อย่างไรจึงเรียก สัมมาทิฏฐิ


สัมมาทิฏฐินั้น แบ่งเป็นสองลักษณะคือ ที่เป็นโลกิยะ และ ที่เป็นโลกุตตระ ดังคำตรัสนี้

สัมมาทิฏฐิ เป็นอย่างไร

คือ เรากล่าวสัมมาทิฏฐิว่า มี ๒ ได้แก่

๑.สัมมาทิฏฐิที่ยังมีอาสวะ เป็นส่วนแห่งบุญ ให้ผลคืออุปธิ

๒.สัมมาทิฏฐิอันเป็นอริยะ ที่ไม่มีอาสวะ เป็นโลกุตตระ เป็นองค์แห่งมรรค

สัมมาทิฏฐิที่ยังมีอาสวะ เป็นส่วนแห่งบุญ ให้ผลคืออุปธิ เป็นอย่างไร

คือ ความเห็นว่า ทานที่ให้แล้วมีผล ยัญที่บูชาแล้วมีผล การเซ่นสรวงที่เซ่นสรวงแล้วมีผล ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีและทำชั่วมี โลกนี้มี โลกหน้ามี มารดามีคุณ บิดามีคุณ สัตว์ที่เป็นโอปปาติกะมี สมณพราหมณ์ผู้ประพฤติปฏิบัติชอบ ทำให้แจ้งโลกนี้และโลกหน้าด้วยปัญญาอันยิ่งเองแล้วสอนผู้อื่นให้รู้แจ้งก็มีอยู่ในโลก นี้เป็นสัมมาทิฏฐิที่ยังมีอาสวะ เป็นส่วนแห่งบุญ ให้ผลคืออุปธิ

สัมมาทิฏฐิอันเป็นอริยะ ที่ไม่มีอาสวะ เป็นโลกุตตระเป็นองค์แห่งมรรค เป็นอย่างไร

คือ ปัญญา ปัญญินทรีย์ ปัญญาพละ ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ สัมมาทิฏฐิองค์แห่งมรรคของภิกษุผู้มีจิตไกลจากข้าศึก มีจิตหาอาสวะมิได้ เพียบพร้อมด้วยอริยมรรค เจริญอริยมรรคอยู่ นี้เป็นสัมมาทิฏฐิอันเป็นอริยะ ที่ไม่มีอาสวะ เป็นโลกุตตระ เป็นองค์แห่งมรรค ภิกษุนั้นย่อมพยายามเพื่อละมิจฉาทิฏฐิ ยังสัมมาทิฏฐิให้ถึงพร้อม ความพยายามของภิกษุนั้น เป็นสัมมาวายามะ ภิกษุนั้นมีสติ ละมิจฉาทิฏฐิ มีสติเข้าถึงสัมมาทิฏฐิอยู่ สติของภิกษุนั้นเป็นสัมมาสติ ธรรม ๓ นี้ คือ (๑) สัมมาทิฏฐิ (๒) สัมมาวายามะ (๓) สัมมาสติ ย่อมห้อมล้อมคล้อยตามสัมมาทิฏฐิของภิกษุนั้นไป ด้วยประการฉะนี้

ม.อุ.(แปล) ๑๔/๑๓๖/๑๗๕ ๑๗๖

Tiny_img_2134-1

ในบางครั้งก็อาจมีข้อสงสัยได้ว่า เรามีความรู้อย่างไร หรือ ปฏิบัติอย่างไร จึงได้ชื่อว่า เรามีสัมมาทิฏฐิ

พระเทพดิลก (ระแบบ ฐิตญาโณ) ได้แยกลักษณะของปัญญาที่เรียกสัมมาทิฏฐิให้เห็นอย่างชัดเจนไว้ว่า

คนที่นับถือพระพุทธศาสนาต้องเริ่มด้วย สัมมาทิฏฐิ คือปัญญาอันเห็นชอบในความจริง เช่น

-กมฺมสฺสกตาสมฺมาทิฏฐิ ปัญญาเห็นชอบในการที่สัตว์ทั้งหลายเป็นผู้มีกรรมเป็นของๆตน จะต้องเป็นผู้รับผลของกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย ใครทำกรรมอันใดไว้ จะดีจะชั่วก็ตาม เขาจะต้องเป็นผู้รับผลกรรมนั้น

-วิปสฺสนาสมฺมาทิฏฐิ ปัญญาเห็นชอบในเหตุที่ก่อให้เกิดผลต่างๆจนถึงเห็นชอบในองค์อริยมรรค ๘ ประการ

-ผลสมฺมาทิฏฐิ ปัญญาเห็นชอบในผลที่เกิดขึ้นแก่ตนและคนอื่นว่า จะต้องมาจากเหตุที่ตนและคนนั้นๆได้กระทำลงไป จนถึงผลที่เกิดจากการปฏิบัติตามอริยมรรคมีองค์ ๘

-ปจฺจเวกฺขณสมฺมาทิฏฐิ ปัญญาอันเห็นชอบด้วยการพิจารณาเรื่องนั้นๆโดยเฉพาะ จนเกิดความรู้แจ้งเห็นจริง จนถึงการพิจารณาจิตตนและผลที่เกิดขึ้นแก่จิต เพราะการกระทำของตน โดยมีจุดมุ่งหมายปลายทางอยุ่ที่การรู้อริยสัจ ๔ ตามญาณ ๓ ที่เกิดขึ้นโดยอาศัยการปฏิบัติที่ผ่านขั้นตอนมาโดยลำดับ

พระเทพดิลก (ระแบบ ฐิตญาโณ) นักศึกษาสงสัย หน้า ๑๗๖ ๑๗๗

Tiny_img_2134-1

ในพระสูตร มีคำอธิบายลักษณะของสัมมาทิฏฐิ ทั้งที่พระพุทธองค์ตรัสเอง และ ที่พระสารีบุตรได้อธิบายเพิ่มเติมคือ

ที่พระพุทธองค์ตรัสเอง

ตรัสว่า

ความเห็นว่าอายตนะภายใน (ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ) และภายนอก (รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์) ทั้งหมดนั้นว่าไม่เที่ยง นั้นเรียกว่าสัมมาทิฏฐิ เมื่อรู้เห็นอย่างนั้น ก็ย่อมเบื่อหน่าย ความความเพลิน จนจิตหลุดพ้น

อัชฌัตตนันทิกขยสูตร - สํ.สฬา.(แปล) ๑๘/๑๕๖/๑๙๓

ความเห็นในการไม่เข้าหาในเครื่องผูกพันทั้งสองคือ อุปาย (ตัณหาเป็นเครื่องนำไป) อุปาทาน (เครื่องยึดมั่น) อันเป็นเหตุให้มีอนุสัยในจิตว่า อัตตาของเรา เพราะไม่ยึดมั่นในตัวตนเที่ยงแท้ถาวร จึงเห็นว่า ทุกข์เท่านั้นที่เกิดและดับ ทุกข์ทั้งมวลล้วนเกิดจากเหตุปัจจัยตามสายปฏิจจสมุปบาท (ไม่มีสัตว์ บุคคล ตัวตน แต่อย่างใด - ผู้บันทึก)

กัจจานโคตรสูตร- สํ.นิ.(แปล) ๑๖/๑๕/๒๔ ๒๕

บัณฑิตมีปัญญามาก ไม่คิดไปในทางที่ทำให้ตนเองลำบาก ไม่คิดไปในทางที่ทำให้ผู้อื่นลำบาก ไม่คิดไปในทางที่ทำให้ทั้งสองฝ่ายลำบาก คิดไปในทางเกิดประโยชน์ประโยชน์เกื้อกูล ทั้งแก่ตนเอง หรือ แก่ผู้อื่น หรือ แก่ทั้งสองฝ่าย ซึ่งก็คือเป็นประโยชน์แก่โลกทั้งปวง (นิพเพธิกปัญญา เป็นคำแทนชื่อของสัมมาทิฏฐิ)

พุทธทาสภิกขุ อริยสัจจากพระโอษฐ์ภาคปลาย หน้า ๙๐๘

ที่พระสารีบุตรบรรยายถึงสัมมาทิฏฐิที่เป็นโลกุตตระ

คือ

การรู้ชัดในกุศล อกุศล กุศลมูล และ อกุศลมูล

รู้ชัดใน ธรรม เหตุที่เกิดของธรรม ความดับของธรรม และ ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับ ของธรรมเหล่านี้คือ อาหาร ๔, อริยสัจ ๔, องค์ธรรมต่างๆตามสายปฏิจจสมุปบาท (เช่น รู้ชัดในชรา เหตุให้เกิดชรา ความดับของชรา ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับของชรา เป็นต้น)และ อาสวะ

สัมมาทิฏฐิสูตร -ม.มู. (แปล) ๑๒/๘๙/๘๑ - ๑๐๐

เหล่านี้เป็นต้น

จากคำอธิบายของพระพุทธองค์และพระสารีบุตรนี้ ช่วยให้เราเข้าใจได้ว่า รู้เห็น หรือ ปฏิบัติอยู่อย่างไร จึงได้ชื่อว่ามี สัมมาทิฏฐิ

....................................

อ้างอิง

พระไตรปิฎกแปล ฉบับ มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

พระเทพดิลก (ระแบบ ฐิตญาโณ) นักศึกษาสงสัย มูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย

พุทธทาสภิกขุ อริยสัจจากพระโอษฐ์ภาคปลาย ธรรมสภา

หมายเลขบันทึก: 503283เขียนเมื่อ 24 กันยายน 2012 06:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 ตุลาคม 2013 20:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (15)

Good moring...พี่ณัฐรดา :):)

แล้วกรณีบันทึกของ สหาย พบ. 101 ชลัญฯ ทำงานฝีมือเพื่อฝึกสมาธิ  

ผมสามารถบอกได้ไหมว่า "ความเห็น" เรื่องของสมาธิสามารถแยก เป็นสองแบบดังเช่นที่พี่กล่าว??

......๑.สัมมาทิฏฐิที่ยังมีอาสวะ เป็นส่วนแห่งบุญ ให้ผลคืออุปธิ

๒.สัมมาทิฏฐิอันเป็นอริยะ ที่ไม่มีอาสวะ เป็นโลกุตตระ เป็นองค์แห่งมรรค......

เพื่อความก้าวหน้าทางธรรมของ ชมรม 101.99-555 

อนุโมทามิ.....:):)

 

สวัสดีค่ะ อ. Blank

สมาธิแจงได้หลายลักษณะค่ะ

มิจฉาสมาธิ ตั้งใจผิด ได้แก่ จดจ่อ ปักใจ แน่วในกามราคะ ในพยาบาท เป็นต้น

สัมมาสมาธิ ตั้งจิตมั่นชอบ คือสมาธิในมรรคมีองค์ ๘

สมาธิมีหลายระดับตามความแนบแน่นของสมาธิ เช่น ขณิกสมาธิ (เช่นสมาธิในขณะทำงานประจำวัน) อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ

จิตที่เป็นสมาธิที่กำลังทำงานวิปัสสนา ก็ อนันตริกสมาธิ

เราอาจแจงอย่างอาจารย์ว่าก็ได้มังคะ

จริงๆครับ.....ผมลืมแจงเรื่องของสมาธิไป แต่ไปดูที่ “สัมมาทิฏฐิ" ก่อน

ขอบพระคุณครับพี่ :):)

สวัสดีครับพี่ณัฐรดา มาอ่านบันทึกแล้วมองรูปภาพที่พี่ถือแก้วกาแฟแล้วทำให้ทุกเช้ามีความความสุขขึ้นมามากโข “คนที่นับถือพระพุทธศาสนาต้องเริ่มด้วย สัมมาทิฏฐิ คือปัญญาอันเห็นชอบในความจริง" ปัญญาทำให้คนมองเห็นความจริง ตามเหตุและผล อย่างมีสติ ขอบคุณธรรมะที่นำมาแบ่งปันครับ

ลงชื่อก่อน เดี๋ยวมาอ่านโดยละเอียดค่ะพี่ตุ๊กตา 

ขอบคุณค่ะพี่ณัฐรดา แหม! ชือ่ใกล้กับไจ่ไจ๋ ลุกชลัญเลย "ตรีย์ลดา" ใกล้กันยังไงคงงง "รดา" "ลดา" เหมือนกันล่ะไป๊

ขอบคุณค่ะสำหรับคำชี้แจงที่กระจ่าง ชลัญก็เพิ่งฝึกเรียนรู้ธรรม  อาจไม่ได้เริ่มต้นจากการเข้าวัดฟังธรรมแต่้เริ่มต้นจากกระบวนการคิด ในทางธรรม น่ะ  ไม่รู้หรอกว่าอะไรเรียกว่าอะไร  รู้แต่ว่า ที่ทำไปเกิดความสงบเย็น ไม่ฟุ้งซ่าน  น่ะค่ะ

อ้อ ให้เกียรติ ชมรม 101.99 มากค่ะ  

ยินดีต้อนรับค่ะ พี่ณัฐรดา 

ชลัญ คุณพี่ นี่ไม่ขาดไม่เกิน  น่าจะเป็น .  (จุดทศนิยม) เพราะอยุ่ตรงกลางระหว่าง 101 และ .99  ทำให้เกิดความสมดุลพอดี น่ะค่ะ 

ขอบคุณคุณบินหลาดงค่ะ

มีความสุขทุกเช้านะคะ

ขอบคุณน้องหมอภูสุภาค่ะ

คงสนุกกับลวดลายของกล้ามเนื้ออยู่ซีนะคะ

ขอบคุณคุณ Blank ค่ะ

ตามไปดูตามลิ้งค์เลยค่ะ

  • สวัสดีค่ะท่านBlank ณัฐรดา
  • หวังว่าท่านคงจะสบายดีนะคะ
  • ขอบคุณสำหรับบทความดีค่ะ
  • ว่างๆไปเยี่ยมบ้างนะคะ คิดถึงค่ะ

วาว น่ารักจังค่ะ (ภาพวาดนะคะ ไม่ใช่ชมภาพตัวเอง ^_)

อยากรู้ความหมายของคำว่า ยัญ  และการเซ่นสรวง ว่าหมายถึง อย่างไร

เรียนคุณธนกรค่ะ

พระสารีบุตรได้อธิบายความหมายของ ยัญ ว่า หมายถึง “ไทยธรรม ได้แก่ จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร ข้าว น้ำ ผ้า ยาน พวงดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่อยู่อาศัย เครื่องประทีป เรียกว่ายัญ”

มีคำอธิบายเพิ่มเติมจากท่านพุทธทาสที่ชวนให้พิจารณาว่า ที่เราบูชาพระอยู่ทุกวัน ใช่บูชายัญหรือไม่

“ในพุทธนั้น บูชายัญ ไม่ได้หมายอย่างฆ่าคน ฆ่าสัตว์; แต่บูชายัญ บวงสรวงไปตามพิธีของพุทธบริษัท เช่น ถวายข้าว ถวายน้ำ ถวายเครื่องสักการบูชา. นี้ถือว่า มีความหมายว่า เป็นการกระทำชนิดนั้น แล้วก็มีผลเป็นการกระทำชนิดนั้น” (มหิดลธรรม หน้า 270

อยากเรียนเชิญไปพิจารณาบันทึก "ยัญขอสวรรค์ถึงนิพพาน" http://www.gotoknow.org/posts/379577 ด้วยค่ะ


 

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท