ระบบพรรคการเมืองเพื่อประชาชน ตอนที่ ๒ – กฎหมายพรรคการเมือง


การเมืองเป็นเรื่องเรียบง่าย เป็นชีวิตประจำวันของราษฎร แต่ที่มันดูเหมือนยุ่งเหยิง ยุ่งยากและสลับซับซ้อน ก็เพราะมันละเอียดลออและเกี่ยวพันกับราษฎรทุกคนตั้งแต่เกิดจนตาย

             ในสองสามเดือนข้างหน้า เราจะมีการเลือกตั้ง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แม้จะเป็นการเลือกตั้งเล็ก ๆ แต่สนามการแข่งขันนั้นใหญ่มาก และถือกันว่าเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญทางการเมือง ดังนั้น ในสองสามบทความที่ขอเขียนบันทึกไว้ จะแสดงความเห็นเกี่ยวกับเรื่องการเมืองและการสื่อสารการเมือง ประกอบเหตุการณ์เลือกตั้งในครั้งนี้


              พรรคการเมืองเป็นองค์กรที่สังกัดของบุคคลที่จะทำหน้าที่เกี่ยวกับกระบวนการของกฎหมายเกือบทั้งหมดของประเทศ นับแต่การริเริ่มที่มา แสวงหาความคิด ยกร่างตัวบท อภิปรายและลงมติ  แต่เป็นเรื่องน่าคิดและชวนตั้งคำถามว่า สำหรับบุคคลที่เกี่ยวข้องกับพรรคการเมืองนี้มีจะความคิดรวบยอดอันหลักแหลมสมกับหน้าที่สำคัญของพรรคการเมืองที่สังคมมอบให้นี้หรือไม่ บุคลากรที่ทำงานในพรรค และหน่วยงานที่สัมพันธ์กับสมาชิกพรรคและราษฎรมีความเข้าใจเกี่ยวกับบทบาทนี้หรือไม่ และรู้จักกฎหมายเกี่ยวกับพรรคการเมืองมากน้อยเพียงใด ผู้รับหน้าที่ผู้อำนวยการเลือกตั้งหรือทีมหาเสียง ทีมทำงานการเมืองของพรรคการเมืองใด ๆ หรือของผู้สมัครเพื่อทำหน้าที่ผู้แทนราษฎร  มีความรู้เกี่ยวกับกฎหมายพรรคการเมืองมากน้อยเพียงใด

              และสำหรับราษฎรอย่างเรา ๆ ท่าน ๆ เรารู้จักกฎหมายพรรคการเมืองนี้บ้างหรือไม่ 


             การเมืองเป็นเรื่องเรียบง่าย เป็นชีวิตประจำวันของราษฎร แต่ที่มันดูเหมือนยุ่งเหยิง ยุ่งยากและสลับซับซ้อน ก็เพราะมันละเอียดลออและเกี่ยวพันกับราษฎรทุกคนตั้งแต่เกิดจนตาย  ความละเอียดลออที่เกี่ยวพันกับองคาพยพมากมายเช่นนี้ จึงทำให้การเมืองที่มีความเรียบง่ายนั้น กลายเป็นปัญหาที่ยากและสลับซับซ้อนจนเหลือเชื่อ  เพราะจะมีความคิดและความเห็น รวมถึงมีแนวทางในการจัดการต่อประเด็นใดประเด็นหนึ่งหลายมิติ จนถ้ามองเลยความเรียบง่ายไปแล้ว มิติที่หลากหลายจะทำให้นักการเมืองมึนงง จนสับสน ชนิดคาดไม่ถึงทีเดียว

               การเมืองที่ยุ่งเหยิงในทุกวันนี้ เพราะความเรียบง่ายในบรรทัดข้างต้นถูกละเลยไป ยิ่งเมื่องานการเมืองต้องการให้ราษฎรยอมรับมากขึ้น ก็ต้องพูดคุย ต้องทำความเข้าใจอย่างเป็นขั้นตอนเพื่อให้ประชาชนเห็นด้วย ยอมรับและสนับสนุนมากขึ้น ด้วยวิธีการต่าง ๆ  แต่ผู้ทำงานด้านสื่อสารการเมืองเหล่านั้น ส่วนหนึ่งมีทักษะและชำนาญในกลวิธีการทำงาน โดยการประยุกต์เอาการโฆษณาและสื่อสารการตลาดมาผสมผสาน อันเป็นกลยุทธ์การทำงานที่ยังเข้าไม่ถึง “แก่น” ของระบบพรรคการเมืองและนักการเมือง

              

               สิ่งเหล่านี้ เป็นหัวใจสำคัญของการทำงานการเมืองที่พรรคการเมืองและนักการเมืองควรระลึกถึงตลอดเวลา

                แต่เมื่อเขาเหล่านั้นมึนงงเสียแล้ว สังคมควรกำหนดกรอบกติกาสำหรับการทำงานให้ เช่นเดียวกันสมาชิกหน่วยอื่น ๆในสังคม เช่น บุคคล บริษัท ห้างร้าน สมาคม มูลนิธิ เป็นต้น ซึ่งหน่วยอื่นๆ เหล่านี้ ล้วนแต่มีแนวทางการทำงาน และภาระ สิทธิ หน้าที่ในการกำหนดและทำงานของตนเอง และต้องรับผิดชอบต่อผลกระทบที่เกิดขึ้นแก่คนอื่น ๆ ไปพร้อมกันด้วย มีโทษและรางวัลเป็นบรรทัดฐาน

                อย่างไรก็ตาม หากเราพิจารณากฎหมายที่เขียนประกอบไว้ เพื่อเป็นกรอบการทำงานของพรรคการเมือง ซึ่งได้แก่ พรบ.ประกอบรัฐธรรมนูญเรื่องพรรคการเมือง  พรบ.ประกอบรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการเลือกตั้ง และ พรบ. คณะกรรมการเลือกตั้ง (สำหรับกฎหมายเกี่ยวกับการจัดตั้งพรรคการเมืองนั้น เรามีมาตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๙๘ (กว่า ๕๐ ปีมาแล้ว)  กลับมีสิ่งเหล่านี้อยู่น้อยมาก  โดยเฉพาะเรื่องความรับผิดชอบของพรรคการเมืองต่อสังคม และมาตรฐานทางจริยธรรม (ทั้งที่มีหน่วยงานนี้ในรัฐสภา มีคณะกรรมาธิการอยู่ในสภา...แต่.....)


                 ส่วนใหญ่เรื่องที่ปรากฏในกฎหมายเหล่านั้น คืองานสารบัญของหน่วยงาน ว่าด้วยพิธีการ ระเบียบการจัดตั้ง คงอยู่ ล้มเลิก และการรายงานและการตรวจสอบตามพิธีการสารบัญ หากพูดให้ตรงกับภาษาการบริหารสมัยใหม่ ก็ต้องว่า กฎหมายเหล่านั้นวางกรอบของงาน Administration มากกว่าจะวางกรอบของการบริหาร Management ไว้ และมิได้พูดถึงความรับผิดชอบต่อผลกระทบเมื่อพรรคการเมืองทำสิ่งผิดพลาด และเกิดผลกระทบต่อสังคมโดยรวม แม้จะระบุความรับผิดของสมาชิกและองค์กรไว้ ก็เป็นลักษณะความรับผิดแห่งการฝ่าฝืนระเบียบสารบัญ

                มิหนำซ้ำในกฎหมายยังเปิดช่องไว้ว่า ความผิดพลาดเหล่านั้นให้ถือว่าผิดพลาดโดยสุจริตไว้ก่อน ทั้งที่ผลเสียหายจาก การกระทำของพรรคการเมือง รุนแรงกว่าบุคคลหรือห้างร้าน นับหมื่นเท่า ถือว่าเป็นจุดที่เร่งให้นักการเมืองปราศจากความรับผิดชอบ โดยตรง


                เป็นเรื่องน่าห่วงใย ที่คัมภีร์ของการทำงานขององค์กรที่จะเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของคนทั้งสังคมอย่างแน่นอน กลับไม่มีการกำหนดบรรทัดฐาน ลักษณะวิธีการ และการประเมิน ตรวจสอบคุณภาพในภาพรวมเชิงยุทธศาสตร์ขององค์กรการเมือง ทั้ง ๆที่ผลผลิตของพรรคการเมืองหรือ นักการเมืองแต่ละคน มีผลกระทบต่อคนทั้งสังคมอย่างต่อเนื่องและยาวนาน

                ตัวอย่างที่ เห็นเด่นชัด ได้แก่ การจดจัดตั้งพรรคการเมืองสามารถทำได้อย่างง่ายดาย ด้วยคนเพียง ๑๕ คน อายุ ไม่ต่ำกว่า ๒๐ ปี มีสัญชาติไทย ไม่วิกลจริต ไม่ต้องโทษ ไม่ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง มีการประชุมเพื่อทำนโยบายพรรคการเมือง ระเบียบการบริหาร ทำบัญชีทรัพย์สิน  หลังจากนั้นก็เพียงทำรายชื่อสมาชิก (ต้องคงสมาชิกไว้อย่างน้อยปีละ ๕,๐๐๐ คน มิฉะนั้นจะถูกเพิกถอนทะเบียนพรรคการเมือง) และแจ้งการดำเนินการต่อนายทะเบียนพรรคการเมือง (กรรมการเลือกตั้งประจำจังหวัด) ก็ยื่นขอจดได้แล้ว สิทธิของพรรคการเมืองตามนี้ สามารถเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้งได้ตามกฎหมาย

              

                  ความง่าย เช่นนี้ย่อมยากจะกำหนดว่า พรรคไหนมีหรือด้อยคุณภาพ ไม่ต้องพูดถึงพรรค “รับจ้าง” น่าเสียดายที่ กฎหมายมิได้ระบุถึงรายละเอียดความรับผิดชอบในการดำเนินงาน เพียงแต่กำหนดแค่วิธีการเท่านั้น ความรับผิดชอบทางการเมืองจะมีได้ก็เฉพาะในสังคมที่เข้าใจเรื่องบทบาท หน้าที่ของตนอย่างชัดเจนเท่านั้น และถ้าเกิดขึ้นแล้ว จะเรียกร้องให้นักการเมืองและพรรคการเมืองสำนึกผิดได้อย่างไร

http://www.youtube.com/watch?v=YDYz8um2_UE 

http://www.youtube.com/watch?v=2di4BNh-oBc&feature=channel&list=UL  (ความลำบากใจของนักการเมือง..บางเสี้ยวจากเคตะ..คุณธรรมที่จะสอนเด็กประถมอย่างไร...แต่เมืองไทยให้เด็กประถมบอกคนทั้งชาติว่าไม่โกง...เฮ้อ....)

                   โดยส่วนตัวเราชอบเรื่อง เคตะ มาก.. เราเชื่อว่าผู้เขียนบทเรื่องนี้ เข้าใจความเรียบง่ายของการเมืองอย่างลึกซึ้ง หากมีโอกาสจะนำเรื่อง change ของอินเดีย มาเล่าสู่กันฟังบ้าง


ทุกท่านอาจค้นคว้าความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับกฎหมายพรรคการเมืองได้แหล่งความรู้ต่อไปนี้

http://www.parliament.go.th/ewtadmin/ewt/parliament_parcy/more_news.php?cid=1844

http://www.thailandlawyercenter.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=538974563&Ntype=19

รายชื่อพรรคการเมืองของสังคมไทย http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%8A%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%84%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%A8%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2

ขอขอบคุณ ทุกท่านที่เป็นเจ้าของแหล่งความรู้ ไว้ ณ ที่นี้

 

หมายเลขบันทึก: 507320เขียนเมื่อ 1 พฤศจิกายน 2012 08:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 ธันวาคม 2012 16:51 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

พรรคปัจจุบันเหมือนเป็นพรรคเพื่อนายทุนนะครับ

  • อยากให้คนที่เข้าใจเรื่องการเมืองแบบ "คุณเติมฝัน ให้ฝน" เป็นนักการเมืองบ้างจังค่ะ ยายไอดินฯจะได้มีนักการเมืองที่ยอมรับนับถือได้ เพิ่มขึ้นอีกคนหนึ่ง

ขอบคุณ คุณโสภณ เปียสนิท ครับ

ขอบคุณที่แวะมาเยี่ยมและให้กำลังใจครับ... อันที่จริงพรรคการเมืองในเมืองไทยทั้งหมดมีเกือบ ๕๐ พรรค (ตามบันทึกของ กกต. ล่าสุด) ไม่น่าเชื่อนะครับ ว่าบ้านเราจะมีพรรคการเมืองเพียงเท่านี้... แต่ทั้งหมด เรารู้จักกันไม่ถึง ๑๐ พรรค...(ฮา)....

ขอบคุณ คุณยายไอดิน-กลิ่นไม้ ด้วยครับ... ผมก็พยายาม ทำหน้าที่ถ่ายท่อดประสบการณ์งานการเมือง ที่ครั้งหนึ่งเคยประสบด้วยตนเอง..ครับ เขียนเป็นบันทึกไว้ เผื่อสักวันหนึ่งจะเป็นประโยชน์แก่อนุชนรุ่นหลัง

เพราะพรรคการเมือง ในระบบ พบทางตัน

ไม่อาจฝัน แก้ปัญหา ประชาได้

จึงเกิดการเมือง ภาคพลเมือง เรื่อง่ายง่าย

ทุกคนเป็นได้ ตั้งได้ พรรค"พลเมือง"

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท