ชีวิตคนมุมานะผู้สร้างพจนานุกรมที่น่าทึ่ง James Murray


ไปเจอบทความสั้นๆ ของ Hazel K Bell บนเน็ท แรกตีพิมพ์เมื่อมี 1996 เรื่อง The making of a dictionary: James A H Murray (มีบนเว็บ) ผู้เป็นบรรณาธิการคนแรกของ Oxford English Dictionary แล้วผมรู้สึกประทับใจมาก (ผมต้องขอบคุณใครก็ตามที่ ดิจิไทซ์เนื้อหาไว้บนเน็ทด้วยไว้ ณ ที่นี้ และอยากเห็นว่าพวกเราคนไทยจะเจริญรอยการปฎิบัติกันด้วยมากๆ) โดย Bell เรียบเรียงย่อประวัติของ Murray จากบทความที่หลานของเขาเขียนไว้อีกที ผมสรุปย่อๆ ประวัติของ Murray คร่าวๆ จากบทความของ Bell อีกที ได้ดังนี้ 

 
James Murray เกิดเมื่อปี 1837 ที่เมือง Denholm ในหุบเขา Teviot valley สกอตแลนด์ เขาศึกษาภาษาด้วยตนเอง ตั้งแต่เขาอายุแค่ ๖ ขวบเขาก็ไปเล่นไล่หาคำแปลกๆ ภาษาละติน ภาษากรีก จากหนังสือต่างๆ และเขาคว้าหามาได้ ยิ่งประทับใจมากเมื่อเขาค้นพบอักษรฮีบรูจากไบเบิลของครอบครัว  เมื่อเขาอายุ ๑๒ ปีเกิดอหิวาตกโรคระบาดทำให้โรงเรียนปิด เขามักไปนอนเล่นในทุ่งใกล้ฝูงวัวใกล้พุ่ม heather เขาก็ฝึก Latin grammar และอ่านบทเรียนจากหนังสือ Lectiones Selectae ไปเรื่อยๆ (ใครสนใจมีให้ดาวน์โหลดในเว็บ) เริ่มเรียนภาษาฝรั่งเศษเมื่ออายุได้ ๑๓ ปี ทุกค่ำคืนอ่านหนังสือของ Théodore Agrippa d'Aubigné ภายใต้แสงตะเกียง อายุ ๑๗ เป็นผู้ช่วยครูที่โรงเรียนแห่งหนึ่ง เอาเงินเดือนที่ได้มาสร้างห้องสมุดของตัวเอง ต่อมาเขาเรียนรู้ภาษาต่างๆ ถึง ๒๕ ภาษา 
 
ปี ๑๘๗๘ อายุ ๔๑ ปี เป็นอาจารย์ที่ Mill Hill Highschool  ตัดสินใจยอมรับงานเป็นบรรณาธิการ New English Dictionary ของ Oxford โดยใช้วัตถุดิบจาก Philological Society  ที่สะสมไว้กว่า ๒๐ ปี เขามีอาสาสมัครช่วยงานจำนวนหนึ่งด้วยจากสมาชิกสมาคมและสาธารณชนมาทำงานเป็นรองบรรณาธิการ ต่อมาเมื่อลูกๆ ของเขาโตพอ อ่านหนังสือได้ก็โดนเรียกมาช่วยงานด้วย เขาสร้างอาคารเก็บเอกสารที่เรียกว่า scriptorium ด้วยโลหะในสวนที่ Mill Hill ในนั้นเต็มไปด้วยตู้มีช่องใส่สลิปโน้ตต่่างๆ นับพันๆ ช่อง (pigeon holes) บางช่วงมีคนส่งโน้ตที่ตัดแปะงานเข้ามาวันละนับพันชิ้น ต้องมีคนช่วยเรียงและจัดลำดับ แต่ก็มีแค่ไม่กี่คน  
เขาทำงานสร้างพจนานุกรมอยู่ถึง ๓๕ ปี ทำงานวันละ ๑๓ ถึง ๑๕ ชั่วโมง 
 
เขาได้รับพระราชทานยศเป็นอัศวินเมื่อปี ๑๙๐๘ และมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดให้ปริญญา LL.D. เขาในปี ๑๙๑๔ เขาเสียชีวิตในปี ๑๙๑๕ แต่ด้วยสงครามโลกครั้งที่ ๑ ที่เกิดช่วงนั้นทำให้งานของเขาไม่ออกมาจนกว่าอีกนานหลังจากเขาเสียชีวิต
 
คนสมัยนี้คงมีน้อยคนที่ทำงานหนักเท่าเขา เรื่องนี้อาจจะเป็นกำลังใจให้นักวิชาการ ครูบาอาจารย์อีกแยะ
 
และที่ต้องพูดถึงก็คือ การสนับสนุนของภรรยาเขา และลูกๆ ของเขาในงานใหญ่นี้ ซึ่งดูจากการทำงานของเขาแล้ว เขาไม่น่าจะมีเวลาส่วนตัวเป็นของครอบครัวมากเท่าไรนัก
 
 
หมายเลขบันทึก: 507089เขียนเมื่อ 29 ตุลาคม 2012 14:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 ธันวาคม 2012 17:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

ท่านคงมีความสุขกับการที่ได้ทำนะคะ เข้าใจได้ไม่ยากเลยสำหรับคนรักพจนานุกรมค่ะ ถ้าได้ทำบ้างคงมีความสุขมาก

ผมนึกถึงพุทธสาสนสุภาษิต จำได้ (หวังว่าคงไม่ผิด)ว่า

อกิลาสุวิทเท หทยสฺส สนฺตํ แปลความได้ว่า คนขยันวุ่นอยู่กับงานจะได้รับความสงบใจ

ผมว่าน่าจะอธิบายได้ดีครับ

และกรณีนี้ ชีวิตเขาก็ตรงใจผม ผมเองมีอะไรที่ชอบคล้ายๆ เขาแยะครับ เช่น ชอบภาษา เหมือนกัน และผมก็กำลังทำอะไรๆ อยู่ตามที่ผมอยากทำตอนนี้ ได้ชีวิตเขาเป็นกำลังใจให้แยะเลยครับ

ดีใจด้วยกับคุณ Blank ที่ได้มีเวลาทำสิ่งที่ชอบเต็มที่ตามสบายนะคะ โอ๋เองยังมีงานในหน้าที่ต้องทำอีกเป็นสิบปีกว่าจะถึงเวลาที่ได้ทำอย่างที่ชอบ อยากทำพจนานุกรมเหมือนกันค่ะ ตอนนี้ก็ต้องทำงานในหน้าที่ให้เต็มที่ให้ดีที่สุด และรักษาสุขภาพตัวเองให้ดี เพื่อที่จะได้มีแรงไว้ใช้ทำงานที่ชอบได้หลังเกษียณด้วยค่ะ แต่ทำอะไรแล้วเราเต็มที่กับงานนั้น เราก็มีความสุขนะคะ อยู่ที่ใจเรานี่แหละเป็นตัวกำหนด

คุณโอ๋ต้องระวังไว้ด้วยว่า อนาคตเป็นสิ่งไม่แน่นอน สิ่งที่สำคัญคือต้องพัฒนาจิตของเรานะครับ เป็นภาระอันดับหนึ่งเลย เรืื่องอื่นเป็นเรื่องรอง แม้แต่เรื่องการทำงาน และ ครอบครัว เพราะเรื่องพวกนั้นเป็นของชั่วคราวทั้งนั้นเลยครับ เวลาเราแก่ตัว จะหมดเวลาที่จะพัฒนาจิตแล้ว ถ้าไม่เคยทำมาตั้งแต่หนุ่มสาว เพราะว่าตอนนั้นสังขารไม่ให้

ผมกำลังเขียนเรื่องตอนตัวเองบวชอยู่ในป่า นี่เป็นงานหนึ่ง ถ้าเสร็จก็ถือว่าจะได้เผยแผ่ธรรมะไปในตัว

ขอบคุณค่ะ เป็นแนวคิดที่ดีค่ะ คิดว่าตัวเองเรียนรู้เรื่องนี้อยู่เสมอเหมือนกันค่ะ การที่เราสงบเย็นขึ้นเรื่อยๆ ละวางขึ้นเรื่อยๆนี่ก็เป็นส่วนหนึ่งไหมคะ

คนเราอายุมากขึ้นก็เห็นประสบการณ์ในโลกมากขึ้น เห็นสิ่งต่างๆ เป็นธรรมดามากขึ้นเรื่อยๆ อยู่แล้วครับ

ลูกของเรา เป็นตัวอย่าง ยิ่งรักเขามากก็ทุกข์มาก พระพุทธเจ้าสอนไว้เหมือนกัน เขาเป็นตัวของเขา เราช้วยประคองได้บางส่วน จากนั้นเขาก็ต้องดูแลตัวเขาเอง ถ้าเราไปอยากให้เขาทำนั่นทำนี่ เป็นนั่นเป็นนี่ ตามใจเรา เราก็ทุกข์

พระพุทธเจ้าสอนว่าจิต เปรียบเหมือนขอนไม้ลอยน้ำมา ถ้าไม่ติดฝั่งซ้าย ไม่ติดฝั่งขวา ไม่ติดวังวนของน้ำ ไม่จมลงใต้น้ำจนผุพัง ก็จะออกไปสู่แม่น้ำใหญ่ และออกสู่มหาสมุทรได้ในที่สุด ถ้าจิตไม่ไปติดเรื่องต่างๆ ทางอายตนะต่างๆ ไม่ติดกับ บาป บุญ กามฯ ฯลฯ ก็จะเข้าถึงนิพพานได้วันหนึ่ง

อีกอย่างหนึ่ง เราเห็นทุกข์มามาก ชาวพุทธเราเมื่ออายุมากเข้าก็พยายามเข้าหาธรรมะเพื่อช่วยลดความทุกข์ในกระแสจิตเรา

ถ้ารู้ว่าเรามี life's mission ในการพัฒนาจิตเราเป็นหลัก ก็ดำเนินไปตามนั้นครับ ชาตินี้พัฒนายังไม่จบก็ไปพัฒนาต่อในภพหน้า

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท