ครูเพื่อศิษย์ส่งเสริมให้ศิษย์สนุกกับการเรียน : 15. เคล็ดลับสร้างชุมชนการเรียนรู้


ความต้องการพื้นฐานอย่างหนึ่งของมนุษย์คือการเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนรอบตัว หรือการได้รับการยอมรับจากสังคมรอบข้าง ดังนั้นครูต้องหาทางทำให้ห้องเรียนเป็น learning community และทำให้ นศ. รู้สึกว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน ให้ นศ. แต่ละคนรู้สึกว่าตนเองเป็นบุคคลที่มีคุณค่า ต่อการเรียนรู้ ของสมาชิกในชุมชน

ครูเพื่อศิษย์ส่งเสริมให้ศิษย์สนุกกับการเรียน  : 15. เคล็ดลับสร้างชุมชนการเรียนรู้   

บันทึกชุดนี้ ได้จากการถอดความ ตีความ และสะท้อนความคิด    จากการอ่านหนังสือ Student Engagement Techniques : A Handbook for College Faculty เขียนโดย ศาสตราจารย์ Elizabeth F. Barkley    ในตอนที่ ๑๕ นี้ ได้จากบทที่ ๙ ชื่อ Tips and Strategies for Building Community   

ความต้องการพื้นฐานอย่างหนึ่งของมนุษย์คือการเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนรอบตัว    หรือการได้รับการยอมรับจากสังคมรอบข้าง    ดังนั้นครูต้องหาทางทำให้ห้องเรียนเป็น learning community และทำให้ นศ. รู้สึกว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน   ให้ นศ. แต่ละคนรู้สึกว่าตนเองเป็นบุคคลที่มีคุณค่า ต่อการเรียนรู้ ของสมาชิกในชุมชน

 

คล. ๒๖   ครูเลิกทำตัวเป็นเผด็จการในชั้นเรียน

ตามปกติ ครูดำรงตนเป็นเผด็จการในชั้นเรียนโดยไม่รู้ตัว   และเป็นวัฒนธรรมในวงการศึกษามาช้านาน     การละเลิกถอนตัวออกจากความเคยชินนี้ จึงทำได้ไม่ง่าย   

เพื่อปรับเปลี่ยนเข้าสู่ความสัมพันธ์ใหม่ระหว่างครูกับ นศ.   ที่เป็นเพื่อนร่วมเรียนรู้ เคารพและให้เกียรติซึ่งกันและกัน   ครูพึงทำความเข้าใจความสัมพันธ์เชิงอำนาจ จากหนังสือ เช่น Learner-Centered Teaching    และตั้งคำถามต่อตัวเอง ตามด้วยการตอบอย่างซื่อสัตย์ต่อตนเอง    เพื่อช่วยให้มีสติอยู่กับการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของตน   และเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์กับ นศ. ตัวอย่างคำถามต่อตัวเอง เช่น ใครเป็นผู้กำหนดปฏิทินหรือกำหนดการของรายวิชา    ใครเป็นผู้ควบคุมการอนุญาตให้สมาชิกของห้องเรียนพูด  ให้พูดได้เมื่อไร  และพูดได้นานเท่าไร

ครูพึงฝึกการพูดกับ นศ. ด้วยถ้อยคำและน้ำเสียงที่ไม่แสดงอำนาจเหนือ   เช่นแทนที่จะพูดว่า นศ. ต้องส่งรายงาน ๓ โครงงาน   ครูจะใช้ถ้อยคำแบบไหน   

ในเอกสารแนะนำหลักสูตรก็เช่นเดียวกัน    พึงใช้ถ้อยคำที่ลดการแสดงอำนาจเหนือต่อ นศ. ลง    หันไปให้ข้อมูล/สารสนเทศ เพื่อสื่อสารเป้าหมายและทางเลือกของวิธีบรรลุเป้าหมายแทน

 

คล. ๒๗  ส่งเสริมความสุภาพในชั้นเรียน

ในสังคมปัจจุบัน ถ้าไม่ระวัง อาจเกิดสภาพความไม่เคารพให้เกียรติต่อกันและกัน    หรือบางกรณีอาจกลั่นแกล้งรังแกกัน

ต่อไปนี้เป็นคำแนะนำ ๗ ประการเพื่อสร้างความสุภาพรักใคร่เคารพต่อกันในชั้นเรียน  

  1. เตรียมข้อความสำหรับบรรจุลงในคำบรรยายรายวิชา    ที่ระบุพฤติกรรมที่คาดหวัง  พฤติกรรมที่พึงประสงค์ และพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ในชั้นเรียน   เน้นที่การให้ความเคารพความเห็นของผู้อื่น   แม้ความเห็นนั้นจะไม่เหมือนของตนและลึกๆ แล้วตนไม่ยอมรับ   ก็ต้องเคารพความเห็นที่แตกต่างนั้น   ระบุให้ชัดเจนว่า ข้อตกลงนี้ใช้ในกรณีของการอภิปราย online ด้วย 
  2. ในช่วงต้นของภาคการศึกษา ขอให้ นศ. ทั้งชั้นช่วยกันกำหนดกติกาความสุภาพในชั้นเรียน   ที่ระบุทั้งความคาดหวัง และระบุว่าผู้ละเมิดจะได้รับผลอย่างไร
  3. ลดโอกาส “ไม่แสดงตัว” ของ นศ.   เพื่อให้ นศ. รับผิดชอบต่อพฤติกรรมของตนเอง
  4. สร้างกลไกร้องทุกข์ของ นศ. เช่นกำหนดให้มี นศ. ทำหน้าที่ “ผู้ตรวจการ” หรือใช้ SET 42 “Critical Incidence Questionnaire”  ในบทที่ ๑๐
  5. จัดการปัญหาที่เกิดขึ้น
  6. บันทึกเหตุการณ์   และหากรุนแรงเป็นพิเศษ ขอให้ นศ. ที่อยู่ในเหตุการณ์เขียนบันทึกสิ่งที่ตนพบเห็น 
  7. ทำความเข้าใจนโยบายของสถาบันของท่าน เกี่ยวกับพฤติกรรมที่ก่อกวนของ นศ.

หนังสือแนะนำให้ค้นใน Google ด้วยคำว่า classroom civility จะได้คำแนะนำ และนโยบายของสถาบันต่างๆ มากมาย

 

คล. ๒๘  สร้างบรรยากาศของวิชาเรียน ทั้งในห้องเรียนและใน online forum ให้มีความเป็นชุมชน

อาจทำโดยติดโปสเตอร์หรือภาพศิลปะที่เตือนใจต่อความเป็นระเบียบเรียบร้อย    และจัดห้องเรียนให้เป็นสตูดิโอ   คือให้เคลื่อนย้ายโต๊ะเก้าอี้ได้โดยสะดวก   ให้จัดเป็นรูปวงกลม  ครึ่งวงกลม  รูปตัวยู   ห้องที่มีสภาพเป็นสตูดิโอส่งเสริมความรู้สึกเป็นชุมชนได้ดีกว่า การจัดห้องเรียนแบบ classroom 

ในห้องเรียน ออนไลน์   จัดให้ นศ. มีปฏิสัมพันธ์กันทั้งในเรื่องของวิชาเรียน  และเรื่องอื่นๆ ด้วย   เรื่องที่ไม่เกี่ยวกับการเรียนโดยตรงจัดให้คุยกันใน “Student Lounge”

 

คล. ๒๙  ลดการไม่แสดงตัวของ นศ. โดยครูทำความรู้จักชื่อ นศ.   และส่งเสริมให้ นศ. รู้จักชื่อกัน

ขั้นตอนแรกของการสร้าง ชุมชนเรียนรู้ในชั้นเรียน คือครูต้องรู้จักชื่อของ นศ.  และจะยิ่งดีหากรู้พื้นฐานส่วนตัว  ความสนใจ  และความใฝ่ฝัน ของ นศ.  

หนังสือแนะนำวิธีขอไฟล์รูปถ่ายของ นศ. แต่ละคนจากสำนักทะเบียน นศ.   วิธีบอก นศ. ว่าจะกำหนดที่นั่งประจำตั้งแต่เวลาเรียนครั้งที่ ๒ เป็นต้นไป    เพื่อให้ครูมีผังชื่อ นศ. เอาไว้เรียกและทบทวนความจำ    วิธีที่ครูกำหนดให้ นศ. แต่ละคนเอารูปมาติดที่กระดาษ index card   พร้อมเขียนชื่อ นามสกุล  หลักสูตรที่เรียน  มาเรียนวิชานี้เพราะอะไร  งานอดิเรก  ฯลฯ    สำหรับครูเอาไว้ทบทวน    โดยอาจทำเป็น eFile ก็ได้  

ส่วนวิธีให้ นศ. รู้จักกันมีเกมทำความรู้จักมากมายให้เล่น   เพื่อให้ในที่สุดรู้จักและสนิทสนมกัน   เกมนี้มีทั้งที่เป็น face-to-face และเกม online

 

คล. ๓๐  ใช้เกมละลายพฤติกรรม

เกมละลายพฤติกรรมมีได้หลากหลายเป้าหมาย   เช่น social icebreaker, course content icebreaker, course policies and procedural icebreaker   คือสามารถออกแบบเกมละลายพฤติกรรมโดยใช้เรื่องของมนุษย์    หรือใช้เรื่องของหลักสูตร ก็ได้

ผมเกิดความคิดว่า นศ. ปีก่อนๆ ที่เคยเรียนวิชานี้ น่าจะเป็นวิทยากรผู้ช่วยในเกมละลายพฤติกรรมนี้ได้

 

คล. ๓๑  ใช้เทคโนโลยี ช่วยขยายหรือทำให้ความเป็นชุมชนแน่นแฟ้นขึ้น

ในปัจจุบัน ICT เป็นเครื่องมือทำความรู้จักและสนิทสนมกันได้อย่างดี    ครูอาจเริ่มกระบวนการนี้ตั้งแต่ก่อนเปิดเทอม   โดยขอ e-mail address ของ นศ. มาจากสำนักทะเบียน   แล้วส่ง อีเมล์ไปต้อนรับ  แนะนำตนเอง  บอกว่าครูคาดหวังอะไรจากการเรียนวิชานี้   และเชื้อเชิญให้ นศ. บอกความคาดหวังของตน   รวมทั้งเชื้อเชิญมาพบกันที่สำนักงานในชั่วโมงทำงาน   

ในวันแรกของเทอม อาจจัดให้ นศ. แลกเปลี่ยน e-mail address, หมายเลขโทรศัพท์มือถือ   ชักชวนให้เข้าไปแลกเปลี่ยนกันใน online discussion forum   รวมทั้งการใช้เครื่องมือ social networking ที่จัดให้โดยสถาบัน   หรือเครื่องมือ social networking ที่มีให้ใช้ฟรีในสาธารณะ (เช่น Facebook)

วิจารณ์ พานิช

๑ ต.ค. ๕๕

หมายเลขบันทึก: 504255เขียนเมื่อ 2 ตุลาคม 2012 05:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 ตุลาคม 2012 05:16 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท