กระบวนการสร้างครูที่เพลินกับการพัฒนา (๑๑๐) : หนังสือเล่มที่สาม


PLC วิถีปฏิบัติใหม่ที่ช่วยเปลี่ยนครูให้กลับมาเป็นนักเรียนรู้อีกครั้ง

ต้นบท


 เมื่อ ๑๐ ปีที่แล้ว ตอนที่คณะผู้ก่อการดีคิดกันว่าอยากจะทำโรงเรียนในแนวคิดใหม่ ด้วยการสร้างให้โรงเรียนเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ที่ทำให้ทุกคนที่เข้ามาเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันต่างก็ได้เรียนรู้จากกันและกัน ครูได้เรียนรู้จากเด็ก เด็กเรียนรู้จากครู จากพ่อแม่ และจากคนรอบข้าง คำถามที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ “จะหาครูแบบนี้ได้จากที่ไหน” แต่ด้วยความเชื่อที่ว่า “สังคมดีๆ ไม่มีขาย ถ้าอยากได้ต้องร่วมกันสร้าง” ของพี่ติ่ง – สุภาวดี  หาญเมธี พี่ใหญ่ผู้ร่วมก่อตั้งโรงเรียนเพลินพัฒนาคนสำคัญ ได้ทำให้เราเชื่อว่าถ้าอยากได้โรงเรียนดีๆ ก็ต้องมาร่วมกันสร้าง


  โรงเรียนในความคิดเริ่มเป็นรูปเป็นร่าง และเปิดรับนักเรียนอย่างเป็นทางการได้เมื่อปีการศึกษา ๒๕๔๗  โดยใช้ชื่อว่า “โรงเรียนเพลินพัฒนา”


อีก ๓ ปีต่อมา สถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส.) ได้สนับสนุนให้โรงเรียนถอดบทเรียนการทำงานออกมาตีพิมพ์เป็นหนังสือชื่อ “โรงเรียนจัดการความรู้  ถอดบทเรียนการจัดการความรู้ของโรงเรียนเพลินพัฒนา (๒๕๕๐) รวมอยู่ในหนังสือชุด วิถี KM ไทย


ประมวลความรู้จากประสบการณ์เล่มล่าสุด “เส้นทางครูเพื่อศิษย์”Gotoknow.org  ชุมชนออนไลน์เพื่อการจัดการความรู้ (Knowledge Management) ของคนทำงานภาครัฐและภาคสังคม  ได้นำบันทึกความรู้จากประสบการณ์ จำนวน ๕๐ เรื่องไปจัดทำเป็นe-bookและทางศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ได้นำเนื้อหาในชุดเดียวกันนี้ไปจัดพิมพ์เป็นหนังสือชุด เอกสารโครงการการเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง ลำดับที่ ๗ (๒๕๕๓)


หนังสือเล่มที่สาม ที่ ศ.นพ.วิจารณ์  พานิช ให้ชื่อว่า“การเรียนรู้แห่งศตวรรษที่ ๒๑ : เพลินพัฒนาโมเดล ทั้งนักเรียนและครูพัฒนาทักษะการเรียนรู้ด้วยตนเอง” (๒๕๕๕) เป็นหนังสือที่เรียบเรียงขึ้นจากประสบการณ์ที่เกิดขึ้นหลังจากที่คุณครูที่โรงเรียนเพลินพัฒนาเริ่มตั้งกลุ่มเรียนรู้ ตามแนวทางของ Lesson Study ตั้งแต่ต้นปีการศึกษา ๒๕๕๔ จนกระทั่งปัจจุบัน นับเป็นเวลาได้ประมาณปีครึ่ง นับเป็นจำนวนบันทึกที่ตีพิมพ์ใน gotoknow จนถึงวันที่ลงมือเรียบเรียงต้นฉบับชุดนี้ได้ ๑๐๙ บันทึก


หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่ตีพิมพ์ออกมาในโอกาสที่โรงเรียนเพลินพัฒนามีอายุ ๑๐ ปีพอดี


การพัฒนาโรงเรียนที่มีแนวทางด้านการศึกษาที่เหมาะสมกับสถานการณ์ของสังคมไทยในศตวรรษที่ ๒๑ ไม่ใช่เรื่องง่าย  เพราะพวกเราทุกคนต่างก็เติบโตขึ้นมาในกระบวนทัศน์เก่า


ดังนั้น โรงเรียนเพลินพัฒนาจึงมองหาตัวช่วยดีๆ อย่างเช่น “การจัดการความรู้”(Knowledge Management) เข้ามาเป็นเครื่องมือในการสร้างกระบวนการเปลี่ยนแปลงทั้งแนวคิดและวิถีปฏิบัติ เพื่อสร้างรากฐานให้สมาชิกของชุมชนสามารถสัมพันธ์กันในแนวระนาบ และอยู่ใน learning mode ให้ได้มากที่สุด


ตัวช่วยต่อมาที่เข้ามาช่วยเสริมความศรัทธาให้ทุกคนยึดมั่นใน “หัวใจของความเป็นครู” ที่พร้อมเปิดรับการเรียนรู้ด้วยกรุณา และมีจิตใจที่เปิดกว้างก็คือ “จิตตปัญญา”(Transformative Learning) นั้นเป็นเครื่องมือที่พาให้เราพร้อมสู้กับปัญหาที่กำลังเผชิญอยู่ ด้วยการเปลี่ยนแปลงที่เริ่มต้นจากตัวเอง


วิถีของ Lesson Study ( PLC – Professional Learning Community แบบญี่ปุ่น) ที่นำมาติดตั้งในระบบการทำงานของคุณครูช่วงชั้นที่ ๑ – ๒ เมื่อต้นปีการศึกษา ๒๕๕๔ เป็นเครื่องมือใหม่ที่ช่วยเปลี่ยนครูให้กลับมาเป็นนักเรียนรู้อีกครั้ง


การเรียนรู้ร่วมกันในรูปแบบนี้ เรียกร้องให้ครูต้องมีคุณลักษณะสำคัญหลายประการที่นักวิชาการทางการศึกษาเห็นพ้องกันว่า ต้องการให้เกิดขึ้นกับผู้เรียนในศตวรรษที่ ๒๑ เพื่อให้ครูไปสร้างให้ลูกศิษย์เป็นไปในวิถีทางที่ครูเป็น เพราะ “เด็กเป็นอย่างที่ครูเป็น ไม่ได้เป็นอย่างที่เราสอน หรือบอกให้เขาเป็น”


วิมลศรี  ศุษิลวรณ์

๓ พ.ย. ๕๕


เขียนที่โรงเรียนรุ่งอรุณ
ขณะที่กลุ่มเพื่อนจากโรงเรียนรุ่งอรุณ  เพลินพัฒนา มารวมตัวกันเรียนรู้การประเมินจาก ศ.ดร.อุทุมพร จามรมาน เพื่อหาวิธีสร้างการประเมินอย่างใหม่ด้วยกัน


หมายเลขบันทึก: 507522เขียนเมื่อ 3 พฤศจิกายน 2012 16:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 ธันวาคม 2012 16:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท