ชีวิตที่พอเพียง : ๑๖๖๖. CSR ที่บูรณาการอยู่ในธุรกิจ


 

          เมื่อวันที่ ๑๒ ก.ย. ๕๕ Prof. Steve Young แห่งCaux Round Tableเข้ามาเพื่อแลกเปลี่ยนและ Update Trend เกี่ยวกับ Sustainable Development ที่ธนาคารไทยพาณิชย์

 

          การพัฒนาอย่างยั่งยืน เป็นมิติหนึ่งของการทำธุรกิจอย่างรับผิดชอบต่อสังคม   เพื่อความยั่งยืนของโลก    โดยที่การทำธุรกิจอย่างรับผิดชอบต่อสังคม หรือ CSR มีหลากหลายมิติซับซ้อนมาก    ผมได้เรียนรู้ว่า มีหน่วยงานเข้ามาสร้างตัวชี้วัดบ้าง   สร้างระบบการรายงานบ้าง เพื่อให้องค์กรธุรกิจตรวจสอบตนเอง และแสดงตนเองต่อโลก ต่อสังคม    ว่าตนทำธุรกิจแล้วมีผลกระทบต่อความยั่งยืนของโลกอย่างไร 

 

          ผมได้รับแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับธนาคารไทยพาณิชย์ดังนี้

 

     ๑. ในปี ๒๕๕๕ นี้ธนาคารเป็น ๑ ใน ๑๒ องค์กรของบริษัทจดทะเบียนของไทยที่Down Jones Sustainability Index (DJSI) ประกาศรายชื่อเข้าสู่ DJSI Invited List ซึ่งDJSI ดัชนีความยั่งยืนทางธุรกิจของดาวโจนส์นี้ เป็นดัชนีหลักทรัพย์ที่ใช้ประเมินประสิทธิผลการดำเนินธุรกิจตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนของบริษัทชั้นนำระดับโลกในด้านการดำเนินธุรกิจที่มีความสัมพันธ์กันระหว่างมิติด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม

     ๒. ธนาคารกำลังศึกษา Gap Analysis ในเรื่องเกี่ยวกับการรายงานผลการดำเนินงานด้าน Non Financial Report ประจำปี ๒๕๕๕ ให้อ้างอิงก้บมาตรฐานGlobal Reporting Initiative (GRI)  โดยมีความคืบหน้าในประเด็นที่คาดว่าธนาคารจะเปิดเผยข้อมูลได้อย่างเป็นรูปธรรมใน ๕ ด้านคือ

◦ People Development

◦ Corporate Governance and Risk Management

◦ Sustainable Finance

◦ Operational Impact on Environment

◦ Community Development

 

     ๓. เมื่อเดือนส.ค. ที่ผ่านมา Prof. Steve Young ได้ส่งแบบสอบถามเกี่ยวกับ Sustainable Economy Risk Management Assessment มาให้ผู้บริหารระดับผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ของธนาคารซึ่งมีผู้ตอบแบบสอบถามไป ๗ ท่านเนื้อหาของแบบสอบถามใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์เข้ากับประเด็นต่างๆขององค์กร

     ๔. เมื่อวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕ ธนาคารได้จัดให้ Prof. Steve Young มาจัดสัมมนาให้กับผู้บริหารระดับผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ในหัวข้อ Global Trends in CSR

 

          เดี๋ยวนี้ผมเตรียมตัวเข้าประชุม หรือพบคน โดยการเข้าเว็บค้นหาเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง    จากการเตรียมตัวนี้ ผมได้เรียนรู้ว่า Caux Round Table เป็นกลไกขับเคลื่อนทุนนิยมแบบมีศีลธรรม (moral capitalism) ไม่ใช่เป็นทุนนิยมสามานย์   ผมเคยบันทึกเรื่อง Caux Round Table ไว้ที่นี่

 

          ตามในเว็บไซต์ของ DJSI ระบุปัจจัยหลักสำหรับความเป็นองค์กรธุรกิจที่ยั่งยืน ๕ ข้อ ซึ่งอ่านได้ ที่นี่     องค์ประกอบทั้ง ๕ ได้แก่ ยุทธศาสตร์, การเงิน, ลูกค้าและผลิตภัณฑ์, การกำกับดูแลและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย, คน   แต่ละข้อต้องสะท้อนความพอดีระหว่าง ผลประกอบการ  พัฒนาการทางสังคม  และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม 

 

          ที่จริงแนวความคิดธุรกิจเพื่อสังคมนี้ มีอยู่ในญี่ปุ่นมานานแล้วในคำว่า kyoseiที่มี ๕ ขั้นตอน   ซึ่งแสดงจิตใจที่ใหญ่หรือกว้างขึ้นๆ ตามขั้นตอน   จนเป็นจิตใหญ่ระดับคำนึงถึงผลประโยชน์ของคนทั้งโลก    อ่านบทความตีความเรื่อง kyoseiใน HBR ปี 1997 ได้ที่นี่

 

          บันทึกข้างบนพิมพ์ก่อนคุยกับ Prof. Steve Young และ อ. ดร. แพรภิรมย์แห่งศศินทร์ร่วมกับทีมของธนาคารไทยพาณิชย์และผมให้ชื่อบันทึกว่า “ทุนนิยมรับผิดชอบ หรือทุนนิยมสามานย์”แต่เมื่อได้คุยกันกลับเป็นคนละเรื่อง  ผมจึงเปลี่ยนชื่อบันทึกใหม่ เป็น CSR ที่บูรณาการอยู่ในธุรกิจ

 

          โดยท่านวิเคราะห์ผลจากการกรอกแบบสอบถามโดยผู้บริหารระดับ ผู้ช่วยผู้จัดการอาวุโส ๗ คน แบบตีความหาความหมายเชิงธุรกิจให้ฟัง   ฟังแล้วอึ้ง และตาสว่าง

 

          แบบสอบถามนี้ชื่อ Sustainable Eonomy Risk Management Assessment, version 11.01, Executive Survey  ความหนา ๒๐ หน้า    มีคำถาม ๕ หมวด  ที่ตีความมาจากปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ได้แก่

๑. พอประมาณ (Balance)

๒. มีเหตุผล (Reasonableness)

๓. มีภูมิคุ้มกัน (Risk Resilience)

๔. ความรู้ (Knowledge)

๕. คุณธรรม (Integrity)

 

          อาจารย์ สตีฟ เรียกแบบประเมินนี้อีกชื่อหนึ่งว่า Sufficiency Economy Assessment และที่ผมตื่นตาตื่นใจคือ   ความสามารถของท่านในการตีความสาระจากการกรอกแบบสอบถาม   ทั้งแนวค่าเฉลี่ย และแนว “What the dog saw” หรือแนวโฟกัสส่วนที่กระเด็นห่างจากค่าเฉลี่ยมาก

 

          ทำให้ผมได้ตาสว่างอีกครั้งหนึ่งว่า ที่จริงแบบสอบถามและคำตอบยังไม่ใช่สิ่งสำคัญที่สุด หรือไม่ใช่เป้าหมาย (end)   ที่สำคัญคือมันเป็นเครื่องมือ (means) ให้คนได้มาคุยกันแบบเปิดใจในเรื่องที่มีคุณค่า    โดยมีคำถามในแบบสอบถามเป็นตัวชี้นำแนวความคิด ให้คำนึงถึงคุณค่ายิ่งใหญ่ หรือประโยชน์ต่อสังคม

 

           ท่านเล่าประสบการณ์ไปคุยกับชาวบ้านที่ร้อยเอ็ด  และที่ อ. สามร้อยยอด ประจวบคีรีขันธ์ กับ ศ. ดร. สุจิต บุญบงการ    เอาแบบสอบถามแนวทศพิศราชธรรม ไปให้สมาชิก อบต. และชาวบ้านตอบ   วิเคราะห์ผลออกมาดูเดี๋ยวนั้น และคุยกัน   สาระของที่ประชุมกลายเป็นเวทีนโยบายสาธารณะเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของชุมชน   ไม่ใช่เวทีเล่นการเมืองเพื่อผลประโยชน์ส่วนกลุ่ม 

 

 

 

วิจารณ์ พานิช

๑๒ ก.ย. ๕๕

 

หมายเลขบันทึก: 505677เขียนเมื่อ 15 ตุลาคม 2012 09:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 ตุลาคม 2012 09:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท