งกันและกัน สร้างมิตรภาพระหว่างคนทำงาน (เกิดการทำงานที่ก่อสุขภาวะให้กับคนทำงาน)

             - จากประสบการณ์และความสำเร็จในการทำ KM ของกรมอนามัย   ทำให้บุคลากรของกรมที่ทำ KM  ได้พัฒนาตนเองขึ้นมาเป็นวิทยากร KM , จัด Workshop  และสามารถให้ดูงาน เพื่อเผยแพร่  KM ต่อไปยังหน่วยงานอื่นๆ ได้   สร้างตัวคูณ และขยายผลออกไปอีกในสังคม  (ช่วย สคส. ได้อีกมาก)

2. งาน KM ส่วนที่ สคส. เข้าไปสนับสนุน (เช่นเดียวกับกรมส่งเสริมการเกษตร)
             - สคส. ไม่ได้ให้เงินทุนสนับสนุนการทำ KM ของกรมเลย     กรมใช้งบประมาณของกรมทั้งหมด
             -  สคส. เป็นที่ปรึกษาแนวทาง และ เป็นวิทยากรจัด Workshop การจัดการความรู้  ให้ในช่วงเริ่มต้น (5 พ.ค. 2548) เท่านั้นเอง และ  สคส. ถือว่า กรมอนามัย เป็นเพื่อนภาคีแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับ สคส. และช่วยขยาย “การจัดการความรู้” สู่สังคมไทย    โดย กรมฯ มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ร่วมงานกับ สคส. อย่างต่อเนื่อง ทั้งอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการ เช่น ทางโทรศัพท์, การเยี่ยมเยียนปรึกษา, การเขียน Blog, เวทีประชุมภาคีการจัดการความรู้ ภาคราชการ, มหกรรมการจัดการความรู้แห่งชาติ และงานประชุม เสวนา ตลาดนัดความรู้ต่างๆ ของกรม และสคส.    
            - สคส. สนับสนุนความเข้มแข็งของกรมอนามัย (และหน่วยงานอื่นๆ ที่ทำ KM อย่างถูกทางและได้ผลดี) ในอีก ๒ ลักษณะ คือ   (๑) แนะนำให้หน่วยงานอื่นที่ต้องการเริ่มทำ KM อย่างถูกทางเชิญวิทยากรจากกรมอนามัยไปเป็นวิทยากร  หรือขอมาดูงาน KM ในหน่วยงานสังกัดกรมอนามัย     เท่ากับ สคส. ทำหน้าที่เชื่อมโยงเครือข่าย  หรือ “ช่างเชื่อม” KM ตามคำของ ศ. นพ. ประเวศ วะสี    (๒) สคส. ติดตามแสดงความชื่นชมผลงาน KM อยู่ห่างๆ     คอยให้รางวัลและยกย่องบุคคลที่แสดงบทบาทเด่นในด้านต่างๆ ของการทำ KM  

3. งาน KM ขององค์กรนี้ ขณะนี้ดำเนินงานอยู่ในระดับใด
            - การจัดการความรู้ของกรม ได้รับการสนับสนุนและเห็นความสำคัญจากผู้บริหารระดับสูงอย่างเต็มที่   และให้อิสระให้แต่ละหน่วยได้ปรับประยุกต์ใช้การจัดการความรู้เพื่อให้เหมาะกับงานและกลุ่มเอง (ไม่เอากรอบมาครอบ)   ในขณะนี้ถือว่า KM  ได้ขยายตัวภายในกรมอนามัยได้อย่างต่อเนื่องและเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ  (ถือว่า กรมอนามัย เป็นองค์กรที่ทำ KM ได้ดีที่สุดหน่วยหนึ่งในกระทรวงสาธารณสุข และในภาคราชการ)   

4. ทำให้เกิด  Health Impact  และ well-being Impact  อย่างไร
              กรมอนามัยนำ KM ไปใช้กับงานหลักของกรมซึ่งเป็นงานที่ส่งผลถึงการส่งเสริมสุขภาพ และสุขภาวะ ของประชาชนอยู่แล้ว    และเช่นเดียวกับกรมส่งเสริมการเกษตร  KM ก็ส่งผลให้เกิดการแบ่งปันแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกันของหน่วยย่อย  สร้างความชื่นชมยินดีซึ่งกันและกัน สร้างมิตรภาพระหว่างคนทำงาน เกิดการทำงานที่ก่อสุขภาวะให้กับคนทำงาน (well-being Impact  ใจ  สังคม)
               นอกจากนั้น  การที่เจ้าหน้าที่ของกรมอนามัยได้รับเชิญไปเป็นวิทยากร KM เผยแพร่กิจกรรม KM ไปยังหน่วยงานด้านบริการและสร้างเสริมสุขภาพของประชาชนโดยตรง (เช่นกรมการแพทย์)     ก็จะมีผลต่อประสิทธิผลต่อการปฏิบัติงานด้านสุขภาพของหน่วยงานนั้น    แต่ทั้งนี้ย่อมขึ้นกับฝีมือการประยุกต์ใช้ KM ของหน่วยงานนั้น  และการได้รับเชิญไปเป็นวิทยากร KM แก่หน่วยงานอื่นๆ ที่ไม่ได้ทำงานด้านสุขภาพโดยตรง  ก็จะมีผลต่อสุขภาวะของสังคมโดยอ้อมเมื่อหน่วยงานนั้นใช้ KM ปฏิบัติหน้าที่ของตนได้ดีชึ้น     ซึ่งจะทำให้บุคลากรของหน่วยงานทำงานร่วมกันอย่างมีความสุขขึ้น     สภาพเช่นนี้เกิดขึ้นจากผลงานของทุกหน่วยงานที่ทำ KM ได้ผลดี  และเป็นเครือข่ายใกล้ชิดกับ สคส.     โดยที่ สคส. พยายามเข้าไปใกล้ชิดแม้หน่วยงานนั้นๆ จะทำ KM ได้ดีโดยที่ สคส. ไม่ได้ไปเริ่มต้นให้ก็ตาม

5. แนบเอกสารเกี่ยวกับ KM ขององค์กรนี้เท่าที่มีมาพร้อมด้วย
 
              - เว็บไซต์ http://kcenter.anamai.moph.go.th  , http://gotoknow.org/planet/kmanamai
              - รายงานประจำปี สคส. 2548

6. ชื่อบุคคล สถานที่ และที่ติดต่อ
             - พญ. นันทา    อ่วมกุล       ผู้อำนวยการสำนักที่ปรึกษา  กรมอนามัย   โทร 0-2590-4151-2    [email protected]
             - คุณศรีวิภา   เลี้ยงพันธุ์สกุล      กองแผนงาน กรมอนามัย   เลขที่ 88/22 ม.4 ต.ตลาดขวัญ ถ.ติวานนท์   อ .เมือง จ.นนทบุรี   11000   โทร 0-2590-4146,  081-484-2423

7. จุดเด่นของ KM กรมอนามัย
                - กรมอนามัยมีทีมงาน KM ออกไปเยี่ยมชื่นชมให้กำลังใจผู้ร่วมกิจกรรม KM ของหน่วยงานในสังกัดทั่วประเทศ    และเชื่อมโยงกับหน่วยงานอื่นๆ ของกรม       การมีทีมออกเยี่ยมชื่นชม ไม่ใช่ออกตรวจหรือประเมิน นี้สำคัญมาก     ประสบการณ์การแสดงท่าทีเชิงบวกของทีมเยี่ยมชื่นชมน่าจะเป็นประโยชน์ต่อหน่วยราชการอื่นที่ต้องการทำ KM อย่างมีพลังจริงๆ   
                  - กรมอนามัยมีบุคลากรหลายคน ที่ทำหน้าที่ “คุณลิขิต” บันทึกเรื่องราวความเคลื่อนไหวของ KM กรมอนามัยออกสู่ระบบ บล็อก GotoKnow.org ทำให้วงการ KM ประเทศไทยได้รับรู้และเรียนรู้เคล็ดในการเคลื่อนระบบ KM ของกรมฯ     บล็อก ที่เด่นที่สุดคือ GotoKnow.org/kmanamai-nonta เขียนโดย ทญ. นนทลี วีรชัย
                 - การจัดการเชิงระบบเกี่ยวกับ KA – Knowledge Assets โดยทำเป็น K Center เป็นรูปแบบที่น่าชื่นชม     และน่าจะเป็นแบบอย่างที่ดีแก่หน่วยราชการอื่นๆ ในการจัดทำ ระบบ IT ที่เสริมการจัดการความรู้ได้อย่างเป็นเนื้อเดียวกัน     เข้าใจว่ากรมส่งเสริมการเกษตรก็มีจุดเด่นนี้เช่นเดียวกัน
                  - มีข้อสังเกตว่า หน่วยราชการที่ทำ KM ได้ผลดีจะมีทักษะในการจัดระบบและกิจกรรม KM แบบที่ใช้พลังผสมของความเป็นทางการ และความไม่เป็นทางการ    ใช้ส่วนแข็งของแต่ละด้านมาเสริมกัน      จึงทำให้มองเห็นว่า ถ้าไม่มีพื้นที่ให้ความไม่เป็นทางการเข้ามาเสริม  KM หน่วยราชการจะประสบความสำเร็จระดับเด่นได้ยาก

วิจารณ์ พานิช
๑๗ กย. ๔๙

หมายเลขบันทึก: 50801เขียนเมื่อ 19 กันยายน 2006 11:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:56 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)
Hi,

I'm french and I'm working on a supermarket supplier's website http://www.sniw.fr/

A translation has been made in Thai : <a href="http://www.sniw.fr/supermarket-distributor,home,thai.php">ไวน์</a>

it deals with : ไวน์, เบียร์ and ขายส่ง.  I would like to know how I can promote this in Thai Search Engine.

Is there any Search Engine Optimizer here ?

Best regards.

อจ เขียนเรื่อง กรม อแต่มีคนมาโฆษณาขายไวน์ สงสัยเห็นว่าพูดเรื่อง กรมอนามัย เลยคิดว่าเราน่าจัส่งเสริมการกินไวน์

สิ่งหนึ่งที่ สคส น่าจะอ้างได้ชัดเจนว่าเป็นผลจาก สคส ที่มีต่อการทำ KM ของกรมอนามัยคือการเน้นความสำคัญของการ เรียนรู้จาก tacit knowledge ไม่ไปมัวพะวงหรือจำกัดตัวเองแค่เรื่อง explicit knowledge ซึ่งเห็นการตีความของหลายคนในกรม อ ก่อนหน้าที่ สคส จะทำหน้าที่ขยายแนวคิดให้เริ่มจาก tacit knowledge เชื่อมโยงเข้าสู่ explicit knwoledge ครับ

และอยากเน้นว่าการที่ กรม อนามัยพยายามให้ความมั่นใจแก่คนทำงาน KM ว่าอย่าไปยึดตำราหรือกรอบที่ได้ส่งมา แต่ยึด concpet (ทำให้ความรู้เคลื่อนไหว ถ่ายเทในหมู่บุคลกรขององค์กร) และเป้าหมาย (พัฒนางาน พํฒนาความรู้ สร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้) เป็นเคล็ดลับสำคัญกรตุ้นให้เกิดการคิดค้นสร้างสรรค์ วิธีทำ KM อย่างกว้างขวาง เพราะไม่ต้องกลัวว่าจะผิด   

  • ขอชื่นชมความสำเร็จของกรมอนามัยด้วยคะ
ขอบคุณและขอเข้ามาเรียนรู้ค่ะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท