A Min
คุณ จำรัส จันทนาวิวัฒน์

ห้องเรียนในฝัน (สู่รั้วจามจุรี...)


ห้องเรียนในรั้วจามจุรี.. มันไม่มีฝาห้อง ไม่มีกระดานดำ แต่มีคำบอกเล่า ที่ก้องกังงานอยู่ตลอดระหว่างพี่น้อง ระหว่างเพื่อน ระหว่างคนทำงาน ระหว่างพี่เก่ากับน้องใหม่ ระหว่างคนทำได้และคนกำลังหัดทำ

               

                 หนุ่มสาว จงก้าวรุดไป..เธอจงก้าวรุดไป เพื่อชัยของเรา ชีพนี้เราจะขอสู้ไป ไม่หวั่นผองภัยด้วยใจทรนง...

 

               บทเพลงจากหอนาฬิกา ตึกจักรพงษ์ ณ สามแยกปากหมา ดังก้องกังวานไปไกลตลอดหอประชุมใหญ่ ยันสระน้ำ เป็นบทเพลงที่ทำให้ชีวิตนิสิตใหม่แห่งรั้วจามจุรี ของตัวเรามีสีสันอย่างมากและฮึกเหิมอย่างยิ่ง

 

                วันแรกที่เข้ามาคณะ รายงานตัว เหมือนก้าวสู่โลกของผู้ชนะ..  เราฝ่าฝันการสอบที่ยากที่สุดของมัธยมปลายมาได้ และเข้ามาสู่รั้วจุฬาฯ ที่ว่ากันว่า ยากสุด ๆ  แน่นอนสอบคราวนี้มีเพื่อนร่วมโรงเรียนหลายคนกระจายไปตามมหาวิทยาลัยต่าง ๆ มากกว่า ๖๐ คน (ซึ่งนับเป็นรุ่นแรกของโรงเรียนที่สอบติดมหาวิทยาลัยได้มากที่สุด) และหลายสิบคนสอบไม่ผ่านต้องเลิกเรียน หรือไม่ก็เรียนเอกชน

 

                 ห้องเรียนที่นี่ เป็นห้องเรียนที่แตกต่างกับชั้นมัธยมปลายอย่างมากถึงขั้นคนละโลกเลย ที่นี่ไม่มีครูคอยเกณฑ์ให้เข้าแถวเคารพธงชาติ  ไม่มีเข้าโรงเรียนแปดโมงเช้า เลิกสามโมงเย็น แต่เป็นห้องเรียนตามตารางเวลาที่จัดเอง ลงเอง เรียนรู้เอง อยากเรียนอะไรก็ลงทะเบียน ไม่อยากเรียนอะไรก็ถอน โห..ชีวิตอะไรมันจะกำหนดได้ด้วยตัวเองขนาดนี้... 

 

                 ห้องเรียนที่มหาวิทยาลัย รุ่นพี่มีบทบาทมากกว่าครู เป็นผู้ชี้แนะแบบแผนเรื่องต่าง ๆ มากมาย และรุ่นพี่ ก็เป็นพี่เลี้ยง ช่วยสอนเรื่องราวมากมายให้เรา ชนิดหาเรียนจากโรงเรียนไม่ได้ และซื้อหาก็คงไม่มีที่ไหนวางขาย 

 

                 ห้องเรียนแบบนี้ เป็นก้าวกระโดดก้าวใหญ่มากของเรา  จากเด็กนักเรียนที่อยู่ในกรอบ มีลำดับขั้นตอนทุกอย่างที่พ่อแม่หรือครูกำหนดให้เมื่อวันวาน กลายมาเป็นนิสิตที่ทำอะไรด้วยตัวเองทุกอย่างในวันนี้ เหมือนโลกเปลี่ยนชั่วข้ามคืน  เพื่อนและรุ่นพี่จึงเป็นสะพานส่งต่อความคิด ความรู้และความประพฤติของนิสิตใหม่เช่นเรา อย่างช่วยไม่ได้ ที่สำคัญห้องเรียนไม่ใช่ห้องสี่เหลี่ยมเดิมอีกต่อไป แต่เป็นห้องกว้างใหญ่ไพศาล เป็นห้องเกือบทุกห้องในคณะ เพราะต้องไปเรียนเกือบทุกห้อง ตึกหลายตึกในมหาวิทยาลัย 

 

                 ห้องเรียนของเราวันนี้ มันใหญ่มาก..กก...กกกกกกก

 

                 ปีหนึ่ง เป็นปีที่ทดลองเรียนรู้ทุกอย่าง มีกิจกรรมในห้องเรียนและนอกห้องเรียน นอกคณะ นอกมหาวิทยาลัยเยอะจนเข้าร่วมไม่หมด มีเพื่อนมากมายอย่างไม่เคยมีมาก่อน เพื่อน ๆ ชวนไปเรียนรู้ ทำโน่นทำนี่ เหมือน ๆ กับรุ่นพี่ ก็สั่งให้ไปเข้ากลุ่มโน้น ร่วมชมรมนี้ เยอะไปหมด ชนิด ๗ วันเกือบไม่ได้เข้าห้องเรียน  โดยเฉพาะห้องเชียร์ ซึ่งจุฬาฯ ขึ้นชื่อลือชานักเรื่องเชียร์ จะเป็นรองก็แค่เกษตรศาสตร์เท่านั้น แต่นี่ก็คือการเรียนอีกแบบหนึ่ง เป็นห้องเรียนอีกห้องหนึ่ง  เขาถึงว่า เรียนแบบมหาวิทยาลัยนี่มันอิสระจริง ๆ

 

                 พอถึงปีที่สอง เริ่มจะต้องรับผิดชอบกับรุ่นน้องที่รหัสตรงกัน หญิงชายก็ไม่รู้แต่ต้องทำหน้าที่พี่ ดูแลทุกเรื่อง  หนังสือต้องยกให้ เรื่องลงทะเบียนต้องดูแล เรื่องครู-อาจารย์ วิธีการเรียน วิธีการสอบ สารพัด เออ. มาได้น้องเอาตอนโตนี่ก็ รู้สึกอีกแบบหนึ่ง  ต้องเรียนรู้ที่จะดูแลคนที่ไม่ใช่สายเลือด แต่เป็นใครก็ไม่รู้ อุปนิสัยใจคอก็ไม่รู้  มีเงื่อนไขเดียวคือ รหัสตรงกัน  ห้องเรียนแบบนี้ก็แปลกไปอีกแบบหนึ่ง

 

                ในปีที่สองนี่กิจกรรมสำคัญที่นิสิตต้องทำคือ เรื่องการเชียร์ การเข้าค่าย และการหาทุน  มีเรื่องราวมากมายจากห้องเชียร์ ห้องค่ายและหาทุน  แต่ที่เราได้เรียนรู้คือ ปีนี้รุ่นของเราต้องเป็นตัวหลักสำคัญในบางเรื่อง พี่ ๆ ก้าวขึ้นไปเรียนปี๓ ปี๔ แยกเอก แยกโท ต้องไปคร่ำเคร่งกับวิชาหลัก ต้องฝึกงาน ต้องไปทำงานจริงๆ   สำหรับนิสิตปี๒ แล้ว การก้าวเข้ามาทำหน้าที่ดูแลจัดการกิจกรรมสำหรับคนเรือนร้อย ไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ หลายคนไม่พร้อม เราเองก็เช่นกัน.. จึงได้แต่เป็นแค่ผู้ช่วย หรือเป็นลูกมือของหัวหน้าชั้นปี, ประธานชมรมต่าง ๆ สมัยเป็นนักเรียนมัธยม เราจะมีห้องประจำชั้น แต่ที่มหาวิทยาลัย เราไม่มีห้องประจำ จะมีก็แค่โต๊ะที่นั่งประจำ เป็นกลุ่ม และมีห้องกิจกรรม ห้องสโมสรนิสิต ที่มักจะมีรุ่นพี่ ขลุกกันอยู่ทั้งวันทั้งคืน (ทั้งคืนจริง ๆ )  นั่งคุย นั่งคิดทำโน่นทำนี่สารพัด   จนเรานึกไม่ถึงว่า เรียนมหาวิทยาลัย มันจะเยอะอะไรขนาดนี้

 

                 มหาวิทยาลัยของเราสมัยนั้น พี่และเพื่อนจะแบ่งเป็นกลุ่ม ๆ เช่นกลุ่มหนุ่มหล่อ-สาวสวย กลุ่มนี้จะเข้าร่วมกิจกรรมสังสันทน์ แสนสวย เช่น งานบอลล์ งานไนท์ต่าง ๆ งานแสดง  กลุ่มนักกีฬา กลุ่มนี้ก็จะแข่งขันกับต่างคณะและต่างมหาวิทยาลัย บางคนเป็นตัวแทนของมหาวิทยาลัยไปแข่งในระดับนานาชาติก็มี กลุ่มค่ายอาสาฯ  กลุ่มนี้จะออกไปทำกิจกรรมกับชาวบ้าน สร้างโรงเรียน สร้างห้องน้ำ ต้องไปหาทุน สำรวจพื้นที่ออกค่ายในต่างจังหวัด  กลุ่มสโมสรฯ กลุ่มนี้ทำงานระดับมหาวิทยาลัย ทำงานกับคณะต่าง ๆ

 

                 เคยถามรุ่นพี่คนหนึ่งว่า เรียนมหาวิทยาลัยจะไปทำเรื่องพวกนี้ทำไม???  พี่เขาก็ตอบง่าย ๆ ว่า มหาวิทยาลัย ไม่ใช่ห้องเรียนหนังสือ แต่เป็นห้องเรียนชีวิต เรียนรู้โลกกว้าง ถ้าไม่หัดคิด หัดดู หัดทำเรื่องเหล่านี้  จบไปก็เป็นบัณฑิตไร้ค่า เรียนดีแต่ไม่มีประโยชน์แก่สังคม ในชีวิตจริง มีเรื่องมากมายที่ไม่มีสอนในห้องเรียน ต้องออกไปเรียนรู้ด้วยตัวเอง   ซึ่งก็ต้องรับกับตัวเองว่า งานในมหาวิทยาลัยที่เรามีโอกาสเข้าไปร่วม เป็นงานที่ดีกว่า ใหญ่กว่า สนุกกว่า งานระดับโรงเรียนมาก และทุกอย่างก็ดูเหมือนจะจัดได้ดีกว่าด้วย ทั้งที่ไม่มีครูคนไหน มาคอยกำกับดูแลเหมือนครั้งยังเป็นนักเรียน

 

                 จนกระทั่งปี ๓ แยกเรียนวิชาเอก  มีครั้งหนึ่งในการทำงานส่งครู ต้องทำรายงานเรื่องน้ำมันแพง (ซึ่งสมัยนี้ก็ยังแพงอยู่...(ฮา)..)   ครั้งนี้ ได้สัมภาษณ์ พล.ต.ชาติชาย  สมัยยังเป็นรัฐมนตรีอุตสาหกรรม โห...ต้องอ่านเรื่องที่ไม่อยู่ในตำราเยอะมาก  โดยเฉพาะเรื่องอุตสาหกรรมน้ำมัน เรื่องโอเป็ค เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ  เมื่อไปสัมภาษณ์ รมต.  เราจึงโชคดี ได้เป็นกลุ่มนักนิสิตเพียงกลุ่มเดียว ที่ได้พูดคุยเป็นการส่วนตัว ขณะที่นักข่าวตัวจริง หลายคน ไม่ได้

 

                  เริ่มเรียนรู้ว่า ตำราในห้องเรียน ไม่พอเพียงสำหรับเตรียมตัว เพื่อจะทำงานสักชิ้นหนึ่งแล้ว ทีสำคัญเมื่อกลับมาถึงมหาวิทยาลัย  แทนที่ครูจะชื่นชมกับผลงานที่ได้ ครูกลับตั้งคำถามมากมายจนเราอึ้ง

 

                  คำถามง่าย ๆ ว่า สิ่งที่รัฐบาลทำนั้น ประชาชนได้ประโยชน์อะไร  นานแค่ไหน อะไรคือหลักประกันว่าประชาชนจะได้สิ่งเหล่านี้จริง ๆ  แล้วครูก็จะยกคำอธิบาย กับกรณีในต่างประเทศให้เราฟัง ให้ยืมกลับไปอ่านที่บ้าน

 

                  โห...ห้องเรียนครั้งนี้ ไมใช่แค่โลกกว้างอย่างเดียวเสียแล้ว... แต่เป็นโลกหลากมุมมอง โลกหลากความคิด ที่ต้องเข้าใจให้ได้ ก่อนจะเขียนรายงานตามโจทย์ที่ครูตั้งให้สักข้อหนึ่ง  ที่สำคัญ เราเองก็เริ่มรู้สึกว่า ในสังคมมีความเหลือมล้ำ ที่เหลวไหลอยู่ไม่น้อย

 

                   สี่ปีในมหาวิทยาลัย ได้รู้จักสังคมศาสตร์ปริทัศน์   ได้อ่านสาส์นสมเด็จ ได้รู้จัก ส.ศิวรักษ์ ได้รู้จัก พ.อ.ถนัด คอมันตร์  ได้รู้จัก Mc Lu hance ได้พูดคุยกับลุงหนหวย  ลุงขาว ไขอาชีพ ได้คุยเรื่องหมู่บ้านโลก ได้ถ่ายทอดสด บทเพลงซอล่องน่าน ได้ออกค่ายที่ชายแดนตาก-พม่า  ได้ทำรายงานเรื่องน้ำมันแพง  ได้ทำกิจกรรมเด็กสลัม ทำงานเชียร์ ทำสโมสรนิสิตฯ ฯลฯ  

 

                    ห้องเรียนในรั้วจามจุรี..  มันไม่มีฝาห้อง ไม่มีกระดานดำ แต่มีคำบอกเล่า ที่ก้องกังงานอยู่ตลอดระหว่างพี่น้อง ระหว่างเพื่อน ระหว่างคนทำงาน ระหว่างพี่เก่ากับน้องใหม่ ระหว่างคนทำได้และคนกำลังหัดทำ 

 

                  ...อยากให้ความรัก...ความรัก แก่คนทั้งโลก  อยากจะให้โชค ให้โชคแก่คนทั้งหล้า อยากจะให้รอยยิ้มลบคราบน้ำตา...อยากให้ชีวาแก่คนทั้งมวล อยากให้คนทุกข์..คนทุกข์ พ้นทุกข์ลำเค็ญ ความยากเข็ญ แค้นยากอันใดใหญ่หลวง  ให้หมดทุกข์ สร้างสุขในใจทุกดวง ..อยากให้ปวงชน คนทุกข์ เป็นสุขสันต์  จะอุทิศชีวิตทั้งหมดนี้ เพื่อสร้าง ความดีไม่เคยหวั่น จะเร่งสร้าง ทั้งคืนและทั้งวัน  เพื่อชีวิต อันสั้น นั้นมีราคา..

 

                   ..ที่สำคัญ ห้องเรียนเหล่านี้ เป็นห้องเรียนของทุกคน ทุกคนร่วมกันเป็นเจ้าของ ไม่มีสูตรสำเร็จที่ตายตัว  ทุกปีจะเปลี่ยนมือจากรุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่นหนึ่ง เสมอ

                    ถึงวันนี้ มันอาจเปลี่ยนไปแล้ว เพราะเปลี่ยนมือกันมากมาย ของเปลี่ยนมือ แต่ไม่รู้ว่า คนจะเปลี่ยนใจ..หรือเปล่า???? 

                   โรงเรียน..ตายแล้ว...??  

                   ห้องเรียนล่ะ...ตายแล้ว หรือเปล่า??? 

 

 

คำสำคัญ (Tags): #ห้องเรียนในฝัน
หมายเลขบันทึก: 505678เขียนเมื่อ 15 ตุลาคม 2012 09:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 ตุลาคม 2012 05:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)
  • เป็นห้องเรียนที่มีความสุขมาก
  • ผมเคยเจอท่านอาจารย์ ส.สิวรักษ์
  • สมัยที่ท่านทำงานกับเสมสิกขา
  • แต่เจอที่หมู่บ้านเด็ก กาญจนบุรีครับ

ขอบคุณ คุณ ภูสุภา / คุณดอกหญ้าน้ำ / คุณหยั่งราก ฝากใบ และคุณยูมิ ครับ...

ขอบคุณพี่ขจิตครับ.. แวะมาเยี่ยมเยือนให้กำลังใจเสมอ...

หลัง ๆ ไม่ค่อยได้เห็นท่านอาจารย์บ่อยนัก... ยุคสมัยเปลี่ยนไปครับ...(ฮา)....

ขออภัย ... ข้าพเจ้าชอบบันทึกนี้มาก เหมือนกับ เคยมีอารมณ์และความรู้สึกเช่นนั้นเหมือนกัน ;)...

ขอบคุณมากครับ ว)...

ขอบคุณ คุณ wasawat Deemarn ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท